กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๑๑๑) : โรงเรียนสอนครู


แม้ว่าโรงเรียนเพลินพัฒนาอาจไม่ใช่โรงเรียนที่ดีที่สุด แต่เป็นโรงเรียนสอนครูที่ดีที่สุด...


เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา มีการจัดงาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้”(ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๓ ขึ้น  ก็เป็นความชื่นอกชื่นใจของทุกๆ คนที่ได้เห็นการเติบโตของกันและกัน ในวันนั้นครูแคท - คัทลียา รัตนวงศ์ ได้ทำหน้าที่บันทึกทุกอย่างอยู่ข้างหลังห้อง จึงทำให้ได้เฝ้ามองความสุขของทุกคนได้อย่างทั่วถึง


กิจกรรมได้ดำเนินมาจนถึงกิจกรรมสุดท้าย  ถึงเวลาที่จะต้องบอกความรู้สึกของผู้เข้าร่วม รวมทั้งสิ่งที่ได้เรียนรู้  มีถ้อยคำประทับใจเกิดขึ้นมากมาย  ในตอนท้ายสุดคุณครูใหม่ให้ครูใหม่(ครูที่ใหม่สำหรับที่นี่) ได้มีโอกาสได้ลุกขึ้นพูดทีละคน


ได้ยินคำชื่นชมในความเป็นครูแบบเพลินที่ต่างจากครูที่อื่นๆ ที่เคยเห็น  และบอกกล่าวถึงความรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ร่วมงานกับครูที่นี่ ดีใจที่จะได้เป็นครูที่นี่ และบอกว่าจะตั้งใจทำงานอย่างที่สุดเช่นกัน  บางคนพูดถึงความไม่มั่นใจว่าจะทำได้ดีแค่ไหน  แต่ก็จะพยายามให้ดีที่สุด


ในตอนนั้น  แอบตอบน้องในใจว่า ไม่ต้องกลัวหรอกว่าจะไม่โต เพราะที่นี่ดินดี ปลูกอะไรก็ขึ้น”


ทำให้นึกถึงตัวเองตอนที่เข้ามาที่นี่ใหม่ๆ  ความตื่นเต้น  ความตั้งใจ หรือที่ใคร ๆ เรียกว่าไฟ  มันกำลังลุกโชน อะไรๆ ก็น่าเรียนรู้ไปหมด เมื่อรวมเข้ากับ ความอยากเป็นครู ที่พกมาเต็มกระเป๋าทำให้ที่นี่เป็นที่เรียนรู้ที่สนุกสนานเพลิดเพลินจนลืมเวลาเลยที่เดียว (เข้าปีที่ ๗ แล้วสินะ)


ดินดี  ปลูกอะไรก็ขึ้น


(ไม่ขอพูดถึงเมล็ด เพราะแต่ละคนมีเมล็ดที่แตกต่างกัน แต่เชื่อแน่ว่า เอามาปลูกที่นี่ ได้งอกงามและเติบโตตามศักยภาพของตัวเองแน่) 


ที่นี่มีความเมตตาเป็นฮิวมัส  ความเมตตาที่มีต่อโลกและเพื่อนมนุษย์ของพี่ๆ ที่นี่ช่วยทำให้เรารู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย  เพราะพี่ๆ ที่นี่มองน้องใหม่เป็นนักเรียนคนหนึ่ง  ที่สามารถเรียนรู้ได้  เปลี่ยนแปลงได้  และแน่นอนว่าสายตาและโอกาสที่ทุกคนได้รับนี้จะทำให้เรามองนักเรียนที่เราดูแลแบบนั้นเช่นเดียวกัน


ตอนที่เข้ามาที่นี่ใหม่ ๆ ในฐานะครูช่วงชั้นที่ ๔  ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีเด็กให้สอน เพราะกำลังจะเปิดในปีถัดไป  งานที่ทำในช่วงแรกๆ จึงเป็นงานเพื่อเตรียมการเตรียมหลักสูตร  เตรียมแผน  ฯลฯ  และเตรียมที่จะเป็นครู  เพราะตัวเองไม่ได้เรียนครูมาจึงค่อนข้างกังวลในเรื่องนี้  ดังนั้นเมื่อคิดจะเข้าใจสร้างความในเรื่องใดก็ต้องได้เข้าไปลงมือทำ  เมื่อไปช่วยพี่ๆ ทำงานภาคสนามของนักเรียนชั้น ๙ พี่ๆ ก็น่ารัก สอนให้ทุกอย่าง ในขณะเดียวกันเราก็ถามทุกอย่างด้วย  และที่สำคัญได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้งานกับคุณครูจันทร์ - สุขจันทร์ สุขประกอบ ในส่วนงานการศึกษาพิเศษ  และคุณครูจันทร์ก็แสดงความเป็นครูผู้มีจิตวิญญาณให้เห็น รวมถึงเป็นให้ดู


และจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ครูจันทร์ได้ถ่ายทอดจิตวิญญาณความเป็นครูให้  ความเมตตาที่มีต่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษเหล่านั้นของครูจันทร์  ทำให้เรามีความรู้สึกพิเศษ ๆ กับเด็กกลุ่มนี้  และจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวเช่นนั้นอีก  ที่ทำให้ครูแคทมองเด็กทุกคนมีความพิเศษ(วิเศษ) อยู่ในตัวทุกคน  ขึ้นอยู่กับว่าวันนั้นเราจะมองเห็นความวิเศษของเขาหรือไม่


เพลินพัฒนามีกระบวนการสร้างครูในหลายรูปแบบ

มีจิตตปัญญา  ที่เป็นเหมือนผ้าเช็ดแว่นที่ทำให้มองเห็นความวิเศษในตัวเด็ก ๆ ได้ และที่พิเศษไปกว่านั้น ทำให้เรามองเห็นความวิเศษของเพื่อนร่วมงานและเพื่อนร่วมโลกได้ชัดเจน และบ่อยขึ้น 


มี KM ที่เป็นทางลัดที่จะช่วยให้ไม่ต้องลองผิดลองถูกนานจนเกินไป  เพราะมีเพื่อนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกัน 


แล้วก็มี Lesson study  เป็นหลักสูตรพัฒนาวิชาชีพครูระยะสั้น ที่ได้ผลจริง


ครูแคทขอยืนยันจากประสบการณ์ของตัวเองว่า หากใครสักคนที่พกความฝันและเมล็ดพันธุ์ของความเป็นครูเอาไว้ในหัวใจ  เพลินพัฒนา...คือคำตอบ


แม้ว่าโรงเรียนเพลินพัฒนาอาจไม่ใช่โรงเรียนที่ดีที่สุด  แต่เป็นโรงเรียนสอนครูที่ดีที่สุด...


หมายเลขบันทึก: 508261เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2012 14:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 13:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท