ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ความขัดแย้งเป็นธรรมชาติของชีวิตและสังคม!!!



       วันนี้ (๒๘ กค. ๕๕) รับนิมนต์จาก ผศ.ดร.พิพัฒน์ นนทนาธรณ์ ไปบรรยายที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ถนนวิภาวดี-รังสิต เพื่อบรรยายในหัวข้อเรื่อง "การจัดการความขัดแย้งแนวพุทธสันติวิธี" แก่นิสิตปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ รุ่นที่ ๒๐ จำนวน ๕๖ คน ซึ่งโครงการเป็นความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ

        ความขัดแย้งโดยเนื้อแท้เป็นได้ทั้ง "บุญและบาป" ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมุมมอง และท่าทีที่มนุษย์และสังคมเข้าไปปฏิสัมพันธ์ ถึงกระนั้น กลุ่มคนจำนวนมากมองความขัดแย้งว่า "เป็นสิ่งไม่ดีและไม่ควรให้เกิดมีในสังคม" ทั้งที่จริงแล้ว ความขัดแย้งเป็นธรรมชาติของมนุษย์และสังคม ที่เกิดขึ้นในตัวเอง และสังคมตลอดเวลา

        การจัดการความขัดแย้ง (Conflict Management) มีแง่มุมที่สัมพันธ์กันทั้งการป้องกัน (Prevention) การเปลี่ยนผ่าน (Transformation) และ การแก้ไข (Resolution) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทและองค์ประกอบของความขัดแย้งในแต่ละช่วงขณะเวลาว่าควรจะใช้หลักการเช่นใดเข้าไปดำเนินการจัดการให้สอดคล้องและเหมาะสม

        ในเชิงลบ ศาสนาพุทธมองความขัดแย้งว่า "เป็นทุกข์" ซึ่งเกิดขึ้นจากสาเหตุหลัก (สมุทัย) คือ ตัณหา ทิฐิ และมานะ ในขณะเดียวกัน ความขัดแย้งก็สะท้อนแง่มุมเชิงบวก (กุศล) เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเห็นต่างทางความคิด และการแสดงออกของกลุ่มคนต่างๆ ที่อยู่ร่วมกันในสังคม อย่างไรก็ตาม ศาสนาพุทธได้สงวนพื้นที่ของความไม่ขัดแย้งเอาไว้ นั่นคือ "สภาวะของนิพพาน" ซึ่งเป็นสภาวะที่สุข สงบเย็นปราศจากตัณหา ทิฐิ มานะ

        ทางออกของความขัดแย้ง ศาสนาพุทธได้นำเสนอเอาไว้หลายมิติ เช่น แนวทางของอปริหานิยธรรมที่เน้นความสามััคคีปรองดองทั้งการประชุมที่พร้อมเพรียงกันเลิกทั้งก่อน และหลัง การให้เกียรติผู้ใหญ่และสตรี การยึดมั่นในวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงาม

        อีกทั้งหลักการสาราณียธรรมที่เน้นการปฏิบัติหลักธรรมที่ก่อให้เกิดการระลึกถึงกัน หรือเกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันอยู่ตลอดเวลา โดยเน้นทั้งการคิด พูด และแสดงออกต่อกันด้วยเมตตา การแบ่งปันผลประโยชน์และความต้องการอย่างเท่าเทียม และทั่วถึง การปรับระบบ ระเบียบ ข้อกติกา หรือกฎหมายที่ใช้ร่วมกันในสังคมให้ทุกฝ่ายยอมรับ และปฏิบัติร่วมกันอย่างเสมอภาค และการสร้างเวทีเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับรู้ข้อห่วงใย ปรับทัศนคติให้เข้าใจกลุ่มคนอื่นๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการวางข้อระเบียบและกฎเกณฑ์ที่ทุกฝ่ายยอมรับ ปฏิบัติได้ และอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรี และเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์
หมายเลขบันทึก: 496300เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2012 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2012 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบนมัสการค่ะพระอาจารย์

ดีใจที่ได้อ่านบทความดีดี ชวนคิดจากพระอาจารย์ที่นี่อีกค่ะ ขอบพระคุณค่ะที่มาเมตตาชาวโกทูโนอีก

ทุกอย่างมีสองด้านให้มองเสมอนะคะรวมไปถึงสิ่งที่เราเรียกว่าความขัดแย้ง หากไม่มีความขัดแย้งก็จะไม่ซาบซึ้งไปกับความสงบสุข

He who lives in harmony with himself lives in harmony with the world - คนที่อยู่อย่างกลมเกลียวได้กับตัวเองจะอยู่อย่างกลมกลืนได้กับโลก Marcus Aurelius จักรพรรดิ์โรมัน กล่าวไว้เช่นนั้น

ความขัดแย้งที่แสดงออกเริ่มเกิดจากจิตใจภายในที่ขัดแย้งกัน หากคนทุกคนตั้งใจดำ้นินชีวิตของตนโดยการลดความขัดแย้งในใจตัวเองแล้วเติมมันด้วยความสงบสุข คงจะดีไม่น้อยนะคะ นึกถึงคำกล่าวของมหาตมะ คานธี- In a gentle way, you can shake the world.

(หากเอาคำพูดคนดังมาเรียงต่อๆกัน คงจะกลายเป็นบทความได้เลยนะคะ)

สุขสงบในวันอาทิตย์ค่ะ

กราบนมัสการด้วยความเคารพค่ะ ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท