ปิดโครงการ LLEN ที่เชียงราย


 

          โครงการ LLENนัดกันไปประชุมสรุปโครงการที่ มฟล. เชียงราย  ในวันอาทิตย์ - จันทร์ ที่ ๑ - ๒ ก.ค. ๕๕   โดยในวันอาทิตย์มีกำหนดการไปเยี่ยมชมของจริงด้านการเป็นมัคคุเทศก์ภาษาอังกฤษและภาษาจีน ๒ ที่ คือที่โรงเรียนวัดถ้ำปลาวิทยาคม อ. แม่สาย กับที่ท่าเรือเชียงแสน  

 

          ที่ รร. วัดถ้ำปลาวิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนชั้นมัธยม มีนักเรียน ๔๒๔ คน   เป็นเด็กเชื้อชาติไทยสองในสาม   รองลงมาเป็นไทยใหญ่ อาข่า พม่า  และจีน   จัดเป็นโรงเรียนที่มีจุดเด่นคือนักเรียนมีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ   เด็กได้เรียนรู้ inter-cultural skills ไปในตัว   ทางโรงเรียนจัดการต้อนรับอย่างเอิกเกริก   เด็กๆ แต่งกายสวยงามมาสาธิตความสามารถด้านภาษา    ซึ่งที่น่าประทับใจคือภาษาจีน   เด็กที่พูดภาษาจีนพูดแบบมั่นใจ อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องมีโพย   เพราะเขาเป็นเด็กจีนเชื้อสายกองพล ๙๓   ที่บ้านพูดภาษาจีนยูนนาน   และมุ่งมั่นเรียนภาษาจีนกลางเพื่อจะไปเรียนต่อที่ไต้หวัน  

 

          ผมไม่ชอบการต้อนรับแบบเอิกเกริก จนบดบังสิ่งที่เป็นแก่นแท้ที่เราอยากไปเห็น   คือการใช้ภาษาทั้งสองในการทำหน้าที่มัคคุเทศก์ในชีวิตจริง   สิ่งที่เขาจัดเป็นการแสดงทั้งหมด   มีการแสดงประเพณีไทยใหญ่ ได้แก่เพลงหมู่ เต้นกวาง ฟ้อนนก   การแสดงตีกลองสะบัดไชย และเชิดสิงโต  การแสดงบนเวทีระหว่างอาหารเที่ยง ดร. ฤทธิไกร แห่ง มมส.ได้ลงรูปกิจกรรมเหล่านี้ไว้ที่นี่

 

          ตอนบ่ายเราไปที่เชียงแสน  ตามกำหนดการบอกว่าไปดูนักเรียนทำหน้าที่มัคคุเทศก์ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ ที่ท่าเรือเชียงแสน   แต่เอาเข้าจริงเขาพาเราไปเสวนาประวัติศาสตร์เมืองเชียงแสนที่ลานสักร้อยปีของวัดเจดีย์หลวง   และพาขึ้นรถไฟฟ้านำเที่ยวเมืองเก่าของเทศบาล   โดยนักเรียนโรงเรียนเชียงแสนวิทยาคมมาเป็นมัคคุเทศก์   กลายเป็นเราได้รับความรู้เรื่องประวัติศาสตร์   จากครูบุญส่ง เชื้อเจ็ดตน   ที่ผมยกย่องเป็นปราชญ์ของเมืองเชียงแสน  

 

          แต่เราไม่ได้ข้อมูลผลงานของโครงการ LLEN ที่เชียงแสน   ไม่ว่าจากครูหรือจากนักเรียน

 

          ระหว่างนั่งรถจากเชียงแสนไปยัง มฟล. เช้าวันที่ ๒ ก.ค. ๕๕ ผมเสนอต่อ ดร. เจือจันทร์ ผู้ประสานงานโครงการว่า    หากจะมีการไปชื่นชมผลงาน LLEN อีก (เป็น if …. were คือเป็นไปไม่ได้แล้ว) ผมเสนอให้ออกแบบให้มีครูมาเล่าให้เราฟังว่าครูจัดออกแบบการเรียนรู้ให้แก่ศิษย์อย่างไร  ครูทำหน้าที่โค้ชการเรียนแบบลงมือปฏิบัติของนักเรียนอย่างไร   และครูเห็นผลการเรียนรู้ของศิษย์อย่างไรบ้าง   และสุดท้าย ตัวครูเองเกิดการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงในตนเองอย่างไรบ้าง 

 

          โครงการ LLEN ใช้เงินของ สกว. ๓๐ ล้านบาท และของ สพฐ. ๑๐ ล้านบาท รวม ๔๐ ล้านบาท ก่อผลยิ่งใหญ่ คือเห็นโอกาสและวิธีการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน โดยวิธีการพัฒนาแบบ area-based

 

          ช่วงเช้าวันที่ ๒ ก.ค. ตั้งแต่ ๑๐ น. ถึง ๑๓ น. เราใช้เวลา ๓ ชั่วโมงทำ AAR   โดยผมอาสาทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ของกระบวนการ AAR   ให้ผู้เข้าร่วมประชุมตอบคำถาม ๖ ข้อแบบเปิดใจ พูดจากใจของตนเอง ไม่พูดแทนใครหรือแม้แต่หน่วยงานของตน และไม่กังวลว่าจะเหมือนหรือไม่เหมือนความเห็นของคนอื่น และไม่มีถูก-ผิด   โดยเริ่มจากคนนั่งแถวหลัง ซึ่งมักจะเป็นผู้อาวุโสน้อยก่อน 

 

          คำถาม ๖ ข้อได้แก่

 

๑. ในการดำเนินการโครงการ LLEN ของตน ได้เตรียมความพร้อมความสามารถและทักษะของเด็กเข้าสู่ศตวรรษที่ ๒๑ ในด้านใดบ้าง และทำอย่างไร

 

๒. ผลงานใดที่ภาคภูมิใจ หรือถือว่าประสบผลสำเร็จสูงสุด (บอกเพียง ๑ ประการ)   เหตุใดจึงเกิดผลสำเร็จถึงเพียงนั้น

 

๓. การดำเนินการ LLEN ให้ประโยชน์อะไรแก่ตัวท่าน ทีมงาน และสถาบัน

 

๔. จะเอาความรู้หรือประสบการณ์ที่ได้นี้ไปทำอะไรต่อไป

 

๕. หากเริ่มทำโครงการ LLEN ได้ใหม่  สกว. ควรทำแตกต่างอย่างไร   และตนจะทำโครงการแตกต่างจากเดิมอย่างไร

 

๖. เรื่องอื่นๆ ที่อยากบอก

 

 

          โดยผู้พูดจะไม่พูดข้อใดก็ได้   และข้อที่ไม่ได้พูดเมื่อนึกออกภายหลัง สามารถขอพูดเพิ่มได้    และขอให้พูดสั้นๆ คนละประมาณ ๒ นาที

 

          เนื่องจากคำถามมีหลายข้อ  และหลายคนพูดย่อๆ ไม่เป็น   การประชุมจึงยืดเลยเที่ยงไปจนบ่ายโมง   แต่ทุกคนก็อิ่มปัญญาที่ได้จากการพูดเปิดใจของคนประมาณเกือบ ๔๐ คน   ทำให้ได้เห็นคุณค่าของโครงการต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ     และฝ่ายมหาวิทยาลัยได้เห็นโอกาสและลู่ทางในการแสวงหาทรัพยากรใหม่ๆ มาใช้ในการทำหน้าที่ของตนด้านการพัฒนาการเรียนรู้   โดยทำงานร่วมเป็นภาคีเครือข่ายกับหลากหลายฝ่ายในพื้นที่

 

          ผมชื่นใจที่ได้ฟังเรื่องราวความภาคภูมิใจของหลายโรงเรียน ที่เกิด transformation ของการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียน   เปลี่ยนจากแนวทางสอนหรือถ่ายทอดความรู้   เป็นแนวทางตั้งโจทย์ให้นักเรียนลงมือทำงานโครงการเป็นทีม และเรียนรู้จากการลงมือทำหรือโดยการสร้างความรู้สำหรับใช้ทำโครงการ   เช่นโรงเรียนวัดสวนดอก เชียงใหม่  ที่ผมตีความว่า เป็นการจัดการเรียนรู้แบบ constructivism

 

          กำหนดการประชุมสิ้นสุด ๑๖ น.   เมื่อถึงเวลา การอภิปรายให้ข้อเสนอแนะก็เข้าสู่ข้อสรุปได้อย่างง่ายดาย   ว่าเราไปประชุมปิดโครงการ LLEN   และได้ข้อสรุปว่าต้องดำเนินการกิจกรรม Local Learning Enrichment Network นี้ต่อไป   โดยหลายฝ่ายที่มาร่วมประชุมจะเป็นผู้ริเริ่ม LLEN ระยะต่อไป   เพื่อใช้แนวทางดำเนินการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ในพื้นที่แบบร่วมกันดำเนินการเป็นภาคีเครือข่าย   อันจะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อบ้านเมืองของเรา

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒ก.ค. ๕๕

บนเครื่องบินนกแอร์จากเชียงรายกลับดอนเมือง

หมายเลขบันทึก: 496843เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2012 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2012 10:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท