ครัว ศักยภาพ และการคิด


วิถีคิดแห่งการงานและศิลปะแห่งการใช้ชีวิต

มีเรื่องราวแปลกๆ ที่ทำให้ได้ขบคิดและใคร่ครวญในตนเอง เมื่อได้ยินเรื่องราวเข้ามากระทบหูกระทบใจจากครัวให้ได้หยุดพิจารณาในประเด็นที่ว่า "ไม่ช่วยงาน"

 "ทำไมไม่ทำกับข้าวมีแต่สั่งให้คนนั้นคนนี้ทำ"

ทำให้ต้องหยุดคิดใคร่ครวญและพิจารณาในตนเอง

ข้าพเจ้าเคยถามลูกศิษย์ว่า  หากข้าพเจ้าลงไปทำครัวเอง บทบาทของพวกเขาจะเป็นอย่างไร  ก็พากันตอบว่า "หนูก็เป็นแค่ลูกมือ" และหากข้าพเจ้าไม่ได้ลงไปทำเองล่ะ บทบาทของพวกเขาจะเป็นอย่างไร ก็พากันตอบว่า "ก็ต้องพากันรับผิดชอบทำกับข้าวกันเองตามที่ได้รับมอบหมาย"

ข้าพเจ้าก็ถามต่อไปว่า หากยังเป็นลูกมือจะมีโอกาสได้ฝึกฝนตนเองและใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่หรือไม่ พวกเขาก็พากันตอบว่า "ไม่ค่ะ"

เมื่อย้อนกลับไปมองแม้จะยังไม่ถึงระยะเวลาเต็มปีดีนัก แต่ลูกศิษย์ทั้งหลายรวมถึงแม่ออกน้อยสามารถที่จะทำกับข้าวถวายพระได้อย่างมากมาย  ข้าพเจ้าทำหน้าที่เพียงมอบโจทย์ให้ พร้อมกับจัดหาวัตถุดิบ หากสิ่งไหนเป็นสิ่งใหม่ก็จะบอกวิธีและให้ไปลองทำ เฝ้ามองดูห่างๆ อย่างวางใจ

และเมื่อประมาณต้นปี ข้าพเจ้าก็ได้ผ่านวิถีแห่งการแสดงบทบาทปฏิบัติให้ดูปฏิบัติให้เห็น

มีวินัยในการไปทำครัวและจัดการเรื่องราวต่างๆ ในครัวอย่างไรบ้างและต่อมาก็วางมือลง พร้อมค่อยๆถอดตัวเองออก และหากว่าเมื่อใดไม่มีใครทำกิจการงานเหล่านี้ข้าพเจ้าก็พร้อมที่จะทำและลงมือทำเสมอ

การปฏิบัติเช่นนี้ทำให้พวกเขาได้ฝึกฝนตนเองแบบเผชิญกับบทเรียนจริงและพวกเขาก็รู้ว่าครูของเขาไม่เคยทอดทิ้งพวกเขา  คราใดที่เขามีปัญหาแก้ไม่ได้เขาจะมองเห็นครูและพร้อมยื่นมือช่วยเหลือ

การเรียนรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นทำให้พวกเขาเติบโตและเป็นการเติบโตที่ควบคู่กันไประหว่างภายในและภายนอก

หัวใจที่เปิดออกอย่างอิสระด้วยความศรัทธาจะทำให้เขาเกิดการเรียนรู้และปฏิบัติได้ดี ได้ใช้ศักยภาพในตนเองอย่างเต็มเปี่ยม

และในทางตรงกันข้าม หากว่าคนใดที่ทำไปด้วยใจอันเป็นอคติ ก็จะพลอยมีความคิดว่า "ข้าพเจ้าเอาแต่ใช้พวกเขาทำงาน ส่วนข้าพเจ้าไม่ทำอะไรเลย ไม่ช่วยงานอะไรพวกเขาเลย"

เมื่อเสียงเหล่านี้ดังขึ้น

ข้าพเจ้าก็ไม่ได้รีรอเลยที่จะแสดงให้พวกเขาได้เห็นว่า หากข้าพเจ้าจะทำนั้น  สามารถทำได้ และทำได้อย่างเต็มที่ด้วย ไม่ได้เกี่ยงงอนในงานใดใดเลย เพียงแค่เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้สนับสนุนคอย empowerment และเกื้อหนุนทุกภารกิจที่พวกเขาไม่สามารถทำกันได้

บางคนเข้าใจบางคนไม่เข้าใจ

คนที่เข้าใจเขาก็จะสามารถทำหน้าที่ที่มีข้าพเจ้าเกื้อกูลได้อย่างเต็มที่ และพร้อมต่อการเรียนรู้และการก้าวย่างไปสู่บทเรียนใหม่ๆ ที่เต็มไปด้วยพลังแห่งศักยภาพ

ส่วนคนที่ไม่เข้าใจสภาพจิตใจก็จะเต็มไปด้วยความหมองเศร้า เพราะจิตใจของเขานั้นเต็มไปด้วยอคติแห่งมิจฉาทิฐิที่ครอบงำไปเสียแล้ว

...

๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๕











หมายเลขบันทึก: 510224เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2012 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2013 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

ขอโอกาสเจ้าค่ะ

 

ในมุมของลูกศิษย์

ที่เป็นผลผลิตจากการสอนของครู

 

แรกเริ่มที่ได้รับคำสั่งหนูปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีความรู้สึกกังวล

เพราะหนึ่งหล่ะ ไม่เคยทำมาก่อนค่ะ

สองคือ อาหารมีเรื่องของรสชาต บางอย่างหนูแทบจะนึกภาพไม่ออก นี่คือ เสียงของความโง่ ที่ดังขึ้นมาขัดขวางกระบวนการเรียนรู้ของหนู

แต่สุดท้ายก็ทำค่ะ

อาหารที่ออกมาจากรสมือหนูจะค่อนไปทางจืดๆ แต่ครูก็เมตตาให้กำลังใจ ด้วยการทาน

แม้ลึกๆจะกังวลในรสชาตของอาหารแต่การที่ครูเมตตารับ นั่นคือ กำลังใจค่ะ

 

จากที่หนูเอง ทำอะไรไม่เป็นเลย

ถือว่าทำกับข้าวไม่เป็นเลย

เพราะที่บ้านจะมีน้าและแม่ที่ทำกับข้าวได้เลิศรส

หน้าที่หนูก็เพียงยกอาหารและก็ล้างจาน

มีช่วยบ้างก็คือ นึ่งข้าว หุงข้าว

 

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ด้วยความเมตตาของครูที่

มักจะมีเมนู "order" อันนี้เป็นคำที่พวกหนูเรียกกันในกลุ่มของลูกศิษย์ ประมาณว่า

"ไปรับ order จากแม่ครู"

จากที่แค่นึกภาพยังไม่ออกก็เริ่มพอทำกันได้

จากที่พอทำกันได้ ในหลายครั้งรสชาตและหน้าตาก็ดูดีขึ้น

เมนูก็หลากหลายมากขึ้น

จากกังวลก็มีสนุกและเต็มใจที่จะได้ทำค่ะ

 

โดยเฉพาะ อาหารจากฝีมือน้องภัส หนูและเด็กๆ ทานแล้วชมเปาะเลยค่ะ

น้องตั้งใจและทำได้ดี

ส่วนตัวหนูเอง ยังเพียงแค่ทำได้ ทำเป็น แต่ยังไม่เข้าขั้น รสเลิศ อร่อยเหาะ

 

หนูเองก็เคยเพ่งโทษครูว่า

"ทำไม ครูไม่มาช่วยทำ"

แต่แล้ววันหนึ่งครูก็ลงมาโชว์ฝีมือ

เป็นความรู้สึกทึ่งและชื่นชมอย่างมากค่ะ

 

ถ้าเป็นการเรียนแบบปกติทั่วๆไป

หนูคิดว่า หนูคงไม่รู้ลึกถึงรายละเอียด รวมถึงการวางแผนทำสิ่งต่าง ๆ

แก้ไขรสชาติ แก้ไขหน้าตาของอาหาร

ดีที่สุดอาจจะเป็นได้แค่ลูกศิษย์หรือลูกมือที่ติดครูแจ แบบทำงานเองไม่เป็นต้องมีครูคอยพาทำเสมอๆ

ได้วิธีคิดการวางแผนทำอาหาร ทำอย่างไรให้เสร็จทันเวลา

ทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับอาหารถวายพระ

นี่คือสิ่งที่ได้เกิดความรู้ข้างในศิษย์เอง

 

ส่งผลให้พอกลับมาบ้าน หนูก็กล้าที่จะลงมือทำอาหารเพื่อไปถวายพระเอง

ตามความตั้งใจของตนเอง

จากวันนั้นจนถึงวันนี้

องค์ความรู้เหล่านี้เกิดขึ้นในตัวหนู ติดตัว ติดใจ อยู่ที่ไหนก็พอทำได้เจ้าค่ะ

แบบเอาตัวรอด

นอกจากได้ความสุขจากการได้เรียนรู้จากครู

พวกหนูก็ได้ วิชาความรู้เรื่องการทำอาหาร การจัดการสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นส่วนเกินของชีวิตออกไป

หรือบางทีก็ค้นพบศักยภาพบางอย่างของตนเองที่ไม่เคยคิดว่าตนเองมีค่ะ

เพราะถ้าไม่ได้รับมอบหมายภารกิจ

ก็อดที่จะได้เห็นศักยภาพของตน ว่าหลากหลายและกว้างขวางแค่ไหน

เพราะได้รับการเปิดประตูใจ จากครู พวกหนูถึงได้รู้จัก ศักยภาพในตนเอง

กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท