"ไส้เดือนทะเล" คุณค่า&บทบาท บนหาดเลน


"ไส้เดือนทะเล".. เป็นสัตว์กลุ่มไม่มีกระดูกสันหลัง มีคุณค่าอาหารสูงของนกน้ำ/ชายเลน จึงไม่แปลกเลยที่นกชายเลนอพยพ แวะพัก เติมพลังจากแหล่งอาหารที่มีพลังงานสูง จากสายใยอาหารในหาดเลน

"ไส้เดือนทะเล" คุณค่า&บทบาืท บนหาดเลน

เสียงคลื่นซัดสาดเบา ๆ ขณะที่่ส่งสายตา มองหานกชายเลนอพยพ บริเวณริมอ่าวฯ.. หนึ่งในพื้นที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนในมอ. ที่เราร่วมพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้…เสียงบอกเล่าถึงความเป็นมา ความภูมิใจร่วมกันขณะที่นำนักศึกษาไปชมเส้นทางฯ ..ซึ่ง “ครูพื้นที่” ได้ตั้งชื่อบ่งชี้ลักษณะเด่น 7 บริเวณ รวมระยะทาง 1.5 กม. ดังนี้.  “นกน้ำสองฤดู ... ปลาปูหมู่กุ้ง ...มุ่งสู่ลานไทร ... สราญใจบ่อพักน้ำ ... ข้ามมาชายป่า... หรรษาพืชพรรณ ...ชมตะวันยามอัสดง”


“นกน้ำสองฤดู”… จึงมีนัยของความหมาย...ฝากไว้ให้คิด!!  พร้อมอธิบายเพิ่มเติม.. ฤดูนกอพยพเริ่มมาก่อนหน้านี้ http://burongtani.oas.psu.ac.th/node/6  แต่ช่วงนี้เรายังเห็นนกชายเลนอพยพ เข้ามาใช้พื้นที่บ้าง ต่อจากนี้ไปก็จะมีเข้ามาต่อเนื่อง และฤดูอพยพกลับจากซีกโลกใต้ขึ้นไปยังซีกโลกเหนือจะเริ่มขึ้น เมื่อซีกโลกใต้เริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้น ...สังเกตเห็นว่านกที่บินผ่านเข้ามาใช้พื้นที่หาดเลน ช่วงต่อจากนี้ไปจะมีชุดสีขนเปลี่ยนสดใสขึ้น (..ยังไงก็ยังมีสีกลมกลืนกับแหล่งหากิน.. สีโทนเดิม)  


นกตรียมผลัดขนเป็นชุดใหม่ในฤดูอพยพขึ้นซีกโลกเหนือ เรียกกันว่า "ขนชุดบ่าวสาว"  ผลัดขนไปขณะเดินทางอพยพไป ยังแหล่งทำรังวางไข่ (breeding ground) เพื่อพร้อมที่เข้าสู่ฤดูเพิ่มสมาชิกใหม่ในครอบครัว  พลังงานที่นกต้องใช้จากอาหาร ตัองการมากในการใช้เืพื่อ การบินเดินทางไกล การผลัดขน งอกขนทดแทนให้ทัน ตลอดจนกิจกรรมในช่วงฤดูสำคัญ เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์นั้น  การจัดการพลังงานที่ได้มาและใช้ไป (energy budget) จึงสำคัญมาก  ต้องมีแหล่งอาหารตลอดเส้นทางบิน ....พลันเสียงใครคนหนึ่งร้องถามด้วยความฉงน.!!


ข้อสงสัย:  มีอะไรในโคลนเลนบริเวณนี้ ค่ะอาจารย์?  ที่เป็นสาเหตุให้นกอพยพมาใช้พื้นที่บริเวณหาดเลน


ข้อคิดชวนคุย:  น่าจะลองคิดดูนะคะ ...เงียบไปชั่วขณะ...//  คุณลองสังเกตพื้นที่บริเวณหาดเลน ..นกหากินบริเวณใดบ้าง??  หรือมีปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่หากินของนกเหล่านี้  ฝากให้คิดแล้วลองแวะเข้ามาดูบ่อยๆ ..


(/// ..หลายวันผ่านไป ..เรา (ครู-ศิษย์) กลุ่มเดิมกลับไปยืนสังเกตที่ริมหาดเลนเช่นเดิม หากแต่บรรยากาศเปลี่ยนไป..) 


ข้อสังเกต: ...นกหากินบริเวณ...รอยต่อน้ำขึ้น น้ำลงครับ ...หนุ่มน้อยเสนอความเห็นบ้าง  สังเกตดูว่า ช่วงที่น้ำขึ้น นกจะค่อยๆ เดินตามแนวน้ำขึ้นที่ซัดเข้าหาฝั่ง


ข้อคิดชวนคุย:  ...หากเราสังเกตให้มากขึ้น... ในวันที่น้ำลงค่อนข้างมาก  พื้นที่หาดกว้างมาก  นกจะหากินใกล้ชายน้ำ แนวน้ำขึ้น-ลงในวันนั้น  แต่ในขณะที่ช่วงน้ำขึ้นสูงก็จะเห็นนกมาหากินใกล้ๆชายฝั่ง  แสดงว่าน้ำขึ้น-ลง ในแต่ละครั้งน่าจะมีอิทธิพลต่อการหากินของนก หรือไม่และเป็นเพราะอะไร?? .... เราคงต้องลองค้นหาและตั้งสมมติฐานดู 


ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ..ถ้าคุณจะมาดูนกชายเลน  การรู้เวลาน้ำขึ้นน้ำลงก็จะมีประโยชน์มาก  ซึ่งสืบค้นได้จากตารางน้ำขี้นน้ำลง กรมอุทกศาสตร์...คิดว่าควรจะมาดูนกเวลาไหนจะเหมาะสม?? ที่จะมองเห็นนกได้ ในระยะที่ใกล้เรามากขึ้น....เมื่อนกจะเดินตามน้ำเข้ามากินอาหาร  เราก็จะสังเกต พฤติกรรม และลักษณะของนกได้ละเอียดมากขึ้น.. เอ.. ตอนนี้ช่วยกันคิดและตอบโจทย์ข้อแรกก่อน..ดีไหม??


ข้อเสนอร่วมกัน: ..เราลองแบ่งพื้นที่เป็นสองแนว คือ ในแนวน้ำขึ้นสูงใกล้ชายฝั่ง และในแนวน้ำลงที่ไกลชายฝั่งออกไป อยากจะรู้ว่ามีอะไรใน เลน โคลน ก็ตักเลนมาดู....อืมม์...ไม่ง่ายนะค่ะ  เพราะจะใช้อุปกรณ์อะไรตักเลน เพื่อมิให้ถูกคลื่นซัด ชะออกไป  ลองดู ...หนุ่มสาววัยอยากรู้ จากคำถามที่สงสัย เดินออกไป ใช้ช้อนพลั่วตักเลนโคลน ใส่ตะแกรงร่อนดูว่ามีอะไร ในทั้งสองแนวตามที่ตกลง.. ทดสอบดูว่าเทคนิควิธี ..sieve เหมาะสมหรือไม่?? 



ข้อสงสัยผ่านการค้นหา: ณ ที่แห่งนี้ ...กิจกรรม “ตามรอย  ตามเลน”… ก็เริ่มขึ้น ในช่วงสิ้นสุดกิจกรรมดูนก (กิจกรรมเสริม..นอกห้องเรียนในเทอมนั้น)... ภาพแห่งความประทับใจในการเรียนรู้..การลุยหาดเลน จากฝั่งออกไปถึงสันดอนทราย ไกลออกไป หลายคนช่วยกันดึงตัวขึ้นมาจากโคลน หรือ "คาบ" อุปกรณ์ที่รับผิดชอบ และถุงพลาสติกใส่ตัวอย่างที่ได้จากการร่อนตะแกรง  (วิถีแห่งการค้นหา...เสียงหัวเราะ เสียงร้องขอความช่วยเหลือ  ภาพการดึงเพื่อนจากโคลน ภาพการ "หลุดพ้น" ภาพการเก็บตัวอย่างที่ได้  รักษาตัวอย่างกลับมาวิเคราะห์ริมฝั่ง และในห้องแล็บต่อไป ฯลฯ)  การค้นหาวันนั้นจบลง  หลังจากล้างเนื้อล้างตัว ตามด้วย ดื่มน้ำ ขนม  และพูดคุยแบ่งปันความสนุกหลังทำกิจกรรม และสรุปประเด็นที่ต้องการหาคำตอบ...สนุกแบบ..ปนเปื้อน..โคลน!



ข้อสงสัยที่มีคำตอบ: สิ่งที่เรารวบรวมได้ พบว่ามีหลากหลายสิ่งมีชีวิต (biodiversity) ในแนวน้ำขึ้นน้ำลง เช่น กุ้ง หอย ดอกไม้ทะเล (sea anemone) ยังมีมีชีวิต ยังเคลื่อนไหวได้ ตื่นตา ตื่นใจ ตื่นเต้น.. นับแล้วมากที่สุด มีขนาดต่างๆกันเห็นจะเป็นพวกที่มีลักษณะตัวยาว ลำตัวมีปล้องๆ สีแดง เรียกกันว่า "ไส้เดือนทะเล" (เรียกกลุ่มใหญ่ว่า polychaete, poly = มาก, หลาย, chaeta = เท้า  หรือ ระยาง)  เป็นสัตว์กลุ่มไม่มีกระดูกสันหลัง  มีปล้องที่แท้ิจริงทั้งภายในและภายนอก แต่ละปล้องมีระยางจำนวน 1 คู่หรือมากกว่า.. เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูง สำหรับนกน้ำ/ชายเลน จึงไม่แปลกเลย ที่นกชายเลนอพยพแวะพัก เติมพลังจากแหล่งอาหารที่มีพลังงานสูง จากสายใยอาหารในหาดเลน 


บางครั้งถ้าโชคดีเราก็จะเห็นนกอีก๋อยตัวใหญ่ ใช้ปากที่ยาวและโค้งควานหา (probe) ลงไปในเลน แล้วได้ไส้เดือนทะเลตัวโตและยาวมาก  ปากอันทรงพลัง หรือ นกทะเลปากซ่อม ใช้ปากยาวตรงจุ่มลงไปในเลน แล้วได้อาหารเหล่านี้......ประสบการณ์การสังเกตพฤติกรรมของนก ต้องใช้เวลาเฝ้าสังเกตค่อนข้างนาน และอดทนนั่งเงียบๆ  ดู พร้อม บันทึก และมองเห็น "สัจจธรรม" ใกล้ตัว...



ฝากคำถามชวนคิดเพิ่มเติม.....ทำไมสัตว์ในกลุ่ม "polychaete” เช่นไส้เดือนทะเล...จึงมีมากในแนวน้ำขึ้นน้ำลง ??  หรือถ้าต้องการตอบคำถามว่า ปริมาณที่พบไส้เดือนทะเลมีมากหรือน้อย?? จะออกแบบการศึกษาที่เหมาะสมอย่างไร ??



ข้อคิดเตือนใจ.. ถ้าบริเวณหาดเลนของเราปนเปื้อนไปด้วยสารพิษ ที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์... สารเคมีจากการเกษตร อุตสาหกรรม บ้านเรือน แหล่งทิ้งขยะ  จากธรรมชาติ ฯลฯ สารปนเปื้อนเหล่านี้ ที่ถูกชะไหลลงสู่สายน้ำ แต่ละสายที่ไหลลงอ่าวปัตตานี สะสมในน้ำ โคลนเลน มากขี้นๆๆ ทุกวัน ..ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำกุ้ง หอย ปู ปลา  หรือนกน้ำ/นกอพยพนกชายเลนที่แวะเข้ามาใช้ประโยชน์ก็จะได้รับสารพิษ โดยการกินไส้เดือนทะเลที่ปนเปื้อนสารพิษเช่นกัน หรือไม่ต่างกันกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆที่อาศัยในโคลนเลน ต่างก็เป็นหนึ่งในสายใยอาหาร ณ หาดเลน มีบทบาทเป็นผู้ล่า/ ผู้ถูกล่า ที่ซับซ้อน..  คุณภาพชีวิตของสัตว์ คน และระบบนิเวศจะเป็นเช่นไร ...ในระยะยาว ??  นกบ่งชี้...การปนเปื้อนสารพิษ และการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศได้้


(ข้อสังเกต: แต่ในระยะสั้นๆก็ตอบได้ชัดเจนว่าเรา ..มนุษย์..ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำเปลี่ยนไป.. รุกพื้นที่จากชายฝั่งออกไปเรื่อยๆ สร้างสิ่งปลูกสร้างถาวร ทำให้พื้นที่หากินของนกน้อยลง หรือถูกทำลาย (habitat destruction) จนนกต้องเดินบนถนนคอนกรีต ลาดยาง!!  นกคงต้องปรับตัว แปลกใจ เหตุไฉน..เปลี่ยนไป??...จากที่ในเส้นทางที่เดินทางปกติมาเยี่ยมทุกปี ดินหาดเลน เดินนุ่มเท้านี่นา ...นี่ถ้ามีทางม้าลาย ก็คงไม่พลาด...ดังภาพ... ดูเดินเป็นระเบียบเชียว...อย่างกะมีทางม้าลายในใจ!!!..  ดูภาพแล้วะสะท้อนอะไร...ทั้งคนและนกอยู่ร่วมกันได้ไหม ...ฤา.. ต่างปรับตัวเปลี่ยนไป??)





ข้อคิดชวนติดตาม: นกชายเลนอพยพและทุกชีวิต.. ไม่เพียงแต่ต้องการอาหารในเชิงปริมาณเท่านั้น เรื่องของคุณภาพก็มี ความสำคัญไม่น้อย  เช่นเดียวกับชีวิตของเราท่าน  แล้วเราจะทำอย่างไร ที่จะช่วยให้แหล่งอาหารของนกชายเลนหรือของคน ยังคงมีอยู่และมีคุณภาพไม่ปนเปื้อนสาร มลพิษต่าง ๆ 

(อ่านเพิ่มเติมที่ http://burongtani.oas.psu.ac.th/blog/362)


สาระน่ารู้

ระบบนิเวศชายฝั่งเรียกรวมๆสัตว์ในกลุ่มนี้ว่า"polychaete” รวมถึงไส้เดือนทะเล  แม่เพรียงก็ใช่ หรือเรียกกลุ่มใหญ่ว่าเป็นสัตว์หน้าดิน (benthic fauna) ..มีงานวิจัยบางส่วนที่สนใจ..เกี่ยวกับความสำคัญของอาหาร กลุ่มสัตว์หน้าดินและนกชายเลนอพยพ   ส่วนรายงานวิจัยชนิดและการกระจายของโพลีคีทในอ่าวไทย พบว่าแพร่กระจายมากน้อยต่างกันในแต่ละบริเวณ ส่วนใหญ่กล่าวกันว่าพบมากใน 2 family.. ได้แก่ Capitellidae และ Nereidae (ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้สนใจเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารให้กับสัตว์น้ำ)



วรรณชไม การถนัด
๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 509966เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2012 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2013 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (27)

บันทึกน่ารักค่ะ ชอบภาพนกจังเลยค่ะ เดินข้ามถนนกันอย่างเป็นระเบียบ ธรรมชาติให้อะไรมากกว่าที่เราคิดค่ะ บทจะลงโทษก็ให้มาแบบไม่คาดฝันค่ะ

ขอขอบคุณสำหรับความรู้นะคะ :)

Thanks. This brings back the time when I trod in mud hunting for clams, crabs, mussels and ... adventures unlimited!

No! We left the beach worms and mud worms alone. Those days, more appealing foods were aplenty ;-)

สวัสดีค่ะคุณ Bright Lily

ขอบคุณค่ะที่แวะมาทักทาย ใช่ค่ะธรรมชาติ ให้เรา สอนเรา เตือนเรา หลายๆอย่างนะค่ะ
บางเหตุการณ์ เกิดขึ้นค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่บางอย่างก็เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน มีทั้งพลังแห่งความสวยงามและพลังแห่งการทำลาย เราอยู่กับธรรมชาติก็เลยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันละค่ะ

ดีใจที่คุณ Bright Lily ชอบบันทึกนี้ อืมม์...แถบฝั่งอันดามัน ก็จะเห็นภาพนกชายเลนอพยพได้ไม่ยาก นะค่ะ แถมบนชายหาดก็มีหลากหลาย ทั้งหาดทรายและหาดเลน สิ่งมีชีวิตมากมาย ดูแล้วผ่อนคลายได้ดีทีเดียวค่ะ :-))

สวัสดีค่ะน้องหนูรี

ขอบคุณค่ะที่มาเยือน ไส้เดือนทะเลและพี่.... ถึงแม้ว่าที่ยะลา ไม่ติดกับทะเล ก็เรียนรู้เรื่องทะเล จากคนตานีได้นะค่ะ

ที่นี่ในมอ. อยู่ติดกับทะเล แต่หาดเป็นหาดเลนโคลนค่ะ  ด้วยเพราะความที่ได้รับคำบอกเล่าว่า มอ. ติดกับทะเล หลายคนก็คิดถึงหาดทรายสวยงาม แต่เปล่าเลย หาดเลนค่ะพี่น้อง...เต็มไปด้วยอาหารอันโอชะของสรรพสัตว์ที่อาศัยอยู่  ทั้งนกก็เยอะมากินไส้เดือนทะเล ... หอยแครงก็มาเจริญในเลนโคลน งมๆแล้วก็ได้เยอะ ตัวโตด้วย หน้าแล้งมีชาวประมงพื้นบ้านมางม  เผื่อสนใจมาช่วยงมได้นะค่ะ น้องหนูรี จะจัดให้  อิอิ... บรรยากาศดีด้วย นักศึกษาเค้าชอบกันค่ะกิจกรรมอย่างนี้

 อืมม์...แต่ที่ไม่ไกลกัน หาดก็เป็นหาดทรายค่ะ  มองทะเลแล้วร้องเพลงนี้ประกอบได้เลยค่ะ  " โอ้ทะเลแสนงามได้ ฟ้าสีครามสดใส มองเห็นเรือใบ แล่นอยู่ในทะเล" พร้อมกับเต้นระบำฮาวายได้เลยค่ะ ถ้าเอาจังหวะช้าๆ  หรือว่าต้องการจังหวะเร็วๆ ก็ท่าลิเกฮูลู ดีไหม๊น๊า??   :-))

  • น่าสนใจนะคะ ว่านกอพยพ  มาหาอาหารหรือเปล่าคะIco48 kwancha

สวัสดีค่ะ SR

เห็นรูปเด็กๆ ลุยเก็บตัวอย่างในโคลน ทำให้ SR นึกถึงภาพสมัยเด็กๆ ใช่ไหม๊หล่ะค่ะ 555!! วัยเด็ก... เมื่อย้อนกลับไป  มีอะไรให้คิดถึงเสมอ.. เปื้อนดิน โคลน เลน วิ่งเล่นตากน้ำฝน ยามฝนพรำ  ..สนุกจริงๆ... ลืมป่วยไปเลย ทั้งๆผู้ใหญ่ห่วง และห้ามกัน

อืมม์ .. แสดงว่า พลังเหลือเฟือของ SR ...สนุกไปกับการหา หอย ปู ปลา ริมทะเล แน่ๆเลย..สมัยก่อนคงจะมีเยอะด้วยนะค่ะ แถมคุณภาพก็รับประกันความปนเปื้อนสารพิษน้อยและอร่อย   

ว่าแต่ว่า  ดีจังเลยที่ SR บอกว่าเมื่อก่อน ไม่สนใจพวกหนอนประเภทต่าง ไส้เดือนทะเลและอะไรอีกมากมาย .. leave them alone !!!   ก็นั่นเป็นอาหารอันโอชะของนก และ กลุ่มสัตว์ชนิดอื่นๆนะซิค่ะ  ..แบ่งปันกัน... ในห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศชายฝั่ง..

ขอบคุณค่ะที่แวะมาทักทาย ฝากความเห็นไว้ :-))

สวัสดีค่ะคุณครูทิพย์

นกชายเลนอพยพ มีพฤติกรรมการอพยพหนีหนาว  เพราะในช่วงฤดูหนาว อาหารการกินก็หายาก และไม่เหมาะสมในการดำรงชีพ จึงเดินทางออกจากแหล่งทำรังวางไข่ ซึ่งในแถบเอเชีย ที่เป็นเส้นทางบิน ( flyway) ก็จะบินไปไซบีเรีย โน่นหล่ะค่ะ แต่ก็ไม่ทุกชนิดนะค่ะที่จะไปถึงที่นั่น ส่วนใหญ่จะใช้พื้นที่บริเวณนั้นสำหรับฤดูทำรัง วางไข่ เมือตัวอ่อนโตขึ้น อุณหภูมิก็จะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล นกเหล่านี้ก็เดินทางไกล ขั้วโลกเหนือ-ใต้ จึงแวะกินอาหารในเส้นทางบินค่ะ  ตามแหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆจึงมีนกเหล่านี้เข้ามา  เราควรรักษาสภาพระบบนิเวศชายฝั่ง ที่มีแหล่งอาหารไว้ให้นกได้แวะพักและหาอาหารกินที่หาดเลน หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ เติมพลังกันหน่อยค่ะ  ก่ิอนที่จะบินไปยังเป้าหมาย

เป็นวิถีที่น่าทึ่งมากสำหรับนกตัวน้อยๆ อดทน สู้ชีวิต และช่วยเหลือกัน เพราะเค้าจะบินไปเป็นกลุ่มค่ะ ..ขอบคุณที่แวะมาชม..ไส้เดือนทะเล.. อาหารของนกและสัตว์น้ำนะค่ะ :-))

เป็นความรู้ใหม่ที่คนในป่าคอนกรีตอย่างผมยังไม่เคยได้รับรู้มาก่อนเลยครับ ขอบคุณที่แบ่งปันนะครับ

สวัสดีค่ะลุงชาติ

ขอบคุณที่แวะมาทักทาย  ยินดีค่ะสำหรับการแบ่งปันเรื่องราวจาก ริมหาดเลน  ซึ่งไม่ค่อยจะมีใครชื่นชอบ เพราะภาพลักษณ์ของหาด ใครๆก็จะนึกถึง หาดทรายสีขาวค่ะ  จริงๆแล้วหาดเลนมีอะไรที่น่าสนใจ ศึกษามากมายค่ะ ในเรื่องของระบบนิเวศชายฝั่ง แถมส่วนนี้อยู่ก่อนถึงแนวป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และมีแมลงต่างๆ ซึ่งนกอีกกลุ่มหนึ่งก็จะมาหากินแมลงในป่าชายเลนเช่นกันค่ะลุงชาติ 

การที่มีหาดเลนในอ่าวฯ   เป็นเพราะพื้นที่อยู่ใกล้กับปากแม่น้ำ  ปริมาณน้ำจืดที่ไหลเข้าสู่อ่าว กับน้ำทะเลจะผลักดันกันไปมา แล้วแต่ว่าใครมีกำลังมากกว่า ทำให้อนุภาคของตะกอนที่มากับสายน้ำถูกพัดพาและตกสะสมไปเป็นส่วนของหาดโคลนเลนขึ้นมา 

ต้องนับว่าโชคดีที่บ้านเมืองเรามีระบบนิเวศที่ครบครัน เอื้ออิงกัน ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม  ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตก็สูง เพราะความเค็มที่เปลี่ยไป ทำให้เหมาะสมกับการเจริญของสิ่งมีชีวิตที่ต่างๆกันและถูกเป็นปัจจัยจำกัดเมื่อระดับความเค็มเปลี่ยนจากการที่มีปริมาณน้ำจืดไหลเข้าอ่าวมาก  จึงเป็นปัจจัยที่ควบคุมกันเอง ธรรมชาตินี้น่าทึ่งนักค่ะ ลุงชาติ 

บางชนิดของสิ่งมีชีวิตในหาดเลนมีอยู่ เพียงแต่ไม่สามารถเห็นได้ชัด เพระน้ำไม่ใสพอที่จะมองผ่านลงไปได้ อย่างเช่นทะเลเปิด เรา ตัองเก็บมาศึกษาในห้องปฏิบัติการ  ที่แปลกใจคือ มีดอกไม้ทะเล ประเภทโครงสร้างเล็กๆ และปะการังอ่อนให้เห็น  น่าทึ่งมากค่ะ แม้แต่ในความคล้ำดำ ของโคลนเลน แต่มี "เพชร" มากมายในเลน ตม ที่เปล่งประกายส่องแสง แล้วแต่ว่าใครจะเห็นหรือไม่เท่านั้นหล่ะคะ   เอาไว้จะเขียนเรื่องอื่นๆมาแบ่งปันอีกค่ะ ลุงชาติ:-))

อยู่ไกลทะเล..มาเรียนรู้ธรรมชาติด้วย..ขอบคุณค่ะ..

สวัสดีค่ะพี่ใหญ่

ขอบพระคุณมากที่พี่ใหญ่กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมเยือน ทักทายค่ะ ..

น้องอยู่ติดทะเล ก็เลยเล่าเรื่องทะเลๆ ค่ะ พี่ใหญ่   ได้ใช้อ่าวปัตตานี เป็นโมเดลเรียนรู้อะไรๆ มากมาย เรื่องของระบบนิเวศชายฝั่ง ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อย  นอกจากผ่านกระบวนการเรียนการสอนในกิจกรรมเสริมหลักสูตรแล้ว  ก็ยังร่วมจัดกิจกรรมให้กับเยาวชน ในพื้นที่ เืพื่อปลูกฝังการรักษ์ธรรมชาติ โดยใช้บริบทของ นกบ้าง สิ่งมีชีวิตต่างบ้าง และที่พลาดไม่ได้คือป่าชายเลนค่ะ พี่ใหญ่ 

จึงเป็นโอกาสดีที่ใช้ พื้นที่หาดเลน ริมอ่าวปัตตานี.. สอนตน สอนคน.. ซึ่งมีตั้งแต่วัยอนุบาล ประถม มัธยม นักศึกษา การศึกษานอกระบบ และการอบรมครูค่ะ  ถือเป็นความโชคดีของตัวเองและน้องๆในทีม ที่มีโอกาสได้จุดประกาย และสร้างความตระหนัก ถึงความสำัคัญของระบบนิเวศให้กับผู้สนใจได้ทุกระดับ  ทำให้มองเห็นความเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายมากขึ้นค่ะ  คล้ายๆกับเครือข่าย สายใยอาหาร บริเวณหาดเลนหล่ะค่ะ

ครั้งนี้เลยเสนอเรื่อง ไส้เืดือนทะเลกับนกชายเลนอพยพค่ะ..ดีใจที่พีใหญ่เข้ามาให้กำลังใจฝากความเห็นไว้ค่ะ  ขอบคุณค่ะ:-))

เป็นบันทึกที่มีชีวิตมากเลยค่ะ พลันให้นึกถึงตอนเป็นเด็ก ขอบคุณค่ะที่แบ่งปันบันทึกดีๆ

สวัสดีค่ะน้องพบ. ชลัญธร

ขอบคุณที่ปลีกเวลามาทักทายค่ะ  ทราบว่าหมู่นี้กำลังยุ่งๆมีงานท้าทายเป็น  web master ... คนอะไร้มีฝีมือ หยิบจับอะไร คิดทำอะไรก็ออกจะน่าสนใจ ชวนติดตาม  :-))   หลายๆเรื่องที่นำเสนอได้น่าทึ่งจริงๆ  คุณแม่น้อง หมวยน้อยไจไจ๋   น่าขื่นชมจริงๆค่ะ 

อืมม์....พี่อยู่ติดทะเล แถมหน้ามอ.ด้านที่ติดกับทะเล ก็เป็นหาดเลนอีกต่างหาก  ซึ่งเป็นของดีที่ไม่ค่อยมีใครอยากไปเยี่ยมชมสัมผัสเพราะความไม่สวยของหาดเลน   เลยได้ใช้โอกาสนำเสนอสิ่งใกล้ตัวที่น่าสนใจ เผื่อใครๆที่สนใจจะได้ทราบด้วยค่ะ  ส่วนใหญ่ทีมพี่และน้องๆที่นี่ ก็สร้างกิจกรรม ทำร่วมกันบริเวณ ป่าชายเลน หาดเลน  นกชายเลน...  ( รู้สึกจะเลนๆ ทั้งงั้นหล่ะค่ะ )

วันหยุดเสาร์อาทิตย์ ส่วนใหญ่มีกิจกรรมสนุกๆกัน  เช้าๆก็ออกไปดูนกอพยพ  กลางวันหรือช่วงเย็นเก็บเมล็ดพันธุ์พืชชายเลนมาเพาะในเรือนเพาะชำ พอโตขึ้นก็นำไปปลูก   กลางคืนไปจับหิ่งห้อยกันบ้าง หรือแมลงกลางคืนบ้าง  อ้อ  มีกิจกรรมใส่ห่วงขานกอีก

ที่มีเด็กๆลูกหลานอาจารย์มาร่วมกิจกรรม  บางทีไปเดินที่หาดเลน   แบบเละๆส่วนใหญ่เด็กๆชอบค่ะ  นี่ถ้าหมวยน้อย อยู่ใกล้ๆจะรับมาร่วมกิจกรรมด้วยละค่ะ  ...วัยกำลังน่ารักเชียวหล่ะที่จะเรียนรู้ เพราะใจเกินร้อยทั้งนั้น เด็กๆ เวลาเค้าทำกิจกรรม  ที่นี่กลุ่มน้องๆอาจารย์และตัวพี่เองก็เลยเป็นพี่เลี้ยงเด็กๆไปด้วยเลย  พ่อแม่เค้าวางใจ เอามาฝากไว้ เวลามีกิจกรรม ซึ่งปกติทำเดือนละหนึ่งครั้ง สนุกดีเช่นกันค่ะน้องชลัญ  

ดีใจจังที่บันทึกนี้ทำให้น้องชลัญฯนึกถึงตอนเด็กๆ   น้องชลัญฯมีพี่ชายก็คงจะซนตามพี่ชายนะค่ะ  อืมม์  วัยเด็กเป็นวัยที่มีรอยยิ้ม หัวเราะได้ง่ายมาก... แฮ่ๆๆ...  น้ำตาก็มีด้วยหล่ะแต่หายเร็วชะมัด  อิอิ  :-)) ขอบคุณค่ะที่ฝากความเห็นไว้ให้คิดถึง...ชลัญฯ happy ba.. หลั่นล้า :-))

 

 

 

แวะมาอ่านเรื่องราวของคนริมเล 

คงไม่ต่างจากนกนะคะ อายุมากขึ้น

บินไปไหนไกลก็ไม่สนุกเท่ากับไปริมเล 

ได้บรรยากาศของการพักผ่อน

และเติมพลังชีวิตที่เคยหายไปให้คืนมา

บันทึกนี้จึงทำให้ได้พบความงดงามที่ปลูกขึ้นในใจน้องๆที่กล่าวถึง

ยังความยินดีมีขึ้นในขณะที่อ่านไปยิ้มไปค่ะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ Krutoiting

ขอบคุณค่ะที่แวะมาเยี่ยมทักทายและฝากความเห็นไว้

ค่ะ  เห็นด้วยกับ krutoiting ที่ริมเลทำให้มีบรรยากาศพักผ่อน   โดยส่วนตัวแล้วทะเลมีเสน่ห์ ที่มองครั้งใดก็ผ่อนคลาย  ไม่ว่าที่ไหน มุมใด กับภาพกว้างๆเบื้องหน้าค่ะ

ที่มอ.ปัตตานี เราโชคดีที่มีหาดโคลน ด้านที่ติดทะเล จึงเป็นโอกาสของการเป็นแหล่งเรียนรู้ และพักผ่อน   แต่ที่น่าแปลกใจคือนักศึกษาไปที่นั่นกันนับว่าน้อยมากค่ะ  ใครที่ได้เรียนด้วยกับน้อง ก็จะได้พาไปเดินตั้งแต่อาทิตย์แรกที่เข้าเรียน ครั้นถามว่าเคยมาไหม๊  คำตอบสร้างความแปลกใจมาก  แต่เมื่อได้มาเดิน ในเส้นทางฯที่เลียบทะเล หาดเลน ป่าชายเลน  ได้ชี้ชวนให้ดูโน่น นี่นั่น ได้รับการอธิบาย ก็จะประทับใจ  อยากจะกลับมาอีก  ทำให้กลับมาคิดว่า ส่วนใหญ่ก็จะติดภาพลักษณ์ของทะเลว่าหาดทรายสวย ฟ้าใส  ที่ๆหาดไม่สวย ฟ้าใส ตะวันกลมโต กลับได้รับการเฉยเมย ไม่สนใจ :-((

การเข้ามายืนบริเวณริมเล นอกจากจะผ่อนคลายแล้ว ยังมีเพื่อนๆมาทักทายในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นปูก้ามดาบ ปลาตีน นก  หรือมีชาวประมงพื้นบ้านเดินงมหอย วางตาข่ายจับปลา ไกลๆให้เห็นค่ะ

ปูก้ามดาบที่ชูก้ามอวดให้เห็น สีแดงตัดกับตัวและสีหม่นๆของหาดเลน ทำให้มีชีวิตชีวา มากขึ้นเมื่อยืนเงียบๆ เฝ้ามองการหากินของเค้า ที่เมื่อเราเริ่มเดินเข้ามายัง "บ้าน" ริมเล เค้าก็จะหนีลงรู รอจนกว่าแน่ใจว่ามนุษย์ทีมาเยือนไม่เป็นภัยคุกคาม ก็พากันออกมาดำรงชีวิตต่อ เพราะรอเวลาว่า น้ำขึ้นยามใด พื้นที่หากินก็จะน้อยลงไป  น่าสนใจไม่น้อยค่ะ 

ปลาตีน...ก็เป็นชนิดที่น่ารัก  เมื่อเราเดินเข้าไปก็จะไม่เห็น แต่เมื่อมองไกลๆก็จะมีนักระโดดเลน ใช้ครีบแข็งแรง พยุงตัว บ้างก็ไล่กัน บ้างก็ไถลบนเลน คิดๆแล้วยังกะเราสมัยเด็กๆ เล่นโคลนเลนกัน  ปลาตีนตัวผู้เค้าจะสร้างแอ่ง เป็นพื้นที่โรแมนติกของเค้าเมื่อพร้อมจะมีครอบครัว สร้างสมาชิกใหม่  จะสังเกตเห็นเป็นแอ่งๆ ศิลปในการสร้างบ้านดูได้เลยว่า ใช้ความพยายามไม่น้อย มีรั้วรอบขอบชิด ด้วยโคลน จัดวางซ้อนกันดูเป็นสัน และขุดเป็นแอ่งตรงกลาง   น้อยครั้งที่จะมีเจ้าบ้านให้เห็น  หากรอสักครุ่ นั่งเงียบๆรอ  ก็จะเจอเจ้าบ้านปรากฏกายค่ะ สองตัวในแอ่ง สุขที่มีกันและกันอีกครั้ง:-))

ส่วนนกทะเล นกชายเลนอพยพ ก็เป็นสิ่งที่พิเศษ เพราะเค้ามาเยือนเป็นฤดู  ในฐานะที่น้องสอนนักศึกษาในรายวิชาพื้นฐาน สัตววิทยา.. ก็แนะนำให้ศิษย์มาสังเกต ดุนกที่ริมหาด เป็นกำไรชีวิต  ครั้นได้เวลาก็ให้นัดมาไปดูพร้อมๆกัน  แต่ละกลุ่มก็สนใจไม่เหมือนกัน  เด็กๆก็จะคุยเสียงดัง ไม่ระวัง  คราวนี้ก็จะต้องปรับพฤติกรรมของคนก่อน   เขาก็จะขำว่า ทำไมอาจารย์ต้องกระซิบเวลาคุย อธิบาย??  ทำไมอาจารย์ต้องเดินย่องๆ เข้าไป ??  ทั้งหมดนี้มีคำตอบเมื่อ ได้ตั้งกล้องทางไกลให้ศิษย์ดุนก  เมื่อเห็นรายละเอียดของนก สายตาเด็กๆบอกได้ว่า... ตื่นเต้น มีขีวิตชีวา ชอบ...  สักพักเมื่อนกรู้ตัวก็บินจากไป  ก็จะผิดหวัง  ..ข้อสงสัยมีคำตอบว่า ต้องเงียบ และ เดินย่องๆเมื่อสังเกตเห็นนกในบริเวณ  เพราะแม้เพียงเสียงเบาๆ และแรงสะเทือนเวลาเดินเข้าไปในขณะที่นกหากินอยู่ เค้าก็จะไม่วางใจ บินหนีไป  เมื่อการเรียนรู้ ที่จากการปฏิบัติจริง สถานการณ์จริง นักศึกษาก็เข้าใจ คราวต่อไปก็จะทำได้ดีขึ้น ค่ะ krutoiting  บางครั้งพาไปยืนบนหอดุนก ก็จะดูนกบินกลับมายังแหล่งพักนอน ในป่าชายเลน หรือส่องดุนกจากมุมไกล ก็จะเป็นการไม่รบกวนนก  เพราะบางชนิดต้องรีบกิน เติมพลังงานในการเดินทางต่อไป ทุกชีวิตมีเป้าหมายในการดำรงชีพ ณ หาดเลน นะค่ะ   

นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ยืนยันว่า ชีวิตริมเล สอนและเรียนรู้ อะไรมากมายค่ะ  ขอบคุณkrutoiting ที่แวะมาเยี่ยม คนริมเล ตานีค่ะ :-))

 

 

  • พี่ครับ
  • นกเยอะมาก
  • แต่เพิ่งเคยเห็นไส้เดือนทะเลชัดๆตอนนี้เองครับ

สวัสดีค่ะน้องแอ๊ด

ขอบคุณที่แวะมาทักทายเสมอนะค่ะ :-))  ทั้งที่ทราบว่างานเยอะมากมาย ดร.ขจิต ครู/นักวิจัย ใจอาสา  อืมม์.. ไหนจะเรื่อง ค่าย "เห็ด"  ค่ายภาษา  ไหนจะเรื่องอบรม  กิจกรรมมากมาย สาระพัน... สุขภาพกาย-ใจ ยังโอ อยู่ใช่ไหม๊เอ่ย??

ค่ะ ..น้องแอ๊ด..นกมากมาย  โดยเฉพาะนกชายเลนอพยพในอ่าวฯ ด้านหน้ามอ.ที่เป็นหาดเลน สาเหตุหนึ่งเพราะมีอาหาร  กลุ่มนี้หล่ะค่ะ polychaete เช่นไส้เดือนทะเล ที่ยังคงให้นกยังชีพได้ เติมพลังก่อนบินจากไปเป้าหมายไกลๆโพ้นทะเล.  จริงๆแล้วในหาดเลนก็ยังมีตัวอ่อนของสัตว์้น้ำหลายชนิดที่ฝังตัวตามโคลนเลน  ส่วนหนึ่งคือแนวน้ำขึ้นลงใกล้ป่าชายเลน จึงต้องรักษาป่าชายเลนไว้ค่ะ

ไส้เดือนดินที่น้องแอ๊ดเห็นตัวโต  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะถ่ายซูมค่ะ  บังเอิญไม่ได้เอาเสกลใส่ไว้ อย่างน้อยจะได้เห็นว่าใหญ่เล็กอย่างไร  จริงๆแล้วมีหลายขนาดนะค่ะ  เวลาเราร่อนโคลนด้วยตระแกรง จะเห็นสีของไส้เดือน สีแดงของรงควัตถุในระบบไหลเวียนเลือดของไส้เดือนค่ะ สีต่างจากโคลนทำให้เราเลือกหยิบขึ้นมาได้   ตัวอ้วนๆตัวโตๆ ยาวๆ อย่างในภาพก็มีนะค่ะ  ยิ่งเวลาดูที่นกใช้ปาก probe ลงไปในเลน  ได้มาตัวโตๆ กว่าจะดึงออกมาหมด โห ..เห็นว่ายาวมากค่ะ  จึงเป็นชนิดที่เหมาะกับนกตัวโตเช่นอีก๋อยใหญ่  ส่วนนกตัวเล็กๆก็เลือกกินขนาดไส้เดือนทะเลต่างๆกันที่สนนมาในเลน  ปกติถ้าจะดู polychaete ตัวเล็กๆ เราตัองใช้สีย้อม  ขยำๆไปกับโคลนที่ร่อนได้ รอสักครู่ เมื่อสีถูกตัวพวก polychaete ก็จะมีสีแดงชัดเจนขึ้นต่างจากโคลนเลน  ทำให้เราเก็บตัวอย่างได้ทั้งหมดที่มีอยู่ในปริมาณโคลนที่ตักมาแต่ละครั้ง เพื่อดูปริมาณ /จำนวน polychaete ค่ะ..  สนุกดีค่ะน้องแอ๊ด  ไม่ได้เป็นงานวิจัยนะค่ะ เพราะไม่ได้เชี่ยวชาญทางนก เพียงแต่ชอบ ดูนก ดูพฤติกรรมของนก ในฐานะที่เป็นเพื่อน ร่วมระบบนิเวศ ก็เลยอยากหาคำตอบจากคำถาม สมมติฐานเล็กๆที่สนใจค่ะ 

พฤติกรรมการกินของนก ดูแล้วน่าสนุกค่ะ ...นกชนิดต่างๆก็เลือกกินได้ตามใจปรารถนา ตัวเล็ก ตัวโต ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ทุกตัวต่างรู้บทบาทหน้าที่   บางตัวใช้ปากจุ่มในโคลนแล้วทำท่าเหมือนไถนา   บางตัวก็ใช้ปากส่ายไปมาซ้ายขวา  ท่าทางแต่ละตัวน่าประทับใจ  มีนักปักษีที่เขาสนใจทำวิจัย ..สุดท้ายได้ข้อสรุปที่น่าทึ่งว่า แม้เพีียงเห็นท่าทางการกิน ก็บอกได้แล้วว่าเป็นนกอะไร  บางตัวเดินๆๆ (นับไว้ว่ากี่ก้าวเดิน) แล้วหยุดจุ่มปากหาอาหาร   บางตัววิ่งๆๆๆแล้วก็กิน   บางที่เค้าก็นับว่าทุกครั้งที่ใช้ปากจุ่มลงไป ควานหาอาหาร มีอาหารติดมาด้วยไหม๊ (ดู %success rate ) ล้วนแล้วแต่จะคิดหาคำตอบ  พี่ยังไม่ได้ทำถึงขนาดนั้นแต่ต่อไปไม่แน่นะค่ะ น้องแอ๊ด 

ขณะที่นั่งดูนกก็ นึกในใจว่า ทักษะชีวิตของนกแต่ละชนิดต่างกัน ทั้งนี้ถูกออกแบบโครงสร้างไม่ว่าจะเป็นขนาดตัว ลักษณะปาก ฯลฯ วิวัฒนาการและถ่ายทอดผ่านมาทางพันธุกรรม เป็นสิ่งที่น่าทึ่งมากๆค่ะ    ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นการมองผ่านกล้องนะค่ะ  ทั้งกล้องสองตา (binocular) และกล้องส่องทางไกล (spotted telescope) ทำให้เห็นรายละเอียดได้ โดยไ่ม่ต้องไปรบกวนนกค่ะ ..มีไว้ติดตัวเลยหล่ะค่ะ เวลาไปดูนก...เมื่อไหร่มีเวลาก็เชิญชวนมาดูได้นะค่ะน้องแอ๊ด   อืมม์...แต่ว่าที่นี่ไกลมากไปสำหรับน้องแอ๊ดค่ะ   เดินทางมาก็อันตรายไปหน่อย  เอาเป็นว่า แถวอ่าวไทยตอนใน มีที่ให้ดูนกชายเลนอพยพมากมาย ไม่ต้องลงมาถึงปักษ์ใต้หรอกนะค่ะ  ยกเว้นจะไปฮาลาบาลา ดูนกป่าค่ะ :-))

 

ขอขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือนและ/หรือฝากความเห็นไว้ ในบันทึกนี้ "ไส้เดือนทะเล บนหาดเลน" ที่ปัตตานี

Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48

Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48

 

เพิ่งทราบครับว่า "ไส้เดือนทะเล" ก็มีด้วย

น่าสนใจมากๆ เลยครับ

สวัสดีค่ะชาวบ้านอารมณ์ดี:-))

 ไส้เดือนที่เรารู้จักก็มักจะเป็นไส้เดือนดินจริงๆด้วยค่ะ   แต่ไส้เดือนทะเลมีรูปร่างคล้ายกัน คือมีลำตัวยาว กลม มีปล้อง  ถ้าจะนึกถึงก็ "แม่เพรียง" นั่นแหล่ะค่ะ ตัวโต และยาวหน่อย แต่ไส้เดือนทะเลจะตัวยาวกลมๆ สัตว์ในกลุ่มนี้จึงเรียกรวมๆว่า โพลีคีท คือมีส่วนที่ยื่นออกมาจากลำตัวในแต่ละปล้องเรียกว่าระยางค่ะ  (จินตนาการว่า คล้ายๆกับขาของตะขาบ แต่ไม่ได้ใช้เดินอย่างตะขาบค่ะ)  

สัตว์ในกลุ่มนี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศชายฝั่งค่ะ  เนื่องจากฝังตัวอยู่ในตะกอนโคลนเลน ทำให้มีผลต่อการกระจายออกซิเจนในตะกอนดินซึ่งเป็นที่ต้องการของสัตว์ในบริเวณนี้เช่นกัน  นอกจากนี้นกก็ชอบกินค่ะ  โดยเฉพาะนกน้ำเช่น นกยางเปีย นกชายเลนอพยพ  ที่หากินตามหาดเลนนั่นหล่ะค่ะ

สัตว์กลุ่มแม่เพรียง สำหรับผู้ที่ชอบตกปลานั้น ก็จะไปขุดหา หรือซื้อขายกัน จึงมีแนวคิดในการเลี้ยงเพื่อการขาย

เนื่องจากสัตว์กลุ่มนี้มีหลายชนิด บางครั้งเราเจอตัวโตมากซ่อนตัวในซากไม้ผุๆริมคลองน้ำกร่อยที่ติดกับอ่าว  จึงเห็นได้ชัดว่า ทำไมกลุ่มผู้ที่นิยมการตกปลาจึงนิยมใช้เป็นเหยื่อเกี่ยวเบ็ด

อืมม์.... คุณอักขณิช ไม่ต้องตกปลาแล้วใช่ไหม๊เอ่ย.. เพราะในบ่อเลี้ยงปลา มีปลาเยอะเลย ถึงแม้ว่ารอดพ้นจากนกปากห่างบ้างแล้วน๊า :-))

สวัสดีค่ะพี่อาจารย์

ไส้เดือนทะเลหน้าตาลำตัวคล้ายๆ ไส้เดือนดินเลยนะคะ ปกติเป็นโรคแพ้สัตว์ที่ลำตัวยาวๆค่ะ ไส้เดือน หนอน งู อะไรพวกนี้ สู้ไม่ไหวค่ะ อิอิอิ

เวลาไปเดินชายหาดเห็นคนชอบหาหนอนตัวสีแดงๆ เป็นเส้นเล็กๆ เขาบอกจะเอาไปตกปลา สงสัยจะเป็นเพรียงนะคะ บางทีเจ้านกชายเลนก็ดึงออกมาจากโคลนค่ะ สงสัยพวกเดียวกัน ;))

ตอนนี้เหยี่ยวผึ้งมาถึงสิงคโปร์แล้วนะคะ ;)))

สวัสดีคะน้องปริม,

ค่ะ..พวกไส้เดือนทะเล จะมีัลักษณะอย่างที่น้องปริมแพ้ นั่นหล่ะค่ะ  ไม่เป็นไรนะค่ะ นกกินสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้เป็นอาหาร  น้องปริมชอบนกได้ชื่นชมกับธรรมชาติของหาดเลน หรือที่สุไหงบูโล๊ะที่น้องมักจะไปชมนก ชมไม้ี่ที่นั่นนะค่ะ

อืมม์...เหยี่ยวผึ้งไปถึงที่นั่นแล้วเหรอค่ะ  ที่ปัตตานียังไ่ม่พบกลุ่มนี้ (เหยี่ยว) เป็นพิเศษค่ะปีนี้ ปกติก็จะมีเหยี่ยวกิ้งก่า ค่ะ  ที่มาให้เป็นออร์เดิร์ฟก่อนค่ะน้องปริม  บ่งบอกว่ากลุ่มเหยี่ยวกำลังเดินทางมาละ   มาเกาะให้เห็นใกล้ๆ เรียกว่าต้นมะพร้าว ริมระเบียงข้างแฟลตที่พักในมอ ก็เจอได้  ถ้าเค้าอพยพมาแล้วนะค่ะ   ตื่นเช้าขึ้นมา มองออกไปก็จะ๊เอ๋ เหยี่ยวกิ้งก่าได้เลย ไม่ต้องใช้กล้องส่องดูด้วยค่ะ  ออกจะชัดเจนในลักษณะ   ประเดี่ยวพี่จะมองหาเหยี่ยวผึ้งบ้างนะค่ะ เผื่อใช้เส้นทางบินผ่านทีนี่  จะได้บ๊ายบ่าย ฝากไปถึงน้องปริมที่สิงค์โปร์..:-))

ส่วนนกชายเลนอพยพอื่นๆก็ยังคงมากที่หาดเลนค่ะ  สงสัยไส้เดือนทะเลและ polychaeteคงรสชาติดี  อร่อย  อิอิ!! .แต่น้ำยังไม่มากพอ ที่จะซัดเข้ามาในแนวป่าชายเลนค่ะ  เรารอว่าจะมาเมื่อไหร่ เพราะลักษณะทางนิเวศของหาดเปลี่ยนไป  มีสันทรายดักทางน้ำเอาไว้ ถ้าน้ำใหญ่ไม่เข้ามา ป่าชายเลนก็จะโหยหา แร่ธาตุตามที่เค้าควรจะได้รับในแนวน้ำขึ้นน้ำลงค่ะ น้องปริม..

น้องๆในกลุ่มที่เค้าไปดูนกที่หอดูนก ถ่ายรูปมา ก็มีนกชายเลนอพยพเป็นกลุ่มใหญ่  ยัังเห็นได้ว่านกมีความสุขที่มากินไส้เดือน หรือกลุ่ม polychaete และอื่นๆในสายใยอาหารที่หาดเลนที่นี่   ก็เบาใจได้ค่ะ  ว่าเค้ายังวางใจ กับพื้นที่แห่งนี้ที่ภูมิใจช่วยกันรักษาไว้ให้...  อืมม์...นกตัวโตๆเช่น Godwit, Dorwitcher, Curlew ก็ีมีให้เห็น ..ว่าเค้าแวะมาทักทาย ด้วยการปรากฏกายค่ะ.น้องปริม.   ขอบคุณน้องที่แวะมาส่งข่าวทักทายพี่เช่นกันนะค่ะ  ถึงไม่ได้ปรากฏกาย แต่ก็มีลายลักษณ์มาถึงค่ะ :-))

  • สมกับที่เป็นบันทึกของอาจารย์ทางวิทยาศาสตร์นะคะ เวลามีคำถาม จะมีการให้ข้อสังเกต มีการตั้งสมมติฐาน การเก็บข้อมูลไปตรวจสอบกัสมมุติฐาน และการสรุปคำตอบ
  • ขอบคุณความรู้ใหม่ที่แบ่งปันนะคะ

สวัสดีค่ะป้าิวิ-ยายไอดิน

ขอบคุณที่กรุณาแวะมาเยี่ยมยามเย็น ก่อนทานอาหารเย็นไหม๊น๊า???  แฮ่ๆๆ ..น้องยังเคลียร์งานไม่เสร็จเลยค่ะ  หลังจากสอนเสร็จและนักศึกษาโปรเจคกำลังจะนำเสนองานพรุ่งนี้...เลยจองคิวเข้าพบอาจารย์  จนเราจะหมดแรง ค่ะป้าวิ..พักเบรกเลยตอบเมล์ป้าวิด้วยความคิดถึงค่ะ

อืมม์...นักศึกษากลุ่มนี้ที่สอนจะต้องไปเป็นครูค่ะ ป้าวิ  โดยการบริหารหลักสูตรเขาต้องมาเรียน content ทางวิทยาศาสตร์กับทางคณะวิทย์เทคโน.. เด็กๆเลยต้องถูกเทรนให้ทั้งวิธีการสอนและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  น้องก็เลยใช้บริบทในขณะที่ทำกิจกรรมสอนเค้าด้วยค่ะ. จึงเป็นอย่างที่ป้าวิ อ่านนั่นแหละค่ะ  จะได้เห็นว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เรียนๆมาหน่ะ หมายถึงทำอย่างไรเมื่อใช้ในบริบทจริงๆค่ะ

น้องคิดว่า นี่คือสิ่งที่อาจารย์รุ่นเก่าและรุ่นใหม่ต่างกันในเรื่องของประสบการณ์การสอน  เรียกได้ว่า ..การจะเลือกใช้วิธีให้เหมาะและหลากหลายทำได้ไม่ยากนัก. และโดยปกติตัวน้องเอง ก็สอนมานานจึงมีข้อแนะนำอาจารย์ใหม่ๆเสมอ โดยเฉพาะน้องๆในสาขา  หรือให้ทำงานร่วมด้วยเลย  หรือในกรณีมีการจัดอบรมก็จะและคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ หรือให้เป็นทีมทำงานร่วม  ตามความสมัครใจคะ  ไม่ต้องเอาระบบมาจับให้เครียดซะเปล่าๆ  เห็นได้ว่าเป็นKM.. จริงๆค่ะป้าวิ ....เลยเป็นธรรมชาติทั้งการทำวิจัย การสอนและการพักผ่อน...อืมม์..ดูนก ดูไส้เดือนทะเล  เลี้ยงไส้เดือนย่อยซากขยะอินทรีย์ นะค่ะป้าวิ  อิอิ :-))

สวัสดีค่ะ.... หนูได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับ ไส้เดือนทะเลค่ะสนุกมาก ได้ประสบการณ์เยอะมาก มีทั้งกลัว ลุ้ยๆ สนุกมากค่ะ แต่หนูยังไม่ทำห่วงโซ่อาหารของไส้เดือนทะเลอีก เลาก็เหลือน้อยเต็มที อยากให้อาจารย์ให้คำแนะนำหน่อยค่ะ ขอบคุณค่ะ


อย่ากัวกับการเริ่มต้น

อยากทราบข้อมูลของไส้เดือนทะเลอย่างละเอียดหน่อยค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท