หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : (สาขาประมง) ว่าด้วยการปรับแต่งการเรียนรู้ตามสถานการณ์จริง


การปรับเปลี่ยนรูปแบบ หรือกระบวนการเช่นนี้ จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากการรบพุ่งในสนามรบก็ไม่ผิด เพราะ “...เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหา หรือศัตรู นักรบย่อมกล้าที่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ “รุกและรับ” ได้ตลอดเวลา หยิบจับ หรือชักอะไรออกมาก็ต้องเป็นอาวุธได้ทั้งนั้น ไม่ใช่ตกตะลึงจนทำอะไรไม่ถูก...สุดท้ายก็พ่ายทัพยับเยิน”

 

(1)

กิจกรรม “1 หลักสูตร 1 ชุมชน”  ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นรูปแบบการบูรณาการทาง “วิชาชีพ”  จากการเรียนการสอน การวิจัยสู่การบริการวิชาการแก่สังคม โดยมีชุมชนเป็นฐาน (Community Based) เท่านั้น  หากแต่ในเนื้อแท้ของการขับเคลื่อนกิจกรรมนั้น  ยังต้องอาศัยกิจกรรม  หรือศาสตร์อื่นๆ หนุนเสริมเข้าไปด้วย  รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง  เพื่อให้กระบวนการทั้งปวงไม่สะดุดล้ม ถึงขั้นต้องยุติการจัดกิจกรรมลงอย่างฉับพลัน  

 

ยิ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องเรียนรู้นอกชั้นเรียน ยิ่งไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าใดๆ ได้อย่างเสร็จสรรพ  เมื่อลงสู่ชุมชน  จึงจำต้องเตรียมพร้อมเสมอสำหรับการ “รุก-รับ” หรือปรับเปลี่ยนกิจกรรม/กระบวนการให้สอดรับกับสถานการณ์จริง

 


 

(2)

 

โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดแก่สหกรณ์ประมงผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอำเภอโกสุมพิสัย จำกัด (สาขาประมง คณะสัตวแพทย์ศาสตร์และสัตวศาสตร์) เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เมื่อลงสู่ชุมชนแล้ว พบว่ามีการปรับกระบวนยุทธให้สอดรับกับสถานการณ์จริงอยู่ตลอดเวลา  รวมถึงการกำหนดรูปแบบกิจกรรมอื่นๆ ขึ้นมารองรับ  เพื่อให้นิสิตสามารถเข้าสู่การเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย  ลดทอนการจับกลุ่มเป็นกระจุกๆ ในแบบของ “คนล้นงาน”

 

โครงการดังกล่าวนี้  ดร.วิภาวี ไทเมืองพล และอาจารย์เอกพล วังคะฮาต เป็นผู้รับผิดชอบหลักในกิจกรรมทั้งปวง  โดยในวันที่ 23 มิถุนายน 2555 ได้เดินทางสู่ชุมชน เพื่อจัดกิจกรรมสำคัญๆ คือการลงตีอวนเพื่อคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลาสวาย ปลาเทโพ  การฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่  ถ่ายทอดความรู้เรื่องการป้องกันและรักษาโรคปลา  ตลอดจนการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบและการปรับปรุงคุณภาพน้ำเบื้องต้นสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  ซึ่งในกำหนดการระบุชัดแจ้งตั้งแต่เวลา 07.00-23.00 น.

 

เรียกได้ว่าการลงชุมชนในวันนี้มีกิจกรรมต่อเนื่องยาวนาน  เพราะอย่างน้อยในเรื่องของการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่นั้น  มีกระบวนการฉีดเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ที่ต้องทิ้งช่วงห่างของเวลาร่วมๆ 4 ชั่วโมงเลยทีเดียว

 

 

 

(3)

สำหรับกิจกรรมในวันนี้  เปิดตัวขึ้นด้วยความเรียบง่ายและเป็นกันเอง โดยอาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการได้เรียกนิสิตมาชี้แจงถึงภาพรวมของกิจกรรมที่จะมีขึ้นในวันนี้ รวมถึงกิจกรรมที่นิสิตจะต้อง “เรียนรู้วิถีชุมชน”  ในมิติต่างๆ ซึ่งมอบหมายให้แกนนำที่ผ่านการอบรมทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับเพื่อนคนอื่นๆ


ถัดจากนั้นก็นำนิสิตลงสู่บ่อเลี้ยงปลาของสมาชิกสหกรณ์เพื่อตีอวนคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลายสวายและปลาเทโพ  -

 

ขั้นตอนนี้ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญมาก  เพราะนิสิตต้องลงมือปฏิบัติจริงตั้งแต่ลากอวน  คัดเลือกเพศของปลา สังเกตความพร้อมของปลาว่าอยู่ในระยะตั้งไข่แล้วหรือยัง  หรือในอีกมิติก็คือการคัดเลือกปลาที่เหมาะสมต่อการนำมาเรียนรู้เชิงปฏิบัติการร่วมกันระหว่าง “นิสิตกับชาวบ้าน” นั่นเอง

 

 

ในขั้นตอนนี้  ผมถือเป็นการเรียนรู้ที่น่าสนใจมาก  เพราะนิสิตได้เรียนรู้อย่างใกล้ชิดกับชาวบ้านที่เป็น “นักปฏิบัติ”  (ปัญญาปฏิบัติ)  ซึ่งมากด้วยความรู้และประสบการณ์ตรงในการเลี้ยงปลาและจับปลา  ภาพที่พบจึงไม่ต่างจากการเรียนรู้ร่วมกับ “ปราชญ์ชาวบ้าน” ดีๆ นั่นเอง
 

และการเรียนรู้ที่ว่านั้น  ชาวบ้านก็ให้ความกรุณาสอนนิสิตด้วยความเมตตา ไม่มีการปิดกั้น หรือปิดบังคลังความรู้ใดๆ ทั้งสิ้น  เสียดายก็แต่นิสิตจำนวนมากไม่มีโอกาสได้ลงไปสัมผัสการเรียนรู้ในบ่อปลาด้วยตนเอง  จึงจำต้องเรียนรู้ผ่านการเฝ้าสังเกตอยู่บนฝั่ง... ขณะที่บางคนก็ลุ้นและรอที่จะรับช่วงปลาขึ้นมาจากบ่อ เพื่อนำไปพักตัวก่อนนำกลับเข้าสู่กระบวนการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ต่อไป

 

 

 



(4)

 

ในช่วงที่รอการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ให้กับปลา  เป็นห้วงเวลายาวนานอยู่มาก  อีกทั้งกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องของการคำนวณปริมาตรยาและการฉีดฮอร์โมนฯ  อุปกรณ์ก็มีจำนวนจำกัด  นิสิตเกือบทั้งหมดดูเหมือนตีบตันราวกับ “ไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี”  คณาจารย์ต่างๆ  จึงจำต้องปรับกระบวนกระบวนการเรียนรู้  ด้วยการกระตุ้นให้นิสิตฟังการบรรยายและสังเกตกระบวนการต่างๆ อย่างใกล้ชิด  เสมือนการเกาะติดขอบสนามก็ไม่ปาน

 

นอกจากนั้น  ชาวบ้าน หรือสมาชิกของสหกรณ์ฯ อันเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมอบรมในเรื่องการป้องกันและรักษาโรคปลา รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพน้ำฯ ก็ยังเดินทางมาไม่ถึง หรือแม้แต่เดินทางมาเข้าร่วมต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้  แทนที่จะยกเลิก หรือเลื่อนกำหนดการออกไป  ก็ปรับแผนตามสถานการณ์ตรงนั้นเลย  ด้วยการเดินหน้าจัดอบรมให้กับแกนนำที่มาเพียงไม่กี่คน  พร้อมๆ กับการกระตุ้นให้แกนนำได้นำความรู้กลับไปถ่ายทอดให้กับสมาชิกได้ร่วมเรียนรู้และซึมซับอย่างต่อเนื่องในวาระต่อไป  โดยบุคลากรจากมหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” คอยติดตามและดูแลอย่างไม่เพิกเฉย

 



กรณีเช่นนี้  ผมถือว่าเป็น “ทางออก” ที่ดี  เพราะเท่าที่รู้มา สมาชิกในสหกรณ์ล้วนมีฮอร์โมนและอุปกรณ์การฉีดฮอร์โมนอยู่ในมือด้วยกันทั้งนั้น  ขาดแต่เพียงความรู้และทักษะในการฉีดฮอร์โมนเท่านั้นเอง  

  • นี่จึงเป็นโอกาสอันดีของการเริ่มต้นสู่การเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้  ดีกว่ายุติกิจกรรม หรือเลื่อนกิจกรรมออกไป  ซึ่งดูแล้วก็ไม่ควรต้องตัดสินใจแบบนั้น  เพียงแต่ในระยะเวลาที่เหลือต้องปรับแผนใหม่ด้วยการ “หนุนเสริม” เป็นระยะๆ  หรือแม้แต่จัดกิจกรรมในทำนองนี้อีกครั้ง โดยครั้งใหม่  สมาชิกจะต้องเข้าร่วมการเรียนรู้ให้มากกว่าครั้งนี้เท่านั้นเอง

 

 

 


 

(5)

 

ในทำนองเดียวกันนั้น  เมื่อมีการปรับแผนการทำงานโดยยึดสถานการณ์จริงเป็นตัวตั้ง  กระบวนการเรียนรู้อื่นๆ จึงถูกออกแบบขึ้นใหม่  หรือแม้แต่ออกแบบไว้แล้ว ก็จำต้องถูกดึงขึ้นมาใช้อย่างเร่งด่วนด้วยเหมือนกัน  อาทิการหนุนเสริมด้วยแนวคิด “อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายไล่ขวิดลุกท่านเล่น”


 

 

 

ครับ-แนวคิดดังกล่าวนั้น  ผมแลกเปลี่ยนกับคณะทำงาน  เพื่อกระตุ้นให้นิสิตตระหนักถึงสิ่งที่พึงกระทำให้เกิดประโยชน์ต่อสถานที่อันเป็นบริบทที่ตนเองกำลังเหยียบยืนอยู่  ไม่ใช่ทำตัวลอยนวล  หรือลอยมาลอยไปอย่างเปล่าเปลือง  หรือไม่ก็ทำตัวเป็น  “คนล้นงาน”  โดยไม่สนใจที่จะขยับเข้าช่วยเหลือผู้อื่น  หรือแม้แต่การไม่สนใจที่จะเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ที่มากกว่า “โจทย์” หรือ ”กิจกรรมหลัก” ที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่แรก

 



ด้วยแนวคิดที่ว่านี้จึงกิจกรรมอื่นๆ จึงถูกออกแบบขึ้นอย่างเร่งด่วน  เช่น  ให้นิสิตชวนกันล้างบ่อปลาให้กับชาวบ้าน  เก็บกวาดขยะในชุมชน  เดินเท้าเข้าสู่ชุมชนเพื่อพบปะทักทายและเรียนรู้วิถีชาวบ้าน   ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบของผู้คนหลากวัย-หลากสถานะ  รวมถึงการเข้าครัวเพื่อจัดเตรียมอาหารการกินร่วมกับชาวบ้าน  ฯลฯ

  • เพราะเชื่อว่าในทุกๆ กิจกรรมล้วนเป็นกระบวนการเรียนรู้  “ชีวิตและสังคม” อย่างมหัศจรรย์   หากนิสิตเปิดใจเรียนรู้ย่อมได้รับ “ทุนชีวิต” คืนกลับมาอย่างไม่ต้องกังขา  เป็นต้นว่า การเห็นคุณค่าของตนเอง  คุณค่าของผู้อื่น และการเห็นคุณค่าของสังคมมากกว่าที่ผ่านมา 

 

 

 

 

(6)

 

เหนือสิ่งอื่นใดจึงกล่าวได้ว่า  โครงการดังกล่าวฯ นี้  เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะประเด็นของการเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนแผน/กิจกรรม หรือกระบวนการต่างๆ ให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริงของสถานการณ์นั้นๆ  เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์  หรือได้  “ทุนรอนทางความคิด” กลับไปขยายผลต่อในบริบทของแต่ละภาคส่วนให้ได้มากที่สุด 

  • เพราะในความเป็นจริงของโลกใบนี้  เราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าต่อสิ่งใดได้อย่างเสร็จสรรพ  ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ  “...ผ่อนปรน ยืดหยุ่น และปรับแก้...”

 

 

ครับ-การปรับเปลี่ยนรูปแบบ หรือกระบวนการเช่นนี้  จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากการรบพุ่งในสนามรบก็ไม่ผิด  เพราะ “...เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหา หรือศัตรู  นักรบย่อมกล้าที่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ “รุกและรับ”  ได้ตลอดเวลา หยิบจับ หรือชักอะไรออกมาก็ต้องเป็นอาวุธได้ทั้งนั้น ไม่ใช่ตกตะลึงจนทำอะไรไม่ถูก...สุดท้ายก็พ่ายทัพยับเยิน”

 

ซึ่งคณะทำงานในโครงการฯ นี้ ก็ล้วนพลิกสถานการณ์ทั้งปวงได้เป็นอย่างดี  สมควรที่จะได้รับเสียงปรบมือและยึดเป็นต้นแบบการเรียนรู้ไม่แพ้โครงการฯ อื่นๆที่ขับเคลื่อนมาก่อนหน้านี้

 

23 มิถุนายน 2555
...

หมายเลขบันทึก: 493910เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2012 20:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2012 10:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ความรู้ การเรียนรู้ มีในการประมงไทย

ขอบคุณ สำหรับบทความดีดีนี้นะค่ะ

สวัสดีครับ พี่Somsri



เท่าที่ทรบมา ในอดีตอำเภอโกสุมพิสัยมีชื่อเสียงในเรื่องของการจำหน่ายพันธุ์ปลาในระดับประเทศเลยทีเดียว หากแต่ระยะหลังดูเงียบไป นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ทางสาขา/ผู้รับผิดชอบตัดสินใจเลือกเป็นโจทย์/พื้นที่ในการจัดกิจกรรม 

การได้สัมผัสภูมิปัญญา และผสมผสานเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าด้วยกัน เป็นทางเลือกที่ท้าทายและเป็นทางออกที่น่าสนใจมาทีเดียว

ขอบคุณครับ

 

ขอปรบมือให้ดังๆด้วยคนค่ะ

ชอบจัง....ผ่อนคลาย ยืดหยุ่น แล้วปรับแก้

ด้วยความปราถรถนาดี เอื้ออาทร ให้และรับกันและ อะไร ๆ ก็ดีเสมอ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณชลัญธร

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ
สำหรับโครงการนี้ ยังรอกำหนดการในช่วงต่อไป คาดว่าคงเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการออกแบบกิจกรรมที่รองรับได้อย่างหลากหลายและทั่วถึง  เพราะเท่าที่แลกเปลี่ยนกับอาจารย์ฯ ผู้รับผิดชอบ ท่านเองก็มองเห็นและถอดบทเรียนเล็กๆ ไปในตัวเหมือนกัน

 

สวัสดีครับ พี่หมอธิรัมภา

..ผ่อนปรน  ยืดหยุ่น..ปรับแก้...
เป็นมุมมองส่วนตัวที่มีต่อการลงพื้นที่เพื่อทำหน้าที่ "พี่เลี้ยง" ของผมและทีมงาน  เราเดินทางไปร่วมเรียนรู้ ไม่ใช่ไปเพื่อ กำกับ ติดตาม...

นั่นจึงเป็นนัยสำคัญอีกมุมหนึ่งเหมือนกัน

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ  การทำกิจกรรมในชุมชน หรือแม้แต่อื่นใดก็ตาม  เราพยากรณ์ล่วงหน้าได้ แต่ก็ควรต้องมีแผน 1 แผน 2 รองรับเสมอ...

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท