สอนให้เรียน ให้รู้จริง


เหมือนกับการฝึกเด็กให้ว่ายน้ำได้ พอเก่งแล้วไม่ว่าสระน้ำใหญ่เล็กหรือเป็นแม่น้ำลำคลองก็จะว่ายได้ทั้งนั้น บทเรียนทุกวันนี้ สอนเด็กว่ายน้ำ สอนแล้วเด็กว่ายน้ำเป็นไหม ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น คำตอบปัญหาข้อนี้ไม่ใช่เฉพาะครู แต่ผู้เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาทุกท่านต้องร่วมพิจารณาค้นหาคำตอบและร่วมกันปรับปรุงแก้ไข

          ในการจัดการเรียนรู้ครั้งหนึ่ง ๆ นั้น  ผู้จัดจะต้องมองเห็นภาพงานให้ตลอด  เมื่อเห็นภาพงานตลอดแล้ว  ความเป็นหนึ่งเดียวก็จะเกิดขึ้นมาได้

          ความเป็นหนึ่งเดียวที่เกิดจากการจัดการเรียนนั้น  จะส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และการเรียนรู้ที่เกิดเป็นหนึ่งเดียวในตัวผู้เรียนนั้น  เรียกว่า องค์ความรู้

          แล้วการเรียนรู้คืออะไร.....

          การเรียนรู้  คือ  การที่ผู้เรียนได้ปฏิบัติการเรียนตามกระบวนการที่กำหนดไว้จนกระทั่งเกิดการรู้จริงจนรู้แจ้งในเรื่องที่จะเรียนรู้และสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวที่เรียนรู้ได้ทั้งหมดนั้นให้เป็นหนึ่งเดียว  แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติจนสามารถพัฒนาตนเองได้

          องค์ความรู้  คือความรู้ที่ผู้เรียน สามารถนำความรู้ที่ตนเรียนรู้ในสาระนั้น  ๆ  มาเชื่อมโยงเข้ากันเป็นหนึ่งเดียวได้  หรือเรียกว่ารู้รอบครอบระบบเรื่องนั้น ๆ เช่นในเรื่องของ แผนการเรียนรู้  พอพูดถึงกิจกรรมการเรียนรู้คุณครูจะสามารถตอบได้ว่า  กิจกรรมชุดนี้เมื่อเรียนจบแล้วจะบรรลุจุดประสงค์นำทางข้อนี้และจุดประสงค์นำทางชุดนี้จะบรรลุจุดประสงค์ปลายทาง ข้อนี้ และในขณะเดียวกัน  จุดประสงค์ปลายทาง  2-3   ข้อนี้จะสามารถบรรลุผลการเรียนรู้ข้อนี้  และทั้งหมดนี้สามารถประเมินผลได้ว่า  บรรลุมาตรฐานข้อนี้เอง  นี่คือภาพขององค์ความรู้ที่มองเห็นได้ตลอดแนว

          จะเห็นได้ว่า เมื่อคุณครูจัดภาพงานสอนให้เป็นระบบต่อเนื่องเชื่อมโยงให้เป็นเรื่องเดียวกันตลอดแนว  แล้วส่งผลต่อความ  เข้าใจการเรียนรู้ได้อย่างดี  เพราะผู้เรียนจะไม่เกิดความสับสนเรื่องที่เรียนรู้  ยิ่งถ้าคุณครูสามารถสร้างพื้นฐานเรื่องราวที่จะนำสอนให้   ชัดเจนมองเห็นภาพได้ดีก็จะเข้าใจเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างดี

          การสอนที่จะให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องราวที่กำลังเรียนนั้น  คุณครูจะต้องเตรียมปูพื้นฐานเรื่องราวเหล่านั้นให้แก่ผู้เรียน  โดยวิธีการที่เป็นสากล  คือ

 

  1. สอนสิ่งที่นักเรียนรู้แล้ว
  2. เชื่อมโยงสิ่งที่รู้แล้วไปสู่เรื่องใหม่แบบค่อย ๆ เติมเต็ม
  3. นักเรียนจะต้องเรียนรู้แบบเป็นผู้ปฏิบัติเองจนสามารถสรุปเรื่องที่รู้ได้เอง  ไม่ใช่ครูบอกตัวความรู้ให้นักเรียนท่องจำ

4.  ตัวความรู้ที่พูดว่า นักเรียนได้เรียนรู้นั้น ต้องเป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมาจากจิตใจของนักเรียนผู้เรียนเอง  ซึ่งผู้เรียนแต่ละคนอาจจะสรุปความคิดรวบยอด ถ่ายทอดออกมาได้ไม่เหมือนกัน  แต่ภาพงานนั้นรู้ได้เหมือนกัน

โดยเฉพาะในข้อที่  4  นั้น  มีความสำคัญมาก  เพราะมันขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน  ตัวผมเองมีโอกาสร่วมเขียนแผนการเรียนรู้กับเพื่อนครู  พบว่าเวลาเขียนความคิดรวบยอด  หรือสาระสำคัญแล้ว  เรามักจะคิดต่างกันเพราะเรามีมุมมองต่อการสอนต่างกัน  เพื่อนผมมองเห็นความสำคัญของสาระความรู้ ก็จะเขียนสาระสำคัญว่า

“มนุษย์อาศัยทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกของตน  และในขณะเดียวกันมนุษย์ก็เป็นผู้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ”

        ส่วนผมมองเห็นความสำคัญของทักษะกระบวนการ ดังนั้นเวลาผมเขียนสาระสำคัญผมก็จะเน้นความสำคัญลงไปที่ทักษะกระบวนการ  ผมจึงเขียนว่า

          “การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้  สังเกต  ศึกษา  ค้นคว้าเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติด้วยตนเอง  ผู้เรียนย่อมจะมองเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น”

          ถามว่า ผมกับเพื่อนใครผิดใครถูก ตอบได้ว่าไม่มีคนผิดเพราะในความต่างนั้นมีความเหมือน  กล่าวคือ เราต่างต้องการเน้นให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติจนเกิดจิตอนุรักษ์ แต่เราใช้วิธีการจี้จุดที่ต่างกัน  แต่ทว่าเมื่อเรียนจบแล้วก็จะเดินทางมาสู่    จุดหมายปลายทางเดียวกันได้

          ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้น  ไม่จำเป็นต้องให้ผู้เรียนแต่ละคนที่เรียนเรื่องเดียวกันสรุปบทเรียนในมุมมองเดียวกัน  ยิ่งนักเรียนสรุปบทเรียนได้หลายมุมมองจะดีมาก  แต่ครูจะทำวิธีการใดที่จะหลอมรวมความคิดต่างนั้นให้มาสู่จุดหมายปลายทางเดียวกันได้ ตรงนี้ต่างหากที่ครูจะเกิดการเรียนรู้

          การปูพื้นฐานให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้นั้นมีความสำคัญมาก  เพราะเป็นการเรียนชนิดค่อย ๆ เรียนไปจนเรียนรู้  เป็นการเรียนที่ไม่ใช่ครูระดมความรู้เข้าสู่ผู้เรียนในทันทีทันใดชนิดใครรับได้รับเอาไป   ผลสุดท้ายเราจะมีเด็กที่รู้เรื่อง  พอจะรู้เรื่อง  ไม่ค่อยรู้เรื่องและไม่รู้เรื่องเลย   โดยจะมีจำนวนที่น้อย  มาก    มากขึ้นตามลำดับ

          ผมเองนั้นเรียนคณิตศาสตร์อ่อนมาก ๆ เพราะขาดพื้นฐาน  เมื่อครูรีบสอนผมก็ยิ่งไม่รู้เรื่องมากยิ่งขึ้น  ผมเพิ่งรู้และเข้าใจคณิตศาสตร์ตอนที่เป็นครูนี่เอง   สิ่งนี้เป็นจุดประทับใจและสะเทือนใจผมจนทุกวันนี้  ส่งผลให้ผมต้องสอนช้า ๆ  สอนแบบหวังผลให้เด็ก ๆ  เรียนรู้จนได้  เช่น  ถ้าผมจะสอนเรื่อง เส้นผ่าศูนย์กลาง   เส้นรัศมี  ผมว่าต้องให้เด็กเล่นกับวงกลม  สนุกกับการเรียน  เช่น

  1. นักเรียนนำกระดาษมาวางซ้อนกัน 2-3  แผ่น
  2. นักเรียนสร้างวงกลมบนกระดาษแผ่นบนแล้วตัดกระดาษทุกแผ่นพร้อมกันจะได้วงกลม 2-3 แผ่นที่มีขนาดเท่ากัน
  3. นักเรียนค้นหาคำตอบว่า

3.1   วงกลมทั้งหมดมีขนาดเท่ากันไหม

3.2    ทำไมวงกลมทั้งหมดจึงมีขนาดเท่ากัน

นี่คือการปูพื้นฐานการเรียนก่อนที่จะเรียนเรื่องเส้นผ่าศูนย์กลาง  เส้นรัศมี   ซึ่งแน่นอนครูต้องกระตุ้นให้เด็ก ๆ วัดเส้นผ่าศูนย์กลางวงกลมทั้ง  3  วง ( ภายหลังที่เด็ก ๆ  ตอบตามความคิดของเด็ก ๆ ด้วยเหตุผลของเด็ก ๆ แบบเด็ก ๆ  )  เปรียบเทียบกันจนสรุปได้ว่า “ถ้าเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากัน  วงกลมย่อมมีขนาดเท่ากัน”  แล้วหาเชือกด้ายมาตัดให้ยาวเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลาง  พับครึ่งเชือกที่ตัดนำไปทาบลงในกระดาษ  จุดตรงปลายเชือก  2  จุดวัดความยาวจะได้ครึ่งหนึ่งของเส้นผ่าศูนย์กลาง  ลากเส้นเชื่อมจุดทั้ง  2  แล้วกางวงเวียนให้เท่ากับรัศมีเส้นที่ลากไว้  เขียนภาพวงกลมแล้วตัดออกเป็นวงกลม  นำไปทาบกับวงกลมเดิมที่มีอยู่  จะเห็นว่ามีความเท่ากัน  วัดความยาวของเส้นรัศมี  จะเห็นว่าได้เป็น ½  หรือครึ่งหนึ่งของเส้นผ่าศูนย์กลางมาถึงตรงนี้เด็ก ๆ  ต้องสรุปความรู้ด้วยตนเอง

เมื่อนักเรียนสามารถสรุปความรู้ที่เกิดจากความคิดของตนได้แล้ว  ครูกับนักเรียนร่วมกันเสวนา  หาข้อสรุปที่เป็นกลางเพื่อฝึกการสรุปความคิดรวบยอดเชิงวิชาการให้  แต่ทั้งนี้ความคิดเดิมของนักเรียนก็คงไว้อย่าไปลบออก  การเปรียบเทียบทางด้านการใช้ภาษาก็จะเกิดขึ้น

เปิดโอกาสให้นักเรียนขีดเส้นผ่าศูนย์กลางในวงกลม  1  วงหลาย ๆ เส้น  วัดขนาดความยาวแล้วสรุปความคิดของตน

วาดวงกลมให้โตขึ้น  ขีดเส้นผ่าศูนย์กลางหลาย ๆ เส้น สรุปความคิดของตน

ขีดเส้นรัศมีในวงกลมต่างขนาดสรุปเป็นความคิดของตน

ร่วมกันสรุปความคิดต่อเส้นผ่าศูนย์กลางและเส้นรัศมีที่เรียนรู้ผ่านมา

จะเห็นได้ว่าเรื่องเล็ก ๆ แต่กว่าจะสอนให้เข้า(ไปอยู่ในหัว) ใจ  ได้นั้นต้องใช้เวลา

นี่คือการสอนวิธีการเรียนรู้สู่ผู้เรียน  ( อีกวิธีหนึ่ง )

                เมื่อนักเรียนเข้าใจเรื่องเส้นผ่าศูนย์กลางแล้วลองให้นำวิธีการนี้ไปใช้ในการเรียนรู้เรื่องเส้นรอบวง  มุม  องศา  และเศษส่วน  แล้วครูคอยสังเกตหาจุดพัฒนาต่อไป  เป็นการเรียนรู้ร่วมระหว่างครูกับศิษย์แต่คนละความคิดคนละมุมมอง  ตัวความรู้นั้นจะเกิดขึ้นได้  เนื่องจากมวลประสบการณ์ที่เข้าไปสั่งสมอยู่ในตัวผู้เรียน  ถักทอเป็นหนึ่งเดียวกันได้  ก็จะเกิดเป็นความรู้ที่เรียนรู้มา ถ้าถามว่ากว่าจะรู้นั้นจะต้องใช้เวลานานเพียงใด  ไม่สามารถตอบได้เพราะมันเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล   แต่ในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้นมักจะสรุปว่า เรียนก็รู้ได้ทันที  ความรู้ที่เรียนเสร็จรู้นั้นมักจะเป็นความรู้ไม่แท้  เป็นความรู้ที่รู้จากการได้ยินได้ฟังได้ทำ เป็นความรู้ที่เรียกว่ารู้ เท่านั้น  แต่ตัวรู้นี้  เมื่อสั่งสมไว้นาน ๆ  มาก ๆ เข้าหล่อหลอมกันได้ก็จะเกิดตัวรู้จริงขึ้นมาในที่สุด   ผมจะยกตัวอย่างคนที่เรียนธรรมะ สามารถตอบเรื่อง อริยสัจสี่ ได้ถูกต้อง  เพราะเขารู้จำ แต่ถามว่าเขายังมีทุกข์ไหม  ตอบได้ว่า  มี  ทำไมเขาตอบเรื่องอริยสัจได้แล้วยังทุกข์อีก  ก็เป็นเพราะเขาไม่รู้จริง  เขาจึงไม่แจ้งในเรื่องนั้น

                อริยสัจสี่นั้นจะผุดพรายขึ้นมาในบึ้งจิต  เมื่อคราวถึงเวลา  คับขันขึ้นมา  ตัวธรรมจะผุดมากล่อมเกลาจิตให้สงบนิ่งได้  เช่น คนที่เข้าถึงธรรมยามเจ็บป่วยจะนอนดูอาการเจ็บป่วยอย่างสงบ  เพราะรู้ว่า ความเจ็บป่วยนั้นเป็นเรื่องธรรมดา  ถ้าเราไปวุ่นวายกับมันก็จะเป็นทุกข์  ที่เป็นทุกข์เพราะจิตคิด  ตัวจิตคิดนี่แหละคือ สมุทัย  วิธีการที่จะไม่ให้ทุกข์เกิดก็คือ รู้เท่าทันจิตที่จะคิด  การรู้เท่าทันจิตคือ มรรค เมื่อจิตคิดรู้ว่า ผู้ป่วยรู้เท่าทันก็จะหยุดคิดจึงสงบ อาการสงบนี้คือ นิโรธ

                ทั้งหมดนั้นจะผุดพรายขึ้นมาในจิตอย่างอัศจรรย์  สำหรับผู้เข้าถึงอริยสัจสี่  เมื่อผู้นั้นรู้เท่าทันความเจ็บให้ได้ก็จะมี ไตรลักษณ์ เกิดซ้อนขึ้นมาคือ เมื่อเห็นอาการเจ็บ  ก็รู้ว่านั่นคือ เวทนา   ร่างกายส่วนนั้นที่เกิดเวทนาขึ้นมาได้นั้นเพราะมันไม่เที่ยง  มันเสื่อมลงไปตามธรรมชาติของสังขาร  มันเป็นอนิจจัง  และมันเจ็บ ๆ หาย ๆ  ไม่ยั่งยืนเพราะมันไม่เที่ยงมันทุกขัง  ที่มันเจ็บ ๆ หาย ๆ  เจ็บ ๆ นั้นเพราะมันใช่ของจริง  เรียกว่าเจ็บไม่จริง  หายไม่จริง  เราควบคุมมันไม่ได้เพราะมันไม่ใช่ตัวตนของเราที่แท้จริง   มันเป็นอนัตตา  เมื่อเราเห็นได้ดังนี้แล้วเราก็รู้สึกลึก ๆ  ต่อไปว่า “อย่าเอามันมาใส่ใจ  ปล่อยปละมันไป  มันจะเจ็บก็เรื่องของมัน”  เห็นไหมว่า “ความคิดชอบ” ก็เกิดขึ้น  นั่นคือเราเดินทางมาจาก อริยสัจสี่  สู่ ไตรลักษณ์ แล้วทะลุเข้า มรรคอันมีองค์  8   ในชั่วอึดใจเดียว  ไม่ต้องท่องจำ  ไม่ต้อง    ทบทวนแต่ตัวรู้จะดำเนินการของมันขึ้นมาในดวงจิต  ผุดมากล่อมเกลาจิตให้สงบได้  นี่คือ ความรู้ที่แท้จริง  จะต้องนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ 

                แต่ทว่ากว่าที่ตัวรู้จะเกิดได้ดั่งที่แสดงผ่านมา ผู้รู้คือคน ๆ นั้นจะต้องฝึกฝนอยู่นานโดยการพิจารณา ให้เห็นความเจ็บปวดในกายที่เกิดขึ้น  ตั้งอยู่และดับไป  ครั้งแล้วครั้งเล่าจนเห็นภาพอาการเหล่านั้นชัดเจน  เรียกว่า คิดแบบโยนิโสมนสิการ   คือพิจารณาอย่างแยบคาย  คิดแล้วคิดอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีก  ไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วจะเกิด

                บทเรียนในชั้นเรียนก็เหมือนกัน  ถ้าคุณครูฝึกทักษะกระบวนการเรียนรู้แก่ผู้เรียนซ้ำ ๆ แต่ต่างสถานการณ์จนผู้เรียนเชี่ยวชาญก็จะดึงมาใช้ได้ทันทีที่ต้องการใช้ เหมือนกับการฝึกเด็กให้ว่ายน้ำได้  พอเก่งแล้วไม่ว่าสระน้ำใหญ่เล็กหรือเป็นแม่น้ำลำคลองก็จะว่ายได้ทั้งนั้น

                ก่อนจะจบผมก็ถามว่า บทเรียนทุกวันนี้   สอนเด็กว่ายน้ำ สอนแล้วเด็กว่ายน้ำเป็นไหม  ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น  คำตอบปัญหาข้อนี้ไม่ใช่เฉพาะครู  แต่ผู้เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาทุกท่านต้องร่วมพิจารณาค้นหาคำตอบและร่วมกันปรับปรุงแก้ไข

หมายเลขบันทึก: 486599เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2012 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท