วันสบายๆ - one fine day in a fine city


แม้ว่าความสำเร็จที่ผ่านมาอาจจะไม่อาจการันตีอนาคตได้ แต่ระเบียบวินัยในตนเองของผู้คนอาจทำให้ประเทศก้าวหน้าไปได้ในอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

หากคุณได้ยินคนพูดว่า Singapore is a fine city โปรดถามให้แน่ใจว่าเขาหมายถึงอะไรค่ะ เพราะมันมีความหมายเป็นสองนัย ตามประสาคนมองโลกเป็นสีดอกไม้ก็จะบอกว่าเป็นเมืองที่สวยงามน่าอยู่ ฉันก็เห็นว่ามันน่าอยู่จริงค่ะ และส่วนหนึ่งที่ทำให้เมืองนี้น่าอยู่ก็มาจากนัยที่สอง นั่นก็คือเป็นเมืองที่มีกฎหมายที่เข้มงวดและมีการออกใบสั่งปรับมากถึงมากที่สุดเพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง ฉันเองก็โดนปรับมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง :)

ตอนมาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ ที่โดนปรับบ่อยมากก็คือการจอดรถในที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต ด้วยความที่เป็นคนที่ชอบเอาสะดวกว่า เลือดที่ไหลในร่างกายบรรจุคำว่า "ไม่เป็นไรหรอกน่า...นิดหน่อยเอง" ไว้เต็มเปี่ยม บางทีจอดรถไว้ข้างทางแทนที่จะขับวนขึ้นไปในที่จอดรถของอาคารสูงหลายชั้นจนน่าเวียนหัว เพื่อลงไปซื้อกาแฟสักแก้วแล้วรีบกลับออกมาโดยใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที ปรากฎว่าวันนั้นได้ดื่มกาแฟแก้วละ 75 เหรียญ (กาแฟ 5 เหรียญ ค่าปรับ 70 เหรียญ (1 เหรีญสิงคโปร์ = 24 บาท)

มีอยู่ครั้งหนึ่งฉันนัดเพื่อนสนิทไปทานข้าวที่ร้านอาหารไทยใกล้บ้าน พอดีขับรถวนหาที่จอดแล้วไม่มี เพราะที่จอดรถเต็มหมดในเวลาเย็น ด้วยความที่ไม่อยากให้เพื่อนรอฉันจึงขับรถไปจอดที่ข้างถนนใกล้บ้านหลังหนึ่งในซอยซึ่งก็ไม่ได้จอดรถขวางทางใคร ไม่มีอันตรายเพียงแต่ไม่ได้จอดอยู่ในที่จอดรถที่กฎหมายระบุไว้เท่านั้น พอกลับออกมาเห็นมีใบสั่งแนบอยู่ที่ที่ปัดน้ำฝน อีกสองวันฉันก็จ่ายค่าปรับเรียบร้อย ภายในสัปดาห์นั้นก็ปรากฎว่ามีจดหมายอีกฉบับหนึ่งมาถึงบอกให้ไปจ่ายค่าปรับ ฉันก็คิดว่าระบบคงยังไม่เห็นค่าปรับที่ฉันจ่ายแล้วเลยไม่ได้สนใจ อีกเดือนหนึ่งก็มีจดหมายมาเตือนอีก ฉันก็คิดว่าคงเป็นความผิดพลาดของระบบก็เลยไม่ได้ใส่ใจอีก พออีกเดือนหนักขึ้นเพราะจะถูกเรียกตัวไปขึ้นศาล ทีนี้ไม่ทำอะไรไม่ได้แล้วก็เลยรีบโทรศัพท์ไปชี้แจง ทีนี้ก็ถึงบางอ้อว่าทำไมระบบจึงยังไม่รู้ว่าฉันจ่ายค่าปรับไปแล้ว เพราะวันนั้นฉันโดนปรับในเรื่องเดียวกันจากสองหน่วยงาน หนึ่งสำนักงานเขตซึ่งฉันจ่ายค่าปรับไปแล้ว และสองตำรวจจราจร ซึ่งอันนี้แหละที่จะพาฉันไปขึ้นศาลเพราะไม่จ่ายค่าปรับ 70 เหรียญ ฉันก็เลยขอไปว่าให้ช่วยอนุโลมได้ไหม เพราะไม่รู้จริงๆ ว่าโดนปรับจากสองหน่วยงานในเรื่องเดียวกัน ในเวลาใกล้เคียงกันและตำรวจจราจรก็ทำโดยการจดหมายเลขทะเบียนแล้วแจ้งมาทีหลัง ไม่มีใบสั่งทิ้งไว้ (ความจริงฉันเองก็ไม่รอบคอบที่จะตรวจดูจดหมายใบสั่งให้ละเอียดด้วย) เวลาผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ ตำรวจจราจรส่งจดหมายมายกเลิกค่าปรับและแจ้งว่าจะพัฒนาระบบให้ดีขึ้น ฉันโล่งใจและรัฐก็รู้ข้อบกพร่องของระบบที่มีการปรับซ้ำซ้อน ฉันแอบยิ้มคิดว่าเขาช่างขยันออกไปสั่งกันจริงเมืองนี้

แต่เรื่องหนึ่งที่โดนปรับแล้วประทับใจมากจนไม่อาจลืมได้ก็คือโดนปรับเพราะรดน้ำต้นไม้ในกระถางแล้วมีน้ำขังอยู่ในที่รองกระถาง ฉันกลับมาถึงบ้านจากที่ทำงานเจอใบสั่งนี้แล้วเป็นงงอยู่นาน เพราะที่บ้านมีต้นไม้ในกระถางวางตั้งอยู่หน้าบ้าน ตอนเช้าฉันจะรดน้ำต้นไม้ก่อนไปทำงาน ปรากฎว่าวันนั้นมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสิ่งแวดล้อมมาสุ่มตรวจ พบน้ำขังอยู่ในที่รองกระถางต้นไม้และอาจเป็นที่ฟักตัวของยุงลายซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออก ที่นี่เขารณรงค์เรื่องนี้กันมากค่ะ คราวนี้ฉันโดนปรับ 100 เหรียญ โดยไม่มีข้อโต้แย้งใด

เมืองเล็กๆ แห่งนี้มีกฎหมายที่เข้มงวดต่างไปจากประเทศเพื่อนบ้านหลายประการ วัตถุประสงค์ก็เพื่อความเป็นอยู่ที่สงบเรียบร้อย เพื่อความปลอดภัย เพื่อสุขภาวะที่ดึของผู้คนในบ้านเมืองนี้ บางอย่างที่อาจเป็นเรื่องปกติของประเทศเพื่อนบ้านอาจไม่ปกติที่นี่ เช่นการพกพาเครื่องช็อตไฟฟ้าหรือสเปรย์พริกไทยเพื่อการป้องกันตัว ค่าปรับตั้ง 10,000 เหรียญเชียวค่ะ หากมาเที่ยวที่นี่ ไม่ต้องเอาติดตัวมานะคะ

สำหรับคนที่ชอบเคี้ยวหมากฝรั่ง การนำหมากฝรั่งเข้ามาที่เมืองนี้ หากมีการตรวจพบอาจถูกปรับถึง 500 เหรียญ เหมือนกับการถูกปรับหากพบการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ที่นี่ไม่มีหมากฝรั่งขายค่ะ นอกจากที่ใช้ทางการแพทย์จะได้รับใบอนุญาตเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการรักษาความสะอาดของอาคารสถานที่และสาธารณะประโยชน์ เช่นบนรถไฟ ฯ เรียกว่ากันไว้ดีกว่ามานั่งแก้ปัญหาค่ะ

ผู้คนที่นี่ก็นานาจิตตังค่ะ บ้างก็บอกว่ารัฐบาลเข้มงวดเกินไป ทำให้ไม่มีอิสระ ไม่มีความสุขในการดำเนินชีวิต บ้างก็สนับสนุนและคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อนำประเทศก้าวสู่การเป็นผู้นำ เพื่อนบางคนก็เริ่มสอนเทคนิคการอยู่ที่นี่โดยไม่ต้องรับใบสั่งแต่ก็ยังมีความสะดวก ฯ

แม้ว่าปีหลังๆ มานี้ความนิยมในรัฐบาลจะลดลง แต่ที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้วางมาตรฐานการดำเนินชีวิตของผู้คนที่นี่มาได้ดีมากในระดับหนึ่ง แม้ว่าความสำเร็จที่ผ่านมาอาจจะไม่อาจการันตีอนาคตได้ แต่ระเบียบวินัยในตนเองของผู้คนอาจทำให้ประเทศก้าวหน้าไปได้ในอีกระยะหนึ่งจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

สิบกว่าปีที่อยู่ที่นี่ ฉันไม่ได้มองว่าทุกอย่างที่นี่ดีหมด แต่สิ่งหนึ่งที่คิดว่าดีคือการปลูกฝังระเบียบวินัยในชีวิตโดยใช้ 'กฎหมาย' ทีี่รุนแรง ในการอยู่ร่วมกับคนหมู่มาก และโดยเฉพาะในชุมชนที่ประชากรหนึ่งในสี่เป็นคนต่างชาติที่มีความเชื่อและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ต่างกันเป็นพื้นฐาน เป็นการบังคับการฝึกฝนตนเองไปในตัวในเวลาที่รวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจต้องใช้เวลาให้มันค่อยเป็นค่อยไป บางอย่างต้องอาศัยกฎเข้าช่วยเพื่อผลที่รวดเร็ว ข้อบังคับเหล่านี้มันทำให้ฉันคิดถึงผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นก่อนลงมือทำ เป็นการเจริญสติในชีวีตประจำวันที่ดีอย่างหนึ่ง 

หากค่าปรับทั้งหมดทั้งมวลที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายมันทำให้คนที่คิดน้อยไปหน่อยอย่างฉันกลับกลายเป็นคนที่คิดถึงผู้อื่น (considerate) ด้วยในที่สุด ฉันคิดว่ามันคุ้มค่ามากค่ะ จากจุดเล็กๆ ในการมีวินัยในตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปรับ ไม่ให้ได้รับใบสั่งบ่อยๆ อาจกลายเป็นความเคยชินและเป็นนิสัยในที่สุด และหากมันเป็นนิสัยแล้ว อิสระก็มีอยู่ในการดำเนินชีวิตในทุกๆ วัน

ขอให้มีความสุขในวันสบายๆ บ่ายวันเสาร์นี้ค่ะ

 

ตามประสาคนนอกเมืองค่ะ ไม่ได้เข้าเมืองบ่อยเลยไม่ค่อยมีรูปในเมืองมาฝาก

ด้านหน้าห้างไอออน ออร์ชาร์ด แหล่งช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมของคนไทย

..

สีสันของไชน่าทาวน์...

..

ความต่างระว่างกาลเวลาในไชน่าทาวน์

..

สีสันยามค่ำที่มารีน่าเบย์ ข้างหลังคือโรงแรมหรูและคาสิโน Marina Bay Sands Hotels and Casino..

..

Ernesto Cortazar - Even through the distance

 

หมายเลขบันทึก: 486395เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2012 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 10:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

ขอบคุณค่ะ เขาปรับเอาจริงเอาจัง เห็นๆ การบังคับด้วย "กฎ" เพื่อปลูกฝังวินัย นั้นมองได้สองแง่ คนที่มองโลกแง่บวก และมีแนวโน้มอยากพัฒนาตนเอง แบบคุณปริม ก็จะมองว่า ดีแล้วที่เขาปรับ - เพื่อให้สังคมสะอาด สงบ ปลอดภัย สำหรับเมืองไทย คงต้องรอให้ paradigm ทางการศึกษา ค่อยๆ เปลี่ยนทัศนคติ ผู้คน ให้เห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น พึ่งตัวเองมากขึ้น

ปล. เห็นไชน่าทาวน์ ภาพที่สองแล้วคุ้นๆ เคยไปพักแถวนั้น แวบๆ ค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณปริม

            ถ้าโรงเรียนครูนกเป็นแบบสิงค์โปร์ก็ดีค่ะ....คือ ไม่มีหมากฝรั่ง  บางทีสงสารเด็กผู้หญิงค่ะไปนั่งทับหมากฝรั่ง...

สวัสดีค่ะคุณหมอ ป.

ลี กวน ยู รู้ดีค่ะว่าผู้คนที่นี่ยังไม่สามารถก้าวไปเป็นชาติในโลกที่หนึ่งได้ด้วยตนเอง ยังไม่มีความเป็น civic เหมือนคนอังกฤษที่เขาไปเห็นมาได้ ตอนเขาไปเรียนกฎหมายที่ Cambridge ในปี 1947 เขาประทับใจการขายหนังสือพิมพ์โดยไม่มีคนขายโดยการวางหนังสือพิมพ์ไว้แล้ววางกล่องให้คนเอาเหรียญหยอดและเอาเงินทอนเอง แต่สำหรับคนที่นี่เรายังไปไม่ไกลปานนั้น วิธีเดียวที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกที่พัฒนาแล้วคือการใช้กฎหมายบังคับ พอดีว่าคนที่นี่เมื่ิอก่อนต่างลำบากมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พอมีทางที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นเขาก็เลยยอมเชื่ิอและทำตามกฎที่รัฐบาลตั้งขึ้น แต่พอมารุ่นหลังๆนี้ผู้คนไม่เคยผ่านความทุกข์ยากมาเหมือนรุ่นก่อน เขาจึงรับกฎและการบริหารของรัฐเหล่านี้ไม้ค่อยได้ค่ะ

คนไทยเราในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ความเป็นอยู่ดีอยู่แล้วแม้คนสิงคโปร์ยังอิจฉา การจะมาถูกบังคับให้เปลี่ยนโดยใช้กฎอย่างเดียวคงทำได้ยาก นอกจากการเปลี่ยนแปลงนั้นจะมาจากความต้องการที่จะเปลี่ยนหลังจาก realisation และ paradigm shift อย่างที่อาจารย์ว่าค่ะ

ตอนโดนปรับความเป็นอัตตาก็มีมากเหมือนกัน ไม่พอใจค่ะ แต่เมื่อมันผ่านไป สิ่งที่จะทำให้เราอยู่ที่นี่ได้อย่างมีความสุขคืิอการไม่โดนปรับอีกก็ไม่มีอัไรให้โกรธอีกและคิดเสียว่าค่าปรับนั้นเป็นการจ่ายคอร์สการเรียนรู้ไป พักหลังมานี้ไม่ค่อยได้รับใบสั่งค่ะ รัฐบาลที่นี่รวยอยู่แล้วคงไม่ต้องไปช่วยให้เขารวยขึ้นด้วยการจ่ายค่าปรับของเรา

ตอนนี้ไชน่าทาวน์เปลี่ยนไปมากค่ะ มีร้าน bridal studio และ art gallery เยอะมาก วันก่อนไปดูภาพวาดแถบนั้นเลยได้รูปนี้มา ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะครูนก

นั่นคือปัญหาใหญ่ค่ะ การดูแลทำความสะอาดสาธารณะประโยชน์ทำได้ยาก ใช้งบประมาณมาก เขาเลยแก้ที่ต้นเหตุห้ามมีการผลิต และนำเข้า ชาตินี้เลยโด่งดังเพราะกฎหมายนี้เมื่อสามสิบปีที่แล้ว

พอไม่ได้เคี้ยวไปนานๆ ก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นค่ะ

ขอบคุณค่ะครูนก

ขอบพระคุณกัลยาณมิตรทุกท่านที่แวะมาอ่านและฝากดอกไม้ไว้นะคะ

สวัสดีค่ะคุณปริม

ทราบเรื่องความเข้มงวดมาบ้าง  พออ่านบันทึกนี้กระจ่างมากขึ้น กรณีรดน้ำต้นไม้แล้วมีน้ำขังนี่ไม่เคยนึกถึงเลยค่ะ    
ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ ภาพสวยมากค่ะ

คุณถาวรคะ

คงเป็นเพราะประเทศนี้เล็กค่ะ เล็กกว่าเกาะภูเก็ตอีก การจะออกกฎหมายบังคับใช้คงทำได้ง่ายกว่าค่ะ และประชาการค่อนข้างหนาแน่นเรืองสุขภาพ โรคระบาดนี่อันตรายเพราะแพร่ง่ายมาก รถบัส รถไฟนี้คนแน่นมาก ในแต่ละชุมชนเล็กๆ ก็อยูกันหลายพันครัวเรือนแล้วค่ะ พอไข้เลือดออกระบาดทีนี่คนติดเชื้อเยอะค่ะเลยต้องเข้มงวดเรื่องนี้ ปริมก็ไม่รู้ว่าจะโดนปรับเพราะมีน้ำขังอยู่ที่รองกระถางค่ะ ตั้งแต่นั้นมาเข็ดเลยต้องระวังให้มากค่ะ แต่หากทุกคนช่วยกันภายในบ้านของตัวเอง รัฐช่วยตามที่สาธารณะ ยุงก็มีน้อยลงค่ะ ที่นี่ไม่ต้องใช้มุ้งลวด :)

 สวัสดีตอนบ่ายวันหยุดค่ะคุณปริม...

...ระบบการจ่ายค่าปรับหากนำมาใช้กับเมืองไทยเริ่มตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน (จนถึงระดับส่วนรวมของประเทศ) เมืองไทยคงน่าอยู่ขึ้นเยอะมากๆๆค่ะ.

...เป็นคนไม่ชอบเข้าเมืองไม่ชอบเดินห้าง(แพ้แอร์) แต่วันนี้ที่เมืองไทยปัญหาใหญ่คือขยะค่ะแม้แต่ในป่าข้างๆสวนก็กำลังจะกลายเป็นที่แอบทิ้งขยะ(ช่วยชีวิตสุนัขจากอาหาร"สารพิษ"ที่มากับขยะถึง2ครั้งให้รู้สึกเหนื่อยใจกับคำว่าคนค่ะ).

...กฎหมายที่เป็นระเบียบบังคับใช้สำหรับสังคมส่วนรวมของแต่ละประเทศส่วนตัวเชื่อว่ามาจากจุดเริ่มต้นกับเจตนาที่ดี เพียงแค่คนเราปฎิบัติตามสังคมก็คงสงบสุข.

...ขอบคุณค่ะ...(ช่วงนี้กรอกดินเพาะชำว่าเหนื่อยกายแต่หัวใจกลับต้องเหนื่อยยิ่งกว่ากับเรื่องของคนที่เข้ามาวกวนอยู่ในชีวิตก็เลยเข้ามาชมนกหาความสบายใจสบายตาที่บ้านคุณปริมค่ะ).

นับเป็นแบบอย่างที่ดีของเมืองมีระเบียบค่ะ..สำคัญที่การปลูกจิตสำนึกของพลเมือง..

อ่านบันทึกนี้ได้ความรู้เกี่ยวกับสิงคโปร์มากมาย

เป็นเมืองที่ ชอบมาก ค่ะ

แม้บางครั้งจะรู้สึก เกร็ง อึดอัด ในความไม่มีอิสรภาพในบางเรื่องแทนผู้คนที่นั่น

เมื่อคำนึงถึงการลดปัญหาที่จะตามมาแล้ว คิดว่า คุ้ม ค่ะ 

อังกฤษ ก็เป็นดินแดนหนึ่งที่มองและวางแผนอะไรไปข้างหน้า 

มีการรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด

มีการอนุรักษ์วัฒนธรรม รูปแบบบ้านเมือง ไม่ยอมให้มีการก่อสร้าง หรือดัดแปลงภูมิทัศน์จนบ้านเมืองผิดแผกไป

ถ้าบ้านเรา มีการปรับ การรณรงค์ แบบเพื่อนบ้านอื่น ๆ คงดีไม่น้อย นะคะ

ขอบคุณบันทึกดี ๆ ค่ะน้องปริม

อ้อ 

หากค่าปรับทั้งหมดทั้งมวลที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายมันทำให้คนที่คิดน้อยไปหน่อยอย่างฉันกลับกลายเป็นคนที่คิดถึงผู้อื่น (considerate)...

ชอบประโยคนี้จังค่ะ

 

ท่านอาจารย์นายแพทย์บุญยงค์ วงศ์รักมิตร แพทย์อาวุโสแห่งเมืองน่าน เคยกล่าวไว้ว่า "...คุณธรรมเป็นเครื่องควบคุมคนขั้นสูง กฎหมายเป็นเครื่องควบคุมคนขั้นต่ำ..." ระเบียบวินัยก็มาจากการมีคุณธรรมเป็นพื้นฐาน การปลูกฝังคุณธรรมที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญครับ ขอบคุณเรื่องราวดีดีที่แบ่งปันครับ

สวัสดีค่ะคุณน้อย

ดีใจที่มีคนไม่ชอบเข้าห้างเพิ่มอีกคน มีคนบอกว่ามาอยู่เมืองผิดเพราะที่นี่มีห้างเกิดขึ้นแทบจะทุกตารางกิโลเมตร แต่ก็ยังต้องไปทุกๆสัปดาห์เพื่อไปซื้อของ ไปทานข้าว ไปเจอเพื่อน ฯ แต่หากวันใดที่ปริมมีสวนเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตคงไม่ต้องไปห้างบ่อยค่ะ

การจ่ายค่าปรับมันสืบเนื่องมาจากกฎหมายค่ะ ถ้ากฏไม่เข้มค่าปรับถูกๆ คนก็ไม่กลัว เพราะรายได้เยอะกว่านั้นมาก โดนปรับนิดหน่อยไม่เป็นไรหรอก แต่หากค่าปรับแพง พนักงานของรัฐเอาจริงเอาจัง และไม่โกงกินค่าปรับก็คงได้ผลค่ะ แต่กฎหมายก็กำหนดขึ้นมาจากคน ถ้าคนมีคุณภาพอยู่แล้วกฎหมายก็ไม่เป็นเรื่องที่จำเป็นค่ะ หากจะแก้ที่ต้นเหตุจริงๆ คือสร้างคนที่มีคุณภาพก็ไม่ต้องมีกฎหมายมาบังคับ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น การป้องกันปัญหาขั้นต่อไปคือต้องใช้กฎค่ะ

คุณภาพของคนทุกที่มีปัญหาเหมือนกัน ลองมีคนเอาจริงเอาจังติดกล้องวงจรปิด ดูว่าใครเอาขยะมาทิ้ง แล้วปรับคราวละหนึ่งหมื่นบาท ทันทีทันใด ในครั้งแรก หากทำผิดครั้งที่สองปรับสองหมื่นบาท แล้วให้ไปทำงานเก็บขยะสองอาทิตย์ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากทำผิดซ้ำ และทุกๆคนทำเหมือนกัน ลองดูซีคะว่าจะมีคนอยากเสียค่าปรับและเสียเวลาทำมาหากินเพราะทิ้งขยะเรี่ยราดอยู่อีกไหม นี่คือกฎของที่นี่ค่ะ มีคนงานต่างชาติกินแตงโมบนรถกระบะตอนเลิกงาน แล้วเขาก็ทิ้งเม็ดแตงโมลงบนถนนค่ะ เท่านั้นแหละ พอตำรวจเห็นเขาได้เป็นข่าวเลย ดังมากค่ะรายนี้ กินแตงโมทีไรปริมนึกถึงเขาทุกที

นอกจากกฎที่เข้มงวดแล้วในเรื่องขยะรัฐต้องมีที่กำจัดขยะบริการให้สะดวกค่ะ คนที่เอาขยะมาทิ้งอาจทำเพราะความมักง่ายและหรือไม่มีที่จะทิ้งด้วย ที่นี่ถังขยะสาธารณะมีแทบจะทุกร้อยเมตรมังคะ เคยไปฟังสัมมนาของกระทรวงสิ่งแวดล้อม เขาจ้างคนทำวิจัยนิสัยการทิ้งขยะของคนด้วยนะคะ ว่าถังขยะแบบไหนคนชอบทิ้ง ทิ้งได้สะดวก จะได้ออกแบบให้ถูกใจคนทิ้งขยะและมีคนใช้เยอะ ที่ไหนขยะเยอะเป็นพิเศษแล้วจะมีวิธีป้องกันไม่ให้ขยะล้นถังอย่างไร ฯ มีการใช้ไอโฟน แอพลิเคชั่นในการช่วยลดปัญหาขยะอย่างไรบ้าง ฯ ฟังแล้วทึ่งค่ะ ..... ปัญหาใหญ่อย่างนี้คงต้องแก้ให้ครบวงจรค่ะ

เป็นกำลังใจให้ค่ะ ขอให้กล้าพันธุ์งอกงามดีนะคะ ;)

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพี่ใหญ่

ใช่ค่ะ หากคนมีจิตสำนึกที่ดีเป็นพื้นฐาน กฎต่างๆ ก็ไม่สำคัญมากนักถ้าทุกคนเป็นเหมือนกัน คงต้องอาศัยเวลาค่อนข้างมากค่ะที่จะทำให้คนคิดคล้ายกัน

ปริมเองจ่ายค่าปรับสนับสนุนรัฐนี้ไปเยอะเหมือนกันกว่าจะพัฒนาตัวเองให้อยู่ในกรอบเหมือนคนที่นี่ได้ค่ะ ;)

ขอบคุณค่ะพี่ใหญ่

หากเป็นเมืองไทยทำแบบนี้ถ้ารัฐไม่รวยก็ไม่รู้จะว่าไงแล้วเนาะ ชอบตรงรถน้ำต้นไม้แล้วโดนปรับ คุณยายที่บ้านคงบ่นให้เจ้าที่ในศาลพระภูมิไปหลายวัน "แหม ไปเรียกมันมาทำไม"

สวัสดีค่ะพี่หมอภูสุภา

ภาพประจำตัวใหม่สวยมากๆ ค่ะ ;)

การวางผังเมือง การพัฒนาประเทศในตอนเริ่มต้นปริมว่าสิงคโปร์รับมาจากอังกฤษเต็มๆ เลยค่ะ เพราะที่นี่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษมาก่อนและแกนนำรัฐบาลชุดแรกๆ เรียนที่อังกฤษแทบทั้งหมดค่ะ

ถ้าเราเรียนรู้สิ่งดีดีของเขามาปรับให้เข้ากับเราก็จะทำได้ดีค่ะ ปีก่อนกลับบ้านที่เชียงใหม่บอกพี่ชายว่ารู้สึกถนนสองข้างทางมันคับแคบลง อึดอัดจังเวลาขับรถบนถนน ถามพี่ชายว่าเราเป็นอย่างนี้คนเดียวเพราะไม่ได้มาบ่อยหรือคนอื่นก็รู้สึกเหมือนกัน

พี่ชายบอกว่าสองข้างทางมีตึกสูงโผล่ขึ้นมามากมายโดยไม่มีกฎระเบียบกะเกณฑ์ ไม่มีการวางแผนผังเมืองให้ดี มันจึงเป็นเช่นนี้

แสดงว่าภาคปฏิบัติยังใช้ไม่ได้ผลค่ะ

มีความสุขกับสีสันของหน้าร้อนที่จะเข้ามานะคะพี่หมอ

สวัสดีค่ะคุณพ่อน้องซอมพอ

เห็นด้วยค่ะ แต่ในทางปฏิบัติการเปลียนคนนั้นใช้เวลามากค่ะ ที่นี่เขาใช้เวลาเปลี่ยนไม่นานค่ะ ประเทศนี้เพิ่งมีอายุเพียง 47 ปีในตอนนี้ ถ้ามีเวลามากการปลุกจิตสำนึกทีละน้อยด้วยการศึกษาจะดีมาก แต่ผู้คนที่นี่เมื่อก่อนเป็นชาวจีนอพยพแทบทั้งนั้น เสื่อผืนหมอนใบ ยากจนมาก ป้าที่นี่เล่าให้ฟังว่าสมัยสงครามโลกไม่มีอะไรจะกินต้องไปขุดหัวเผือกมาต้มกินค่ะ รัฐบาลที่นี่คงดูลักษณะของผู้คน พื้นฐาน และปัจจัยอื่นๆแล้วเขาก็เลยตัดสินใจใช้กฎบังคับก่อน แล้วใช้ระบบการศึกษาปลูกฝังรุ่นต่อๆมา

ทุกอย่างมีทั้งข้อดีข้อเสีย เพียงแต่วิธีนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลเลือกแล้ว ก็ต้องอยู่กันไปค่ะ ;)

สวัสดีค่ะคุณ saraphee,

คนโดนปรับไม่ชอบหรอกค่ะ แต่ในเมื่อทำอะไรไม่ได้ก็เพียงเรียนรู้แลัวจำไว้จะได้ไม่โดนปรับอีก รัฐเขารวยแล้วค่ะคงไม่ต้องไปช่วยให้เขารวยขึ้น เราเก็บเงินไว้ไปทำบุญบ้านเราดีกว่า ;)

ขอบคุณค่ะที่กรุณามาเยี่ยมเยียนค่ะ

สมัยผมเป็น นนร. เดินเรือไปเมืองโปร์บ่อย อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 3 บาท ต่อ 1 ดอลโปร์ ....ส่วนปินส์ก็พอกัน คือ 3 บาทต่อ 1 เปโซ ....วันนี้มันกลับตาลปัตรไปโม๊ด .....โอหนอ..อำนาจเงินตรามันพากไปได้ปานนั้น

สมัยโน้น..เคยมีสาวโปร์ (นักเรียนมัธยม) มาพาผมเที่ยว สองต่อสองด้วยนะ...สิ่งแรกที่เธอถามผมคือ "เมืองไทยเนี่ยได้ข่าวว่าถนนหนทางสกปรกมากเลยใช่ไหม"

....ธ่อ...อีหมวยผมอยากตีบ แต่ทำเป็นสุภาพบุรุษไทยไปเรื่อยๆ ....ประมาณ 3 ชม. กว่าจะพ้นภาคบังคับ ที่รัฐบาล สคป. จัดให้

มีเพื่อนฝรั่งมันมาเสียดสีว่า ที่ สคป...ผู้ชายห้ามห้อย"ไอ้นั่น" ไว้ข้างขวา ห้อยได้ข้างซ้ายเท่านั้น ไม่งั้นถูกปรับ ๕๕๕

ตอนนี้สาวๆ สิงคโปร์ชอบไปช้อปปิ้งที่เมืองไทยกันมากค่ะ สินค้าคุณภาพดี ราคาถูก อาหารอร่อย ไปมาสะดวก แต่สาวๆ ไทยก็ชอบมาช้อปที่นี่ด้วยเหมือนกันค่ะ ไปเดินออร์ชาร์ดที บางทีนึกว่าอยู่สยาม พารากอน...

ไม่เคยได้ยินเรื่องตลกที่อาจารย์เล่าค่ะ เคยแต่ได้ยินสำนวนที่ว่า จอดผิดข้างหรือ = bad hair day

:)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท