นิทานของวันวาน(ต่อ 3)


นิทานของวันวาน(ต่อ 3)

     คำตอบของลูกสาวตาธรรมยังความสงสัยในเหตุและผลของประจักษ์พยานในท้องพระโรง จนเกิดเสียงพูดคุยกันเบา ๆ พระราชาจึงตรัสขึ้นว่า

                “ดูท่าทางจะมีคนสงสัยในเหตุผลของเจ้า  เหตุใดจึงยกพ่อและแม่ให้เป็นเทวะเล่า”

                “เพคะ ที่หม่อมฉันเอ่ยว่าเทวะนี้คือพ่อและแม่ เพราะว่าพ่อและแม่เป็นเทวะอันประเสริฐ์สูงสุดของลูก  พ่อแม่เลี้ยงดู สั่งสอนให้ลูกเติบโตเป็นคนดี มีวิชา  มีอาชีพ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่ถูกฟูมฟักเลี้ยงดูให้เจริญเติบโต  เป็นครูผู้ประเสริฐ์คนแรกที่สั่งสอนลูกให้รู้จักคลาน นั่ง  ยืน พ่อและแม่จะอยู่ใกล้ลูกตลอด ทั้งยามทุกข์ ยามสุข  ดังนั้นคนกตัญญูเท่านั้นจึงจะมองเห็นเทวะองค์นี้  แต่ถ้าผู้ใดไม่มีความกตัญญู ไม่สนใจเลี้ยงดูตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ก็จะไม่รู้จักเทวะองค์นี้เลย   พ่อและแม่คือเทวะที่ไม่เคยหวังสิ่งใดตอบแทนจากลูกเพคะ”                   

                สิ้นคำอธิบายของลูกสาวตาธรรม ทุกคนในที่ประชุมต่างพยักหน้าเห็นด้วยกับคำตอบของนาง  สิ้นความสงสัย  พระราชาจึงเริ่มคำถามข้อใหม่

 

                “คำถามข้อที่สี่    ยิ่งวิ่งหนีก็วิ่งไล่มาประชิด                  ผู้คนไม่เคยคิดจะเรียกขาน

                                                ไม่มีหู  ไม่มีตา  แต่ชอบตาม            วิ่งไล่ถามตามติดประชิดตัว”

     คำถามของพระราชาคงไม่ง่ายดังที่คิด  ทั้งสามนางนิ่งคิดอยู่พักใหญ่  ดอกไม้ลูกสาวคนแรกของตาเที่ยงก็เอ่ยตอบคำถามเป็นคนแรก

                “หม่อมฉันดอกไม้ขอตอบคำถามเพคะ  หม่อมฉันคิดว่าน่าจะเป็นเงาเพคะ  ไม่ว่าคนเราจะเดิน จะวิ่ง จะนอน จะทำใด ๆ เงาก็จะตามติดตัวเราไปตลอด แม้เราไม่เคยเรียกขานนามมัน  มันก็จะตามติดเราไปตลอดเวลา
เพคะ”

                คำตอบของดอกไม้เป็นที่สนใจของบรรดาประจักษ์พยานอีกครั้ง ส่วน ดอกรักน้องสาวที่นั่งนิ่งอยู่นานก็ตอบสำทับเห็นด้วยกับคำตอบของพี่สาว  เหลือเพียงลูกสาวตาธรรมที่ยังนิ่งคิดอีกครู่   ทำเอาคนที่รอคำตอบและคอยเป็นกำลังใจให้ใจหายใจคว่ำตามๆ กัน

                “หม่อมฉันลูกสาวตาธรรมขอตอบคำถามเพคะ  สิ่งนั้นคือบาปและบุญเพคะ  คนทำบุญให้ทานไม่ต้องถามว่าจะได้คืนอย่างไร  บุญจะตามติดเราไปทุกที  เช่นเดียวกับการทำบาป  แม้ว่าเราจะพยามลืมว่าเราเคยทำบาปกรรมไว้อย่างไร  บาปกรรมนั้นก็ยังติดอยู่กับตัวเรา  แม้ว่าเราจะพยายามลบล้างอย่างไรก็ไม่สามารถตัดมันออกไปได้เพคะ”

 

                คำตอบของลูกสาวตาธรรมเป็นที่สนใจแก่ประจักษ์พยานอีกครั้ง  เสียงพูดคุยพออกพอใจในคำตอบดังแว่วมาเป็นระยะ  ทั้งตาธรรมและเมียต่างยิ้มหน้าบาน  ถึงแม้จะไม่รู้ว่าลูกสาวตอบถูกตามที่พระราชาต้องการหรือไม่  แต่ก็พอใจในสิ่งที่ลูกสาวตอบคำถามได้อย่างชาญฉลาด

หมายเลขบันทึก: 488500เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 12:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2013 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท