๖. การวัดผลประเมินผลที่ไม่มีคุณภาพ ย่อมทำลายอนาคตเด็กและสังคม


ประเมินผลที่แท้จริง

๖.  การวัดผลและประเมินผลที่ไม่มีคุณภาพ  ย่อมทำลายอนาคตเด็กและสังคม

   การวัดและการประเมินผลเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด  เพราะเป็นตัวตัดสิน  หรือชี้ให้เพื่อนครู ผู้บริหาร และตัวนักเรียนเอง  ทราบว่า การเรียนรู้ที่ผ่านไปนั้นได้ผลตามตัวชี้วัดหรือตามผลที่คาดหวังไว้หรือไม่ ผลจากการวิจัยของอีริคสัน และอีกหลายคน ยืนยันได้ว่า การวัดผลประเมินผลเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อชีวิต และจิตใจของนักเรียน  และที่สำคัญ คือ ครู พ่อแม่แทบจะชี้ชะตา  ประทับตรา  ตีตรา  บันดาลชีวิตให้เด็กสูงส่ง หรือตกต่ำได้ทันที   ส่วนเด็ก เมื่อรู้ว่าเขาทำคะแนนได้ดี หรือทำงานผ่าน  เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์หรือเพื่อนนักเรียนด้วยกัน เขาจะคิดว่าเขาเป็นคนเก่ง แถมทำให้เด็กมีความเชื่อมั่นตัวเองสูงขึ้น (อัตตมโนทัศน์ - Self Concept)  เช่นกันถ้าเขาสอบได้คะแนนไม่ดี หรือไม่ผ่าน  เขาจะซึมเศร้า ปักใจเชื่อว่าตัวเองโง่  ยิ่งในวัยช่วงประถมศึกษาจะเป็นปัญหาการสร้างความมั่นใจตัวเองในอนาคตได้ไม่น้อย  นอกจากว่าได้ครูดี  เพื่อนดี พ่อแม่ดีที่เข้าใจ  ให้กำลังใจ  ก็พอจะแก้ไขปรับปรุงได้บ้างในวัยช่วงมัธยมศึกษา

.

ผมเชื่อว่า... มีคนหลายคนไม่ค่อยอยากยอมรับผลการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ในปัจจุบันของสถานศึกษา  เพราะไม่สามารถตัดสินคุณภาพได้อย่างแท้จริง หรือนำมาช่วยเด็กๆ พัฒนาตนเองอะไรได้เลย  เพราะเป็นการทำสักแต่ว่าทำตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ  แต่ก็ต้องทำใจ  เนื่องจากไม่สามารถไปต่อว่าต่อขาน หรือเปลี่ยนแปลงการทำงานของครูหรือโรงเรียนได้เลย  แต่เดี๋ยวนี้  ชักไม่แน่เสียแล้ว  เพราะมีผู้ปกครองบางคนไม่ยอมรับผลการวัดผลประเมินผลของครูและโรงเรียน  ได้พากันฟ้องศาลปกครอง   ซึ่งต่อมาศาลตัดสินให้ครูและโรงเรียนทำผิดขั้นตอน  ทำให้ครูส่วนหนึ่งต้องปรับวิธีการสอนและการวัดผลเสียใหม่ก็มี 

ถ้า...เพื่อนครูยังไม่อยากยอมรับสิ่งที่ผมเสนอแนะนี้  ก็สามารถนำผลการทดสอบแห่งชาติ (O-net) ของทั้งประเทศ หรือของโรงเรียนที่เพื่อนครูอยู่มาเป็นประจักษ์พยานได้  แม้นักเรียนจะมีผลทางการเรียนสูงมากในโรงเรียน  แต่ทำไมผลการทดสอบแห่งชาติกลับตกต่ำกว่าครึ่งทุกวิชาล่ะ   แถมบางวิชาคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ ๒๐ ก็มี   ปัญหาเรื่องนี้มีหลายสาเหตุอยู่หลายประการ เท่าที่ผมวิเคราะห์ได้ ดังนี้

.

    ๑.  ครูส่วนใหญ่ “วัดความรู้”  ไม่ได้วัด “การเรียนรู้” ทั้งนี้เพราะการจัดการเรียนรู้ของครูส่วนใหญ่เป็นไปตามหนังสือแบบเรียน  ไม่เป็นไปตามจุดมุ่งหมายการศึกษา หรือตามหลักสูตร  หรือตามตัวชี้วัดการเรียนรู้แต่อย่างใด   ทำให้เวลาวัดและประเมินผล มักจะวัดจากการจดจำเนื้อหาความรู้ในหนังสือแบบเรียนที่ครูใช้สอนอยู่ในโรงเรียนนั้นๆ  

            ๒.  การวัดผลและประเมินผลไม่สอดคล้องกับสภาพจริงการเรียนรู้ หรือตามธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์  การวัดผลประเมินผลที่ดี ก็คือ การประเมินผลเชิงประจักษ์จากการกระทำ หรือปฏิบัติ  ซึ่งเป็นการวัดและประเมินที่สอดคล้องกับธรรมชาติ หรือสภาพจริงในชีวิต และสังคม   ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่า เพื่อนครูก็มักทำกันอยู่แล้ว และทำเป็นประจำด้วย  เพียงแต่ไม่รู้ตัวเอง  เพราะไม่สนใจและเห็นความสำคัญของหลักสูตรและตัวชี้วัด จึงต้องวัดผลและประเมินผลในวาระต่างๆ เช่น สอบกลางภาค ปลายภาค  ตามระเบียบการวัดผลที่โรงเรียนกำหนดมาเท่านั้น  

          ๓. ส่วนมากร้อยละ ๙๕  สถานศึกษาทุกแห่ง  ไม่มีการตรวจแบบทดสอบ หรือแบบประเมินให้ได้มาตรฐานหรือคุณภาพ ก่อนที่ครูจะนำไปวัดผลประเมินผลอย่างจริงจังเป็นระบบ  บางสถานศึกษาจะสอบพรุ่งนี้  หรือวันนี้  เพิ่งจะส่งแบบทดสอบมาให้เจ้าหน้าที่ทำสำเนาอยู่เลย  โดยไม่ผ่านฝ่ายวิชาการที่คุมสอบก็มี   ซึ่งผู้บริหารและฝ่ายวิชาการ  ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร  ก็ต้องปล่อยปละละเลย  อะลุ่มอล่วยกันไปทุกปี  คะแนนใน ป.พ.๕ ก็ไม่รู้ว่ามาอย่างไร  ผู้บริหารแค่เห็นว่าทำครบตามระเบียบ  ก็ลงนามรับรองไปตามหน้าที่   ส่วนถ้าเด็กไปสอบเรียนต่อไม่ได้  หรือทำข้อทดสอบแห่งชาติไม่ได้   คณะครูหรือผู้บริหารสถานศึกษาก็โทษว่าข้อสอบมันยาก  ออกไม่ตรงตามที่ครูสอนบ้าง  หรือไม่ก็โทษเด็กว่าไม่เอาใจใส่การเรียน  การสอบแห่งชาติไปเลย  

.      

           อันที่จริง  การวัดผลประเมินผลตามหลักสูตรในยุคปัจจุบันง่ายกว่าการวัดผลประเมินผลตามหลักสูตรก่อน พ.ศ. ๒๕๒๑ มากมาย เพราะสมัยก่อนต้องสอบวัดผลตามเนื้อหาที่ใช้ในการสอน หรือแบบเรียน  ข้อสอบที่ดีในยุคนั้นจึงต้องหาน้ำหนัก (Weight) ให้กระจายไปตามสมรรถภาพที่ต้องการ เช่น ต้องการให้เป็นความรู้ความเข้ากี่เปอร์เซ็นต์  การประยุกต์ใช้กี่เปอร์เซ็นต์ วิเคราะห์   สังเคราะห์  ประเมินค่ากี่เปอร์เซ็นต์  แล้วค่อยมาตรวจภาษาให้เหมาะสมกับวัย  สุดท้ายเอาไปทดลองสอบกับเด็กเพื่อหาค่าความยากง่ายอีกครั้ง  จึงนำมาวัดผลประเมินผลกับเด็กได้    แต่ในยุคนี้แค่ออกแบบทดสอบตามจุดประสงค์หรือตัวชี้วัด  แล้วนำมาให้คณะกรรมการวัดผลที่โรงเรียนแต่งตั้งให้ตรวจสอบหาความเที่ยงตรง (Validity) ต่างๆของแบบทดสอบ (หาค่า IOC) เท่านั้น  ก็นำมาทดสอบกับเด็กได้เลย   เพราะถือว่าออกตามจุดประสงค์หรือตัวชี้วัดแล้ว  ถ้าทดสอบแล้วผลไม่ได้ตามที่ต้องการ  แสดงว่า  แบบทดสอบไม่ตรงตามตัวชี้วัดจริง  หรือ ครูไม่ได้จัดการเรียนรู้ตามตัวชี้วัดจริง  เมื่อทดสอบตามตัวชี้วัดจึงทำแบบทดสอบไม่ได้  (แบบการทดสอบแห่งชาติไงล่ะครับ)  

ถึงตรงนี้  เพื่อนครูคงเห็นแล้วว่า การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรและตัวชี้วัด  มีส่วนช่วยให้เกิดประสิทธิภาพและคุณภาพสูงสุดได้อย่างไรแล้วนะครับ   และยิ่งถ้าเพื่อนครูสามารถนำตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑  มาระบุเงื่อนไขทั้งสมรรถภาพ และเกณฑ์ที่อยากให้เด็กรู้หรือทำได้ ตามธรรมชาติและศักยภาพของเด็กและครู  รวมทั้งบริบทของสังคม  เป็นตัวชี้วัดของเพื่อนครูหรือโรงเรียนก็จะยิ่งทำให้เด็กๆ สามารถพัฒนาธรรมชาติและศักยภาพของตัวเองได้สูงสุด(ความเป็นเลิศ) ได้ง่ายขึ้น   และทำให้เพื่อนครูสนุกกับการทำงาน  ที่ท้าทายอีกด้วย

.  

เช่น  โรงเรียนต้องจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการงานอาชีพ แต่ในสถานศึกษาแห่งนี้  มีครูจบมาด้านเกษตรกรรมคนเดียว  โรงเรียนจึงตกลงให้กลุ่มสาระการงานอาชีพนี้  เน้นงานเกษตรเป็นหลัก แล้วบูรณาการกับอีก ๔ สาระ   ซึ่งในระดับประถมศึกษาปีที่ ๓  มีตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ จำนวน ๓ ตัวชี้วัดดังนี้   

    ๑. อธิบายวิธีการและประโยชน์การทำงานเพื่อช่วยเหลือตนเอง ครอบครัวและส่วนรวม

    ๒. ใช้วัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือตรงกับลักษณะงาน

    ๓. ทำงานอย่างเป็นขั้นตอนตามกระบวนการทำงานด้วยความสะอาดความรอบคอบ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

.

ต่อมาครูคนนี้  มีความเห็นว่าในท้องถิ่นข้างเคียงส่วนมากปลูกต้นกล้วยไปจำหน่าย  แต่ชุมชนตัวเองยังไม่ค่อยมี  และจากการสำรวจพบว่ามีสภาพดินและน้ำเพียงพอที่ปลูกต้นกล้วยได้ (บริบททางสังคม)      จึงตกลงใจว่าการปลูกต้นกล้วยนี้  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓  สามารถทำได้ (ธรรมชาติและศักยภาพผู้เรียน)  แต่ตัวชี้วัดจากหลักสูตรเป็นนามธรรม  ไม่สามารถชี้ชัดเจน  ครูจึงกำหนดพฤติกรรมการเรียนรู้ ดังนี

            ๑) เพื่อให้นักเรียนบอกประโยชน์ต้นกล้วย

            ๒) เพื่อให้นักเรียนมีความรู้  ความเข้าใจในการปลูกต้นกล้วย

            ๓) เพื่อให้นักเรียนมีทักษะในการปลูกต้นกล้วย

            ๔) เพื่อให้นักเรียนปลูกต้นกล้วยได้ และนำผลผลิตไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

            ๕) เพื่อให้นักเรียนสามารถแปรรูปหรือจำหน่ายผลิตผลจากต้นกล้วยที่นักเรียนปลูกได้

เพื่อนครูลองพิจารณาดูว่าพฤติกรรมการกระทำข้อใด เป็น การเรียนรู้”บ้าง  ถ้าเพื่อนครูตอบว่าถูกทุกข้อ  ถือว่าเพื่อนครูยังไม่เข้าใจการเรียนเพื่อให้เกิด “การเรียนรู้” อย่างแท้จริง    

คำตอบที่ถูกต้อง คือ ข้อ ๔) และ ๕)  ส่วนข้ออื่นล้วนเกิดจากครู  และยังไม่แน่ว่าจะต้นกล้วยจะอยู่รอดหรือไม่  แต่ถ้าสามารถทำได้จนถึงข้อ ๔) และ ๕)  แสดงว่าปลูกสำเร็จจนได้ผลผลิต  จะเห็นว่า ข้อ ๔) และ ๕)  ครอบคลุมทั้ง ๓ ข้อแรกอยู่แล้ว และนอกจากนั้นยังครอบคลุมไปถึงการดูแลรักษาระหว่างเติบโต(วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)   ต้องอาศัยความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ที่จะจัดการผลผลิตของตนเอง  รวมทั้งต้องใช้ความรู้เรื่องการจำหน่าย  การทำบัญชี  ทางคณิตศาสตร์อีกด้วย   พฤติกรรมการเรียนรู้ที่ทำได้ข้อ ๔) และ ๕) ถือว่าทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ในลักษณะองค์รวมและบูรณาการในชีวิตอย่างแท้จริง

.

จะเห็นว่าการเขียนแยกแบบนี้ก็ไม่ผิดแต่ประการใด  เพราะได้ระบุเงื่อนไขพฤติกรรมการกระทำไว้แล้ว   แต่ครูท่านนี้เห็นว่ายังไม่ท้าทายธรรมชาติและศักยภาพเรียนทั้งตัวครูและนักเรียน และเพื่อให้มีหลักฐานที่ยืนยันใครต่อใครได้ว่า  เด็กๆ ทำได้ด้วยตัวเองจริง   ครูจึงได้ระบุเงื่อนไขการเรียนรู้ และเกณฑ์ผ่านไว้ดังนี้

          “...นักเรียนนำผลผลิต หรือแปรรูปผลผลิตจากต้นกล้วยที่ปลูกคนละ ๑๐  ต้น ไปใช้เป็นอาหารในครอบครัว หรือจำหน่ายได้  พร้อมจัดทำบันทึกรายงานการปลูกต้นกล้วย  การดูแลบำรุงรักษาต้นกล้วย การแปรรูปผลผลิต และการจำหน่ายผลผลิตทุกสัปดาห์...” 

.

          ซึ่งถ้าเพื่อนครูนำความรู้ที่เคยไปอบรมเกี่ยวกับ Backward design มาเทียบเคียง ก็ถือว่าสมบูรณ์ทุกประการ           

         ๑. อะไรคือสิ่งที่มีคุณค่าที่ครู หรือโรงเรียนต้องการ (เป้าหมาย/ตัวชี้วัด)

         ๒. อะไรคือพยานหลักฐานของความสำเร็จ (ผลงานที่ผ่านเกณฑ์ /เงื่อนไข /ความพอใจฯ)

         ๓. อะไรคือสิ่งที่จะทำให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ ความเข้าใจ ความสนใจ และความยอดเยี่ยมในผลงานนั้นๆ  (กิจกรรมการเรียนรู้ / แหล่งศึกษาค้นคว้า / สื่อการเรียนรู้)

.

         ตรงที่ขีดเส้นใต้ไว้  เพื่อนครูสามารถปรับเปลี่ยนได้  ตามบริบททางสังคม  ธรรมชาติและศักยภาพของนักเรียนหรือครู  เช่น  ถ้าสังคมที่เพื่อนครูเป็นชุมชนเมืองกึ่งเกษตร  ผู้ปกครองมีรายได้สูง  มีไฟฟ้าใช้  บ้านนักเรียนมีคอมพิวเตอร์   เพื่อนครูสามารถเปลี่ยนจากคนละ ๑๐ ต้น เป็น ๒๐ ต้นก็ได้  หรือเปลี่ยนจากทำบันทึก เป็นจัดทำรายงานด้วยโปรแกรม Power Point ก็ได้  หรือจัดให้นำเสนอในช่วงนิทรรศการของโรงเรียนก็ยังได้อีก

.
          ถ้า...เพื่อนครูสามารถเขียนตัวชี้วัดการเรียนได้ชัดเจนตามแนว Backward design  หรือ ทฤษฎีไหนก็ได้   จะช่วยให้เพื่อนครูจัดการเรียนรู้ได้สนุก ท้าทาย สร้างความตื่นเต้น แปลกใหม่แก่นักเรียนได้อย่างแน่นอน  แถมการวัดผลประเมินผลก็ง่ายตามไปด้วย เพราะตัดสินกันด้วยหลักฐานสภาพจริงเชิงประจักษ์ มีรายละเอียดในการดำเนินการที่ยินยันได้ทุกขั้นตอน  ถ้ายังไม่มีผู้ใดเชื่อ  ก็สามารถให้เด็กเล่าวิธีการทำงานให้ฟังก็ได้ (บูรณาการกับวิชาภาษาไทยได้อีกแน่ะ)

.   

ตัวชี้วัดการเรียนรู้ที่ชัดเจน  โดยระบุรายละเอียดครบทั้งเป้าหมาย เกณฑ์ เงื่อนไขความสำเร็จ และกิจกรรมการเรียนรู้  ถือว่าเป็นตัวชี้วัดการเรียนรู้ที่ดีที่สุด   เพราะสามารถช่วยให้เพื่อนครูประเมินได้หลายอย่าง (หลายมิติ) ในงานชิ้นเดียวกัน เช่น สามารถประเมินความรู้ได้หลายวิชา  ประเมินคุณลักษณะ และผลการปฏิบัติงานของนักเรียน ประเมินเจตคติ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความสามารถ ประเมินทักษะการเรียนรู้ทักษะการปฏิบัติ  และประเมินกระบวนการทำงาน สารพัดที่อยากประเมิน จากผลงานกิจกรรมที่เด็กทำ แบบทดสอบ แบบบันทึกการปฏิบัติงาน โครงงาน แฟ้มสะสมงาน บันทึก ความรู้สึก รายงาน  รูปถ่าย  หลักฐานต่างๆ   ฯลฯ เป็นต้น ฯลฯ

.

          ขอยกตัวอย่างตัวชี้วัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖  ที่ทำได้จริงในโรงเรียนแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์     

๑.

สรุปบันทึกเรื่องราวจากการอ่านหนังสือวรรณกรรม ๔๐ เรื่องขึ้นไป  พร้อมทั้งเล่าเรื่องที่อ่านให้ครูและเพื่อนฟังหน้าชั้น หรือจัดทำเป็นแผนภาพโครงเรื่องในรูปแบบหนังสือเล่มเล็ก โดยอ่านจาก

๑.๑ วรรณคดีที่เป็นเรื่องอมตะ/ตำนาน/พงศาวดาร (ร้อยแก้ว ๕ เรื่อง ร้อยกรอง ๕ เรื่อง)

๑.๒   วรรณกรรม (เรื่องสั้น  นิทาน  สารคดี  บทความ) ๑๕ เรื่อง

๑.๓   หนังสือหรือวรรณกรรมที่ตนเองเลือก ๑๕ เรื่อง

๒.

อ่านในใจจากหนังสือวรรณคดี และวรรณกรรมภายในเวลา ๑๐ นาที ได้ไม่ต่ำกว่า ๒๐ หน้า ๕ ครั้ง

๓.

วิเคราะห์วิจารณ์หนังสือวรรณคดีหรือวรรณกรรมที่ตนเองเลือกอ่านหรือที่ครูกำหนดให้ได้อย่างถูกต้องและมีเหตุผลจำนวน ๑๐ เรื่อง

๔.

เขียนเรื่องราวจากจินตนาการ หรือเรื่องราวที่สัมพันธ์กับชีวิตจริงตามหลักเกณฑ์ รูปแบบโครงสร้างและสำนวนโวหารที่ดีของเรียงความได้อย่างสร้างสรรค์ จำนวน ๑๕   ครั้ง

๕.

เขียนย่อความ หรือทำบันทึกสรุปได้สาระใจความที่ถูกต้องครบถ้วน จำนวน ๒๐ ครั้ง

๖.

เขียนรายงานได้ถูกต้องตามองค์ประกอบ และรูปแบบของรายงานจำนวน ๖ ครั้ง (เน้นเชิงอรรถที่แสดงถึงหลักฐานจากการค้นคว้า)

๗.

เขียนบันทึกส่วนตัวทุกวันตลอดปีการศึกษา (๒๐๐ วัน)

๘.

เขียนจดหมายเล่าประสบการณ์ จดหมายถึงเพื่อน จดหมายธุรกิจ จดหมายถึงหน่วยราชการ/ข้าราชการ อย่างละจำนวน ๕ ฉบับ ได้ถูกต้องตามรูปแบบ และสื่อสารได้อย่างชัดเจนเหมาะสมกับบุคคล

๙.

เขียนบันทึกข้อมูลความรู้ที่ได้จากการเข้าค้นคว้าในห้องสมุด หรือแหล่งเรียนรู้ทั้งภายในและนอกโรงเรียน ได้ถูกต้องตามรูปแบบจำนวน ๔๐ ครั้งและกรอกแบบรายการต่างๆได้จำนวน ๓ ประเภท

๑๐.

แต่งคำประพันธ์ประเภทกลอน,กาพย์ทุกประเภทได้ถูกหลักเกณฑ์ข้อบังคับฉันทลักษณ์ และมีความคิดสร้างสรรค์ได้จำนวน ๒๐ ครั้ง

๑๑.

จัดดำเนินและอภิปรายแสดงความคิดเห็นตั้งคำถามตั้งคำถามและตอบคำถามได้อย่างมีเหตุผลและน่าสนใจ จำนวน ๖ ครั้ง

๑๒.

จัดกลุ่มเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่ตื่นเต้น สนุก ประทับใจต่อเพื่อนและครูจำนวน ๕ ครั้งขึ้นไป พร้อมแสดงท่าทางประกอบเรื่องราว

๑๓.

วิจารณ์การปฏิบัติงานของเวรความรับผิดชอบในแต่ละวัน หรือผลการดำเนินการหน้าชั้น จำนวน ๕ ครั้ง

๑๔.

พูดโต้วาทีด้วยเรื่องหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จำนวน ๒ ครั้ง

๑๕.

ร้องเล่น/เล่าตำนาน หรือนิทานพื้นบ้านในจังหวัด/ภาคอื่นๆของประเทศไทย พร้อมแสดงท่าทางประกอบ จำนวน ๒ เรื่อง

๑๖.

คัดลายมือด้วยตัวบรรจงเต็มบรรทัด ๒๐ ครั้ง โดยใช้ตัวอักษรตามรูปแบบอาลักษณ์ได้ถูกต้อง สวยงาม

๑๗.

อธิบายและตรวจสอบการใช้ภาษาภาษาต่างประเทศที่ใช้ในภาษาไทยได้ถูกต้องจำนวน ๑๐๐ คำ ตามหลักการใช้ภาษา ไวยากรณ์ และสถานการณ์

๑๘.

ท่องจำบทอาขยาน ๕ บท ตามที่กำหนดและบทร้อยกรองที่มีคุณค่าตามวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

๑๙.

วิเคราะห์ชนิดและหน้าที่ของคำในประโยคและระบุลักษณะของประโยค จำนวน ๑๕๐ ประโยคได้ถูกต้อง


          เพื่อนครูลองเอาไปเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดจากหลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐาน ที่ครูใช้อยู่สิครับ แล้วจะเห็นว่าการวางเงื่อนไขการเรียนรู้ลงไปในตัวชี้วัดการเรียนรู้ไม่ยากเลย  เพียงแค่คำนึงธรรมชาติและศักยภาพของผู้เรียนในโรงเรียนที่เพื่อนครูทำงาน  อย่าให้เป็นภาระต่อเด็กหรือผู้ปกครองเกินไป

.

          ผมเชื่อว่า....ถ้าเพื่อนครู ยอมเหนื่อยและลงมือเขียนตัวชี้วัดการเรียนที่ชัดเจนทั่งเงื่อนไข และเกณฑ์  รวมทั้งแบบประเมินที่ใช้ในการปฏิบัติจริงทีละหน่วย/แผนในช่วงปีแรก ๆ  เราจะทำได้ง่ายขึ้นและเบาแรงได้ในภายหลังตลอดอาชีพครูตามลำดับ   เพื่อนครูจะมองเห็นแนวทางในการประเมินตามสภาพจริงชัดเจนขึ้น   เครื่องมือประเมินที่ค่อยๆสร้างและสะสมไว้จะมากขึ้น  สามารถนำไปใช้ในโอกาสต่อไปได้  งานสร้างเครื่องมือจะลดลง การประเมินตามสภาพจริงเชิงประจักษ์ของครูก็จะมีประสิทธิภาพขึ้นตลอดเวลา

.

           ตามหลักวิชาการชี้ชัดว่า...การวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ตามตัวชี้วัดที่มาจากสภาพจริง  มีผลดีทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จริง มีทักษะและความสามารถอย่างแท้จริง   ถ้าเพื่อนครูช่วยกันประเมินการเรียนรู้ตามสภาพจริง  จะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาในทุกระดับ     ในสภาพวิกฤตทางคุณภาพการศึกษาของชาติในขณะนี้  การให้ความสำคัญต่อการประเมินผลการเรียนรู้ตามตัวชี้วัดสภาพจริงเชิงประจักษ์  จะช่วยให้ครูและโรงเรียนรู้ปัญหาในการจัดการเรียนรู้  ได้รู้จุดอ่อนที่แท้จริงที่ต้องแก้ไขได้ถูกต้องตรงประเด็น   จนเป็นผลทำให้สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตคุณภาพการศึกษาของไทยได้อย่างแท้จริงในอนาคตต่อไป

.

             สรุปได้ว่า การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่ดีที่สุด จะวัดและประเมินจากผู้เรียนที่ทำกิจกรรมต่างๆ จนบรรลุตามเป้าหมาย หรือมาตรฐานการเรียนรู้ หรือตัวชี้วัด (Output) และการทำกิจกรรมนั้นเราต้องการระดับคุณภาพที่สูง (Performances) จนนำไปสู่ผลงานที่เป็นเลิศ (Outcome) และทุกภาคส่วนพึงพอใจกับผลสำเร็จ (Impact)

.

            อ้อ ! เมื่อเพื่อนครูวัดผลและประเมินผลแล้ว   อย่าลืมนำผลการวัดผลประเมินผลนี้  ไปวิเคราะห์หาสาเหตุด้วยนะครับว่า   ที่เด็กจำนวนมาก (ตามหลักวิชาวัดผล ร้อยละ ๘๐ ขึ้นไป) ผ่านนั้นเป็นเพราะอะไร  ถ้าเพื่อนครูสามารถนำผลการจัดการเรียนรู้ที่ผ่านมา  มาเรียบเรียงเป็นระบบ  พร้อมหลักฐาน  เพื่อนครูนำไปจัดทำเป็นเล่ม  เสนอส่งผลงานทางวิชาการไปยัง กคศ. เพื่อเลื่อนวิทยฐานะได้เลยครับ

.

         แต่...ถ้าผลสรุปออกมาว่า  ยังมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่ผ่าน (ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐)  ก็ให้เพื่อนครูลองวิเคราะห์หาสาเหตุก่อน  พอคิดว่าได้สาเหตุบ้าง  ให้เพื่อนครูทำแบบทดสอบหรือแบบสอบถามไปทดสอบกับเด้กที่ไม่ผ่าน  คราวนี้เพื่อนครูคงรู้ถึงสาเหตุแน่นอน   ถ้าเป็นเพราะการกำหนดตัวชี้วัดการเรียนรู้ไม่ชัด   ก็เขียนให้ชัด   ถ้าเป็นเพราะวิธีการจัดการเรียน  ยังไม่ตรงตามตัวชี้วัด  หรือตรงแล้ว แต่ยังได้ผลไม่เท่าที่ควร  ก็ปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนใหม่   หรือถ้าเป็นเพราะสื่อช่วยการเรียนรู้ไม่ดีพอ  เพื่อนครูก็จัดทำสื่อใหม่  ให้ตรงกับธรรมชาติและศักยภาพ  หรือสภาพแวดล้อมเด็กของเรา  เมื่อทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว  ก็ลองเอาไปดำเนินการขจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กใหม่  ก็เชื่อว่าจะได้ผลสำเร็จตามที่หวัง  ถ้ายังไม่ได้ถึงร้อยละ ๘๐ ก็แก้ไขปรับปรุงใหม่  ตามหลักวิชาการเชื่อว่า  ถ้าทำถึง ๓ ครั้งตามสาเหตุที่พบ  รับรองบรรลุผลแน่นอน   กระบวนการอย่างนี้แหละครับที่เราเรียกว่า "วิจัย" 

.

         "วิจัย" มิใช่เรื่องยาก เพื่อนครูอย่าไปเข้าใจผิดว่า "การวิจัย" คือ "การแก้ปัญหา" เพียงอย่างเดียวนะครับ  จริงๆ "วิจัย"(research) นั้น  เป็นเพียงแค่กระบวนการ............ ที่เป็นระบบน่าเชื่อถือ (มี ๒ ระบบ คือ วิธีการทางวิทยาศาสตร์ และระเบียบวิธีวิจัย) ด้วยการนำไปทดลองหรือพิสูจน์หลายๆครั้ง จนประสบผลสำเร็จ (ตามหลักวิชาการ ต้อง ๒ ครั้งขึ้นไป) 

         ตรงที่เว้นช่องว่างเป็น ............... นั้น  จะเป็นการแก้ปัญหาก็ได้  การศึกษาก็ได้  การเปรียบเทียบก็ได้  การหาความสัมพันธ์ก็ได้  การศึกษาปัจจัยก็ได้  การพัฒนารูปแบบก็ได้  ฯลฯ  แต่สำหรับเพื่อนครู  "การพยายามแก้ปัญหา" ของนักเรียนที่ยังไม่เกิดการเรียนรู้  ถือว่า เป็นหัวใจหลักของความเป็นครูจริงๆ  

.

ยิ่งถ้าเพื่อนครูคนใดคนหนึ่ง  พยายามแก้ปัญหาช่วยนักเรียนให้ผ่านแต่ละหน่วยจำนวนร้อยละ ๘๐ ขึ้นไป  ถือว่า  ท่านคือ....สุดยอดครู    ขอชื่นชมหัวใจเพื่อนครูคนนั้นเป็นอย่างยิ่งครับ

หมายเลขบันทึก: 486384เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2012 11:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2020 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

" ผมเชื่อว่าคงมีเพื่อนครูหลายท่านมีโอกาสสัมผัสถึงความรู้สึกเช่นนี้ ผมเคยสังเกตสิ่งที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนจากตัวครูที่สามารถฝึกฝนเด็กๆ ให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ล้วนเหมือนกันทุกคน  นั่นคือ แววตา ใบหน้า  ที่มักมีความสุข ความภูมิใจ " สิ่งที่อาจารย์กล่าวเป็นอย่างนี้จริงๆ นี้ตา่งหากที่เป็นตัวชี้วัดถึงความสุขของนักเรียน   และจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ได้ดีอย่างยังยืน อิ่มอร่อยกับการเรียน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท