ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 57. เจตคติและคุณค่า (3) เวียนกันตอบ


เป็นเทคนิคฝึกให้ นศ. ฟังคนอื่นอย่างตั้งใจ และเคารพ แล้วนำสิ่งที่ได้ฟังมาบูรณาการกับความรู้ของตน ได้เป็นความรู้ใหม่ หรือแนวความคิดใหม่ การหมุนเวียนกันตอบ ทำให้ทุกคนมีโอกาสตอบเท่าเทียมกัน

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 57. เจตคติและคุณค่า  (3) เวียนกันตอบ

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๕๗นี้ ได้จาก Chapter 17  ชื่อ Attitudes and Values  และเป็นเรื่องของ SET 37 : Circular Response

บทที่ ๑๗ ว่าด้วยเรื่องการเรียนรู้ด้านคุณค่าและความหมายในชีวิต  รู้จักตนเอง และพัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงด้านในของตนเอง  ประกอบด้วย ๖ เทคนิค  คือ SET 35 – 40  จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค  

SET 37  : Circular Response  

จุดเน้น  :  ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :  การอภิปราย

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

เป็นเทคนิคฝึกให้ นศ. ฟังคนอื่นอย่างตั้งใจ และเคารพ  แล้วนำสิ่งที่ได้ฟังมาบูรณาการกับความรู้ของตน  ได้เป็นความรู้ใหม่ หรือแนวความคิดใหม่  การหมุนเวียนกันตอบ ทำให้ทุกคนมีโอกาสตอบเท่าเทียมกัน

วิธีการคือ ครูบอกงาน หรือคำถามให้ทีม นศ. ตอบ  โดยคนแรกพูด แล้วคนที่ ๒ พูด  แต่คนที่ ๒ ต้องสรุปคำพูดของคนที่ ๑ สั้นๆ เสียก่อน  แล้วจึงใช้แนวคิดของคนที่ ๑ นำไปสู่ข้อคิดเห็นของตน  ทำเช่นนี้จนเวียนมาที่คนที่ ๑ ใหม่

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูกำหนดคำถามที่น่าสนใจ และมีได้หลายคำตอบ  โดยครูลองตอบเอง และปรับปรุงให้คำถามเหมาะสมยิ่งขึ้น

2.  ตัดสินในว่าครูจะบอกคำถามอย่างไร  เช่นเขียนเป็นใบงาน  ทำเป็น PowerPoint  หรือเขียนบน White Board  

3.  บอก นศ. ยกเก้าอี้มานั่งเป็นวงกลม  หรือถ้าเป็นชั้นใหญ่มาก บอกให้นั่งหลายวง วงละ ๖ - ๙ คน  กำหนด นศ. ๑ คนในกลุ่ม ทำหน้าที่ “คุณสังเกต” ทำหน้าที่สังเกตกระบวนการในกลุ่ม 

4.  อธิบายเป้าหมายของกิจกรรม และกระบวนการ ดังตัวอย่าง

นศ. จะตอบคำถามเวียนตามเข็มนาฬิกา  เริ่มจากการสรุปประเด็นของเพื่อนคนก่อนหน้า  แล้วเชื่อมโยงข้อคิดเห็นของตนกับของเพื่อนคนก่อนๆ  ใช้เวลาเรียบเรียงคำพูดเพื่อความชัดเจน  อย่าพูดแซงคิว  และถ้า นศ. ใช้เวลามากเกินไป ครูจะให้สัญญาณ

5.  บอกให้ นศ. คนหนึ่งในกลุ่มเป็นผู้เริ่มต้น ตอบคำถามที่ให้  

ตัวอย่าง

วิชาวรรณคดีอเมริกัน

ในวิชานี้ นศ. เรียนตัวอย่างของวรรณคดีอเมริกันในช่วง ก่อนสงครามกลางเมือง ถึงช่วงเริ่มสงครามโลกครั้งที่ ๑  ซึ่งเป็นช่วงที่ห่างไกลชีวิตจริงของ นศ.  ครูจึงหาทางเชื่อมโยงกับชีวิต นศ. ด้วยกิจกรรม “เวียนกันตอบ”  ตอบคำถามดังตัวอย่าง “คุณรู้สึกว่าตัวละครเป็นจริงหรือไม่”  “คุณเกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหล่านี้อย่างไร”  “เรื่องราวเหล่านี้ทำให้คุณนึกถึงคนรู้จักบางคนอย่างไร” 

เนื่องจาก นศ. ต้องเริ่มพูดโดยสรุปคำพูดของเพื่อนคนก่อน  กิจกรรมนี้จึงช่วยให้ นศ. ตั้งใจอยู่กับสาระวิชาที่เรียน

วิชาภาษาฝรั่งเศสระดับกลาง

ครูต้องการใช้เทคนิค “เวียนกันตอบ” เป็นเครื่องมือฝึกพูดและทำความเข้าใจภาษาฝรั่งเศส  ครูจึงกำหนดให้ นศ. พูดเวียนเพื่อสร้างเรื่องราวต่อกัน จากประโยคเริ่มต้นของครู (เป็นภาษาฝรั่งเศส)  คือ  “เมื่อเช้าฉันตื่นขึ้นมา พบว่าเป็นวันที่อากาศดี  ท้องฟ้าสีคราม และพระอาทิตย์ส่องแสงเจิดจ้า  ฉันจึงเกินไปที่ร้านกาแฟ เพื่อกินอาหารเช้า”  นศ. คนถัดไปย่อมต้องทำความเข้าใจเรื่องที่ครูเริ่มต้น  และอาจพูดต่อ (เป็นภาษาฝรั่งเศส) ว่า “ขณะที่ฉันกำลังเดินไปที่ร้านกาแฟ ฉันก็วางแผนสั่งอาหารเช้า  ฉันอยากดื่มกาแฟใส่นม  แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าอยากกินอาหารที่หนักกว่าหรือไม่ เช่นไข่คน หรือเพียงกินขนมปังครัวซอง”  นศ. จะรู้สึกสนุกและได้ฝึกภาษาฝรั่งเศสในสภาพคล้ายกับในชีวิตจริง   

การขยายวิธีการหรือประโยชน์

·  อาจใช้เทคนิคนี้ฝึกความสร้างสรรค์แก่ นศ.  โดยกำหนดให้ นศ. สร้างเรื่องขึ้นมาตอบคำเริ่มต้นของครู  แล้วสร้างเรื่องราวต่อเนื่องกันไป

·  มีผู้คิดวิธีการ “Circle of Voices”  ให้ นศ. ที่อยู่ในฐานะ “เสียงส่วนน้อย” ได้พูด  ในเรื่องที่กำลังอภิปรายกัน  กำหนดให้ นศ. ๔​ - ๕ คน นั่งเป็นวงกลมในชั้น และให้เวลาคิดช่วงเวลาหนึ่ง  แล้วจึงให้ นศ. ในวงพูดอย่างอิสระตามช่วงเวลาที่กำหนดให้  เวียนตามลำดับ โดย นศ. ทั้งชั้นฟังอย่างสงบ  เหมาะต่อกรณีมี นศ. ที่เป็นชนส่วนน้อยในชั้น 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Brookfield SD, Preskill S. (1999). Discussion as a way of teaching : Tools and techniques for democratic collaborative learning classrooms. San Francisco : Jossey-Bass, pp. 79-81. 

วิจารณ์ พานิช

๑๘ พ.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 509195เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2012 05:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 10:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท