เปิดเทอมใหม่ ออกแบบหลักสูตรใหม่ ให้ทันส่ง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.)


ได้ยินคนในวงการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายคนบ่นกันถึงเรื่องมาตรฐาน สมศ. หรือ กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) กันเยอะนะครับ ผมได้ไปร่วมสัมมนาวิชาการ การบูรณาการงานวิจัยกับการเรียนการสอน โดยศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งกรอบการสัมมนาคือเรื่องความสำคัญของเรื่องดังกล่าวในช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากอาจารย์ผู้มีประสบการณ์จากทางมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการตอบโจทย์เรื่องมาตรฐานต่างๆ ที่ว่ามาข้างต้นโดยตรง

เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจจากงานนี้คือ มุมมองต่อการควบคุมมาตรฐานต่างๆ จากทางภาครัฐฯ ครับ ศาสตราจารย์ ดร. ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และ รศ. ดร. สมบูรณ์วัลย์ สัตยารักษ์วิทย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ รวมถึงท่านอาจารย์อีกท่านที่ให้ความเห็นในงาน (ซึ่งผมจำชื่อท่านไม่ได้จริงๆ ต้องขออภัย) ทุกท่านเน้นย้ำว่ามาตรฐานเหล่านี้ไม่ใช่เครื่องกีดขวางการการเรียนการสอนหรือทำงานวิชาการ แต่เป็นการย้ำเตือนถึงความสำคัญของเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตพึงประสงค์ ซึ่งผมจะไม่ลงไปรายละเอียดนะครับ แต่สรุปสั้นๆ คือเรามุ่งหวังที่จะผลิตปัญญาชน ซึ่งหมายถึงคนที่มีปัญญาและมีคุณธรรมควบคู่กัน ไม่ได้ผลิตคนที่สอบเก่ง คาดหวังว่าจะได้เงินเดือนเท่านั้นเท่านี้ คาดหวังว่ายิ่งเรียนสูงยิ่งเงินเดือนสูง อยากได้อยากมีโดยไม่คำนึงถึงสังคม

ผมคิดว่ามุมมองแบบนี้น่าสนใจมากครับ ปีการศึกษาที่ผ่านมาผมเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำเอกสารมาตรฐานฯ ต่างๆ ในฐานะที่ผมพอจะมีความรู้ด้านการออกแบบหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอน ก็เห็นว่าตัวอย่างเอกสารจากภาครัฐฯ ก็ไม่ใช่ว่าจะเข้าใจยาก เป็นการประยุกต์จากมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในต่างชาติ จะมีข้อเสียก็แต่ว่าเขาบังคับเรามากไปหน่อย กำหนดวิชาบังคับมาเยอะเสียจนผมกลัวว่าเด็กนักศึกษาจะหนาว ไม่กล้าเข้าเรียนในภาควิชาฯ (ฮา!) แต่โดยรวมแล้ว มันก็เป็นการมัดมือให้ผู้สอนคิดอย่างจริงจังว่าจะออกแบบการเรียนการสอนอะไร เพื่ออะไร และวัดผลอย่างไร ไม่ใช่แค่มาพูดตามหนังสือแล้วก็จบ

ที่เล่ามาทั้งสองเรื่องนี้ก็เพื่อจะโยงเข้าบทความอีกชิ้นจาก Chronicle of Higher Education ซึ่งพูดถึงความย้อนแย้งในระบบการศึกษาอเมริกา ซึ่งผมเชื่อว่าบ้านเราก็ยอกย้อนซ่อนเงื่อนไม่แพ้กัน เรื่องของเรื่องก็คือ เรามักได้ยินคำว่า “ท่องหนังสือสอบ” “เรียนเพื่อสอบ” หรือ study for exams กันจนติดหู ผมเองเรียนมาก็ได้ยินคำนี้จนเบื่อเหมือนกัน พอมาอยู่ในวงการการศึกษาก็ยิ่งกลายเป็นคาถาที่ทั้งอาจารย์และนักศึกษาใช้กันจนชิน การพูดว่าอ่านหนังสือเพื่อสอบนั่นหมายความว่าเรามองว่าการเรียนนั้นสัมพันธ์โดยตรงกับการสอบ หรือการเรียนเพื่อกระดาษแผ่นเดียวอย่างที่คุณพิริยาพรรณบอกว่าบ้านเรากลายเป็นปริญญามาร์เก็ตไปแล้ว

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้รับความรู้ใหม่จากดร. เชิดพงษ์ สีบุญเรือง คณบดี คณะบริหารธุรกิจของเรา ขณะได้มีโอกาสพูดคุยกันในเรื่องงาน ท่านเล่าว่าการศึกษาไทยนั้นไม่ค่อยจะมีทิศทางเท่าไร เมื่อก่อนเราใช้ระบบอังกฤษแต่พอตอนหลังเราหันไปใช้ระบบอเมริกัน แต่ผมว่าเอาเข้าจริงๆ ตอนนี้ระบบการศึกษาบ้านเรามันก็เป็นสไตล์ไทย ต้องเอาเงินเข้าแลกความสำเร็จด้านการศึกษา และการศึกษาเหล่านั้นเป็นสาระวิชาที่หลุดลอยจากหลักจริยธรรมไปจนหมดสิ้น เมื่อในที่การศึกษาไม่สัมพันธ์กับชีวิต ชีวิตก็ไร้ทิศทางครับ เราลืมไปว่าก่อนจะรับเอาระบบอังกฤษหรืออเมริกัน เราเคยเรียนระบบไทยแท้ เรียนในวัด เรียนโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะเป็นคนที่สมบูรณ์

เหลือเวลาอีกประมาณหนึ่งเดือน สถาบันอุดมศึกษาก็จะเปิดภาคเรียนกันอีกครั้งนะครับ ทุกท่านก็ต้องทำ มคอ. ส่งให้กับทางต้นสังกัดกัน ผมว่าน่าจะเป็นโอกาสอันดีที่เราจะมาทบทวนการเรียนการสอน ว่าเราจะเรียนไปเพื่ออะไร (ซึ่งผมเคยตั้งคำถามเอาไว้แล้วหนหนึ่ง)

นอกจากนั้น คนเป็นครู อาจารย์ ผมเข้าใจว่าเราก็อยากให้ลูกศิษย์เก่ง เก่งกว่าตัวเองได้ยิ่งดี แต่ในระยะเวลาสามสี่เดือน เขาจะเรียนเนื้อหาอะไรได้มากมาย หนังสือเล่มหนาๆ ที่ซื้อกันมาหลายเล่ม จะอ่านกันหมดหรือ (ถ้าอ่านไม่หมดแล้วจะซื้อให้เปลืองเงินทำไม?) ในระยะเวลามาเป็นสามสี่เดือนที่เราจะได้อยู่กับผู้เรียน เราจะหวังให้เขารู้อะไรมากมาย จะให้เขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญแบบเราได้เลยเหรอ? ยิ่งเรายัดเข้าไปมาก เราก็รู้ว่ามันเป็นการท่องจำ สุดท้ายก็จบลงด้วยการท่องเนื้อหาไปสอบ แทนที่จะเป็นการเรียนเพื่อรู้ เรียนเพื่อพัฒนาตนเอง เราพูดกันถึงคำว่าบูรณาการ พูดถึงปฏิรูปการศึกษา แต่ผมว่าคนเป็นครู อาจารย์ ต้องเป็นครูตัวเองให้ได้ก่อน เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนศึกษาหาความรู้โดยที่เราถอยออกมาเป็นผู้แนะนำ ไม่ใช่ผู้บรรยาย และที่สำคัญต้องพิจารณาว่าสาระความรู้อะไรที่จำเป็นจริงๆ แล้วลงลึกไปในเนื้อหาเหล่านั้น ไม่ใช่แตะๆ เนื้อหามากมายแต่ไม่รู้อะไรจริงสักอย่าง

ที่สำคัญที่สุด ต้องเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมการสอนเพื่อสอบ ให้เป็นจัดการเรียนการสอนเพื่อการเรียนรู้ เลิกพูดกันเสียทีว่า “เรียนเพื่อสอบ” เพราะฟังแล้วมันคันหู!

หมายเลขบันทึก: 486165เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2012 13:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เช่นเดียวกันค่ะ....เทอม1/55 ..หลายรายวิชาด้วย..ทั้งป. ตรี & ป.โท เป็นงานที่ถูกจัดสรรไว้ว่า จะต้องทำ "ใจว่าง" ก่อนแล้วจึงจะหยิบขึ้นมา ซึ่งยังไม่ถึงสภาวะนั้นสักที เพราะ "เวลาว่าง" พอจะจัดสรรได้ แต่ใจว่างสำหรับเรื่องนี้ ยังมาไม่ถึงซะทีเดียวเชียว :-((

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท