คนไทยชอบดูถูกผู้ไม่มีการศึกษา ไม่มีปริญญา


คนไทยดูถูกผู้ไม่ได้รับการศึกษาอย่างฝังหัว

(Thais’ Distrust of the Uneducated Runs Deep)

จากหนังสือ “ชาวเอเชียตะวันออกมองประชาธิปไตยเป็นอย่างไร”

                         แปลโดย chapter 11

......

คุณคิดหรือว่า ความแตกแยกทางการเมืองระหว่างชนชั้นกลาง  ชาวเมืองหลวง และชาวบ้านชนบทในประเทศไทยช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นี้จะเป็นแค่ปรากฏการณ์ธรรมดาๆ

 

คุณคิดหรือว่า ข้อเสนอของฝ่ายพันธมิตร และพวก กปปส. ที่ประกาศสูตรการเมืองใหม่  70-30 เป็นกระบวนการปฏิรูปยกระดับการเมืองให้สูงขึ้น  ดีขึ้นของชาวเมืองหลวง ที่จะปฏิเสธ ”ผู้ไร้การศึกษา” โดยเฉพาะชาวชนบทของไทย  ซึ่งชื่นชอบนโยบายการเมืองของคน และพรรคที่ชาวเมืองหลวงส่วนหนึ่งเกลียดมาก  ลองคิดใหม่ได้นะ

 

หนังสือชื่อเรื่องว่า “ชาวเอเชียตะวันออกมองประชาธิปไตยเป็นอย่างไร” วางแผงในปี 2551 เขียนโดย ชู และคนอื่นๆ   ฝ่ายบรรณาธิการได้รวบรวมผลการสำรวจขั้นพื้นฐานจากหลายประเทศในแถบเอเชีย ในหัวข้อเกี่ยวกับท่าทีของคนที่มีต่อคุณค่าของประชาธิปไตย   

 

ผลจากการสำรวจทั้งหมดแสดงในหนังสือเล่มนี้     แต่เรื่องน่าสนใจเป็นพิเศษคือคำตอบของคำถามในข้อที่ว่า  “คุณเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย  ที่ผู้มีการศึกษาน้อย หรือไร้การศึกษา ควรมีสิทธิออกเสียงในทางการเมืองเทียบเท่ากับผู้มีการศึกษาสูง”

 

คำตอบได้รวบรวมและแยกเป็นแต่ละประเทศ ตามตารางข้างล่างนี้ ตัวเลขแสดงให้เห็นจำนวนความเห็นด้วยกับคำถามข้างบนนี้

 

ญี่ปุ่น                  เห็นด้วยร้อยละ ๙๐.๓

ฮ่องกง                 เห็นด้วยร้อยละ ๙๐.๑

เกาหลี                     เห็นด้วยร้อยละ ๗๒.๒

ไต้หวัน                    เห็นด้วยร้อยละ ๙๐.๒

จีน                           เห็นด้วยร้อยละ ๙๑.๖

ฟิลิปปินส์                เห็นด้วยร้อยละ ๕๕.๔

มาเลเซีย                 เห็นด้วยร้อยละ ๕๕.๐

มองโกเลีย              เห็นด้วยร้อยละ ๘๓.๐

ไทย                        เห็นด้วยร้อยละ ๑๕.๐

 

ใช่ ! แล้ว คุณอ่านไม่ผิดหรอก  คนไทยเพียงร้อยละ ๑๕  ที่เห็นด้วยกับคำถามที่ว่า “ผู้มีการศึกษาน้อย หรือไร้การศึกษา ควรมีสิทธิออกเสียงในทางการเมืองเทียบเท่ากับผู้มีการศึกษาสูง”  นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นข้อสังเกต  คือ ตัวเลขไม่เพียงแต่ออกมาต่ำจนน่าใจหาย  แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงที่ว่า  “....คนไทยไม่ว่าจะเป็นคนเมืองหลวง หรือชนบท มีแนวโน้มที่จะให้ราคาการศึกษามากเกินไป โดยเชื่อว่า คนที่มีปริญญานั้นมีความสามารถสูงส่งที่จะแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้ดีกว่า..”  ซึ่งเห็นได้จากครั้งหนึ่ง  กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540  ถึงกับได้กำหนดคุณสมบัติของ ส.ส. ว่า ต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ   ผมคิดว่าหลายท่านคงจำกันได้นะครับ

 

นี่เป็นคำตอบที่ได้มาจากการใช้วิธีสุ่มตัวอย่าง โดยเลือกผู้ตอบคำถามที่หลากหลายพอที่จะไม่สร้างความลำเอียงให้กับทั้งกับชาวเมืองหลวง และชาวชนบท   ที่สำคัญที่สุดในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทยนั้น  เป็นการสำรวจย้อนหลังไปในปี 2544 ในช่วงที่ทักษิณยังเป็นวีรบุรุษอย่างแท้จริงสำหรับคนกรุงเทพที่เป็นชนชั้นกลาง และกำลังหมดความอดทนกับรัฐบาลประชาธิปัตย์ในสมัยนั้น  เวลานั้นยังไม่มีใครออกมาร้องแรกแหกกระเชอว่า ชาวชนบทนั่นงี่เง่าแต่อย่างไร

 

ผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นอีกว่า การดูถูกหรือความไม่ไว้ใจผู้ไร้การศึกษานั้น เป็นส่วนหนึ่งของกรอบความคิดของคนไทยซึ่งฝังหัวมานานก่อนยุคทักษิณเสียด้วยซ้ำ   แม้จะมีการถกเถียงกันว่าอาจเป็นเพราะทักษิณที่ผงาดขึ้นมามีอำนาจต่างหาก  จึงทำให้เห็นสภาพนี้ชัดเจนขึ้น

 

แน่ล่ะ ปัญหาอาจจะมาจากวิธีการตั้งคำถามก็ได้ อย่างคำว่า “มีสิทธิออกเสียงในทางการเมืองเทียบเท่า” อาจจะทำให้ผู้ตอบตีความไปว่า “มีสิทธิที่จะออกความเห็นอย่างเท่าเทียม” หรือ ”มีความสำคัญในการออกนโยบายต่างๆอย่างเท่าเทียม” มากกว่าที่จะมีความหมายเป็นรูปธรรมอย่าง “มีสิทธิเท่าเทียมในทางการเมือง” (ซึ่งการเสนอสูตร 70-30 ของกลุ่มพันธมิตรกู้ชาติแสดงอย่างชัดว่า มีเป้าหมายเพื่อทำลายสิทธินี้) โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า "คนอีสานเป็นคนขี้เกียจ โง่" ของอธิการบดีแห่งหนึ่ง  หรือ คำพูดของอาจารย์มหาวิทยาลัย  ที่ค่อนข้างไม่เหมือนผู้ชาย ที่กล่าวว่า "เสียงของคนกรุงเทพฯ แสนกว่าคน  ดีกว่า สิบห้าล้านของคนต่างจังหวัด" ชัดเจนมากกับการดูถูกคนชนบทของชาวกรุงเทพฯ บางส่วนจริงๆ 

 

แต่นั่นก็ไม่ได้เปลี่ยนความจริงที่ว่า การศึกษา (หรือพูดอย่างชัดๆ ลงไปว่า ปริญญาบัตร) มีส่วนสำคัญโดยใช้เป็นเหตุผลส่วนใหญ่ในการตัดสิน “ความเป็นคน” คนหนึ่งของคนไทย

 

เมื่อคุณจบปริญญาเอกมาจากเมืองนอก และมาอยู่เมืองไทย  เชื่อขนมกินได้เลยว่า ชีวิตนี้ทั้งชีวิตของคุณใน “ดินแดนแห่งรอยยิ้ม” นี้ จะได้รับแต่ความเบิกบาน  ความสมหวัง  และเสียงชื่นชมว่าคุณเป็นเทวดา ไม่ใช่...คนธรรมดา...แต่อย่างใด


ทำไม คนไทยจึงดูถูกคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนล่ะ ?  ซึ่งคำตอบจริง ก็คือ "ชนชั้น" เพราะเมื่อถ้าคนใดได้เรียนหนังสือจนจบปริญญาตรีขึ้นไป  พวกเขาจะคิดว่า พวกเขาควร "มีชีวิตที่ไม่เหมือนคนธรรมดา" อีกต่อไป  เพราะพวกเขาเชื่อว่า พวกเขารู้มากกว่าคนธรรมดา ยิ่งสามารถนำไปเข้ารับราชการในระดับสูงต่อไปได้  แถมข้าราชการระดับนี้ขึ้นไป สามารถแต่งกายด้วยเครื่องแบบที่ดูเท่ห์ มีสง่าราศี พวกเขาแตกต่างกว่าคนธรรมดาตรงที่พวกเขาไม่ใช่ประชาชน และคนของประชาชนแล้วนั่นเอง

 

 

หมายเลขบันทึก: 486387เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2012 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2020 06:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ รัฐธรรมนูญไทยควรเอาข้อกำหนด ด้านคุณวุฒิ หรืออื่นๆ ที่แสดงถึงโอกาสที่ไม่เท่าเทียมออก และต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการให้ความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของสังคม

ปัญหาการเมืองต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทยร่วนมาจากนักการเมืองที่มากด้วยความรู้ความสามารถ

คนที่อยู่ตามชนบทที่เขาไม่มีปริญญาเขาอยู่กันอย่างมีความสุขเอื้อเฟื้อแบ่งปันอบอุ่นไม่เบียดเบียนให้ใครเดือดร้อน

การศึกษาช่วยอะไรได้บ้าง......จริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท