พราหมณ์ พระราชพิธี : รำเสนง ในพระราชพิธีตรียัมปวาย


คำว่า “เสนง” คือ เขาสัตว์ เป็นภาษาเขมร การรำเสนง เป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย ซึ่งเป็นพิธีปีใหม่ของพราหมณ์ (อุรคินทร์ วิริยะบูรณะ, ผู้รวบรวม, ๒๕๒๖ : ๓๒๙) ดังนั้นการรำเสนงหากจะพูดห้วน ๆ ก็คือการรำเขาควายนั้นเอง

 

 

กรมศิลปากร (๒๕๒๕)    ได้รวบรวมงานนิพนธ์ของนายอาคม สายาคม ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ กรมศิลปากรที่นิพนธ์เรื่องราวของนาฏศิลป์เอาไว้มากมาย หนึ่งในนั้นมีนาฏกรรมเกี่ยวกับลัทธิพราหมณ์ซึ่งแทบจะสูญหายไปจากแผ่นดินเอาไว้ด้วย กล่าวคือ การรำถวายเทพเจ้าที่สำคัญในงานราชพิธีที่ประกอบขึ้นในประเทศไทยมีอยู่สองพระราชพิธีด้วยกันคือ พระราชพิธีทอดเชือก ดามเชือก และพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย ซึ่งเป็นการรำในพระราชสำคัญของประเทศไทยในอดีตทั้งสิ้น

 

พระราชพิธีทอดเชือกตามเชือก เป็นพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับพราหมณ์พฤฒิบาศ การฟ้อนรำในพระราชพิธีนี้ได้แก่ รำพัดชา ท่ารำพัดชาเป็นท่ารำที่ปกปิดเป็นอย่างยิ่ง การออกแสดงก็มีโอกาสน้อย ท่ารำคงอยู่เฉพาะกับผู้มีหน้าที่โดยตรงเท่านั้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ นาอาคม สายาคม ผู้เชี่ยวชาญนาฎศิลป์ กรมศิลปากรได้รับถ่ายทอดท่ารำนี้จากท่านจมื่นศิริวังรัตน์ (เฉลิม คชาชีวะ) และมีการบันทึกเป็นหลักฐานเพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

 

การรำเสนงในพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย

 

การรำเสนงในพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวายมาจากตำนานตอนหนึ่งกล่าวว่า เมื่อพระพรหมได้สร้างโลกแล้วขอให้พระอิศวรไปรักษา แต่พระอิศวรทรงห่วงใยว่าโลกที่สร้างขึ้นมานี่จะไม่แข็งแรง จึงทรงยืนบนตัวนาคด้วยพระบาทข้างเดียวที่โยงตัวกับขุนเขาสองสองฝั่งมหาสมุทรแล้วไกวไปมา เพื่อทดสอบความแข็งแรงของแผ่นดินเหล่าพญานาคทั้งหลายก็พากันโสมนัสยินดีลงสูสาครใหญ่เล่นน้ำเป็นที่สนุกสนาน การแหวกว่ายเล่นสาครของเหล่าพญานาคนี่เองเป็นที่มาของการแต่งตัวของเหล่านาลิวันโดยการใส่เครื่องสวมหัวเป็นพญานาคแล้วรำเสนง

 

ไมเคิล ไรท์ (๒๕๓๖ : ๑๖๔) ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการรำเสนงไว้ดังนี้

 

             “การรำเสนง (เขาควาย) ดูเป็นพื้นเมืองอุษาคเนย์เหลือเกิน และดูขมุ ๆ ระแด ๆ ด้วยซ้ำ ชะรอยจะเป็นการรำของพรานช้างชาวกุยในอิสานตอนใต้ ?

             การที่คนรำสาดน้ำกันเป็นการบังคับความอุดมสมบูรณ์อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งตรงกับความมุ่งหมายของเพลง ติรุเวมบาไวของทมิฬ ทำให้พิธีกรรมหรือเทศกาลของไทยและของทมิฬตรงกันในความมุ่งหมายและเข้ากันได้อย่างสวยงามและมีความหมาย...”

 

ในอินเดียใต้ ติรุเวมบาไวเป็นเทศการของหญิงชาวทมิฬที่จะต้องตื่นก่อนรุ่งอรุณในช่วงเดือนอ้าย แล้วพากันแห่ตามถนนร้องเพลงติรุเวมบาไว เพื่อปลุกเจ้าแม่ (พระอุมาเทวี) ให้ตื่นขึ้นมาทำให้ดินอุดมสมบูรณ์หลังจากที่เก็บเกี่ยวข้าวไปแล้ว แล้วพากันลงไปในบารายในเทวสถาน พลางสาดน้ำร้องเพลงเล่นกันไปด้วย (ไมเคิล ไรท์ ๒๕๓๖ : ๑๖๓) ซึ่งดูแล้วก็คล้ายกับการเล่นน้ำของเหล่าพญานาคที่เล่นสาดน้ำกันเพราะความดีใจเมื่อเห็นว่าโลกแข็งแรงอันเนื่องจากการทดสอบของพระอิศวร

 

อาจสรุปจุดประสงค์ของการรำเสนงได้ว่า เป็นการร่ายรำเขาสัตว์ที่พัฒนาขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผสมผสานคติของอินเดียกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกันอย่างชาญฉลาด อาจจะเริ่มจากชาวเขมรซึ่งเป็นพรานช้าง โดยผูกความเชื่อเรื่องนาคที่ว่าเป็นสัตว์ที่มีหน้าที่ให้น้ำ ส่วนเขาสัตว์อาจจะมีความหมายของความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร จุดประสงค์การรำเสนงก็เพื่อให้เทพเจ้าพอพระทัยจะได้ประทานความอุดมสมบูรณ์ฟ้าฝน และอาหารอะไรทำนองนี้

 

สำหรับประเทศไทย พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย หาใช่แค่พระราชพิธีที่ทดสอบความแข็งแรงมั่นตงของบ้านเมืองประการเดียวไม่ อีกจุดประสงค์หนึ่งก็เพื่อสร้างความสนุกสนานให้แก่ประชาชน การต้อนรับพระอิศวรจึงต้องจัดอย่างสนุกสนานครึกครื้นไปด้วยโดยดึงเอาคติการที่นาคเล่นน้ำอย่างสนุกสนานเข้ามาผสมผสาน นั่นก็คือมีการรำเสนงร่วมด้วยนั่นเอง

 

การรำเสนงเนื่องในพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรียัมปวายน่าจะมีมานานแล้วอย่างช้าที่สุดในรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

และยังคงมีการรำเสนงในพระราชพิธีต่อ ๆ สืบจนถึงรัชกาลที่ ๗ จนในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ จึงเป็นอันเลิกการรำเสนงไปพร้อม ๆ กับพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย

 

เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙ มีการจัดจำลองพระราชพิธีโล้ชิงช้าขึ้น และได้มีการจดบันทึกท่ารำไว้เป็นหลักฐานไว้ด้วย (ศิลปากร, กรม ๒๕๒๕ : ๓๓๖) พระราชครูวามเทพมุนี (สว่าง รัวสิพราหมณ์กุล) ได้เขียนรำลึกไว้ในหนังสือที่ระลึกงานทำบุญอายุครบ ๖๐ ของนายอาคม สายาคมว่า

 

               “ในพระราชพิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย นาลิวันจะต้องขึ้นกระดานโล้ชิงช้า (เพื่อหยั่งพสุธาป การพิธีนี้นาลิวันจะฟ้อนรำถวายพระอิศวร เนื่องด้วยพระราชพิธีนี้ได้เลิกกันไปถึง ๔๒ ปีแล้ว (พ.ศ. ๒๔๗๘ – ๒๕๒๐) การรำเสนงของนาลิวันก็พลอยเลือนลางไปด้วย ทางเทวสถานก็ได้นายอาคม สายาคม ผู้นี้เป็นผู้ประติดประต่อท่ารำเสนงจากผู้มีอายุในปัจจุบันซึ่งเคยเห็นมาเมื่อครั้งก่อน  ให้เข้ารูปเข้ารอยเป็นแบบอย่างต่อไป ในการรำถวายพระอิศวร ซึ่งต้องจารึกไว้ในประวัติของพราหมณ์ในปัจจุบัน ไม่สามารถบิดเบื่อนความจริงนี้ได้” (อ้างใน ศิลปากร, กรม ๒๕๒๕ : ๓๒๘)

 

หน้าพาทย์ ที่ใช้ประกอบการรำใช้หน้าพาทย์ เพลงนาค เพลงเสนง  

 

ผู้แสดง ใช้ผู้รำซึ่งสมมติเรียกว่า นาลิวัน จำนวน ๑๒ คน  

 

การแต่งกาย สวมสนับเพลา แล้วนุ่งโจงทับ เสื้อขาว คาดผ้าเกี้ยว ศีรษะสวมหัวพญานาคมือถือเขาควาย

 

อุปกรณ์ ขันธสาคร มหานทีที่เหล่าพญานาคเล่นน้ำเมื่อครั้งพระอิศวรทดสอบความแข็งแรงของโลก และ เขาวัว หรือเขาควาย สาเหตุการใช้เขาวัวเพราะ วัวเป็นสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับพระอิศวรในฐานะของพาหนะ ภายหลังที่เปลี่ยนมาใช่เขาควายในภายหลังเพราะเขาวัวได้หายากขึ้นนั่นเอง (กุสุมา คงสนิท และคณะ. ๒๕๔๕ : ๔๒)

 

ท่ารำ แต่เดิมแยกเป็นท่อนย่อย ๆ ได้ ๙ ท่า แต่ในการบันทึกของนายอาคม สายาคมได้รวมท่ารำเป็นขั้นตอนได้ ๔ ท่า

 

เริ่มแรกท่าถวายบังคม เริ่มตั้งแถวเรียง ๓ แถว  หรือตั้งแถวรูปครึ่งวงกลมก็ได้ มีขันสาคร (ขันใส่น้ำ) ตั่งอยู่กลางวงจากนั้นชักเท้าขวานั่งลงคุกเข่า ถวายบังคม ๓ ครั้ง

 

ท่าที่ ๑ ตั้งเข่าซ้าย มือทั้งสองข้างจับเขาถวายทำท่าแบกข้างขวา ยืดตัวขึ้นก้าวเท้าขวา มือทั้งสองจับเขาควายทำท่าแบกข้างซ้าย จากนั้นทำท่าสลับกัน เดินวนไปตามเข็มนาฬิกา ๓ รอบ

 

ท่าที่ ๒ ก้าวเท้าซ้าย มือขวาถือเขาควายบังหน้ามือซ้ายจีบอยู่ที่ชายพก ก้าวเท้าขวา เปลี่ยนมือซ้ายตั้งวงบังหน้า มือขวาถือเขาควายถือไว้ที่ชายพกทำสลับกัน เดินวนตามเข็มนาฬิกาเป็นรูปวงกลม ๓ รอบ

 

ท่าที่ ๓ มือซ้ายตั้งมือตึงแขน มือขวาถือเขาควยยกไว้วางบนระดับศีรษะ เดินเข้าหาขันสาครซึ่งตั้งอยู่กลางวง

         -       เมื่อถึงขันสาคร มือขวาซึ่งถือเขาควายทำท่าจ้วงตักน้ำในขัน ส่วนมือซ้ายจับอยู่ที่ชายพก

         -       มือซ้ายทำท่าตั้งมือตึงแขน มือขวาถือเขาควาย เดินถอยออกมา (กลับ          มาอยู่รอบวงตามเดิม)

         -       นำมือทั้งสองข้างมารวมไว้ที่หว่างอก จากนั้นใช้มือซ้ายวนที่ปากกระบอกเขาควาย แล้วเดินเป็นวงกลมเล็ก ๆ  หนึ่งรอบ

         -       ทำท่ายกเขาควาย สาดน้ำออกจากเขาควายไปทางขวามือ

         -       เดินเข้าหาขันสาครอีกครั้งด้วยท่าเดิม มือซ้ายตั้งมือตึงแขน มือขวาจับเขาควายไว้วงบน

         -       เมือถึงขันสาคร มือซ้ายจับที่ชายพก มือขวาที่ถือเขาควาย จ้วงตักน้ำและสาดออกไป เป็นครั้งที่ ๒

         -       มือซ้ายทำท่าตั้งมือตึงแขน มือขวายกเขาควายไว้วงบน เดินถอยออกมาอยู่นอกวง

         -       เดินเข้าหาขันสาครอีกครั้งด้วยท่าเดิม

         -       เมื่อถึงขันสาครทำท่าจ้วงตักน้ำ แล้วสาดออกจนหมดขัน เป็นครั้งที่ ๓

         -       มือซ้ายทำท่าตั้งมือตึงแขน มือขวายกเขาควายไว้วงบน เดินถอยออกมาที่เดิม

 

ท่าที่ ๔ ก้าวเท้ายกมือขวาที่ถือเขาควายไว้วงบนระดับศีรษะ มือซ้ายจับหวายมือ ขัดหลังไว้ระดับชายกระเบน

         -       ก้าวเท้าขวายกมือซ้ายตั้งไว้วงบน มือขวาที่ถือเขาควายนำมาขัดหลังทำสลับกันเดินวนไปจนครบ ๓ รอบ

         -       เมื่อครอบสามรอบแล้วแปลแถวเป็นรูปครึ่งวงกลมอีกครั้ง

         -       ชักเท้าขวา ลงนั่งคุกเข่าถวายบังคมอีก ๓ ครั้ง จากนั้นก้าวเท้าซ้ายลุกขึ้นยืน

         -       จากนั้นก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าชักเท้าขวาตามไป ลุกขึ้นยืน หัวหน้าเดินนำเป็นแถวเข้าไป

 

การบวงสรวงบูชาเทพเจ้าตามลัทธิพราหมณ์ที่ต้องประกอบด้วยเครื่องคาวหวานแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้คือการฟ้อนรำถวายเทพเจ้าให้เกิดความสำราญพระทัย การขอพรสิ่งใดก็จะได้ง่ายสมความปรารถนา ดังนั้นพระราชพิธีสำคัญทางศาสนาพราหมณ์จึงมีการฟ้อนรำประกอบด้วย แต่ท่าฟ้อนรำบางท่าบางชุดเป็นสิ่งที่หวงแหนเช่นเดียวกับตำรามนต์พิธีต่าง ๆ  ที่แต่ละตระกูลพราหมณ์จะเก็บไว้เฉพาะตระกูล พราหมณ์ถือว่าท่ารำต่าง ๆ เป็นท่ารำสมมติประจำเทพเจ้า การเช่นนี้ทำให้ท่ารำต่าง ๆ สูญหายไปเสียมาก เช่นเดียวกับตำราความรู้ของพราหมณ์ที่สูญหายไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา ที่เหลืออยู่ก็ยากที่จะสืบสาวได้ ผู้รู้ก็มีอยู่น้อยนัก โอกาสการแสดงก็มีน้อยครั้ง จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากศิลปินผู้มีฝีมือในการสืบสารท่ารำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลัทธิพราหมณ์

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

หนังสือประกอบการเขียน

 

กุสุมา คงสนิท, และคณะ. “พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย : การศึกษาชุดการแสดง “รำเสนง”.” ศิลปนิพนธ์ศึกษาศาสตร์บัณฑิต (ต่อเนื่อง) สาขาวิชานาฎศิลป์ศึกษา ภาควิชานาฎศิลป์ไทยศึกษา คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์. ๒๕๔๕.

 

ศิลปากร, กรม. รวมงานนิพนธ์ของนายอาคม สายาคม ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์กรมศิลปากร. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๒๕.

 

ไมเคิล ไรท์. “พระราชพิธีตรียัมปวาย โล้ชิงช้า ซับซ้อนเกินกว่าที่ใคร ๆ คิด.” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๔  ฉบับที่ ๑๑ (กันยายน ๒๕๓๖) : ๑๖๒ – ๑๗๑.

 

อุคินทร์ วิริยะบูรณะ, ผู้รวบรวม. ประเพณีไทย ฉบับมหาราชครูฯ. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. กรุงเทพฯ : ประจักษ์การพิมพ์. ๒๕๒๖.

หมายเลขบันทึก: 486498เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2012 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท