อีกา กับกาเหว่า


เจอสุภาษิตสันสกฤตในเว็บไซต์ เห็นว่าน่าสนใจ จึงนำมาเล่าและขยายความให้ฟังตามประสา...

 

काकः कृष्णः पिकः कृष्णः

को भेदः पिककाकयोः।

वसन्तकाले सम्प्राप्ते

काकः काकः पिकः पिकः।।

 

กากะ กฺฤษฺณะ ปิกะ กฺฤษฺณะ

โก เภทะ ปิกกากโยะ ฯ

วสนฺตกาเล สมฺปฺราปฺเต

กากะ กากะ ปิกะ ปิกะ ฯ

 

สุภาษิตนี้แต่งเป็นร้อยกรอง บทละ 4 วรรค วรรคละ 8 คำ(พยางค์)

 

นกคัคคูแซงแซว / Drongo Cuckoo (Surniculus lugubris)

ขอบคุณภาพจาก...

http://www.oknation.net/blog/plains-wanderer/2012/06/24/

 

เนื้อหาเข้าใจง่าย เพราะใช้คำง่ายๆ

 

คำศัพท์

  • กากะ – (รูปเดิม กาก) กา, อีกา (เอกพจน์, ประธาน, นามเพศชาย แต่คงหมายถึง อีกาทั่วไปไม่จำกัดเพศ) คำว่า กา นี้ถือเป็นคำเลียนเสียงธรรมชาติเหมือนภาษาไทยเลย
  • ปิกะ – (รูปเดิม ปิก) นกกาเหว่า (เอกพจน์, ประธาน, นามเพศชาย แต่คงหมายถึง นกกาเหว่าทั่วไปไม่จำกัดเพศ) ศัพท์นี้แปลผ่านภาษาอังกฤษว่า cuckoo ผมเองก็ไม่ทราบว่าภาษาไทยเรียกอะไร ตำราใหม่ส่วนมากทับศัพท์ว่าคัคคู แต่ตำราเก่าว่าดุเหว่า หรือกาเหว่า เอาเป็นว่าเราไม่ได้เรียนเรื่องนก ขอเรียก กาเหว่า ก็แล้วกัน จะได้ศัพท์กลืนๆ หน่อย
  • กฺฤษฺณะ –(รูปเดิม กฺฤษฺณ)  ดำ, มีสีดำ (เอกพจน์, ประธาน, เพศชาย ขยายคำ กากะ, และ ปิกะ)
  • โก – (รูปเดิม ตัวเดียว) เป็นสรรพนามใช้ถาม ของนาม เพศชาย เอกพจน์ ที่เป็นประธาน (ในที่นี้ใช้ขยาย เภทะ) แปลว่า อะไร
  • เภทะ – (รูปเดิม เภท มาจากธาตุ ภิทฺ) ความแตกต่าง, การแยกกัน
  • ปิกกากโยะ – เป็นคำสมาสชนิดที่ทั้งสองคำมีความสำคัญเสมอกัน มาจาก ปิก และ กาก รวมกันเป็น ปิกกาก หลายเป็นนามทวิพจน์ (จำนวนสอง) นำไปแจกรูปคำนาม แสดงความเป็นเจ้าของ ก็เป็น ปิกกากโยสฺ หรือ ปิกกากโยะ เมื่ออยู่ในประโยค หมายถึง กาเหว่าและกา
  • วสนฺตกาเล – เป็นคำสมาส (คำประสม) ระหว่าง วสนฺต (ฤดูใบไม้ผลิ) และ กาล (เวลา) เป็น วสนฺตกาล ในที่นี้ลงท้ายว่ากาเล แปลว่า ในเวลาแห่งฤดูวสันต์/ใบไม้ผลิ หรือ ในฤดูใบไม้ผลิ ก็ได้
  •  สมฺปฺราปฺเต – แปลว่า เมื่อถึง (ตัวแกนคือ ธาตุ “ปฺราปฺ” เติม สํ ข้างหน้า = สํปฺราปฺ แล้วเติม “ต”  เป็น สํปฺราปฺต หรือ สมฺปฺราปฺต ก็ได้ แสดงความเป็นอดีต หรือกรรมวาจก (passive voice) แล้วแจกคำนามบอกตำแหน่ง แปลว่าใน/ที่... หรือแปลสำเร็จรูปว่า “เมื่อ...” ในที่นี้แปลว่า เมื่อ...ถูกมาถึง, แปลให้เข้าใจง่ายๆ ก็ว่า เมื่อถึงเวลา นั่นเอง

 

คำแปล

คำศัพท์มีแค่นี้ มาดูกันว่า ร้อยกรองทั้งหมดแปลว่าอะไร

 

กากะ (กา) กฺฤษฺณะ (สีดำ) ปิกะ (กาเหว่า) กฺฤษฺณะ (สีดำ)

โก (อะไร) เภทะ (ความแตกต่าง) ปิกกากโยะ (ของกาเหว่าและกา)

วสนฺตกาเล (ฤดูใบไม้ผลิ) สมฺปฺราปฺเต (เมื่อถึง)

กากะ (กา) กากะ (กา) ปิกะ (กาเหว่า) ปิกะ (กาเหว่า)

 

แปลอีกที

 

กา(มี)สีดำ กาเหว่า(ก็มี)สีดำ

(มี)ความแตกต่างใดระหว่างกาเหว่าและกา

เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ

กา(ก็คือ)กา กาเหว่า(ก็คือ)กาเหว่า

 

เห็นไหมครับ แปลง่ายๆ แต่เข้าใจยาก ที่เข้าใจยากตรงบรรทัดสุดท้ายนี่แหละ

 

ทำไมฤดูใบไม้ผลิ กาก็คือกา กาเหว่าก็คือกาเหว่า  เราทราบได้อย่างไร

 

มีอรรถาธิบายว่า ปกตินกสองตัวนี้ (คงจะเป็นพันธุ์อินเดีย) หน้าตาคล้ายกัน ดำเหมือนกัน ดูไม่ออก แต่พอถึงวสันตฤดู นกชอบร้องเพลง ทีนี้ล่ะ ตัวไหนเป็นกา ตัวไหนเป็นกาเหว่า ก็ทราบจากเสียงร้องนี่แหละ

 

หรือจะแปลว่า เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ การ้องกา กา  กาเหว่าร้อง เกาเว่า กาเว่า ก็ได้เหมือนกันนิ...

บางคนบอกว่า พอฤดูใบไม้ผลิ กาส่งเสียง แต่กาเหว่าร้องเพลง ฯลฯ ก็ว่ากันไป

 

หรือใครมีความเห็นอย่างอื่นก็เชิญแถลงได้ครับ สุภาษิตเขาว่ามาสั้นๆ แค่สี่บรรทัด หรือจะมีนัยโยงไปถึงพฤติกรรมของคนด้วยก็น่าจะใช้ได้เหมือนกัน แล้วแต่ใครจะตีความ

 

คำสำคัญ (Tags): #กา#กาเหว่า
หมายเลขบันทึก: 493975เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2012 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2012 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะคุณครู

อ่านแล้วเหมือนเข้าใจง่าย แต่ปัญญายังน้อย...ยากนะคะ ลองคิดแบบคนที่มีความรู้จำกัดก็แล้วกัน

เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ  กา(ก็คือ)กา กาเหว่า(ก็คือ)กาเหว่า... คงเป็นทำนองที่คุณครูว่านั่นล่ะค่ะ (อธิบายไว้สั้นกระชับเข้าใจง่ายแล้ว)

หรือจะแปลไปในความหมายที่ว่า เมื่อถึงเวลา คุณค่าที่แท้จริงก็จะแสดงออกมา

หรือ ในยามคับขันย่อมเห็นความกล้าหาญ

หรือ ยามยากจึงพบเพื่อนแท้

หรือ คุณธรรมย่อมปรากฎเมื่อได้อยู่ร่วม/ทำงานด้วยกัน... ทำนองนี้ล่ะค่ะ

ครูบาอาจารย์ นักปราชญ์ท่านเก่งและมีความคิดลึกซึ้ง แค่ 4 วรรค ต่อยอดความคิดได้มากมายเลย

ขอบคุณค่ะ

ปล. ขออนุญาตเห็นคำตก (ซึ่งไม่ค่อยได้เห็น) ... โก – (รูปเดิม ตัวเดียว) เป็นสรรนามใช้ถาม ของนาม ... (ตกตัว พ ค่ะ)

 

สวัสดีค่ะ คุณธ.วัชชัย..ขอร่วมแสดงความเห็นเล็กน้อย ...อืมม์..อาจจะไม่ใช่คำแปลเกี่ยวกับสุภาษิตนี้นะค่ะ เพียงแต่คุณธวัชชัยได้เริ่มไว้ให้ ในคำแปล ซึ่งก็ชัดเจนแล้ว เพียงแต่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับนกบ้าง ก็เลยเพิ่มเติม กรณีนกคัดคูค่ะ .. ปกตินกกลุ่ม คัคคู มีพฤติกรรม ที่จะวางไข่ในรังของนกชนิดอื่น และให้นกชนิดนั้นช่วยฟักไข่ให้ มีหลายชนิดในกลุ่มคัดคูที่เป็นอย่างนี้ จึงไม่แปลกอย่างที่เ่ราทราบกันว่า นกกาเหว่ากับกา ซึ่งเราก็ได้ยินเพลงกล่อมเด็กที่ร้องว่า "นกกาเหว่าเอย ไข่ไว้ให้แ่ม่กาฟัก แม่กาก็หลงรัก คิดว่าลูกในอุทร..." นกวัยเด็กทั้งสองชนิดที่คล้ายกันถึงแม้ถูกเลี้ยงมาด้วยกัน ณ วันหนึ่งก็แสดงความเป็นสายพันธุ์ของตนเอง ..คล้ายๆกับสำนวนบ้านเรา "เืชื้อไม่ทิ้งแถว" หรือเปล่าค่ะ??..ขอบคุณค่ะ :-))

สวัสดีครับ คุณ Blank kwancha

ขอบคุณครับที่มาเ้พิ่มเติมเรื่องนก

(ผมไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้ ทั้งๆ ที่ใกล้บ้านมีนกมาร้องเซ็งแซ่)

เคยได้ยินว่านกพวกหนึ่งที่ไข่ให้นกอื่นฟัก เป็นนกจำพวกนี้นี่เอง ...

 

คนโบราณคงจะคุ้นเคยกับธรรมชาติ หยิบเรื่องโน้นเรื่องนี้มาเปรียบเทียบ

แต่เราๆ ท่านๆ อาจจะห่างธรรมชาติไปนิด เลยต้องคิดมากขึ้นอีกหน่อย

คล้ายๆ "เชื้อไม่ทิ้งแถว" เหมือนกันครับ แต่หนักเบาต่างกันไป

หรือจะเป็น "ออกลาย" อันนี้ค่อนไปทางไม่ดี..

 

สวัสดีครับ คุณรากไม้ ใบไม้ Blank

 

ขอบคุณครับ ที่ช่วยตรวจทาน แก้ไขแล้ว ;)

คนโบราณเขียนสั้นๆ แต่ได้ใจความมาก ถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งครับ

อันที่จริงควรจะอ่านออกเสียงด้วย

 

คนอ่านก็เก่งครับ คิดแตกแขนงออกไปได้เยอะ วันหลังจะได้หาสุภาษิตน่าขบคิดมาให้อ่านอีก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท