ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 48. เรียนแก้ปัญหา (6) กรณีศึกษา


ทักษะในการแก้ปัญหาเป็นทักษะสำคัญที่ทุกคนต้องฝึก วงการศึกษากล่าวถึงเรื่องนี้มาตลอด แต่ไม่ค่อยมีวิธีการดำเนินการให้ นศ. ได้ฝึกอย่างเป็นระบบ บันทึกต่อไปนี้จะช่วยให้การเรียนแก้ปัญหาเป็นระบบมากขึ้น โดยที่ครูต้องตระหนักว่า คำว่า “ปัญหา” มีความหมายกว้างและหลากหลาย แตกต่างกันตามรายวิชา และตามบริบทในชีวิตจริง เช่น ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ก็มีธรรมชาติแบบหนึ่ง ปัญหาด้านสังคม ก็มีธรรมชาติอย่างหนึ่ง คือเรานึกถึงปัญหาความยากจน ความรุนแรง ความอยุติธรรม หรือการแบ่งแยก ในบางกรณีปัญหามีความชัดเจน และมีคำตอบถูก-ผิดชัดเจน แต่ส่วนใหญ่คำตอบไม่ชัดเจน ไม่มีคำตอบเดียว และไม่มีถูก-ผิด ขาว-ดำ

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 48. เรียนแก้ปัญหา  (6) กรณีศึกษา

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๔๘นี้ ได้จาก Chapter 15  ชื่อ Problem Solving  และเป็นเรื่องของ SET 28 : Case Studies

บทที่ ๑๕ ว่าด้วยเรื่องการแก้ปัญหา  ประกอบด้วย ๖ เทคนิค  คือ SET 23 – 28  จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค  เทคนิคเหล่านี้ ช่วยให้ นศ. ฝึกเรียนรู้ด้วยการแก้ปัญหา  บันทึกนี้เป็นตอนสุดท้ายของบทเรียนแก้ปัญหา

ทักษะในการแก้ปัญหาเป็นทักษะสำคัญที่ทุกคนต้องฝึก  วงการศึกษากล่าวถึงเรื่องนี้มาตลอด แต่ไม่ค่อยมีวิธีการดำเนินการให้ นศ. ได้ฝึกอย่างเป็นระบบ  บันทึกต่อไปนี้จะช่วยให้การเรียนแก้ปัญหาเป็นระบบมากขึ้น  โดยที่ครูต้องตระหนักว่า คำว่า “ปัญหา” มีความหมายกว้างและหลากหลาย  แตกต่างกันตามรายวิชา และตามบริบทในชีวิตจริง   เช่น ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ก็มีธรรมชาติแบบหนึ่ง  ปัญหาด้านสังคม ก็มีธรรมชาติอย่างหนึ่ง คือเรานึกถึงปัญหาความยากจน ความรุนแรง ความอยุติธรรม หรือการแบ่งแยก  ในบางกรณีปัญหามีความชัดเจน และมีคำตอบถูก-ผิดชัดเจน  แต่ส่วนใหญ่คำตอบไม่ชัดเจน ไม่มีคำตอบเดียว  และไม่มีถูก-ผิด ขาว-ดำ  

SET 28  : Case Studies

จุดเน้น  :  ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :  การอ่าน การเขียน

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

การเรียนด้วยกรณีศึกษาเป็นการฝึกวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งต่อสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง หรือชุดเหตุการณ์ในช่วงเวลาหนึ่ง  เป็นเทคนิคที่ดีที่สุดสำหรับให้ นศ. มีส่วนร่วมในการฝึกแก้ปัญหา และการทำงานเป็นทีม  มีการใช้ในหลากหลายสาขาวิชา ได้แก่ การแพททย์  กฎหมาย  ธุรกิจ  และในที่สุดเข้าสู่สาขาวิชามนุษยศาสตร์

การเรียนด้วยกรณีศึกษาที่ดี ทำให้ นศ. ได้ฝึกฝนทักษะด้านการวิเคราะห์ แก้ปัญหา การตัดสินใจ และการหาเหตุผลประกอบการตัดสินใจ  เป็นการเรียนแบบ active learning ในสภาพจริงของโลก หรือชีวิตจริง

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูรวบรวมกรณีตัวอย่างจากแหล่งต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร อินเทอร์เน็ต ประสบการณ์ของตนเอง วารสารวิชาการ ฯลฯ  เป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ และมีปัญหาที่ท้าทายการทำความเข้าใจ  ตามสาขาวิชาที่ นศ. กำลังเรียน

2.  นำมาเขียนกรณีศึกษา พร้อมทั้งระบุคำถามเป็นระยะๆ  ดังตัวอย่าง

-  ปัญหาคืออะไร

-  ปัญหานี้น่าจะมาจากสาเหตุอะไรบ้าง

-  มีหลักฐานอะไรบ้าง สำหรับนำมาสนับสนุนสมมติฐาน

-  ข้อสรุปควรเป็นอย่างไร

-  มีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง

3.  กำหนดว่าจะให้รายงานผลงานกลุ่มอย่างไร  เป็นข้อเขียน หรือรายงานปากเปล่า 

4.  แบ่ง นศ. เป็นทีม ๔ - ๖ คน  แจกใบปัญหา  ให้เวลา นศ. อ่าน และซักถามปัญหาจากครู

5.  นศ. ศึกษากรณีปัญหา  ดึงข้อมูลความจริงออกมา  และหาประเด็นปัญหา  ทบทวนทำความเข้าใจเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของตน  โดยอาจมีกิจกรรมต่อเนื่องในหลายคาบเรียน  เพื่อให้ นศ. เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา

6.  จบลงด้วยการนำเสนอและอภิปรายในชั้นเรียน  โดยครูคอยตั้งคำถาม ให้ นศ. คิด  ให้เกิดมุมมองที่หลากหลาย  และเกิดความเข้าใจประเด็นสำคัญ  โดยพึงหลีกเลี่ยงการมีคำตอบถูก-ผิดคำตอบเดียว  

ตัวอย่าง

วิชาภูมิศาสตร์กายภาพ

เป็นวิชาการศึกษาทั่วไป  ครูต้องการดึงดูดความสนใจของ นศ.  โดยให้ทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของคุณสมบัติของแร่ธาตุ ต่อชีวิตประจำวัน และต่อการเกิดอันตราย  หัวข้อแรกของวิชาคือเรื่องแร่ธาตุ  และเมื่อจะจบตอนครูนำเอากรณีการฟ้องร้องในศาลที่เป็นเรื่องจริง มาเป็นกรณีศึกษา  โดยกรณีศึกษามีชื่อว่า “ความรับผิดชอบของใคร  : แอสเบสทอสที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปอดของเธอ มาจากไหน” 

ครูรู้ว่า นศ. รู้ดีว่า แอสเบสทอส เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  แต่ไม่มีความรู้ชัดเจนว่าคำว่า แอสเบสทอส มีความหมายกว้าง รวมทั้งส่วนที่มีคุณ และส่วนที่มีโทษ  จึงจัดกรณีศึกษา คดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากพิษแอสเบสทอสต่อสุขภาพบุคคล  และให้ นศ. ฝึกประยุกต์ความรู้ที่ได้เรียนมา ในกรณีคดีความนี้   และจบลงด้วยการอภิปรายทั้งชั้นว่า หากยกเลิกการใช้แอสเบสทอสทั้งหมด  จะเกิดผลดีและผลเสียต่อมนุษย์อย่างไรบ้าง   

การขยายวิธีการหรือประโยชน์

·  แทนที่จะใช้เรื่องราวจากข้อเขียน ใช้ส่วนหนึ่งภาพยนตร์ (หรือจาก YouTube) แทน  หรือให้ นศ. เล่น role play ก็ได้   

·  ร่วมกับนักวิชาชีพในสาขาวิชานั้น  หรือสมาชิกของชุมชนท้องถิ่น  ในการกำหนดเรื่องราวในกรณีศึกษา  และเชิญ ท่านผู้นั้นมาร่วมอภิปรายในตอนจบกิจกรรม  หลังจาก นศ. ได้วิเคราะห์และสรุปการเรียนรู้แล้ว

·  จัดกิจกรรมศึกษาเปรียนเทียบระหว่าง ๒ กรณีศึกษา 

·  หลังจากจบกิจกรรม  ให้ นศ. ลองเปลี่ยนฉากสถานการณ์บางส่วน  และทำนายว่าผลจะเปลี่ยนไปอย่างไร

คำแนะนำ

ให้เขียนเรื่องราวในกรณีศึกษาอย่างสั้นกระชับ  ให้ข้อมูลเท่าที่จำเป็นเพื่อการฝึกฝนเรียนรู้  แม้ว่าการให้รายละเอียดจะทำให้เรื่องราวดูสมจริง  แต่อาจจะเพิ่มความซับซ้อนเกินกำลัง นศ.  ทำให้ นศ. ท้อถอยเบื่อหน่าย  หลักการ ทำให้ความยากง่ายอยู่ในระดับพอดี  ให้มีดุลยภาพระหว่างความท้ทาย และความภูมิใจในผลสำเร็จ ใช้ได้เสมอ

กรณีตัวอย่างที่ดี มีลักษณะดังต่อไปนี้

-  เป็นเรื่องจริง

-  น่าสนใจต่อ นศ. ทั้งชั้น

-  มีตัวละครมาก  เปิดโอกาสให้ได้วิเคราะห์แรงจูงใจที่แตกต่างกัน

-  ส่งเสริมความเข้าใจ (เข้าไปนั่งในหัวใจ) ของตัวละครแต่ละตัว

-  ซับซ้อนเพียงพอที่จะตั้งปัญหา และถกเถียงแนวทางหลากหลายแนว

-  ง่ายพอ ที่จะป้องกันไม่ให้ นศ. “หลงป่า” แห่งรายละเอียด

-  ไม่มีคำตอบเดียว

-  ส่งเสริมให้ นศ. คิด และเสนอจุดยืนของตนเอง

-  ต้องการการตัดสินใจ

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Berkley EF, Cross KP, Major CH. (2005). Collaborative learning techniques : A handbook for college faculty. San Francisco : Jossey Bass, pp.182-187. 

วิจารณ์ พานิช

๑๐ พ.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 508225เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2012 08:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท