คิดออกเสียง: การวัดประเมินความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจตามสภาพจริง


การคิดออกเสียงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ผู้เรียนจะสามารถแสดงความเข้าใจที่แท้จริงของตนเองออกมาให้ปรากฏ

คิดออกเสียง: การวัดประเมินความสามารถในการอ่าน

เพื่อความเข้าใจตามสภาพจริง



เฉลิมลาภ ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



“Not all readers become leaders. But all leaders must be readers."

“ไม่ใช่นักอ่านทุกคนที่จะกลายมาเป็นผู้นำ แต่ผู้นำทุกคนล้วนแต่จะต้องเป็นนักอ่าน”

                                                                                                                    (Harry S. Truman) 


               ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักอ่าน คือ ผู้ที่อ่านสิ่งใดๆ แล้วเกิดความเข้าใจ  สามารถที่จะทราบเรื่องราวและทราบนัยความหมายต่างๆ ในสิ่งที่อ่าน  แต่เมื่อความเข้าใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในระบบปัญญา การวัดประเมินความเข้าใจในการอ่านจึงกระทำได้ไม่ง่ายนัก  เพราะต้องวัดให้ได้ว่า  ขณะนี้ผู้อ่านสามารถสร้างความหมายของข้อมูลที่อ่านขึ้นภายในระบบปัญญาแล้วหรือไม่ และสร้างได้ในระดับใด  ความเข้าใจจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถดำเนินการวัดได้โดยตรง  แต่จำเป็นจะต้องอาศัยกลวิธีให้ผู้อ่านแสดงหรือรายงานความเข้าใจที่เกิดขึ้น ณ ขณะอ่านออกมา  ซึ่งกลวิธีการดังกล่าวก็คือ การคิดออกเสียง (think-aloud)


                การวัดความเข้าใจในการอ่านด้วยการทำแบบทดสอบ  แม้จะเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยม  เพราะสามารถใช้เครื่องมือจำพวกแบบทดสอบความเข้าใจในการอ่าน  (reading comprehension test)   มาประเมินได้  แต่วิธีการดังกล่าวก็มีข้อจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นแบบทดสอบ  แบบเลือกตอบหลายตัวเลือก เพราะผู้เรียนไม่สามารถที่จะขยายความคิดและความเข้าใจ  ที่อาจจะมีมากกว่าตัวเลือกที่ผู้ออกข้อสอบกำหนดได้  ทำให้การวัดด้วยแบบทดสอบไม่ครอบคลุมมิติพฤติกรรมของความเข้าใจ ซึ่งมีหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการสรุป การขยายความคิด การทำนาย การยกตัวอย่าง  เป็นต้น  ด้วยเหตุนี้ การให้จัดสถานการณ์ให้ผู้เรียนคิดออกเสียง หรือการให้ผู้อ่านกล่าวความคิดและกระบวนการคิดที่ใช้ในขณะอ่านออกมาขณะอ่านตัวบทอย่างเป็นอิสระ  ไม่มีกรอบบังคับ  จึงน่าจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้แบบทดสอบ


               ขั้นตอนของกระบวนการอ่าน สามารถแบ่งได้เป็นขั้นตอนง่ายๆ คือ ขั้นก่อนอ่าน  ขั้นอ่านและ  ขั้นหลังการอ่าน  ซึ่งในแต่ละขั้น ผู้สอนควรให้ผู้เรียนใช้กลวิธีคิดออกเสียงเพื่อวัดประเมินความเข้าใจที่เกิดขึ้น การวัดและประเมินความเข้าใจในการอ่าน  จึงต้องดำเนินการวัดในทุกขั้นตอนของกระบวนการอ่าน   มิใช่ดำเนินการแต่เฉพาะในช่วงหลังการอ่าน ดังเช่นที่นิยมให้ผู้เรียนตอบคำถามท้ายบทอ่านหรือทำแบบทดสอบหลังการอ่านเท่านั้น  ด้วยเหตุนี้  บทบาทสำคัญของผู้สอนในการใช้กลวิธีนี้ คือ การจัดเตรียมคำถามกระตุ้นความคิดในการอ่าน (reading  prompts)  ในระหว่าง  ขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการอ่าน คำถามกระตุ้นความคิดดังกล่าว  ควรประกอบด้วยคำถามที่สำคัญ คือ “นักเรียนคิดว่าเรื่องที่กำลังจะอ่านต่อไปนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เพราะเหตุใดจึงคิดเช่นนั้น”  “ขณะที่นักเรียนกำลังอ่านข้อความนี้  นักเรียนมีความคิดอะไรเกิดขึ้น  เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น”  และ  “หลังจากที่นักเรียนอ่านแล้ว นักเรียนคิดถึงอะไร เพราะเหตุใดจึงคิดเช่นนั้น” (Gunnning, 2002: 122-123)


            คำถามสำคัญข้างต้น สามารถนำมาใช้กำหนดคำถามย่อยๆ  ในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการอ่านสอน เพื่อใช้วัดความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจตามสภาพจริงของผู้เรียนได้ดังนี้ 
 

             1.  ขั้นก่อนการอ่าน
                  คำถามหลัก  “นักเรียนคิดว่าเรื่องที่กำลังจะอ่านต่อไปนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เพราะเหตุใดจึงคิดเช่นนั้น”
                 คำถามย่อย  เช่น    1.ความรู้สึกเมื่อนักเรียนได้ยินชื่อหรือหัวข้อเรื่องที่จะอ่านคืออะไร เหตุใดจึงรู้สึกเช่นนั้น
                                              2. นักเรียนเคยมีประสบการณ์หรือมีความคุ้นเคยกับชื่อหรือหัวข้อที่จะอ่านหรือไม่  ถ้ามีจงอธิบายหรือเล่าประสบการณ์ฟัง
                                              3. นักเรียนคิดว่าจากหัวข้อหรือชื่อเรื่องที่จะอ่าน สาระสำคัญของเรื่องจะเกี่ยวกับอะไร เพราะอะไรนักเรียนจึงคิดเช่นนั้น
 

            2.  ขั้นระหว่างการอ่าน
                 คำถามหลัก “ขณะที่นักเรียนกำลังอ่านข้อความนี้  นักเรียนมีความคิดอะไรเกิดขึ้น  เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น”
                 คำถามย่อย เช่น      1.  ความคิดหรือความรู้สึกแรกเมื่ออ่านข้อความช่วงแรกจบลงคืออะไร เพราะเหตุใดนักเรียนจึงเกิดความคิดหรือความรู้สึกเช่นนั้น
                                              2.  ประเด็นความคิดสำคัญที่ผู้เรียนนำเสนอในแต่ละย่อหน้าหรือแต่ละหัวข้อคืออะไร นักเรียนมีกลวิธีการสังเกตหรือหาประเด็นความคิดสำคัญดังกล่าวอย่างไร
                                              3. สิ่งที่นักเรียนคุ้นเคยหรือไม่คุ้ยเคยในเรื่องที่อ่านมีอะไรบ้าง เหตุใดนักเรียนจึงมีความรู้สึกคุ้นเคยหรือไม่คุ้นเคย
                                              4.  วิธีการอ่านที่นักเรียนใช้เพื่อสรุปสาระสำคัญคืออะไร
                                              5.  นักเรียนทำอย่างไรเมื่อพบคำหรือข้อความที่ไม่เข้าใจความหมาย 
               

               3.  ขั้นหลังการอ่าน
                    คำถามหลัก  “หลังจากที่นักเรียนอ่านแล้ว นักเรียนคิดถึงอะไร เพราะเหตุใดจึงคิดเช่นนั้น”
                     คำถามย่อย  เช่น   1.  ประเด็นที่นักเรียนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับผู้เขียนหลังจากที่อ่านเรื่องจบคืออะไร
                                                 2.  มีเนื้อหาหรือข้อมูลตอนใดที่นักเรียนรู้สึกสอดคล้องหรือขัดแย้งกับประสบการณ์เดิมหรือไม่
                                                 3.  สาระสำคัญที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอในเรื่องคืออะไร  เหตุใดนักเรียนจึงคิดว่าผู้เขียนต้องการนำเสนอสารดังกล่าว
                                                 4.  นักเรียนคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดต่อไปหากเรื่องที่อ่านจบลงตามที่ผู้เขียนกำหนด และจะเกิดอะไรต่อไปหากนักเรียนปรับเปลี่ยนเหตุการณ์ตอนใดตอนหนึ่งในเรื่องได้ เหตุใดนักเรียนจึงคิดเช่นนั้น 


                   คำถามที่นำเสนอเป็นตัวอย่างข้างต้น คือ เครื่องมือสำคัญในการวัดประเมินความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจตามสภาพจริง ผู้สอนจะต้องสังเกตพฤติกรรมการตอบคำถามของผู้เรียน  ที่จะต้องตอบคำถามด้วยกล่าวหรือพูดอธิบายความคิดตามประเด็นคำถามก่อน จากนั้นจึงเขียนสรุปความเข้าใจที่เกิดขึ้น เพื่อทบทวนความเข้าใจของตนเอง กิจกรรมการคิดออกเสียงจึงเป็นกิจกรรมการวัดประเมินผลการอ่านที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากผู้เรียนจะไม่ถูกจำกัดด้วยขอบเขตของคำตอบดังกรณีการใช้แบบทดสอบปรนัยแล้ว  ในการคิดออกเสียง  ผู้เรียนยังจะได้ฝึกเชื่อมโยงประสบการณ์ของตนเองกับสิ่งที่อ่านอยู่เสมอ ซึ่งก็จะส่งผลให้เกิดความชัดเจนในความคิด เพราะสามารถที่จะไตร่ตรองข้อมูลและความคิดต่างๆ จากการอ่านของตนเองได้มากยิ่งขึ้น

________________________________________


รายการอ้างอิง

Gunning, T. G. (2002). Assessing and correcting reading and writing difficulties. 2nd ed.   Boston: Allyn & Bacon  
  

หมายเลขบันทึก: 508264เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2012 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท