เจ้าฝรั่งมังฆ้อง สุนัขแสนรู้


โดย นพ. อาจินต์ บุณยเกตุ

เจ้าฝรั่งมังฆ้อง สุนัขแสนรู้


หลวงพ่อตื่นแต่เช้ามาก เมื่อเสร็จธุระส่วนตัวของท่านแล้ว ท่านจะมานั่งในที่ที่จัดไว้ จากนั้นท่านจะมาสวดมนต์ทำวัตรเช้าอยู่ราวๆ ครึ่งชั่วโมง พอเสร็จท่านก็จะนั่งที่นั่นต่อไปในท่าขัดสมาธิ สองมือประสารกันวางที่หน้าตัก ท่านจะนั่งอยู่อย่างนี้นาน นานมาก ประมาณเวลาสักหนึ่งหรือสองชั่วโมง แล้วผมก็จะเข้าไปประเคนของ อันมีภัตตาหาร ดอกไม้ ธูป เทียน ตอนนี้ พี่ๆ น้องๆ ในบ้าน โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ทำงาน ก็จะเข้ามากราบนมัสการหลวงพ่อทุกคน

จากนั้นท่านจะฉันจังหันที่จัดถวาย ซึ่งท่านฉันน้อยมาก เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว ท่านก็อนุโมทนาให้ศีลให้พร คือ ยะถาสัพพี ตามปกติ ก็เห็นจะเป็นเวลาร่วมๆ 09.00 น. ช่วงนี้บิดาผมจะเข้ามากราบแล้วคุยกับท่าน ก็ไต่ถามการจำวัด การขบฉัน ว่าสะดวกหรือไม่อย่างไร ในการที่ท่านได้กรุณามาจำวัดที่บ้านเราในโอกาสนี้

บิดาผมเรียกหลวงพ่อว่า “ท่านเจ้าคุณ”

หลวงพ่อก็เรียกบิดาผมว่า “เจ้าคุณ” เหมือนกัน

ขณะที่ผมนั่งปฏิบัติรับใช้ท่านอยู่ก็ได้ฟัง “เจ้าคุณ” ฆราวาสสนทนาธรรมกับ “เจ้าคุณ” พระภิกษุ อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง คือ เช้า เย็น และกลางคืน ในระหว่างคุยกันไป ถามกันไปตอบกันมา ผมนั่งฟังอยู่ด้วย ก็รับฟังด้วยความตื่นใจตื่นตาในเรื่องที่ทั้งสองท่านคุยกัน

ตอนนั้นบิดาผมนมัสการถามท่านว่า “คนและสัตว์นี้เกิดมาแล้วก็ตายปัญหามีว่า ตายแล้วจะไปไหน จะเกิดอีกหรือไม่ ? บางคนว่า ตายแล้วก็เลิกกัน สูญไป บางคนว่าตายแล้วก็ไปเกิดใหม่ ท่านเจ้าคุณจะกรุณาอธิบายให้เกิดความเข้าใจ และเกิดความเชื่อถือได้หรือไม่”

“ตายแล้วดับ ไม่เกิดอีก มีอยู่คือท่านที่หมดกิเลส เป็นพระอรหันต์เท่านั้น นอกนั้นต้องเกิดทั้งสิ้น ไม่มีเว้นส่วนที่ไปเกิดที่ไหน อย่างไรนั้นอีกเรื่องหนึ่ง”

“แล้วตายแล้วไปไหนล่ะขอรับ”

“การตาย คือการละทิ้งร่างกายไป ก็เหมือนเราลงจากบ้าน จะนั่งเรือไปยังอีกที่หนี่ง การที่จะลงเรือนั้นเราก็ต้องจากบ้านที่เราอยู่ไป”

บ้านที่เราอยู่เปรียบเหมือนร่างกายของเราในตอนนี้ เรือก็คือพาหะที่จะพาเราไปตามที่ต่างๆ จะเอาบ้านใส่เรือไปนั้น มันไม่ได้ ส่วนเรือที่นั่งอยู่จะไปทิศใด ทางใดนั้น ก็แล้วแต่ลมและหางเสือจะพาเรือไปในทะเล หางเสือและลมในทะเลที่จะพัดพาเรือไปนั้นคือ วิบาก ซึ่งได้แก่ ผลแห่งกรรม จะไปสู่เกาะอันเปล่าเปลี่ยว ลำบาก มีแต่ภัยอันตราย หรือจะไปสู่บ้านเมืองอันเจริญศิวิไลซ์ น่าอยู่น่าอาศัย ก็แล้วแต่หางเสือเรือและลมคือวิบากนี่เท่านั้น

เจ้าคุณ ทุกชีวิตไม่ว่าคนหรือสัตว์ เมื่อดับขันธ์ก็ต้องลงเรือนี่ทั้งนั้นไม่มีเว้น เมื่อลงเรือไปแล้ว ก็จะไปถึงจุดๆ หนึ่ง ที่ทุกจิต ทุกวิญญาณจะมาพบที่จุดนี้

พบอะไร ? ก็พบกับกรรมที่กระทำไว้โดยเจตนา

การที่จะไปถึงจุดนี้ ไม่ใช่ลงเรือไปอย่างที่ยกเป็นอุทธาหรณ์ แต่ไปเองไปด้วยแรงกรรม กรรมจะพาไปยังจุดนี้ก่อนที่จะแยกย้ายไปจุติในที่ต่างๆ

“แล้วชาติที่แล้ว คือชาติก่อนชาติหน้า มีจริงหรือไม่ ท่านเจ้าคุณ จะกรุณาอธิบายว่ากระไร”

“ชาตินี้มี ชาติก่อนก็ต้องมี เมื่อมีชาติก่อน มีชาตินี้ ชาติหน้าก็ต้องมีซิเจ้าคุณ”

“ท่านเจ้าคุณทราบได้อย่างไร ?”

“พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในชาดกชัดเจน พระพุทธองค์เองก็เสวยชาติต่างๆ มามากมาย ก่อนที่จะอุบัติมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

“ก็ถ้าไม่อ้างถึงชาดกล่ะขอรับ ท่านเจ้าคุณจะทราบได้อย่างไรว่าชาติที่แล้วมีจริง ชาติหน้ามีจริง”

“ก็การระลึกชาติไดัยังไงล่ะเจ้าคุณ ถ้าไม่นานเกินไป หรือไปเกิดเสียหลายๆ ชาติเสียก่อนจนลืม บางทีท่านได้ฌานแก่กล้า ท่านก็จะรู้เรื่องชาติภพก่อนๆ ของเราได้ ดังอาตมาจะเล่าให้ฟัง”

ณ ที่แห่งนั้นเป็นลานกว้าง รื่นรมย์ด้วยมวลไม้ทั้งต้น และดอกนานาชนิดมันร่มรื่นน่าพิศวง ภายในแดนนั้นมีสิ่งที่เรียกว่า จิตวิญญาณเหลือคณานับ จิตวิญญาณนี้ล่องลอยมาพบกัน สนทนากัน ก่อนที่จะไปจุติตามกรรมลิขิตแห่งตน

บางพวกก็เพิ่งลอยละล่องมามายังที่นี้ เพื่อมาคอยรับวิบาก ผลแห่งกรรมที่กระทำไว้ก่อนที่จะมาสละเรือนร่างในชาติภพที่ผ่านไปหมาดๆ จิตวิญญาณนี้มีทั้งจิตวิญญาณของมนุษย์นานาชาติ นานาพวกเหลือคณานับและยังจิตวิญญาณแห่งสัตว์ในอบายที่ผ่านมา จับสัตว์ในอบายที่หมดเวรหมดกรรมแล้ว คอยเวลาที่จะไปรับใช้กรรมในชาติภพต่อๆ ไป

ในขณะที่จิตวิญญาณทั้งหลายล่องลอยอยู่ ณ ทีนี้ ก็จะมีจิตวิญญาณที่ละทิ้งเรือนร่างในชาติภพแห่งตนแล้วล่องลอยมารวมกลุ่ม ณ ที่นี้ทุกขณะ และบางพวกก็ล่องลอยจากไปทุกขณะเช่นกัน แต่ละวิญญาณก็พบกันสารภาพต่อกัน ก่อนที่จะจากไปรับกรรมตามสภาวะ ขณะนั้น วิญญาณหนึ่งก็ล่องลอยมารวมกลุ่ม วิญญาณในกลุ่มก็เอ่ยถามขึ้นว่า

“มาแล้วรึ ไหนว่าจะไปจุติยังไงล่ะ”

“ไปกลับมาแล้ว เกิดเป็นสุนัขใช้กรรมแล้ว หมดกรรมแล้ว จึงกลับมาที่นี้ เพื่อจุติต่อไปอีก”

“ทำไมเร็วนัก ชั่ววันเดียวเท่านั้นเอง”

“ก็ไม่เร็วนะ มัน 10 ปี ของโลกมนุษย์เชียวละ ต่อไปนี้จุติเป็นมนุษย์ละ”

“เหตุไรและด้วยกรรมใดจึงทำให้ท่านต้องเกิดเป็นสุนัข และกรรมใดจึงทำให้ท่านจะไปจุติเป็นมนุษย์” จิตวิญญาณอีกดวงหนึ่งถาม

วิญญาณที่มาใหม่ได้สารภาพถึงกรรมที่ได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้ว่า “สองชาติที่แล้วมาเราก็เกิดเป็นมนุษย์ด้วยความคึกคะนอง เราเห็นสุนัขเป็นไม่ได้ ต้องเฆี่ยน ต้องตี ต้องเตะ ต้องทำร้ายนานัปการเป็นนิสัย ด้วยสัญชาตญาณสุนัขทุกตัว เมื่อเห็นเราเข้าก็จะต้องหลบทันที ถ้าหลบหนีไม่ทันก็ต้องต่อสู้ โดยแสดงอาการจะทำร้ายเราเช่นกัน แต่สุนัขมันสู้คนไม่ได้หรอก สุดท้ายมันก็ถูกดาบของเราฟัน ถูกตีจนต้องหนีไปด้วย อาการสาหัสมาหนักต่อนัก”

“ไหนเป็นยังไง ลองเล่าให้ฟังบ้าง”

“ก็ที่บ้านทุ่งเสมอ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เราไปเกิดเป็นลูกของ ทิดฉ่ำ นางแก้ว ชาวนา ที่มีอันกินในแถบนั้น เราชื่อ เฉิ่ม เป็นลูกชายคนแรกของพ่อแม่ พ่อแม่ก็รักมาก ตามใจทุกอย่าง พอโตขึ้นหน่อยเราก็เป็นหัวโจกในหมู่บ้านนั้น ใครๆ ก็รู้จักเจ้าเฉิ่ม พอเป็นหนุ่มก็บวชพระพรรษาหนึ่ง ลาออกมาก็ช่วยพ่อทำนา รับซื้อข้าว ขายข้าวกับพ่อ ต่อมาก็แต่งงานกับลูกสาวทิดสุก พ่อตาก็เป็นชาวนาพื้นบ้านเหมือนกัน เมียชื่อ แม่ม้าย มีลูก 3 คน

ตอนหลังเพื่อนฝูงก็ชวนไปเที่ยวเตร่ตามประสาคนหนุ่ม พอมึนได้ที่ก็กลับบ้าน มันก็เดินเซๆ เอียงไปเถียงมาเพราะฤทธิ์ที่กินเหล้าเข้าไป ทีนี้สุนัขมันก็เห่า ก็มันดึกแล้วนี่ เราก็ต้องทะเลาะกับสุนัขทุกคืนทุกวัน จนมันจำหน้าได้

ทีนี้พอกลางวันเดินผ่านบ้านใครสุนัขมันก็เห่าแทบทุกบ้าน เราก็เป็นศัตรูกับสุนัขเรื่อยมาตั้งแต่นั้น พอมันเห่าก็ไล่เตะ ไล่ตี ไล่ขว้างมัน มีดดาบที่ถือในมือก็เหวี่ยงไปที่คอมัน หัวมัน ถูกบ้าง ผิดบ้าง ที่ถูกก็เจ็บปวด ร้องลั่นวิ่งหนีไปมันก็ไปเจ็บ ไปตาย สุดแล้วแต่ จนเมียเรา แม่เรา ทนไม่ได้”

เมียเราทนไม่ได้ก็พูดขอร้องว่า “พี่เฉิ่ม ฉันขอทีเถอะเรื่องกินเหล้านี่ พอพี่เฉิ่มกินเข้าไปแล้วต้องไล่ทำร้ายหมาทุกที ขนาดไอ้ด่างหมาของฉัน พอพี่เฉิ่มกลับบ้านมันดีใจ วิ่งไปรับตะกุยหน้าตะกุยหลังกระดิกหางดีใจที่นายมา พี่เฉิ่มเตะมันเสียคอหักขาหัก เดินไม่ได้จนบัดนี้ มันบาปกรรม เป็นเวรนะพี่ ฉันขอทีเถอะ”

เราก็ตอบแม่ม้ายว่า “เฮ้ย ! หมูหมาสิงสาราสัตว์ไม่มีความหมายอะไรหรอก รำคาญนักก็เตะมันไปก็สิ้นเรื่อง” เมื่อได้ยินเราพูดเช่นนั้น แม่ม้ายก็ได้แต่นั่งร้องไห้ไป





ต่อมา สุนัขตัวเมียข้างบ้านมันอาศัยเศษๆ อาหารที่แม่ม้ายเขาให้ทานมันกิน มันก็มาคลอเคลียอยู่ที่บ้าน เรารำคาญเป็นที่สุด ต่อมามันออกลูกมาหลายตัว เสียงลูกมันร้องสุดแสนที่จะรำคาญ เราอุตส่าห์ทนมาตั้งเดือน ก็เพราะเห็นแก่แม่ม้ายนี่แหละ

หนักๆ เข้าทนไม่ไหว มันร้องหนวกหูนัก เราก็เลยจับลูกสุนัขทั้งหมดโยนลงไปในน้ำ ก็คลองหน้าบ้านนั่นแหละ น้ำกำลังเชี่ยวอยู่ด้วย มันลอยตามน้ำไปกำลังจะตายอยู่แล้ว พอดีแม่ม้ายเมียตัวดีกลับมา ก็เดาเหตุการณ์ออก รีบโดดลงไปในคลอง เอาลูกสุนขขึ้นมาได้รอดตายไป

อีกวันหนึ่ง มืดๆ เดินถือไต้กลับบ้าน สุนัขที่ไหนก็ไม่รู้วิ่งไล่เห่ามาเรื่อย เห่าอยู่ได้ พอมันมาใกล้ๆ เราก็เอาไต้ที่ติดไฟลุกโชนอยู่นั่นทิ่มไปที่หน้ามัน ที่ปากมัน หลบไม่ทัน ได้ผล ! วิ่ง ร้องบ้านแตกไปเลย ทั้งๆ ที่เศษไต้ติดลุกโชนอยู่ที่หัว มันวิ่งร้องไปสามบ้านแปดบ้าน

โอ๊ย !! เราทำกับสุนัขสารพัด

วิญญาณที่ฟังอยู่ก็เลยเสริมว่า “ถึงได้มีตัวเหมือนพวกเรา แต่มีหัวเหมือนหมายังงี้”

“เออ...ก็คงเป็นยังงั้น”

วิญญาณที่ฟังอยู่ถามต่ออีกว่า “แล้วบุญล่ะเจ้าทำอะไรมามั่ง”

“เรามีการทำบุญให้ทานอยู่อย่างหนึ่ง ทำทุกวันพระนั่นแหละ ก็คือเราใส่บาตรทุกเช้า เวลาใส่บาตรก็อธิษฐานว่า ขอให้ได้พบพระ ได้พบพระพุทธศาสนาทุกชาติ ก่อนที่เราจะละทิ้งสังขารในโลกมนุษย์ในไม่กี่เพลาเราออกไปใส่บาตรอย่างเคย แล้วก็อธิษฐานอย่างเครียด ค่ำวันนั้น โจรมาปล้นบ้าน เราก็ถูกโจรฆ่าตาย ก็เลยนึกออกว่า ชาติก่อนเราเคยฆ่าเคยปล้นเขาไว้

ทีนี้กรรมตามทัน ก่อนจะตายก็ได้ยินเสียงสุนัขหอน ใจก็เลยมีแต่พะวงเรื่องสุนัข พอตายก็มานี่ แล้วก็จะต้อง ไปเกิดเป็นหมา ใช้กรรมใช้เวรต่อไป มาแล้ว วิบากมาเอาตัวไปแล้ว” ว่าแล้ววิญญาณนายเฉิ่มก็ติดตามตัววิบากไปตามวิถี ทั้งหมดนี้คือคำที่วิญญาณนายเฉิ่มสารภาพ

เช้าวันหนึ่ง หลวงพ่อออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ตามปกติ ขณะจะเดินกลับวัด ผ่านบ้านหลังหนึ่งได้ยินเสียงลูกสุนัขร้องโหยหวนทั้งเจ็บปวดและทรมาน ด้วยจิตเมตตาของท่านที่มีมากอยู่เป็นปกติ ท่านจึงหันกลับไปดูตามเสียงนั้น ก็พบลูกสุนัขตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งถูกน้ำร้อนๆ ราดตัว เป็นน้ำข้าวที่ชาวเขาเช็ดมาจากข้างบนบ้าน ลูกสุนัขตัวนี้นอนอยู่ใต้ถุนบ้าน ท่านก็เดินเข้าไปอุ้มเอามาเช็ดน้ำข้าวร้อนๆ ออกจากตัวด้วยมือของท่าน

พอลูกสุนัขนั้นมีอาการสงบลงท่านก็ปล่อยวางมันลงที่พื้น พลางบอกว่า “เจ้ารับกรรมไปก่อนนะ รักษาตัวให้รอดปลอดภัยเถิด” แล้วท่านก็เดินกลับวัด

รุ่งเช้า ท่านออกเดินบิณฑบาตอย่างเคย พอขากลับท่านได้ยินเสียงสุนัขร้องอย่างเจ็บปวดโหยหวนอีก ท่านจึงเข้าไปดู ก็พบลูกสุนัขตัวเดิมถูกสุนัขตัวใหญ่กัดมีแผลเลือดไหล ท่านก็เข้าไปอุ้มมาเช็ดเลือด เอาเศษผ้ามาพันแผลให้ จึงได้ความจากชาวบ้านว่า แม่สุนัขนี้ตายไปหลายวันแล้วเหลือลูกสุนัขตัวนี้อยู่ตัวเดียว หมาใหญ่มันมาแย่งกินของ มันเลยกัดเอา

หลวงพ่อวางลูกสุนัขลง แล้วพูดกับมันว่า “เจ้าหมดเวรเมื่อไหร่จะได้ไปอยู่กับข้า ตอนนี้เจ้ารับเวรไปก่อน จงรักษาตัวให้รอดปลอดภัยเถิด” แล้วท่านก็เดินจากไป

ต่อมา หลวงพ่อไม่ได้เดินโปรดสัตว์ในทางเดิมหลายวัน แต่เดินไปและกลับในทางอื่น จึงลืมเรืองลูกลุนัขตัวนั้นเสียสนิท วันหนึ่งท่านเดินบิณฑบาตในทางเดิม ขากลับวัดท่านได้ยินเสียงลูกสุนัขร้องอีก ท่านระลึกได้จึงเดินตามเสียงนั้น ก็พบว่าลูกสุนัขตัวนั้นหล่นลงไปในคลองหลังบ้านของบ้านหลังหนึ่ง ตะเกียกตะกายขึ้นมาไม่ได้ แต่โผล่หัวขึ้นมาเหนือน้ำ แล้วร้องอย่างโหยหวนด้วยความหนาวเหน็บ

หลวงพ่อเดินตามไปยังเสียงที่มานั้น ท่านก็แลเห็นลูกสุนัขตัวเก่าหล่นลงไปในนั้า อ้าปากร้องเสียงดัง ท่านก็เวทนา ก้มลงไปดึงตัวขึ้นมาจากคูน้ำก็พบว่าตามตัวมีรอยแผลเต็มไปหมดคงจะถูกลุนัข ใหญ่กัด และคงจะวิ่งหนีเอาตัวรอดเลยตกลงไปในน้ำ

หลวงพ่อรำพึงในใจว่า “เวรอันใดวิบากอันใดหนอ สุนัขนี้จึงเป็นเช่นนี้” ด้วยจิตเวทนาและด้วยความเมตตาของท่านที่แผ่ไปถึงสรรพสัตว์ทั่วไปอยู่เป็น นิตย์ ท่านก้มลงเช็ดตัวให้ลูกสุนัขตัวนั้นอีก คราวนี้มันจำได้ มันกระดิกหางครางหงิงๆ คงรู้ตัวว่าไม่ตายแล้ว อบอุ่นแล้ว มันก็ซุกหัวในมือหลวงพ่อ

หลวงพ่อนั่งนิ่งอยู่ตรงนั้น วางบาตรแล้วประครองลูกสุนัขตัวนั้นอยู่ชั่วครู่ ท่านจึงพูดว่า “เจ้าชดใช้กรรมใชัเวรมาพอแล้ว เห็นจะหมดเวรคราวนี้ไปอยู่กับขัาไหม ถ้าจะไปอยู่ด้วยก็เดินตามมา” ว่าแล้วท่านก็ลุกขึ้น เดินไปหยิบบาตรของท่านมาอุ้มไว้ แล้วออกเดินกลับวัด โดยมีลูกสุนัขตัวน้อยเดินตามมาติดๆ

ระยะทางจากบ้านนั้นไปยังวัดไม่ไกลเท่าไรนัก เดินสักครู่ใหญ่ก็ถึงคลองหน้าวัดที่เรียกว่า “คลองเมือง” ตาคนแจวเรือข้ามฟากเห็นหลวงพ่อเดินกลับมาก็ถอยเรือออกไปรับท่านดังที่เคย ปฏิบัติ ไม่ได้สังเกตเห็นลูกศิษย์ตัวเล็กตัวใหม่ที่เดินกะโผลกกะเผลกตามมาด้วย

พอหลวงพ่อลงนั่งในเรือ ตาคนแจวเรือก็วาดหัวเรือจะออก หลวงพ่อจึงบอกว่า “คอยลูกศิษย์เดี๋ยว จะข้ามไปอยู่วัดดัวย”

ตาคนแจวเรือข้ามฟาก ก็มองไปที่ท่าขัาม ไม่เห็นใครสักคน มีแต่ลูกสุนัขสีขาวๆ ยืนอยู่ตัวเดียว ก็บอกหลวงพ่อว่า “ไม่เห็นมีลูกศิษย์ที่ไหนนี่ขอรับหลวงพ่อ มีแต่สุนัขตัวเล็กๆ ตัวเดียวยืนอยู่”

หลวงพ่อก็ตอบว่า “นั่นแหละสุนัขตัวขาวๆ นั่นแหละลูกศิษย์ใหม่ ขอเอาไปด้วย” ว่าแล้วหลวงพ่อก็เรียกลูกศิษย์สุนัขตัวนั้นลงมา ซึ่งเขาก็เดินมาลงเรืออย่างง่ายดาย ไม่ต้องไปอุ้มมาลงเรือ

ตาคนแจวเรือก็ออกปากว่า “สุนัขตัวนี้มันสีขาวสวยดี ยังกับฝรั่ง หลวงพ่อได้มาแต่ไหน ชื่ออะไรครับ”

หลวงพ่อบอกว่า “ช่วยเขามาจากคูน้ำ ถูกสุนัขใหญ่กัด ตัวเลยสกปรกหน่อย เอามาช่วยชีวิตไว้ที่วัด ชื่อน่ะเหรอ ยังไม่มี แต่ตัวเขาขาวดี เอาละให้ชื่อว่า เจ้าฝรั่งมังฆ้อง ก็แล้วกัน”

พอดีเรือถึงท่าวัด หลวงพ่อก้าวขึ้นท่าวัด และก็มีเจ้าฝรั่งมังฆ้องกัาวเท้าหยอยๆ ตามไปติตๆ หลวงพ่อหันหน้ามาดูมันด้วยดวงตาที่ปิติ ที่ช่วยชีวิตสัตว์นี้ไว้ได้ หลวงพ่อก้าวขึ้นบันไดกุฏิยื่นบาตรให้ลูกศิษย์ แล้วท่านก็หันไปพูดกับเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ว่า “ทีนี้เจ้ามีความสุขละ อยู่กับข้านะ นั่งอยู่ใกล้ๆ ข้าอย่าไปไหนไกลๆ นั่งรับใช้อยู่หน้าห้องข้านี่แหละ”

แล้วท่านก็หันไปสั่ง ลูกศิษย์ให้ช่วยดูแลเจ้าฝรั่งมังฆ้องด้วยว่า “เขามาอยู่ใหม่ ยังไม่รู้จักใคร อย่าให้เขาตื่นตกใจอะไรนะ เขาลำบากมากแล้ว จากนั้นท่านก็เรียกลูกศิษย์สองสามคนมาให้เจ้าฝรั่งมังฆ้องทำความรู้จัก ด้วยการดมมือ ดมกลิ่น ซึ่งทั้งคนทั้งหมดก็ทำตามอย่างว่าง่าย

“เจ้าอย่าไปหาเรื่องรังแกทะเลาะวิวาทกับเพื่อนๆ แมว หมา นก บนกุฏินี่นะ เขาลำบากมาเหมือนเจ้า ข้าช่วยไว้เหมือนเจ้าทั้งนั้น” หลวงพ่อพูดเจ้าผรั่งมังฆ้องก็มองตามมือหลวงพ่อไป ฟังอย่างสงบเหมือนกับรู้ภาษาเป็นอย่างดี

ตั้งแต่นั้นมาเจ้าฝรั่งมังฆ้องก็หมอบเฝ้าเหมือนจะรับใช้หลวงพ่ออยู่หน้ากุฏิ ไม่ไปไหน นอกจากจะตามหลวงพ่อทุกฝีก้าว หลวงพ่อสวดมนต์ก็ไปนอนหมอบอยู่ข้างๆ หลวงพ่อทำสมาธิ เขาก็หมอบนิ่ง ใครจะไปจะมาจะเข้ามา ก็ไม่เห่าไม่หอน เวลาจะถ่ายหนัก ถ่ายเบา ก็จะวิ่งลงไปจากกุฏิ พอเสร็จธุระก็จะกลับมาเฝ้าหลวงพ่อใหม่

หลวงพ่อฉันอาหารก็นอนเฝ้า เมื่อหลองพ่อหยิบยื่นอาหารใส่จานมาให้ เขาจะค่อยๆ คืบคลานไปเลียอาหารนั้น ถ้ามีแมวหรือสุนัขตัวอื่น หรือสัตว์อื่น เช่น ไก่ นก มาขอร่วมวง ร่วมจานด้วย เขาก็จะถอยออกมาไม่ว่าอะไร จนหลวงพ่อต้องให้ลูกศิษย์เอาอาหารเติมให้อีก มิฉะนั้นจะหิว เจ้าฝรั่งมังฆ้องกินอาหาร 2 มื้อ เท่านั้น คือ เช้า กับเพล โดยกินเหลือจากหลวงพ่อ

เจ้าฝรั่งมังฆ้องพอมาอยู่กับหลวงพ่อไปได้ประมาณ 1 ปี ตัวโตขึ้น อ้วนท้วนแข็งแรง เจ้าฝรังมังฆ้องจะตามหลวงพ่อออกไปบิณฑบาตทุกเช้า โดยเดินตามไปติตๆ ทุกวันๆ ใครเห็นเข้าก็เมตตาสงสาร

หลวงพ่อท่านเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งชาวบ้านเขานิมนต์รับสังฆทานหน้าบ้านเป็นอาหารใส่ปิ่นโตเล็กๆ ท่านก็เลยพูดกับเจ้าฝรั่งมังฆ้องว่า “ถือปิ่นโตนี่เอาปากคาบไว้ ถือแบบนี้”

ท่านก็จับมือถือของปิ่นโตให้ใส่ในปากเขาแล้วว่า “คาบไว้แล้วเดินตามมา”

เจ้าฝรั่งมังฆ้องปฏิบัติตาม โดยคาบปิ่นโตเดินตามหลวงพ่อมาตลอด พอเมื่อยเขาก็วางเลียที แล้วคาบต่อไปใหม่ ผู้คนเห็นเข้าก็มองดูด้วยความสนเท่ห์และเมตตา ข่าวก็ลือกันออกไป ชาวบ้านหลายบ้านก็นิมนต์ท่านรับสังฆทานใหม่ เพื่อจะดูเจ้าฝรั่งมังฆ้องคาบปิ่นโตถวายหลวงพ่อ ก็ไม่ผิดทุกราย ได้ดูทุกราย

ต่อมา หลวงพ่อก็เอาปิ่นโตเล็กๆ 3 ชั้น มาเถาหนึ่ง ให้เจ้าฝรั่งมังฆ้องคาบปิ่นโตตามเวลาท่านบิณฑบาต เขาก็รับใช้ โดยคาบปิ่นโตเดินตามทุกเช้าเป็นกิจวัตร

เวลาชาวบ้านใส่บาตรหลวงพ่อก็จะเรียก “เอ้อ..... เจ้าฝรั่งมังฆ้องรับบาตรจากญาติโยมที”

เจ้าฝรั่งมังฆ้องจะคาบปิ่นโตไปวางตรงหน้า คนที่จะใส่บาตร พอชาวบ้านตักใส่ปิ่นโตเล็กๆ นั่นเสร็จเรียงแถวเรียบร้อย เจ้าฝรั่งมังฆ้องก็จะเข้าไปรับปิ่นโต คาบเดินตามหลวงพ่อต่อไป พอเมื่อยปาก เมื่อยคอเข้าก็วางลงเสียที เพราะมันหนัก

ในระหว่างที่หลวงหลวงพ่อรับบาตรนั้น ก็มีสุนัขตัวอื่นๆ ที่เห็นเข้าวิ่งมากัด มาแย่งปิ่นโตเหมือนกัน เขาสู้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ชาวบ้านแถวนั้นเห็นเข้าก็จะช่วยเหลือ ไม่ให้ถูกรุมกัด แต่ก็บาดเจ็บบ่อยๆ เหมือนกัน

ปกติหลวงพ่อเดินรับบาตรไม่ใกลแต่เดินทุกวัน ยกเว้นวันที่ฝนตกเดินลำบาก เพราะท่านอายุมากแล้ว แต่เจ้าฝรั่งมังฆ้องไม่เข้าใจ พอสว่างก็เดินไปคาบปิ่นโตมาคอยหลวงพ่อที่หัวบันไดอย่างที่เคยประพฤติ ฝนจะตกแดดจะออกหรือไม่ ไม่เข้าใจ จะออกเดินบิณฑบาตท่าเดียว หลวงพ่อต้องบอกว่า “วันนี้ฝนตกมาก ไปไม่ได้ เดี๋ยวจะมีผู้ศรัทธามาถวายเอง” เขาจึงสงบและนั่งเฝ้าหลวงพ่อเฉย

ต่อมา หลวงพ่อได้ใช้เจ้าฝรั่งมังฆ้องออกบิณฑบาตแทนท่าน โดยเอาปิ่นโตใส่ปากให้คาบไว้ แล้วบอกเขาว่า “ไปบิณฑบาตให้ข้าทีนะ”

เจ้าฝรั่งมังฆ้องก็คาบปิ่นโตลงจากกุฏิ เดินไปที่ท่าน้ำ ตาลุงที่แจวเรือข้ามฝากเห็นเข้าก็ถ่อเรือมารับ ถามว่า “อ้าว หลวงพ่อไม่มาหรือฝรั่งมังฆ้องทำไมตัวเดียว”

เจ้าฝรั่งมังฆ้องไม่แสดงกิริยาอะไร คาบปิ่นโตกระโดดลงเรือเฉย เรือก็พาไปส่งที่ท่าฝั่งข้างโน้น เจ้าฝรั่งมังฆ้องก็คาบปิ่นโตเดินไปตามทางที่เคยไป ชาวบ้านก็เข้าใจว่า เช้านี้ หลวงพ่อคงไม่ออกมาบิณฑบาตแล้ว เจ้าฝรั่งมังฆ้องก็คาบปิ่นโตมาที่เรือ

ระหว่างทางก็ถูกอันธพาลยื้อแย่งหรือไล่ทำร้ายบ้างอย่างเคย พอถึงท่าน้ำ ตาคนแจวเรือก็ถ่อเรือไปถามว่า “บิณฑบาตมาแล้วหรือฝรั่งมังฆัอง ได้อะไรมั่งล่ะ”

เขาก็คาบปิ่นโตลงเรือนั่งข้ามฟากมาขึ้นท่าวัด เอาปิ่นโตพร้อมอาหารไปถวายหลวงพ่อ แล้วตนเองก็ร่วมฉลองศรัทธาให้เขาด้วย เมื่อหลวงพ่อแบ่งมาให้

เจ้าฝรั่งมังฆ้อง ทำหน้าที่เดินคาบปิ่นโตบิณฑบาตให้หลวงพ่อมานานเป็นปี จนเป็นที่เลื่องลือของคนทั่วไปในละแวกนั้น ภายหลังต่อมาได้รับอนุญาติให้เขัาไปนอนในกุฏิของท่าน เวลาฝนฟ้าไม่ตกก็ออกคาบปิ่นโตเดินไปกับหลวงพ่อ ถ้าวันไหนหลวงพ่อไม่ออกเขาก็ออกเดินไปตัวเดียว

อากาศตอนเช้าในหน้าหนาวกำลังเย็นสบาย เจ้าฝรั่งมังฆ้องนอนหลับเพลิน ได้ยินเสียงหลวงพ่อพูดว่า “สว่างแล้ว นาฬิกาตีหกโมงแล้ว ยังไม่ตื่นอีกหรือ ก็ลุกขึ้นบิดขี้เกียจ เหยึยดแขนเหยียดขาออกดัดตัวตามประสาและวิธีการของสุนัข แล้วก็งัวเงียเดินไปคาบปิ่นโตอย่างเคย

คราวนี้ เดินนำหลวงพ่อไปท่าน้ำนำไปลงเรือ นำขึ้นจากเรือ แล้วก็เดินนำไปรับบาตร ตามบ้านเจ้าประจำที่เคยใส่ หลวนพ่อก็เดินตามไปนานๆ เข้าก็วางปิ่นโตเสียที เพื่อต่อสู้กับนักเลงเจ้าถิ่นซึ่งออกมาทีละหลายๆ ตัว โดยเจ้าฝรั่งมังฆ้องจะส่งเสียงร้องจนกว่าชาวบ้านจะออกมาช่วย เป็นผลให้บาดเจ็บเกือบทุกวัน

หลวงพ่อท่านพูดกับเจ้าฝรั่งมังฆ้องว่า “เจ้ารับกรรมไปอีกหน่อย ก็จะหมดกรรมแล้ว ชาติก่อนเจ้าทำกรรมทำเวรไว้แยะ”

ก็เป็นจริงอย่างที่ท่านว่าตอนหลังๆ ชักไม่ค่อยมีหมาหมู่มารุมกัดเพราะชาวบ้านคอยกีดกันไว้ค่อยเดินรับบาตรแทนหลวพ่อเป็นสุขขึ้นหน่อย





อีกประมาณ 10 ปีต่อมา เจ้าฝรั่งมังฆ้องแก่เข้า ฟันชักหักลง ไม่ค่อยมีฟันเหลือ คาบปิ่นโตลำบากขึ้น แต่ก็ไม่ขาดงาน ตอนนี้หลวงพ่อท่านไม่ออกบิณฑบาตแล้ว คงมีแต่เจ้าฝรั่งมังฆ้องตัวเดียวเดินรับบาตรแทนหลวงพ่อทุกวัน

ที่จริงหลวงพ่อจะไม่ออกบิณฑบาตก็ได้ เพราะมีชาวบ้านศรัทธาเอาอาหารมาถวายทุกวัน วันละมากๆ สัตว์ที่อาศัยใบบุญของท่านก็ไม่ค่อยอดอยาก มีผู้เอาอาหารและปัจจัยมาบริจาคสงเคราะห์อยู่เสมอ แต่ที่ท่านออกเดินบิณฑบาตนั้น ท่านว่าเป็นกิจวัตรของพระสงฆ์ในพระศาสนาเพื่อจะได้โปรดสัตว์ด้วย

เจ้าฝรั่งมังฆ้อง คงจะไม่ทราบว่าหลวงพ่อไม่อดอยาก ถึงแม้จะออกเดินบิณฑบาตหรือไม่ก็ตาม เจ้าฝรั่งมังฆ้องรู้แต่ว่าจะต้องคาบปิ่นโตไปรับอาหารบิณฑบาตมาหาเลี้ยงหลวง พ่อทุกวัน ในวันพระบางวันก็จะมีห่อของห่ออาหาร ผูกคอติตกลับมาวัดด้วย

จนวันหนึ่ง ฝนตกมากในตอนขากลับวัด เจ้าฝรั่งมังฆ้องออกเดินรับบิณฑบาตแทนหลวงพ่อ ของก็หนักปากก็เมื่อย ตัวก็เปียก หนาวก็หนาวแต่ก็ทนเดินกลับเอาปิ่นโตมาถวายหลวงพ่อจนได้ หลวงพ่อก็ลูบหัวเขาแล้วพูดว่า “ฝนตกอย่างนี้เจ้าไม่น่าจะออกไปเลย”

ตั้งแต่นั้น เขาก็เริ่มป่วย นอนซึม ไอ ไม่กินอาหาร หลวงพ่อท่านเป็นหมอโบราณอยู่ท่านก็หายาให้เขาโดยกรอกเข้าไปทางปาก แต่อาการก็หนักขึ้นๆ นอนร้องคราวญคราง มีอาการชักเป็นคราวๆ เพราะไข้สูงจัด

หลวงพ่อนั่งสงบอยู่ข้างตัวเจ้าฝรั่งมังฆ้อง คงจะเพ่งกระแสจิตหรือตรวจสอบอะไรบางอย่าง ท่านก็ทราบจากนั้นท่านก็กระเถิบ เข้าไปหาเจ้าฝรั่งมังฆ้อง พลางกล่าวว่า

“ฝรั่งมังฆ้องเอ๊ย ! เจ้าเกิดมาเป็นหมาใช้กรรม ชาตินี้เจ้าทำแต่กรรมดีมาตลอด หมดเวรหมดกรรมกันแล้ว เจ้าดีกว่าอีกหลายคนที่ไม่มีแม้แต่ศีลสักตัว เจ้ากำลังจะละสังขารนี้ไปแล้ว ข้าจะให้ศีลให้พรก่อนที่เจ้าจะละสังขารไป เอ้า รับศีลเสียก่อน เจ้ากำลังจะไปดีมีสุขแล้ว”

หลวงพ่อสวด นะโม สวดไตรสรคมน์ แล้วให้ศีล 5 ขณะที่ท่านสวดมนต์และให้ศีลอยู่นั้น เจ้าฝรั่งมังฆ้องผงกศรีษะและครางรับทุกคำ จากนั้นท่านก็สวดให้พร ให้จนจบ พอจบแล้วเจ้าฝรั่งมังฆ้องก็กระเสือกกระสนเอาศรีษะมาซบที่ตักหลวงพ่อ จากนั้นก็สิ้นใจด้วยความสงบ วิญญาณอันบริสุทธิ์ของเขาก็จากไป เหลือแต่กรรมดีที่ทำไว้

หลวงพ่อยื่นมือมาลูบศรีษะเจ้าฝรั่งมังฆ้อง หลับตานิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วจึงเอาผ้าเหลืองเก่าๆ มาห่อเจ้าฝรังมังฆ้อง จากนั้นท่านก็ตั้งศพไว้ที่เมรุสวดบังสกุลเหมือนทำกับคนทั่วๆไปทุกอย่าง (ท่านชี้ให้ดูรูปถ่ายในงานเมรุของเจ้าฝรั่งมังฆ้องที่ติดไว้ข้างฝาตอนนั้น เป็นต้นๆ รัชสมัยของรัชกาลที่ 6 ที่ท่านเล่าว่า ท่านเองก็เคยเป็นพระอาจายร์ถวายพระอักษรมา)

ผมจะได้ขอเล่าละเอียดในตอนนี้เอาไว้คุยเป็นส่วนตัวกับผม เรื่องศพเจ้าฝรั่งมังฆ้องจะสนุกว่า เพราะท่านเล่าได้พิสดารมาก พอตั้งศพสวดได้ครบ 7 วัน ก็มีการฌาปนกิจที่วัด ผู้คนที่ทราบข่าวก็มาร่วมเผาศพด้วยความเวทนาและเมตตามากมาย

ต่อคำถามที่ว่า “ทำไมหลวงพ่อจึงจัดงานสุนัขใหญ่โตอย่างนี้”

ท่านตอบว่า “เขาคือชีวิตหนึ่งวิญญาณหนึ่ง ในชาตินี้เขาดีกว่าคนหลายคน นี่เขาไปดี ไปเสวยสุขในชาติใหม่แล้ว ครั้งหนึ่งเขาเคยอธิษฐานว่า เกิดชาติใดฉันใด ขอให้พบพระเจ้าทุกชาติไป ชาตินี้เขาก็พบสมดังคำอธิษฐานแล้ว”

ผมนั่งฟังนิ่งด้วยความสนใจแล้วจึงกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า “ถ้ายังงั้น เจ้าฝรั่งมังฆ้องนี่ก็คือตาเฉิ่มที่ทำทารุณกับสุนัขต่างๆ มากมาย แต่ก็ใส่บาตรขอพบพระศาสนาทุกขาติใช่ใหมขอรับ ?”

หลวงพ่อท่านก็ตอบว่า “คิดเอาเอง”

ผมกราบเรียนถามท่านอีกว่า “เรื่องกรรม เรื่องวิญญาณ มีจริงหรือครับ”

ท่านก็ตอบว่า “ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส ไม่เป็นพระอรหันต์ ตราบนั้นก็ยังมีกรรม ก็เหมือนนาฬิกานี่แหละ ถ้าเราไขลานมันก็เดิน ไม่ไขลานก็หยุด กรรมก็เหมือนการไขลานทั้งคนทั้งสัตว์ยังประกอบกรรมทุกวันเหมือนไขลานอยู่ทุก วัน แล้วมันจะหยุดได้ยังไง หมดชาตินี้แล้วก็ยังต้องเกิดชาติใหม่ เหมือนลานนาฬิกาที่ไขไว้ยังไม่หมด”

ผมสนใจเรื่องเจ้าฝรังมังฆ้อง ก็กราบเรียนถามท่านว่า “หลวงพ่อว่าเจ้าฝรั่งมังฆ้องไปเกิดใหม่ไหมครับ แล้วไปเกิดที่ไหน

“ชาติที่เขาเกิดเป็นสุนัข เขาไม่ได้ทำกรรมทำเวรอะไรเลย เขาเกิดมารับกรรม ใช้กรรม ต่อมาเขาก็มาอยู่กับพระโดยตลอดจนสิ้นชีวิต ชาตินี้เขาทำแต่กรรมดี เขาจะไปเกิดในอบายไม่ได้”

“อบายเป็นยังไงขอรับ”

“ก็นรก เปรต อสุรกาย เดียรัจฉาน 4 ภพ 4 ภูมิ เท่านั้น ที่เป็นอบาย”

“หลวงพ่อว่าเขาหมดเวรแล้ว ก็ไม่น่าจะเกิดมาใช้กรรมอีก”

“กรรมหรือวิบากมันต่อเนื่อง มันมีทั้งกรรมดี กรรมชั่ว เมื่อวิบากในชาติปัจจุบันไม่หมด คือรับผลดีชั่วที่ทำไว้ไม่หมด วิบากก็ต่อเนื่องไป ต้องรับวิบากแห่งกรรมต่อไปอีก เพราะฉะนั้น จึงมีชาติหน้า คือการเกิดมารับกรรมอีก มันต่อเนื่องกันอย่างนี้ ฉะนั้น ผู้ที่หวังความสุขในชาติต่อๆ ไป จึงควรทำแต่กรรมดี อย่างน้อยก็มี "ศีล" ไว้คอยควบคุมกายวาจา คนที่มีศีลไม่ไปอบายหรอก”

“ฝรั่งมังฆ้องไปเกิดเป็นคนไหมขอรับ ?” ผมกราบเรียนถามท่านตรงๆ

“เขาไม่ไปอบาย เขาจะเกิดเป็นคน เป็นเทพยดา ก็สุดแตกรรมที่สะสมไว้ในชาติก่อนๆ ด้วย”

“แล้วเรื่องวิญญาณที่ทำกรรมต่างๆ แบบนี้มีอีกไหมครับ”

“มีแยะ..... เอาไว้ค่อยคุยกันวันหลัง วันหลังไปวัดจะชี้ให้ดูรูปถ่ายของเมรุเผาเจ้าฝรั่งมังฆ้อง แขวนไว้ที่ข้างฝา แต่เมื่อตอนเขามีชีวิตอยู่ไม่ได้ฉายเอาไว้”


From: คำสารภาพของวิญญาณบาป
โดย นพ. อาจินต์ บุณยเกตุ

 

คำสำคัญ (Tags): #หมา
หมายเลขบันทึก: 486248เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2012 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท