ขจิต


ประเดิมชื่อแรกด้วยคำว่า "ขจิต" เห็นชื่อใครไวๆ แถวนี้  ชื่อนี้ใช้ได้ทั้งชายและหญิง แต่เท่าที่เห็น เป็นผู้ชายเสียมากกว่า ออกเสียงในภาษาไทย ขะ-จิด สองพยางค์ เขียนสั้นๆ ด้วยพยัญชนะ 3 ตัว (สระอีก 1)

 

            ขจิต เป็นคำกริยา แปลว่า ประดับ ตกแต่ง

            สะกดโรมันเป็น Khachit (ถ้าไม่ชอบ อาจเลี่ยงเป็น Khachid หรือ Khachitch)

            สะกดแบบบาลีและสันสกฤต Khacita

            คำแปลภาษาอังกฤษ prominent, inlaid, adorned with

            อักษรเทวนาครี खचित

            ชื่ออื่น ขะจิต, ขจิตา, ขจิดา, ขจิด, ขจนา

 

ที่มา

            ขจิต เป็นศัพท์จากทั้งภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต ในภาษาเดิม ออกเสียงว่า ขะจิตะ เรียงพยางค์กันไป แต่มาในภาษาไทย ให้ตัวท้ายเป็นตัวสะกดเสีย

            ความหมายเดิมในภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต หมายถึง โดดเด่น ฝังเพชรพลอย ผสมผสาน ประดับด้วย

              

File:PIETRA DURA - Agra - India.png

โต๊ะหินอ่อนที่ทัชมาฮาล ใช้เทคนิค"ขจิต" (เจาะแ้ล้วยัด) คล้ายๆ งานมุกในบ้านเรา

(ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/File:PIETRA_DURA_-_Agra_-_India.png)

 

            ขจิต มาจากรากศัพท์กริยา ขจฺ (ขัจ) แปลว่า ยึด รัด ประดับด้วย นำมาใช้เป็นรูปกริยาอดีต สำหรับเป็นคำขยาย (ขจฺ + ต (แทรกเสียงอิ) = ขจิต) แปลว่า ฝังเพชรแล้ว ประดับแล้ว ตกแต่งแล้ว  เช่น “มณิขจิต” แปลว่า (สิ่งที่)ประดับแล้วด้วยอัญมณี  

             ในภาษาไทย ขจิต เป็นศัพท์วรรณคดี หมายความว่าไม่ได้ใช้ในภาษาพูดภาษาเขียนทั่วไป แต่ใช้ในการประพันธ์ หรืองานแปลที่ต้องการความสวยงาม หรูหรา หรือเคร่งขรึม ยังไม่เจอข้อความดาดๆ อย่างเช่น แหวนวงนี้ขจิตด้วยเพชร ไม่มีๆ แต่ถ้าไปอ่านวรรณกรรมพุทธศาสนาจะพบคำนี้บ่อย เช่น พระไตรปิฎก (ฉบับภาษาไทย)  เช่น

  • “มีเครื่องประดับและเครื่องปกคลุมศีรษะอันขจิตด้วยทอง”
  • “ทรงไว้ซึ่งฉัตรอันห้อยย้อยด้วยตาข่ายทอง ขจิตด้วยตาข่ายเงิน”
  • “อาสนะสีหะที่ขจิตไปด้วยรัตนะ ๗ ประการ”

            เป็นที่น่าสังเกตว่า ขจิต ที่หมายถึงตกแต่งนี้ จะมีคำเติมมาว่า ประดับด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (ไม่ใช่ตกแต่งเฉยๆ) ไม่พบว่าใช้คำ ขจิต ลอยๆ แต่จะเป็น ขจิตด้วย..., ขจิตไปด้วย… ดังนั้น ขจิตสุวรรณ (นามสกุล) อาจจะแปลว่า ประดับด้วยทองคำ ก็ได้

               *** และที่สำคัญ ขจิต ไม่ได้แปลว่า สวยงาม (คนละความหมายกับ วิจิตร หรือ จิตร) คนละคำกับ “ขจิตร” หรือ “ขจิตร์” ***

 

ชื่ออื่น

  • อักษร ต ในภาษาสันสกฤตและภาษาบาลี อาจแผลงมาเป็น ด ได้ ดังนั้นคำนี้ อาจแผลงเป็น ขจิด ก็ได้
  • นอกจากนี้ คำที่ลงท้าย ต อาจเติมสระอา เพื่อให้เป็นคำนามเพศหญิง ผู้หญิงจึงอาจใช้ชื่อว่า ขจิตา หรือ ขจิดา ก็ได้เช่นกัน
  • นอกจากนี้ในภาษาสันสกฤตแบบผสม ยังใช้รูป ขจน (ขจ+น) ซึ่งอาจแผลงเป็น ขจนา (สำหรับเพศหญิง) ก็ได้

 

คำแปล

               คำนี้ เมื่อนำมาใช้เป็นชื่อคน ทำให้แปลยากสักหน่อย เพราะชื่อคน ควรจะเป็นคำนาม ดังนั้น คำนี้อาจมีความหมายหลายอย่าง ขึ้นกับว่า เราจะเอาความหมายใดของคำว่า ขจิต ดังนี้

               1. โดดเด่น... แปลชื่อว่า ผู้มีความโดดเด่น, ผู้เป็นใหญ่

               2. ประดับตกแต่งแล้ว  แปลชื่อว่า ผู้ที่ตกแต่งแล้ว (จึงงดงาม) ผู้ที่มีบุคลิกดี ผู้มีหน้าตาดี หนุ่มหล่อ สาวสวย ฯลฯ

               3. ฝังเพชรพลอยแล้ว ... แปลว่า แหวนเพชร แหวนพลอย ฯลฯ

                ชอบแบบไหนก็แปลแบบนั้นแหละ

 

ชื่อบุคคล

  • ขุนขจิตสารกรรม
  • หม่อมราชวงศ์หญิงขจิต ศตศิริ
  • หม่อมราชวงศ์ขจิต เกษมศรี
  • ดร.ขจิต จิตตเสวี
  • ดร.ขจิต ฝอยทอง

 

คำสำคัญ (Tags): #ชื่อ
หมายเลขบันทึก: 495894เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2012 23:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2012 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ดร.ขจิต ฝอยทอง  แปล   โดดเด่น... แปลชื่อว่า ผู้มีความโดดเด่น, ผู้เป็นใหญ่  น่าจะตรงสุด  ใช่มั๊ย  ดร.ขจิต

ขอบคุณค่ะ อาจารย์  เริ่มสนุกกับภาษาอาจารย์แล้ว 

อาจารย์ "ขจิต" สะดุ้งแต่งงานเลยครับ อาจารย์ 555

ดีใจๆ คุณชลัญธรเป็นคนแรกๆ ที่รู้สึกสนุก ....5566

ตอนนี้ ดร.ขจิต ฝอยทอง อาจจะจามหลายที...

คอยลุ้นอยู่ครับ อาจารย์ W ;)

สวัสดีค่ะท่านบ.ก.

ว้าว น่าสนใจมากๆ หากเด็กนักเรียนได้เรียนรู้ภาษาจากง่ายๆ

จากเรื่องใกล้ๆ ตัว อย่างความหมายของชื่อตัวเอง เจ๋งจริงค่ะ

สวัสดีครับคุณ Boo (เปลี่ยนชื่อแล้วเหรอนี่)

เพราะว่าคนไทยนิยมใ้ช้ชื่อบาลีสันสกฤต แต่อาจจะนึกไม่ถึงครับ ใกล้ตัวจริงๆ ด้วย เพราะอยู่กับตัวเลย อิๆๆ

พี่ขจิตสะดุ้งจนตกจากคานเลย อิอิ

คนเขียนตกใจกว่า ว่า Blank เนปาลี โผล่มาได้ยังไง

มิเห็นในนี้มานานหนักหนา...

  • มิน่าจามบ่อยมากๆๆ
  • ขจิต  แปลว่า
  • โดดเด่น... แปลชื่อว่า ผู้มีความโดดเด่น, ผู้เป็นใหญ่

                   2. ประดับตกแต่งแล้ว  แปลชื่อว่า ผู้ที่ตกแต่งแล้ว (จึงงดงาม) ผู้ที่มีบุคลิกดี ผู้มีหน้าตาดี หนุ่มหล่อ สาวสวย ฯลฯ

  • แหมน้องตัวกลม อาจารย์ was คุณชลัญธรมาแซวเลย
  • ขอบคุณครับ

ลักษณ์พิเศษของภาษาไทยที่ไม่เหมือนภาษาใดๆ ในโลก คือดิ้นได้ หลากหลายความหมาย และเป็นภาษาดนตรี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท