สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)


ITD logo

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) เรียกโดยย่อว่า "สคพ." และใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า International Institute for Trade and Development (Public Organization) เรียกโดยย่อว่า "ITD" เป็นองค์การมหาชน จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2544 เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร มีหน้าที่รับผิดชอบในการให้การศึกษาอบรม และค้นคว้าวิจัย เพื่อส่งเสริมการค้า การพัฒนา และดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ที่สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา

ประวัติ

แนวคิดที่จะจัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา มีความริเริ่มมาจากรูเบนส์ ริคูเปโร (Rubens Ricupero) เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (United Nations Conference on Trade and Development หรือ UNCTAD) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากแรงจูงใจที่จะสนองตอบขอบคุณรัฐบาล ไทยอย่างเป็นรูปธรรม ในฐานะที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพของการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีของอังค์ถัดครั้ง ที่ 10 ขึ้นที่ กรุงเทพฯ รวมทั้งเป็นความปรารถนาส่วนตัวมาช้านานของ ฯพณฯ ริคูเปโรที่ต้องการจะให้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ยั่งยืนถาวรและเป็นแหล่ง แพร่กระจายความรู้เพื่อการพัฒนาที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2540 รูเบนส์ ริคูเปโร ได้เข้าพบพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี โดยมีคณะรัฐมนตรีอาวุโสในสมัยนั้นร่วมด้วย วัตถุประสงค์ ได้แก่ การวางแผนจัดการประชุมอังค์ถัด 10 และในโอกาสนั้นเลขาธิการอังค์ถัดได้นำเสนอแผนงานการจัดตั้งองค์กรขึ้นซึ่งใน ชั้นนั้นเรียกว่าสถาบันเพื่อการพัฒนา (Institute of Development) และรัฐบาลไทยยินดีที่จะรับข้อเสนอนี้ หลังจากนั้นจึงเปิดเวทีการเจรจาขึ้นระหว่างอังค์ถัดกับผู้แทนรัฐบาลไทยต่อมา เป็นระยะเพื่อจัดทำความตกลงร่วมมือกัน จนปรากฏผลเป็นสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา

รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมอังค์ถัด ครั้งที่ 10 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 นับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกอังค์ถัดทั้ง 190 ประเทศและผู้แทนกว่าร้อยคนจากองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรพัฒนาเอกชน ได้แลกเปลี่ยนทัศนะและความคิดเห็น ภายใต้หัวข้อ “ยุทธศาสตร์การพัฒนากับการนำบทเรียนในอดีตมาปรับเปลี่ยนกระแสโลกาภิวัตน์ให้ เป็นโอกาสที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและมวลประชากรโลก” ประเทศสมาชิกและกลุ่มพันธมิตรเพื่อการพัฒนาได้ร่วมกันรับรองเอกสารการประชุม ในครั้งนี้ 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญากรุงเทพฯ และ แผนปฏิบัติการกรุงเทพฯ ซึ่งได้กล่าวเน้นถึงความจำเป็นสำหรับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่พยายามผลักดัน ให้มีการเจรจาอย่างเปิดเผยและให้ประเทศต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในระบบการเงิน การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ และการบูรณาการเข้าสู่เศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ เอกสารดังกล่าวยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขความขาดสมดุลและไม่สมมาตรที่เกิด ขึ้น เพื่อสร้างระเบียบของโลกขึ้นใหม่ที่มีการแบ่งสรรผลประโยชน์จากกระแสโลกา ภิวัตน์ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้นในอนาคต

การหารือกันเพื่อจัดตั้งสถาบันฯ ใหม่สัมฤทธิ์ผลในบริบทดังกล่าวด้วยการลงนามในความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราช อาณาจักรไทยกับองค์การสหประชาชาติว่าด้วยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและ การพัฒนาขึ้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 โดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามแทนรัฐบาลไทย และ ฯพณฯ รูเบนส์ ริคูเปโร เลขาธิการอังค์ถัดเป็นผู้ลงนามแทนสหประชาชาติ การลงนามในความตกลงนี้ถือเป็นจุดเด่นของการประชุมอังค์ถัดครั้งที่ 10 และเป็นสิ่งที่ ฯพณฯ ริคูเปโร ถือว่าเป็นรูปธรรมหนึ่งของการประชุมที่จะยั่งยืนอยู่สืบไป สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนาได้รับการสถาปนาขึ้นโดยพระราช กฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2544 และได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2545

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนาเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของรัฐบาลไทยโดยมีสถานะเป็นองค์การมหาชน สถาบันฯ ดำเนินงานโดยอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย อังค์ถัด องค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ และองค์กรระดับภูมิภาค

อำนาจหน้าที่

มาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2544 ระบุว่า “ให้สถาบันฯ มีวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษาอบรมและค้นคว้าวิจัย เพื่อส่งเสริมการค้าและการพัฒนา และดำเนินกิจกรรมอื่นที่สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่าง รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและองค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับสถาบันระหว่าง ประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา”

โดยนัยนี้ สถาบันฯ จึงมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

  1. จัดการศึกษาอบรมและให้การสนับสนุนเพื่อการค้นคว้าวิจัยแก่บุคลากรของ ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียด้านการค้าระหว่างประเทศ การเงิน การคลัง การลงทุน การพัฒนา และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บุคลากรเหล่านั้นสามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์และแนวทางการเปิดเสรีทางการค้าต่างๆ
  2. ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย เพื่อสร้างเสริมศักยภาพและความสามารถในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เหมาะสมร่วมกันและการกำหนดมาตรการทางกฎหมายที่สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวได้
  3. ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และสร้างความเป็นเอกภาพโดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้
  4. เป็นศูนย์กลางจัดการฝึกอบรมและกิจกรรมเสริมศักยภาพต่างๆ ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาและองค์การอื่นที่เกี่ยวข้อง

ติดต่อ

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
ชั้น 8 อาคารวิทยพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุฬาซอย 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10330

โทรศัพท์: +66 (0) 2216 1894-7
โทรสาร: +66 (0) 2216 1898-9
อีเมล์: [email protected]

หมายเลขบันทึก: 487498เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท