เล่าสู่กันฟัง -- ว่าด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยออกความ ตาม มาตรา 17 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง 2522


https://www.facebook.com/notes/bongkot-napaumporn/เล่าสู่กันฟัง-ว่าด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยออกความ-ตาม-มาตรา-17-พรบคนเข้าเมือง-252/536567356368890

ด้วยความอยากรู้อยากเห็นเป็นการส่วนตัว ประกอบกับมีการจุดประกายประเด็นเรื่องสิทธิอาศัยและสิทธิเข้าเมืองจากเคสที่มีปัญหาสถานะบุคคลเคสหนึ่งที่ได้ยินมา เลยทำให้ข้าพเจ้ามีความสงสัยเป็นอย่างยิ่งจนไม่อาจห้ามใจได้ไหว ข้าพเจ้าจึงอุทิศเวลาช่วงเย็นวันนี้ให้กับการนั่งค้นนั่งอ่านพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง รวมไปถึงประกาศกระทรวงมหาดไทยที่ออกความตามบทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “มาตรา 17” ที่หลายๆ คนที่ทำงานด้านสถานะบุคคลจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี

 

ค้นไปอ่านไปก็พบว่า.. มีการออกประกาศ ตามมาตรา 17 ซึ่งอนุญาตให้คนต่างด้าวทั้งที่เข้าเมืองถูกกฎหมายและที่เข้าเมืองผิดกฎหมายสามารถมีสิทธิอาศัยในประเทศไทยได้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2540 (ว่าตามเอกสารที่เก่าที่สุดที่ค้นเจอ) และที่น่าสนใจกว่า คือ ปรากฏหลากหลายเหตุผลที่ทำให้ประเทศไทยต้องยอมรับให้คนต่างด้าวเหล่านี้อาศัยอยู่ในประเทศไทย

 

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2540 เริ่มต้นด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ แต่มิใช่ดังเช่นสถานการณ์ของการเข้ามาของแรงงานไร้ทักษะหรือกึ่งไร้ทักษะเช่นในปัจจุบัน แต่เป็นสถานการณ์ของนักลงทุนหรือผู้ประกอบกิจการที่เป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยมิได้ขออนุญาต หรือ พวกที่ ‘โดดวี’ (Overstay) แต่การอยู่ของคนเหล่านี้มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งในประกาศฉบับนี้ให้เหตุผลไว้น่าฟังว่า..

 

"เนื่องจากปรากฏว่ามีคนต่างด้าวบางกลุ่มซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายคนเข้าเมือง และได้อาศัยสถานภาพทางเศรษฐกิจเป็นช่องทางทำให้ได้อยู่ในราชอาณาจักรไทยต่อไป ดั้งนั้น เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่กระทำการอันเป็นประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ จึงควรกำหนดให้คนต่างด้าวดังกล่าวซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรแล้วและมีความประสงค์ที่จะอยู่ในราชอาณาจักรต่อไป มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ"

 

ส่วนเหตุผลทางเศรษฐกิจต่อๆ มา แน่นอนว่าต้องเป็นสถานการณ์ของแรงงานไร้ทักษะหรือกึ่งไร้ทักษะที่มาจาก 3 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว และพม่า ซึ่งเป็นสถานการณ์เด่นมีประกาศกระทรวงมหาดไทยออกมาหลายฉบับ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 – 2555 (ในปัจจุบัน)

 

ต่อมาที่เห็นก็จะเป็นเหตุผลทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น

  • การอนุญาตให้คนต่างด้าวและครอบครัวชาวไต้หวันเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ณ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป เมื่อปี พ.ศ.2543
  • การอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ได้รับบัตรเอกสิทธิ์พิเศษ (Thailand Elite) เข้ามาอยู่ในประเทศไทยและยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายคนเข้าเมืองบางประการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา
  • การยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่คนชิลีที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา ซึ่งปฏิบัติตามหลักต่างตอบแทนที่ประเทศชิลีก็ทำเช่นนั้นกับคนไทยที่เข้าไปท่องเที่ยวในประเทศชิลีเช่นกัน

 

และสุดท้ายที่พอจะวิเคราะหืได้ก็น่าจะเป็นเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม (ซึ่งข้าพเจ้าว่ามันก็คือเหตุผลทางด้านสิทธิมนุษยชนนั่นแหละ) อันได้แก่

  • การอนุญาตให้บุคคลในความห่วงใยสัญชาติพม่าของ UNHCR เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ณ บริเวณพื้นที่พักพิงตามชายแดน ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา
  • การอนุญาตให้ผู้เสียหายจากการกระทำผิดฐานค้ามนุษย์มีสิทธิอาศัยในประเทศไทยและยังสามารถทำงานตามที่กำหนดได้ ตราบเท่าที่จะพ้นสภาพการให้ความช่วยเหลือของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หรือตราบเท่าที่ต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแล้ว
หมายเลขบันทึก: 503947เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2012 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2013 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท