วิถีข้าว...รากเหง้าชาวล้านนา


การใช้บุญเป็นเครื่องเสริมสร้างสายใยความสัมพันธ์ของคนในสังคม ทุกเพศวัย เชื่อว่าน่าจะเป็นการสร้างขุมพลังเพื่อการดำรงอยู่อย่างเข้มแข็งของชาวนาในระบบทุนเสรีและเพิ่มศักยภาพชุมชนเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซี่ยน ด้วยการฟื้นจิตวิญญาณของชุมชนบนวิถีวัฒนธรรมข้าว

     ข้าว เป็นพืชอาหารที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิต  กำหนดพฤติกรรมทางสังคม  เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก  เช่นเดียวกับวิถีคนไทย ซึ่งมีรากฐานจากสังคมชาวนา   มีการทำนายาวนานจนสั่งสมประสบการณ์จนเกิดเป็นภูมิปัญญา ในการผลิตและการจัดการข้าวให้เพียงพอกับครัวเรือน และเป็นสินค้าออกที่ทำรายได้ให้กับประเทศ  
            ดังนั้นชาวนา จึงมีความพิถีพิถันในการผลิตข้าว   นับจากการเตรียมปรับดิน  การไถเพื่อทำแปลง  การปักดำ   การเกี่ยวและนวดข้าว การขนข้าวขึ้นยุ้งฉาง แต่อย่างไรก็ตามสภาพดินฟ้าอากาศจึงเป็นปัจจัยที่มีอิทธิผลยิ่งต่อผลผลิตข้าว   ดังนั้นจึงก่อเกิดประเพณีพิธีกรรมการเกษตรเพื่อขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือธรรมชาติเพื่อเอื้ออำนวยให้ได้ผลผลิตข้าวที่ดี  โดยมีการจัดพิธีกรรมหลากหลายตามช่วงเวลา และอาจมีรูปแบบแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค หากแต่มีจุดประสงค์เหมือนกันคือต้องการให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิต

           สำหรับภาคเหนือมีวัฒนธรรมประเพณีเกี่ยวกับข้าวคล้ายกับภาคอื่นๆของประเทศไทยแต่ก็มีแตกต่างกันบ้างในราย ละเอียดของพิธีกรรม ตามความเชื่อ ระยะเวลาของฤดูกาลทำนา และบริบทของท้องถิ่น    อนึ่งระยะขวบปีที่ผ่านได้มีโอกาสศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนาระบบยุ้งข้าวเปลือกที่ควบคุมความชื้นข้าวด้วยปั้มความร้อนร่วมกับมหาวิทยาลัยนร์อทเชียงใหม่  จึงมีโอกาสศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับข้าวในมิติต่าง ๆ   ดังจะนำเสนอต่อไปนี้

 

เรื่องเล่าตำนานข้าวชาวล้านนา

        ตำนานข้าวส่วนใหญ่จะกล่าวถึงแม่พระโพสพ ซึ่งเป็นสตรีเพศ  หากแต่มีอีกตำนานล้านนาที่เรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงพระโพสพในฐานะบุรุษเพศ   โดยเล่าว่า  สมัยเมื่อพระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ ณ เชตวันวนาราม วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปในท้องทุ่งนา ในขณะที่ข้าวกำลังสุกเหลืองเต็มท้องนาและได้ทอดพระเนตรเห็นคนนั่งขัดสมาธิเหนือจอมปลวกมีรัศมีเรื่อเรืองคล้ายพระพุทธเจ้า เมื่อเสด็จเข้าไปใกล้ คนนั้นก็พลันหายไป จึงเสด็จไปถามพระพุทธองค์ ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงบอกว่า นั่น คือ พระโพสพ โดยทรงเล่าเรื่องในอดีตกาลว่า
            มียาจกยากไร้อยู่ครอบครัวหนึ่ง อยู่ด้วยกัน 3 คน คือ พ่อ แม่ และลูกสาว วันหนึ่งลูกสาวไปหาปลาที่หนองน้ำพร้อมกับพวกชาวบ้าน ครั้นถึงเวลาอาหารกลางวัน ชาวบ้านขึ้นจากหนองน้ำและแกะข้าวห่อรับประทานกัน ส่วนลูกสาวผู้ยากไร้ไม่มีข้าวห่อ จึงได้เก็บเศษเมล็ดข้าว ที่ตกเรี่ยราด รับประทานหลังจากที่ชาวบ้านรับประทานแล้ว ต่อมาอีกหลายเดือนนางเกิดมีครรภ์ขึ้น โดยมิทราบสาเหตุ จนครบกำหนดนางได้คลอดบุตรชายมีลักษณะสมบูรณ์ทุกประการ ทารกน้อยแม้อายุได้แค่ 2 เดือน ก็ชี้มือไปทางป่าที่มีทุ่งนา จนอายุได้ 2 ขวบ ก็ได้รบเร้าให้ตายายไปหาพันธุ์ข้าวมาหว่าน ตายายก็ไปขอชาวบ้านได้เมล็ดพันธุ์ข้าวมาประมาณครึ่งกระบุง เด็กน้อยได้นำไปหว่านตามป่า เวลาผ่านไปเพียงคืนเดียว ข้าวก็สุกเหลืองเต็มป่า คืนต่อมาหลานได้ขอให้ตาสร้างยุ้งข้าวให้มีเนื้อที่ประมาณหนึ่งไร่ ตาก็รีบสร้างจนเสร็จในคืนนั้น พอรุ่งเช้าเมล็ดข้าวในป่าก็ได้เข้าสู่ยุ้งจนเต็ม โดยไม่มีใครขนย้าย อยู่ต่อมาประมาณ 4-5 วัน เด็กน้อยนั้นได้เข้าไปในยุ้งข้าวแล้วอันตรธานหายไป ตายายและผู้เป็นแม่ต่างเศร้าโศกเสียใจ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงได้แต่จัดหาข้าวสุก น้ำและกล้วยสุกไปวางไว้ในที่อันสมควรเผื่อกุมารน้อยจะออกมากิน
            สรุปแล้ว กุมารน้อยที่หายไปในบริเวณยุ้งข้าวนั้น คือ “พระโพสพ” นางผู้เป็นลูกสาวของผู้ยากไร้ คือ แม่ของพระโพสพ ผู้ใดปรารถนาความสุข ความเจริญ ควรให้ความเคารพพระโพสพและหมั่นสักการะบูชาด้วย ข้าวสุก น้ำ และกล้วยสุกเป็นประจำ ชีวิตจะมั่งมูลพูนสุข ไม่มีความยากจนตลอดกาล(สนั่น  ธรรมาธิ , 2550)

          โดยนัยนี้  ไม่ว่าพระโพสพจะเป็นเพศหญิงหรือชาย หากแต่ แม่โพสพและพระโพสพเป็นผู้มีบุญคุณต่อชาวนาโดยตรง และเป็นผู้ที่ยอมเสียสละเพื่อมวลมนุษย์ โดยให้มนุษย์ได้มีข้าวไว้บริโภค ไม่อดอยาก คนล้านนาจึงถือว่า ข้าวเป็นเจ้าแห่งชีวิตคู่กับน้ำ   ดังคำกล่าวที่ว่า "ข้าวเป๋นเจ้า น้ำเป๋นนาย"   

 

พิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ในวิถีข้าวล้านนา

1. การแฮกนา  ( หรือ แรกนาในภาษาไทยภาคกลาง)  เป็นการเริ่มต้นลงมือทำนาโดยมีวัตถุประสงค์บูชาแม่โพสพ เพื่อความเป็นสิริมงคลและเสี่ยงทาย     การแฮกนาในภาคเหนือประกอบด้วย  การแฮกรวมและการแฮกตามขั้นตอนการปลูกข้าว   ดังนี้

 1) แฮกนารวม  นิยมทำช่วงก่อนจะเริ่มไถนา   โดยผู้ทำนาจะเตรียมข้าวเปลือกประกอบพิธี  ตาแหล๋ว  ต้นดอกเอื้องหมายนา  สร้อยสังวาลที่ถักร้อยจากดอกไม้  และสะตวงหรือกระทงต้นกล้วย มาที่หัวนาของตนเองซึ่งใช้ไม้ไผ่สานทำเป็นเขตราชวัตร  กล่าวบวงสรวงเทวดารักษาที่นา พระแม่โพสพและพระแม่ธรณี  จากนั้นหยิบเอาเมล็ดข้าวเปลือกเพื่อเสี่ยงทายดูหากหยิบได้เป็นจำนวนคู่ทายว่าข้าวกล้าในนาจะได้ผลเต็มที่ แต่ถ้าเป็นจำนวนคี่ ทายว่าข้าวกล้าจะไม่ให้ผลดีนัก  นำข้าวเปลือกในพิธีหว่านในเขตราชวัตร  จากนั้นนำตาแหล่วไปปักไว้ตามมุมหัวนาพร้อมนำต้นดอก “เอื้องหมายนา” ไปปลูกคู่กับตาแหล่ว เพื่อสัญลักษณ์แสดงอาณาเขต    

2) การแฮกตามขั้นตอนการปลูกข้าว  ได้แก่

     2.1)   การแฮกไถหรือการแรกไถ  คนล้านนาเชื่อว่า การแฮกไถเป็นการใช้ของมีคมกรีดลึก บนผืนดินที่พญานาคดูแล จึงต้องปฏิบัติต่อพญานาคอย่างนอบน้อม   และในแต่ละเดือนพญานาคจะหันหัวไปในทิศต่างๆ    ดังนั้นการแรกไถจะไม่ไถไปในทิศทางกับหัวพญานาคและต้องไถไปทางทิศที่เป็นหางพญานาค  เพราะการไถไปทางทิศหัวพญานาคเปรียบเสมือน “ไถเสาะเกล็ดนาค” ซึ่งเป็นการฝืนหรือต้านอำนาจของพญานาคผู้ดูแลดินและน้ำ จะทำให้มีอันเป็นไป เช่น ไถหัก วัวควายที่ใช้ไถตื่นกลัว คนไถได้รับอันตราย ข้าวกล้าเสียหายไม่สมบูรณ์  เกิดภัยพิบัติแก่นาข้าว   

       2.2) การแฮกหว่าน คนล้านนาเชื่อว่า  การนำเมล็ดข้าวพันธุ์ไปหว่านต้องมีการหาวันที่เหมาะสมเพื่อป้องกันศัตรูข้าว  และการหว่านที่เหมาะสมที่สุดคือ วันพุธ รองลงมาคือวันศุกร์ โดยการหว่าน ต้องหันหน้าไปทิศตะวันตก แล้วหลับตาหว่านข้าวประมาณ 4-5 กำมือ จากนั้นก็ค่อยลืมตาหว่านต่อไป ด้วยถือเคล็ดที่ว่าสัตว์เป็นศัตรูข้าวพืชจะไม่สามารถมองเห็นข้าว กล้าที่หว่านและจะไม่มารบกวน เมื่อหว่านเสร็จจะประกอบพิธี “วางควักธรณี” คือวางกระทงใบตองใส่ข้าวเหนียวหนึ่งก้อน กล้วยสุกหนึ่งลูกพร้อมบอกกล่าวพระแม่ธรณีเพื่อฝากฝังให้ดูแลต้นกล้า ให้เจริญงอกงามดีไม่มีศัตรูพืชมาเบียดเบียน

     2.3) การแฮกหลกหรือแรกถอน  เมื่อต้นกล้าอายุประมาณ 30-40 วัน ชาวนาจะถอนต้นกล้าไปปลูกโดยเชื่อว่าวันที่เหมาะสมในการถอนต้นกล้าคือ วันอังคาร วันพุธและวันพฤหัสบดี

    2.4) การแฮกปลูกหรือแรกปลูก  เจ้าของนาจะเตรียมเครื่องประกอบพิธีเช่นเดียวกับการแฮกนา จะแตกต่างเฉพาะไม้สำหรับเป็นที่แขวนสังวาลที่เรียกกันว่า “คันข้าวแฮก” จะต้องเป็นไม้ที่ขวัญข้าวสถิตย์อยู่ และในแต่ละปีขวัญข้าวจะสถิตย์ในต้นไม้ต่างๆ ตามวันสังขานต์ล่อง ซึ่งกำหนดในปฏิทินปีใหม่ล้านนา  โดยจะนำต้นกล้าปลูกในบริเวณมุมหัวนาที่เคยหว่านข้าวแฮก ขณะลงมือปลูกจะกล่าวคำดังนี้  ปลูกต้นที่ 1 ปลูกหื้องัวแม่ลาย ปลูกต้นที่ 2 ปลูกให้ควายแม่ว้อง ปลูกต้นที่ 3 ปลูกข้าวต้นนี้เปิ้นเสียกู ปลูกต้นที่ 4 ปลูกข้าวต้นนี้เปิ้นฮ้ายกูดี หรือ ใช้คำสั้นๆว่า “สุข-ทุกข์” สลับกันและให้เหลือต้นสุดท้ายว่า “สุข” 

     คนล้านนาเชื่อว่า  วันที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวคือ วันอังคาร วันพฤหัสบดี วันศุกร์ และวันเสาร์  โดยจะหลีกเลี่ยงวันที่เรียกว่า “วันถูกปากนก ปากจั๊กแตน” ซึ่งเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของศัตรูพืช  และ “วันผีตามอย” ซึ่งจะมาเบียดเบียนให้ต้นกล้าได้รับความเสียหาย   

    2.5) การแฮกเกี่ยวข้าว   เริ่มจากผู้ทำนาจะเอาเครื่องบูชาแม่โพสพประกอบด้วย กระจก หวี แป้ง น้ำมันทาผม อาหารแห้ง หมาก เมี่ยง บุหรี่ ธูปเทียน ดอกไม้ ของหอมนำไปบูชาแม่โพสพที่แท่นนา   จากนั้นจะลดน้ำเพื่อนาแห้งง่ายต่อการเก็บเกี่ยว แล้วขอขมาแม่โพสพอธิษฐานขอเชิญแม่โพสพไปอยู่ที่ยุ้งฉาง  แล้วจึงลงมือเกี่ยวข้าว

2. พิธีกรรมการขอฝน  คนล้านนาเชื่อว่าเทวดาที่หน้าที่ดูแลผิดชอบเรื่องฝนคือ  “ปัชชุนนเทวบุตร” “ปัชชุนนะ” แปลว่า เมฆฝน ผู้ที่ครองเมฆ หรือผู้ที่ครองฝน ท้าวปัชชุนะมีพาหนะคือ มอม ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานที่นิยมสร้างไว้บริเวณทางขึ้นวิหารของวัดในล้านนาและสอดคล้องคติธรรมทางพุทธศาสนาที่กล่าวถึง พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพญาปลาช่อน ซึ่งได้ร้องขอฝนต่อเทพปัชชุนนะ   ดังนั้นพิธีกรรมของฝนของคนล้านนา  จึงประกอบด้วย

1) การแห่นางแมวขอฝน  พิธีกรรมนี้เชื่อว่า  คนล้านนาเชื่อว่า ท้าวปัชชุนะมีพาหนะคือ มอม ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีอิทธิฤทธิ์ในตำนานและนิยมสร้างไว้บริเวณทางขึ้นวิหารของวัดในล้านนา

        โดยจะนำไม้แกะสลักรูปตัวมอม ขนาดประมาณเท่าตัวแมว  ลงรักทาด้วยชาดแดง  ขึ้นสะเลี่ยงแห่ขอฝน และนี่คือต้นเค้าของการแห่นางแมวเนื่องจากแมวมีลักษณะคล้ายกับมอม เพราะภายหลังหาไม้สลักรูปมอมไม่ได้และคนรู้จักมอมน้อยลง  จึงใช้แมวแทน และวิธีการปฏิบัติคือ นำแมวใส่ชะลอมแห่ไปทั่วหมู่บ้าน มีการตีฆ้อง กลองให้เสียงอึกทึกคึกครื้น  เมื่อขบวนผ่านแต่ละบ้านเจ้าของบ้านก็จะเอาน้ำสาดนางแมว เพื่อให้นางแมวร้อง เชื่อว่าหากแมวร้องดังจะได้ผลดี

 2) การฟังธรรมปลาช่อน  พิธีกรรมนี้สอดคล้องคติธรรมทางพุทธศาสนาที่กล่าวถึง  มัจฉาชาดก   ซึ่งกล่าวถึง พระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นพระยาปลาช่อน ในพิธีกรรมชาวบ้านจะใช้ไม้ แกะเป็นรูปปลาช่อน หรือใช้ดินปั้นเป็นรูปปลาช่อน  นำไปใส่ในอ่างพร้อมหอยปูและใส่น้ำขมิ้นส้มป่อย  นำไปที่วัดจัดวางในเขตขัดราชวัตรประดับต้นกล้วย ต้นอ้อย และน้ำพระพุทธมนต์ พร้อมนิมนต์พระสงฆ์เทศน์ชื่อ  ธรรมปลาช่อน   เมื่อฟังเสร็จมีการประพรมน้ำพุทธมนต์

   3) การแห่พระเจ้าฝนแสนห่า ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบเชียงแสนที่มีพุทธนุภาพดลบันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาล  และเชื่อว่าการสร้างพระเจ้าแสนห่าไว้หลายแห่งเพื่อใช้ในพิธีของฝน  พิธีกรรมประกอบด้วยการแห่พระเจ้าฝนแสนห่าไปในที่ต่างๆ ตลอดทางชาวบ้านจะเอาขมิ้นส้มป่อยมาสรงองค์พระเมื่อแห่เสร็จก็นำกลับคืนวัดตั้งไว้ให้ประชาชนมาสรงน้ำตามประเพณี

4. พิธีกรรมสู่ขวัญควาย หรือฮ้องขวัญควาย มีนัยเพื่อเป็นการเตือนสติให้คนมีความกตัญญูกตเวทีรำลึกถึงบุญคุณของควายที่ได้ช่วยเหลือแรงงานในการไถคราดเพื่อการเพาะปลูกข้าว  และในระหว่างการทำงาน  อาจมีการดุด่า เฆี่ยนตีควายเพื่อให้ทำงานดังต้องการ เมื่อเสร็จงานจึงหาวิธีที่จะตอบแทนบุญคุณของควายเพื่อขออโหสิกรรมต่อควาย   โดยชาวนาจะทำบายศรี 1 ชุด ขนม ข้าวต้ม เหล้าไห ไก่คู่ ไข่ต้ม 1 คู่ เอี้ยงควายนา 1 ต้น ข้าวตอกดอกไม้ หมากพลู ด้ายสายสิญจน์ผูกเขาควาย หญ้าอย่างดี 1 หาบ ข้าวเปลือก ข้าวสาร ถั่วงา กล้วยสุก  ปู่อาจารย์จะสวดฮ้องขวัญหรือสู่ขวัญ  เมื่อสวดจบจึงป้อนข้าวและหญ้าให้ควาย เอาด้ายผูกเขาและกล่าวขอขมาลาโทษที่ได้ล่วงเกิน ดุด่า เฆี่ยนตี เป็นอันเสร็จพิธี 

 

วาทกรรมผีกับวิถีข้าวชาวล้านนา

        การดำรงอยู่ของวิถีชีวิตคนล้านนานับแต่โบราณกาลมีความเกี่ยวพันกับศาสนาและการนับถือผีอย่างแยกไม่ออก โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษ ผีประจำหมู่บ้าน และผีประจำเมือง ทั้งเชื่อว่าทุกสิ่งในธรรมชาติล้วนมีผีปกป้องคุ้มครอง  ดังนั้นผีจึงมีสถานะเช่นเทพ ทำให้มีพิธีกรรมการปฏิบัติต่อด้วยความนอบน้อม เช่น  การเซ่นไหว้เพื่อขอความคุ้มครอง การขอขมาเมื่อล่วงละเมิดอย่างใดอย่างหนึ่ง  สำหรับผีหรือเทพประจำต้นข้าวคือ   แม่โพสพ  ซึ่งต้องปฏิบัติด้วยความสุภาพอ่อนโยน มีความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงที่สุด   และในสังคมชาวนานี้เองที่เกิดพิธีกรรมเกี่ยวกับผีและข้าวคือ “ผีหม้อนึ่ง” หรือ “ผีปู่ดำย่าดำ”  

         “ผีหม้อนึ่ง” ซึ่งเป็นการเชิญวิญญาณของปู่ดำ ย่าดำเพื่อถามไถ่เหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น   ขั้นตอนพิธีกรรม   ชาวบ้านที่มารับบริการจะบูชาขัน  โดยใช้เงิน 24 บาท ดอกไม้ธูปเทียนอีก 24 ชุดใส่ลงไปในกระด้งซึ่งบรรจุข้าวสาร   จากผู้ประกอบพิธีกรรมซึ่งเป็นเพศหญิงจะจุดธูปเทียนเพื่อเชิญวิญญาณของปู่ดำ ย่าดำ ให้สิงในหม้อนึ่ง ที่มีการนำไปจัดตั้งบนเตาไฟ ในลักษณะเดียวกับการนึ่งข้าว ทั้งยังมีการใช้ไม้ไผ่วางพาดมัดติดบริเวณปากไหข้าว พร้อมสวมเสื้อให้ไหข้าว   จากนั้นจะมีการทดสอบว่า  วิญญาณปู่ดำย่าดำมาประทับหรือไม่จากการการยกไหข้าวหากมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น  ขนาดต้องยกสองคนแสดงว่า เกิดการประทับของวิญญาณแล้ว

            จากนั้นผู้ที่มารับบริการจะถามไถ่ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือเรื่องที่อยากรู้   วิญญาณปู่ดำย่าดำก็จะตอบโดยการใช้แขนหม้อนึ่งขีดเขียนลงไปในกระด้งซึ่งมีข้าวสารเป็นรูปสัญลักษณ์ต่าง ๆ ผู้มารับบริการก็แปลความสัญลักษณ์นั้น ๆ  หากตอบถูกวิญญาณปู่ดำย่าดำก็จะตอบรับโดยแสดงอาการผงกไม้ที่เป็นแสดงแขนกระแทกกับกระด้งข้าวสาร  หากไม่ถูกต้องก็จะแสดงอาการสั่นปฏิเสธ    เมื่อผู้รับบริการได้คำตอบก็จะนำไปปฏิบัติ   สำหรับพิธีกรรมเชิญผีปู่ดำย่าดำ  จะไม่นิยมทำในระหว่างเข้าพรรษา

            คนล้านนาเชื่อว่า  ผีหม้อนึ่งหรือผีปู่ดำย่าดำมีอยู่ประจำทุกบ้าน ทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินในบ้านและคุ้มครองคนในครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข  ในอดีตก่อนจะออกจากบ้านเดินทางไปไหนไกล ๆ หรือเข้าป่าไปหาของป่า หรือเดินทางในเวลามึดค่ำ  เพื่อป้องกันภูตผีปีศาจก็จะนำข้าวตอกดอกไม้บอกกล่าวแก่ผีหม้อนึ่งที่สามเส้าของเตา หรือบางคนก็จะเอามือป้ายเศษเขม่าสีดำที่ติดอยู่ก้นหม้อมาแตะหน้าผาเป็นจุดสีดำ เป็นการป้องกันภูตผีที่จะเข้ามาทำร้าย   นอกจากนั้นเวลาลูกหลานในครัวเรือนจะต้องเดินทางหรือสอบแข่งขันหรือทำการใดพิเศษ  ก็จัดวางหม้อนึ่งกับไหข้าวซ้อนกันตั้งบนเตาเหมือนกำลังนึ่งข้าว  พร้อมจัดหาธูปเทียนดอกไม้พร้อมเครื่องสังเวยได้แก่ "หมากคำพลูใบ" คือหมาก ๑ คำ พลู ๑ ใบ  ข้าวเหนียวสุกหนึ่งปั้นกับกล้วยสุกหนึ่งใบ ไปวางไว้บนที่อันควร   พร้อมขออธิฐานขอความคุ้มครองและความสำเร็จจากปู่ดำย่าดำ 

        นอกจากนี้   ยังมีพิธีเชิญผีปู่ดำย่าดำ ในรูปแบบ  พิธี "ไกวข้าว" หรือ แกว่งข้าว คือ การไกวหรือแกว่งก้อนข้าวเหนียว   ส่วนใหญ่จะกระทำเมื่อต้องการทราบสาเหตุของการเจ็บป่วยของเด็กเล็ก  โดยจัดเตรียมเสื้อผ้าของเด็กที่ป่วย พร้อมข้าวสาร ๑ ทะนาน กรวยดอกไม้ ธูปเทียน เงิน ๑ บาท  ด้ายผูกข้อมือ ด้ายสำหรับผูกก้อนข้าว ข้าวเหนียวสุกขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือ ๑ ก้อน ไม้ด้ามข้าว  (ไม้สำหรับคนข้าวเหนียวสุกใหม่) ข้าวเหนียว ๑ ปั้น กล้วยน้ำว้าสุก ๑ ลูก  และข้าวเหนียวก้อนเล็กๆอีก ๔ ก้อน  

            ขั้นตอนพิธีเริ่มจากการนำหม้อนึ่งและไหข้าวตั้งบนเตาไฟเหมือนการนึ่งข้าว เอาก้อนข้าวเล็กๆวางคู่กันที่ริมขอบหม้อนึ่ง ๑ คู่ และริมขอบไหข้าวอีก ๑ คู่  จากนั้นผู้ประกอบพิธีจะยกเครื่องสักการะ คือข้าวสาร  เงินและธูปเทียนดอกไม้ที่อาจบรรจุในภาชนะ เช่นถาดหรือชามขึ้นจรดศีรษะ 
พร้อมบอกกล่าววัตถุประสงค์ พร้อมยกเครื่องสักการะไปชิดกับเตาไฟ   นำเอาก้อนข้าวผูกแขวนกับปลายไม้ด้ามข้าว แล้วยื่นออกไปเหนือข้าวสารที่เตรียมไว้  โดยกะให้ได้ระยะห่างประมาณ ๑ ฝ่ามือ และเริ่มตั้งคำถามโดยถามและตอบนำไปเรื่อยๆ  ถ้าก้อนข้าวนั้นนิ่งอยู่แสดงว่าไม่ถูก แต่ถ้าข้าวนั้นกวัดแกว่งเป็นวงกลมก็แสดงว่าถูก บางครั้งต้องการความมั่นใจก็ต้องบอกซ้ำให้ก้อนข้าวแกว่งไกวอีกครั้ง เพื่อย้ำความถูกต้อง  ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดคำถามเสร็จแล้วอธิษฐานขอให้ผีปู่ดำย่าดำไป ผูกข้อมือให้เด็กที่ป่วย ซึ่งต้องนำเอาข้าวปั้นและกล้วยสุกในพิธีไปใส่มือเด็กพร้อมผูกข้อมือเพื่อปลอบขวัญเด็กให้หายป่วยและปฏิบัติตามคำพยากรณ์ (สนั่น  ธรรมาธิ.2550)

คติวิถีข้าวชาวล้านนา

             คนล้านนากินข้าวเหนียวเป็นหลัก   ดังนั้นจึงมีคติความเชื่อต่อ การเลือกภาชนะที่บรรจุข้าว   การนึ่งข้าว  การข้าว   การจกข้าวดังนี้

            1. “กินบกจกลง”    คนล้านนาจะนิยมบรรจุข้าวเหนียวไว้ในไหข้าวที่ใช้นึ่งข้าว เวลากินข้าว  ผู้เฒ่าผู้แก่จะสอนลูกหลานให้คดข้าวจากด้านบนก่อน   ห้ามคดลงไปข้างล่างเจาะเอาเฉพาะข้าวที่อยู่ตรงกลางไห ในลักษณะที่เรียกว่า  “กินบกจกลง”  เชื่อว่า ถ้าบ้านใดกระทำเช่นนั้น  จะทำให้ข้าวในยุ้งบกบางหรือลดลงอย่างรวดเร็ว  หรือมิฉะนั้นก็ทำให้ข้าวของเงินทองพร่องลงไปมากจนหมดสิ้นไปในที่สุด

            2. “ตาอิ่มตาอด” ไหบรรจุข้าวของชาวล้านนา  มักจะทำด้วยไม้เนื้อแข็ง  กลึงเป็นทรงกระบอก การเลือกขนาดไหข้าวนั้น  มีการถือเคล็ดว่า ตาอิ่มตาอด  โดยเลือกขนาดไหข้าวที่ต้องการ   จากนั้นใช้นิ้วหัวแม่มือข้างขวาวางทาบบนไหสำหรับกำหนดเป็นตาอิ่มและข้างซ้ายวางทาบบนไหสำหรับเป็นตาอด ให้วางสลับกันไปมา  และเลือกจบที่คำว่า  ตาอิ่ม   ทั้งนี้เชื่อว่า  หากเลือกขนาดไหผิด  ตกในตำแหน่งตาอด  จะทำให้นึ่งข้าวไม่พอสำหรับคนในครัวเรือนกินอิ่มได้

                3.  ข้าวนึ่งพยากรณ์  ปกติข้าวเหนียวนึ่งต้องเป็นสีขาว  หากปรากฏว่า ข้าวเหนียวนึ่งเป็นสีแดงคล้ายสีของเลือด   ห้ามนำมารับประทาน  เพราะเสมือนมีลางบอกเหตุว่าผู้นั้นหรือญาติพี่น้องจะมีเคราะห์  หรือในบางครั้ง ลูกหลานมีการเจ็บป่วยเรื้อรัง ไม่หายสักที    ควรแก้ไขด้วยการไปทำบุญสงเคราะห์ที่วัด

            4. ห้ามเหยียบข้าว   มีข้อห้ามว่า  อย่าเหยียบย่ำหรือเดินข้ามเมล็ดข้าว  เพราะข้าวเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้ความเจริญแก่ชีวิต   การเหยียบย่ำเมล็ดข้าวจะให้ผู้คนหมดความเคารพนับถือ ดังนั้นต้องปฏิบัติต่อข้าวด้วยความเคารพสูงสุด  ซึ่งความเชื่อนี้ปรากฏแต่ครั้งโบราณ  ดังในกฎหมายมังรายศาสตร์ซึ่งกำหนดในสมัยพระเจ้ามังรายได้ปรากฏกฎหมายในลักษณะของการลงโทษผู้ละเมิดต่อข้าว ดังนี้  “ผู้ใดขี้ใส่ข้าวแรกท่านตั้งแต่ตอนหว่านกล้าไปจนถึงตอนย้ายปลูก จะเก็บเกี่ยว ให้มันหาเหล้า ๒ ไห ไก่ ๒ คู่ เทียน ๒ เล่ม ข้าวตอกดอกไม้บูชาข้าวและเสื้อนา”

5. การจกข้าวจากหลอง   หลังจากนำข้าวเปลือกใส่ยุ้ง   ชาวบ้านมีการกำหนดวันนำข้าวเปลือกออกจากยุ้งเพื่อไปขัดสี    เรียกว่า  วันจกข้าว  หลังจากนำข้าวใส่ยุ้งฉาง ก่อนการตักข้าวเปลือกใหม่มาใช้  ชาวบ้านจะใช้ทัพพีตักข้าวใส่กระปุงหรือถัง  ก่อนจะใช้ภาชนะอื่นตักข้าว  และวันจกข้าวครั้งแรกต้องดูกฤษ์ระหว่างไม่ให้เป็นวันปากสัตว์  เพราะหากเป็นวันปากสัตว์ จะทำให้ข้าวหมดไปอย่างรวดเร็ว   โดยชาวบ้านจะยึดปฏิบัติตามตารางวันจกข้าว  ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีกหรือไม้จริง กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตรยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตรด้านหนึ่งทำเครื่องหมายเป็นตาราง 2 แถวจากด้านบนลงล่าง แถวละ 15 ช่องตามจำนวนวันขึ้นแรม โดยแถวหนึ่งเป็นข้างขึ้น อีกแถวหนึ่งเป็นข้างแรม สำหรับดูวันที่จะตักข้าวเปลือกไปตำ ไปสี มักจะผูกแขวนไว้ที่ประตูห้องเก็บข้าวเปลือก   ชาวล้านนาโบราณจะมีตารางวันวันผีช่วยกิน เรียกว่า “ตารางวันผีตามอยช่วยกินข้าว” เป็นตารางบอกว่าวันไหนผีช่วยกินกี่ตัว วันไหนผีไม่กินสักตัว ถ้าตรงกับวันผีช่วยกินห้ามไม่ให้ตักข้าวออกจากยุ้ง เพราะผีจะช่วยกินข้าวให้หมดเร็ว

           

วิถีข้าวที่ผันแปร ฤา คือแรงที่พลิกผัน

      ปัจจุบันดินแดนล้านนาเป็นแหล่งอารยธรรมข้าวกำลังถูกรุกเร้าด้วยระบบทุนนิยมเสรี ภายใต้วิถีการเมืองที่ผันผวน การศึกษาแผนใหม่  วัฒนธรรมข้ามชาติ  ส่งผลต่อแบบแผนชีวิตและการผลิตข้าวของชาวนาล้านนา จากการทำนาแบบพื้นบ้านเปลี่ยนสู่การทำนาที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น ชาวนาพึ่งพาปัจจัยภายนอกและต้องอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถต่อรองได้  ก่อเกิดปัญหาสะสมต่อเนื่องยาวนาน  ทั้งผลผลิตตกต่ำ หนี้สิ้น ปัญหาสุขภาพและสมดุลระบบนิเวศ

        ประกอบกับการเปลี่ยนผ่านจากชุมชนชนบทสู่ชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและสังคมเนื่องจากการขยายตัวของสังคมเมืองและการพัฒนาที่ดินของกลุ่มนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์สนใจเสนอซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาเป็นสถานที่พักและบริการต่าง ๆ   ทำให้ชาวนาบางส่วนที่ไม่สามารถแบ่งรับวิกฤตภาคเกษตรต้องขายที่ดิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาชีพของเกษตรกรและความมั่นคงทางอาหารของสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง 

      แต่อย่างไรตามพบว่า  ได้มีความพยายามของชาวนาบางกลุ่มที่ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตไปสู่ระบบเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรกรรมยั่งยืนได้อย่างไร  โดยทบทวนปรับวิธีคิด และเปลี่ยนวิถีปฏิบัติ  ที่เคยเพลิดหลงลืมจนคิดว่า ข้าวเป็นเพียงพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้หลักของครัวเรือนหลงลืมความเชื่อว่า ข้าวคือจิตวิญญาณของชุมชน  ให้พลิกฟื้นจากการพยายามปรับวัฒนธรรมประเพณีการปฏิบัติต่อข้าวและการผลิตข้าว   

      แต่ยังหวงใยในเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เสมือนหนึ่งมีความรู้กว้างไกลแต่ห่างไกลจากชุมชน  ไม่รู้จักท้องถิ่น ขาดความภาคภูมิใจในสมรภูมิและอาชีพเกษตรกรของบรรพชน ซึ่งหากขาดการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับข้าวซึ่งเป็นวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชุมชนอาจสูญหาย  

       ดังนั้นหากจะสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชน บนฐานคิดว่า   สังคมชาวนา  มีทุนเดิมด้านความสัมพันธ์ทางสังคม  แต่พื้นที่ทางสังคมสำหรับการทำกิจกรรมและการแบ่งปันความรู้ได้ขาดหายเพราะกระแสการพัฒนาสมัยใหม่  ดังนั้นการสนับสนุนให้ชาวนามีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คุณค่าภูมิปัญญาและประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าว   มีสร้างแรงจูงใจในการทำกิจกรรมร่วมกัน โดยการใช้ทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่  ใช้วัดเป็นศูนย์กลาง เพื่อการรวมกลุ่ม  ใช้บุญเป็นเครื่องเสริมสร้างสายใยความสัมพันธ์ของคนในสังคม ทุกเพศวัย  เชื่อว่าน่าจะเป็นการสร้างขุมพลังเพื่อการดำรงอยู่อย่างเข้มแข็งของชาวนาในระบบทุนเสรีและเพิ่มศักยภาพชุมชนเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซี่ยน   ด้วยการฟื้นจิตวิญญาณของชุมชนบนวิถีวัฒนธรรมข้าว

                         

 

 

 

 

 

ผีหม้อนึ่งหรือผีปู่ดำย่าดำ

 

ปฎิทินข้าว         

 

บรรณานุกรม

ก.เอกสารอ้างอิง

1.โกวิทย์    ชลสุวรรณ . 2538. รายงานการวิจัยเรื่องวัฒนธรรมของชาวนาที่ปรากฏในอาชีพทำนา ศึกษาเฉพาะบริเวณคาบสมุทรสทิงพระในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลา   มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

2.ธีรพล   สยามพันธ์. 2538. รายงานการวิจัยเรื่องความเชื่อและพิธีกรรมในการทำนาของชาวบ้านตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมืองจังหวัดพัทลุง .มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

3.มิ่งสรรพ์   ขาวสะอาดและคณะ .2548. รายงานการวิจัยเรื่องโครงการประเมินมูลค่าภูมิปัญญาไทย: กรณีศึกษาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง . สถาบันวิจัยสังคม  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

4.วิมล     ดำศรีและคณะ. 2540. รายงานการวิจัยเรื่องวัฒนธรรมข้าวและพลังอำนาจชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา .สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

5.สนั่น   ธรรมธิ . 2550. มรดกล้านนา .หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์  วันที่  22  เดือนกุมภาพันธ์ 2550.

 

ข.สัมภาษณ์ :

1. นางยุพิน  ยิ่งสมัคร . อายุ  67 ปี  . บ้านเลขที่ 129 หมู่ 4 ต.แม่ฮ้อยเงิน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

2.นางคำป้อ  ทรัพย์นำ .อายุ  68 ปี   บ้านเลขที่ 120 หมู่ 4 ต.แม่ฮ้อยเงิน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

3.นายประเสริฐ  ทะลาบุญ .อายุ 69 ปี บ้านเลขที่ 45 หมู่ 2 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

4.นางดาวเรือง   ธาตุอินทร์จันทร์ .อายุ 69 ปี บ้านเลขที่ 78 หมู่ 2 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

5.นายทองสุข   ธาตุอินทร์จันทร์ .อายุ 56 ปี บ้านเลขที่ 78 หมู่ 2 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #วัฒนธรรมข้าว
หมายเลขบันทึก: 495887เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2012 22:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2012 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท