พราหมณ์ : การโล้ชิงช้าในคติพราหมณ์


 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๒ หน้า ๑,๐๔๓ ได้ให้ความหมายของคำว่าโล้ ดังนี้

 

                “โล้ ก. แล่นไปตามคลื่น (สำหรับเรือสำเภา) (พจน. 2493) ทำให้เรือเคลื่อนโดยอาการโยกแจวให้ปัดน้ำไปมา. น. เรียกเรือต่อชนิดท้ายตัด มีแจวอยู่ท้ายเรือสำหรับยืนโล้ไป ไม่มีหางเสือ ใช้ตามชายฝั่งทะเลเรียกว่าเรือโล้. โล้ชิงช้า ก. ยืนบนชิงช้าแล้วใช้มือโหนเชือกโยกตัวให้ชิงช้าโยนไปมา”

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้คำอธิบายความหมายเพิ่มเติมดังนี้

 

                “คำว่า “โล้” น่าจะเป็นภาษาจีน จะเป็นนามศัพท์หรือกริยาศัพท์สังเกตตามที่เอามมาใช้ในภาษาไทยเป็นได้ทั้ง ๒ อย่าง ถ้าเป็นนามศัพท์ หมายความว่ากระเชียงจีนอย่างใหญ่ที่ใช้ผูกพุ้ยข้างท้ายให้เรือแล่น คำภาษิตว่า “ไม่เป็นโล้เป็นพาย” ดูหมายเป็นนามศัพท์ เช่นกล่าวว่า “โล้สำเภา” คือเอาเรือเล็ก อาจเป็นเรืออย่างใช้กระเชียงโล้ จูงเรือสำเภาเมื่ออับลม ว่าเช่นพระยาจีนจันตุ “ให้โล้สำเภา”  หนีสมเด็จพระนเรศวร และเทวดามาช่วยโล้สำเภาพระพุทธโฆษาจารย์ คำที่ว่า “โช้ชิงช้า”ก็น่าจะหมายตรงที่เอาเชือกฉุดชิงช้าให้ไกว แม้ภาษิต “ไม่เป็นโล้เป็นพาย” จะหมายเป็นกิริยาติว่า    “ไม่ทำเองและไม่ให้ผู้อื่นทำ”  ก็อาจเป็นได้...” (ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา., ๒๕๐๕ : ๑๙๙)

               

คติการโล้ชิงช้าเนื่องในศาสนาพราหมณ์แต่เดิมนั้นมีมากมาย ส่วนใหญ่ถือคติถึงการทดสอบความมั่นคงของโลกที่เทพเจ้าทรงสร้างขึ้นว่ามีความมั่นคงแข็งแรงหรือไม่ ผู้ทดสอบนั้นคือพระศิวะหรืออีกในนามหนึ่งคือพระอิศวร

 

ตำนานการโล้ชิงช้าการทดสอบความแข็งแรงของโลกโดยพระอิศวร

 

ตำนานพระอิศวรตอนหนึ่งกล่าวว่า เมื่อพระพรหมทรงสร้างโลกรวมทั้งเหล่าสรรพสัตว์แล้ว และขอให้พระอิศวรไปรักษา แต่พระอิศวรทรงหวงใยเกรงว่าโลกนี้จะไม่แข็งแรงเป็นเหตุให้สรรพสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลายล้มตาย พระองค์จึงเสด็จลงมาบนโลกเพื่อทดสอบความแข็งแรงด้วยการยืนด้วยพระบาทข้างเดียวในลักษณะไขว่ห้างบนตัวพญานาคนามว่านาลิวันซึ้งใช้หัวและหางผูกยึดระหว่างภูเขาทั้งสองฝังมหาสมุทรจากนั้นทรงทำการโล้เพื่อทดสอบความแข็งแรง ปรากฏว่าโลกยังแข็งแรงดีอยู่หาได้สั่นไหวแตกร้าวไปกับการโล้อันรุนแรงไม่ ยังมีความโสมนัสแก่พระอิศวร เหล้าบรรดาพญานาคทั้งหลายจึงต่างพากันดีใจ ลงเล่นน้ำเป็นการเฉลิมฉลองสนุกสนาน ดังนั้นเสาชิงช้าจึงเปรียบเสมือนคิริขันธ์ ขันสาครเปรียบเสมือนกับมหาสมุทร และ พญานาคเล่นนั้นเปรียบเสมือนการรำเสนงสาดน้ำกัน

 

ตำนานการโล้ชิงช้าในคัมภีร์เฉลิมไตรภพ

 

ในคัมภีร์เฉลิมไตรภ (อ้างใน อุรคินทร์ วิริยะบูรณะ, ผู้รวบรวม, ๒๕๒๖ : ๓๔๕) กล่าวว่า เมื่อมหาเทพทั้งสามคือ พระพรหม พระนารายณ์ และพระอิศวรทรงร่วมกันสร้างโลกแล้วเสร็จ พระอุมามหาเทพวีชายาของพระอิศวรทรงจินตนาการไปว่าโลกที่มหาเทพทั้งสามสร้างขึ้นนั้นมีแผ่นดินน้อยกว่ามหาสมุทร อุปมาเหมือนดังดอกจอกน้อยลอยอยู่ในมหาสมุทร พระองค์ทรงเศร้าโศกพระทัยที่เหล่ามนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายที่สามมหาเทพสร้างขึ้นนั้นจะถึงกาลวิบัติในมิช้า ถึงกับทรงไม่ยอมพระบรรทม ไม่ยอมเสวย พระวรกายซูบผอม เมื่อพระอิศวรทรงทอดพระเนตรเห็นดังนั้นจึงตรัสถามพระอุมาว่าโลกที่สร้างขึ้นในภาคหน้าจะเป็นประการการใด พระอุมาทรงตอบไปดังที่ทรงจินตนาการ ไม่ว่าพระอิศวรจะทรงปลอบหรืออธิบายให้พระชายาว่าโลกมีความแข็งแรงปานใด แต่พระชายาก็หาทรงคลายความปริวิตกไม่ ดังนั้นพระอิศวรจึงท้าพนันถึงความแข็งแรงของโลกโดยการให้พญานาคนาลิวันเอาหัวเกี่ยวกับต้นพุทราที่ริมแม่น้ำพาดนี้และเอาเศียรเกี่ยวพันกับต้นพุทราอีกฟากข้างโน้น พระอิศวรทรงขึ้นไปยืนบนตัวพญานาคด้วยพระบาทข้างเดียวในลักษณะไขว่ห้างแล้วให้พญานาคไกวตัว ถ้าโลกที่มหาเทพสร้างขึ้นมานั้นไม่มีความแข็งแรงพอก็จะไม่สามารถต้านต่อการไกวตัวของพญานาคอันรุนแรงได้และพระอิศวรที่ทรงยืนด้วยพระบาทข้างเดียวนั้นจะตกลงมา พระอิศวรจะแพ้พนันพระอุมาเทวี แต่ถ้าพระองค์ไม่ตก แสดงว่าโลกที่สร้างขึ้นมานั้นมีความแข็งแรงมั่นคงสามารถต้านได้แม้กระทั้งการไกวตัวของพญานาค  เมื่อมหาเทพทั้งสองทำการตกลงกันได้แล้วก็พากันไปที่ริมฟังแม่น้ำ แล้วพระอิศวรจึงทำการอันได้กล่าวไป   เมื่อพญานาคไกวตัวพระอิศวรก็หาได้ตกลงมาจากตัวพญานาคไม่  โลกที่สร้างขึ้นก็ไม่ได้สั่นสะเทือนจากการไกว เป็นอันว่าโกลมีความมั่นคงแข็งแรง และพระอิศวรก็ชนะแก่พระอุมาเทวี พระนางทรงดีพระทัยเป็นอย่างยิ่งคลายความกังวน ส่วนบรรดาเพล่าพญานาคก็ปิติยินดีพากันดำผุดดำว้ายเล่นสาดน้ำกันเป็นการใหญ่

 

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญได้ให้ข้องสังเกตเกี่ยวกับตำนานทั้งสองว่า ปัจจุบันตำนานทั้งสองเรื่องนี้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าได้มาจากคัมภีร์ปุราณะหรือเทพปกรณัมฉบับใด แม้จะอ้างคำภีร์เฉลิมไตรภพ แต่เมื่อตรวจสอบกับต้นฉบับดังกล่าวแล้วพบว่า

 

                “เรื่องราวที่บันทึกอยู่นั้นมีลักษณะเป็นตำราโหราศาสตร์ที่น่าจะเขียนในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ และไม่ปรากฏตำนานเรื่องพระอิศวรหยั่งความแข็งแรงของพื้นดินแต่อย่างใด ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่าตำนานทั้งสองเรื่องดังกล่าวอาจจะเป็นตำนานที่แต่งขึ้นเพื่ออธิบายเหตุการณ์หรือองค์ประกอบในพิธีกรรมโดยคนไทยในชั้นหลังโดยจะสังเกตได้ว่าไม่ใช่เรื่องที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายนัก” (ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, ๑๑๐)

 

อย่างไรก็ตาม จากตำนานที่กล่าวมาคือที่มาของการโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย  พราหมณ์ได้สร้างเสาชิงช้าขึ้น  โดยสมมุติว่าเสาชิงช้าคือขุนเขาทั้งสอง หรือต้นพุทธา แล้วตั้งขันสาครบรรจุน้ำเบื้องหน้าเสาชิงช้าระหว่างกลางเสาทั้งสองแทนมหาสมุทรหรือแม่น้ำ  มีนาลิวันสวมเครื่องประดับศีรษะรูปพญานาค  สมมุติเป็นตัวแทนของเหล่าพญานาค  มีเจ้าพระยาพลเทพเป็นพระยายืนชิงช้า  สมมุติว่าคือพระอิศวรเป็นประธานของการโล้ชิงช้า  มีการรำเสนงรอบขันสาครโดยผู้ที่รำเสนงถือเขาโควักน้ำจากขันสาครสาดไปรอบ ๆ  เปรียบเสมือนพญานาคมาแสดงความยินดี  พ่นน้ำถวายพระอิศวร  เหล่าเทพก็มาเข้าเฝ้าพระอิศวร  มีการสร้างแผ่นไม้จำหลักภาพพระแม่ธรณี  พระแม่คงคา  พระอาทิตย์  พระจันทร์  ขุดหลุมปักแผ่นไม้จำหลักสมมุติว่าเทพเหล่านั้นลงมาเฝ้าพระอิศวร

 

ตำนานการโล้ชิงช้านอกเหนือจากคติการสร้างโลก

 

นอกจากนี้ยังมีผู้เสนอตำนานการโล้ชิงช้านอกเหนือจากคติการสร้างโลก กล่าวคือ

 

ครั้งหนึ่งในสวนของพระอินทร์ที่ชื่อนันทนะอุทยาน มีสามีภรรยาคู่หนึ่งคลอเครียดพลอดรักกันอยู่บนชิงช้าที่ทำมาจากไม้มาธวิที่เลื้อยพันอยู่กับต้นสันตานะและต้นปาริชาติ ต้นไม้ทั้งสองต้นนี้ถือว่าเป็นต้นกัลปพฤกษ์ ๒ ใน ๕ ประเภท ภายในสวนที่อวลไปด้วยกลิ่นหอมของบุปผาชาติทั้งหลายบนสรวงสวรรค์ของพระอินทร์ ด้วยความพิเศษของต้นไม้นี้ทำให้ ฝูงสกุณาขับร้องประสานเสียง เหล่าวิทยาธรพากันหลงใหลเต้นรำ บรรดาเหล่านางสวรรค์ก็พากันร้องรำทำเพลงอย่างไพเราะ แม้แต่เหล่ากามเทพก็ยังต้องเคลิบเคลิ้ม ไปกับบรรยากาศแวดล้อมต้นไม้วิเศษนี้  เมื่อพระอิศวรและพระอุมาเสด็จผ่านมาทอดพระเนตรสองสามีภรรยากำลังโล้ชิงช้าก็ต้องพระทัยยิ่ง พระอุมาจึงทูลขอพระอิศวรให้โปรดบันดาลชิงช้าอันงามวิจิตรสำหรับพระองค์ทั้งสองได้นั่งโล้เล่นเหมือนกับสามีภรรยาคู่นั้นบ้าง ดังนั้นพระอิศวร จึงมีศิวะโองการให้บรรดาเหล่าอสูรทั้งหลายสร้างชิงช้าขึ้น  เหล่าอสูรจึงเนรมิตเสาสองต้นมีไม้แผ่นหนึ่งวางขวางให้พญานาควาสุกรีเป็นเชือก ภายใต้พระเศียรที่แผ่พังพานของพญานาควาสุกรีนั้นมีไหมถัก ข้างบนประดับประดาด้วยพวงบุปผาชาติ เพชรนิลจินดาและไข่มุก และประดับด้วยผืนผ้าและหนังกวางอีกชั้นหนึ่ง จากนั้นพระอิศวรและพระอุมาเสด็จขึ้นสู่ชิงช้า มีเหล่าเทพบุตรช่วยกันไกว เบื้องขวาซ้ายมีชัยยะกับวิชัยผู้รับใช้คนสนิทของพระอิศวรคอยถวายงานแส้จามรี ในการโล้ชิงช้านั้น  หมู่เทวดา อสูร และชายาต่างก็พากันรื่นเริงหรรษา เหล่าคนธรรพ์ขับกล่อมเพลง เหล้านางสวรรค์ร่ายรำถวาย  ส่วนเหล่าวิทยาธรนักดนตรีต่างก็ดีด สี ตี เป่าเครื่องดนตรีด้วยทำนองอันไพเราะ การโล้ชิงช้าครั้งนี้ยังผลให้เกิดอากาศวิปริต มหาวาตะกรรโชกพัดน่าสะพรึงกลัว พระธรณีและภูเขาใหญ่เกิดการสะเทือนเลื่อนลั่น พระมหาสมุทรก็ปั่นป่วนจนท่วมท้นแผ่นดิน พระอินทร์และเหล่าทวยเทพทั้งหลายเกรงกลัวว่าโลกทั้งสามโลกจะแหลกลานอันเกิดจากการโล้ชิงช้าของมหาเทพจึงพากันเข้าเฝ้าพระอิศวรและพระอุมาเพื่อขอให้หยุดการโล้ชิงช้าครั้งนี้  พระอิศวรฟังแล้วเข้าพระทัยยอมเสด็จลงจากชิงช้า พลางแย้มพระโอดตรัสว่า  ต่อไปจะให้จัดพิธีโล้ชิงช้ากันในฤดูใบไม้ผลิ ชิงช้าต้องประดับประดาให้งดงาม แท่นนั้นต้องประดับด้วยแพรและเพชรนิลจินดาหรือสิ่งอื่น ๆ ที่ช่วยเสริมให้ชิงช้างดงามขึ้น มีร่มและพวงดอกไม้รอบ  ๆ มีเครื่องตกแต่งอันงาม มีรูปวิทยาธรประดับพวงผกา มีกระจกเงาใหญ่อยู่ข้าง ๆ แท่น แล้วบูชาไฟและมีเครื่องสำหรับสักการบูชา เมื่อตกแต่งอย่างวิจิตรแล้วให้หมู่มนุษย์ล้อมรอบด้วยญาติมิตร พราหมณ์ผู้รอบรู้ทำหน้าที่ประกอบพิธีสวดมนต์ ฝ่ายชายหญิงให้บูชาเทพยดาด้วยดอกไม้เครื่องหอมต่าง ๆ เหล่าสตรีให้นำสีต่าง ๆ ผสมในน้ำกับขมิ้นแล้วสาดไปในฝูงชนด้วยเขาทอง (เขาสัตว์ หรือที่เรียกว่า เสนง) พวกสาวใช้ในเทวสถานให้แต่งกายด้วยผ้าสีคาดเข็มขัดทอง มีกระแจะผสมหญ้าฝรั่นเจิมที่หน้าผาก สวมพวงดอกไม้ ปากอมหมากพลู ถูกสาดด้วยน้ำสีเหลืองและหอมเย็น ซึ่งผู้ทำพิธีโล้ชิงช้าดังนี้ จะมีอานิสงค์มากมาย กล่าวคือ จะมีอายุยืนยาว มีความผาสุก มีบุตรหลานสืบทอดสกุล มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ ข้ามพ้นจากวัฎสงสารแล้วบรรลุถึงโลกสวรรค์ในที่สุด (ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, ๑๑๑)

 

ในปัจจุบันมีนักวิชาการและผู้รู้ทางด้านคติชนวิทยามากมายศึกษาถึงการโล้ชิงช้า เช่น นายพันเอกพระสารสาสน์ พลขัน นายทหารชาวอิตาเลียน ที่เข้ามารับราชการในกองทัพสยามในช่วงแผ่นดินสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสนอว่า พิธีการโล้ชิงช้าเป็นการจำลองฉากการกวนเกษียรสมุทร โดยเสาทั้งคู่เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ส่วนเชือกเป็นตัวแทนของพญานาควาสุกรี ส่วน ควาริช เวลล์ ผู้สนใจทางด้านบูรพคดีชาวอังกฤษ ได้เสนอแนวความคิดในการโล้ชิงช้าว่า ในคัมภีร์พระเวทบางส่วน ได้อธิบายพระอาทิตย์ว่ามีลักษณะเหมือนพระอาทิตย์ เหมือนกับชิงช้าสีทองที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า  เขาเสนอว่า ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการโล้ชิงช้าของชาวอินเดียมีร่องรอยมาจากคติการบูชาพระสุริยเทพ แต่ในยุคที่พระสุริยะเทพคลายความสำคัญลง พระองค์จึงถูกแทนที่ด้วยพระอิศวร ซึ่งชาวอินเดียเชื่อว่า พระอิศวรนั้นเป็นผู้ทำลายเพื่อสร้างขึ้นใหม่ตามคติตรีมูรติ เปรียบได้กับดวงอาทิตย์ที่ขึ้นและตกลงในแต่ละวัน นับแต่นั้นมา ประเพณีการโล้ชิงช้าจึงเหี่ยวข้องกับพระอิศวรโดยตรง ควาริซ เวลล์ได้กล่าวถึงคติการโล้ชิงช้าในประเทศไทยนั้นสะท้อนให้เห็นถึงร่อยรอยความเชื่ออย่างเก่า คือ ประการแรก เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นในช่วงฤดูหนาว (เดือนอ้ายในสมัยอยุธยา และเดือนยี่ในรัตนโกสินทร์) ประการที่สองการแกว่งชิงช้าที่แกว่งไปตามแนวแกนทิศตะวันออก และ ตะวันตก เช่นเดียวกันกับเส้นทางการโคจรของพระอาทิตย์ และท้ายที่สุด คำการรำวงหลังจากการโล้ชิงช้าที่อาจจะเป็นสัญลักษณ์ของการโคจรของดวงอาทิตย์นั่นเอง  (ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, ๑๑๒ - ๑๑๓)

 

หลังจากได้มีการยกเลิกพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ การโล้ชิงช้าใหญ่ก็ได้ถูกยกเลิก จะมีก็แต่เพียงทำการแสดงให้ประชาชนได้มีโอกาสชมในโอกาสที่สำคัญ ๆ ของกรุงเทพ ฯ เท่านั้น เช่น สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี, สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๒๒ ปี,  วาระการบูรณะเสาชิงช้าครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นต้น

 

สำหรับการโล้ชิงช้าใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ อันเป็นปีฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์อายุครบ ๒๒๒ ปีนั้น เป็นการจำลองพิธีโล้ชิงช้าเพื่อให้ประชาชนได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดอีกทั้งเพื่อประโยชน์ในการศึกษา การครั้งนี้มีการรำเสนงร่วมด้วย แต่พิธีอื่น ๆ เช่นขบวนแห่พระยายืนชิงช้า การเข้าไปสักการะพระพุทธรูปสำคัญของประเทศ รวมถึงพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์นั้นมิได้ประกอบขึ้น เพราะพิธีกรรมเหล่านี้ต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสียก่อน เมื่อเป็นดังนี้ ได้เกิดเสียงสะท้อนจากคณะพราหมณ์ละประชาชนที่ผูกพันเหี่ยวกับความเชื่อตามลัทธิพราหมณ์ว่า การจำลองในครั้งนี้ยังไม่ถูกต้องตามโบราณราชประเพณีของทางศาสนาพราหมณ์ซึ่งเป็นเรื่องของความเชื่อ เป็นเหมือนกับการลบหลู่และอาจเกิดเรื่องไม่เป็นมงคลต่อบ้านเมืองได้ (สยามรัฐ, ๒๖ เมษายน ๒๕๔๗ : ๑๐)

 

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายนี้ ถูกประกอบขึ้นในวันที่ ๒ – ๑๖ มกราคม มีการรักษารูปแบบของพิธีกรรม เช่น ลำดับของพิธี บทสวดต่าง ๆ เครื่องใช้ในพิธี การโล้ชิงช้าใหญ่ รวมถึงพิธีโกนจุกให้เหมือนอย่างเดิมแทบทุกประการ (รัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๗)  เพื่อเป็นการสืบทอดความรู้ของการประกอบพิธีเพื่อสืบต่อยังพราหมณ์รุ่นหลัง อีกทั้งยังเป็นสืบสารพระราชพิธีสำคัญของแผ่นดินให้อยู่คู่กับลูกหลานสืบไป

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

 

หนังสือประกอบการเขียน

 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นามมีบุคส์. ๒๕๔๖.

 

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ เล่มที่ ๑๘. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา. ๒๕๐๕.

 

ท.กล้วยไม้ ณ อยุธยา, ศาสตราจารย์พิเศษ. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อัมรินทร์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.

 

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. “ช้าเจ้าหงส์ ต้นเค้าพิธีโล้ชิงช้าในสยาม.” มติชน, ฉบับที่ ๑๐๖๖๐, ปีที่ ๓๐(๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐) ๓๔.

 

สยามรัฐ. “โล้ชิงช้าฉลองกรุง 222 ปี ยุค 2004 ตะลึง ! ทึ่งคนโบราณ.” สยามรัฐ, ฉบับที่ ๑๘๖๒๗, ปีที่ ๕๔ (๒๖ เมษายน ๒๕๔๗) : ๑๐.

 

อุคินทร์ วิริยะบูรณะ, ผู้รวบรวม. ประเพณีไทย ฉบับมหาราชครูฯ. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. กรุงเทพฯ : ประจักษ์การพิมพ์. ๒๕๒๖.

 

 

 


หมายเลขบันทึก: 486431เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2012 02:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท