พระพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์


วิถีพุทธในเอเชียอาคเนย์

พระพุทธศาสนาในสังคมไทย

            การศึกษาเกี่ยวกับสภาวะทางสังคมและวิถีปฏิบัติทางศาสนาของพุทธศาสนาเถรวาทเริ่มต้นใน พ.ศ. 2503 อันเป็นความพยายามที่จะอธิบายมุมมองของทั้งนักหน้าที่นิยมและนักโครงสร้างนิยมต่อประเด็นที่ว่า  พุทธศาสนาเถรวาทซึ่งประชาชนในประเทศศรีลังกา พม่า และไทยมองว่าเป็นศาสนาแบบถือสันโดษนั้นได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างไรในชีวิตประจำวันในส่วนที่สัมพันธ์กับเทพเจ้าของฮินดู การนับถือผีของคนท้องถิ่น และอำนาจทางการเมืองของรัฐ  ในขณะที่มุมมองหนึ่งนั้นศาสนาที่ปฏิบัติร่วมกันในประเทศเหล่านี้มีลักษณะร่วมกันอยู่ประการหนึ่งคือเป็นพุทธศาสนาที่ใช้ภาษาบาลี  การศึกษาได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พุทธศาสนาเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบการเมืองที่สร้างขึ้นโดยแต่ละรัฐชาติ  ขณะเดียวกันในฐานะศาสนาเชิงปฏิบัติที่มีรูปแบบทางสัญลักษณ์หลากหลายก็ผันแปรหรือแตกต่างกันไปตามความแตกต่างทางเพศและชาติพันธุ์  การศึกษาวิเคราะห์ในส่วนต่อไปนี้เป็นข้อสังเกตุโดยทั่วไปของการศึกษาวิถีปฏิบัติทางศาสนาของผู้นับถือพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทย

            การจำแนกความแตกต่างของพุทธศาสนาแบบถือสันโดษ (ascetic  religion)  กับพุทธศาสนาที่สัมพันธ์กับสังคมที่เน้นประเด็นชัดเจนอยู่ที่การทำบุญ เพราะคนธรรมดาทั่วไปการจะเข้าถึงการหลุดพ้นจากวิถีชีวิตทางโลกหรือทางสู่นิพพาน อันเป็นความเชื่อและคำสอนของพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะเข้าถึงได้  พวกเขาเชื่อว่าสถานะปัจจุบันและโชคชะตาชีวิตของพวกเขาถูกกำหนดโดยการทำความดีในชาติที่แล้ว  ด้วยเหตุที่พวกเขาคาดหวังที่จะบรรลุวิถีชีวิตที่ดีกว่าในชาติหน้า  ทั้งนี้การทำบุญเป็นตัวแทนของการหลุดพ้นในพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน  อย่างไรก็ตามในขณะที่ประชาชนยึดติดอยู่กับโลกทัศน์ทางพุทธศาสนา  แต่เมื่อเขาต้องเผชิญกับปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้  แนวคิดเรื่อง “กรรม” ที่เป็นผลจากการทำดีและทำชั่ว  ซึ่งช่วยเสริมความเชื่อเรื่องการทำบุญ  แนวคิดนี้อธิบายความทุกข์ยากของมนุษย์และยืนยันความสัมพันธ์เรื่องกรรมของปัจเจกบุคคล

            แต่อย่างไรก็ตามความเชื่อเรื่องกรรมที่ผิดพลาด อย่างความเชื่อที่ว่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ล้วนเป็นผลของการกระทำในอดีต  เป็นแนวคิดส่วนหนึ่งที่ที่ช่วยสนับสนุนการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบัน  และกลายเป็นการสนับสนุนการผูกขาดผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นสูงที่ดำเนินการในลักษณะกลไกทางมโนคติด้วยการสร้างแนวคิดพื้นฐานในเรื่องฐานะทางชนชั้นของปัจเจกบุคคล  โลกทัศน์ทางพุทธศาสนาที่ได้เสนอหลักการของการทำบุญสำหรับชีวิตในโลกหน้า  เป็นแก่นของระบบค่านิยมที่สนับสนุนการจัดระเบียบทางสังคมของไทย  ในขณะเดียวกันโลกทัศน์นี้ยังเป็นมาตรฐานหนึ่งทางมโนคติที่อธิบายความสัมพันธ์ทางชนชั้นในสังคม

 

 

บทบาทของพระพุทธศาสนา

 

พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนาหนึ่งในโลกเป็นแหล่งที่มาของคำสอนและนิกายต่าง ๆ มากมาย  ทั้งนี้ตามเส้นทางความเป็นมาของการเผยแพร่พุทธศาสนา ได้มีการปรับเปลี่ยนคำสอนที่แตกต่างกัน  เนื่องจากการคัดลอกและแปลคำสอนของพุทธศาสนา  ซึ่งรวมถึงพุทธศาสนามหายานที่มีจำนวนพุทธศาสนิกชนมากที่สุดในโลกและพุทธศาสนาเถรวาทที่มีอิทธิพลมากในเอเชียอาคเนย์  โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนประเทศไทย ศรีลังกา พม่า ลาว กัมพูชา จีนตะวันตกเฉียงใต้และเวียดนามตอนใต้ ล้วนเป็นผู้ที่นับถือพุทธศาสนาเถรวาท  ซึ่งอาจกล่าวโดยรวมได้ว่า มีพุทธศาสนิกชนในสังกัดราว 500 ล้านคนในปัจจุบัน  เมื่อเปรียบเทียบกับพุทธศาสนามหายานซึ่งใช้คำสอนที่แตกต่างกัน พุทธศาสนาเถรวาทในแต่ละประเทศมีระเบียบประเพณีและพระธรรมวินัยที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก  เพราะใช้คำสอน คำอรรถาธิบาย หรือบันทึกข้อวิจารณ์ต่าง ๆ จากพระไตรปิฎกภาษาบาลีเช่นเดียวกัน  แต่เนื่องจากภาษาบาลีไม่มีอักษรเป็นของตัวเอง  ทำให้การบันทึกคำสอนต่าง ๆ ถูกเขียนในภาษาที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ทั้งในภาษาศรีลังกา ภาษามอญ ภาษาพม่า ภาษาเขมร และภาษาไทย  ดังนั้นนิกายต่าง ๆ ในพุทธศาสนาเถรวาทจึงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความแตกต่างในพระธรรมวินัย  แต่เป็นความแตกต่างของกระบวนการทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาของท้องถิ่น

            ยิ่งไปกว่านั้น พุทธศาสนาเถรวาทในทุกประเทศถูกกำหนดคุณลักษณะโดยการบวชและการมีส่วนร่วมในคณะสงฆ์ของพุทธศาสนิกชน  คณะสงฆ์เป็นสถาบันหนึ่งที่กำหนดวิถีการปฏิบัติของพระสงฆ์แยกออกมาจากโลกียวิสัยและอุทิศตนเองหรือบำเพ็ญเพียรเพื่อให้หลุดพ้นจากวัฏฏสงสาร อันเป็นจุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนา  การศึกษาแนวปฏิบัติในพุทธศาสนาเถรวาทถูกกำหนดโดยการปฏิบัติตามศีล  ซึ่งถือเสมือนเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ล่วงละเมิดมิได้ เนื่องจากการปฏิบัติที่มุ่งการหลุดพ้นด้วยตนเอง  และมีระเบียบประเพณีที่กีดกันผู้หญิงจากการบวชเป็นพระภิกษุ พุทธศาสนาเถรวาทจึงถูกตั้งชื่อในเชิงเสียหายว่าเป็นพุทธศาสนาหินยาน  ในความหมายเชิงตรงข้ามกับพุทธศาสนามหายาน  ซึ่งเป็นนิกายที่เกิดในภายหลัง

            กษัตริย์ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ที่ปกครองประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน  ซึ่งประกอบด้วยดินแดนที่เรียกว่าสิบสองปันนาและไต้คงยอมรับเอาพุทธศาสนาเถรวาทที่เผยแพร่จากอินเดียผ่านมาทางศรีลังกาในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 12 ถึง 14 นอกจากนี้ในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 15 ถึง 17 บรรดาผู้ปกครองในภูมิภาคเหล่านี้ยังคงสืบทอดประเพณีเพื่อสร้างความชอบธรรมในอำนาจทางการเมืองของตนในลักษณะที่เป็นผู้นำที่มีคุณธรรม  ด้วยการปรับคำสอนของศาสนาพุทธที่รับมาจากศรีลังกา  ซึ่ง Max Weber อธิบายเสริมว่า  เนื่องจากความจำเป็นของพุทธศาสนาเถรวาทภายใต้อุดมการณ์เพื่อการหลุดพ้นนั้นไม่สามารถบรรลุได้โดยปราศจากการชี้นำของพระสงฆ์   โดยนัยนี้พุทธศาสนาถูกปฏิบัติโดยพระสงฆ์ที่น่าเลื่อมใสศรัทธา  และภายใต้การนำของกษัตริย์และราชสำนัก  จึงเป็นศูนย์กลางของอำนาจทางการเมืองแบบดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์   อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนาเถรวาทยังคงสืบทอดเป็นศาสนาในวิถีชีวิตของคนในภูมิภาคนี้  ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นได้จากธรรมเนียมปฏิบัติของการทำบุญถวายของให้พระสงฆ์หรือวัดโดยประชาชนส่วนใหญ่

            ความแตกต่างที่เด่นชัดประการหนึ่งของคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน  คือการแบ่งเป็น 2 นิกาย คือ มหานิกายและธรรมยุตินิกาย  ธรรมยุตินิกายได้รับการก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว          รัชกาลที่ 4 ใน พ.ศ.2379 โดยมุ่งเน้นสนับสนุนการกลับไปใช้ตำราหรือหนังสือพระธรรมที่เป็นภาษาบาลี  โดยมีจุดเริ่มต้นในลักษณะที่เป็นปฏิกิริยาต่อความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในสังคมไทยในขณะนั้น  รวมทั้งเป็นการสืบทอดมาจากประเพณีปฏิบัติของคณะสงฆ์มอญและพม่า  การกำหนดเรียกมหานิกายที่มีอยู่แล้วเกิดขึ้นในลักษณะคู่ขนานกับธรรมยุติกนิกาย  ซึ่งมีวิถีปฏิบัติที่แตกต่างเด่นชัดจากมหานิกาย คือมีความแตกต่างกันในการออกเสียงสวดมนต์ภาษาบาลี วิธีการถือบาตรของพระสงฆ์ และวิธีการสวมจีวร  สัดส่วนของวัดธรรมยุตในประเทศไทยมีเพียงประมาณ 5% ใน พ.ศ. 2526  แต่แม้ว่าจะเป็นพระสงฆ์ส่วนน้อย  ธรรมยุติกนิกายถูกพิจารณาว่ามีอำนาจและอิทธิพลทางสังคมสูงกว่ามหานิกาย  ทั้งนี้มิใช่เพียงเพราะว่ามีวิถีปฏิบัติที่เคร่งครัด  แต่ยังรวมถึงการมีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับราชสำนัก  ซึ่งเป็นผลให้มีการแพร่ขยายแนวปฏิบัติของธรรมยุตินิกายผ่านทางราชสำนักไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่นับถือพุทธศาสนาเถรวาท  คือ กัมพูชาและลาว  และภายหลังยังได้เผยแพร่ไปยังประเทศอินโดนีเซียอีกด้วย  อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างธรรมยุติและมหานิกายไม่ปรากฏในพระธรรมวินัย  แต่ปรากฏในวิถีการปฏิบัติและพิธีกรรมดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น  ดังนั้นทั้ง 2 นิกายเป็นของคณะสงฆ์ไทยเช่นเดียวกัน  และพุทธศาสนิกชนก็ไม่มีความรู้สึกว่าตนเองต้องสังกัดอยู่ในนิกายใดนิกายหนึ่งเป็นการเฉพาะ

            แม้ว่าประเทศไทยไม่เคยอยู่ภายใต้อาณานิคมของใครหรือภายใต้รัฐสังคมนิยมแบบใด  ทั้งสังคมคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนต่างถูกกระทบจากกระแสประวัติศาสตร์โลกกระแสหนึ่งคือการส่งเสริมรัฐบาลกลางของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อตอบสนองชัยชนะเหนืออำนาจอาณานิคมตะวันตก  และแนวทางการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 19 ถึงช่วงความสอดคล้องโดยบังเอิญกับรูปแบบการรวมศูนย์การบริหารภูมิภาค  และภายใต้ระบบใหม่นี้องค์กรต่าง ๆ ทางโลกได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารคณะสงฆ์ และวัดในพระพุทธศาสนาทั้งประเทศ  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาในระดับภูมิภาคและขนบธรรมเนียมทางศาสนาได้ถูกทำให้อยู่ในกรอบเป็นมาตรฐานมากขึ้นเรื่อย ๆ รากฐานของสถาบันพุทธศาสนาไทยที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ได้ถูกเชื่อมโยงโดยตรงกับการก่อตั้งรัฐชาติในช่วงหนึ่งศตวรรษผ่านมานี้เอง รวมทั้งยังแสดงถึงรูปแบบต่าง ๆ ของการปฏิบัติที่เป็นผลมาจากการแทรกซึมเข้ามาของเศรษฐกิจการตลาดและความทันสมัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

  

บทบาทของพุทธศาสนาต่อชุมชนท้องถิ่น

            โดยทั่วไปแล้วศาสนาต่าง ๆ ในโลกมีระบบคำสอนที่รวบรวมรายละเอียดหลักเกณฑ์และแบบแผนปฏิบัติที่เข้าใจได้ง่ายในนัยที่ศาสนาเหล่านี้เป็นสถาบันสังคม  ลักษณะเช่นนี้ก็พบว่าเป็นจริงสำหรับพุทธศาสนาเถรวาทเช่นเดียวกัน  สาระของหลักคำสอนและแบบแผนของวิถีปฏิบัติ  อย่างเช่นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างพระสงฆ์และฆราวาส  การตีความของพระไตรปิฎก  ในเรื่องการบวชได้แสดงให้เห็นถึงธรรมเนียมปฏิบัติที่สัมพันธ์กันโดยตรง   อย่างไรก็ตาม  เมื่อประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน  ก็จะยึดถือปฏิบัติทางศาสนาที่ดำเนินการอยู่ภายใต้วิถีสังคมที่เป็นอยู่จริง  ประชาชนต้องพิจารณาทั้งความรู้จากตำราเกี่ยวกับหลักคำสอนทางศาสนา  และวิถีปฏิบัติในลักษณะที่สะท้อนการปฏิบัติของผู้ศรัทธานับถือ  ทั้งนี้มี 2 แนวทางกว้าง ๆ ที่จะวิเคราะห์วิถีปฏิบัติทางศาสนา  แนวทางแรกเป็นการใช้ตำราทางศาสนาที่สะท้อนถึงการพัฒนาเชิงประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา  เพื่อเป็นแนวทางอ้างอิงในการปฏิบัติ  ในขณะที่พิจารณาถึงวิธีการต่าง ๆ ในการประยุกต์ใช้และกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงภายในขอบเขตเฉพาะในฐานะเป็นวิถีปฏิบัติทางพุทธศาสนา  อีกแนวทางหนึ่งเป็นการเสาะหาภาวะที่เป็นอยู่และพลวัตของวิถีปฏิบัติในบริบทของความเป็นท้องถิ่นที่ศาสนาได้ถูกนำไปปฏิบัติจริง

            วิถีปฏิบัติทางพุทธศาสนาของชาวบ้านดำเนินการในลักษณะที่เป็นบรรทัดฐานทางสังคมหนึ่งที่เชื่อมโยงสมาชิกแต่ละคนของชุมชนเข้าด้วยกัน  ในขณะเดียวกันด้วยลักษณะที่คล้ายคลึงกับวิถีปฏิบัติทางศาสนาในเมืองต่าง ๆ ของโลก  วิถีปฏิบัติทางพุทธศาสนาของชาวบ้านได้สะท้อนถึงองค์ความรู้ที่มากไปกว่าความเป็นปัจเจกบุคคล ประสบการณ์ของหมู่บ้านหนึ่งและขอบเขตทางสังคมอื่น ๆ ทั้งนี้มีลักษณะพิเศษจำเพาะร่วมที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ท้องถิ่นและวิถีปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ในสายธรรมยุติกนิกาย ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากราชสำนักและปรากฏให้เห็นในวิถีปฏิบัติที่แตกต่างจากทั้งในชีวิตประจำวัน และในหลักการเชิงเหตุและผลของการปฏิบัติ  ลักษณะจำเพาะร่วมดังกล่าวเป็น 2  แนวทางในพุทธศาสนา ที่ทำให้เป็นวิถีปฏิบัติในลักษณะที่กระชับขึ้นและเป็นวิถีปฏิบัติที่เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ ทั้งนี้กล่าวได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะที่สอดคล้องกันอย่างเป็นมาตรฐาน  และในขณะเดียวกันก็อยู่บนพื้นฐานของความทรงจำของท้องถิ่น  

            วัดทางพุทธศาสนาในหมู่บ้านไทย-ลาว ของภาคอีสานถูกดำเนินการในลักษณะที่เป็นเครื่องมือทางสังคมที่เชื่อมหมู่บ้านกับโลกภายนอก  อันนี้ถือว่าเป็นธรรมชาติของวัดในพุทธศาสนาที่เป็นรากฐานสำคัญของหลักเหตุผลในวิถีปฏิบัติที่สัมพันธ์กับคนอื่น ๆ วัดได้รับการรับรู้ว่าเป็นสถานที่สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ เป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดที่คนภายนอกจะเข้ามาเยี่ยมเยียนเมื่อเดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน  แต่ทางตรงกันข้ามวัดป่าไม่ได้เป็นสถานที่เยี่ยมเยียนของคนแปลกหน้า  ธรรมชาติของวัดป่านั้นเป็นสถานที่สำหรับการปฏิบัติทางศาสนาของปัจเจกบุคคล  ไม่ใช่สถานที่ที่คนจะมารวมตัวกันอย่างเช่นกรณีของวัดบ้าน  เนื่องจากชื่อของวัดป่าที่มีประวัติความเป็นมาจากคำว่า “อรัญวาสี” คำว่า “อรัญ” หมายถึงป่าไม้ที่รวมถึงพื้นที่เป็นป่าดงหรือพื้นที่รกร้างว่างเปล่า  ดังนั้น จึงถูกนำมาใช้อธิบายถึงวัดที่มีพระป่าอาศัยอยู่  ทั้งนี้ธรรมเนียมปฏิบัติของพระสงฆ์ที่บำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรมในป่าและสถานที่รกร้างของวัดป่า  พบเห็นได้อย่างแพร่หลายในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาเถรวาท  ทั้งในศรีลังกา พม่า และเอเชียอาคเนย์  นิกายหนึ่งจากศรีลังกาที่มาปฏิบัติแพร่หลายในสมัยสุโขทัยและล้านนาไทยถูกบันทึกว่าเป็นนิกาย “อรัญญิก” ซึ่งเมื่อพิจารณาจากชื่อแล้วมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นนิกายของพระป่า  ชื่อนิกายนี้ยังคงมีการใช้สืบเนื่องจากสมัยสุโขทัยมาจนถึงสมัยอยุธยาเพื่อการจำแนกคณะสงฆ์ในภูมิภาค  อย่างไรก็ตามจากช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ในประเทศไทยนิกายของพระป่าเริ่มลดความสำคัญลงภายในองค์กรคณะสงฆ์

            ในภาคอีสานคำว่าวัดป่ายังได้รวมถึงวัดที่ก่อตั้งอยู่ในหมู่บ้านชนบทโดยพระธุดงค์ที่มุ่งเน้นการฝึกวิปัสสนากรรมฐาน  ซึ่งพบเห็นได้ในช่วงเวลาที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ใน พ.ศ. 2445 ช่วงระหว่างที่รัฐพยายามจะสร้างเอกภาพของคณะสงฆ์ในภูมิภาคภายใต้นโยบายการเป็นพุทธศาสนาประจำชาติ  ผู้ก่อตั้งวัดป่าจำนวนมากเป็นพระธุดงค์ที่มีความโดดเด่นในด้านวิปัสสนากรรมฐานและมีพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์  พระเหล่านี้ได้ออกเดินทางไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ พร้อมที่จะล้มล้างวิถีปฏิบัติในแนวทางการสักการะเซ่นไหว้ผีต่าง ๆ และสอนให้ชาวบ้านนับถือศรัทธาในพระธรรมแทนความเชื่อเรื่องผี    และพระธุดงค์ที่ได้รับการยอมรับนับถือจากชาวบ้านสูงก็สามารถจัดตั้งวัดในพื้นที่ต่าง ๆ ได้มากมายนับพันวัด 

            วัดป่าเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการแพร่กระจายของพุทธศาสนาในเชิงสถาบัน  ซึ่งมีส่วนร่วมโดยตรงกับรัฐ  ในขณะเดียวกันก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงการแยกวิถีปฏิบัติทางพุทธศาสนาจากความเป็นสถาบันและความเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาในระดับความเชื่อส่วนบุคคล  แม้ว่ากิจกรรมต่าง ๆ ของวัดป่ามีข้อจำกัดในหลาย ๆ กรณี ที่อยู่ชายขอบของวิถีปฏิบัติของพุทธศาสนาในเชิงสถาบัน  แต่วัดป่าล้วนแต่ได้พยายามที่จะสร้างโลกเล็ก ๆ ที่มีกำเนิดมาจากปัจเจกบุคคล  และยังถูกมองในลักษณะที่เป็นสถานที่สำหรับการฝึกปฏิบัติทางพุทธศาสนาของปัจเจกบุคคล  ที่มีรากฐานมาจากพระธุดงค์ในสมัยพุทธกาลก่อนจะมีการจัดตั้งองค์กรคณะสงฆ์

            พุทธศาสนาชาวบ้านมีวิถีปฏิบัติพื้นฐานที่ขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลและวิถีชีวิตทางโลก  ทั้งนี้พบว่ามีการเคลื่อนไหวเพื่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตทางโลกและวิถีปฏิบัติส่วนบุคคลให้เป็นไปในแนวทางที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของวิถีชีวิตประจำวัน  อย่างเช่นการแทรกซึมเข้ามาของเศรษฐกิจการตลาดและการแพร่กระจายของระบบการศึกษาสายสามัญ  อันเป็นการก่อเกิดผลต่อกระบวนการทางสังคมที่ขัดแย้งกันอย่างชัดเจน 2  ประการ  ประการหนึ่งเป็นการดึงให้ศาสนาเข้าไปสัมพันธ์กับเรื่องราวทางโลกมากขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มพระสงฆ์วัยหนุ่ม  รวมถึงการประกอบพิธีกรรมการทำบุญที่เน้นเงินทองและวัตถุ  อีกประการหนึ่ง  ความศรัทธาทางศาสนาที่ลึกซึ้งของแต่ละบุคคลจะพบเห็นได้มากเฉพาะในกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ที่แสดงความเคร่งขรึมจริงจังในการปฏิบัติกิจทางศาสนาของฆราวาส  ซึ่งโดยส่วนมากแล้วมักจะมีเพียงแม่เฒ่าที่เข้าร่วมกิจกรรมรักษาศีลปฏิบัติธรรม   ในขณะที่คุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญของวัดป่าก็คือ การเป็นสถานที่ตอบสนองวิถีปฏิบัติทางศาสนาของชาวบ้าน  วัดป่าได้สร้างรากฐานขึ้นมาทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับสังคม  วิถีปฏิบัติทางพุทธศาสนาของชาวบ้านได้ปรับเปลี่ยนไป  โดยลดทอนองค์ความรู้ที่มีรากฐานมาจากระบบความเชื่อท้องถิ่น  ไม่ว่าจะเป็นการถวายสิ่งของหรือการบริจาคและการรักษาศีล  ตลอดจนการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและส่วนรวม  เพื่อให้ส่งผลต่อทั้งในโลกมนุษย์และปรโลก ได้ถูกทำให้เกิดความชอบธรรมขึ้นในฐานะที่เป็นวิถีปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา

คำสำคัญ (Tags): #วิถีพุทธ
หมายเลขบันทึก: 486665เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2012 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท