๔. หลักสูตร จุดเริ่มต้นที่ครูต้องเข้าใจให้ถ่องแท้


หลักสูตร จุดเรื่มต้นคุณภาพ

๔.   หลักสูตร จุดเริ่มต้นที่ครูต้องเข้าใจให้ถ่องแท้

.

      ข้อเท็จจริงที่สำคัญมากประการหนึ่งในวงการศึกษาไทย  คือ  เพื่อนครูส่วนใหญ่ (เกือบทั้งหมด)ในประเทศไทยไม่ตระหนัก และเห็นความสำคัญของหลักสูตร   หนักกว่านั้นคนที่ทำหน้าที่กำกับ ควบคุม ติดตามการทำงานของครู  รวมทั้งคนที่มีหน้าที่ฝึกหัดครูบางคนแทบไม่รู้จักและไม่เข้าใจหลักสูตรที่ตนใช้สอนนักศึกษาครูเลยก็มี    ที่ตลกกว่านั้นก็คือหนังสือหลักสูตรเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในโรงเรียน  แต่กลับเป็นหนังสือที่มีการเปิดอ่านน้อยที่สุด บางโรงเรียนไม่เคยเปิดอ่านก็มี  หนังสือไม่เคยช้ำ  แถมปลวกขึ้นเต็มไปหมด  ที่เป็นเช่นนั้นมีหลายสาเหตุ  แต่ที่ผมเห็นว่าเป็นปัจจัยเหตุสำคัญ  คือ                                                                  .                                             .                                                  

           ประการที่หนึ่ง  แม้ในสถานที่ที่เรียกว่าสถานผลิตครู  ก็ยังไม่เห็นความสำคัญของหลักสูตร  ไม่เคยสอนตามหลักสูตรที่กำหนดไว้   ไม่เน้นความเข้าใจและตระหนักเกี่ยวกับหลักสูตรแก่นักศึกษาครูอย่างจริงจัง   มีแต่การบรรยายความรู้ตามที่ผู้สอนมีประสบการณ์  และชมภาพและอักษรที่ใช้บรรยายจากอาจารย์   (สมัยปัจจุบันเป็น PowerPoint  บนโปรเจคเตอร์  สมัยก่อนเป็นแผ่นใสด้วยเครื่อง Overhead  หรือเขียนบนกระดานดำ)   การแจกกำหนดการสอนที่วิเคราะห์มาจากหลักสูตรให้นักศึกษาทราบก่อนเรียนมีน้อย

          สมัยก่อนนักศึกษาครูมีความรู้มาก  เพราะอาจารย์โรงเรียนฝึกหัดครูหรือวิทยาลัยครูท่านอธิบายตามหนังสือที่ใช้สอน  เวลาออกข้อสอบครูท่านก็ออกตามหนังสือ  นักศึกษาต้องอ่านทั้งเล่ม  เพราะไม่รู้ว่าท่านจะออกตรงไหนบ้าง  คะแนนส่วนใหญ่มาจากการสอบ  ถึงแม้จะไม่มีการออกข้อสอบตามหลักสูตรมากนักก็ตาม แต่ยุคนั้นนักศึกษาครูก็มีความรู้มาก  แต่จะเป็นครูที่เก่งก็ต้องมามีประสบการณ์การสอนอีกนานหลายปี  จึงจะเข้าใจทั้งเนื้อหาและวิธีการสอน

          ผิดกับยุคอาจารย์มหาวิทยาลัย คณะศึกษาศาสตร์  หรือคณะครุศาสตร์สมัยนี้  คะแนนวัดผลประเมินผลส่วนใหญ่มาจากการทำรายงาน  การทำกิจกรรม  การทดสอบมีน้อย  บางทีก็ไม่มีเลย (ซึ่งก็ดีถ้ามีการตรวจอ่าน และให้กลับไปแก้ไขข้อบกพร่อง)  ก็ลองนึกภาพเอาว่าถ้าคะแนนส่วนใหญ่มาจากการทำรายงาน   โดยอาจารย์ท่านไม่เคยได้ตรวจรายงานอย่างจริงจัง   แค่ขอให้มีส่งเท่านั้นก็พอใจ  ยิ่งถ้ารูปเล่มสวยงาม  มีสีสัน  ก็จะได้คะแนนมากตามไปด้วย  แต่ถ้าใครไม่มีส่งเป็นเรื่องใหญ่ถึงกับคอขาดบาดตาย  ดีไม่ดีอาจจะไม่จบการศึกษาก็ได้   แล้วนักศึกษาครูรุ่นใหม่จะเห็นความสำคัญของหลักสูตรได้อย่างไร และจะไปจัดการเรียนการสอนให้ตรงตามหลักสูตรได้อย่างไร 

.              

               ประการที่สอง  ครูรุ่นเก่าๆ หาสื่อที่ใช้สอนหรือเรียนเพื่อการค้นคว้าน้อยมาก จึงทำให้ต้องใช้หนังสือ  คู่มือที่มีอยู่มาอธิบายให้นักเรียนฟังและจดบันทึกตาม  จึงทำให้ลูกศิษย์เกิดความเคยชินคิดว่าการสอนมีลักษณะอย่างนี้   พอมาเป็นครูรุ่นต่อมาบ้าง  จึงเข้าใจว่าการเรียนการสอน  คือ การให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจตามหนังสือแบบเรียน  นั่นหมายถึงว่าหนังสือเรียนเป็นตัวแทนของหลักสูตร   สอนให้จบหนังสือก็คือสอนจบหลักสูตรแล้ว  ผมเคยหยอกล้อคุณครูหลายท่านว่า   ถ้าผมไม่ยอมให้ครูสั่งซื้อหนังสือแบบเรียนมาจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ให้นักเรียนได้ใช้เรียน    คุณครูจะสามารถจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้ด้วยตัวเองหรือไม่    เรื่องนี้จึงต้องขอบคุณสำนักพิมพ์ทุกสำนักพิมพ์เป็นอย่างมาก  ที่ช่วยให้การศึกษาไทยพอมีคุณภาพได้บ้าง                                                              .  

              ประการที่สาม   หน่วยงานต้นสังกัดที่รับผิดชอบในการติดตามประเมินผล  ไม่ค่อยใส่ใจตรวจสอบอย่างจริงจังว่าครูและโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนตรงตามหลักสูตรหรือเปล่า   ส่วนมากมุ่งจะดูการจัดตกแต่งอาคารสถานที่  กิจกรรม/โครงการส่งเสริมที่โรงเรียนจัดขึ้นเป็นรูปเล่มหรือแฟ้มเอกสารที่จัดเตรียมให้ผู้ตรวจดู  จึงทำให้ครูและผู้บริหารไม่ตระหนักเห็นความสำคัญของหลักสูตรแต่อย่างใด  ถ้ายังเป็นเช่นนี้กันอยู่ในวงการศึกษา ก็เสียดายแทนคนไทยที่จ่ายเงินงบประมาณให้กับการจัดการศึกษามากมาย แต่ไม่ได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจนัก

              ปัญหาและข้อจำกัดของความรู้ความเข้าใจ  รวมทั้งความตระหนักเกี่ยวกับหลักสูตร  จึงมีผลกระทบต่อคุณภาพการจัดการศึกษาของชาติเป็นอย่างมาก   เพราะทำให้ครูไม่สามารถจัดการเรียนรู้จริงๆ ขึ้นได้ตามเป้าหมายของชาติที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้  หรือตามที่นักวิชาการการศึกษาวาดฝันได้สักประการเดียว  ดังนั้นการเรียนของนักเรียนจึงจำกัดตายตัวเพียงแค่ความรู้ในตำราเรียน  ครูก็สอนแค่ในตำราเรียน     คำว่า  “การเรียนรู้” และคุณภาพของเยาวชน  จึงยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยอย่างแน่นอน  ถ้าสถานศึกษาและครูยังดำเนินการกันเช่นนี้อยู่

.

               ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ จนถึงปัจจุบัน  เราเริ่มพูดคำว่าปฏิรูปการศึกษา  และเริ่มพูดถึงปัญหาของการศึกษาว่าส่วนหนึ่งเกิดจากหลักสูตร ว่า  “ หลักสูตรล้มเหลว  หลักสูตรล้าหลัง…”  จึงแพร่หลายมากขึ้น  เข้าทำนองว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากหลักสูตร  ถ้าจะแก้ปัญหาต้องสร้างหลักสูตรใหม่   เหมือนอะไรๆ ก็ “แก๊สโซฮอลล์ผิดนั้นแหละ”  ทำให้เราสนใจคำว่า  หลักสูตรกันมากขึ้น  และทางกระทรวงศึกษาธิการก็ยอมให้ครูแต่ละโรงเรียนมีหลักสูตรสถานศึกษาเป็นของตัวเองได้ในปีการศึกษา  ๒๕๔๖  เป็นต้นมา   แต่ก็ไม่มีใครออกมาพูดยอมรับตรงๆว่า  ครูไม่เข้าใจหลักสูตร  ไม่เห็นความสำคัญของหลักสูตร  และสอนไม่ตรงตามหลักสูตรแต่อย่างใด

              ซึ่งผมก็เชื่อว่า  ปัญหาการศึกษาของประเทศไทยจะไม่มีทางแก้ไขให้เบาบางได้เลย  และจะยิ่งเกิดปัญหาซับซ้อนอีกมาก   เพราะสาเหตุที่แท้จริงยังไม่มีการเอ่ยถึงเพื่อได้รับการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน   คือ ครูส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหลักสูตร  ไม่เห็นความสำคัญของหลักสูตร   ไม่เคยใช้หลักสูตรเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน   ยังใช้แต่หนังสือแบบเรียนของสำนักพิมพ์ต่างๆ อยู่   นอกจากตอนทำผลงานทางวิชาการเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะเท่านั้น   ที่ดูเหมือนว่าฉันสอนตรงตามหลักสูตร   แล้วเมื่อให้ครูสร้างหลักสูตรเอง  อะไรจะเกิดขึ้นเด็กไทย  สังคมไทย  ทุกท่านลองหลับตานึกภาพเอาเองก็แล้วกัน    ก็คงทำนองเก่งก็ไม่เก่งอะไรสักอย่าง  รู้ก็รู้แค่นิดๆหน่อยๆ   แล้วจะไปสู้เพื่อนบ้าน และประเทศต่างๆ ในคราวต้องยอมเปิดโอกาสให้เพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้อย่างไร  (ประชาคมสู่อาเซียน พ.ศ.๒๕๕๘)  เห็นทีคราวนี้ลูกหลานเราจะไม่มีงานทำเป็นแน่

              สิ่งที่เพื่อนครูต้องเรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของหลักสูตรให้แจ่มแจ้ง  เพราะหลักสูตรเป็นทั้งแนวทางการจัดการศึกษา  หรือเป็นแผนแม่บทของการจัดการศึกษา หรือจะเป็นมาตรฐานคุณภาพของเยาวชนที่สังคมต้องการก็ได้   นั่นหมายถึงว่า หลักสูตร คือ จุดประสงค์หลักของชาติที่กำหนดว่า  ผู้เรียนจะต้องเป็นอะไรในอนาคต หรือต้องรู้อะไรบ้าง  ทำอะไรได้บ้าง  และมีคุณลักษณะอย่างไร  หรืออีกนัยหนึ่ง  หมายถึง  คุณสมบัติหรือคุณภาพของผู้จบหลักสูตรการศึกษา 

             ถ้าเพื่อนครูศึกษาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑  ที่ผมยกมาเป็นตัวอย่างต่อไปนี้  จะเห็นได้ว่าหลักสูตรได้กล่าวถึงเป้าหมาย   แนวคิดไว้ชัดเจนแล้ว  เหลือแต่การนำไปปฏิบัติให้เกิดผลเท่านั้น   ลองค่อย ๆ อ่านพิจารณาดูนะครับ

             หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑  ได้กำหนดทิศทางการจัดการศึกษา  ไว้ดังนี้

 วิสัยทัศน์

          หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคน ซึ่งเป็นกำลังของชาติให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย ความรู้  คุณธรรม  มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและเป็นพลโลก ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข   มีความรู้และทักษะพื้นฐาน    รวมทั้ง เจตคติ  ที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อ  การประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต  โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ

หลักการ 

    หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหลักการที่สำคัญ  ดังนี้

     ๑. เป็นหลักสูตรการศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ มีจุดหมายและมาตรฐานการเรียนรู้ เป็นเป้าหมายสำหรับพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณธรรมบนพื้นฐานของความเป็นไทยควบคู่กับความเป็นสากล

     ๒. เป็นหลักสูตรการศึกษาเพื่อปวงชน ที่ประชาชนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาค และมีคุณภาพ

     ๓. เป็นหลักสูตรการศึกษาที่สนองการกระจายอำนาจ ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่น

     ๔. เป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นทั้งด้านสาระการเรียนรู้ เวลาและการจัดการเรียนรู้

     ๕. เป็นหลักสูตรการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

     ๖. เป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย  ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย  สามารถเทียบโอนผลการเรียนรู้ และประสบการณ์ 

                                                       

จุดหมาย

        หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี  มีปัญญา มีความสุข  มีศักยภาพในการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพ  จึงกำหนดเป็นจุดหมายเพื่อให้เกิดกับผู้เรียน เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐานดังนี้

      ๑. มีคุณธรรม  จริยธรรม  และค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นคุณค่าของตนเอง   มีวินัยและปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาที่ตนนับถือ  ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

      ๒. มีความรู้ ความสามารถในการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา   การใช้เทคโนโลยี  และมีทักษะชีวิต

     ๓. มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีสุขนิสัย และรักการออกกำลังกาย

     ๔. มีความรักชาติ มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลโลก  ยึดมั่นในวิถีชีวิตและ การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

     ๕. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย   การอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม  มีจิตสาธารณะที่มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามในสังคม และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข  

 สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน และคุณลักษณะอันพึงประสงค์

        ในการพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด  ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญและคุณลักษณะอันพึงประสงค์  ดังนี้

         สมรรถนะสำคัญของผู้เรียนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานมุ่งให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญ ๕ ประการ ดังนี้

            ๑. ความสามารถในการสื่อสาร เป็นความสามารถในการรับและส่งสาร  มีวัฒนธรรมในการใช้ภาษาถ่ายทอดความคิด ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึก และทัศนะของตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคม รวมทั้งการเจรจาต่อรองเพื่อขจัดและลดปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ การเลือกรับหรือไม่รับข้อมูลข่าวสารด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง ตลอดจนการเลือกใช้วิธีการสื่อสาร ที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตนเองและสังคม

             ๒. ความสามารถในการคิด เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิด อย่างสร้างสรรค์  การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม

             ๓. ความสามารถในการแก้ปัญหา เป็นความสามารถในการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ              ที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมบนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรมและข้อมูลสารสนเทศ เข้าใจความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคม แสวงหาความรู้ ประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา และมีการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น        ต่อตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม

             ๔. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต   เป็นความสามารถในการนำกระบวนการต่าง ๆ ไปใช้ใน

การดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  การทำงาน และการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล การจัดการปัญหาและความขัดแย้งต่าง ๆ อย่างเหมาะสม การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม และการรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น

              ๕. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เป็นความสามารถในการเลือก และใช้ เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ และมีทักษะกระบวนการทางเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม ในด้านการเรียนรู้ การสื่อสาร การทำงาน  การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง เหมาะสม และมีคุณธรรม

        คุณลักษณะอันพึงประสงค์    หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข  ในฐานะเป็นพลเมืองไทยและพลโลก   ดังนี้

        ๑.  รักชาติ  ศาสน์ กษัตริย์

        ๒.  ซื่อสัตย์สุจริต

        ๓.  มีวินัย

        ๔.  ใฝ่เรียนรู้

        ๕.  อยู่อย่างพอเพียง

        ๖.  มุ่งมั่นในการทำงาน

        ๗.  รักความเป็นไทย

        ๘.  มีจิตสาธารณะ

           จะเห็นได้ว่า  หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความชัดเจนทั้งวิสัยทัศน์ หลักการ จุดมุ่งหมาย  และหลักสูตรนี้ก็อาศัยแนวคิดพื้นฐานของทฤษฎีพหุปัญญา  มากำหนดมาตรฐานคุณภาพในการจัดการศึกษาไว้ในลักษณะนามธรรมอย่างกว้าง ๆ  สำคัญอยู่ที่ว่า  เราจะนำกรอบแนวทางมาตรฐานหลักสูตรของชาติไปใช้ในการจัดการศึกษาได้ถูกต้องเหมาะสมกับนักเรียนในแต่ละท้องถิ่นเพียงใด

            จากหลักสูตรสู่มาตรฐานการเรียนรู้ และสาระการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดสาระการเรียนรู้ออกเป็น ๘ กลุ่ม กับอีก ๑ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน  สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ๑๒  ปี  ซึ่งดูผิวเผินแล้วน่าจะครอบคลุมความต้องการของหลักสูตรได้ครบถ้วน

             แต่หากพิจารณาโดยละเอียดทั้ง  ๘  กลุ่มสาระการเรียนรู้และมาตรฐานการเรียนรู้แล้ว   จะพบว่า  มีความไม่สอดคล้องอย่างมาก เช่น  ในขณะที่หลักสูตรระบุชัดเจนด้านคุณค่าทางสติปัญญา จิตใจคุณธรรม  การใฝ่เรียนรู้ การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  สุขภาพ  ตลอดจนสำนึกในอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม  และทรัพยากรธรรมชาติ  เป็นต้น  แต่ในมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัดการเรียนรู้ในสาระการะเรียนรู้ต่างๆ ส่วนใหญ่มักจะใช้คำที่มุ่งเน้นแต่ความรู้  ความจำ  ความเข้าใจในวิชาการต่าง ๆ  มากกว่าที่จะใช้คำที่แสดงถึงการกระทำหรือการปฏิบัติที่แสดงถึงการลงมือทำ  หรือเป็นความสามารถที่ทำได้เพื่อเป็นพื้นฐาน และทักษะการเรียนรู้ในการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพชั้นสูงต่อไป  ซึ่งผมเห็นว่าถ้าเป็นอย่างนี้  ครูส่วนมากก็จะยังมองไม่เห็นแนวทางอีกนั่นแหละที่จะจัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของหลักสูตรทุกด้าน

.

             ผมไม่ทราบว่านักวิชาการทางการศึกษาทั่วไป  มองเห็นในข้อสังเกตนี้บ้างหรือไม่  ผมเคยศึกษาเปรียบเทียบหลักการหรือมาตรฐานหลักสูตรของไทยกับต่างประเทศหลาย ๆ  ประเทศ  พบว่า  มีการกำหนดมาตรฐานหลักสูตรไม่แตกต่างกันเท่าใด   แต่ทำไมจำนวนชั่วโมงที่โรงเรียนต่างประเทศส่วนมากให้เรียนวิชาการต่าง ๆ  น้อยกว่าเรามาก    กลับเป็นว่าโรงเรียนของเขามีกิจกรรมพัฒนาคุณภาพนักเรียนอย่างหลากหลายกว้างขวาง   ผลทางการเรียนของเขาก็มีคุณภาพการจัดการศึกษาสูงกว่าเรามาก

           หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแกนกลาง พ.ศ.  ๒๕๕๑ ได้กำหนดเหตุผล  หลักการ  จุดหมาย    และโครงสร้างให้ย่อ ๆ  มีแต่สาระและมาตรฐานการเรียนรู้เท่านั้น   จากนั้นเป็นภาระหน้าที่ของโรงเรียนแต่ละโรงที่จะนำมาตรฐานการเรียนรู้  ตัวชี้วัดการเรียนรู้ดังกล่าว  ไปแยกย่อยเป็นตัวชี้วัดการเรียนรู้ที่ชัดเจน  (Benchmarks)    แต่ดังที่กล่าวข้างต้นว่า  ครูไทยเรายังทำเรื่องนี้ไม่ได้  และด้วยความปรารถนาดีของกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นห่วงว่าจะบกพร่อง  ขาดหาย  สับสน  ซ้ำซ้อนในระหว่างช่วงชั้นต่าง ๆ  จึงได้จัดทำ  “คู่มือการจัดสาระการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้”  ให้โรงเรียนทั่วประเทศศึกษา  จึงทำให้ครูไทยลอกแนวทางคู่มือหลักสูตร  มากกว่าที่จะสร้างหลักสูตรของตนเอง   ทั้งๆที่เป็นหน้าที่ของตัวเองตามบทบาทใหม่ที่อุตส่าห์เรียกร้องอยากสร้างหลักสูตรเองจะได้เหมาะสมกับบริบทของชุมชนที่กล่าวอ้างเสมอมา

.

             ผมเคยพูดในหลายแห่งว่า  เมื่อก่อนนี้พวกครูชอบอ้างว่าที่การจัดการศึกษาไม่ได้ผลดีนั้น  เพราะต้องใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ  ซึ่งแต่ละท้องถิ่นมีสภาพไม่เหมือนกัน  แต่พอกระทรวงศึกษาธิการให้จัดทำหลักสูตรเองก็ทำไม่ได้  หรือทำได้ก็ไม่ดีจริงอย่างที่เรียกร้อง  กลับเรียกร้องขอให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทำหลักสูตรที่เป็นต้นฉบับเป็นแนวทางมาให้ใช้อีก เพียงแต่ขอให้โรงเรียนปรับปรุงได้บ้าง  ซึ่งก็ไม่ได้ต่างกับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการในอดีตแต่อย่างใด    (น่าเบื่อนะครับพวกเหลือบพวกนี้ที่เกาะอาศัยวิชาชีพครูทำมาหากินเลี้ยงตัวเอง   แต่ไม่เคยรับผิดชอบผลจากการกระทำของตัวเอง  ชอบโทษโน่นโทษนี่  ที่น่าเจ็บใจมาก คือชอบโทษเด็กว่าไม่ได้เรื่อง  โง่  สารพัดจะว่า ฯ)    แต่ตามหลักความจริงแล้ว  การบังคับใช้หลักสูตรจากส่วนกลางย่อมไม่เหมาะสมกับโรงเรียนทั่วประเทศ  การปรับใช้ให้เหมาะสมจึงเป็นคำตอบสำหรับครูที่มองเห็นความจริง   และต้องการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของตนมากกว่า

            หากเพื่อนครูต้องการก้าวพ้นจากข้อจำกัดของหลักสูตรที่ยัดเยียด อัดแน่นตายตัว ไม่ยืดหยุ่น ไร้คุณค่า  เพื่อนครูจะต้องปรับปรุงสาระการเรียนรู้  และตัวชี้วัดการเรียนเรียนรู้แต่ละระดับชั้น  ให้เหมาะสมกับธรรมชาติและศักยภาพของนักเรียนคุณเอง  จัดทำคำอธิบายรายวิชาที่อ่านเข้าใจง่าย  ครอบคลุมสามารถนำไปบูรณาการเป็นหน่วยการเรียนรู้ที่มีคุณภาพแท้จริงด้วยตัวเองให้ได้

             อย่า ! กำหนดเนื้อหาสาระมากจนไม่สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ  ในการปลูกฝังคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้แก่ผู้เรียนได้     ผมขอเรียนว่า  เป็นสิทธิของครูผู้สอน  ๑๐๐%  ที่จะกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง  หรือตัวชี้วัดผลการเรียนรู้ได้เองว่า  จะให้นักเรียนทำอะไรได้บ้าง  รู้แค่ไหน  หรือจะฝึกฝนอบรมอะไรกับศิษย์ของเราขนาดไหนจึงจะเพียงพอ   ตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลางฯ เพียงเป็นแนวทางให้เราเห็นในภาพรวม  เราต้องมาเพิ่มรายละเอียด  เกณฑ์ตัวชี้วัดให้เหมาะกับบริบทของชุมชนเรา  ถ้าเดินตามหลักสูตรจากกระทรวงทุกประการ   หรือยึดตามหนังสือเรียน   การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของคุณจะล้มเหลวแน่นอน    เด็กๆ ก็ล้มเหลวและมีความทุกข์กับการเรียนในวิชาของคุณด้วย   มันบาปนะครับ

             นี่คือ เส้นทางพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของครูที่แท้จริง  เป็นทางออกจากความคับแคบของการจัดการศึกษาในอดีต  มาสู่ความเป็นอิสรเสรีของครูยุคใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนรู้ตามเจตนารมณ์ของหลักสูตรใหม่

.

             ความเป็นตัวของตัวเองของครูประเภทนี้   เราจะเห็นได้ชัดเจนจากตัวชี้วัดการเรียนรู้   คำอธิบายรายวิชา  หน่วยการเรียนรู้  จำนวนคาบที่ใช้สอนในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ของครูนั้นๆ    โดยเฉพาะตัวชี้วัดการเรียนรู้ที่เป็นไปตามหลักการ Backward design สำคัญที่สุด จึงเป็นการสนองเจตนารมณ์ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑  ที่ต้องการให้การจัดการเรียนการสอนมีลักษณะองค์รวมและบูรณาการที่นำไปใช้ในชีวิตและในสังคม   อันจะเป็นพื้นฐานไปสู่การจัดทำหลักสูตรที่เหมาะสมกับสถานศึกษาในแต่ละท้องถิ่นได้ในอนาคต

.

              ผมมีข้อเสนอแนะต่อเพื่อนครูว่า  ถ้าเราใช้หลักสูตรใหม่ครบปีการศึกษาแล้ว  ควรให้มีการประชุมเชิงวิพากษ์สร้างความตระหนักเรื่องหลักสูตรและการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาอย่างเข้มข้นจริงจังในโรงเรียนของเพื่อนครูเอง   เพื่อจะได้นำผลการประเมินจากการทดสอบการเรียนรู้ของนักเรียน  และอาจจากผลการสำรวจความคิดเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง  มาเป็นแนวทางในการศึกษาวิเคราะห์หลักสูตรสถานศึกษาของตนอย่างละเอียด   แล้วนำผลการวิเคราะห์มาพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาขึ้นใหม่ตามกระบวนการที่ถูกต้องครบทุกขั้นตอน 

.     

             ผมหวังว่าโดยวิธีนี้จะช่วยให้ครูตระหนักเห็นความสำคัญ  ได้รู้จักเข้าใจและใช้หลักสูตรได้อย่างจริงจัง  หากปล่อยให้กระบวนการการจัดการศึกษา  โดยที่ครูไม่รู้จักหลักสูตร ไม่เห็นความสำคัญของหลักสูตร  ไม่ยอมจัดการศึกษาตามหลักสูตร  สอนแค่อยู่ในหนังสือเรียน  อย่างที่เป็นอยู่เช่นทุกวันนี้   เราคงต้องมีการพูดถึงการริเริ่มปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่อีกหลายครั้งหลายคราอย่างไม่มีวันจบสิ้น   น่าเบื่อนะครับวงจรอุบาทว์แบบนี้

หมายเลขบันทึก: 486378เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2012 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2020 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท