นักศึกษาแพทย์อยากทำความดี ปีที่4


นักศึกษาแพทย์อยากทำความดี ปี 4

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสดูแลนักศึกษาแพทย์ในกลุ่มที่เรียน PBLด้วยกัน และได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในโครงการเสริมหลักสูตร ซึ่งโดยส่วนมาก นักศึกษาจะเลือกการบำเพ็ญประโยชน์เป็นกิจกรรมหลัก และมักจะบำเพ็ญประโยชน์กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล ในปีแรกนั้น เด็กๆเขาจัดกิจกรรมในหอผู้ป่วยเด็กโรคเลือด โดยผมเริ่มให้ประเด็นไปว่า เด็กโรคเลือดเรื้อรังนั้น มักจะอ่านหนังสือไม่ออก จึงอยากให้นักศึกษาแพทย์ไปอ่านหนังสือให้เด็กๆฟัง กิจกรรมในครั้งนั้นจบลงตรงที่เขาไปจัดกิจกรรมสันทนาการกับเด็กๆแทน แม้จะดูเบี่ยงเบนจากจุดเริ่มต้นไปนิด แต่ก็ได้อะไรกลับมามากมาย ล่วงเข้ามาปีที่ 2 เขาก็ยังคงให้ผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษากิจกรรมกับเด็กปี 2 อีก คราวนี้เราออกไปนอกมหาวิทยาลัยกันครับ ผมส่งเด็กๆในกลุ่มผมไปนั่งคุยกับหมอนวด หรือผู้ขายบริการทางเพศเป็นอาชีพเสริม นัยว่าจะเป็นการไปนั่งพูดคุย เพื่อให้บรรดาหมอนวดเหล่านั้นได้มีโอกาสพูดคุยหรือระบายเรื่องราวของชีวิตบ้าง และบทสรุปที่ได้ก็คือ นักศึกษาแพทย์ได้มีโอกาสที่จะเปลี่ยนมุมมองต่อกลุ่มหมอนวดที่ไปนั่งคุยด้วยแทน ครั้งนั้นเราจึงได้นิยามศัพท์ “ผู้บำบัดทางเพศ” ขึ้นมาใหม่ มาปีที่แล้วซึ่งเป็นปีที่ 3 ที่เขายังคงขอให้ผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษาแพทย์ปี 2 อีกครั้ง แบบว่าไม่รู้จักเข็ดหลาบกับความคิดฟุ้งซ่านของผมสักที และก็เช่นเคยครับ ขายไอเดียให้นักศึกษาก่อน แล้วให้เขาไปนั่งคิดดูว่าน่าสนใจไหม

“Departures” คือชื่อโครงการที่ผมเสนอเขาไป การตอบรับ ณ บัดนั้น คือการทำหน้างง งงว่าอาจารย์จะทำอะไรกับพวกข้า ตอนนั้นผมจึงเล่าเรื่องราวของหนังญี่ปุ่นเรื่อง Departures ซึ่งเป็นเรื่องของคนที่ทำงานเป็นสัปเหร่อ ทำความสะอาดและแต่งตัวให้ศพก่อนที่เขาจะทำพิธีทางศาสนา ซึ่งการดูหนังเรื่องนี้ของผมมันสร้างแรงบันดาลใจอย่างมากมายที่จะต้องทำอะไรสักอย่าง และนี่ก็คือสิ่งที่ผมปรารถนา ไม่ได้หมายความว่าผมอยากเป็นสัปเหร่อหรอกครับ แต่กลับเป็นว่า ผมอยากให้นักเรียนแพทย์ของผมได้มีโอกาสสักครั้งในชีวิต ที่จะได้ส่งผู้ป่วยของเราที่เสียชีวิตได้กลับออกไปจากหอผู้ป่วยอย่างมีเกียรติ และอยากให้เขาได้รับทราบความรู้สึกของผู้สูญเสีย ซึ่งผมรู้สึกว่า พวกเราที่เป็นหมอนั้น มักจะเห็นความตายเป็นเรื่องปกติ และมันปกติเสียจนเฉยชา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุด จำได้ว่าในวันนั้นของเมื่อปีที่แล้ว นักเรียนส่วนหนึ่งตื่นเต้นแต่อีกส่วนหนึ่งกลับกลืนน้ำลายแทบไม่ลงคอและผลสรุปก็คือ Departures ไม่เกิด นักเรียนแพทย์รุ่นที่แล้วจึงไปแนะแนวการเรียนต่อในคณะแพทย์กับนักเรียนชั้น ม.6 ที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยและโรงเรียน มอ.วิทย์ฯ แทน

ผมยังไม่ยอมแพ้ครับ เพราะว่าในปีนี้เขาก็ยังให้ผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษากิจกรรมนี้อยู่ (ไม่ยอมปลดเสียที) และผมก็เสนอโครงการนี้อีกหน  ไม่น่าเชื่อว่ารอบนี้เด็กๆรับลูกเสิร์ฟของผมแล้ว และนี่ก็คือโครงการที่เขาเขียนมาให้ผมอ่าน

โครงการ Departures

ประเภทกิจกรรม: ด้านอาสาพัฒนาและบำเพ็ญประโยชน์

หลักการและเหตุผล: ในปัจจุบัน วิชาชีพแพทย์ประสบกับปัญหาการฟ้องร้องจากผู้ป่วยและญาติบ่อยครั้ง ปัจจัยหนึ่งมาจากแพทย์ขาดความเข้าใจในความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วยและญาติ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารในเชิงสร้างสรรค์กับญาติผู้ป่วยในภาวะวิกฤติและแสดงความเห็นอกเห็นใจในความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักได้อย่างเหมาะสม จึงเห็นสมควรที่จะจัดทำโครงการ Departures ขึ้น เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 จำนวน 9 คน ได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์จริง รับรู้ความรู้สึกของญาติและบุคลากรผู้ร่วมปฏิบัติงาโดยเฉพาะในช่วงเวลาสุดท้ายของผู้ป่วย นถึงเวลาล่วงลับไป นักศึกษาจะได้มีส่วนร่วมในการดูแลให้สภาพร่างของผู้ป่วยที่เสียชีวิตไปอย่างเหมาะสม และช่วยจัดส่งร่างของผู้ป่วยออกจากหอผู้ป่วยให้ละล่วงด้วยดี การดำเนินกิจกรรมต่างๆข้างต้น มีจุดประสงค์หลักเพื่อให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการเข้าใจความเป็นไป ตระหนักถึงคุณค่าและสัจธรรมแห่งชีวิต อันเป็นคุณสมบัติของแพทย์ที่ดีต่อไป

วัตถุประสงค์: เพื่อให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ

1.
มีเจตคติที่ดีในการทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ
2.
เข้าใจในความต้องการที่แท้จริงและความรู้สึกของผู้ป่วยวิกฤติและญาติ
3.
สามารถสื่อสารเชิงสร้างสรรค์กับบุคคลอื่นได้
4.
มีโอกาสเสริมสร้างทักษะการปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น
5.
ได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากบุคลากรทางการแพทย์
6.
เข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าและสัจธรรมของชีวิต

และนี่คือโครงการที่เขาจะทำครับ โชคดีขั้นที่ 2 ก็คือ ผมได้กัลยาณมิตรอีกท่านหนึ่งที่จะมาช่วยกันดูแลลูกศิษย์กลุ่มนี้ พี่ติ๊ก อวยพร ภัทรภักดีกุล พี่พยาบาลหัวหน้าสายสูตินรีเวชคือคนที่ผมกำลังเอ่ยถึง พี่ติ๊กเคยเป็นหัวหน้าพยาบาลหอผู้ป่วยนรีเวชสามัญมาก่อน และท่านผู้นี้เป็นคนที่มีประสบการณ์อย่างมากในการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้าย พบเห็นความตายของผู้ป่วยมานับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยจากโรคมะเร็งขั้นสุดท้าย และเป็นโชคดีอย่างที่สุดของเด็กๆกลุ่มนี้ก็คือ พี่ติ๊กอาสาเป็นผู้จัดการเรื่องกิจกรรมให้ด้วย รู้สึกดีเหมือนผมแล้วใช่ไหมครับ

งานนี้จะเป็นอย่างไร ผมจะนำมารายงานให้ทราบเป็นช่วงๆนะครับเดี๋ยวเด็กๆก็คงจะเข้ารายงานด้วยเช่นเดียวกัน

หมายเลขบันทึก: 508266เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2012 15:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 13:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (30)

ครับ ดีครับ ความดีไม่มีซื้อขาย ถ้าอยากได้ ต้องทำเอง เยี่ยม

ขอบคุณครับ คุณชยันต์ เพชรศรีจันทร์

ดิฉัน นศพ.กีรติ ทรัพย์สมาน หนึ่งในนศพ.ที่ได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น เมื่อวันศุกร์ที่9พฤศจิกายน2555 พวกเรามีโอกาสได้พบกับคุณอวยพร พี่พยาบาลที่กรุณาช่วยดูแลโครงการ และได้รับฟังถึงขั้นตอน และวิธีการต่่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราต้องไปทำโครงการ คุณอวยพรได้อธิบายว่า นศพ.ทุกคนจะได้มีโอกาส"บริหารจัดการศพ" เป็นคำที่มีความหมายรวมตั้งแต่ ถอดอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำความสะอาด เปลี่ยนชุด จัดสภาพผู้จากไปให้ดูเหมือนคนนอนหลับ ไม่ทุกข์ ใส่สำลีอุดทวารทั้ง8 กล่าวคำอโหสิกรรม และobserve การส่งศพ ของคนเปล โดยได้กรุณาขออนุญาตward เข้าดำเนินกิจกรรมในเวรบ่ายคือ ตั้งแต่เวลา 16.00 - 24.00 น. และคุณอวยพรยังกรุณาเล่าถึงความรู้สึก และประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาการทำงาน ความรู้สึกเมื่อได้รับฟังขั้นตอน และประสบการณ์ต่างๆ ย่อมปฏิเสธไม่ได้เลยว "กลัว" มากคะ เริ่มมีความกังวลว่าโครงการจะสำเร็จหร์อไม่ โดยส่วนตัวแล้วเป็นมุสลิม ซึ่งถูกปลูกฝัง และมีแนวความคิด ความเชื่อ ที่ใกล้ชิดความตายมากพอสมควรซึ่งปกติการสัมผัสความตายมีเพียงญาติเท่านั้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจึ งมีเพียงความโศกเศร้าเสียใจแต่การ"บริหารจัดการศพ"ที่ไม่ใช่ญาติ เราไม่มีความรู้สึกเสียใจและคาดว่าน่าจะมีสติเหลือมากพอสำหรับความกลัว เลยพบว่าสิ่งที่กังวลมากที่สุดตอนนี้ ไม่ใช่ "การบริหารจัดการศพ"หากแต่เป็น "การบริหารจัดการความกลัว และสติ" ของตัวเองและเพื่อน นศพ.อีก 8 คนที่เข้าร่วมโครงการเพื่อเวลาที่เข้าดำเนินโครงการจะได้มีสติมากพอที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆตามวัตถุประสงค์โครงการมากกว่าเรียนรู้ที่จะไม่กลัว นศพ.ทั้ง9คนที่จัดทำโครงการ ยินดีและขอรับฟังความคิดเห็น จากเพื่อน นศพ.ทุกท่าน และทุกท่านที่ได้อ่านโครงการของเรา เพื่อการดำเนินโครงการจะได้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไปคะ นศพ.กีรติ ทรัพย์สมาน

ดิฉัน นศพ.กมลนัทธ์ ปุยทอง หนึ่งในนศพ.ที่ได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น ความรู้สึกแรกที่ได้ยินหลังจากทีอาจารย์เสนอโครงการ Departure มา คือ “กลัว” มีความรู้สึกว่าเราจะไปทำได้ไหม แต่งตัวแต่งหน้าให้กับศพที่เราไม่รู้จัก ยิ่งคิดก็ยิ่งกลัว เราจะติดตาไหม เราจะเป็นลมหรือเปล่า (ตอนเจออาจารย์ใหญ่ครั้งแรก ดิฉันก็เป็นลม) ในชีวิตจริง ดิฉันเคยเห็นศพแบบเต็มๆตาแค่ครั้งเดียว คือ ศพของน้องดิฉันเอง ซึ่งนอนหลับแล้วจากไปเฉยๆ ไม่ได้ดูน่ากลัวอะไร หรือเพราะเป็นน้องเรา เราจึงไม่กลัวก็ไม่รู้ ดิฉันไม่ใช่คนกลัวผี แต่กลัวสิ่งน่ากลัวที่ดูแล้วไม่สวยงาม จริงมีความคิดขึ้นมาความคิดหนึ่งว่า จะดีกว่าไหม ถ้าเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สิ่งที่เราคิดว่าน่ากลัว เป็นสิ่งที่ดูดีและน่าดูขึ้นมาได้ จึงเห็นด้วยกับเพื่อนๆที่จะทำโครงการนี้ แต่ดิฉันก็ไม่ได้มีความมั่นใจมาก ว่าจะอยู่ดูครบจนจบขั้นตอนโดยไม่เป็นลมไปเสียก่อน แต่ก็อยากลองทำดู และหลังจากที่ได้ไปเจอกับพี่พยาบาลที่จะมาดูแลพวกเรา ในการทำโครงการนี้ ได้ฟังถึงเรื่องราวต่างๆ สิ่งที่กลัวตามมาคือ พวกเราต้องไปดูตอนก่อนที่คนไข้จะหมดลมด้วย !! ซึ่งสำหรับดิฉัน มันน่ากลัวมาก การที่ต้องดูคนทรมานก่อนจากไป แต่ก็คิดว่าเป็นสิ่งที่เราควรจะลองทำหาประสบการณ์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพของเราเองในอนาคต นศพ,กมลนัทธ์ ปุยทอง

ตอนแรกที่ได้ทราบโครงการจากอาจารย์ที่ปรึกษา สิ่งที่นึกถึงก็คือการแต่งหน้าให้กับผู้ที่เสียชีวิตในโรงพยาบาล ซึ่งคิดว่าเป็นโครงการที่แปลกใหม่ น่าสนใจ และมีโอกาสน้อยที่จะได้พบกับประสบการณ์แบบนี้ แต่ก็ยังไม่ค่อยเห็นถึงรูปร่างของโครงการที่เราจะทำ ทำให้ผมไม่ค่อยที่จะเข้าใจถึงจุดประสงค์ของการทำและผลที่พวกเราจะได้รับซักเท่าไหร่ ถ้าถามว่ากลัวไหม ตอนนี้ผมรู้สึกว่าไม่กลัว เพราะปกติก็ไม่ได้กลัวของแบบนี้อยู่แล้ว และตอนทำแลปกายวิภาคที่เรียนรู้กับร่างกายของอาจารย์ใหญ่ก็ไม่ได้รู้สึกกลัว แต่ที่กังวลมากกว่าคือเวลาในการทำโครงการที่ไม่รู้ว่าจะถูกเรียกไปทำโครงการเมื่อไหร่ อาจจะเป็นตอนตีสอง ตีสาม หรือตีสี่ในช่วงที่เรียนหนักๆ หรือช่วงใกล้สอบ ซึ่งตัวผมแล้วเป็นคนหลับลึกมาก กลัวเพื่อนโทรเรียกแล้วจะไม่ตื่น แต่คิดว่าจะพยายามทำโครงการให้ดีที่สุด

ดิฉัน นศพ. ภัชญ์รี บุญเจริญ ผู้เข้าร่วมโครงการ Departures ค่ะ อะไรคือแต่งหน้าศพ? ศพจริง? เราเป็นคนแต่งหน้าให้? ยังมีอีกหลายคำถามที่เกิดขึ้นในใจเมื่อได้รับโครงการ Departure นี้มา ตอนแรกก็ยังไม่ได้กลัว เพราะหลังจากที่ผ่านการผ่า Gross anatomy กับอาจารย์ใหญ่มาพอสมควรก็คิดว่าน่าจะไหว แต่เมื่อมานึกจริงๆ แล้ว ก็กลัวนะคะ นึกถึงว่า การที่เราถูกเรียกไปติดตามคนไข้คนหนึ่งตั้งแต่เขายังมีชีวิต เห็นเขาพยายามอดทนกับการรักษาเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไป จนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย หากเขาทำไม่ได้ หน้าที่ของเราก็จะเริ่มขึ้น รู้สึกว่ามันต้องเป็นวินาทีที่อึดอัด ตึงเครียด และหดหู่ แพทย์กับญาติคนไข้ก็น่าจะเครียดไม่แพ้กัน รู้สึกว่ากลัวที่จะต้องเห็นใครเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตาเป็นครั้งแรก แม้การประกอบวิชาชีพแพทย์นี้จะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้อยู่แล้ว และแม้จะยังเป็นแค่นักศึกษาแพทย์ แต่ไม่คิดว่าตัวเองพร้อม มันไม่ง่ายเหมือนกับการที่เราพูดได้ว่า การตายเป็นฉากสุดท้ายของละครชีวิต นอกจากนี้แล้ว การที่จะเห็นแพทย์แต่ละคนพยายามสื่อสารกับญาติคนไข้ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการช่วยชีวิตคนไข้ให้มีความเข้าใจตรงกันและยังรักษาปฏิสัมพันธ์ที่ดีได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่วิจารณ์กันทุกครั้งที่มีข่าวการฟ้องร้องเกิดขึ้น เมื่อได้คุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาก็ได้รับข้อคิดว่า การบำเพ็ญประโยชน์ ไม่ใช่แค่การไปทำกิจกรรมให้ผู้ด้อยโอกาส บ้านพักคนชรา บ้านเลี้ยงเด็กกำพร้า หรือพัฒนาสถานที่ต่างๆ แต่เริ่มจากความเสียสละ และการที่เราอยากจะให้อะไรกับผู้อื่น ถ้าจัดการกับความกลัวที่เกิดขึ้นไม่ได้ ผู้อื่นก็จะเสียโอกาสที่จะได้รับสิ่งดีๆ จากเราไป ดังนั้นจะต้องไม่นับความรู้สึกที่คาดว่าจะเกิดเช่น หงุดหงิดที่ถูกเรียกตัวผิดเวลา และความกลัวดังที่กล่าวมา เราก็จะมีโอกาสทำสิ่งดีๆ ให้ผู้อื่น ร่วมกับเพื่อนๆ อีกหลายคน และประสบการณ์ในการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ก็ยังสามารถแบ่งปันให้กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ คนอื่นๆ ได้ซึ่งอาจจุดประกายบางสิ่งบางอย่างให้เกิดขึ้นได้ต่อไป

สวัสดีค่ะ ได้มีโอกาสเข้ามาอ่านบันทึกแล้ว ยินดีและดีใจที่ได้รับเกียรติจากอาจารย์แป้ะและน้องๆๆ(ความจริงต้องเป็นลูกๆๆ)นศพ. ทุกท่านที่ได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือกิจกรรมนี้ ขอแจ้งความคืบหน้าในการประสานงานนะะคะ ตอนนี้ได้ประสานงานกับหอผู้ป่วยมี่ทั้งหมด 8 หอฯคือ MICU RCU อายุรกรรมหญิง อายุรกรรมชาย 1 ศัลยกรรมหญิง ศัลยกรรมชาย1 นรีเวช ศัลยกรรมประสาท พรุ่งนี้จะมีหนังสือไปถึงหอผู้ป่วย โดยจะมีใบปะหน้าข้อความ ถ้ามีผู้ป่วยเสียชีวิตหรือใกล้จะเสียชีวิตขอให้โทรตามพี่ติ๊กที่เบอร์.... ระหว่างเวลา 16.00-24.00น. จากนั้น พี่ติ๊กจะโทรตามน้องนศพ.และพี่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่น้องๆๆเข้ามาเรียนรู้ด้วย... เมื่อเรามาทำสิ่งที่ดีๆๆ ด้วยความปรารถนาดีอย่างจริงใจ ก็ไม่มีไรที่จะต้องกลัว..... ความดีจะชนะ ทุกอย่าง..

จาก: จารุวรรณ

หัวข้อ: นักศึกษาแพทย์อยากทำความดี

ตอนที่อ่านเรื่องนักศึกษาแพทย์อยากทำความดี ปีที่ 4 รู้สึกซาบซึ้งและขอบคุณอาจารย์ที่คิดโครงการเช่นนี้ ความแหวกแนวของโครงการที่ได้อาจารย์เป็นที่ปรึกษาน่าจะช่วยให้ นศ.แพทย์ มีประสบการณ์ตรงและเข้าใจ อะไรได้ดีเมื่อเป็นแพทย์ในอนาคต เมื่อเวลาของการพรากจากมาถึง ทั้งผู้ป่วยและญาติ ต้องการแพทย์ที่เอื้อ อาทร ใส่ใจ ปลอบโยนตามควรและเข้าใจความสูญเสีย มิใช่การทำตามหน้าที่ เมื่อคนไข้ต้องจากไปแพทย์ เพียงแค่บอกว่า"เราไม่สามารถช่วยได้แล้ว" และเดินจากไปเหมือนหมอในละคร ขอบคุณอีกครั้ง ขอให้ โครงการประสบความสำเร็จค่ะ


ขอบคุณครับคุณจารุวรรณ

อ.แป้ะคะ เย็นวันนี้น้องนศพ.ชุดที่ 1 ได้เริ่มกิจกรรมแล้วนะคะที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย 1 ครั้งแรกน้องขอเป็น Observer ก่อน ก็ได้เห็นกระบวนการทั้งหมด รวมทั้ง Loss and Grief ส่วนความรู้สึกอย่างไร น้องนศพ.คงสะท้อนให้ฟังวันหลัง ข่าวว่า ขอไปเตรียมตัวสอบfinal ก่อน จ้า

หลังจากได้ข้อสรุปว่า กลุ่มเราจะทำโครงการแต่งหน้าศพ ชื่อโครงการ The Departures ผมเองก็ยังสงสัยว่า โครงการแต่งหน้าศพนี้ ทำแล้วได้ประโยชน์อะไร เพราะผลงานที่เราทำก็คือแต่งสภาพคนที่เสียชีวิตแล้วให้น่าดู จากนั้นก็นำไปประกอบศาสนกิจ ซึ่งงานก็จะถูกทำลายไปอยู่ดี ซึ่งสมาชิกในกลุ่มแต่ละคนก็คิดเอาว่าเป็นการสร้างความประทับใจแก่ญาติผู้ป่วย ซึ่งจริงๆในความคิดของผมเองก็เดาเอาว่า ถึงเวลาจริงๆญาติผู้ป่วยมาพบหน้าคนเสียชีวิต เขาก็คงน้ำตาไหลพรากต่อหน้าศพ คงไม่มีใครที่มาเห็นญาติตัวเองตายแล้วมาชมผลงานศิลปะที่บรรจงลงบนใบหน้าหรอก ในด้านการปฏิบัติงาน วางแผนกันไว้ว่า ต้องไปแต่งหน้าศพทันทีหลังเสียชีวิต เพราะคนเสียชีวิตจะถูกเก็บในโรงพยาบาลได้แค่ไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งคนไข้อาจตายเวลากลางคืน ต้องตื่นมาตอนดึกๆ นึกดูแล้วถ้าตื่นมาตอนกลางคืนตี ตีหนึ่ง หรือ ตีสอง ผมคิดว่า อารมณ์กลัวคงหดหายสู้อารมณ์เหนื่อยล้าไม่ไหวแน่ๆ ไหนจะต้องตื่นไปเรียนตอนเช้า ไหนจะต้องอ่านหนังสือ อีกอย่าง นี่ก็เป็นครั้งแรกที่จะได้แต่งหน้าศพ แบบสัมผัส มองเห็นหน้าศพแบบจะๆ ซึ่งจากประสบการณ์เคยเข้าใกล้ศพมากที่สุดก็ตอนเรียนปฏิบัติการ Gross Anatomy ซึ่งคิดว่าน่าจะต่างกันมาก ให้อารมณ์ตื่นเต้นผสมกลัวพอสมควร รวมทั้งการทำงานร่วมกับเพื่อนในกลุ่มและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลก็เป็นเรื่องน่ากังวลเหมือนกันเพราะ ไม่เคยทำมาก่อน จึงไม่รู้กระบวนการ วิธีที่ถูกต้อง ต้องทำอะไรก่อนหลัง อย่างไร ก็ได้แต่ภาวนาว่าทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี

เขียนบันทึกวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 เวลา 2.07 น.

ความรู้สึกตอนแรกที่เพื่อนมาบอกว่าจะต้องไปแต่งหน้าศพ รู้สึกตกใจมาก จะบ้าหรือเปล่าคงไม่ทำกันจริงๆหรอกนะ แต่กลับกลายเป็นว่าเพื่อนในกลุ่มที่กลัวกลับแสดงความรู้สึกสนใจต่อโครงการนี้ ภายในใจก็เกิดความกังวล สับสนไปหมดว่าควรจะคัดค้านดีหรือไม่ ทำดีหรือเปล่า รู้กลัวและประหม่ากับสิ่งที่จะต้องไปเจออยู่ไม่น้อย ถึงแม้จะเรียนกรอสอยู่แต่ตอนเรียนนั้นที่ห้องได้ปิดหน้าของอาจารย์ใหญ่เอาไว้ แต่สิ่งที่จะต้องไปทำ อย่างไรเสียก็ต้องเห็นหน้าของศพแน่นอน โดยปกติไม่ได้เชื่อเรื่องพวกนี้มากเท่าไหร่ แต่คราวนี้บอกตามตรงคือ กลัวมาก กลัวว่าหน้าของศพจะหลอนติดตา แต่พอคิดดีๆแล้วในเมื่อเรียนทางนี้ต่อไปก็คงต้องพบเจอกับเรื่องแบบนี้อยู่ดี จะกลัวไปทำไม ถือซะว่าเป็นประสบการณ์ และหลังจากฟังรายละเอียดของโครงการที่แท้จริงแล้ว รู้สึกได้ว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจและแปลกใหม่อยู่ไม่น้อย เริ่มทำใจที่จะไปทำได้บ้าง แต่ใจจริงๆก็ยังแอบกลัวอยู่ไม่น้อยเลย ซึ่งหลังจากได้พูดคุยรายละเอียดของงานจริงๆที่จะต้องทำและพบเจอกับพี่ติ๊กแล้ว ทำให้รู้เลยว่าจริงๆแล้วเราไม่ได้แค่ไปแต่งหน้าเพียงอย่างเดียว จุดประสงค์หลักของโครงการเลยคือการทำความสะอาดร่างของผู้ตายให้เสมือนเขาเพียงแค่นอนจากเราไป และเสมือนการส่งวิญญาณให้ไปด้วยดี เหมือนเราได้ช่วยทำสิ่งสุดท้ายที่คนป่วยวิกฤตหรือช่วยให้ญาติไม่รู้สึกถึงการสูญเสียมาก มันยิ่งทำให้มีความรู้สึกว่าดีโครงการมีอะไรน่าสนใจกว่าที่คิด อาจจะไม่น่ากลัวอย่างที่คิดเอาไว้ในตอนแรก ทำให้รู้สึกอยากที่จะทำ การเข้าโครงการครั้งนี้อาจจะต้องทำให้พี่เขาเหนื่อยมากขึ้นที่จะต้องดูแลพวกเรา ยิ่งทำให้รู้สึกว่าจะตั้งใจทำออกมาให้ดีที่สุดค่ะ

ความรู้สึกก่อนร่วมโครงการ

   ครั้งแรกที่ผมได้ยินจากเพื่อนเกี่ยวกับโครงการที่จะต้องทำ “แต่งหน้าศพ” …เกิดความอึ้งและคำถามในใจมากมาย จะถามใครก็ไม่มีใครตอบได้ แต่เมื่อรู้ถึงรายละเอียดต่างๆแล้วก็พบว่าเราต้องทำอะไรมากกว่านั้นมาก มากกว่าแค่จะทำให้ศพดูสวย  มากกว่าแค่ทำความสะอาด มากกว่าแค่การต้องทำตามขั้นตอน เพราะโครงการนี้มีความรู้สึกของผู้เกี่ยวข้องทุกๆคนเข้ามาเกี่ยว ผมจึงเริ่มเข้าใจวัตถุประสงค์ของโครงการนี้มากขึ้น เนื่องจากโครงการนี้เป็นการทำอะไรที่ไม่เคยคาดฝันมาก่อนว่าจะได้ทำ จึงทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่กำลังจะได้ทำมาก แม้ตอนนี้จะยังไม่ได้เริ่มทำ แต่แค่ลองคิดว่าได้ทำประโยชน์ให้กับบุคคลผู้เป็นที่รักยิ่งของใครบางคน ได้ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีๆครั้งสุดท้ายต่อผู้มาพบเห็น แค่เพียงคิดก็ทำให้รู้สึกดีมากแล้ว

เขียนบันทึกเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2555

กระผมนศพ.รอซาลี รอแมยะ 5410310129 ครั้งแรกที่รู้ว่าต้องทำโครงการ The Departures ผมก็รู้สึกอึ้งและกลัวเล็กน้อย เพราะตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยสัมผัสกับการทำความสะอาด รวมทั้งการแต่งหน้าศพ ซึ่งผมจำได้ว่าเมื่อครั้นยังเด็กทุกครั้งที่ได้ยินว่ามีคนเสียชีวิต ผมไม่กล้าที่จะไปดูหน้าหรือเข้าใกล้ศพนั้นเป็นอันขาด เพราะให้ความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวและน่าเศร้ามาก (T^T) โดยผมจะเก็บตัวอยู่ในบ้าน พยายามไม่นึกถึงเรื่องนี้ เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างก็เกิดการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งความคิดผมก็เปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปบ้างเล็กน้อย คือ ผู้ที่เสียชีวิตก็ไม่ต่างกับชีวิตของคนปกติที่ได้นอนหลับเพื่อให้ชีวิตของเขานั้นได้พักและหยุดวงจรชีวิตอย่างสงบสุข จากมุมมองนี้ทำให้โครงการ The Departures กลายเป็นการเพิ่มโอกาสทางการเรียนรู้หรือเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ที่ผมยังไม่เคยได้ทำและสัมผัสมาก่อนซึ่งนับเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก และผมจะขอทำบทบาทหน้าที่ในฐานะผู้ศึกษาอย่างเต็มที่ที่สุด เพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง

สวัสดีค่ะ ดิฉัน นศพ.ลักษมี เจือจันทร์พิพัฒน์

ส่วนตัวแล้วไม่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยวิกฤต ไม่เคยทราบมาก่อนว่า หากผู้ป่วยเสียชีวิต ต้องทำอะไรต่อไป
ความรู้สีกและคำถามในใจก่อนดำเนินโครงการ "Departure"ก็รู้สึกประหม่าตัวเองไม่รู้ว่าจะทำโครงการนี้ได้ดีมั๊ย คิดว่าหากเจอร่างผู้ไร้ลมหายใจอยู่ตรงหน้าตอนนี้ ก็คงไม่ตกใจหรือตื่นเต้นใดๆ จึงมีคำถามในใจมากมายในตอนนี้....
1. ถึงเวลาจริงๆ แล้วเราและคนรอบข้างที่ทำงานด้วยกัน จะรู้สึกอย่างไร จะทำได้ดีมั๊ย จะคิดอะไรอยู่กะสิ่งที่เราทำให้ในตอนขณะนั้น...และรู้สึกอย่างไรกับร่างนอนอยู่
2. คนที่เพิ่งเสียชีวิตมีลักษณะเป็นอย่างไรกันนะ
3. ถ้าหากร่างที่อยู่ตรงหน้า เกิดเคลื่อนไหว ไม่นิ่งขึ้นมา เราจะมีสติต่อไปได้หรือไม่
4.พยาบาล หมอ ที่เคยดูแลคนไข้คนนี้ จะมีความรู้สึกอย่างไรกับการที่คนคนหนึ่งที่เราต้องมาเตียงของเขาและวันหนึ่ง เตียงนั้นหายไป....

มันเต็มไปด้วยความสงสัยมากมาย ก่อนจะดำเนินโครงการ"Departure" ที่ต้องการคำตอบและคิดว่าโครงการนี้คงให้คำตอบเราเองตอนลงมือปฏิบัติการ 


ความรู้สึกหลังทำโครงการ

“การจากลาเป็นสิ่งที่ใครๆก็ไม่อยากเจอ  โดยเฉพาะการจากลาจากคนรักที่ไม่คาดฝันไว้ล่วงหน้า  จากกรณีศึกษาในโครงการ The Departures ผู้ป่วยรายหนึ่งได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นมะเร็งลูคีเมีย และอาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน ผู้ป่วย รวมทั้งญาติผู้ป่วยรู้สึกเศร้าโศรกต่อโรคร้ายชนิดนี้เป็นอย่างมาก เสมือนสิ่งที่สามารถทำได้อยู่สิ่งเดียวในขณะนั้นคือ รอเวลา และใช้เวลาที่เหลืออยู่กับผู้ป่วยให้มีค่าที่สุด

  อย่างไรก็ตาม เมื่อครบกำหนด 3 เดือน  ผู้ป่วยที่คาดว่าจะเสียชีวิตในเวลาดังกล่าว  กลับสามารถมีชีวิตอยู่ได้  ทำให้ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยเริ่มรู้สึกมีความหวังต่อการรอดชีวิตต่อโรคร้ายนี้  และเกิดความคิดว่าผู้ป่วยอาจหายเป็นปกติ  แต่ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ถัดมา  อารการของผู้ป่วยเริ่มทรุดลง  จนเสียชีวิตในที่สุด  จึงทำให้ญาติผู้ป่วยรู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากจากความคาดหวังว่าจะหายจากโรคก่อนหน้านี้

  นอกจากการวินิจฉัยโรค  และการให้การพยากรณ์โรคจะเป็นเรื่องสำคัญในการประกอบวิชาชีพแพทย์แล้ว  อีกสิ่งหนึ่งที่เปรียบเสมือนศิลป์ในศาสตร์ด้านการแพทย์  คือการพูดคุยและชี้แจงกับผู้ป่วย และญาติให้ทราบและเข้าใจพยากรณ์โรคอย่างถ่องแท้  เพื่อป้องกันการเกิดความไม่เข้าใจการดำเนินของโรค  ดังกรณีศึกษาข้างต้น  เหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นอุทาหรณ์สำคัญแก่นักศึกษาแพทย์โครงการ The Departures เป็นอย่างยิ่ง”


นศพ. อารีฟีน อุเซ็งแม

               วันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2555 เวลาประมาณ 17.30 น. ผมได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนในกลุ่มว่ามีเคส ที่ RCU ชั้น10 ให้ติดต่อพี่อุไรวรรณด้วย ซึ่งตอนนั้นผมตกใจมากเพราะตามที่กลุ่มได้ตกลงไว้ผมจะไปเป็นคู่ที่สี่ซึ่งเป็นคู่สุดท้ายที่จะไปดูเคส แต่เนื่องด้วยวันนี้เป็นวันลอยกระทงและเพื่อนๆในกลุ่มเกือบทุกคนต่างไปเดินขบวนวันลอยกระทงของคณะในตอนนี้ ซึ่งเหลือผมที่ว่างอยู่ นอกจากนี้ผมต้องขึ้นไปคนเดียวก่อนด้วยเนื่องจากติดต่อผมได้คนเดียว แล้วพี่อุไรวรรณบอกว่าพี่เค้ากำลังรอพวกเราเพื่อจะเริ่มกระบวนการอยู่ ผมเลยรีบขึ้นไปก่อน

ผู้ป่วยอยู่ที่ RCU ชั้น10 เพศชาย อายุ 86 ปี เป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ความรู้สึกในตอนแรกที่เข้ามาถึง RCU ตอนนั้นผมรู้สึกตื่นเต้นและกังวลเล็กน้อย ว่าผมจะได้เจอกับอะไรและต้องทำอะไรบ้างเนื่องจากว่าขึ้นมาคนเดียว เลยไม่มีเพื่อนไว้ปรึกษา หรืออยู่ให้อุ่นใจขึ้น เมื่อผมไปถึงก็พบว่า มีเตียงที่ถูกกั้นม่านเอาไว้รอบด้าน และผมก็ได้พบกับพี่อุไรวรรณ พี่อุไรวรรณเลยพาผมเข้าไป ข้างในพบผู้ป่วยนอนนิ่งอยู่บนเตียงเหมือนกับคนที่นอนหลับไปเท่านั้น ผมเลยไม่ได้รู้สึกกลัว บริเวณข้างเตียงมีญาติผู้ป่วย 3 ท่าน ตอนแรกที่ผมเข้าไป ญาติผู้ป่วยมีสีหน้างุนงง สงสัยว่าผมมาทำอะไรกัน ตัวผมเองก็รู้สึกกังวลว่าจะทำให้ญาติไม่เข้าใจ ไม่พอใจหรือจะต่อว่าอะไรเราหรือเปล่าเลยได้แต่เงียบไป แต่พี่อุไรวรรณได้อธิบายให้แก่ญาติผู้ป่วยว่า เราเป็นนักศึกษาแพทย์มาสังเกตกระบวนการเฉยๆ และยังบอกว่า ‘ดีนะ คุณลุงเสียชีวิตไปแล้ว ยังได้ทำบุญอีก’ ญาติผู้ป่วยก็มีสีหน้าเปลี่ยนไปทันที หลังจากนั้นไม่นานเพื่อนในกลุ่มก็มาสมทบอีก 3 คน บรรยากาศรอบๆไม่ได้มีความโศกเศร้าสักเท่าไหร่ เนื่องจากญาติๆได้ทราบอยู่ก่อนแล้ว และได้คุยกันแล้วว่าถ้าคุณลุงเป็นอะไรจะไม่ใช้วิธีที่มีความรุนแรง เช่น CPR(การปั๊มหัวใจ) การให้ยากระตุ้นความดัน เป็นต้น

ก่อนจะเริ่มกระบวนการ พี่พยาบาลจะถามญาติผู้ป่วยก่อนว่าจะให้ทำอะไรบ้าง หรือทำอันนี้ไหม แล้วค่อยเริ่มต้นกระบวนการ เริ่มด้วยการถอดท่อจากเครื่องช่วยหายใจ ถอดอุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ถอดสายที่แทงเข้าหลอดเลือดต่างๆ หลังจากนั้นก็มีการเช็ดตัว ซึ่งในกระบวนการนี้ผมได้ร่วมด้วย โดยพี่พยาบาลให้ไปใส่ถุงมือก่อน แล้วก็เช็ดตัวผู้ป่วย โดยเริ่มจากนำผ้าขนหนูชุบน้ำหมาดๆแล้วเช็ดให้ทั่วตัวผู้ป่วย จากนั้นใช้สบู่เหลวชโลมแล้วเช็ดด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำหมาดๆ สุดท้ายคือเช็ดด้วยผ้าขนหนูแห้งอีกที หลังจากนั้นพี่พยาบาลจะนำสำลีไปอุดทางทวารต่างๆ ได้แก่ ปาก จมูก หู ทวารหนัก หลังจากนั้นก็สวมเสื้อให้กับผู้ป่วย โดยที่ญาติเป็นเลือกว่าจะให้ใส่ชุดไหน ขณะนั้นพี่พยาบาลก็เริ่มแต่งหน้าให้กับผู้ป่วยโดยมีหลักในการแต่งให้ผู้ป่วยมีลักษณะเหมือนคนที่นอนหลับไปเท่านั้น พวกเราก็พลางใส่กางเกง ถุงเท้า รองเท้าให้คุณลุง ใส่เข็มขัดและนาฬิกาเหมือนกับตอนที่คุณลุงเคยใส่ แต่ละขั้นตอนที่ทำมีรายละเอียดในตัวของมันเอง อย่างเช่น คุณลุงพับถุงเท้าหรือไม่ ใส่นาฬิกาข้างซ้ายหรือขวา คุณลุงเหน็บแว่นตาไว้ที่ไหน

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการญาติผู้ป่วยก็ต้องไปทำธุระทางกฎหมายและรอเจ้าหน้าที่มารับคุณลุงไปห้องดับจิตขณะนั้นญาติผู้ป่วยก็มากันเยอะขึ้น ญาติผู้ป่วยบางท่านก็ร้องไห้ พวกเราก็แยกตัวมารอที่ห้องข้างๆ ช่วงนั้นพวกเรากับพี่อุไรวรรณก็ได้คุย แลกเปลี่ยนถึงความรู้สึกที่ได้มาทำ มุมมองความคิดในเรื่องของความตาย หลักและวิธีในทำงานตรงจุดนี้ให้มีประสิทธิภาพ ช่วงนี้เองทำให้ผมทราบว่า พี่อุไรวรรณทราบจากพี่พยาบาลท่านอื่นว่าเมื่อคืนญาติเอาเทปบทสวดมนต์เปิดให้คุณลุงได้ฟังตลอด และพี่อุไรวรรณสังเกตเห็นว่ารูปพื้นหลังในมือถือของญาติคุณลุงเป็นรูปเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งเขาคงมีความศรัทธาในเรื่องของศาสนา เลยใช้เรื่องความศรัทธาในศาสนาเป็นจุดที่ใช้เชื่อมถึงญาติตอนที่แนะนำตัวพวกเราให้ญาติรู้จัก ไม่นานนักก็มีเจ้าหน้าที่มารับคุณลุงไปที่ห้องดับจิต พวกเราก็ตามไปจนถึงกระบวนการสุดท้าย ก็กล่าวลาของคุณลุงญาติๆ

ต้องยอมรับเลยว่าผมรู้สึกเหนื่อยเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเป็นงานที่ใช้กำลังกายมาก แต่ผมรู้สึกกังวลว่าเราจะทำให้ญาติไม่พอใจไหมหรือทำถูกต้องไหม และต้องรับรู้ถึงความรู้สึกถึงคนรอบข้างตัวเรา แต่พอทำเสร็จ ผมก็ได้สะท้อนไปถึงตัวเราเอง สะท้อนว่าถ้าเกิดความสูญเสียขึ้นกับตัวเรา หรือคนรอบตัวเรา เราจะรู้สึกอย่างไร ทำอย่างไรและอยากให้เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ทำอย่างไร ถือว่าเป็นประสบการณที่มีค่าและคิดว่าคงจะหาโอกาสไม่ได้อีกแล้วครับ

                                                                                          นศพ.สรวิชญ์ ชิตตระการ

เวลาประมาณ 18.00 น. ฉันเพิ่งกลับมาจากเดินขบวนวันลอยกระทง กำลังจะล้างหน้า มีโทรศัพท์เข้ามาพร้อมกับบอกว่าให้มาที่RCU ตึก12ชั้น ฉันจึงรีบเช็ดหน้าแล้ววิ่งไปในทันที ลืมแม้กระทั่งแว่นสายตา วิ่งไปทั้งๆที่มองไม่ชัดเลย พยายามถามทางจากพยาบาลที่เดินอยู่แถวนั้นเพราะมองป้ายไม่เห็น พอไปถึงเพื่อนบอกว่าพี่เขาให้ช่วยทำแค่2คน ฉันมาถึงช้ากว่าจึงได้แค่ยืนดูและช่วยเพียงเล็กๆน้อยๆเท่านั้น การกระทำทุกอย่างพี่พยาบาลทำเป็นหลัก ในการอุดรูเปิดทั้งหมด พวกเราได้ช่วยในการเช็ดตัว แต่งตัว และแต่งหน้า ขณะทำทุกขั้นตอนพี่พยาบาลจะกล่าวบอกแก่ผู้ตายทุกครั้งทำให้เสมือนเขายังรับรู้อยู่ไม่ได้คิดว่าเขาได้ตายไปแล้ว ญาติพยายามเลือกชุดที่จะให้ผู้ตายใส่ครั้งสุดท้าย โดยพยายามเลือกชุดที่ผู้ตายชอบและใส่บ่อยขณะยังมีชีวิตอยู่ เก็บรายละเอียดแม้กระทั่งซองใส่มือถือที่คล้องไว้ที่เข็มขัด ญาติก็พยายามอยากให้ผู้ตายเหมือนตอนมีชีวิตมากที่สุด เนื่องจากผู้ตายอายุ86ปี เป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ แต่ที่เขียนในใบมรณะเขียนว่า cadiac arrest เพราะญาติตัดสินใจไม่ใส่เครื่องช่วยหายใจต่อ จึงทำให้ญาติไม่แสดงอาการเสียใจออกมาก เพราะน่าจะเตรียมไว้บ้างพอสมควรเนื่องจากผู้ตายก็อายุมากแล้ว อาการไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นเท่าไหร่ ซึ่งขณะที่ทำอยู่นั้นฉันรู้สึกคล้ายจะหน้ามืด อาจจะเพราะวิ่งมาด้วยความเร็วเกินไป แต่ตอนนั้นคิดว่าเพราะว่ากลัวเลยหน้ามืด เพราะปกติจะหน้ามืดบ่อยเมื่อพบเจอกับเรื่องในทำนองนี้ จึงพยายามข่มใจไม่ให้กลัว สูดหายใจเข้าลึกๆ แต่่สุดท้ายก็เดินปลีกออกมานอกม่านที่ปิดเอาไว้ เพื่อไม่ให้เป็นลมตอนนั้น เดี๋ยวจะกลายเป็นเรื่องวุ่นวายกว่าเดิม ในขณะนั้นญาติก็มาเพิ่มเรื่อยๆ เมื่อขั้นตอนทุกอย่างเสร็จญาติบางคนเริ่มน้ำตาคลอ ก่อนเวรเปลจะมารับพยาบาลได้กล่าวคำขอขมากับผู้ตาย ทุกคนยืนล้อมรอบเตียงร่วมไว้อาลัยร่วมกัน หลังจากนั้นระหว่างรอเวรเปล ญาติได้พยายามเอาซองเงินมาให้พวกเราเพื่อเป็นการตอบแทน แต่พวกเราได้ปฏิเสธไป แล้วให้พี่พยาบาลคุยกับญาติเอง ผลออกมาว่าพยาบาลรับเงินนั้นมาแล้วให้วอร์ดไป เพราะเป็นความต้องการของญาติผู้ป่วย พวกเราและพี่พยาบาลพยายามเข้าไปคุยกับญาติของผู้ป่วยและแสดงความเสียใจก่อนที่ทุกอย่างจะเสร็จสิ้นคือการพาผู้ตายไปไว้ที่ห้องเก็บศพ

นศพ.ณิชากร  ปิยะธรรม

เคสที่หนึ่ง ผู้ป่วยชาย อายุประมาณ 30ปี เสียชีวิตด้วยโรค leukemia 

          15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลาประมาณ 17.00 น. ดิฉันได้รับโทรศัพท์แจ้งจากประธานกลุ่มว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตที่หออายุรกรรมชาย จึงต้องรีบกลับออกมาที่โรงพยาบาลพร้อมกับโทรศัพท์เรียกเพื่อนนักศึกษาแพทย์ที่ปฏิบัติงานด้วยกัน เมื่อมาถึงดิฉันสังเกตเห็นญาติผู้ป่วยจำนวนหนึ่งกำลังร้องไห้และทำใจอยู่นอกหอผู้ป่วยอย่างโศกเศร้า เมื่อเดินเข้ามาก็พบคุณอวยพรซึ่งเป็นพยาบาลที่ปรึกษาโครงการ คุณอวยพรพาดิฉันและเพื่อนไปยังเตียงผู้ป่วย และคอยให้ความสะดวกอยู่ข้างๆ เรามาถึงในขณะที่พยาบาลกำลังถอดเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจพอดี รอบเตียงผู้ป่วยมีแพทย์สองคน พยาบาลจำนวนหนึ่ง และญาติผู้ป่วยสองสามคนยืนอยู่ แต่ปิดม่านกั้นรอบเตียงเพื่อให้เกียรติและเพื่อความเป็นส่วนตัวแก่ผู้ป่วย ดิฉันและเพื่อนได้แต่สังเกตการณ์จากภายนอกเท่านั้น

          ไม่กี่นาทีต่อมา แพทย์เจ้าของไข้ได้ปลดอุปกรณ์ช่วยหายใจต่างๆ ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างแน่นอนแล้ว ญาติผู้ป่วยเริ่มร้องไห้หนักขึ้น แต่แพทย์เจ้าของไข้ไม่ได้พูดอะไรและเดินกลับไปบันทึกข้อมูลการเสียชีวิตในคอมพิวเตอร์ ปล่อยให้เป็นหน้าที่พยาบาลในการจัดการกับร่างผู้ป่วยและดูแลญาติต่อไป พี่พยาบาลนำเครื่อง sucker ผ้าขนหนู กะละมังใส่น้ำ และสบู่เข้ามาในม่านกั้น จากนั้นก็เริ่มทำความสะอาดร่างผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ เนื่องจากผู้ป่วยใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจ และมีของเหลวค้างอยู่ในโพรงจมูกและปาก ขั้นตอนแรกจึงต้องทำความสะอาดบริเวณดังกล่าวก่อน พี่พยาบาลก็จะเรียกชื่อผู้ป่วยและบอกว่าขออนุญาตทำความสะอาดเหมือนกับตอนที่ผู้ป่วยยังมีชีวิต เมื่อดูดของเหลวออกจนสะอาดแล้วก็จะใช้สำลีอุดจมูก ปาก และหูของผู้ป่วย โดยต้องใส่ให้ลึกและแน่นพอเพื่อเป็นการป้องกันการรั่วและรักษาสภาพร่างให้ดูสะอาดเรียบร้อยเหมือนคนนอนหลับตามปกติ ตอนนี้ใบหน้าของผู้ป่วยมีสีเหลืองขึ้นเพียงเล็กน้อย ต่อมาเป็นการอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด พี่พยาบาลเรียกชื่อผู้ป่วยแล้วขออนุญาตถอดชุดโรงพยาบาลของผู้ป่วยออก เช็ดตัวถูสบู่ ดิฉันสังเกตว่าพี่พยาบาลไม่ได้ปฏิบัติกับร่างผู้ป่วยต่างไปจากตอนที่เขามีชีวิตอยู่เลย ยังคงยิ้ม เรียกชื่อ และพูดคุยตามปกติ ส่วนญาติผู้ป่วยยืนดูอยู่ห่างๆ ผลัดเปลี่ยนกันมาเฝ้าไม่ทิ้งผู้ป่วยไว้คนเดียว พ่อแม่ของผู้ป่วยเข้ามาขอล้างหน้าให้ผู้ป่วยด้วยความเศร้าโศก ญาติทุกคนร้องไห้ และปลอบขวัญกันและกันตลอดเวลา พี่พยาบาลที่อาบน้ำให้ผู้ป่วยก็พูดให้กำลังใจญาติบ้างเท่าที่จะทำได้

          เมื่อเช็ดตัวและอุดสำลีในทุกทวารแล้วพี่พยาบาลจึงขอเสื้อผ้าจากญาติมาสวมให้ผู้ป่วยโดยให้ญาติเลือกชุดที่ผู้ป่วยชอบใส่มากที่สุด รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ กล่องแว่นตา เข็มขัด ที่ผู้ป่วยมีติดตัวเป็นประจำอีกด้วย ญาติผู้ป่วยบางคนยิ้มออกมาหลังจากเห็นผู้ป่วยในชุดปกติ และพูดเล่าเรื่องต่างๆ ของผู้ป่วยให้พวกเราฟังอย่างอาลัย ขณะนี้ใบหน้าของผู้ป่วยมีสีเหลืองมาก พี่พยาบาลจึงช่วยกันทาแป้งให้ผู้ป่วยจนดูเหมือนใบหน้าปกติ แล้วเช็คความเรียบร้อยก่อนจะนำดอกไม้ธูปเทียนมาให้ร่างผู้ป่วยกุมไว้

           พวกเราได้รับความกรุณาให้เข้าร่วมการไว้อาลัยเช่นเดียวกับญาติและบุคลากรบนหอผู้ป่วย อาทิ แพทย์ พยาบาล พนักงานเป็นต้น ผู้ป่วยซึ่งเสียชีวิตในคืนนี้นับถือศาสนาพุทธ ดังนั้น หลังจากร่วมกล่าวคำไว้อาลัย และยืนสงบนิ่งแล้ว จึงให้พ่อแม่ผู้ป่วยสวดมนต์กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ป่วย พิธีกรรมดำเนินไปอย่างเศร้าโศก แม้ว่าแพทย์เจ้าของไข้จะไม่ได้แสดงความเสียใจให้พวกเราได้เห็นมากนัก อาจเพราะเป็นโรคที่พยากรณ์โรคได้ว่าจะเสียชีวิตเมื่อไร และแพทย์ก็ได้บอกกล่าวให้ญาติทำใจยอมรับมาตลอด หรือแพทย์อาจพบเห็นความตายมาเป็นระยะเวลานานพอจนตระหนักถึงความเป็นอนิจจังของชีวิต บนหอผู้ป่วยอายุกรรมชายแห่งนี้

           หลังจากนั้น พวกเรามีโอกาสได้พูดคุยกับคุณอวยพรถึงผู้ป่วยรายนี้ และค้นพบว่า ผู้ป่วยเคยรับการรักษามาแล้ว ในตอนแรกแพทย์ได้พยากรณ์โรคว่าผู้ป่วยอาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน แต่แล้วชีวิตผู้ป่วยก็ผ่านช่วงเวลาที่ถูกพยากรณ์ไว้มาได้ ทำให้ญาติมีความหวังมากขึ้นว่า ผู้ป่วยจะมีชีวิตต่อไปได้อีก และอาการที่ทรุดลงครั้งนี้ก็น่าจะดีขึ้นได้เหมือนเดิม เมื่อการสูญเสียมาเยือนทำให้ญาติทำใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ ความคาดหวังที่ผิดทำให้รู้สึกเสียใจยิ่งกว่าเหตุการณ์ครั้งแรกเสียอีก

            สิ่งที่ดิฉันได้จากเหตุการณ์วันนี้ ไม่เพียงแต่ได้เห็นการปฏิบัติเมื่อมีผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาล แต่ได้รับรู้ความรู้สึกของหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์นี้ แพทย์ที่ปฏิบัติงานมานานมักจะมองและยอมรับได้ง่ายว่าความตายเกิดขึ้นแล้ว พยาบาลไม่ได้มองผู้เสียชีวิตต่างจากช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่ และญาติย่อมเสียใจกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น และเหตุการณ์นี้ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของคนหลายคน ถ้าแพทย์ไม่อธิบายความจริงของโรคและอาการของผู้ป่วยให้ญาติเข้าใจได้ ถ้าพยาบาลปฏิบัติกับผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่กับผู้เสียชีวิตแล้วต่างมาตรฐานกัน ถ้าญาติไม่เข้าใจว่าการรักษาได้มาถึงขอบเขตที่จำกัดแล้ว ความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้นก็จะส่งผลให้เกิดข้อพิพาทฟ้องร้องขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย


เคสสอง ผู้ป่วยชาย อายุประมาณ 90 ปี เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดในสมอง

  28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

             หลังจากที่ดิฉันและเพื่อนไปถึงหอผู้ป่วยก็ได้พบกับคุณอุไรวรรณ ซึ่งเป็นพยาบาลประจำที่นั่นและพาพวกเราเข้าไปหาผู้เสียชีวิต พวกเราแต่งกายชุดนักศึกษาตามระเบียบแต่ญาติผู้ป่วยดูเหมือนจะมีสีหน้างุนงงกับการมาของพวกเรา และความกังวลนั้นไม่ได้ลดลงแม้ว่าพี่พยาบาลจะแจ้งให้ทราบถึงจุดประสงค์การปฏิบัติงานของพวกเราก็ตาม ครั้งนี้พี่พยาบาลปฏิบัติงานคล้ายกับเคสแรก และดิฉันดีใจมากที่ได้รับอนุญาตให้ร่วมปฏิบัติงานด้วย ญาติดูไม่ค่อยเต็มใจนักที่ดิฉันสวมถุงมือแพทย์และแทรกตัวผ่านเข้าไปหาพี่พยาบาลข้างเตียง ทันใดนั้นคุณอุไรวรรณก็พูดกับญาติว่า “คุณลุง(หมายถึงผู้ป่วย) ชอบทำบุญใช่ไหมคะ ดีนะคะ ขนาดตายไปแล้วยังได้ทำบุญให้น้องๆ นักศึกษาแพทย์เค้ามาเรียนรู้ได้ประสบการณ์อีก” และประโยคนั้นก็ได้คลายร่องรอยความกังวลทุกอย่างบนใบหน้าญาติทั้งสองคนและมอบรอยยิ้มให้เรากลับมาแทน ดิฉันจึงรับรู้ได้ว่า ญาติเต็มใจให้พวกเราปฏิบัติงานเต็มที่ และตอบแทนด้วยการตั้งใจดูแลร่างผู้ป่วยคนนี้ ระหว่างนั้นก็ได้พูดคุยกับญาติไปด้วย ดิฉันรู้สึกดีมากที่ญาติเปิดใจ และรู้สึกว่า การได้คุยหรือซักถามเรื่องราวของชีวิตประจำวันของผู้ป่วยทำให้เราอยากดูแลงานในส่วนนี้ให้ดีเสมือนผู้ป่วยคือญาติของเรามากยิ่งขึ้น ดิฉันเต็มตื้นกับการได้ดูแลผู้ป่วยคนนี้ให้ดีที่สุดแม้ว่าจะเขาจะไม่สามารถรับรู้ได้และเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม

             เช่นเดิม เมื่อเราดูแลทำความสะอาดร่างและแต่งกายเสร็จเรียบร้อย ก็มีการกล่าวคำไว้อาลัยและสงบนิ่งให้แก่ผู้ป่วย ครอบครัวนี้มีเชื้อสายจีน พวกเราไม่ต้องสวดมนต์กรวดน้ำเหมือนผู้เสียชีวิตรายแรก ระหว่างรอเตียงมารับร่าง ดิฉันและเพื่อนๆ ก็ได้พูดคุยกับคุณอุไรวรรณเกี่ยวกับความตาย ทำให้ยิ่งได้ข้อมูลและข้อคิดดีๆ อีกหลายอย่าง และทำให้ดิฉันยิ่งเห็นว่า ชีวิตคนเราเป็นสิ่งไม่แน่นอนมากๆ แม้ว่าคำกล่าวว่าความตายเป็นสิ่งธรรมดา และเป็นบทสรุปของละครชีวิตทุกคน สัตว์ทุกตัว สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตบนโลก แต่ไม่มีใครรู้อนาคต และอดีตเป็นสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ สิ่งที่เราพอจะกำหนดได้คือจากการกระทำในปัจจุบัน ดังนั้นทุกวินาทีจึงมีค่ากับชีวิต การเตรียมพร้อมไม่เพียงช่วยให้เราอุ่นใจกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่เป็นการสร้างเกราะป้องกันตัวเราเองจากความทุกข์ทั้งของเราและผู้คนรอบข้าง การเตรียมพร้อมที่ดิฉันกล่าวถึงนั้น คือการเห็นคุณค่าของชีวิต และการยอมรับความจริง เมื่อเราเห็นคุณค่าของชีวิตแล้ว สิ่งที่เรากระทำในวันนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะปูทางสู่อนาคต เราก็จะเข้มแข็งพอ หนักแน่นพอ และเป็นหลักให้ผู้อื่นได้เมื่อความสูญเสียเกิดขึ้น

            ไม่นานเวรเปลก็มา ดิฉันและเพื่อนติดตามญาติผู้ป่วยและร่างของผู้ป่วย ลงไปยังห้องดับจิต บรรยากาศบริเวณนั้นเงียบสงบ ญาติยังคงร้องไห้ แต่เมื่อร่างของผู้ป่วยถูกเข็นเข้าไปเก็บไว้ ประตูห้องดับจิตได้เลื่อนปิดลง ญาติผู้ป่วยเงยหน้ามองดิฉัน หยดน้ำตาเล็กๆ ที่หางตาสะท้อนแสงไฟ มือสั่นเทาเอื้อมมาจับแขนดิฉันพร้อมกับยิ้มบางๆ ก่อนจะเดินจากไป

            “ขอบคุณนะลูก”

  • ดิฉันทีโอกาสได้ร่วมกิจกรรม จำนวน 2 เคส เคสที่ 1 ผู้ป่วยชายอายุ 30 ปี ป่วยเป็นลูคีเมีย ญาติและผู้ป่วยตั้งความหวังว่าผู้ป่วยต้องตายเป็นปกติ แต่เมื่อญาติผู้ป่วยความหวังได้พังทลายไป ญาติผู้ป่วยจึงได้แสดงความโศกเศร้าเสียใจ ฟูมฟาย เป็นอย่างมาก ความหวังที่เกิดขึ้น เป็นเพราะความไม่เข้าใจในอาการของโรค ญาติผู้ป่วยจึงไม่ได้เตรียมใจ จึงไม่สามารถทำใจรับได้ จากเคสนี้ 1.ดิฉันได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของคำพูดแพทย์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิด ความหวังของทั้งญาติและผู้ป่วย ซึ่งส่งผลต่อจิตใจและความรู้สึกของญาติเป็นอย่างยิ่ง เรียนรู้การแสดงออกในความเห็นใจ และเป็นหลักในการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับญาติผู้ป่วยเมื่อถึงเวลาสูญเสียจากพยาบาลที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ต่อไปในอนาคต

  • เคสที่ 2 ผู้ป่วยชายอายุ 60 ปี หัวใจวาย ในเคสที่ 2 มีความแตกต่างจากเคสที่ 1 เป็นอย่างมาก ในเคสนี้ การเสียชีวิตของผู้ป่วย เป็นความต้องการของญาติที่ไม่ต้องการการปั๊มหัวใจ ญาติเข้าใจสภาพและอาการผู้ป่วยเป็นอย่างดี การแสดงออกของญาติจึงมีความแตกต่าง ไม่มีการเสียใจฟูมฟาย เป็นเพียงการอาลัยอาวรณต่อความสูญเสีย ดิฉันมีโอกาสลงมือบริหารจัดการศพ แต่งหน้า และส่งร่างสู่ห้องเก็บศพ ดิฉันสัมผัสได้ถึงความรู้สึกเสียใจแต่แปลกที่มันเป็นไปด้วยความปลาบปลื้ม และความคิดถึง ความรักที่ลูกมีต่อพ่อ (ผู้ป่วย) จากเคสที่ 2 ดิฉันได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการเตรียมใจในความสูญเสีย พี่พยาบาลที่ให้การดูแลสอนว่า “ถ้าเราทำทุกวินาทีให้มีค่า ดูแลคนที่เรารักให้ดีที่สุด เมื่อถึงเวลาที่ต้องจากกัน จะปราศจขากความเสียใจแต่จะเต็มไปด้วยความอาลัย อาวรณ์ ความคิดถึง”  จากทั้งสองเคส ดิฉันเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างญาติที่เข้าใจและไม่เข้าใจในความเป็นไปของโรค ซึ่งเป็นผลมาจากคำพูดของแพทย์ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารระหว่างญาติและแพทย์ การเป็นหลักและกำลังใจที่สำคัญของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้เพื่อเสริมให้เป็นแพทย์ที่สมบูรณ์ต่อไปในอนาคต สิ่งสำคัญที่สุด คือ ทำให้ดิฉันมองความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว เห็นสัจธรรมของชีวิตว่า ทุกคนต้องตาย พี่พยาบาลได้ให้ความคิดว่า “เราเตรียมพร้อมทุกอย่างสำหรับคนที่จะมาเกิดให้ แล้วทำไมเราไม่เตรียมพร้อมให้คนรักของเราที่กำลังจะไปเกิดใหม่”


นศพ.กีรติ ทรัพย์สมาน


ยินดีกับโอกาสที่ได้รับให้ทำความดี ยินดีในความรู้สึกที่น้องได้เรียนรู้  ยินดีกับข้อความที่แบ่งปันและถ่ายทอดความรู้สึก  และยินดีที่มีโครงการดี ๆ

ลูกศิษย์ครับ

ผมได้ดู CD ที่ทำขึ้นมาแล้ว

มันยอดมาก ยอดจริงๆ

เนื้อหาดี กินใจและเข้าใจ

เพลงประกอบก็เข้ากันเหลือเกิน

ขอบคุณนะครับ

ตามที่ได้เข้าร่วมโครงการ Depatures ดิฉันได้ทำกิจกรรมไปเมื่อวันศุกร์ที่ 25 มกราคม 2556 ดิฉันถูกโทรตามในช่วงตอนเที่ยง ก่อนไปเรียน 1 ชั่วโมง ดิฉันรีบไปมาก แต่เมื่อไปถึงญาติผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้วก็ได้ทำความสะอาดให้เองแล้ว จึงไม่ได้ทำอะไรมาก นอกจากยืนดูแล้วเข้าไปพูดคุยกับญาติ แล้วก็ได้ทราบว่า ผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้วคนนี้ อายุ 79 ปี เสียชีวิตด้วยอาการช็อค เนื่องจากไตวาย ก่อนหน้านี้ผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้วได้เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกมาแล้ว 5 ปี คืนก่อนเสียชีวิต เกิดอาการช็อค ญาติจึงได้พาตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลรอบนอก แล้วก็ถูกส่งต่อมายังโรงพยาบาลม.อ. แล้วก็เสียชีวิตในเวลาประมาณช่วงเที่ยงๆ จากการที่ได้พูดคุยกับญาติซึ่งเป็นลูกสาวของผู้ป่วยที่เสียชีวิตนี้ ก็ได้ทราบทัศนคติจากญาติว่า ญาติก็รู้สึกเสียใจแล้วร้องไห้กับการจากไปครั้งนี้ แต่ก็รู้สึกว่าก็ดีที่ผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้วท่านนี้ ได้หมดเวรหมดกรรม ไม่ต้องมาทุกข์ทรมานกับโรคที่เป็นอยู่ เนื่องจากว่าญาติมีความเชื่อตามหลักศาสนาพุทธ จึงทำใจได้ง่าย ดิฉันก็รู้สึกว่าชีวิตคนเราก็แค่นี้ มีเกิด แก่ เจ็บแล้วก็ตาย เพราะฉะนั้นเมื่อมีชีวิตอยู่ สิ่งดีๆอะไรที่เราควรทำ เราก็ต้องรีบทำ เมื่อตอนที่ยังมีโอกาส โดยส่วนตัวไม่ได้ถึงขนาดเศร้าเสียใจมาก เพราะคุณยายก็จากไปอย่างสงบ หมดสิ้นความทรมาน แต่เพื่อนที่ไปด้วยกันร้องไห้ออกมา อาจจะเพราะเห็นญาติร้องไห้ จึงกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ก็เป็นประสบการณ์ดีๆประสบการณ์หนึ่งในช่วงชีวิตของดิฉัน ที่ได้มาเข้าร่วมโครงการนี้ ดิฉันมีความรู้สึกยินดีมากที่ได้มาเข้าร่วมโครงการ จากตอนแรกที่มีความรู้สึกกลัว แต่พอได้เข้าร่วมแล้ว ก็ไม่รู้สึกกลัวเลย กลับรู้สึกเข้าใจชีวิตของคนมากยิ่งขึ้น

นศพ.กมลนัทธ์ ปุยทอง


ความรู้สึกหลังทำโครงการ

         วันที่ 30/1/2556 เวลาประมาณ 23.00 น ซึ่งช่วงเวลานี้เพื่อนๆทุกคนใน PBL ได้ทำโครงการเกือบจะเสดสมบูรณ์และเตรียมตัวแยกย้ายพักผ่อนตามอัธยาศัย ทันใดนั้นเองก็มีสายเข้าโทรศัพท์มือถือเพื่อน ซึ่งมีเพื่อนคนนึงแซวว่ามี case แน่เลย และก็เป็นไปตามนั้น โดยผมและเพื่อนๆจำนวน 2 คน ก็รีบไปที่แผนกศัลยกรรมชาย 1 เมื่อไปถึงแล้วก็เห็นพยามบาล 2 ท่านกำลังทำความสะอาดอยู่ พวกผมก็งงๆว่าต้องทำอะไรบ้าง ก็เลยถามพี่พยาบาลว่ามีอะไรให้ช่วยไหมครับ แต่ก็ได้รับคำตอบว่าไ่ม่ต้องทำอะไรก็ได้คะ มันใกล้จะเสดแล้ว พวกผมก็ได้แค่ยืนสังเกตการณ์ ซักพักก็เห็นญาติผู้เสียชีวิต เลยเข้าไปแสดงความเสียใจและถามสาเหตุที่มาของการสูญเสียครั้งนี้ ซึ่งญาติที่พวกเราคุยด้วยนั้นเป็นลูกชายคนโตของผู้เสียชีวิตนั่นเอง โดยได้เล่าว่าพ่ออายุ 79 ปี ได้เข้า รพ.ม.อ.เมื่อวันที่ 17/1/2556 ก่อนหน้านี้ได้ไปตรวจที่ รพ.แห่งหนึ่ง และได้ X-ray พบก้อนเนื้อบริเวณช่องคอ ซึ่งแพทย์ไม่แน่ใจว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ แต่ทางครอบครัวของผู้ป่วยได้ตัดสินใจมาทำการตรวจอีกครั้งที่ รพ.ม.อ. ซึ่งผลออกมาว่าเปน cancer of esophagus ซึ่งแพทย์ได้ให้การรักษาด้วยการ biopsy และ radiation โดยอาการก็ดีขึ้นเปนช่วงๆ จนภายหลังแพทย์ประจำตัวผู้เสียชีวิตได้บอกว่าอาการเริ่มทวีความรุนแรงและพบอวัยวะอื่นมีพยาธิสภาพด้วย ไม่ว่าจะเป็นปอดและไต ซึ่งผู้ป่วยเองก็บ่นว่าอยากกลับบ้านอยู่ทุกวัน อาจเป็นเพราะต้องทรมานกับการรักษาอันเจ็บปวด แต่ลูกๆก็ได้ตัดสินใจว่าจะให้ทำการรักษาต่อสุดความสามารถของแพทย์ เพราะถ้าพากลับบ้านหากผู้ป่วยมีอาการหนักก็ต้องมาให้การรักษาที่ รพ.ใหม่อีกครั้ง ซึ่งทางบ้านไม่ค่อยสะดวกมากนัก จนกระทั่งถึงคืนก่อนเสียชีวิตผู้ป่วยมี BP drop จนต้องใส่ tube ช่วยหายใจ ในที่สุดผู้ป่วยได้ล่วงลับไปในเวลาต่อมา 
          จากการพูดคุยและสังเกตการณ์ ครอบครัวผู้ป่วยและญาติๆก็มีการเตรียมใจมาก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ไม่ค่อยมีภาพความเสียใจที่รุนแรงมากนัก แต่ก็มีบ้างที่ร้องไห้ น้ำตาซึม โดยลูกๆเกือบทุกคนได้มารับพ่อกลับไปทำพิธีกรรมทางศานาต่อไป แต่ก็มีบางคนที่ไม่ได้กลับมาเพราะอยู่ต่างจังหวัด
สำหรับพี่พยาบาลที่ได้ทำหน้าจัดการทำความสะอาดและแต่งหน้าผู้เสียชีวิต ผมก็รู้สึกว่าพี่ๆก็ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ไม่มีความกลัวหรือกังวลใดๆทั้งสิ้น ดูเหมือนว่าชินกับการการปฏิบัติหน้าที่นี้แล้ว ในขณะที่พี่พยาบาลได้จัดการผู้เสียชีวิตนั้น พบรู้สึกสงสารผู้ป่วยตอนที่อุดรู ไม่ว่าจะเปนหู จมูก ปาก และทวาร เพราะต้องอุดให้ลึกจนมองไม่เหนสำลี เพื่อความสวยงามและญาติไม่ตกใจเมื่อมารับผู้เสียชีวิต จากประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้เกิดความแตกต่างในความรู้สึกของตัวผมเองที่ว่าก่อนเข้าร่วมโครงการมีความกังวล กลัว แต่เมื่อได้ทำแล้วไม่มีความรู้สึกเช่นนั้นเลย แต่กลับรู้สึกสงสารทั้งความทรมานที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ความเสียใจที่ญาติผู้ป่วยต้องสูญเสียบุคคลที่สำคัญไป 
          จากการทำโครงการณ์ครั้งนี้นอกจากความรู้ที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด แต่งหน้าผู้เสียชีวิต มีสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการแสดงออกถึงความรู้สึกที่มีต่อญาติผู้เสียชีวิตที่จะต้องแสดงอย่างถูกต้องเหมาะสมทั้งกาย วาจา ใจ เพื่อให้ญาติผู้เสียชีวิตเกิดความรู้สึกและทัศนคติที่ดีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน สุดท้ายนี้ผมต้องขอขอบคุณ ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ อาจารย์ที่ปรึกโครงการที่คอยผลักดันและสนับสนุนโครงการเป็นอย่างดี คุณอวยพร ภัทรภักดีกุล ที่ปรึกษาโครงการ ที่คอยให้คำแนะนำและติดต่อรับ case จนได้ทำโครงการครบทุกคน รวมถึงบุคลากรท่านอื่นๆ และแผนกต่างๆโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ที่เอื้ออำนวยในการทำโครงการครั้งนี้ และที่ขาดไปไม่ได้เพื่อนๆ PBL 17 ทุกคนที่ให้ความร่วมมือจนโครงการสำเร็จลุล่วงไปด้วย
                                                                                                                               นศพ.รอซาลี รอแมยะ

วันที่ 25 มกราคม 56 เวลาประมาณเที่ยง ขณะผมอ่านหนังสืออยู่ที่หอ มีเพื่อนโทรมาบอกว่ามี case
ผมจึงรีบเปลี่ยนเป็นชุดนักศึกษา แขวนบัตร และรีบไปโรงพยาบาลที่ ชั้น 8 หอผู้ป่วยสูตินารีเวช เมื่อไปถึง
ผมเห็นมีอยู่เตียงนึงที่มีม่านปิดรอบเตียงครบทุกด้าน ผมมองผ่านช่องเล็กๆระหว่างม่าน เห็นคนยืนรอบเตียงมากมาย มีพยาบาลด้วย เมื่อผมเดินเข้าไป มีพยาบาลคนหนึ่งเดินออกมาพอดี ผมจึงถามว่า “ผู้ป่วยเตียงนี้คือ case ที่ให้มาทำรึปล่าวครับ” พยาบาลตอบว่า“ใช่ ค่ะคนไข้ death แล้ว” หลังจากนั้นผมก็ได้ไปเฝ้าดูกระบวนการต่างๆอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ญาติและพยาบาลช่วยกันเช็ดตัว ทาแป้ง แต่งตัว ระหว่างนั้น ผมได้สังเกตความรู้สึกของคนต่างๆรอบข้าง รวมทั้งตัวผมเองด้วย ในด้านของญาตินั้น มีญาติหลายคนมากที่ได้มาในตอนนั้น จากที่สังเกต แต่ละคนมีความเสียใจไม่เท่ากัน บางคนดูเศร้าเล็กน้อย บางคนดูเศร้ามาก ร้องให้จนตาแดง ผมจึงได้เข้าไปพูดคุยกับผู้หญิงคนที่ดูเศร้าที่สุด ผมจึงทราบว่าเธอเป็นลูกสาวของคุณยายที่เสียชีวิต เธอเล่าทั้งน้ำตาว่า แม่เป็นมะเร็งปากมดลูกมา ประมาณ 5 ปี แต่ที่มาโรงพยาบาลวันนี้และเสียชีวิตก็เพราะไตวาย ในด้านของพยาบาลผมสังเกตว่า พยาบาลบาลมีอารมณ์ค่อนข้างมั่นคง ดูไม่เศร้ามาก ไม่ค่อยมีการแสดงออกทางอารมณ์ ในด้านของผู้ป่วยเตียงอื่นที่อยู่รอบข้างบางคนก็ดูเฉยๆ บางคนก็ดูเจ็บปวดจากโรคที่เขาเป็นอยู่จนไม่มีเวลาได้สนใจสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ผมก็ได้เห็นภาพที่น่าประทับใจภาพหนึ่งคือ ผู้ชายคนนึงที่มาเยี่ยมไข้ผู้หญิงเตียงข้างๆ ได้เข้ามาแสดงความเสียใจ แม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อนก็ตาม ส่วนในด้านของตัวผมเองนั้นเมื่อได้เห็นบรรยากาศแบบนั้น ผู้คนที่ต้องเสียใจ แบบนั้น ผมรู้สึกเศร้า รู้สึกหดหู่อยู่ลึกๆแบบบอกไม่ถูกแม้จะไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่แม้แต่คนรู้จักก็ตาม

เวลาประมาณ 13.00 พยาบาล ญาติผู้ป่วย รวมทั้งผมและเพื่อนที่มาด้วยได้มารวมตัวกันรอบเตียงผู้ที่เสียชีวิต
พร้อมกันพนมมือขึ้น มีพยาบาลกล่าวคำขอขมา เมื่อคำกล่าวสิ้นสุดลง ทุกคนก็สงบนิ่งประมาณ 1 นาที หลังจากนั้นผมและเพื่อนอีก 1 คนก็ได้แสดงความเสียใจและกราบลาญาติผู้ป่วย

                                                                                                                 นศพ.กฤติน  เดชธนบดินท์

ดิฉันได้ลงมือทำโครงการ The Departure เวลาประมาณ 23.45น. ของวันที่ 30 มกราคม 2556 ซึ่งในเวลาตอนนั้น กลุ่ม PBL ของดิฉัน กำลังนั่งสรุปโครงการอยู่ด้วยกันตั้งแต่ 16.30 น.ใต้หอพักนักศึกษา เสียงโทรศัพท์จากพี่ติ๊กว่ามีเคสเข้ามาที่หอพักผู้ป่วยศัลยกรรมชาย 1 ชั้น 7 ดิฉันก็รีบไปกับเพื่อนอีก 2 คน เมื่อไปถึง คิดว่าจะได้เจอญาติผู้เสียชีวิตยืนรออยู่ แต่ก็ไม่พบ พบพี่พยาบาลประจำ Ward แล้วพี่เขาก็พาเข้าไปในม่านที่ปิดกั้นไว้ ภายในมีพี่พยาบาล 2 คน กำลังเช็ดตัวให้ นำสำลีอุดทางออกของเสียทั้งหมด สิ่งที่เห็นคือพี่เค้าเอาสำลีชุบวาสลีนอุดจมูก หูเข้าไปลึกใช้ได้ และ เช็ดตัว ทาแป้งที่ตัวให้ พวกเราทั้ง 3 ถามหาว่าพอจะมีอะไรให้เราช่วยได้บ้าง แต่พี่เค้าก็ให้เรายืนดูอยู่ข้างเตียง ระหว่างนั้นดิฉันก็สังเกตเห็นเตียงผู้ป่วยข้างๆ เห็นคุณตา มองมาที่เตียงนี้ตลอดเวลาที่ พี่พยาบาลทั้ง 2 คนได้ถามว่าหนูมาทำอะไร นี้เป็นเคสแรกของหนูหรือ งั้นดูไป Observe ก่อนดีกว่า ระหว่างนั้นก็ได้ รู้ว่าคุณตา อายุ 79 ปี นอนที่ Ward นี้มา 2 สัปดาห์แล้วความดันลดต่ำลงเรื่อยๆ จนเสียชีวิตเงียบๆ พี่พยาบาลให้เรามาคุยกับญาติคนไข้ ตอนแรกก็คิดว่ายังไม่มา เพราะตอนเข้ามายังไม่พบใครเลย แต่พอออกไปก็พบลูกชายของคุณตานั่งอยู่คนเดียว ดูสีหน้าแล้วแต่ตาออกแดงๆ แต่ไม่ได้ร้องไห้ให้เราเห็น พวกเรา 3 คนก็เข้าไปคุยกับคุณลุงลูกชายคนโต อายุ 59 ปี แนะนำตัวว่าพวกหนูเป็นนักศึกษา ขออนุญาตคุยกับคุณลุงได้มั๊ยค่ะ คุณลุงเข้มแข็งมากค่ะ ไม่ร้องไห้ ยิ้มแย้มคุยกับเราน่ารักมาก คุณลุงบอกว่าคุณตาเพิ่งเสียไปตอนลุงจะกลับที่พักแล้วพยาบาลก็โทรแจ้งพอดี ตอนนี้ได้โทรแจ้งญาติๆที่อยู่รัตภูมิกำลังเดินทางมาอีกครึ่งชั่วโมง เพื่อมารับคุณพ่อที่นี่ คุณลุงเป็นมะเร็งที่หลอดอาหาร และ ลามไปที่ไต ต้องให้อาหารทางสายยางผ่าน ตอนแรกที่มานี้เพราะคุณตาหายใจไม่ค่อยสะดวก ไอไม่ออก และ ไอเป็นเลือด รู้สึกมึนหัวบ่อย จึงมาโรงพยาบาลให้หมอตรวจ ก็พบว่ามีก้อนที่หลอดอาหาร ให้นอนโรงพยาบาล คุณหมอที่ดูแลคุณตาบอกกับคุณลุงก่อนอาทิตย์ที่คุณตาจะเสียว่าอาการไม่ค่อยดี จะค่อยๆทรุดลง ซึ่งลูกๆก็ทำใจไว้ก่อนแล้ว แต่ในคืนนี้ไม่คิดว่าจะจากไปในคืนนี้ เพราะวันนี้ยังคุยกันอยู่เลย คุณตาบอกเสมอว่าอยากกลับบ้าน แต่ลูกๆเห็นว่าถ้าพาคุณตากลับบ้านอาการก็จะทรุดหนักกว่าเดิม ทางบ้านก็ไม่สามารถช่วยคุณตาได้ กว่าจะเดินทางมาถึงหมอได้ก็นาน จึงตัดสินใจให้คุณตาอยู่ที่นี้ ทุกครั้งที่ใส่เครื่องท่อช่วยหายใจคุณตาเจ็บ อยากจะกลับบ้านทุกครั้ง แต่ลูกๆอยากให้คุณตาอยู่ได้นานที่สุดจึงตัดสินใจให้ใส่ท่อช่วยหายใจ ถ้าคุณลุงย้อนเวลากลับไปได้ คุณลุงจะให้พ่อแม่อยู่บ้านตัวเอง เพื่อจะดูแลให้มากกว่านี้ และ พาพ่อกลับบ้านตามที่พ่อบอกเสมอทุกวันที่มาเยี่ยม
  คุณตามีลูก 8 คน แต่เสียชีวิต แล้ว 1 คน อยู่รัตภูมิ 4 คน อยู่ที่สุราษฎร์ธานี 3 คน ลูกๆทุกคนมีครอบครัวแล้ว คุณตาจึงอยู่กับคุณยาย 2 คน มีบ้านสร้างข้างๆกับคุณลุงเอง คุณลุงเล่าว่า คุณตาเป็นคนแข็งแรงขยันทำงาน ชอบหางานทำตลอด อยู่บ้านจะเลี้ยงวัว ทำสวน ตัดดายหญ้า มีคุณยายทำกับข้าวให้กิน ลูกๆทำงานส่งเงินให้ใช้จ่าย เกือบทุกตอนเย็นก็มานั่งกินข้าวที่บ้านลุง คุณตามีปัญหาด้านการรับกลิ่น กลิ่นอาหาร กลิ่นหญ้า กลิ่นต่างๆจะรู้เลยว่านั้นคือกลิ่นอะไร พอคุยไปเรื่อยๆ ถึงจุดๆหนึ่ง ตัวหนูเองเริ่มสังเกตว่าคุณลุงจะร้องไห้ หนูเลยหยุด ขอตัวมาหาพี่พยาบาลเพื่อถามหาว่า มีอะไรพอที่หนูจะช่วยได้มั๊ย คำตอบคือ “ ไม่มีค่ะ “ แล้วคุณลุงต้องทำอะไรต่อค่ะ? ซึ่งพี่พยาบาลก็บอกว่า เดี๋ยวให้ญาติมาแล้วแจ้งทำใบมรณะ ชำระเงิน และ อื่นๆอีกที่หนูเองยอมรับว่าจำไม่ได้ และ “กล่าวคำไว้อาลัย”ซึ่งพี่พยาบาลจะเป็นคนนำ พร้อมญาติ ให้พวกเรานศพ.เข้าร่วมด้วยก็ได้ พอทราบเช่นนั้นหนูก็มารอญาติกับคุณลุงต่อ สังเกตว่ามีแต่พี่พยาบาลใน Ward ทำงานหน้าคอมบ้าง เดินดูแลผู้ป่วยบนเตียงบ้าง มีผู้ป่วยชราเดินไปมาบ้าง เรานั่งคุย และ รอจนถึงเวลา 00.40 น. ลูกๆของคุณตาก็มา มีลูกชาย 2คนและ ลูกสาว 1 คนที่ร้องไห้มาตั้งแต่เข้าห้อง ยืนอยู่ข้างๆศพพ่อของตน และมีหลานสาวที่เป็นผู้ช่วยพยาบาลที่ รพ.มอ.มาด้วย เป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือเรื่องการทำธุระที่โรงพยาบาลให้คุณตา มาเยี่ยมดูแลเสมอ บรรยากาศตรงนั้น ลูกสาวร้องไห้เสียใจอย่างมาก ส่วนลูกชายทั้ง 3 ก็ร้องไห้เสียใจเช่นกัน แต่คิดว่าคงเป็นเพราะเป็นลูกผู้ชายที่ต้องเข้มแข็งจึงไม่แสดงอาการเสียใจมากนัก เมื่อถึงเวลาลูกๆนำเสื้อผ้ามาสวมให้พ่อที่นอนอยู่บนเตียง มีดอกบัวผูกไว้ที่มือที่ประนมไว้ทั้งสองข้าง พยาบาลก็ได้กล่าวนำคำไว้อาลัย พร้อมกันทั้ง Ward พร้อมกับญาติ และกล่าวขอบคุณ ลากับพี่พยาบาล และ ญาติผู้ป่วย

  ความรู้สึกกับการทำโครงการ “The Departures”ในครั้งนี้ ใจจริงอยากลงมือทำเอง อยากสัมผัสความรู้สึกที่ได้ทำอะไรให้กับผู้เสียชีวิตคนหนึ่งบ้าง แต่ก็รู้สึกดีที่ได้คุยกับญาติ ลูกๆของผู้เสียชีวิต ทำให้เข้าใจถึงความผูกพันความสัมพันธ์ที่มีในครอบครัว ทำให้อยากกลับไปดูแลใกล้ชิดพ่อแม่ของตนมากขึ้น ไม่อยากปล่อยท่านให้ทำงานหนัก เพื่อหาเงินให้ลูกๆจนไม่ดูแล คำนึงถึงสุขภาพของท่านเอง และรู้จักการวางตัวที่เหมาะสมในสถานการณ์เช่นนี้ในฐานะคนนอกที่เข้าไปมีส่วนร่วมในชั่วโมงของการจากลาคนรักคนสำคัญของผู้อื่นไปอย่างถาวร
  “ใช้เวลา ทำอะไรให้เพื่อคนที่เรารัก และ รักเราทั้งชีวิตให้ดีที่สุด”

นศพ. ลักษมี  เจือจันทร์พิพัฒน์

พรุ่งนี้เป็นวันสอบ จริยธรรมทางการแพทย์ มีเนื้อหาส่วนหนึ่งเรื่อง Thanatology ได้นำภาพยนตร์เรื่อง The Departure เป็นสื่อการสอนด้วยค่ะ

ยิ่งได้ดูซ้ำ หรือนึกถึงข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ ยิ่งทำให้เข้าใจเนื้อหาและแก่นของเรื่องนี้มากกว่าเดิมทุกครั้ง แล้วก็ยิ่งทำให้เห็นภาพแพทย์ที่ตัวเองอยากเป็นในอนาคตได้เป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วยค่ะ

ขอขอบคุณอาจารย์ธนพันธ์ ที่ได้ให้โอกาสพวกเราทำโครงการดีๆ แบบนี้อีกครั้งนะคะ :D

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท