๗. ฝากไว้ ในหัวใจ "ครู"


ฝากไว้ ในหัวใจ "ครู" เพื่อสังคมไทย จะได้มี "มนุษย์" มากขึ้น

๗. ฝากไว้  ในหัวใจ "ครู"

                                                                            

              จากประสบการณ์ยาวนานเกือบ ๒๕ ปีของการเป็นครูในโรงเรียนมัธยม  ช่วยสอนช่วยฝึกนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ประมาณ ๒๗ โรงเรียน ช่วยร่างหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ๓ ครั้ง   เป็นอาจารย์พิเศษระดับอุดมศึกษา ๑๔ ปี  ผู้ประเมินคุณภาพการศึกษา(ภายนอก) ๗ ปี  และวิทยากรบรรยายกว่า ๒๐ ปี  เป็นที่ปรึกษาโรงเรียน (ทางการและไม่เป็นทางการ) นับไม่ถ้วน  ขอยืนยันว่า "ครู" คือ ผู้ทำให้เกิดปัญหาการเรียนการสอนที่ไม่มีคุณภาพ   และการจัดการศึกษาล้มเหลวไร้ประสิทธิภาพ เพราะ "คนที่มีอาชีพครู" มากที่สุด     

              แต่...คนที่ต้องรับผิดชอบ  เป็นตัวการสร้าง "สาเหตุ"  ทำให้ "ครู" มีปัญหา ไร้คุณภาพ   คือ "ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา"  เพราะไม่ยอมเป็นพี่เลี้ยงครู  ช่วยเหลือให้ครูมีความรู้ความสามารถที่แท้จริงให้มากยิ่งขึ้น   แถมยังไม่สามารถกำกับ ควบคุม ติดตาม นิเทศ ประเมินผลให้ครูทำงานตามหลักสูตรและตัวชี้วัดการจัดการเรียนรู้อย่างจริงจัง  แล้วเพื่อนครู  จะเป็นครูที่เก่ง  และเป็นครูที่แท้จริงได้เร็ววันได้อย่างไร  แถมดีไม่ดี บุคคลเหล่านี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เพื่อนครูท้อแท้  อยากเลิกเป็น "ครู" ไปก็มี   (เพื่อนครูอยากอ่านละเอียด  ลองอ่าน "ตัวการ" ที่ีทำให้การศึกษาไทยล้มเหลว และไร้ประสิทธิภาพดูสิครับ จะร้องอื้อฮือแน่เลยครับ  https://www.gotoknow.org/posts/491163)   
.
              ผมจึงขอสรุป  เพื่อเสนอแนะต่อเพื่อนครู  ที่จะก้าวสู่การเป็น "ครู" ที่มีคุณภาพ และทำงานอย่างมีความสุข  ความภาคภูมิใจตลอดชีวิต โดยไม่ต้องไปหวังพึ่งระบบการบริหาร  หรือตัวผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้บริหารการศึกษาในระดับต่างๆ ให้เสียความรู้สึกที่จะเป็น "ครู" ที่แท้จริงต่อไปอีกเลย  ๖ ประการ  ดังนี้

.             

              ประการที่ ๑   ต้องมองโลกตามความเป็นจริง (Assertive) คือเห็นเด็กเป็นเด็ก  ไม่ใช่ผู้ใหญ่ในร่างเด็กตัวเล็ก  ไม่คาดหวังว่าเขาจะรู้สึกผิดชอบชั่วดี  มีความรับผิดชอบเท่ากับผู้ใหญ่ที่เจริญเติบโตทางสติปัญญาแล้ว (ผู้ใหญ่สมัยนี้ส่วนมาก จิตใจอารมณ์ยังเหมือนเด็กน้อยๆอยู่เลย) และเด็กเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งที่รอเรามาช่วยพัฒนาศักยภาพ  ไม่ควรมีการชี้ถูก  ชี้ผิด กับเด็กแบบตายตัว  แต่ควรให้รู้ว่าถูก ผิด  ควร ไม่ควร  ขึ้นอยู่กับเป้าหมายชีวิตที่เขาเลือกเดิน  หรือให้รู้ว่าทุกอย่างจริงๆ ตัดสินกันที่กาลเทศะบุคคล  ไม่ใช่ระเบียบกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมา  เพื่อความสะดวกของโรงเรียนและคณะครูเพียงส่วนเดียว

.

     "ครู" ที่แท้จริง  ไม่กลัวว่าสิ่งที่จะทำ หรือพัฒนาการเรียนรู้เป็นสิ่งผิด (เว้นแต่การไม่เข้าสอน)  ไม่ต้องกลัวใคร(ผู้อวดรู้ดี)ในโรงเรียนให้มากเกิน  ทั้งผู้บริหาร หรือหัวหน้างานทางฝ่ายวิชาการทุกระดับที่ชอบบังคับให้เราต้องสอนตามที่เคยทำๆกันมา เพราะกฎหมายทางการศึกษา เช่น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  หลักสูตรการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ  ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆของกระทรวงศึกษาธิการ  ระเบียบการส่งผลงานเลื่อนวิทยฐานะครู   ล้วนแต่ส่งเสริมเปิดโอกาสให้ "ครู" ที่แท้จริงคิดค้นหาวิธีการสอนที่ดีๆ ใหม่ๆ  เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพในจัดการศึกษาทั้งนั้น 

.

            "ครู" ที่แท้จริง  ต้องกล้าคิด กล้าทดลอง กล้าเปลี่ยนแปลง การสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาการเรียนรู้จึงจะเกิดขึ้น  มิฉะนั้น  เพื่อนครูก็จะได้วิธีการเดิม ๆ  ที่ล้าหลัง  และไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ทุกขณะ  สิ่งที่เหมาะในอดีต  อาจจะเป็นอุปสรรคและปัญหาในปัจจุบันก็ได้

           ความเชื่อมั่น  และความตั้งใจที่จะช่วยเหลือพัฒนาศักยภาพของเด็กอย่างจริงจัง  จะช่วยให้ "ครู" ที่แท้จริง มีจินตนาการในการออกแบบการจัดการเรียนรู้  หรือคิดสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ ๆเสมอ  

 .

            ประการที่  ๒  ต้องสามารถจัดระบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย  สอดคล้องกับธรรมชาติและศักยภาพผู้เรียน  ดังนั้น การรู้จักวิเคราะห์ผู้เรียนจากข้อมูลต่างๆ จึงเป็นภารกิจสำคัญมากของ “ครู” ที่แท้จริง  ไม่ว่าจะเป็น  การสอบถามสภาพปัญหาการเรียนที่ผ่านมา  ทดสอบพื้นฐานความรู้ก่อนเรียน  การทดสอบเพื่อหาสไตล์การเรียน (Style Learning)   การทดสอบวัดสติปัญญา (IQ)  การทดสอบทางอารมณ์ (EQ)  การทดสอบวัดความถนัดทางอาชีพ  หรือ อาจจะต้องทดสอบไปถึงบุคลิกภาพ-จิตใจก็ยิ่งดีใหญ่  เพราะยิ่งรู้จักเด็กได้ละเอียดถี่ถ้วน  ก็ยิ่งช่วยเหลือเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ   เด็กบางคนเรียนรู้บางเรื่องได้ด้วยตนเอง  สามารถคิดวิเคราะห์ หรือจัดลำดับความคิดก็เข้าใจแล้ว   เด็กบางคนจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อทำพร้อมกับเพื่อน ๆ  บางคนก็ชอบเรียนคนเดียว   เด็กบางคนเรียนรู้ได้ดีจากสื่อ  เด็กบางคนก็อาจต้องเรียนรู้จากการทำ  เด็กบางคนอาจเรียนเข้าใจเร็ว  เด็กบางคนอาจเข้าใจช้าๆ  ดีไม่ดีเมื่อรู้จักพื้นฐานเด็ก  อาจะต้องไปช่วยรื้อฟื้นความรู้ตั้งแต่เบื้องต้นก็ได้ครับ  

.

            ประการที่  ๓  ต้องสามารถจัดทำแผนการจัดการเรียนที่รู้ยืดหยุ่นได้ เผื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่ได้คิดไว้  เพราะนักเรียนของเราเป็นมนุษย์ไม่ใช่วัตถุที่ไร้ชีวิตชีวา  การเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นได้เสมอ   “แผนการเรียนที่ยืดหยุ่น”  มีความหมายอีกทางหนึ่ง คือ โอกาสทางการเรียนรู้  ที่มาบรรจบกับความต้องการของผู้เรียน และสัมพันธ์กับผลลัพธ์หรือมาตรฐานการเรียนรู้ของสังคมได้ครับ

 .

            ประการที่  ๔  ต้องสามารถทำให้ทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น กิจกรรมในการเรียนรู้น่าสนุก  ตื่นเต้น  ท้าทาย  แปลกใหม่  กระตุ้นความสนใจ  มีชีวิตชีวา  มีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ  และเกิดการแข่งขันกันเอง  การทำแบบนี้ของครู  จะช่วยลดข้อผิดพลาดเล็ก ๆ  น้อย ๆ  ที่อาจทำให้เด็กมีความทุกข์ในชั้นเรียน  และมีทัศนะไม่ดีต่อการจัดการเรียนรู้ของครู   การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเรียนปนเล่น (Play  and  Learn)  นอกจากจะสนุก  สร้างบรรยากาศที่ดีในห้องเรียนแล้ว  ยังทำให้เกิดการผ่อนคลายแก่ทุกคน  เด็ก ๆ  จะอยากมาโรงเรียน  ไม่หนีเรียน    ยิ่งถ้าครูเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้จากการทำกิจกรรม หรืองานที่เขาต้องออกแบบวางแผนเอง  ลงมือทำเอง  แก้ปัญหาเอง  สรุปทบทวนบทเรียนปัญหาเอง  ก็ยิ่งทำให้เด็กๆ พัฒนาศักยภาพตัวเองได้สูงสุด  หรือ อาจจะเกินวัยก็เป็นได้   ทำนองสร้าง “อัจฉริยภาพ”นั่นแหละครับ

 .

            และถ้า “ครู” พยายามหาสื่อ หรือจัดทำสื่อการเรียนรู้ที่ช่วยสร้างสีสันความน่าสนใจ สามารถเป็นเครื่องผ่อนแรง  ทำให้การเรียนรู้ง่าย คล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น   แบบฝึกหัดหรือใบงาน  ซึ่งเป็นตัวแทนเป้าหมายขั้นตอนวิธีการสอนของครู  ในการมอบหมายกิจกรรมการเรียนรู้แก่นักเรียน  ต้องทำให้สวยงามมีสีสัน  ดึงดูดความสนใจ มีกระบวนการขั้นตอนตามลำดับการเรียนรู้  อย่าสักแต่ทำให้เสร็จมันจะกลายเป็น “ใบรำคาญ”  ของนักเรียน

 .

             การมอบการบ้าน "ครู" จริงๆ  จะพยายามยืดหยุ่นให้เด็กทำได้เต็มตามศักยภาพ  แต่ไม่มากจนเป็นภาระหนักเกินวัยเด็ก  ถ้าครูสามารถทำให้การบ้านวิชาต่างๆ บูรณาการกับวิชาอื่น ๆ ได้ ก็ยิ่งดีใหญ่ หรือคณะครูควรตกลงกันทั้งโรงเรียนเรื่องการบ้านของนักเรียนให้ชัดเจน  โรงเรียนที่ผมเคยรับผิดชอบบริหารจัดการ   ระดับประถมศึกษา  ผมจะให้วิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษมีการบ้านทุกวัน   วิชาภาษาไทยให้มีการบ้านสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง  วิชาวิทยาศาสตร์ให้มีการบ้าน ๒ สัปดาห์ครั้ง  ส่วนวิชาอื่นๆผมให้มีการบ้านได้เพียงเดือนละ ๑ ครั้ง  ส่วนในระดับมัธยม  ผมให้วิชาวิทยาศาสตร์สั่งการบ้านเพิ่มได้ทุกสัปดาห์ ซึ่งวิธีนี้จะลดภาระงานของเด็กลงได้มาก  ไม่เดือดร้อนผู้ปกครองมากนักที่ต้องมาช่วยลูกหลานทำงานส่งครู  โดยเฉพาะวิชาการงานฯ และศิลปะ   (ที่ให้ภาษาไทยสัปดาห์ละครั้ง  เพราะวิชาภาษาไทยมีเรียนสัปดาห์ละ ๖ ชั่วโมง ทุกชั่วโมงมีการเรียนรู้ตามทักษะทางภาษา  และชั่วโมงสุดท้ายให้มีการทดสอบหน่วยนั้นๆทันที  การบ้านวิชาภาษาไทย  คือให้ไปอ่านหนังสือในวันเสาร์อาทิตย์  เรื่องอะไรก็ได้  แล้วสรุปย่อส่งครูในวันจันทร์  วิธีนี้ทำให้นักเรียนมีความสามารถทางภาษาเพิ่มขึ้น  และยังส่งเสริมการอ่านตามโครงการนโยบายกระทรวงอีกทางหนึ่ง)

.

             ประการที่  ๕  ต้องทำให้การเรียนรู้...เกิดจากใจที่เมตตา...หวังดีและปรารถนาดี.....  นั่นคือการใช้ความรัก  ความเข้าใจ  ความเมตตา  เป็นพื้นฐานในความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน  การสอนด้วยความรักและเมตตา จะเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งของการศึกษาที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ "ครู" ที่แท้จริงจะปฏิบัติ  ดังนี้

                 ๕.๑  เอาใจใส่ไต่ถามห่วงใยต่อนักเรียนเสมอทุกวัน  ทั้งในและนอกห้องเรียน  หรือนอกโรงเรียนยิ่งดี

                 ๕.๒  ยอมรับจนเชื่อมั่นว่านักเรียนแต่ละคน คือคนที่สามารถพัฒนาศักยภาพได้ และเป็นคนใฝ่ดี

                 ๕.๓  ให้ความสนใจอย่างจริงจังกับปัญหา  และคำถามของนักเรียน

                 ๕.๔  ยอมรับความเป็นคน  และความแตกต่างของนักเรียน

                 ๕.๕  ให้เสรีภาพในการตัดสินใจเลือกเองในการทำกิจกรรมอย่างมีเหตุผล

                 ๕.๖  ไม่ควรสรุปว่า  นักเรียนเป็นคนไม่ดี (เลว)  ไม่มีความสามารถ (โง่)  ไม่น่าคบ (ขี้เกียจ)  และไม่น่ารัก (เหลวไหล)

.

              ประการที่ ๖   ผมขอเรียนว่า "ครู" ไม่ว่าจะเป็นระดับไหน  ก็ไม่สามารถขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนทั้งโรงเรียนให้สำเร็จโดยตัวคนเดียวได้   ถ้าพอเห็นว่าทั้งโรงเรียนคิดอย่างเดียวกัน    มีเอกภาพทั้งเป้าหมายและวิธีการเหมือนกัน  ก็ลงมือเลย  ผมถือว่าเพื่อนครู  โชคดีมากที่เจอโรงเรียนในฝันอย่างนี้   แต่ถ้าพูดก็แล้ว  นำเสนอก็แล้ว  ชักชวนแล้ว  มีคนทำบ้าง  ก็อย่าท้อใจ  แอบลงมือทำตามความต้องการเลยครับ  ไม่ช้าผลดีก็จะเห็นเป็นที่ประจักษ์เอง ดูอย่างคุณครูชาตรี  สำราญ กว่าทั้งโรงเรียนจะเห็นด้วยใช้เวลานานมาก  แต่อย่าหาเรื่องทุกข์ใส่ตัว  ด้วยการไปคาดหวังให้ครูทั้งหมดทำตามเลยครับ   เพราะผมก็เคยมีประสบการณ์อย่างนี้มาแล้ว  ทุกข์ตลอด  เครียดตลอด  ตอนนี้ทำใจได้แล้วครับ

.

              ในชีวิตครูของผม  ผมเจอคนที่มา “ประกอบอาชีพครู” หลายประเภท เช่น

              แย่ที่สุด คือ ขยะยถากรรม  พวกนี้มีอาชีพมาทำงานในโรงเรียน พวกนี้จะมาแต่ร่างกาย  ลืมเอาจิตวิญญาณความรักเพื่อนมนุษย์มาด้วย  การเรียนของนักเรียนจึงเป็นไปตามยถากรรม  จึงต้องทำใจปลงว่า คงเพราะวิบากกรรมที่ชาวบ้าน และนักเรียนสร้างมาในทางที่ไม่ดี  จึงทำให้มาเจอคนประเภทนี้มาบรรจุที่โรงเรียนชุมชนของเด็กแห่งนี้   “ปลงซะเถอะ  แม่จำเนียร”

.   

              แย่มาก  คือ  ผู้คุม  พัสดีเรือนจำ  พวกนี้ชอบเห็นเด็กเป็นเทวดาแต่กำเนิด  ต้องไม่ทำความผิดอะไรเลย  ถ้าผิดหรือพลาดขึ้นมา  จะถือเป็นเรื่องใหญ่โตขนาดคอขาดบาดตายได้  จึงดีแต่คอยบ่น  คอยด่า คอยเข้มงวด กวดขัน คอยจับผิดไม่วางตา  (แต่พวกที่เรียกตัวเองว่า “ครู”  ก็แอบทำความชั่วร้ายไม่ใช่น้อยทีเดียว)

.

              ปานกลาง  คือ  พี่อ่านหนังสือ พวกนี้ชอบอธิบายความรู้ตามหนังสือเรียน บางทีก็ไม่จำเป็น  ตลอดชีวิตที่ผมเป็นครูมา เห็นพวกนี้มากที่สุด  ทุกวันนี้เวลาไปตรวจเยี่ยมโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาอื่นๆ ก็ยังเห็นทำกันเป็นกิจวัตรประจำวัน (พวกนี้ไม่ยอมเข้าใจ และรับรู้ว่าหนังสือแบบเรียน คือ สื่อ ไม่ใช่หลักสูตร)  ผมถือว่าพวกนี้เสมือนหนึ่ง  รุ่นพี่สอนรุ่นน้องเท่านั้น  (บางทีรุ่นพี่ยังอธิบาย ดีกว่าผู้ที่เรียกตัวเองว่าครูก็มีไม่ใช่น้อย)

.

              ดีพอใช้  คือ  อาจารย์ผู้สอน  พวกนี้ชอบอธิบายแนะนำให้เห็นชัดเจน  มีการยกตัวอย่างประกอบ หรือทำให้ดูเป็นตัวอย่าง  แต่ก็ยังสอนอธิบายตามหนังสือแบบเรียนอยู่  และที่ดี คือ  คอยเคี่ยวเข็ญให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดหรือกิจกรรมอย่างจริงจัง  จนกว่านักเรียนจะรู้จริงหรือทำได้

.

              ดีมาก  คือ ครูผู้ฝึกพวกนี้มักคิดว่าการสอนที่ดีต้องให้นักเรียนได้ลงมือฝึกฝนปฏิบัติตามหลักการ และขั้นตอนของการเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ มีเทคนิควิธีการสอนที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ (จิตวิทยา) ผมยกย่องครูเหล่านี้  และผมใฝ่ฝันอยากเห็นผู้ที่รับอาสามาฝึกคนมีทัศนคติและการกระทำอย่างนี้  แต่...หายาก

.   

               ดีที่สุด คือ ครูผู้จัดการเรียนรู้  ครูพวกนี้ไม่ค่อยสอน ค่อยอธิบาย ชอบทำอยู่  ๓ อย่าง คือ

                 ๑.  ชอบมอบหมายงาน หรือกิจกรรมให้นักเรียน โดยงานหรือกิจกรรมนั้นมีเงื่อนไขและเป้าหมายผลลัพธ์ที่ชัดเจน และเป็นไปตามตัวชี้วัด และแผนที่วางไว้  

                 ๒. ขยันตรวจสอบ เยี่ยมเยือนระหว่างการทำกิจกรรม คอยซักไซ้ไล่เรียงการทำกิจกรรมทุกขั้นตอน   ถ้านักเรียนทำไม่ได้ หรือตอบไม่ได้  ก็จะให้นักเรียนไปพิจารณาหาสาเหตุที่มาจนกว่าแก้ไขได้

                 ๓. ตัดสินผลการประเมินจากผลงานที่ทำจริงๆ   ถ้ายังไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้  ก็จะไม่ให้ผ่าน  ให้กลับไปแก้ไขจนกว่าจะถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 

                 ส่วนมาก.....ครูพวกนี้ต้องแอบทำไม่ให้ฝ่ายวิชาการ หรือฝ่ายบริหารรู้  เพราะมักจะถูกห้ามทำ  หรือถ้าขืนทำก็จะถูกสกัดกั้นไม่ให้ทำ  ด้วยการอ้างว่าไม่มีโรงเรียนไหนทำอย่างนี้  หรืออ้างระเบียบอะไรก็ไม่รู้  แล้วแต่จะนึกได้  บางทีก็ห้ามด้วยการพูดว่า “ผม-ฉันเป็นผู้อำนวยการนะ”  ครูเหล่านี้  ถ้ายังใจสู้  ก็ต้องพยายามสร้างชื่อเสียงในระดับที่สูงขึ้น เช่น ระดับจังหวัด ระดับชาติ ก่อน  จึงพอจะมีบารมีที่ทำให้ครู-ผู้บริหารเกรงใจบ้าง  เมื่อทำได้ ก็มักต้องควักกระเป๋าตัวเอง  มาทำสื่อต่างๆ เอง  บางทีก็หาทุนมาจากคนที่เห็นด้วยมาให้นักเรียนได้ลงมือทำกิจกรรม    เพราะจะหาผู้บริหารโรงเรียน  หรือผู้บริหารระดับต่างๆ มาสนับสนุนนั้นเป็นเรื่องยากมาก  โดยเฉพาะยิ่งระดับประเทศคงต้องงมเข็มในมหาสมุทร  (ส่วนสหรัฐอเมริกามีแล้วมากมาย  แต่ที่ดังมาก คือ ครูเรฟ  ผู้ที่สนใจลองหาหนังสือ "ครูนอกกรอบ  ห้องเรียนนอกแบบ" มีการแปลและจัดพิมพ์เผยแพร่โดย สสค.)  แต่แปลกนะครับ  พอผลงานที่ครูพวกนี้แอบทำ  ประสบผลสำเร็จ  มีชื่อเสียงแพร่หลาย  พวกครูหรือผู้บริหารที่สั่งห้าม  กลับแอบอ้างว่าตัวเองมีส่วนร่วมในการทำงานนี้ด้วยทั้งนั้น

 .

                   ผมหวังว่า  ครูผู้จัดการเรียนรู้คงงอกเงย  ผลิดอกออกใบมากขึ้นในสังคมไทย   และผมหวังว่าเมื่อมีครูผู้จัดการเรียนรู้เกิดขึ้น  สังคมไทยจะเป็นสังคมที่ใช้เหตุผล จากหลักการ แนวคิดตามหลักสัจธรรมของธรรมชาติมาใช้ในการดำเนินชีวิต  ไม่ใช่ใช้แต่เหตุผลจากความรู้สึก  อารมณ์ชอบไม่ชอบของตัวเอง

                  ดังเช่นคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน  ที่อยู่ดีๆ ก็แบ่งชนชั้น  ดูถูกประชาชน  มี ๒ มาตรฐาน   พวกตัวเองทำผิด สารพัดผิดไม่เป็นไร   ถ้าอีกพวกหนึ่งทำเหมือนกันบ้าง  ต้องผิด ต้องเลว  ต้องจับติดคุก  ต้องฆ่าฟันให้ตายหมด  

.

                   เฮ้อ! สงสารสังคมไทย  ที่บรรพบุรุษอุตส่าห์ใช้พระพุทธศาสนากล่อมเกลาจิตใจคนในชาติ  จนกลายเป็นคนที่มีจิตใจไม่เห็นแก่ตัว  ยอมรับความจริง  ไม่หลงตัวตน   มีเมตตากรุณารักคนทั้งโลก   จึงทำให้ชาติไทย  คนไทยในอดีตโดดเด่นเรื่อง "จิตใจ"  ซึ่งปรากฏบนใบหน้าที่มีแต่รอยยิ้ม  จริงใจไม่เสแสร้ง   เห็นคนทุกชาติในโลกเป็นคนเสมอ

.  

                 แต่...ปัจจุบันสังคมไทยกลายเป็นสังคมที่มีแต่ความเกลียดชัง  โกรธแค้น  ผูกอาฆาตมาดร้าย  ฟุ่มเฟือย ทำตัวเหลวไหล  คลี่งไคล้อบายมุขมากขึ้น   เห็นบางชาติ  บางคนเป็นเทวดา  และเอาแต่กล่อมเกลาความคิดให้คนในชาติอยากได้แต่คนดีมาปกครองประเทศ   เรียกร้องใฝ่หาอยากได้คนดีมาเป็นพ่อ  แม่ พี่น้อง  ครู เพื่อน  คู่ครอง   ยกตัวเองเป็นคนดี  แต่เวลาทำผิดก็ไม่รับผิด  อ้างเหตุผลข้างๆคูๆ  ทำนองฉันเป็นคนดี แล้วไม่มีวันทำผิด  เพราะฉันมีเหตุผลที่ดี  เหตุผลที่จำเป็นจึงต้องทำเช่นนั้น

.  

                 พวกคนดี(อ้างเอาเอง)เหล่านี้   คิดว่าคนอื่นต้องดีต่อฉัน  แต่ฉันไม่จำเป็นต้องทำดีต่อคนอื่น  เพราะฉัน คือ  "คนดี"  (เหมือนพวกที่ดีแต่วิ่งหารักแท้  แต่หาไม่ได้ก็โวยวาย  หาว่าไม่มีใครรักฉันจริง  เพราะเข้าใจว่า “รักแท้”  คือคนที่มารักตนเอง   ต้องตามใจตนเอง  ไม่ขัดใจตนเอง   เช่น เด็กๆทุกวันนี้  พอขัดใจหน่อย  ดุ  ตำหนินิดหน่อย   แกบอกว่าพ่อแม่ไม่รักแกแล้ว)

.

                  ในทัศนะผม   เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ และสังคมไทยต้องได้รับบทเรียนที่เจ็บปวดจาก "คนดี" ที่เสแสร้ง สร้างภาพอีกนาน  เพราะคนไทยสังคมไทย ถูกสั่งสอน ปลูกฝังให้ยึดติดกับเรื่องคนดี ๓ เรื่อง ด้วยกัน

                  เรื่องที่ ๑  การแสวงหาคนดีสมบูรณ์แบบ  ที่ไม่มีทางเป็นไปได้ในโลกความจริง   

                  เรื่องที่ ๒  อยากให้คนดีคนนั้น  เป็นคนดีตลอดไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง   

                  เรื่องที่ ๓  อยากให้ทุกคนเป็นดี  โดยใช้กลยุทธ์  วิธีการแบบง่ายๆ เช่น สอน ว่า  ชี้แนะ บ่นก็พอ  ถ้าไม่มีใครเปลี่ยนตาม ก็กล่าวหาว่าคนๆนั้น  ไม่มีจิตสำนึกที่ดี  (แบบเดียวกับที่พวกครูทำกันหน้าเสาธงทุกวันนี่แหละ)  ไม่ต้องไปฝึกฝนควบคุมจิตใจ  หรือมีกระบวนการพัฒนาเป็นคนดีอย่างจริงให้วุ่นวายทำไมล่ะ 

.

                 อย่างนี้แล้วสังคมไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร  เพราะมีมิจฉาทิฏฐิเรื่อง "คนดี" เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด   นี่ยังดีว่า  สังคมไทยยังมีหลวงปู่หลวงพ่อสายปฏิบัติออกมาอบรมสั่งสอนชี้แนะทางที่ถูก  ให้ละคลายอัตตาลงบ้าง  ปัญหาเมืองไทยจึงไม่มากและยาวนานเหมือนบางประเทศ  แต่ต่อไป  คงหาไม่ได้แล้ว  เพราะพระแบบนี้หายากขึ้นทุกที  มีแต่นักบวชที่สอนแต่เรื่อง "คนดี" กับ "สิ่งศักดิ์สิทธิ์" เต็มไปหมดทั้งประเทศ   แถมผู้นำประเทศก็ไม่ส่งเสริมพุทธศาสนาอย่างแท้จริง  ส่งเสริมแต่ลัทธิศาสนาอื่นให้มีอิทธิพลในสังคมไทยมากขึ้น   

.

              ได้แต่อุทานว่า “เฮ้อ”  เวรกรรมหนอ  วิบากกรรมหนอ  กับสังคมไทย เท่านั้นแหละครับ

 

หมายเลขบันทึก: 486386เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2012 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2020 09:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 ครูเรฟ  "ครูนอกกรอบ  ห้องเรียนนอกแบบ" เป็นครูที่ดิฉันประทับใจและได้นำหลักการมาปรับใช้ในชั้นเรียนมีความสุขมาก  และชอบวิธีคิดของอาจารย์มาก จะติดตามบทความดีๆและนำมาใช้ตามบริบทของตนเองและเด็กๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท