ทำอย่างไรถึงจะพูดเก่งๆ (6)


การพัฒนาทักษะการพูด ถ่ายทอดจากประสบการณ์จริงของผู้เขียน

สุ จิ ปุ ลิ หัวใจนักปราชญ์หัวใจสำคัญของการพูดในที่ชุมชน (ต่อ)

 

        คราวที่แล้วผมได้นำเสนอไปในเรื่อง การพัฒนาการพูดในที่ชุมชนของท่านประธานาธิบดี อับบราฮัม ลินคอล์น บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น ประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ด้วยอยากสะท้อนมุมมองให้ท่านเห็นว่า การพูดในในที่ชุมชนหรือการสื่อสารในที่ประชุมก็ดี ถ้าจะให้มีประสิทธิภาพนั้น ต้องอาศัยกระบวนการเบื้องหลังที่มีประสิทธิภาพด้วย คือการฝึกฝนพัฒนาด้วย สุ จิ ปุ ลิ หัวใจนักปราชญ์นั่นเอง ไม่ใช่อะไรๆ ก็ชี้ว่า เขาพูดเก่งเพราะพระเจ้าประทานพรสวรรค์มาให้แต่กำเนิด

       ท่านลองฟังผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเขาพูดเรื่องที่ตัวเองเชี่ยวชาญสิครับ จะเห็นว่าเขาจะสื่อสารได้ดีมาก หรือตัวท่านเองลองสำรวจตัวเองสิครับว่าท่านเก่งเรื่องอะไร ถนัดเรื่องอะไร ศึกษาอะไรมาอย่างลึกซึ้ง ลองเอาเรื่องนั้นมาเป็นหัวข้อในการสื่อความต่อคนรอบข้างสิครับ ผมเอาหัวไอ้เรืองเป็นประกัน..ท่านจะสื่อความได้ดีกว่าเรื่องอื่นๆแน่นอน..ฟันธง !

      วันนี้ผมจะเล่าเรื่องบุคคลอีกท่านหนึ่งซึ่งถือว่าเป็น ฮีโร่ของชีวิตผมเกือบทุกเรื่องเลยทีเดียว คือท่านมหาตมะ  คานธี มหาบุรุษที่ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งอินเดีย.”

       ขอย้อนเล่าความเดิมชีวิตผมตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยนิดหนึ่งครับ ตอนที่เข้าสู่กลุ่มวรรณศิลป์-รามคำแหงปีแรก ทุกๆเย็นเราจะมีการนั่งคุยวิพากษ์-วิจารณ์งานเขียนซึ่งกันและกัน มีการแลกเปลี่ยนหนังสือกันอ่าน พูดคุยกันในเรื่องของวรรณกรรมเพื่อชีวิต ท่านลองจินตนาการดูครับว่าการอยู่ในวงล้อมของศิลปินรุ่นหนุ่มสาว มันจะรุนแรงด้วยกระบวนการวิพากษ์วิจารณ์ของแต่ละชุดความคิดขนาดไหน รุ่นพี่บางท่านนี่แรงซะเอาผมแทบธาตุไฟแตก เช่น อ่านหนังสือสองเล่มเท่านั้นจะมาวิพากษ์วิจารณ์วรรณกรรม ชุมความคิดก็มาจากหนังสือสองเล่มเท่านั้นแหละ หูร้อนฉ่า เส้นทางสายวรรณศิลป์เจอทางตันแล้วตรู..

     และแล้วสองเส้นทางนี้ก็ทำให้ผมเจอภาวะที่สุดสับสนอีกครั้ง..ตอนเริ่มปีสอง

      เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นในตัวเองอย่างรุนแรง อารมณ์ศิลปินในตัวเริ่มเผาตัวตนเป็นไฟสุมขอน หมายถึงมันถูกจุดแล้วไม่มีทางมอดดับง่ายๆ ผมอ่านวรรณกรรมของเฮอมานด์ เฮสเส หลายเรื่องอย่างเช่น สิทธารถะ หรือนาซิซัสแอนด์โกมุน และเรื่องอื่นๆ ผมขบคิดอยู่เป็นเดือนวิถีในตัวละคร มันเข้าไปตีกันไปตีกันมากับความเชื่อตั้งแต่เริ่มเกิดมา ผมเริ่มเดินช้าลง เรียนอย่างไม่มีสมาธิ สับสนดั่งกับตัวละครในหนังสือที่อ่าน

      คิดหนักว่า วิถีที่เรากำลังเดินอยู่มันใช่หรือไม่ จริงๆแล้วเราควรจะเป็นักกฎหมายหรือกลับไปทำเกษตรปลูกข้าว ปลูกอ้อย ปลูกมันที่บ้านนอก นั่งเขียนหนังสือหลีกหนีสังคมเมืองกรุงที่วุ่ยวาย

     รุ่นพี่ๆบางคนก็ยุว่า ถ้าที่บ้านมีไร่นาเหมือนผมคงไม่เรียนเอาปริญญาหรอก กลับไปพลิกฟื้นผืนดิน ปลูกกระท่อมเล็กๆ นั่งเขียนหนังสือถ่ายทอดความคิดตัวเองดีกว่า ส่วนพ่อแม่ที่บ้านก็มองผมในฐานะลูกชายคนโตอย่างใจละห้อย อะไรเปลี่ยนมันได้ขนาดนี้ มันจะเรียนจบไหมนี่

    อาการขัดแย้งในตัวเองอย่างนี้ เป็นอยู่หลายเดือนมากครับ ตอนนั่งเรียนหรืออ่านหนังสือไปสอบ ผมก็สงสัยตัวเองเสมอๆว่า นี่เราจะอ่านไปทำไมว๊ะเนี่ย เรียนจบแล้วมันได้อะไร เดี๋ยวก็ถูกสังคมหลอมให้เดินตามในโลกที่แก่งแย่งแข่งขันกันอีกเหมือนเดิม

    จนวันหนึ่งมีเหตุการณ์ที่เปลี่ยนผมไปทั้งชีวิต ผมขึ้นไปนั่งอ่านหนังสือที่ห้องสมุด ก็ไปค้นหาหนังสือวรรณกรรมเช่นเคย และได้หนังสือเล่มที่มีชื่อว่า “ข้าพเจ้าทดลองความจริง” โดยมหาตมะ คานธี แปลโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาศัย

     ผมนั่งอ่านไปเรื่อย ๆ ช่างสนุกและชวนติดตาม ภาษาเต็มไปด้วยความอ่อนโยน ผมรู้จักท่านมหาตมะ คานธี มาตั้งแต่เรียนมัธยม แต่ไม่เคยรู้จักท่านลึกซึ้งขนาดนี้ เรื่องราวในหนังสือเป็นการบอกเล่าถึงกระบวนการคิดของท่านในเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่ชีวิตในวัยเด็ก จนถึงเหตุการณ์เคลื่อนไหวปลดปล่อยอินเดียในช่วงต่างๆ ด้วยแนวทางอหิงสาและหลักสัตยาเคาะห์

      ยิ่งอ่านผมยิ่งยิ้มให้กับตัวเอง ความขัดแย้งในตัวตนเริ่มคลายออกๆ ผมเจอทางของตัวเองแล้ว ผมปวารณากับตัวเองตั้งแต่วันนั้นว่า ชีวิตนี้ผมจะไม่ทำตัวเป็นนักคิดหรือนักวิจารณ์สังคมอีกแล้ว แต่ผมจะเป็นนักปฏิบัติ การเปลี่ยนแปลงของสังคมไม่อยู่ที่การสะท้อนแนวคิดของตนออกมาเป็นงานเขียนเท่านั้น แต่อยู่ที่การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งลงมือทำงานๆ สร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นดีกว่า

     หลังจากนั้นผมเริ่มศึกษางานเขียนของท่านอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น โลกทั้งผองพี่น้องกัน และอมตะวาจา มหาตมะ คานธี ซึ่งทั้งหมดแปลและเรียบเรียงโดย ท่านอาจารย์กรุณา กุศลาสัย ซึ่งท่านจะเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องอินเดียอยู่มาก เพราะท่านเคยเป็น 1 ในคณะสามเณร 500 รูป ที่เดินจาริกจากประเทศไทยไปอินเดียซึ่ง 1 ในนั้นก็มีหลวงพ่อปัญญานันทะร่วมไปด้วย และท่านก็จำพรรษาศึกษาเล่าเรียนในอินเดียในยุคที่ท่านมหาตมะ คานธีกำลังเคลื่อนไหวปลดปล่อยอินเดียอยู่นั่นเอง

     รายมาเสียยาวแล้วท่านมหาตมะ คานธี สร้างแรงบันดาลใจอะไรในเรื่องการพูดในที่ชุมชนบ้าง ?

    ท่านเป็นเด็กหนุ่มที่เกิดในวรรณะแพทย์ หรือว่าง่ายๆคือวรรณะสามัญชนปกติ ในครอบครัวที่คุณแม่เคร่งศาสนามาก ผมคิดว่า คำพูดที่อ่อนโยนลึกซึ้งเวลาปราศัยต่อชาวอินเดียนี่ น่าจะมาจากคำสอนของคนแม่ท่านนี่หล่ะ ท่านเป็นคนขี้อายมาตั้งแต่เด็ก และแต่งงานตั้งแต่อายุ 13 ปี หลายท่านอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมคนอินเดียสมัยท่านจึงมีการแต่งงานกันตั้งแต่เด็ก เพราะสืบเนื่องมาตั้งแต่ในยุคราชวงศ์โมกุล ซึ่งเป็นราชวงศ์สายอิสลามมองโกล-ตุรกี เข้ามาปกครอง ได้มีความพยายามรวมประเทศด้วยการบังคับผู้หญิงแต่งงานกับคนมุสลิม คนอินเดียสมัยนั้นจึงมีการแก้ไขด้วยวิธีการ ให้เด็กๆแต่งงานกันในหมู่ของคนฮินดูด้วยกันเอง

    ท่านเรียนจบเนติบัณฑิตอังกฤษ และประกอบอาชีพในอินเดียไม่ได้เพราะขี้อายและรูปร่างหน้าตาไม่สมาร์ทเลยต้องไปทำงานที่ประเทศแอฟริกาใต้ตอนอายุ 24 ปี และไปเจอการเหยียดผิวอย่างรุนแรงในแอฟริกาใต้ โดยถูกตำรวจบังคับให้ท่านไปนั่งรถไฟชั้นสาม ซึ่งท่านไม่ยอมเพราะซื้อตั๋วชั้นหนึ่ง เลยถูกจับโยนลงรถไฟ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของคนขี้อายที่เวลาพูด ทุกคนในโลกต้องฟัง ในเวลาต่อมา

    ผมวิเคราะห์การพัฒนาทักษะการพูดของท่านมหาตมะ คานธี เป็น 2 ประเด็น ดังนี้ครับ

    1.นักพูดที่ดีต้องมีแรงบันดาลใจที่ดี จิตส่วนลึกของนักพูดต้องมีฝังอุดมการณ์เพื่อผู้อื่นไม่ใช่การพูดเพื่อตัวเอง ฟังดูอาจจะเหมือนนามธรรม บางท่านอาจจะถามย้อนกลับมาว่า อุดมการณ์กินได้หรือเปล่า ผมตอบว่า กินได้สิครับ เพราะใครที่พูดเยอะต้องรับผิดชอบคำพูดตัวเองเยอะ คนเขาไม่ได้เชื่อที่คำพูดเราน่ะครับ สิ่งที่เขาเชื่อนั้นมาจากการปฏิบัติตามคำพูดของเรานั่นเอง

       แรงบันดาลใจท่านมาจากอะไรครับ มาจากท่านเองถูกโยนลงจากรถไฟ หญิงอินเดียในแฟริกาต้องเปลื้องผ้าให้ตำรวจตรวจรอยตำหนิเพื่อทำทะเบียนสัญชาติ ชาวอินเดียที่ชุมนุมในแค้วนโอริสสาถูกยิงตายกว่าพันคน และการกดขี่สาระพัดของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ท่านมีแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่เพื่อปลดปล่อยคนอินเดียทั้งมวล

       ดังนั้น ท่านพลังวาทะของท่านจึงมีพลังงานที่สะกดและตรึงผู้คนให้คล้อยตามได้ดี เพราะผู้ฟังรู้สึกว่าท่านไม่ได้พูดเพื่อตัวเอง ผมเองก็คิดเช่นนั้นมาตั้งแต่ตอนเริ่มอยู่ในเวทีมาตั้งแต่อายุ 13 ปีแล้วครับ เจอการดูถูกเหยียดหยาม เสียดสีหมั่นไส้ แต่ผมคิดอย่างเดียว ผมทำเพื่อให้ส่วนรวมเดินหน้าต่อไปได้ ผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ความยอดรับหรือชื่อเสียงมันเป็นผลที่ตามมาเท่านั้น

    ฉะนั้นในชีวิตจริงๆ ก่อนที่ท่านจะฝึกพูดท่านต้องหาแรงบันดาลใจก่อนครับ ว่าท่านพูดเพื่อใคร ถ้าท่านตั้งเป้าว่าฉันจะต้องพูดเพื่อชื่อเสียง ฉันจะต้องดัง อันนี้เขาไม่เรียกแรงบันดาลใจหรอกครับ เขาเรียก แรงบันดาลจก จกภาษาอีสานหมายถึง ล้วง หรือหยิบฉวย

   2. ท่านใช้หัวใจนักปราชญ์นำทางการพูด โดยวิธีการศึกษาหลักศาสนาอย่างลึกซึ้ง โดยได้แรงบันดาลใจจากคุณแม่ของท่านมาตั้งแต่เด็ก หลักอหิงสาและสัตยาเคราะห์ ของท่านก็มาจากหลักในศาสนาฮินดู เวลาที่ท่านเอ่ยวาจาออกมาจึงดูอ่อนโยน ลึกซึ้ง จับใจ ท่านลองดูวาทะของท่านที่ผมยึดถือมาแต่เรียนมหาวิทยาลัยสิครับ

       “มนุษย์นั้นมีความอ่อนแอติดตัวมาแต่กำเนิด การได้สวดมนต์ตามศาสนาของตน คือการได้เปิดเผยความอ่อนแอนั้นต่อสิ่งที่เขาไว้วางใจที่สุด”

หรือ

      “การยืนหยัดกับความดื้นรั้นนั้นคล้ายกัน แต่ต่างกันตรงที่ ความดื้นรั้นนั้นกระทำไปด้วยอารมณ์ยึดมั่น และอคติ ส่วนการยืนหยัดนั้นกระทำอยู่บนหลักการที่ปราศจากอารมณ์และอคติ”

       ดังนั้น หัวใจนักปราชญ์หรือ สุ จิ ปุ ลิ จึงเป็นหัวใจสำคัญยิ่งของการพูดที่ดี มีประโยชน์ต่อผู้ฟัง

       ผู้ฟังทุกคนมีความอ่อนแอมาแต่กำเนิดเหมือนๆกัน กับเรานั้นหากเราพูดด้วยความเมตตา ถ้อยคำของเราก็จะอ่อนโยนเข้าไปจับความรู้สึกภายในของเขา

       เขาจะรู้สึกได้ถึงความอ่อนโยนนั้น

       สุดท้ายอาชีพหนึ่งที่ผมตั้งใจจะกลับไปทำโดยตั้งปณิธานเอาไว้ในปีที่จบนิติศาสตร์มาครบ 15 ปีพอดี คืออาชีพทนายความ มีวาทะของท่านคานธี บทหนึ่งที่กล่าวไว้เกี่ยวกับอาชีพทนายความ และผมได้บันทึกสลักไว้ในหน้าแรกของประมวลกฎหมายเล่มที่ผมใช้เรียนหนังสือ ซึ่งยังเก็บไว้ที่บ้านอยู่

      “ข้าพเจ้าคิดว่า อาชีพทนายความเป็นอาชีพที่มีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกให้คู่ความตกลงกันได้ด้วยดี ประณีประนอมกันได้ด้วยดี อาชีพทนายความไม่ใช่อาชีพที่ส่งเสริมหรือมุ่งให้ลูกความเอาชนะกันจนไม่สามารถพูดคุยกันได้ ดังนั้นตลอดชีวิตการเป็นทนายความของข้าพเจ้า จึงมุ่งแต่จะให้ลูกความได้มีโอกาสพูดคุยแจรจาตกลงกันด้วยดี”

    

     ฉบับต่อไปผมจะรวบรวมทักษะ “การเขียน” หรือ “ลิขิต” ในหัวใจนักปราชญ์มาฝากท่านครับ เพราะสังเกตตัวเองว่า ก่อนพูดต่อหน้าชุมชนทุกครั้ง ผมจะจะต้องเขียนก่อนเสมอ มีเทคนิคการเขียนอย่างไร จะนำมาฝากกันรอบหน้าครับ

 

สวัสดีครับ

      

    

คำสำคัญ (Tags): #ปณิธานสามรุ่น
หมายเลขบันทึก: 497476เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2012 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2012 14:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท