Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

บทบาทของประเทศกัมพูชากับอาเซียน


ข้อมูลอ้างอิง เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
 

5.ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia)
        

           เมืองหลวงคือ กรุงพนมเปญ เป็นประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทยทางทิศเหนือ และทิศตะวันตก มีพื้นที่ 181,035 ตารางกิโลเมตร หรือขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศไทย มีประชากร 14 ล้านคน (ข้อมูลปี พ.ศ.2550) โดยประชากรกว่า 80% อาศัยอยู่ในชนบท 95% นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาราชการ แต่ก็มีหลายคนที่พูดภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเวียดนามได้


ข้อมูลทั่วไปของประเทศกัมพูชา

ประเทศกัมพูชา หรือชื่อทางการว่า “ราชอาณาจักรกัมพูชา” (Kingdom of Cambodia) มีพรมแดนทางทิศใต้จดกับอ่าวไทย ทางทิศตะวันตกติดกับประเทศไทย ทางทิศเหนือติดกับประเทศไทยและลาว ทางทิศตะวันออกติดกับเวียดนาม มีพื้นที่ 181,035 ตารางกิโลเมตร ประชากรกว่า 14.8 ล้านคน (สำรวจในปี พ.ศ. 2554) มีศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งมีประชากรกัมพูชานับถือประมาณ 95% ชนกลุ่มน้อยในประเทศมีทั้งชาวเวียดนาม ชาวจีน ชาวจาม  และชาวเขากว่า 30 เผ่า ปัจจุบันกัมพูชาแบ่งเขตการปกครองเป็น 20 จังหวัด มีเมืองหลวง คือ พนมเปญ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของกัมพูชา มีภาษาทางการ คือ ภาษาเขมร

กัมพูชาเป็นอดีตประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงประเทศเดียวที่มีการปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ การสืบทอดราชสันตติวงศ์ของกัมพูชาจะขึ้นอยู่กับ “ราชสภาเพื่อราชบัลลังก์” (Royal Council of the Throne) เป็นสภาที่มีบทบาทสูงสุดในการคัดเลือกพระมหากษัตริย์ สภาพทางการเมืองในกัมพูชาปัจจุบันถือว่ามีเสถียรภาพ พรรคการเมือง 2 พรรคหลัก ซึ่งประกอบขึ้นเป็นรัฐบาลกัมพูชา คือ พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของสมเด็จฮุน เซน และพรรคฟุนซินเปค (FUNCINPEC) ของสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ ต่างมีความร่วมมือกันและมีท่าทีสอดคล้องกันในประเด็นทางการเมืองสำคัญๆ ของประเทศ เช่น เรื่องการนำตัวอดีตผู้นำเขมรแดงมาพิพากษาโทษ ส่วนพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาแห่งชาติกัมพูชา คือ พรรคสม รังสี ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลกัมพูชา

ในด้านเศรษฐกิจ กัมพูชามีทรัพยากรสำคัญ คือ ข้าวเจ้า ยางพารา พริกไทย ปลาน้ำจืด โดยมีทะเลสาบเขมร (โตนเลสาบ) เป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค  อีกทั้งยังมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์มากที่สุด แต่หลังจากที่รัฐบาลเปิดให้สัมปทานป่าไม้กับบริษัทเอกชนจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น ส่งผลให้ป่าไม้ในกัมพูชาได้ลดลงอย่างมาก สกุลเงินของประเทศกัมพูชา คือ เรียล

3.1.5.2 การเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน

แม้กัมพูชาได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนและยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 แต่เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในกัมพูชาอย่างรุนแรง ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องทบทวนปัญหาดังกล่าว และเลื่อนการรับกัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกออกไป จนท้ายที่สุดประเทศกัมพูชาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนลำดับที่ 10 เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2542 โดยมีปัจจัยทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นแรงกระตุ้นสำคัญ กล่าวคือ

1)    ปัจจัยทางการเมือง ท่ามกลางสภาวะสงครามกลางเมืองมายาวนานเกือบ 3 ทศวรรษ ได้ทำให้กัมพูชาไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจด้วยตนเอง จึงต้องมีการพึ่งพาองค์กรทางการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) องค์การระหว่างประเทศ และการช่วยเหลือในลักษณะทวิภาคี ทั้งการช่วยเหลือจากญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และไทย ซึ่งการให้ความช่วยเหลือขององค์การระหว่างประเทศและประเทศผู้บริจาคต่อกัมพูชา มีเงื่อนไขที่สอดคล้องกัน คือ ความต้องการเห็นประเทศกัมพูชามีการปฏิรูปการเมือง ระเบียบราชการ การทหาร กฎหมาย เศรษฐกิจ และการจัดระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของประเทศกัมพูชาที่จะต้องเกิดขึ้น ดังนั้น อาเซียนจึงเป็นเวทีหนึ่งที่สะท้อนได้ถึงความพยามยามในการปรับเปลี่ยนในเชิงบวกของกัมพูชา

 

2)        ปัจจัยทางเศรษฐกิจ

2.1) ความต้องการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน การเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน คือ การที่กัมพูชามีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้เกิดการกระตุ้นการพัฒนาของประเทศ ทั้งการค้าและการลงทุน ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ความรู้ ความชำนาญ และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยอาเซียนจะช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อกัมพูชา

         2.2) อาเซียนเป็นองค์กรระดับภูมิภาคและเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ ประกอบกับกัมพูชามีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ในใจกลางอาเซียน และในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า ไทย เวียดนาม และมณฑลยูนนาน ดังนั้น กัมพูชาจะสามารถใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์พร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และประสบการณ์ที่ร่วมงานกับนักลงทุนต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศ

         2.3) อาเซียนเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ และเป็นประตูเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับกัมพูชาในการเปิดออกไปสู่เศรษฐกิจระดับโลก การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนจะทำให้กัมพูชามีโอกาสในการแสดงบทบาทของตนในเวทีระหว่างประเทศและได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากองค์การระหว่างประเทศที่ผูกพันกับอาเซียน

         2.4) ความต้องการใช้เวทีอาเซียนเพื่อการเตรียมพร้อมในเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การในระดับที่ใหญ่ขึ้น เช่น องค์กรการค้าโลก (WTO) องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (APEC) และองค์การศุลกากรโลก (WCO)

         2.5) อาเซียนเป็นเครื่องกระตุ้นการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเข้าร่วมในอาเซียนและเขตการค้าเสรีอาเซียนได้ก่อให้เกิดการเร่งรัดการดำเนินการปฏิรูปและการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชา[1]

3.1.5.2 บทบาทของกัมพูชาในอาเซียน

               ในอดีตที่ผ่านมา กัมพูชา เป็นประเทศที่สร้างความกังวลให้กับอาเซียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางอุดมการณ์และทางการเมืองในกัมพูชาอย่างรุนแรง แต่ภายหลังจากกัมพูชาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนในปี 2542 กัมพูชาได้แสดงสิ่งที่สะท้อนถึงความร่วมมือและผลักดันให้เกิดเสถียรภาพและสันติภาพภายในภูมิภาค เช่น ในปี พ.ศ.2545 ประเทศกัมพูชาได้รับตำแหน่งประธานอาเซียน และเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 4-5 พฤศจิกายน พ.ศ.2545 ณ กรุงพนมเปญ ภายหลังเหตุการณ์ระเบิดที่บาหลีประเทศอินโดนีเซียเพียง 3 สัปดาห์ [2] จึงทำให้เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมที่บาหลี กลายมาเป็นวาระสำคัญในการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ โดยมีผู้นำประเทศต่างๆ ทั้งผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ผู้นำประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และผู้นำจากอินเดีย แอฟริกาใต้ร่วมด้วย รวม 15 ประเทศ มาร่วมประชุมเจรจาจนสำเร็จลุล่วง มีประเด็นหลักคือ ปัญหาการก่อการร้าย ที่หลายประเทศให้ความสำคัญ โดยผู้นำอาเซียนได้ออกปฏิญญาต่อต้านการก่อการร้าย และจะร่วมมือระหว่างกันในการป้องกัน โดยจะดำเนินมาตรการร่วมกันในประเทศสมาชิกและประชาคมโลก ทั้งยังเห็นพ้องให้มีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายประจำภูมิภาค พร้อมทั้งประณามการก่อวินาศกรรมของกลุ่มก่อการร้ายที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และในเมืองซัมบวนกา และเกซอน ของประเทศฟิลิปปินส์[3] ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้แสดงเจตจำนงอย่างเต็มที่ในการให้ความร่วมมือต่อประชาคมนานาชาติในการต่อต้านการก่อการร้ายข้ามชาติ

                     ในปี 2555 ประเทศกัมพูชาได้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนอีกครั้ง และในฐานะประธานอาเซียน ปี 2555 นี้ ประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers’ Meeting (AMM) Retreat) ณ เมืองเสียมราฐ ระหว่างวันที่ 10-11 มกราคม 2555 กัมพูชาได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาในพม่า โดยสนับสนุนให้ยกเลิกมาตรกรรมคว่ำบาตรต่อพม่า หลังจากที่พม่ามีการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตยตามลำดับ รวมถึงสนับสนุนการรับประเทศติมอร์ตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนด้วย และเมื่อถึงวาระที่กัมพูชาจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 20 ประจำปี 2555 ณ กรุงพนมเปญ ในวันที่ 3-4 เมษายน 2555 ซึ่งเป็นปีที่มีการฉลองครบรอบ 45 ปี อาเซียน ผู้นำกัมพูชาได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในการสร้างความเข้มแข็งของกลไกในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาค รวมทั้งป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจโลกในอนาคต และการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างถิ่น โดยถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ประเทศที่ยากจนเช่นพม่า ไปจนถึงสิงคโปร์ที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก และเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างอินโดนีเซีย[4]

 
             อ่านข้อมูลประเทศกัมพูชา ได้ที่นี่
 

[1] สุริชัย หวันแก้ว และคณะฯ. อาเซียน : สิ่งท้าทายใหม่และการปรับตัว. (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 2548). หน้า 238-241.

[2] เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2545

[3] สุริชัย หวันแก้ว และคณะฯ. อาเซียน : สิ่งท้าทายใหม่และการปรับตัว. (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 2548). หน้า 248.

[4] ผู้จัดการออนไลน์. กัมพูชาตั้งเป้าลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างนั่งประธานอาเซียน. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2555 จาก http://manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID

หมายเลขบันทึก: 501049เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2012 13:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2012 13:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ซัวซะไดย

    ดีมากเลยครับ...สำหรับบทความ...ออ กุน

ขอบคุณบทความที่เกี่ยวกับกัมพูชาค่ะ

ขอบคุณมากคับดีสุดๆเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท