หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : (สื่อนฤมิต) ...ว่าด้วยเรื่อง 4 In 1 ความพยายามและความสำเร็จที่มองเห็นรำไร


4 In 1 ในที่นี้หมายถึง การปฏิรูปการเรียนการสอนด้วยการบูรณาการพันธกิจของมหาวิทยาลัย 4 ประเด็นเข้าด้วยกัน นั่นก็คือ การผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

โครงการ “บริการวิชาการด้านสื่อนฤมิตสู่ชุมชนตำบลหนองบัว อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม”  เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งตามนโยบาย “1 หลักสูตร 1 ชุมชน”  ที่สะท้อนให้เห็นความพยายามที่จะบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ในแบบ 4 In 1 (Four in One)  



กระบวนการเรียนรู้ในแบบ 4 In 1 ในที่นี้หมายถึง การปฏิรูปการเรียนการสอนด้วยการบูรณาการพันธกิจของมหาวิทยาลัย 4 ประเด็นเข้าด้วยกัน นั่นก็คือ การผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

 

 

โครงการดังกล่าวฯ ดำเนินการโดยสาขาสื่อนฤมิต (คณะวิทยาการสารสนเทศ) มีอาจารย์กันยารัตน์  ยังมี เป็นผู้รับผิดชอบหลัก  ประกอบด้วยวัตถุประสงค์สำคัญๆ คือการถ่ายทอดความรู้และเสริมสร้างทักษะเกี่ยวกับการผลิตสื่อการเรียนการสอนในชั้นเรียนด้วยโปรแกรม  Adobe Captivates  ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ (Learning Process) ที่จัดขึ้นนั้นถูกออกแบบให้เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน (ลปรร.) ระหว่าง “อาจารย์ นิสิตกับชุมชน”

 

 

ในทางกระบวนการนั้น  เริ่มต้นจากทางสาขาได้จัดกิจกรรม SWOT เพื่อให้เห็นภาพรวมในตัวตนของนิสิตว่ามี “ความศักยภาพ”  ในเรื่องใดบ้าง  จากนั้นจึงนำนิสิตลงมาประชุมร่วมกับชุมชนที่ประกอบด้วยแกนนำ อบต.หนองบัว แกนนำชาวบ้าน และคณะครูในพื้นที่ชุมชนตำบลหนองบัว  เพื่อหารือ (โสเหล่) ร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นความสนใจของชุมชน

 

การประชุมดังกล่าวเป็นเสมือนการประชุมเพื่อฟังความคิดเห็น (Public Meeting) เป็นการชี้แจงภาพรวมโครงการและวัตถุประสงค์สำคัญๆ ให้กับชุมชนได้รับรู้ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนแบบมีส่วนร่วม (Participation)  โดยเริ่มตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมลงมือทำ (Action) และร่วมรับผิดชอบ หรือแม้แต่การปักธงสู่อนาคตในเรื่องของการฟังน้ำเสียงของชุมชนเกี่ยวกับการสานต่อภารกิจ  เพื่อก่อให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนด้วยตนเอง  

  • ซึ่งการประชุมในครั้งนั้น  ชุมชนได้ตัดสินใจเลือกที่จะเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพตนเองในเรื่องของการผลิตสื่อด้วยโปรแกรม Adobe Captivates  โดยมีผู้สนใจที่เป็น “ครู” จากสถานศึกษา 7 แห่ง สมัครเข้าร่วมการอบรมจำนวน 2 รุ่น (57 คน)  

 

 


 

อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าสังเกตว่าโครงการ “บริการวิชาการด้านสื่อนฤมิตสู่ชุมชนตำบลหนองบัวฯ”  เป็นโครงการที่บูรณาการพันธกิจทั้ง 4 ด้านได้อย่างน่าสนใจ  กล่าวคือ

  • เมื่อได้โจทย์อันเกิดจากความต้องการของชุมชนแล้ว อาจารย์ก็นำโจทย์กลับมาสู่การเรียนการสอนแก่นิสิต เพื่อให้นิสิตมีความรู้ ความชำนาญในเรื่องดังกล่าว
  • รวมถึงการเรียนรู้และเติมเต็มเกี่ยวกับทักษะการถ่ายทอดความรู้ให้กับนิสิต  
  • พร้อมๆ กับการบอกเล่า “บริบท” ของโครงการที่จะทำ และเรื่องราวอันเป็นบริบทของชุมชนให้นิสิตได้มองเห็นภาพที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

 

ถัดจากนั้นจึงสร้างกลไกให้นิสิตขยับเข้ามาเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับอาจารย์  รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้ชุมชนได้มีส่วนในการออกแบบการเรียนรู้ร่วมด้วย 

ครั้นถึงวาระการจัดกิจกรรม (ระยะกลางน้ำ)  นิสิตก็ทำหน้าที่เป็น “วิทยากร”  ถ่ายทอดความรู้  และทำหน้าที่อื่นๆ หนุนเสริมกัน เช่น  ฝ่ายเอกสาร  ฝ่ายปฏิคม  ฝ่ายที่พัก ฯลฯ  เรียกได้ว่ามีการแต่งตั้งนิสิตเข้ามาบริหารจัดการโครงการร่วมกับอาจารย์อย่างเป็นรูปธรรม  มีประธาน รองประธาน เลขานุการ เหรัญญิกเลยทีเดียว

ขณะที่อาจารย์ก็ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำและประเมินเสริมพลัง (Empowerment) ให้กับนิสิตเป็นระยะๆ

 

 

 

 

ในทำนองเดียวกันนี้ คณะทำงานในกลุ่มอาจารย์จากสาขาดังกล่าว  ยังมุ่งกระตุ้นให้ครูที่เข้าร่วมอบรมได้ผลิตสื่อด้วยตนเอง  เพื่อให้ตรงกับความวัตถุประสงค์ของรายวิชาที่สอนในชั้นเรียน  รวมถึงให้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน  เพื่อลดทอนวัฒนธรรมการเรียนรู้เดิมๆ ที่มักใช้สื่อสำเร็จรูปมากจนเกินไป  ซึ่งบางสื่อก็ไม่สอดรับกับบริบทของ “เนื้อหาวิชา” และ “ตัวตน” ของผู้เรียน

 

และที่สำคัญเลยก็คือ  เมื่อ “ครู” สามารถผลิตสื่อมัลติมีเดียเสร็จสิ้นแล้ว  คณะทำงานโครงการจากมหาวิทยาลัยฯ  ยังมีกระบวนการหนุนเสริมให้ครูนำสื่อที่ผลิตขึ้นไปใช้จริงกับผู้เรียนในชั้นเรียนที่ครูสอน  พร้อมๆ กับการติดตามเพื่อให้คำแนะนำแก่ครู เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้มีประสิทธิภาพ  และพัฒนากระบวนการเรียนการสอนด้วยสื่อดังกล่าวสู่การ “วิจัยในชั้นเรียน” ควบคู่กันไป  เป็นการพัฒนาศักยภาพของครูในอีกมิติหนึ่ง

 

เช่นเดียวกับคณะอาจารย์จากสาขาสื่อนฤมิตก็จัดวางให้มีกลไกของการ “วิจัย” เข้าไปประเมินหนุนเสริมกระบวนการทั้งหมดด้วยเหมือนกัน โดยเป็นการวิจัยผ่านการบริการวิชาการแก่สังคมในมิติของ “1 หลักสูตร 1 ชุมชน”

 

นอกจากนี้แล้ว ยังมอบหมายให้นิสิตลงสู่ชุมชน เพื่อเรียนรู้ “วิถีวัฒนธรรม”  ด้วยการศึกษาข้อมูลเชิงกายภาพและชีวภาพของชุมชนด้วยตนเอง  โดยการศึกษา รวบรวมข้อมูลอันเป็นบริบทของชุมชนให้เป็นรูปธรรม และหากนิสิตสนใจที่จะนำเรื่องราวในชุมชนแห่งนี้มาเป็น “วัตถุดิบ” ในการผลิตสื่อเพื่อท้องถิ่น ภายใต้ “โปรเจคใหญ่” ที่นิสิตในสาขาทุกคนต้องเรียน

 

 

 

และที่น่าประทับใจเป็นพิเศษก็คือในช่วงพักผ่อน นิสิตได้พยายามสร้างสรรค์กิจกรรม “ลูกฮัก” ขึ้นมาโดยเข้าไปฝากตัวกับชาวบ้าน  หรือคณะครูที่มาอบรม  ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างสรรค์กิจกรรมที่หนุนเสริมเข้ามาอย่างมีพลัง เพราะกิจกรรมดังกล่าว จะช่วยให้การอบรมและการเรียนรู้วิถีชุมชนเป็นไปอย่าง "ราบรื่น" และมี “ชีวิต”

 

นี่จึงเป็นกระบวนการที่สะท้อนถึงความพยายามที่จะบูรณาการระบบการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเข้าด้วยกันตามแนวคิด 4 In 1 เสมือนการเพียรพยายามที่จะปฏิรูปการศึกษา  ทั้งในภาพของหลักสูตร กระบวนการ  ผู้สอน/ผู้เรียน และการบริหารจัดการไปพร้อมๆ กัน

 

โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า "เริ่มต้นดี ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง" และสำคัญครั้งนี้ทีมทำงานก็ได้เริ่มต้นจากการเพียรพยายามอย่างเต็มกำลัง  หากยังขับเคลื่อนต่อเนื่อง มีกระบวนการที่ดี  มีการจัดการความรู้ที่ดี "ทำไป ถอดบทเรียนไป" เชื่อเหลือเกินว่า "ความสำเร็จ"  ในกลไก 4 In 1 อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน

 

 ..ให้กำลังใจกันต่อไป...ครับ...

 

 

หมายเหตุ :

กำหนดการโครงการ "บริการวิชาการด้านสื่อนฤมิตสู่ชุมชนตำบลหนองบัวฯ" โดยการจัดอบรมให้ความรู้และเสริมทักษะในการผลิตสื่อมัลติมีเดียฯ ณ อบต.หนองบัว อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม

1.รุ่นที่ 1 วันที่ 7-9  กรกฎาคม 2555 และ 14-15 กรกฎาคม 2555 เวลา 09.00-16.00 น.
2.รุ่นที่ 2 วันที่ 21-22 กรกฎาคม 2555 และ 28-29 กรกฎาคม 2555เวลา 09.00-16.00 น.

 

หมายเลขบันทึก: 493961เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2012 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2012 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ชื่นชมคุณแผ่นดินมาก เลย บนทึกของคุณ เป็นบันทึกที่มีคุณภาพมาก ผ่านการเล่าเรื่องเชื่อมโยง สถานการณ์ สรุปประเด็นไว้เด่นชัด ภาพสื่อความชัดเจน เหมาะแล้วที่เคยได้ รางวัลสุดคะนึง ตอนนี้น่าจะเป็น ยอดสุดคะนึงค่่ะ ชลัญมาอ่านคิดว่าน่าจะทุกบันทึก แต่บางทีมือมันลืมคลิกให้ดอกไม้ วันนี้ให้เพิ่ม เป็น ช่อเลยล่ะกัน

ทำเองกับมือเลยนะนี่

 

ขอโทษเมื่อกี้เอามาผิดรูป ตั้งใจให้ช่อนี้  แต่แถมตุ๊กตาทำเองกะมือด้วย อิ อิ อิ

สวัสดีครับ คุณชลัญธร

การคลิ๊กดอกไม้...เสมือนการปลูกดอกไม้ไว้ในสวนดวงใจของกัลยาณมิตร (55)
...

อย่าถึงขั้นยกย่องผมเกินไปเลยครับ  ผมยังคงคิดและเขียนประเภท "วิชาการสามบรรทัด" เท่านั้นเอง ที่เหลือคือการ "น้ำท่วมทุ่ง"...

ระยะหลัง ผมไม่ค่อยได้เขียนบันทึกในแบบสายลมแสงแดดเหมือนแต่ก่อน นั่นเพราะวิถีการงาน หรืออาจเป็นเพราะมีบางอย่างเปลี่ยนแปลงในตัวตนของตนเองที่ผมยังค้นหาคำตอบไม่เจอ  ซึ่งนี่ก็กำลังหันกลับไปเขียน กลอน ลำนำ หรือแม้แต่บันทึกเปลือยความสุขเหมือนอดีต-ซึ่ง ณ ตอนนี้ใช้พลังอย่างมากเลย ไม่รู้จะทำได้ซักกี่มาก น้อย

...

เหนือสิ่งอื่นใด...ขอบคุณทุกๆ ถ้อยนำที่นำพามาหนุนเสริมกำลังใจผมนะครับ
ขอบคุณดอกไม้ช่องามที่นำมาฝาก และขออนุญาตเพาะเลี้ยงให้เบ่งบานและชื่นบาน รวมถึงส่งต่อไปยังกัลยาณมิตรท่านอื่นๆ ต่อไป

 

เป็นการบูรณาการสื่อการเรียนรู้ที่ดีค่ะ..เสริมทั้งครู และนักศึกษา เพื่อขยายผลต่อไปยังชุมชนและสังคม..

แวะมาชมบทความที่ดีๆก่อนมื้อเที่ยงค่ะเป็นโรคกระเพาะอาหารต้องทานข้าวให้ตรงเวลา สบายดีวันอาทิตย์นะคะ

สวัสดีครับ พี่นงนาท สนธิสุวรรณ

สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ผมมองก็คือ  ครูจะสามารถผลิตสื่อด้วยตนเองได้ สามารถผลิตสื่อที่ตรงกับแบบเรียน หรือความต้องการของเด็กได้โดยตรง  เด็กๆ ก็จะตื่นเต้นกับสื่อที่มีเรื่องราวใกล้ตัว  และหวังใจลึกๆ ว่า  ดีไม่ดีเด็กนักเรียนอาจทำสื่อเรียนรู้ได้ด้วยตนเองเหมือนโรงเรียนอื่นๆ ..

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่หมูจ๋า

ทำงานหนักแค่ไหน ก็อย่าลืมทานข้าวให้ตรงเวลานะครับ...กองทัพอันเกรียงไกร เดินด้วยท้อง (เสมอ)

รักษาสุขภาพครับ

  • อาจารย์แม่ชอบหลักการ "บูรณาการภารกิจ" มากค่ะ และบันทึกนี้ก็ได้แสดงให้เห็นตัวอย่างการบูรณาการภารกิจที่ชัดเจน ลึกซึ้ง โดยผู้เขียนที่มีเอกลักษณ์ของการวางแผน การปฏิบัติการ และการสะท้อนผลการปฏิบัติการแบบใคร่ครวญ ทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
  • อ่านบันทึกของ "ลูกแผ่นดิน" ทุกบันทึก อาจารย์แม่ก็รู้สึกอยากให้อาจารย์และผู้บริหารที่มหาวิทยาลัยของอาจารย์แม่ ได้เข้ามาอ่านและเกิดแรงบันดาลใจ นำไปประยุกต์ใช้ ทุกครั้ง แต่เสียดายว่า ไม่มีใครอีกในมหาวิทยาลัยของอาจารย์แม่ ที่เป็นสมาชิก GotoKnow และอาจารย์แม่ก็จะทำงานให้มหาวิทยาลัยอีกไม่กี่เดือน แล้วก็จะออกไปอยู่ที่ฟาร์ม ไปช่วยงานในหมู่บ้าน วัดและโรงเรียนค่ะ 
  • อาจารย์แม่สงสัยว่า ลูกแผ่นดินพิมพ์ผิดหรือเปล่า ตรงข้อความว่า "...โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า เริ่มต้นมี ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง..." จริงๆ แล้วจะพิมพ์ว่า "เริ่มต้นดี..." หรือเปล่าคะ
  • เท่าที่ตัวเองมีประสบการณ์ ปกติแล้วการเรียนรู้ในระดับมหาวิทยาลัยมักเน้นไปที่การรับฟังความรู้จากบรรดาคณาจารย์ แต่จากบันทึกต่างๆของอาจารย์ ทำให้มุมมองตัวเองต่อเรื่องดังกล่าวเปลี่ยนไปมากเลย ด้วยความชื่นชมครับอาจารย์.. 
  • ขอบคุณอาจารย์ที่แวะไปเยี่ยมเยือนด้วยครับ
  • แวะมาเรียนรู้และให้กำลังใจ ครับ

ขอเป็นกำลังใจให้กับนิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศทุกค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท