GAP ปาล์มน้ำมันบ้านนาเดิม 55


พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร (GAP)

ปีงบประมาณ 2555  สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านนาเดิม  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ได้รับงบประมาณให้ดำเนินการโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐาน กิจกรรม พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร (GAP)  เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันสนใจเข้าสมัครร่วมโครงการจำนวน 45 ราย  สำนักงานได้จัดอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาดูงานในแปลงที่ประสบความสำเร็จในวันที่ 25-26 เมษายน 2555 ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สามารถสรุปเป็นประด็นต่าง ๆ ได้ดังนี้

พันธุ์ปาล์มน้ำมัน  พันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ใช้ปลูก ต้องเป็นพันธุ์ลูกผสมเทเนอรา ระหว่างพันธุ์แม่ดูรา และพันธุ์พ่อฟิสิเฟอรา ดังนั้นเกษตรกรต้องซื้อต้นกล้าปาล์มน้ำมันจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ซึ่งมีหนังสือรับรองจากกรมวิชาการเกษตร มีอายุ 8-12เดือน ต้นสมบูรณ์แข็งแรง มีความสูง 1-1.5 เมตร มีใบประกอบรูปขนนก อย่างน้อย 9 ใบ

สภาพพื้นที่ปลูก สภาพพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน คือ พื้นที่ไม่มีน้ำท่วมขัง มีการระบายน้ำดีถึงปานกลาง

การปลูก เกษตรกรต้องเตรียมพื้นที่ปลูก ทำถนน สำหรับลำเลียงผลผลิตออกจากแปลงและทำร่องระบายน้ำ

ปลูกปาล์มน้ำมันในแนวเหนือ-ใต้ เพื่อให้ต้นปาล์มน้ำมันได้รับแสงแดดมากที่สุด ใช้ระยะปลูก 9x9x9 เมตร เป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ปลูกในช่วงหน้าฝน รองก้นหลุมด้วย 0-3-0 ถ้าต้นปาล์มน้ำมันตาย ต้องปลูกซ่อมหลังจากย้ายปลูก 6-8 เดือน แต่ไม่ควรเกิน 1 ปี

การดูแลรักษา

1. การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร  คือ  แม่ปุ๋ย  5  ชนิด  ได้แก่  21 -0-0 ,     0-3-0 , 0-0-60 , แมกนีเซียม ,โบรอน และใส่ปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดิน  การใส่ควรกำจัดวัชพืชก่อนการใส่ปุ๋ยเคมี และใส่ในขณะที่ดินมีความชื้นเพียงพอ หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยเมื่อฝนตกหนัก  ที่สำคัญเกษตรกรควรมีการวิเคราะห์ดินก่อนการใส่ปุ๋ย

2. การตัดแต่งทางใบ ไม่ควรตัดแต่งทางใบจนกว่าจะถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยตัดทางใบให้เหลือรองรับทะลายปาล์ม 2 ทาง ทางใบที่ตัดแล้ว ให้นำมาเรียงกระจายแถวเว้นแถว เป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน

3. การให้น้ำ ถ้าสภาพพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมีช่วงฤดูแล้งยาวนาน ควรมีการให้น้ำ 150-200 ลิตร/ต้น/วัน

สุขลักษณะในแปลง  ทางใบปาล์มน้ำมันที่ตัดแต่ง ต้องไม่นำมาเผา แต่ควรจัดเรียงในบริเวณแถวของต้นปาล์มน้ำมันเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ทะลายเปล่าปาล์มน้ำมัน ควรนำมาเรียงรอบโคนต้น เพื่อเพิ่มธาตุอาหาร และรักษาความชื้นในดิน  หลังเก็บเกี่ยวทะลายปาล์ม ควรเก็บผลปาล์มร่วงใส่ถุงเพื่อขาย ไม่ปล่อยให้ลูกปาล์มงอกตามพื้น  เสียม และเคียวติดด้าม เมื่อใช้เสร็จ ควรทำความสะอาดและลับให้คม เพื่อเตรียมไว้ใช้งานในครั้งต่อไป เลือกใช้สารเคมีในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น โดยเลือกใช้ให้เหมาะสมกับชนิดของศัตรูพืชก่อนปาล์มให้ผลผลิต ไม่ควรใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชประเภทดูดซึม  อุปกรณ์ฉีดพ่นสารเคมี ต้องทำความสะอาดภายหลังจากการใช้ และจัดเก็บในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ภาชนะที่บรรจุสารเคมีที่ใช้ในสวนปาล์มน้ำมัน ควรนำไปทิ้งในสถานที่ที่จัดไว้ภายในหรือภายนอกสวน

การเก็บเกี่ยว ต้องเก็บทะลายปาล์มน้ำมันที่สุก คือ ระยะที่ผลปาล์มมีสีผิวเปลือกนอกสีส้ม หรือสีแดง มีผลปาล์มร่วง 10 ผล/ทะลาย เก็บผลผลิตปาล์ม 10-15 วัน/รอบ ปาล์มน้ำมันอายุ 3-9 ปี ใช้เสียมเก็บเกี่ยวผลผลิต เมื่อต้นปาล์มน้ำมันสูงมากกว่า 4 เมตร ให้ใช้เคียวเก็บเกี่ยวผลผลิต ถ้าก้านทะลายยาว ให้ใช้ขวานตัดให้เหลือ 2 นิ้ว ขนผลผลิตส่งโรงงานภายใน 24 ชั่วโมง

การบันทึก เกษตรกรต้องบันทึกข้อมูลการปฏิบัติให้มีการตรวจสอบได้ รวมทั้งค่าใช้จ่าย ผลผลิต และรายได้

ภาพกิจกรรม ปี 2555

หมายเลขบันทึก: 486534เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2012 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 19:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท