จงมองคน ด้วย “กระจกหกด้าน”


 

สมัยก่อน จำได้ว่ามีสารคดียอดนิยมรายการหนึ่งชื่อ ‘กระจกหกด้าน’

เป็นสัญญาณบอกว่า จะได้เวลากินข้าวเย็นแล้ว มื้อเย็นเป็นมื้อแห่งความสุข

เพราะเราจะได้นั่งโต๊ะ กินกันพร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว

จนวันนี้ รายการนั้นก็ยังอยู่ แต่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

ตอนเด็ก ๆ ไม่เข้าใจว่าทำไม กระจกมีหกด้าน แอบนึกไปถึงปริซิม

ตอนนี้ ก็ยังไม่ชัดเจนในความหมายแต่พออนุมาณ

(หมายถึงกระบวนการคิดในการหาข้อสรุปจากเหตุผลที่มีอยู่)

ได้ว่าอย่ามองอะไรเพียงด้านเดียว...


ความวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากหน่วยเล็กๆ

แต่สำคัญที่สุดอย่างครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด

ไปจนถึงระดับประเทศ หรือแม้กระทั่งความขัดแย้งระดับโลก

สาเหตุหนึ่งที่หลายคนอาจมองข้ามหรือเพิกเฉย คือ การเพ่งโทษกัน

จะเห็นว่าคนเราส่วนใหญ่ชอบตัดสินผู้อื่นด้วยการมองเพียงเปลือกนอก

เที่ยวพิพากษาคนนั้นไม่ดี คนนี้เลว คนโน้นโกง คนนั้นขี้เหนียว คนนี้น่าหมั่นไส้ สารพัดข้อหา

เรียกว่ามองกันเพียงด้านเดียวก็ตัดสินแล้วว่าคนๆ นั้นดีหรือไม่ดี

เพราะหูเบา เชื่อคนง่าย ขาดการไตร่ตรองด้วยใจที่เป็นกลางอย่างนี้นี่แหละ

ถึงทำให้สังคมเราทุกวันนี้มีแต่ความแตกแยก แบ่งพรรคแบ่งพวก

แบ่งเขาแบ่งเรา ขัดแย้งกันอยู่ร่ำไป

เพราะมี “ผู้พิพากษา” เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมดนี่เอง  

จะดีกว่าไหม ถ้าจะเชิญชวนทุกท่านให้ลาออกจากตำแหน่งผู้พิพากษาอันทรงเกียรตินี้

เลิกตัดสินคนอื่นกันเสียที เลิกเพ่งโทษกัน หันมามองในด้านดีของกันและกันให้มากขึ้น

หันมาเปิด ‘ชมรมชมกันเอง’ ในครอบครัว ในองค์กร ในหน่วยงงานราชการ สถาบันการศึกษา

โดยไม่ต้องเก็บค่าสมาชิก หัดชอบๆ กันบ้างครับ เหมือนเฟซบุคที่มีแต่ปุ่ม “ไลค์” ไม่เห็นมีปุ่ม “ดิสไลค์” ให้คลิก

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี นอกจากจะชี้ทางแห่งความหลุดพ้นให้บรรดาลูกศิษย์ลูกหาแล้ว

ท่านยังสอนให้เรารู้จักมองคนด้วย “กระจกหกด้าน” คือ มองคนให้ครบทุกด้าน ซ้าย ขวา หน้า หลัง บน ล่าง ถ้าเรามองเขาแต่ด้านขวา

เราก็จะไม่เห็นด้านซ้ายของเขา หรือมองแต่ด้านหน้าเราก็จะไม่เห็นด้านหลังของเขาว่าเป็นอย่างไร

แต่ในอีกมุมหนึ่ง กระจกหกด้าน ก็คือ กระจก หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง เรื่องราวบางเรื่องที่ได้ยินผ่านกระจกหู อาจจะไม่จริงก็ได้ ต้องให้เห็นด้วยตา ต้องใช้ประสาทสัมผัสให้ครบทั้งหก ก่อนจะตัดสินใครดีชั่ว

แต่ดีที่สุด คือ อย่าไปพิพากษาใครเขาเลย พิพากษาตนเองดีกว่า

เพราะฉะนั้น อย่านึกว่าตัวเองถูกเสมอ จงหัดมองคนอื่นด้วย

“กระจกหกด้าน” เมื่อมองเขาครบทุกมุมแล้วจะได้รู้ว่าสิ่งที่เราคิดต่อผู้อื่นนั้น

อาจจะไม่ถูกเสมอไป และขอฝากคติจีนทิ้งท้ายว่า ..

ความเลวร้ายของคนเราก็คือ
การชอบที่จะพูดถึงแต่ความผิดพลาดของคนอื่น
ความโง่เขลาของคนเราก็คือ
การไม่ชอบที่จะฟังถึงความผิดพลาดของตนเอง



แหม นึกว่าหนูณิชน์ จะเขียนเองละซิ...เปล่าค่ะ หนูอ่านแล้ว

รู้สึกว่า น่าจะเอามาแบ่งปันเพิ่มพลังบวก สำหรับคนคิดบวก

และเพิ่มมุมมองให้กับหลายคนที่ยังยึดติดในมุมของตัวเอง


เพราะที่ทำงานหนูณิชน์ มักมีคนหลายคนมองหนูณิชน์ในมุมเดิม ๆ
ไม่เคยจะเปิดใจเลยว่า เราก็ทำได้นะ หรือเด็กคนนี้ ก็ทำได้ดี
หรือแม้กระทั่ง จะเปรีบยเทียบกับคนที่ทำงานคู่กัน หนูณิชน์ ก็เชื่อว่า
หนูณิชน์ ไม่ได้ทำงานแย่ไปกว่า คนคนนั้นเลย แต่ทำไม ประเมินค่ากันต่างกันมาก
เพราะอะไร หรือจริง ๆ การประเมินการทำงานคือการประเมินความพึงพอใจต่อตัวบุคคล!



อย่าลืมนะคะ ลองเปลี่ยนมุมในใจดู และจะพบเหตุและผลค่ะ

ขอบคุณ บทความดี ๆ จาก http://dc-danai.com/archives/2294

หมายเลขบันทึก: 508868เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2012 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 11:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท