การบริหารกิจการนักเรียน


การบริหารกิจการนักเรียน

แนวคิด
                   1. งานกิจการนักเรียนหมายถึงงานที่เกี่ยวกับตัวนักเรียนทั้งหมดยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนในชั้นเรียน
                   2. ขอบข่ายของงานการจัดกิจกรรมนักเรียนครอบคลุมถึงงานกิจการนักเรียนก่อนเข้าโรงเรียน งานบริการนักเรียนระหว่างเรียนงานกิจกรรมนักเรียนและงานบริการสำหรับผู้ที่ออกจากโรงเรียนแล้ว
                   3. การจัดกิจกรรมนักเรียนในระหว่างเรียน อาจทำได้หลายรูปแบบ โดยที่นักเรียนเป็นผู้ดำเนินการภายใต้การดูแลของครู
                   4. กระบวนการในการดำเนินงานการจัดกิจกรรมนักเรียนควรอาศัยกระบวนการในการบริหารมาเป็นแนวปฏิบัติ
                   5. การจัดกิจกรรมนักเรียนจะประสบผลสำเร็จได้ดี ผู้บริหารต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับบทบาทและหน้าที่

ความหมายของกิจการนักเรียน

              นักการศึกษาและนักบริหารการศึกษา ได้ให้ความหมายของคำว่า กิจการนักเรียนไว้หลากหลาย พอสรุปได้ดังนี้

              พนัส  หันนาคินทร์ (2538 : 269) ได้สรุปงานบริหารกิจการนักเรียนออกเป็น 4 อย่าง คือ การจัดกิจกรรมนักเรียน การจัดบริการแนะแนว การักษาระเบียบวินัยของโรงเรียนและการบริการอื่น ๆ ที่จัดให้แก่นักเรียน

              วัลลภา  เทพหัสดิน ณ อยุธยา (21538 : 132) ได้ให้ความหมายที่เน้นด้านกิจกรรมการให้บริการด้านต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการพัฒนาบุคคล การจัดสภาวะแวดล้อม การพัฒนากิจกรรมการให้สวัสดิการ และบริการแก่นักศึกษา งานกิจกรรมนักศึกษานอกจากจะเสริมวัตถุประสงค์ของสถาบันด้วยการสอน การวิจัย การบริการทางวิชาการแก่ชุมชน และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมแล้ว ยังมุ่งเน้นพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เพิ่มเติมจากสิ่งที่การศึกษาในชั้นเรียนไม่สามารถจัดให้ได้

              นงเยาว์  กัลยาลักษณ์ (2541 : 11)  ได้สรุปความหมายของงานกิจการนักเรียนไว้ว่า กิจการนักเรียน หมายถึง การจัดดำเนินงานกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนและเป็นกิจกรรมที่นอกเหนือจากการเรียนการสอนในห้องเรียนซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมีความประพฤติที่ดีงาม มีระเบียบวินัยมีความคิดไตร่ตรองมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์แสวงหาความรู้อยู่เสมอ รู้จักนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์

              วรเวทย์  บุญมา (2541 : 12) ได้กล่าวถึงการบริหารกิจการนักเรียนว่าเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนนอกเหนือจากการเรียนการสอนปกติในชั้นเรียน ขอบข่ายของการบริหารกิจการนักเรียนขึ้นอยู่กับสภาพสังคม ชุมชน ขนาดและระดับของสถานศึกษา รวมทั้งทรัพยากรการบริหารที่มีอยู่ในสถานศึกษาด้วย

              พูนสวัสดิ์  นาคเสน (2544 : 10) ได้ให้ความหมายของการบริหารกิจการนักเรียนไว้ว่า  งานกจิการนักเรียนเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรง นอกเหนือจากการสอนในชั้นตามปกติ เป็นงานที่มุ่งส่งเสริมการเรียนการสอนของนักเรียนของนักเรียนทุกคนให้ก้าวหน้าประสบผลสำเร็จและมุ่งส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนในโรงเรียนให้ดำเนินไปด้วยดี

              สันติ  นิลหมื่นไวย์ (2546 : 9) ได้กล่าวถึงการบริหารกิจการนักเรียนว่า เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรง นอกเหนือจากการสอนในชั้นตามปกติ เป็นงานที่มุ่งส่งเสริมการเรียนการสอนของนักเรียนทุกคนให้มีความก้าวหน้า ประสบผลสำเร็จและมุ่งส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนในโรงเรียน ให้ดำเนินไปด้วยดี อันจะมีผลไปถึงการพัฒนาบุคลิกภาพและความรู้ความสามารถ หรือความถนัดเฉพาะตนของนักเรียนแต่ละคนให้ก้าวหน้าและเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ตัวนักเรียน

              ชาญวิทย์  โสภิตะชา (2546 : 11) ได้ให้ความหมายของงานกิจการนักเรียน หมายถึง งานที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรง นอกเหนือจากการสอนในชั้นตามปกติและมุ่งส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนในโรงเรียนให้ดำเนินไปด้วยดี อันจะมีผลไปถึงการพัฒนาบุคลิกภาพและความรู้ความสามารถหรือความถนัดเฉพาะตนของนักเรียนแต่ละคน ให้ก้าวหน้าและเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ตัวของเขาเองทั้งในขณะที่มีชีวิตในโรงเรียนและเมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปสู่อาชีพการงานอีกด้วย

              จรัญ  ชูชื่น (2547 : 13)  ได้ให้ความหมายการบริหารกิจการนักเรียน หมายถึง การบริหารงานเกี่ยวกับตัวนักเรียน และกิจกรรมนักเรียนทั้งมวลที่ไม่เกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนการสอนใน ห้องเรียน แต่เป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติพัฒนาตนเองตามความรู้ความสามารถ และเต็มศักยภาพของผู้เรียน

              จากความหมายการบริหารกิจการนักเรียนที่กล่าวมาสรุปได้ว่า งานกิจกรรมนักเรียน เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรง นอกเหนือจากการเรียนการสอนตามปกติที่มุ่งส่งเสริมการเรียนการสอนของนักเรียนทุกคน ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีความประพฤติที่ดีงาม มีระเบียบวินัยในตนเอง อันจะส่งผลให้นักเรียนก้าวหน้าและประสบผลสำเร็จในการเรียนและการทำงานเมื่อสำเร็จการศึกษาออกไป

 

ความมุ่งหมายของการบริหารงานกิจการนักเรียน

              งานกิจกรรมนักเรียนเป็นที่มุ่งส่งเสริมเติมเต็มคุณภาพของผู้เรียนนอกเหนือจากการเรียนการสอนตามปกติและเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้นำความรู้ความสามารถที่ได้ไปใช้จริง เป็นการถ่ายโยงการเรียนรู้สู่การปฏิบัติ มีนักการศึกษาหลายท่านได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของการบริหารงานกิจการนักเรียน ดังนี้

              กาญจนา  ศรีกาฬสินธุ์ (2538 : 6) ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการบริหารกิจการนักเรียน ดังนี้

              1.  ส่งเสริมการเรียนและชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนในโรงเรียนให้ดำเนินไปได้ด้วยดีมีความปรกติสุขต่อไป

              2.  พัฒนาบุคลิกภาพ การมีวินัยในตนเอง การปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม

              3.  พัฒนาความสามารถ ความสนใจ และความถนัดเฉพาะของนักเรียนแต่ละคนให้ก้าวหน้าเป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคมให้ได้มากที่สุด

              วัลลภา   เทพหัสดิน ณ อยุธยา (2538 : 32) ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของกิจการนักเรียนไว้ดังนี้

              1.  เพื่อพัฒนาให้นักเรียนนักศึกษามีบุคลิกภาพที่เหมาะสม มีความสัมพันธ์และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น

              2.  เพื่อฝึกให้นักเรียนมีความรับผิดชอบสามารถปกครองตนเองได้

              3.  เพื่อฝึกความคิดและการตัดสินใจของนักเรียนนักศึกษา

              4.  เพื่อพัฒนาสติปัญญาของนักเรียนนักศึกษา

              5.  เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาเพิ่มพูนความรู้ด้านอาชีพในอนาคต และรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

              6.  เพื่อให้นักเรียนนักศึกษารู้จักทักษะทางสังคม เสียสละทำงานให้ส่วนรวม

              7.  เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาพัฒนาลักษณะนิสัยความกตัญญูและความคิดที่ดี

              8.  เพื่อให้นักเรียนนักศึกษามีความสามัคคี

              สันติ  นิลหมื่นไวย์ (2546 : 10) ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการบริหารกิจการนักเรียนไว้ดังนี้

              1.  เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพของนักเรียนนักศึกษา ตามลักษณะอันพึงประสงค์ของตลาดแรงงาน

              2.  ช่วยแก้ปัญหาอันจะเกิดขึ้นแก่นักเรียนนักศึกษา

              3.  ช่วยป้องกันปัญหาอันที่จะเกิดแก่นักเรียนนักศึกษา

              จรัญ  ชูชื่น (2547 : 14) ได้กล่าวไว้ว่า การบริหารงานกิจการนักเรียนมีความมุ่งหมาย ดังนี้

              1.  เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการเรียนการสอนในหลักสูตรให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

              2.  เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้เรียนรู้ตามความถนัดความสนใจและเต็มศักยภาพ เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

              จากความมุ่งหมายของการบริหารกิจการนักเรียนที่กล่าวมาสรุปได้ว่าการบริหารกิจการนักเรียน มีความมุ่งหมาย ดังนี้

              1.  เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความรับผิดชอบและมีวินัยในตนเองและปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม

              2.  เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถ สติปัญญาของนักเรียนให้นักเรียนสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเรียน การประกอบอาชีพการงานในอนาคต

 

ขอบข่ายการบริหารงานกิจการนักเรียน

              งานกิจการนักเรียนมีขอบข่ายการดำเนินงานครอบคลุมกิจกรรมต่าง ๆ ของสถานศึกษาอย่างกว้างขวาง นักการศึกษาหลายท่านได้กำหนดขอบข่ายของกิจการนักเรียนไว้เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านกิจการนักเรียน ดังนี้

              สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู และสถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา (2541 : 64-65) ได้สรุปขอบข่ายของงานกิจการนักเรียน ดังนี้

              1.  กิจกรรมที่สถานศึกษาต้องดำเนินการตาม พระราชบัญญัติประถมศึกษาพุทธศักราช 2523 และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับตัวนักเรียน มีดังนี้

                    1.1  การจัดทำเขตบริการ

                    1.2  การจัดทำสำมะโนนักเรียน

                    1.3  การเกณฑ์และการรับนักเรียนเข้าเรียน

                    1.4  การลงทะเบียนนักเรียน

                    1.5  การแบ่งกลุ่ม แบ่งชั้นเรียน

                    1.6  การปฐมนิเทศผู้ปกครอง

                    1.7  การรายงานเกี่ยวกับนักเรียน

                    1.8  การรักษาระเบียบวินัยของนักเรียน

                    1.9  การย้ายและจำหน่ายนักเรียน

                    1.10  การทำทะเบียนสะสมเก็บหลักฐานและประวัตินักเรียน

                    1.11  การแก้ปัญหานักเรียนขาดเรียน

              2.  กิจกรรมบริหารงานส่งเสริมประสิทธิภาพนักเรียน เป็นงานบริการและช่วยส่งเสริมให้การเรียนของผู้เรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนี้

                    2.1  การบริการด้านสุขภาพ

                    2.2  การบริการอาหารกลางวัน

                    2.3  การบริการแนะแนว

                    2.4  การบริการนักเรียนขาดแคลน

                    2.5  ทุนการศึกษา

              3.  กิจกรรมเสริมหลักสูตร เป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้การเรียนในหลักสูตรมีความสมบูรณ์มากขึ้น พร้อมทั้งยังช่วยให้ผู้เรียนมีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น ได้แก่

                    3.1  กิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย

                    3.2  กิจกรรมเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษา

                    3.3  กิจกรรมการจัดตั้งชุมนุมต่าง ๆ

                    3.4  การจัดทัศนศึกษา

                    3.5 การจัดกีฬา

                    3.6 การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมจริยธรรมนักเรียน

                    3.7  การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมลักษณะนิสัยด้านศิลปะ

                    3.8  การบำเพ็ญประโยชน์ต่อโรงเรียนและชุมชน

              4.  กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับศิษย์เก่า เป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษา ศิษย์เก่า และชุมชน ได้แก่

                    4.1  การติดตามผลนักเรียน

                    4.2  การตั้งสมาคมศิษย์เก่า

                    4.3  การสรรหาและยกย่องคนดีเด่นประจำท้องถิ่นและชุมชน

              วรเวทย์  บุญมา (2541 : 16) ได้สรุปขอบข่ายการบริหารกิจการนักเรียนไว้ 4 ด้าน ดังนี้

              1.  การจัดทำทะเบียนประวัติ

              2.  การปกครองนักเรียนและวินัยในโรงเรียน

              3.  การจัดกิจกรรมต่าง ๆ

              4.  การจัดกิจกรรมนักเรียน

              นงเยาว์  กัลยาลักษณ์ (2541 : 19) ได้สรุปขอบข่ายการบริหารกิจการนักเรียน ไว้ 4 ด้าน ดังนี้

              1.  งานสวัสดิการและบริการ ได้แก่ งานแนะแนว การจัดหาทุนการศึกษา สุขภาพอนามัยและงานความสัมพันธ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการให้บริการที่ฝ่ายกิจการนักเรียนจัดให้

              2.  งานกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม บำเพ็ญประโยชน์ กีฬา นันทนาการ ส่งเสริมวิชาการ และการออกสารสารผู้เรียน

              3.  งานควบคุม ได้แก่ งานระเบียบวินัยนักเรียน นักศึกษา การปกครองควบคุมดูแล

              4.  การบริการทางวิชาการ ได้แก่ การปฐมนิเทศ การปัจฉิมนิเทศ การสอนซ่อมเสริม และการจัดอบรมพิเศษต่าง ๆ ที่ฝ่ายกิจการนักเรียนเป็นผู้ดำเนินการ

              จรัญ  ชูชื่น (2547 : 16) กล่าวไว้ว่า ขอบข่ายงานกิจการนักเรียนมีขอบข่าย ดังนี้

              1.  เป็นกิจกรรมที่จัดให้กับผู้เรียน เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความถนัดความสนใจของผู้เรียน

              2.  เป็นกิจกรรมที่สถานศึกษาจัดให้กับผู้เรียน เพื่อเสริมการเรียนการสอนตามหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

              3.  เป็นกิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียนนอกเวลาเรียน หรือจัดเสริมให้ในเวลาเรียนเพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองตามความถนัด และความสนใจของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองตามความรู้ความสามารถและเต็มตามศักยภาพ

              จากขอบข่ายการบริหารกิจการนักเรียนที่กล่าวมาสรุปได้ว่า ขอบข่ายงานกิจการนักเรียน มีดังนี้

              1.  เป็นงานบริการและส่งเสริมการเรียนของผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพ

              2.  การปกครองนักเรียนให้มีวินัยในตนเองและในโรงเรียน

              3.  เป็นกิจกรรมที่พัฒนาความรู้ความสามารถของนักเรียนตามความถนัดและความสนใจ

              4.  ประโยชน์ของการจัดกิจการนักเรียน

                  สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู และสถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา (2541 : 58) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการจัดกิจการนักเรียนไว้ดังนี้

              1.  ครูสามารถใช้กิจการนักเรียนเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรวมกลุ่มของนักเรียนไปในทางที่ดี ตามความต้องการของสังคม

              2.  นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรงและสามารถนำประสบการณ์เหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

              3.  ช่วยส่งเสริมความเจริญเติบโตของนักเรียนทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา

              4.  ช่วยให้นักเรียนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

              5.  ช่วยฝึกนักเรียนให้รู้จักอยู่ร่วมกันโดยราบรื่นในสังคมประชาธิปไตย

              6.  ช่วยให้นักเรียนรู้จักคิดตัดสินใจอย่างมีเหตุผลและสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้โดยลำพัง

              7.  ช่วยฝึกให้นักเรียนรู้จักร่วมมือกันทำงานในสังคม

              8.  ช่วยฝึกให้นักเรียนมีระเบียบวินัย สามัคคี รักหมู่คณะ

              9.  ช่วยฝึกให้นักเรียนเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี

              10.  ส่งเสริมความสนใจให้เหมาะกับลักษณะความแตกต่างของนักเรียนเป็นรายบุคคล

                  11.  ช่วยลดปัญหาการขาดเรียน เพราะถ้าโรงเรียนมีกิจกรรมที่น่าสนใจนักเรียนจะมีความกระตือรือร้นในการมาโรงเรียนทุกวัน

              12.  ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บริหาร ครูและนักเรียน

              13.  ช่วยสร้างนิสัยที่ดีแก่นักเรียน เช่น กิจกรรมชุมนุมต่าง ๆ กิจกรรมลูกเสือ

              14.  ช่วยเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักสูตรให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

              โกษีย์ วงษ์สุธา (2546 : 15) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของกิจกรรมนักเรียนว่าเป็นกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้นด้วยความร่วมมือของนักเรียน เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์และพัฒนาทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาของนักเรียนเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายและเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสพัฒนาตนเองทางด้านสังคม ด้านระเบียบวินัย แบะความรักในเกียรติคุณชื่อเสียงของโรงเรียนด้วยการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผลที่ได้จากการจัดกิจกรรมช่วยให้นักเรียนรู้จักตนเอง รู้จักผู้อื่น และระเบียบวินัย ซึ่งทำให้คนอยู่ร่วมกัน ทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข

              จากประโยชน์ของการจัดกิจการนักเรียนที่กล่าวมาสรุปได้ว่า ประโยชน์ของการจัดกิจการนักเรียน มีดังนี้

              1.  ครูสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนักเรียนมีระเบียบวินัยในตนเอง สามัคคี รักหมู่คณะ

              2.  ทำให้นักเรียนเกิดประสบการณ์ตรงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ใน ชีวิตประจำวันได้

              3.  ช่วยเสริมสร้างพัฒนานักเรียนทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา

 

วิสัยทัศน์และพันธ์กิจ       

เพื่อให้นักเรียน  มีระเบียบ  คุณธรรม  จริยธรรม  และค่านิยมที่ดีงามเพื่อให้เป็นคนที่มีคุณภาพของสังคมและประเทศชาติสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข 

 

 

 

 

 

ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

1)  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2)

พ.ศ. 2545

2) ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดกิจกรรมของสถานศึกษา  สังกัด

กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2532

 

กระบวนการในการดำเนินงานการจัดกิจกรรมนักเรียน

ในการจัดกิจการนักเรียนได้ดำเนินงานจนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี เพราะข้าพเจ้าได้ใช้กระบวนการในการบริหารมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ กระบวนการในการบริหารงานที่สำคัญๆมีดังต่อไปนี้

            1. การวางแผนงานการจัดกิจการนักเรียน        
            ข้าพเจ้าได้วางนโยบายในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมนักเรียนทั้งหมดไว้ให้ชัดเจน ว่ามีงานด้านใดบ้างที่โรงเรียนจะปฏิบัติในแต่ละปีการศึกษา จะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ การวางแผนงานที่ดีผู้บริหารไม่ควรปฏิบัติตามลำดับการจะจัดตั้งคณะกรรมการโรงเรียนให้เข้ามามีส่วนในการวางแผนด้วย

            2. การจัดบุคคลที่รับผิดชอบในแต่ละกิจกรรม

ข้าพเจ้าได้กำหนดลงไปว่างานแต่ละกิจกรรมหรือแต่ละโครงการนั้นควรจะมอบอำนาจความรับผิดชอบให้แก่ใคร พร้อมทั้งจะต้องกำหนดโครงสร้างอำนาจหน้าที่การแบ่งส่วนงานและการจัดสายงานให้เด่นชัด  เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์และไม่เกิดความซับซ้อน

    3. ควบคุมดูแลการปฏิบัติงาน

หลังจากที่บุคคลที่รับผิดชอบงานได้เริ่มดำเนินกิจกรรมแล้วข้าพเจ้าจะดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การปฏิบัติงาน ดำเนินไปตามแผนการที่วางไว้ ถ้าหากมีสิ่งใดบกพร่องหรือไม่สามารถปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ได้ ข้าพเจ้าก็สั่งการแก้ไขปรับปรุงได้ทันท่วงที

 

 

 

               4. การจัดประสานสัมพันธ์ของหน่วยงาน

ในการจัดกิจการนักเรียนนั้น จะต้องอาศัยหลายๆ หน่วยงานร่วมมือกันทำข้าพเจ้าพยายามใช้ เทคนิควิธีต่างๆ  ทำให้การดำเนินงานทุกหน่วยงานประสานสัมพันธ์กันได้ดี ทั้งนี้เพื่อให้งานดำเนินไปสู่จุดหมายเดียวกัน  ไม่เกิดความซ้ำซ้อน เกิดความขัดแย้ง

              5 . การรายงานผล ข้าพเจ้าได้จัดให้มีการรายงานผลเป็นระยะ เพื่อจะได้ทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานเพื่อที่จะได้มีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทุกระยะการดำเนินการ

             6. การประเมินผลงาน

ข้าพเจ้ามีส่วนร่วมในการประเมินผลงาน และในการประเมินผลงาน ควรประเมินเป็นระยะในระหว่างโครงการกำลังดำเนินอยู่ และประเมินเมื่อสิ้นสุด โครงการอีกครั้ง เพื่อดูว่าได้ผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่เพื่อจะได้นำข้อมูลเหล่านี้มาเป็นแนวทางในการปรับปรุงกิจกรรมต่อไป และวิธีที่ใช้ในการประเมินนั้นควรจะใช้หลายๆวิธี เช่น 

การสังเกต   การออกแบบสอบถาม   การสัมภาษณ์ และการพิจารณาจากผลงาน เป็นต้น

 

บทบา                               บทบาทหน้าที่ของงานกิจการนักเรียน

   

     ง                                                 งานกิจการนักเรียน เป็นกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้น นอกเหนือจากการเรียนการสอนปกติ

 

 

 

เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับตัวนักเรียนและกิจกรรมนักเรียนทั้งหมด เพื่อช่วยพัฒนาทั้งอารมณ์ สังคม และจิตใจ และช่วยส่งเสริมการเรียนการสอนในหลักสูตรให้บรรลุสำเร็จวัตถุประสงค์ของงานกิจการนักเรียน เป็นงานที่มุ่งไปที่นักเรียนโดยตรง เพื่อพัฒนานักเรียนให้เกิดความเจริญงอกงามทุกด้าน สถานศึกษาจึงควรให้การช่วยเหลือทุกวิถีทางที่จะให้บรรลุเป้าหมายตามโอกาสที่นักเรียนควรจะได้รับดังนี้
            1. ส่งเสริมให้นักเรียน เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข
            2. เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นโดยเรียนรู้จากบุคคลอื่น เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เฉพาะการเรียนรู้ในห้องเรียนเท่านั้น
            3. ให้การสนับสนุนทางด้านความคิด และพลังกายที่นักเรียนมีอยู่ให้สามารถใช้ไปในทิศทางที่ถูกต้องและควรจะเป็น
            4. ส่งเสริมให้นักเรียนเจริญงอกงาม เป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย สติปัญญา สังคมและอารมณ์
            5. ส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นเจ้าของ และมีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียน
            6. ส่งเสริมให้นักเรียน ได้เกิดประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่งานอาชีพที่นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน
            7. ส่งเสริมและกระตุ้นให้นักเรียน ได้บูรณาการ การเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้รับ
            8. ส่งเสริมความถนัด ความสนใจ และความสามารถของนักเรียนแต่ละคน
            9. ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูกับนักเรียน
            10. ฝึกประสบการณ์ในการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข มุ่งให้นักเรียนเป็นคนดีของสังคม
            11. ส่งเสริมจรรยามารยาทอันดีงามในสังคม และเทิดทูน
วัฒนธรรมอันดีงามของชาติ
            12. ช่วยประชาสัมพันธ์และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียนและชุมชน

 

หลักการบริหารงานกิจการนักเรียน

การบริหารงานกิจการนักเรียนเป็นการส่งเสริมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆของนักเรียนในการแก้ปัญหาอุปสรรค ต่างๆให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ผู้ที่รับผิดชอบบริหารงานกิจการนักเรียนต้องมีความเข้าใจในภารกิจความรับผิดชอบ และความต้องการของนักเรียน ดังนี้

1. สำรวจความต้องการและปัญหาของนักเรียน เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดกิจกรรมของโรงเรียน

2. พิจารณานโยบายของโรงเรียนว่ามีจุดเน้นที่กิจกรรมประเภทใด

3. สำรวจความเป็นไปได้และความสะดวกในการขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

4. สำรวจความพร้อมและความเข้าใจของครูที่เกี่ยวข้องว่ามีความเข้าใจบทบาทหน้าที่มากน้อยเพียงใด

5. สำรวจแหล่งทุนและงบประมาณที่จะสนับสนุนกิจการนักเรียน

6. จัดบุคลากรให้เหมาะสมกับกิจกรรม เพื่อให้การจัดกิจกรรมเกิดประโยชน์สูงสุด

7. ศึกษากิจกรรม พิจารณาว่ากิจกรรมใดควรปรับปรุงและกิจกรรมใดควรพัฒนาและสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่

8. กิจกรรมใดที่ประสบความสำเร็จยอดเยี่ยม ควรพิมพ์เผยแพร่ กิจกรรมใดที่ไม่ประสบความสำเร็จก็ประเมินไว้เป็นแนวทางในการปรบปรุงต่อไป

9. มีการประชาสัมพันธ์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจต้อการเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น

หน้าที่ความรับผิดชอบงานกิจการนักเรียน

เพื่อให้งานกิจการนักเรียนของโรงเรียนบ้านหนองไม้แก่นและรงเรียนบ้านเนินสาธารณ์ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีจึงกำหนด การปฏิบัติงานดังนี้งานกิจการนักเรียนได้แบ่งการบริหารงานเป็น 3 ฝ่าย ดังนี้

1. ฝ่ายปกครอง ได้จัดให้มีโครงการและกิจกรรมรองรับดังนี้

1.1 โครงการส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน

 ผู้รับผิดชอบ นายสุวิทย์  หนองไผ่

1.2 โครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม

ผู้รับผิดชอบ นายชัยรัตน์  ชาญเชิงค้า

- กิจกรรมบันทึกความดี

- กิจกรรมทางศาสนา

- กิจกรรมการเข้าค่ายคุณธรรม

1.3 โครงการวันอำลา ผู้รับผิดชอบ นายสาโรจน์  เสมาฉิม

1.4 โครงการต่อต้านยาเสพติดในโรงเรียน

ผู้รับผิดชอบ นายชัยรัตน์  ชาญเชิงค้า

2. งานกิจกรรมนักเรียน ได้จัดให้มีโครงการและกิจกรรมรองรับดังนี้

2.1 โครงการกีฬาสีในโรงเรียน ผู้รับผิดชอบ นายสาโรจน์  เสมาฉิม

2.2 โครงการดนตรีเปียโน ผู้รับผิดชอบ นายสาโรจน์  เสมาฉิม

2.3 กิจกรรมดนตรีนาฏศิลป์ ผู้รับผิดชอบ นางสาวจาสุรัต  จินตกสิกรรม

2.4 โครงการวันสำคัญ ผู้รับผิดชอบ นางอำพัน  โพธิยานนท์

2.5 โครงการออมทรัพย์ ผู้รับผิดชอบ นายกิจจา  แสงแก้ว

2.6 โครงการฟื้นฟูศีลธรรม ผู้รับผิดชอบ นางสมทรง  วิเชียรรัตน์

2.7 โครงการธนาคารขยะ ผู้รับผิดชอบ นางถวัลย์  มูลพฤกษ์

2.8 กิจกรรมฮูลาฮูก ผู้รับผิดชอบ นางชนาภา  จินนะ

3. งานบริการและสวัสดิการ ได้จัดให้มีโครงการและกิจกรรมรองรับดังนี้

3.1 โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ผ

หมายเลขบันทึก: 498751เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2012 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 สิงหาคม 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท