ยิ่งวิจัยมากจะยิ่งยากจน (ตอนที่ ๑)


ตอนนี้การวิจัยไทยเขากำลังบ้าคลั่งโครงการ บู (บูล้างผลาญ หรือ บู่มหากาฬ) กันมาก ที่เป็นเช่นนี้ ผมทายว่า ไม่แคล้ว คนแก่ระดับ ศ.ดร. ผู้มีบารมีล้น ทุบหัวโต๊ะมอบนโยบายลงมา

การวิจัยเพื่อแสวงหาความรู้ใหม่นั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่การวิจัยต้องใช้เงินมาก และหากความรู้ใหม่นั้นไม่สามารถนำกลับมาใช้ในการพัฒนาชาติได้ทันกาลอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสถานะของชาติ  มันก็เป็นการสูญเปล่า ...เท่ากับว่ายิ่งทุ่มเงินไปก็อาจยิ่งทำให้ชาติด้อยพัฒนา เพราะสามารถใช้เงินก้อนนั้นไปพัฒนาชาติในด้านอื่นๆที่ทันกาลกว่าเช่น เอาไปสร้างห้องน้ำให้โรงพยาบาลในต่างจังหวัด

 

แนวทางการวิจัยเพื่อพัฒนาชาติของเราตอนนี้ แม้ดีกว่าเมื่อ ๑๕ ปีก่อนมาก แต่ก็ยังไม่ถือว่ามากพอ กล่าวคือ ยังไฮเทคเกินไป  ข้าพเจ้าเห็นว่าเราควรเน้นที่มีเดียมเทคให้มากที่สุด ส่วนโลว์เทคก็ไม่ทิ้ง  สัดส่วนน่าเป็นระฆังคว่ำแบบเบี้ยวนิดๆ เช่น 10-70-20   แต่ขณะนี้มันประมาณ 50-40-10 เห็นจะได้  (ระฆังคว่ำผ่าซีก)

 

ไฮเทคเราคงทิ้งไม่ได้  เพราะถ้าทิ้งเมื่อไหร่เป็นถูกพวกเห่อไฮเทคด่ากันไฟแลบ เพราะพวกนี้มาดเขาเท่ห์ อ้างคำศัพท์ฝรั่ง  หมู่บ้านโลก  จีดีพี กันเก่งเหลือเกิน แถมพวกนี้แหละที่เข้าไปเป็นใหญ่ในหน่วยงานวิจัยเสียมาก  ทั้งผอ. รองผอ. ฝ่ายต่างๆ พวกเขาฟาดเรียบ

 

มีเดียมเทคนี่แหละที่ผมเห็นว่าเหมาะสมกับระดับขั้นตอนวิวัฒนาการของประเทศมากที่สุดในตอนนี้ แต่พวกเขาไม่สนใจใยดีกันมากนัก...หาว่าต่ำต้อย ไม่โก้หรู ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มี Impact factor สูงๆ ก็ไม่ได้

 

ส่วนที่พอสนใจบ้างก็ใช้งบประมาณกันแบบตำน้ำพริกทิ้งขวาง เช่น เอาไปให้โครงการใหญ่ๆ แบบ “บูรณาการ” (คำศัพท์ ดจร.. มันจะบูอะไรกันหนักหนา)  โครงการละ 10-100 ล้าน สุดท้ายชาติแทบไม่ได้อะไรเลย เละตุ้มเป๊ะ  เพราะบู กลายเป็น บู่ ในที่สุด (บู่มหากาฬ)

 

แหม...แบบนี้ก็เข้าทาง เพราะโครงการเล็กๆ แสนสองแสน กับโครงการใหญ่ ก็ต้องเสียเวลา แรงงาน ในอนุมัติโครงการพอๆ กัน  ทำให้เสียเวลามากกับโครงการเล็กที่มีจำนวนมาก  คงกลัวจะไม่มีเวลาเหลือไว้เพื่อเอาไปดูงานเมืองนอก (๕ห้า5)   

 

ลองคิดดูนะครับ โครงการ “บู” 20 ล้าน สามารถให้โครงการเดี่ยว 5 แสนได้ 40 โครงการ ส่วนโครงการบูนั้นผมท้าพิสูจน์เอาคอเป็นประกันว่าถ้ามีการประเมินแบบอิสระยุติธรรม ผลสัมฤทธิ์ที่ได้จะสู้โครงการเดี่ยวไม่ได้แบบ 10 ต่อ 1 ....มีนักบริหารการวิจัยคนไหนรับคำท้าผมไหม  ถ้ามีให้จัดตั้งโครงการประเมินได้เลย  โดยมีข้อแม้ว่าต้องมีผมเป็นผู้สังเกตการณ์ที่มีสิทธิในการวิจารณ์ในที่ประชุมกรรมการประเมินด้วยนะ

 

ตอนนี้การวิจัยไทยเขากำลังบ้าคลั่งโครงการ บู   (บูล้างผลาญ หรือ บู่มหากาฬ) กันมาก ที่เป็นเช่นนี้  ผมทายว่า ไม่แคล้ว คนแก่ระดับ ศ.ดร. ผู้มีบารมีล้น ทุบหัวโต๊ะมอบนโยบายลงมา แล้วพวก รศ. ผศ. ดร. ไม้อันดับ ไม่กล้าค้านอีกตามเคย ตามประสาวัฒนธรรมไทย

 

 

คนพวกนี้เขาไม่เข้าใจธรรมชาติการวิจัยว่า นักวิจัยที่เก่งๆ นั้นเขาทำวิจัยเข้มข้น ไม่มีเวลาไปบูกับใครหรอกครับ ถ้าไปบูก็ไม่มีเวลาเหลือเอามาทำวิจัยแล้ว ส่วนไอ้พวกบูนั้นส่วนใหญ่มันไม่เก่งหรอกครับ พวกวิจัยการเมืองเสียมากกว่า พอมีกฎบูออกมา มันโทรหากันว่อน ในเครือข่ายกินเหล้าเม้าท์แตกด้วยกัน ว่าเราจะมาบูหาเงินกันไงดี  ก็รับทรัพย์ค่าตอบแทนกันไปแหลกลาญ มีเงินเหลือจนขับเบ็นซ์ก็มี  ผลาญเงินวิจัยชาติไปเท่าไหร่

 

 

ข้าพเจ้าเห็นว่า หน้าที่ในการบู นั้นต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานให้ทุนเสียมากกว่า คือพอเห็นผลงานคนโน้นนี้มันบูกันได้ ก็ตั้งเป็นโจทย์วิจัยออกมาสิ แต่บูยังไงก็ไม่น่าเกินสองเรื่อง ...แต่ตอนนี้เขาจะให้บูกันให้มากๆ ที่สุด (เช่น 10 เรื่อง) แล้วบูแบบตั้งแต่เริ่มต้นที่ยังไม่มีผลงานอะไรเลยเสียด้วยนะ แบบว่า สร้างวิมานในอากาศทำนองนั้น ใครโม้ได้เก่งและหรือมีเส้นสายก็รับเละกันไป....ส่วนพวกหัวเดียวกระเทียมลีบ หรือกระเทียมโทนหัวโตก็ตาม ก็หงอยกันไป เพราะบูกะใครเขาไม่เป็น เนื่องจากมัวแต่งกๆ ทำวิจัยเดี่ยวเชิงลึกมาตลอดชีวิต ไม่เคยไปบูเจ๊าะแจ๊กะใครให้เสียเวลาทำงานวิจัย

 

ดังนี้แล้ว...ข้าพเจ้าถามว่า แล้วงานวิจัยไทยมันจะไปช่วยชาติอะไรได้หนักหนา นอกจากภาพที่สร้างขึ้นมาตามคำให้การของผอ. หน่วยงานวิจัย  โดยเฉพาะในคราที่ไปแปรญัตติของบวิจัยเพิ่มจากรัฐสภา  เป็นประจำทุกปี

 

 

ส่วนโลว์เทค เทคโนชาวบ้านก็ยังทิ้งไม่ได้ บางเรื่องสำคัญมาก เช่น เตาฟืนถ่านประหยัดพลังงาน กังหันลมชาวบ้านวิดน้ำเข้านา  การทำปุ๋ยหมักขนาดเล็ก  การทอผ้า ย้อมสี  เป็นต้น

 

เหนื่อยแล้วครับ...เอาไว้ต่อตอนต่อไปดีกว่า เดี๋ยวหัวใจวายซะก่อน

 

...คนถางทาง (๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๕)

ตอนต่อไป..เครื่องจักรกลการเกษตร...อุตสาหกรรมเรือประมง....อุตสาหกรรมเกษตร  และ เก้าลอเก้า

หมายเลขบันทึก: 488467เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 04:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 11:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

กำลังสนุกค่ะ เดี๋ยวรอติดตามตอนต่อไปน่าจะสนุกกว่านี้

I think we focus too much on 'research' but not enough on (realization and further) 'development'. I suggestion is we should focus on 'from idea to product' -- we have enough ideas but not enough products to sell in the world markets.

(Of course, this is another idea ;-)

idea ท่าน sr ดีมาก เราต้องสร้างหน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนไอเดียดีๆ ให้ออกเป็น โปรดัคให้ได้ (ในกรณีของรูปธรรม) หรือ เป็นกระบวนการ วิธีการ (ในกรณีของนามธรรม)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท