พราหมณ์ พระราชพิธี : การแสดงละครในขบวนแห่งพระยายืนชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย


ขบวนแห่พระยายืนชิงช้า

 

 

พระยายืนชิงช้าคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญผู้หนึ่งในพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย  เนื่องจากพระยายืนชิงช้าคือผู้แทนของพระมหากษัตริย์ (ไมเคิล ไรท์, ๒๕๓๖ : ๑๖๔) และผู้แทนของพระอิศวร ที่เสด็จลงมาทอดพระเนตรการโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย  ตามตำนานการทดสอบความมั่นคงแข็งแรงของโลก  โดยพราหมณ์จะเป็นผู้ผูกดวงชะตา และทำพิธีอัญเชิญพระอิศวรให้สิงสถิตพระยายืนชิงช้า  ก่อนจะแห่แหนไปยังโรงพิธีใกล้เทวสถานโบสถ์พราหมณ์เพื่อให้เป็นมงคลแก่บ้านเมือง

 

ขบวนแห่แหนของพระยายืนชิงช้าจะมีการจัดอย่างมโหฬาร  ประกอบด้วยขบวนหน้าและขบวนหลัง  ส่วนขบวนของพระยายืนชิงช้าอยู่ตรงกลาง  พระยายืนชิงช้านั่งบนเสลี่ยง  แวดล้อมด้วยเครื่องสูง  อาทิ  กรรชิง  บังสูรย์  ตามด้วยขบวนเชิญเครื่องยศของผู้รับหน้าที่เป็นพระยายืนชิงช้า

 

ขบวนแห่แหนของพระยายืนชิงช้าน่าจะมีมานานแล้วอย่างน้อยที่สุดก็ในรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  กรุงรัตนโกสินทร์ได้ก้าวสู่การเป็นการเมืองสมัยใหม่  เสริมความสง่างามของพระนครด้วยตึกรามบ้านช่องที่งดงามตามแบบศิลปะตะวันตก  ถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีความเจริญ  และงดงามแห่งหนึ่งของโลก  ในส่วนของขนบธรรมเนียมประเพณีได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย  โดยเฉพาะขนบธรรมเนียมในราชสำนักที่ได้รับแบบแผนของราชสำนักยุโรปเข้ามาปรับใช้  เช่น  การใช้ตราสัญลักษณ์ที่มีลักษณะคล้ายตราอาร์มประจำราชวงศ์  หรือตระกูลขุนนาง  ในรัชสมัยนั้นจึงเกิดธรรมเนียมการทำธงเป็นรูปตราตำแหน่งทางราชการของผู้รับหน้าที่พระยายืนชิงช้าเย็บลงบนผ้าปัศตูแดงนำหน้ากระบวนแห่  ซึ่งเป็นการทำเลียนแบบการมีทหารแห่ขบวนเสด็จ  และถือธงนำหน้าขบวน  ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมใหม่ที่เกิดขึ้นในรัชการนี้

 

นอกจากนี้  การจัดขบวนแห่ของพระยายืนชิงช้าแต่ละคน  ก็ได้จัดให้มีเรื่องราวสอดคล้องกับตำแหน่งหน้าที่ทางราชการของผู้นั้นด้วย  เช่น  ถ้าพระยายืนชิงช้าเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลัง  จะจัดขบวนแห่ให้มีคนถือกระดานแจกเบี้ยหวัด  อันเป็นการจำลองหน้าที่ทางราชการของพระยายืนชิงช้าเข้าประกอบในขบวนแห่  หากพระยายืนชิงช้ามีตำแหน่งสัสดีมีคนถือสมุด  เป็นทหารอาสาหกเหล่าบ้าง  ถือแฟ้มบัญชีบ้าง  เป็นต้น

 

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีการขยายตัวของการศึกษาของเยาวชนมากขึ้นกว่าในรัชการก่อน  ด้วยมีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ  นำไปสู่การจัดตั้งโรงเรียนขึ้นอย่างมากมาย  จึงได้มีการขอนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ให้เขาร่วมกระบวนแห่ด้วย  จากเดิมที่มีแต่ข้าราชการ  และพราหมณ์  ประกอบกับการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ารับราชการเพื่อรับใช้ประเทศชาติ  โดยเฉพาะข้าราชการ  ทหาร  ต่อมากระบวนแห่ได้มีการพัฒนาขึ้นอีกระดับหนึ่ง  ซึ่งไม่ได้เป็นแต่เพียงกระบวนแห่ที่แสดงเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับข้าราชการในแต่ละกรมที่ได้รับหน้าที่เป็นพระยายืนชิงช้าเท่านั้น

 

ใน พ.ศ. ๒๔๖๐  ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง  พระยายืนชิงช้าในครั้งนั้นคือเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต  ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม  กระบวนแห่งพระยายืนชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย ในครั้งนั้นเป็นขบวนแห่มโหฬาร  เป็นการแสดงวิธีการจัดกระบวนทัพในอดีตและปัจจุบัน  คือการจัดขบวนจัตุรงคเสนาอย่างโบราณ  อันประกอบด้วย  กองช้าง  กองเสนาพลรบ  กองม้า  กองเกวียน  และขบวนจัตุรงคเสนาอย่างใหม่  ประกอบด้วยทหารจากกรมกองต่างๆ และอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่  ทหารม้า  ๒  กองร้อย  กองปืนกล  ๑  กองพัน  ๔  กองร้อย  ทหารบกปืนใหญ่  ๑  กองร้อย  มีปืน  ๔  กระบอก  รถกระสุน  ๘  คัน  รถโทรศัพท์สนาม  ๑  คัน  โทรศัพท์บรรทุกต่างๆ  ๒  ต่าง  โทรศัพท์คนหาบหาม  ๑  สำรับ  รถบรรทุกเรือสะพาน  ๒  คัน ให้ส่งลงมาจากรุงเก่าทั้งนี้ให้ล้านแต่งเครื่องสนามอย่างครบสมบูรณ์ (เปลื้อง ณ นคร, ๒๕๐๕ : ๗ - ๘)

 

นอกจากนี้  ในกระบวนการแห่ยังมีการแสดงเพื่อจูงใจให้ราษฎรสมัครเข้ามาเป็นทหาร  ด้วยการตกแต่งรถกรมเสมียนตราทหารบกเข้าร่วมขบวนแห่ด้วย  โดยตกแต่งตอนน้ารถเป็นรูปคชสีห์ยืนแท่น  และมีตัวหนังสืออยู่เบื้องหน้าว่า  “ความพร้อมเพรียงเป็นผลสำเร็จความมุ่งหมายและชัยชนะ” (เปลื้อง ณ นคร, ๒๕๐๕ : ๑๕)   ตอนกลางรถทำเป็นรูปเครื่องพิมพ์ดีด  โดยซ่อนเปียโนไว้ภายใน  มีผู้ทำหน้าที่เสมียนทำการดีดพิมพ์หนังสือ  ๑  คน  และสามารถเล่นเปียโนได้เมื่อทำการดีดพิมพ์จะมีเสียงดนตรีสร้างจุดเด่นให้กับขบวน  และมีเสมียนช่วยหรือทำงานกระจุกระจิกอีก  ๑  คน  ทั้งสองคนนี้แต่งตัวเป็นทหาร  (เปลื้อง ณ นคร, ๒๕๐๕ : ๑๕)

 

การแสดงละครในขบวนแห่พระยายืนชิงช้า

 

มีกรมสัสดีส่งบวนรถเข้าขบวนแห่พระยายืนชิงช้าในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ขบวนรถของกรมสัสดีนี้จะมีการละเล่นเพื่อสร้างความสนุกสนานในขบวนแห่ คือทำเป็นละครสั้น ๆ ประกอบดนตรีในเรื่องการรับสมัครทหาร เป็นการประชาสัมพันธ์ให้เข้ารับราชการทหาร ในสมัยนั้นระบบการเกณฑ์ไพร่พลได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ผู้ชายใดที่จะไม่เข้ารับราชการจะต้องเสียเงินที่เรียกว่าค่า ราชการ  ผู้ชายไทยในสมัยนั้น นิยมเสียเงินข้าราชการเพระจะได้เอาเวลาไปประกอบอาชีพส่วนตัว เพาระเศรษฐกิจของบประเทศในสมัยนั้นเป็นแบบเพื่อค้าขาย ทหารจึงทีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับสมัยที่ยังใช้ระบบการเกณฑ์ไพร่พล กล่าวคือ 

           

ขบวนรถของกรมสัสดีนั้นจะมีสมุดจำลองขนาดใหญ่คนสามารถเข้าไปได้วางกลางรถ ที่ปกสมุดนั้นจะเขียนหนังสือตัวใหญ่ว่า ทะเบียนทหาร มีขีดรับ ต่อลงมาเขียนตัวย่อมลงหน่อยว่า  ผู้ที่เข้าทะเบียนเป็นทหารแล้วจะได้รับความอบรมให้มีกำลังแข็งแรงและมีความรู้ดีขึ้น ทางตอนหน้าของรถ มีทหารแสดงเป็นพนักงานทะเบียน ๑ นาย ให้แต่งตัวเป็นทหารชั้นนายสิบสัสดี และทหารอีก ๑ นาย โดยเลือกคนที่ตัวเล็กอ่อนแอ ให้แสดงเป็นผลเรือน นุ่งผ้าใส่เสื้อชั้นใน ในตอนท้ายของรถ มีทหารขลุ่ย ๑ นาย ทหารกลอง ๑ นาย คอยบรรเลงดนตรี และมีพลทหารหน้าตาดีอีกหนึ่งนาย  วิธีการแสดงคือ เริ่มแรก นักดนตรีจะบรรเลงเพลง เมื่อเพลงจบลง  ผู้แสดงจะพูดไปตามบทสนทนาที่เตรียมไว้ พนักงานทะเบียนจะถามผู้อาสาสมัครทหารว่า :-

 

 

                จ. ( เจ้าพนักงานทะเบียน) แกจะมาอาสาเป็นทหารหรือ

                อ. (ผู้อาสา) ฉันมาอาสาแต่ปีก่อนนี้แล้ว คนเต็มอัตราเสีย เข้าไม่ได้ ปีนี้ ขออาสาอีก

                จ. ฉันมีความยินดีมาก เป็นหน้าที่ผู้ชายทุกคน ที่สมควรจะต้องศึกษาวิชาทหาร เตรียมตัวไว้ สำหรับเมื่อมี        ข้าศึกศตรูจะทำร้ายเรา จะได้ช่วยกันปราบปรามเสีย ให้บ้านเมืองและครอบครัวของเราเองปราศจากอันตราย

การที่เป็นทหารนั้น ได้ประโยชน์สำหรับตัวด้วย ที่ได้รับความฝึกหัดสั่งสอนให้ผู้มีกลังแข็งแรง และมีความรู้ดีขึ้น การฝึกหัดสั่งสอนก็เพียง ๒ ปีเท่านั้น และยังได้พระทรงกรุณาโปรดเกล้า ฯ มิต้องให้เสียเงินค่าราชการด้วยจนตลอดชีพ

                เชิญเข้าไปทางนี้ซิ (ชี้ไปที่สมุด ผู้อาสาเข้าไปในสมุดไปยืนพักอยู่เสียข้างล่าง และในขณะเมื่อพูดกันอยู่นั้น พลทหารบก [ที่หน้าตาดี รูปร่างดี :  ผู้เขียน] ต้องเข้าไปเตรียมอยู่ที่บันไดในสมุด พอคนอาสาเข้าไปในสมุด พลทหารบกก็ขึ้นบันไดไปโผล่ขึ้นบนสมุด ยืนท่าตรงชูป้ายขึ้น ให้ทางหนังสืออยู่ริมถนน)

                แล้วเจ้าพนักงานทะเบียนร้องบอกแก่คนทั้งหลายว่า เชิญท่านทั้งหลายสังเกตดู (ชี้ไปที่พลทหาร) ผู้ที่เข้าเป็นทหารแล้ว ย่อมมีท่าทางท่วงทีที่แข็งแรงเฉียบแหลมขึ้นกว่าแต่ก่อน

                เมื่อสิ้นคำแล้ว ขลุ่ย กลองทำเพลง พลทหารกลับลงมาในสมุด และทั้งผู้อาสาด้วยออกมาพักอยู่ข้างนอกได้ แต่ป้ายนั้นต้องเอาไว้ในสมุด เมื่อขลุยกลองหยุดเพลงแล้ว ก็ตั้งตนเล่นไปใหม่อย่างที่แล้วมา คือเล่นสลับกันไปกับขลุย กลอง

                ในป้ายที่พลทหารชูนั้น ให้มีหนังสือทั้งสองข้างว่า “ฉันต้องเล่าเรียนและฝึกหัดมาก แต่มีความสุขสบายดี” (เปลื้อง ณ นคร, ๒๕๐๕ : ๑๖ - ๑๗)

 

กล่าวได้ว่าขบวนแห่พระยายืนชิงช้ามิได้เป็นเพียงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  ขบวนแห่พระยายืนชิงช้าได้กลายเป็นงานมหกรรมที่ยิ่งใหญ่  และการแสดงออกถึงแสนยานุภาพตลอดจนเรื่องราวที่พระมหากษัตริย์ทรงให้ความสำคัญอันเกี่ยวข้องกับกิจการบ้านเมือง  โดยทรงสื่อสารไปยังมหาชนด้วยการจัดขบวนแห่พระยายืนชิงช้า  ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นการสะท้อนสภาวการณ์ของบ้านเมืองด้วย 

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

 

หนังสืออ้างอิง

 

เปลื้อง ณ นคร. “พระยายืนชิงช้า พ.ศ. ๒๔๖๐.” พิมพ์ในการพระราชทานเพลิงศพ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ณ เมรุพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส. ๒๕๐๕.

 

ท.กล้วยไม้ ณ อยุธยา, ศาสตราจารย์พิเศษ. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อัมรินทร์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.

 

ไมเคิล ไรท์. “พระราชพิธีตรียัมปวาย โล้ชิงช้า ซับซ้อนเกินกว่าที่ใคร ๆ คิด.” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๔  ฉบับที่ ๑๑ (กันยายน ๒๕๓๖) : ๑๖๒ – ๑๗๑.

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 486494เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2012 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2019 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท