พราหมณ์ : พิธีช้าหงส์ ๑/๒


ช้าหงส์


การช้าหงส์ หรือ ช้าเจ้าหงส์ หรือคำสามัญที่ชาวบ้านมักจะเรียกกันว่า “กล่อมหงส์” เป็นพิธีสำคัญตอนหนึ่งของพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย เป็นการสรงนำเทพเจ้าแล้วอัฐเชิญเทพเจ้าขึ้นสู่พระบรมหงส์อันเป็นพาหนะของเทพเจ้ากลับคืนสู่สวรรค์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ สองปราชญ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ได้รัชการยกย่องว่า หนึ่งคือบิดาแห่งประวิติศาสตร์ไทย และอีกหนึ่งบิดาแห่งศิลปกรรมไทย ทั้งสองพระองค์ทรงพระวินิจฉัยด้วยจดหมายตอบโต้กันหลายฉบับเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ช้า – หงส์” ปรากฏในหนังสือสาส์นสมเด็จ  เริ่มจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (๒๕๒๕ : ๑๙๘ - ๑๙๙) ได้ทรงอธิบายคำพูดที่เหมือนกันแต่ความหมายต่างกันไว้ในจดหมายลงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๘๓ ว่า

            “ “ช้า” หมายความตรงกันข้ามกับ “เร็ว” ได้อย่าง ๑ และหมายความว่า “ไกว” ได้อีกอย่าง ๑ เช่นใช้ว่า “ช้าลูกหลวง”  “ช้าเจ้าหงส์” และ “ชิงช้า” คำว่า “ช้า” ที่หมายความว่า “ไกว” ดูน่าจะเป็นศัพท์ภาษาอื่นที่เสียงคล้าย ๆ กัน ไทยเราเอาเหยียดเป็น “ช้า” แต่เป็นภาษาไรไม่คิดเห็น”

            สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ (ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ๒๕๒๕ : ๒๒๗) ทรงพระวินิฉัยความหมายของคำว่า “ช้า” ตอบกลับเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๘๓ ดังนี้

             “...ที่ทรงดำริค้นเอาคำช้ามานั้นลี้ลับมากไป คำ ช้า นั้นมีปัญหาไปอีกทางหนึ่งมีผู้รู้มาถามว่า “ต่ำช้า” ทำไมถึงต้องมีช้า เกล้ากระหม่อมก็จน “ป่าช้า” ก็มีคนแปลความแต่เกล้ากระหม่อมไม่ชอบ “ช้าลูกหลวง” เห็นจะหวายถึงทำนองว่าร้องช้า ๆ อย่างเดียวกับที่แทงไว้ในบทละคร “ช้าเจ้าหงส์” นั้นหมายถึงชิงช้าแน่”

ผ่านไป ๘ วัน สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์  ทรงได้ให้ความหมายของช้าเจ้าหงส์ใหม่ไว้ในจดหมายที่ถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราขานุภาพว่า

              “ร้อนใจที่จะกราบทูลสารภาพ ว่าที่วิจารณ์คำ “ช้าเจ้าหงส์” มาถวายนั้นผิดไปเสียแล้ว แท้จริงรำลึกชาติขึ้นได้ว่าคำ “ช้าเจ้าหงส์” มาคนละทาง ไม่ใช่ไกวเป็นหงส์ในพิธีชิงช้าของพราหมณ์ที่เทวสถาน นั่นเขาเรียกโดยทางราชการว่า “กล่อมหงส์” คำว่าช้าหงส์นั้นเป็นชื่อเพลง คือเพลงซึ่งโต้กันอย่างเพลงปรบไก่ แต่ลูกคู่ร้องรับยืนคำอยู่ ว่า “ช้าเจ้าหงส์เอย ปีกอ่อนร่อนลง เข้าในดงลำไย” เมื่อยังร้องซ้ำอยู่นานเบื่อหูเข้า เขาก็ร้องรับยักไปว่า “อินนะชิตฤทธิรงค์ เข้าในดงลำไย” เพลงนี้เขาเอามาเล่นบำเรอเมื่อไปเที่ยวเมืองนางรอง เรียกว่า “เพลงช้าเจ้าหงส์”” (ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา., ๒๕๐๕ : ๒๔๒)

พิธีช้าหงส์ในพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวายนั้นเริ่มด้วยพระมหาราชครูกระทำกรรมบูชา หรือกรรมพิธีอัญเชิญเทพเจ้าสรงน้ำด้วยกลศและน้ำสังข์ เสร็จแล้วอัญเชิญสู่ภัทรบิฐ ทำสารทบูชา อัญเชิญเทพรูปตั้งบนพานทอง แล้วเดินชูประทักษิณรอบหงส์เทพพาหนะที่ตั้งหงส์นี้ทำรูปคล้ายเปล เมื่อเวียนครบสามรอบแล้ว        อัญเชิญเทวรูปขึ้นสู่บุษบกหงส์ จากนั้นพระครูพราหมณ์ ๑ คู่ อ่านพระเวท ช้าหงส์ พระครูพราหมณ์อีกคนหนึ่งไกลเปลหงส์ไปช้า ๆ เป็นจังหวะ เสมือนหนึ่งพญาหงส์บินไปรอบ ๆ จักวาลครรไลสู่สวรรค์ จากการอ่านพระเวทเป็นทำนองฉันท์แล้วไกวแปลช้า ๆ  ชาวบ้านจึงเรียกว่า “กล่อมหงส์”

ตามตำนานปุราณะ ได้กล่าวว่า ฉันท์กล่องหงส์นี้เป็นจินตนาการอันเกิดจากดวงจิตของมหาฤษีวยาสะ โดยสดับเสียงนกกระเรียนผังเมียคู่หนึ่ง กล่าวคือ กระเรียนผู้ผัวถูกนายพรานยิงตาย กระเรียนผู้เมียจึงร้องไห้โหยหวนคร่ำครวญเศร้าโศกเสียใจ แต่ด้วยความที่กระเรียนมีเสียงไพเราะอยู่แล้ว เมื่อมหาฤษีวาสยะได้สดับจึงเกิดจินตนาการเรียบเรียงเสียงร้อยกรองเข้า บังเกิดเป็นโศลกและฉันท์ต่าง ๆพระเวทช้าหงส์จึงมีท่วงทำนองเป็นอมตะ ที่วงการวรรณคดียกย้อง แต่เมื่อกาลเวลาจะป่านเลยไปหลายศตวรรษทำนองกล่อมช้าหงส์ก็เกิดการผิดเพี้ยนจากต้นฉบับไปบ้างเป็นธรรมดา แต่อย่างไรก็ตาม พราหมณ์ผู้รักษาพระเวทก็ยังคงดำรงรักษาหลักการใหญ่ของการออกเสียงและท่วงทำนองไว้ทั้งหมด (ชวิน รังสิพราหมณกุล, ๒๕๐๕ : ๑๐)

ศิริพจน์เหล่า มานะเจริญ (๒๕๕๐ : ๓๔) ได้กล่าวถึงตำราในการขับกล่อมช้าหงส์ในประเทศไทยว่า บางส่วนนั้นนำมาจากคัมภีร์สดุดีพระอิศวรในประเทศอินเดียที่ประพันธ์ขึ้นราว ๑,๑๐๐  - ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว

ป. ศาสตรี ได้สำรวจตำราพราหมณ์ที่แต่งเป็นภาษาอังกฤษ พบว่า ตำราช้าหงส์ หรือกล่อมหงส์นั้นประกอบด้วย คำสดุดีเทพเจ้าดังนี้   (สมรรัตนศิริเชษฐ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวง, ๒๔๗๔ : ๒๔ – ๒๕)

๑.  คำสดุดี “โองการ” (คำว่า “โอม”) ซึ่งนับเป็นการร่ายมนต์มัยของเทพเจ้า

๒. คำสดุดีพระอิศวร ซึ่งตำราประเทศอินเดียเรียกว่า “ศิวปญฺจากฺษรสฺโตตฺรม”  กล่าวว่าพราหมณจารย์ศังกรเป็นผู้แต่งเมื่อ ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว

๓. คำสดุดีพระอิศวรและพระอุมา ปางอรรธนารีศวร คือ เป็นปางที่พระอิศวรและพระอุมามีกายอันเดียวกัน แสดงออกมาในรูปแบบแบ่งครั้งเพศชาย – หญิง พระอิศวรเป็นส่วนข้างขวา และพระอุมาเป็นส่วนด้านซ้าย คำสดุดีบทนี้โดยมากตรงกันกับสำนวนบทสดุดี คือ “อรฺธนารีศฺวรสฺโตตฺรมฺ” ซึ่งมีอยู่ในคัมภีร์ประชุมสดุดีเทวดาในเมืองมัทราส

ทำนองฉันท์กล่อมหงส์มีอยู่ ๔ ทำนอง แต่ละทำนองมีลีลาและความไพเราะแตกต่างกัน  พระราชครูวามเทพมุนี ได้อธิบายถึงท่วงทำนองอันไพเราะของฉันท์กล่อมหงส์ดังนี้เสียง

             “ผู้ที่เคยได้ฟังมักกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นลีลาของอันไพเราะนุ่มนวลยากที่จะหาฟังจากที่อื่น ๆ ได้

             ฉันท์กล่อมหงส์ดังกล่าวได้รจนาล่วงเป็นเวลานานแล้วนับพัน ๆ ปีก่อนพุทธกาล และท่วงทำนองนี้ยังคงรักษาไว้ทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งการออกเสียงและอักขระพยัญชนะ ถ้าได้ฟังแล้วจะรู้สึกว่าโบราณจารย์ได้ร้อยกรองเป็นวรรณคดี มีสัมผัสหนักเบาไพเราะอย่างน่าอัศจรรย์” (ชวิน รังสิพราหมณกุล, ๒๕๐๕ : ๙)

ความไพเราะของท่วงทำนองกล่อมหงส์นั้นไม่ว่าจะเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินหรือสามัญชนคนธรรมดาล้วนแต่ตั้งหน้าตั่งตาฟังกัน ในโครงพระราชพิธีทวาทศมาสได้กล่าวถึงความนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่๕ กับการฟังกล่อมช้าหงส์ดังนี้

                                “ช้าหงส์ชนชอบแล้ว                          ไปฟัง

                นั่งที่แถวผนังตาม                                              พวงพ้อง

                ผู้ดีมักแอบบัง                                                   เสาซุ่ม ซ่อนเอย

                บางพวกพาพี่น้อง                                               เที่ยวเหล้นตามสบาย

                ............................                                           ................................

                                บางพวกเหล่าหม่อมเจ้า                     บางองค์

                บางพวกหม่อมราชวงศ์                                      หนุ่มน้อย

                ไปฟังเมื่อช้าหงส์                                                                เห็นสนุก นาพ่อ

                มีอนงค์แอบอ้อย                                                  อิ่งอ้อนบังตา” (บำราบปรปักษ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยา, ๒๕๒๔ : ๑๕๔)

ใช่ว่าผู้คนโดยมากจะตั่งใจไปฟังการกล่อมช้าหงส์เพียงอย่างเดียวไม่ เพราะตลอดงานพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายจะมหรสพรายรอบบริเวณเทวสถานและวัดสุทัศน์เทพวราราม มีทั้งโรงหนังและดอกไม้เพลิง ค่ำคืนการกล่อมช้าหงส์จึงเปรียบเสมือนกับกาลนัดแนะของหนุ่มสาวและชาวบ้านออกมาเที่ยวแตร่หาความสุขสำราญ

                                “ทั้งนี้ฤๅใช้ช้า                                   หงส์ประสงค์ ฟังเอย

                จริงจิตจำนง                                                     อื่นบ้าง

                จงเจาะเฉพาะตรง                                               สิ่งสวาดิ แลนา

                ยกเหตุช้าหงส์อ้าง                                               เพื่อรู้วันประชุม” (บำราบปีปักษ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยา, ๒๕๒๔ : ๑๕๕)

พระราชครูวามเทพมุนียังได้เล่าถึงปฏิหาริย์อันแปลก ๆ ที่เกิดขึ้นในการประกอบพิธีช้าหงส์ดังนี้

              “...ที่ปากหงส์อันเป็นเทพาหนะของพระผู้เป็นเจ้านี้ จะมีเทียนติดตามไฟอยู่ตลอดพิธี น้ำตาเทียนปากหงส์ ปรากฏว่าเป็นที่ปารถนาของขุนนางข้าราชการและประชาชนที่เข้าฟังพระเวทต่างหากันแก่งแย่งขอกันเป็นชุลมุนเพราะถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ มีผลทางบันดาลได้ต่าง ๆ ที่เรียกกันติดปากว่า “สีผึ้งปากหงส์”” (ชวิน รังสิพราหมณกุล, ๒๕๐๕ : ๑๐ - ๑๑)

ในสมัยโบราณกาลพระมหากษัตริย์จะเสด็จไปส่งช้าหงส์ด้วยพระองค์เองถึงเทวสถาน เนื่องด้วยการช้าหงส์มีเนื้อหาที่เต็มไปด้วยความมงคลเทวฤทธิ์บันดาล และเป็นที่นิยมของมหาชาชนทุกสมัย ขบวนเสด็จจัดอย่างใหญ่โตเป็นพระราชพิธีแบบเฉพาะ อีกทั้งยังมีงานมหรสพ โรงหนัง ร้านรวง คืนที่มีพิธีช้าหงส์จะได้รับความนิยมของผู้คนทุกชนชั้นในการมาเที่ยวชมงาน ซึ่งดูได้จากโคลงทวาทศมาส พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ดังนี้

                                “ เกรียวกรูดูแห่ทั้ง                               ชายหญิง

                บ้างก็เที่ยวเรี่ยราย                                                ซุ่มซุ้ม

                บ้างมีที่นัดหมาย                                                  ไปเที่ยว เล่นนา

                ชอบแห่งใดไปกลุ้ม                                             จดจ้องลองเลียม

                                บางพวกแห่แล้วเที่ยว                          เซซัง

                บางพวกแวะดูหนัง                                             สนุกจ้าน

                บางพวกใคร่คอยฟัง                                            พราหมณ์กล่อม หงส์เอย

                บางพวกกลับคืนบ้าน                                         เบื่อคล้านคอยดู

                                หญิงชายหลายเหล่าพร้อม                เพรียงกัน

                เริงรื่นชื่นชมจันทร์                                             แจ่มฟ้า

                ชักชวนมิตรเผ่าพันธุ์                                          ชู้เริ่ม รักเฮย

                สาวซุ่มกลุ่มซ่อนหน้า                                         หนุ่มกล้าสอดมอง

                                ผู้ดีชอบยักย้าย                                      ปลอมแปลง

                ใช้แยบเที่ยวแอบแฝง                                          ดาดด้อม

                สบเหมาะสกัดสแกง                                           เล็ดลอดดูแฮ

                บ่าวไพร่ไปห้อมล้อม                                          ซ่อนหน้าปนละวน” (บำราบปีปักษ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยา, ๒๕๒๔ : ๑๔๘ - ๑๔๙)

 

เสาชิงช้าน้อย

 

เสาชิงช้าน้อย หรือ เสาหงส์นั้นจะตั่งอยู่ตรงกลางของโบสถ์ทั้ง ๓ ในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ลักษณะคล้าย “เสาชิงช้า” ใหญ่ แต่ไม่ได้มีลวดลายวิจิตรดังเสาชิงช้าใหญ่ เป็นเพียงเสาสีขาวหัวบัว สูงประมาณ ๒.๕๐เมตร การประกอบพิธี พราหมณ์จะนำบุษบกหงส์แขวนกับเสาชิงช้าน้อย แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนบุษบกหงส์ พราหมณ์จะทำการไกวช้า ๆ ไปพร้อม  ๆ กับพราหมณ์ ๒ ท่านอ่านบทช้าหงส์

สำหรับประเทศอินเดีย แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานการโล้ชิงช้าใหญ่เหมือนในพิธีตรียัมปวาย แต่ยังคงปรากฏหลักฐานการนำเทวรูปขึ้นชิงช้าที่ประดับประดาไว้อย่างสวยงามอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีการไกวขับกล่อม คล้ายกับการช้าหงส์ในพิธีตรีปวาย เรียกว่า พิธีฮินโดละบรรพ (Hundola Parva)  จัดขึ้นในเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม คำว่า “ฮินโดละ” แปลว่า ชิงช้า  คำว่า “บรรพ” แปลว่า ช่วงระยะเวลา (ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ, ๒๕๕๐ : ๓๔)

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

 

หนังสืออ้างอิง

 

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน.  พิมพ์ครั้งที่ ๑๓. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา. ๒๕๑๔.

 

บำราบปีปักษ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยา. โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ๒๕๔๕.ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ เล่มที่ ๑๘.พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา. ๒๕๐๕.

 

ชวิน รังสิพราหมณกุล, พระราชครูวามเทพมุนี. “พิธีพราหมณ์ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี.” จดหม ายข่าวสำนักพระราชวัง ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๒ (กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม ๒๕๕๐) : ๘๙ -๙๒. และ ฉบับที่ ๓ (มิถุนายน – กันยายน ๒๕๕๐) : ๘๕ – ๘๙.

 

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. “ช้าเจ้าหงส์ ต้นเค้าพิธีโล้ชิงช้าในสยาม.” มติชน, ฉบับที่ ๑๐๖๖๐, ปีที่ ๓๐ (๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐) ๓๔.

 

สมรรัตนศิริเชษฐ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวง, โปรดให้จัดพิมพ์เป็นมิตรพลีขึ้นปีใหม่ เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๗๔. รายงานสำรวจตำราพระราชพิธีพราหมณ์สยาม ของ นาย ป.ศาสตรี. พิมพ์ครั้งที่ ๑. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์. ๒๔๗๔.

 

อุคินทร์ วิริยะบูรณะ, ผู้รวบรวม. ประเพณีไทย ฉบับมหาราชครูฯ. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. กรุงเทพฯ : ประจักษ์การพิมพ์. ๒๕๒๖.

 




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท