ชีวิตที่พอเพียง : 109. จิตประภัสสร


        ผมได้รับแรงบันดาลใจให้เขียนบันทึกนี้จากการอ่านหนังสือ J. Krishnamurti : a life  แต่งโดย Mary Lutyens พิมพ์โดย Penguin Books, 2005     ที่ผมซื้อมาจากอินเดียตอนไปแต่งงานลูกสาว      โชคดีจริงๆ ที่เห็นหนังสือเล่มนี้ตอนไปเดินเตร่ที่ร้านหนังสือที่สนามบิน

        ชีวิตของกฤษณมูรติเหมือนนิยาย    แต่เป็นเรื่องจริง    หนังสือเกี่ยวกับคำสอนหรือคำบรรยายของท่านมีคนแปลเป็นภาษาไทยหลายเล่ม     ที่บ้านผมก็มีหนังสือภาษาอังกฤษที่บันทึกคำปาฐกถาของท่าน     พอผมซื้อหนังสือเล่มนี้และเอามาอวดภรรยา     เขาก็ว่าทันทีว่าเห็นมีอยู่ที่บ้านแล้ว ซื้อทำไมอีก    เขารู้ว่าผมบ้าหนังสือ ก็กลัวว่าจะซื้อซ้ำ (ซึ่งผมก็เคยซื้อซ้ำจริงๆ เพราะตกหลุมสำนักพิมพ์ เขาเปลี่ยนปก)     ผมรีบบอกว่าที่มีอยู่เป็นบันทึกคำสอน    แต่เล่มนี้เป็นประวัติ ตั้งแต่เกิดจนตาย    อยากได้มานานแล้ว

        พอกลับมาเมืองไทยเขาเห็นผมจับอยู่แต่หนังสือเล่มนี้ก็รู้ทันทีว่าผมสนุกกับการอ่านหนังสือเล่มนี้จริงๆ      ผมชอบอ่านหนังสือชีวประวัติ ของคนดีคนเก่ง      ผมว่ามันสอนใจเราดี     มันให้ความรู้ในมิติที่ลึก  โดยเปิดโอกาสให้เราตีความ     ยิ่งคนเขียนเขียนอย่างละเอียด ให้ภาพของสภาพสังคมในขณะนั้นด้วยผมยิ่งชอบ    

        ชีวิตของกฤษณมูรติเป็นตัวอย่างของคนที่เกิดมามีจิตประภัสสร (สะอาด มีกิเลสน้อย) เป็นพิเศษ     ที่น่าสนใจคือในสภาพสังคมตามปกติ (ของอินเดีย) ดช. กฤษณะ เมื่อโตขึ้นจนอายุ ๑๔ เป็นคนไม่เอาไหน    สมองช้า เรียนช้า เหม่อลอย อยู่กับความฝัน   แต่มีฝรั่งคนหนึ่งชื่อ Charles Webster Leadbeater ตาแหลม     มองว่าเด็กคนนี้แหละที่น่าจะเป็นอวตารของพระศรีอาริยเมตไตร     เพราะเป็นเด็กที่มีแววแห่งจิตประภัสสรสูง     น้องชายชื่อนิตยานันทะ อายุอ่อนกว่า ๓ ปี ก็มีคุณลักษณะนี้ แต่อ่อนกว่า     สมาคม Theosophical Society นำโดยนาง Annie Besant จึงขอจากพ่อเอาไปเลี้ยงดู ให้การศึกษา และฝึกฝนสำหรับให้ตรัสรู้เป็นศาสดาของโลก     สมาคมนี้ตั้งขึ้นเพื่อหาทางส่งเสริมการมาเกิดของศาสดาคือพระศรีอาริยเมตไตร

        แล้วกฤษณมูรติก็ "ตรัสรู้" หรือ enlighten ขึ้นเองจริงๆ     เป็นการ "ตรัสรู้" สู่อิสรภาพ     เป็นการประกาศ "ความจริง" ที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อของกลุ่ม Theosophist ที่เชื่อในศาสดา     เชื่อว่าจะมีศาสดามาช่วยกู้โลก     แต่กฤษณมูรติเมื่ออายุ ๓๕ บอกว่าตนไม่ใช่ศาสดา     และศาสดาไม่มีความจำเป็นต่อการเข้าถึงความจริงแท้    เพราะคนเราจะเข้าถึงความจริงแท้  ความเป็นอิสระแท้  ความสุขแท้ ก็ด้วยตนเองเท่านั้น     ไม่มีศาสดาคนไหนจะมาช่วยให้บรรลุได้

         หนังสือเล่มนี้หนาถึง ๗๕๐ หน้า     เป็นการรวมเล่มของหนังสือ ๓ เล่ม ที่เล่มแรกกล่าวถึงช่วงต้นชีวิต ถึงอายุ ๓๕    เล่มที่ ๒ กล่าวถึง ช่วงอายุที่กฤษณมูรติมีกำลังเต็มที่ ตั้งแต่อายุ ๓๕ - ๘๕    และเล่มที่ ๓ เป็นเรื่องของชีวิตช่วงสุดท้ายก่อนถึงแก่กรรมในปี คศ. 1986 และการตีความชีวิตของกฤษณมูรติ     ผมเพิ่งอ่านจบไปตอนเดียวอย่างไม่ละเอียดนัก    ก็เอามาเล่าด้วยความพิศวงว่าคนที่เกิดมาจิตใจดี มีความเห็นแก่ตัวน้อย มีจริง      ถ้าส่งเสริมเขาให้ดี ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมาก     ทำให้ผมฝันเฟื่องเรื่องการศึกษาไปไกล

วิจารณ์ พานิช
๖ สค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 49655เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2006 09:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2012 12:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
สนับสนุนความเห็นของอาจารย์ค่ะ
    น่าเสียดายครับที่ จิตประภัสสร  ที่มากับหลายชีวิตได้ถูกสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ เป็นโทษ ทำลายเสียย่อยยับ  ไม่ทันได้ก่อตัวเพื่อสร้างประโยชน์ยิ่งใหญ่ให้โลก ... ทั้งสังคม และระบบการศึกษา ต่างก็ไม่นำพา มุ่งแต่ชักนำคนเข้าสู่สนามแข่งเพื่อเอาชนะ เอาเปรียบกันภายใต้กติกาที่เรียกว่า กฎหมาย จึงอ้างกันได้ง่ายๆเสมอว่า ไม่ผิดกฎหมาย ... ผิดจริยธรรมหรือไม่ .. ไม่เกี่ยว
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท