ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 8. จากทฤษฎีสู่ปฏิบัติ (๓) เน้นใช้แรงจูงใจ


แรงจูงใจให้ทำสิ่งใดจะเกิดขึ้นเมื่อ (๑) นศ. เชื่อว่าตนจะทำสำเร็จ (๒) สิ่งที่ทำนั้นมีคุณค่าต่อตน

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 8. จากทฤษฎีสู่ปฏิบัติ  (๓) เน้นใช้แรงจูงใจ

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๘ นี้ ได้จากบทที่ ๖ ชื่อ From Theory to Practice Teachers Talk About Student Engagement  

ในบทจากทฤษฎีสู่ปฏิบัติ มีกรณีตัวอย่างจากครูรวม ๗ คน หรือ ๗ แบบ   ในบันทึกตอนที่ ๖ และ ๗ ได้เล่าเทคนิกการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ไปแล้ว ๓ แบบ    บันทึกตอนที่ ๘ นี้จะว่าด้วยการสร้าง student engagement ด้วยแรงจูงใจ ของครู ๒ คน ที่ใช้วิธีการแตกต่างกันมาก คือครู Nicole Gray ผู้สอนคณิตศาสตร์   และครู Dolores Davison ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์

ได้กล่าวแล้วใน ตอนที่ ๒ ว่าผู้เขียนหนังสือ Student Engagement Techniques มีสมมติฐานว่า student engagement เกิดจากปัจจัยหลัก ๒ อย่าง คือ motivation กับ active learning   ในบันทึกนี้ จะกล่าวถึงภาคปฏิบัติในการใช้แรงจูงใจเป็นตัวนำในการดึงความสนใจให้ศิษย์จดจ่อกับการเรียน   โดยยกกรณีของครูนิโคล

แรงจูงใจให้ทำสิ่งใดจะเกิดขึ้นเมื่อ (๑) นศ. เชื่อว่าตนจะทำสำเร็จ  (๒) สิ่งที่ทำนั้นมีคุณค่าต่อตน 

 

วิธีสร้างแรงจูงใจให้ไม่กลัววิชาคณิตศาสตร์ แนวทางของครู นิโคล

ศ. Nicole Gray สอนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน และสอน นศ. ที่อ่อนคณิตศาสตร์    ดังนั้น เหล่า นศ. จะลงทะเบียนเรียนด้วยความประหวั่นพรั่นพรึง   ว่าตนจะไม่สามารถสอบผ่านวิชานี้   ส่วนหนึ่งของความหวาดกลัวมาจากเสียงเล่าลือ ถึงความยากของคณิตศาสตร์    ดังนั้นจึงมี นศ. จำนวนหนึ่งที่ “ใจแพ้ตั้งแต่ยกแรก” คือเข้าชั้นเรียนด้วยจิตที่ติดลบ ด้านความมั่นใจตนเอง    ครูนิโคลจึงตั้งใจทำหน้าที่ ๒ อย่างคู่กัน คือเป็นนักจิตวิทยา แก้ไขโรคกลัวคณิตศาสตร์  กับเป็นโค้ชช่วยให้ศิษย์เรียนคณิตศาสตร์สนุก 

ศ. นิโคล ใช้เครื่องมือสร้างแรงจูงใจในตัวศิษย์ ๓ อย่าง คือ

ชั่วโมงปลุกใจ

นี่คือชั่วโมงแรกของชั้นเรียน    ครูนิโคลใช้บอกนักเรียนว่าเสียงเล่าลือว่าวิชาคณิตศาสตร์เรียนยากมาจากความเข้าใจผิดๆ ของผู้ใหญ่   และที่ตัว นศ. เองเรียนผ่านวิชาคณิตศาสตร์ในระดับการศึกษาพื้นฐานมาอย่างไม่สนุกก็เพราะครูที่สอน ไม่ได้เรียนวิชาคณิตศาสตร์มาโดยตรง   และไม่มีความรักในวิชาคณิตศาสตร์อย่างแท้จริง เหมือนอย่างครูนิโคล

ครูนิโคลจะใช้สารพัดถ้อยคำและตัวอย่าง เพื่อปลุกใจให้ นศ. มั่นใจว่า (๑) การเรียนและสอบผ่านวิชานี้ ไม่ยากหากพยายาม   (๒) วิชาคณิตศาสตร์มีคุณค่าสูงส่งต่อชีวิตในอนาคตของ นศ.  

 

โปรแกรม Math My Way

นี่คือการออกแบบรายวิชาออกเป็น ๑๐ โมดูลการเรียนรู้   เพื่อช่วยให้การเรียนมีความยืดหยุ่นตามความเหมาะสมแก่ นศ. แต่ละคน   และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในระดับ mastery คือรู้จริง รู้ลึก    รวมทั้งตั้งชื่อให้รู้สึกไม่รังเกียจการเรียนวิชานี้ด้วย  

หัวใจของโครงการ MMW คือ   แต่ละโมดูล มีแบบฝึกหัดในคอมพิวเตอร์   และมีการบ้านให้แต่ละคน    นศ. ต้องทำแบบฝึกหัดทั้งหมด    และต้องเรียนให้ผ่านโมดูลแรก โดยสอบได้คะแนนร้อยละ ๘๗ ขึ้นไปเสียก่อน จึงจะก้าวไปเรียนโมดูลถัดไป   เป็นกลไกช่วยให้ฐานแน่น และแก้ไขความเข้าใจผิดๆ เสียก่อน   เพราะครูนิโคลสังเกตว่าอุปสรรคสำคัญในการเรียนคณิตศาสตร์คือ นศ. มีความเข้าใจผิดๆ เป็นพื้นฐาน

ครูนิโคลบอกว่าโปรแกรมนี้เพิ่งเริ่ม และยังไม่มีผลการวิจัยประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรม   แต่จากการสังเกตขั้นตอนการเรียน มี นศ. ได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน 

ลักษณะของชั้นเรียนคณิตศาสตร์ของครูนิโคล จึง “สับสนวุ่นวายอย่างมีการจัดการ”    คือครูอาจจะกำลังอภิปรายทำความเข้าใจประเด็นหนึ่งกับ นศ. กลุ่มเล็กๆ ที่มุมหนึ่งของห้อง   ในขณะที่ นศ. ส่วนใหญ่นั่งทำแบบฝึกหัดเงียบๆ คนเดียว    แต่มี นศ. อีกกลุ่มหนึ่งกำลังแลกเปลี่ยนความเข้าใจกับ TA คนหนึ่ง

ครูนิโคลจะตั้งใจเต็มที่ที่จะให้ นศ. สอบผ่านการสอบของ โมดูลแรก   เพราะเมื่อสอบผ่าน ความมั่นใจในความสำเร็จจะเพิ่มสูงขึ้นมาก

ครูนิโคลมีวิธีต่างๆ นานา ที่ช่วยให้การเรียนคณิตศาสตร์ เป็นเรื่องสนุกสนาน   ไม่น่าเบื่อ

 

ตัวช่วยนอกห้องเรียน ที่เป็นกลไกของ แคมปัส เรียกว่า PTT (Pass the Torch)   

ในแคมป้สของมหาวิทยาลัยของครูนิโคล มีสำนักงานและการจัดการ PTT เพื่อช่วยเหลือ นศ. ที่ต้องการความช่วยเหลือทุกรูปแบบ   และครูนิโคลจะส่งเสริมให้ นศ. ไปใช้บริการ    โดยมหาวิทยาลัยตั้งใจให้ PTT เป็นเสมือน “บ้าน” ที่เป็นที่พึ่งทางใจแก่ นศ. ได้   โดย PTT อาจจัด นศ. อาสา ให้ทำหน้าที่ mentor ให้แก่ นศ. ที่ต้องการ  

 

วิธีสร้างแรงจูงใจโดยการทำให้เห็นคุณค่าของวิชา แนวทางของครู โดโลรีส

ศ. Dolores Davison สอนวิชาประวัติศาสตร์ตะวันตก ซึ่งเป็นวิชาในสาขาวิชาศึกษาทั่วไป เนื้อหามาก และชั้นเรียนใหญ่   ปัญหาสำคัญคือ นศ. ไม่เห็นประโยชน์ว่าเรียนไปทำไม แต่ถูกบังคับให้เรียน

ครู โดโลรีส จึงหาวิธีสร้าง engagement ของ นศ. ที่พื้นความรู้ไม่ดี และไม่เห็นคุณค่าของรายวิชา โดยยึดหลักว่า สิ่งยืนยัน engagement ของ นศ. ได้แก่ แสดงความสนใจ  แสดงความพิศวง  ต้องการทำงานวิจัย  ถามหาเอกสารให้ไปอ่านหรือค้นคว้าเพิ่ม  ร่วมในการอภิปราย  เสนอตัวอย่างที่ตนประสบ  และแสดงท่าทีสนใจการสนทนาในชั้นเรียน  

ครูโดโลรีส มียุทธศาสตร์ในทางปฏิบัติดังต่อไปนี้

 

สร้างความรู้สึกเป็นชุมชน

เบื้องแรกครูโดโลรีส พยายามจำชื่อ นศ. และเรียกชื่อ รวมทั้งให้ความเอาใจใส่เป็นกันเอง   และชักชวนให้ นศ. มาหาครูเพื่อพูดคุยกับครูที่ห้องทำงาน   และครูโดโลรีส จะไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ของ นศ.   

เท่ากับครูโดโลรีส ส่งสัญญาณแก่ นศ. ว่าตนยินดีคุยและช่วยเหลือ นศ.   แค่นี้ก็เกิด student engagement ได้เป็นอย่างดี   ในลักษณะของการมีความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนมนุษย์ต่อกัน

 

ช่วยให้ นศ. เชื่อมโยงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เข้ากับเหตุการณ์ในชีวิตของตน

ตัวอย่างเช่นเมื่อเรียนถึงเหตุการณ์การระบาดของกาฬโรคในช่วงคริสตศตวรรษที่ ๑๔ ก็โยงมาเปรียบเทียบกับการระบาดของ HIV/AIDS ในช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐ ให้เห็นว่าผู้คนในสังคมจะปรับตัว ปรับวิถีชีวิตอย่างไร   ซึ่ง นศ. จะเข้าใจได้ เพราะใกล้ตัว    หรือเมื่อเรียนถึงการทิ้งระเบิด ท่าเรือ เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เปรียบเทียบกับเหตุการณ์ 9/11

 

ส่งเสริมให้เกิดการคิดในระดับที่เรียกว่า higher-order thinking

การคิดในมิติที่สูงขึ้น (higher-order thinking) เกิดจากการตีความ ทำความเข้าใจเชื่อมโยงกับพื้นความรู้เดิมที่มีอยู่แล้ว    วิธีส่งเสริมทำได้หลายทาง  ในชั่วโมงแรกครูโดโลรีส จะมอบหมายให้ นศ. เขียนเรียงความเชิงวิเคราะห์ประวัติส่วนบุคคลของคนในประวิติศาสตร์ที่ตนชื่นชอบ   สำหรับเป็นปฐมฤกษ์ของการคิดในมิติที่สูงขึ้น

แนวทางการให้คะแนนเป็นเครื่องมือชักชวนให้ นศ. ฝึกการคิดในมิติที่สูงขึ้น   โดยครูโดโลรีส จะทำความเข้าใจเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของเทอม    เพื่อให้ นศ. เข้าใจคุณค่าของการเรียนให้เกิดการคิดในมิติที่สูง    เลยไปจากการท่องจำสาระหรือข้อเท็จจริง    และในการทำแบบฝึกหัดหรือการอภิปรายครูจะคอยชมถ้อยคำที่แสดงการคิดในระดับที่สูง   

 

ใช้ภาพการไปเที่ยวสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของครู ช่วยดึงดูดความสนใจ

ครู โดโลรีส ชอบทัศนศึกษา    จึงมีรูปถ่ายของตนเองกับสถานที่สำคัญมากมาย   เมื่อเอามาฉายให้ นศ. ดู ก็เรียกร้องความสนใจได้เป็นอย่างดี    

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ก.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 503390เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2012 03:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2012 03:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท