๙๘.นั่งรถทัวร์และรถไฟแวะเยือนบ้านเกิดที่หนองบัว นครสวรรค์


หลังบรรยายและเป็นวิทยากรให้กับการสัมมนาที่กรุงเทพฯซึ่งจัดโดยสำนักส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง กรมการพัฒนาชุมชน เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนกลับเชียงใหม่ ผมก็แวะไปบ้านเกิดที่หนองบัว นครสวรรค์สักหน่อยหนึ่งก่อนโดยถือเป็นโอกาสทำหลายอย่างไปในคราเดียวกัน นับแต่ถือโอกาสได้กลับไปหาแม่ กลับไปพบปะหารือกับเพื่อนฝูงและหมู่คนที่ช่วยกันจัดนิทรรศการหนองบัวในงานงิ้วเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา เพื่อสานความต่อเนื่องของการทำงานเชิงความรู้และงานวิชาการที่ทำช่วยกันแบบจิตอาสา กับงานจากสำนึกรักถิ่นเกิดถิ่นอาศัยเพื่อคนหนองบัวและสุขภาวะของหนองบัว รวมทั้งจะถือโอกาสเดินสำรวจหมู่บ้านและบางชุมชนเพื่อศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆสะสมไว้ตามโอกาสที่ทำได้ ถ่ายรูปและมีเรื่องราวต่างๆมาบันทึกไว้สักเล็กน้อยก็ยังดี

ผมเปลี่ยนจากนั่งรถตู้ไปนั่งรถทัวร์โดยกะว่าจะเดินทางสบายๆโดยรถทัวร์กรุงเทพฯ-นครสวรรค์ให้ถึงก่อนเที่ยงเพื่อต่อรถไฟจากนครสวรรค์ไปชุมแสงก่อน ๕ โมงเย็น จึงจะสามารถทันได้นั่งรถเมล์เข้าหนองบัวไปอีก ๓๐ กิโลเมตรและแวะลงกลางทางที่บ้านก่อนถึงหนองบัว ๗ กิโลเมตร ผมจึงออกเดินทางเช้ากว่าที่เคยเดินทางจากกรุงเทพฯเพื่อกลับบ้านเกิดที่หนองบัวที่เคยปฏิบัติมาหลายสิบปี

แต่ทุกอย่างก็แทบจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่กะเกณฑ์ไว้ล่วงหน้า เพราะพอไปถึงสถานีขนส่งสายเหนือหมอชิต ก็พบว่ารถที่จะผ่านนครสวรรค์ตั้งแต่ ๙ โมงเช้าไปจนถึงก่อนเที่ยงครึ่งนั้นได้เต็มหมดแล้ว ผมเลยต้องรอเที่ยวที่มีที่นั่งเที่ยวแรกสุดเมื่อเที่ยงครึ่งและเป็นรถกรุงเทพฯ-เชียงราย เดินทางถึงนครสวรรค์กว่าบ่าย ๓ โมงเย็น เลยเวลาที่จะมีรถต่อเข้าชุมแสงและหนองบัว

ผมเห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสังคมในอีกแบบแผนหนึ่งไปบนการเดินทางสัญจรในครั้งนี้ โดยพบว่า รถประจำทางสำหรับกรุงเทพฯกับปลายทางในระยะต่ำกว่า ๓๐๐ กิโลเมตรของสายเหนือนั้น ลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพ การที่จะเดินทางภายในระยะทางดังกล่าว ไปหนองบัว นครสวรรค์ รวมทั้งปลายทางโดยรอบ เช่น อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี ซึ่งอยู่ในระยะ ๑๐๐-๓๐๐ กิโลเมตรเหล่านี้ แทบจะไม่มีผู้โดยสารที่นิยมใช้บริการรถทัวร์เหมือนอย่างที่เคยแออัดคับคั่งอย่างในอดีตเมื่อไม่เกิน ๒ ทศวรรษที่ผ่านมาอีกแล้ว

ปัจจุบันนี้ คนเดินทางนิยมหันไปใช้รถตู้และรถส่วนตัวแทนการโดยสารรถทัวร์ ทำให้รถทัวร์ในระยะใกล้เกือบหมดไป ส่วนที่เหลือก็คงจะเป็นการวิ่งเพื่อรักษาเส้นทางการสัมปทาน อีกทั้งวิ่งแวะจอดรับส่งผู้โดยสารไปบนรายทางตลอดเส้นทาง ทำให้วิ่งถึงปลายทางช้ากว่าที่เคยรู้จักนานนับเป็น ๑-๒ ชั่วโมงเลยทีเดียว ระบบบริการ บรรยากาศ ผู้คน วิถีชีวิต การทำมาหากิน ที่โลดแล่นอยู่โดยรอบเส้นทางการสัญจรต่างๆ ล้วนเปลี่ยนแปลงไปเกือบหมด

ภาพการเดินทางแบบหอบลูกจูงหลานและคนเฒ่าคนแก่ ไม่หลงเหลือให้เห็นเลย อีกทั้งไม่มีเทปหรือวิดีโอคณะตลกหรือจำอวดหน้าม่านฉายให้นั่งดูในรถ ไม่มีแม่ค้าเดินขายไก่ย่างข้าวเหนียว ไม่มีเด็กชายผมเกรียนเด็กหญิงผมม้าและคนหนุ่มสาววัยแรงงานหอบชะลอมท่าทางตื่นๆแบบบ้านนอกเข้ากรุงเดินหารถขวักไขว่ ไม่มีเสียงตู้เพลง ไม่แออัดและไม่อึกกระทึกจากการที่พนักงานรถจะต้องส่งเสียงแย่งผู้โดยสาร ตรงกันข้าม ผู้คนกลับดูประปราย โดยมากก็มักจะเดินทางคนเดียวและเพียงกลุ่มเล็กๆคนสองคน

ไม่มีรถเดินทางต่อไปอีกก็ดีเหมือนกัน เพราะผมเองก็ไม่รู้ว่าจะต้องรีบร้อนไปไหน จึงตัดสินใจหาโรงแรมนอนพักที่โรงแรมพิมานใกล้ๆสถานีขนส่งเพื่อรอต่อรถไปชุมแสงและหนองบัวก่อนเที่ยงของวันรุ่งขึ้น แต่ในที่สุด ผมก็ต้องใช้เวลาเดินทางจากนครสวรรค์และนั่งรถเมล์ซึ่งมีอยู่เพียงเที่ยวเดียวในรอบบ่ายของการเดินทางในวันที่สองของผม รอรับผู้โดยสารทีละคนสองคน กระทั่งวิ่งปุเลงๆเสียงดังคล่อกแคล่กเอี๊ยดอ๊าดออกจากชุมแสงไปยังหนองบัวเมื่อเกือบ ๖ โมงเย็น

ผมจึงเดินทางถึงบ้านเมื่อก่อน ๒ ทุ่มของอีกวันหนึ่ง จึงกลายเป็นว่าจากกรุงเทพฯไปนครสวรรค์ว่าช้าจนไม่ทันรถที่จะเดินทางต่อไปอีกแล้วนั้น ผมกลับยิ่งต้องใช้เวลาสำหรับเดินทางจากปากน้ำโพไปบ้านที่หนองบัวซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเดียวกัน ยาวนานหลายชั่วโมงยิ่งกว่าเดินทางจากกรุงเทพฯไปนครสวรรค์เสียอีก แต่กระนั้นก็ทำให้ได้งาน เพลิดเพลิน ได้ความสนุก เห็นโลกกว้างและวิถีชีวิตผู้คนที่ดำเนินไปอีกแบบหนึ่งเงียบๆสบายๆ.

หมายเลขบันทึก: 486128เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2012 08:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 23:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เห็นเคยรถสาย อีสาน สองจังหวัด
คือชัยภูมิ กับขอนแก่น
ผ่านหนองบัว ไปในตัวเมืองนครสวรรค์
แต่ยังไม่เคยนั่งเลย ไม่ทราบว่ายังมีอยู่ไหม 

ถ้าเดินสำรวจชุมชน อยากให้ไปพบโยมหมอกวน ดำโต
บ้านเนินไร่(บ้านไร่โพธิ์ทอง) หมู่ที่๑ ตำบลหนองกลับ
โยมจันทร์ อินสุธา บ้านเนินน้ำเย็น ใกล้ๆบ้านกำนันแหวน บุญบาง
(ถามป้าอี้ดก็ได้) โยมลุงวาน บุญกิจ บ้านในข้างสระวัดหนองกลับ

ทั้่งสามท่่านมีความรู้เรื่องชุมชน ตำนานพื้นบ้านหนองบัว เรื่องราวเก่าๆเยอะเลย
หรือถ้ามีเวลาจะไปหาโยมพ่ออาตมาก็ได้นะ จะให้ท่านเล่าเรื่องราวแต่หนหลัง
ก็น่าจะได้หลายเรื่องอยู่เหมือนกัน

มีเรื่องหนึ่งที่ยังไม่มีใครเขียนถึง
คือหนองบัวเมื่อก่อน หน้าแล้ง
จะมีโพนช้าง จากอีสาน
มาโพนช้าง ที่ป่าดงดิบในหนองบัวทุกปี
เมื่อสะเบียงที่เตรียมมาหมด
พวกโพนช้าง(ควาญช้าง)จำนำช้างเดินทาง
เข้ามาในหมู่บ้านหนองบัว หนองกลับ
มาขอของกินจากชาวบ้าน มีข้าวสาร น้ำปลา
พริก หอม กระเทียม เกลือ

ช้างจะใช้งวงยื่นไปบนระเบียง หรือนอกชานบ้าน
ชาวบ้านก็จะนำเครื่องใช้ดังกล่าวมาส่งให้ 
ฟังผู้เฒ่าผู้แก่ เล่าให้ฟังแล้ว
นึกเห็นภาพลางๆ
แต่เคยนึกในใจว่า
อยากจะให้หลานๆวาดภาพเรื่องนี้ไว้สักภาพ
พอดีอาจารย์จะเดินในชุมชนด้วย
ลองถามเรื่องนี้กับคนเก่าๆดูจะได้ข้อมูลรายละเอียดมากขึ้น 

การโพนช้างคือการต่อช้างหรือการจับช้างป่า

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาไปนอนวัดใหญ่(วัดหนองกลับ)
เห็นมีรถเมล์สายหนองบัว-ชุมแสงมาจอดหน้าวัดทุกวัน 
สอบถามได้ความว่า ที่ศูนย์ท่ารถในตลาดจอดไม่ได้
เลยต้องย้ายมาที่หน้าวัด(่ท่ารถสองแถวเก่า ชาวบ้านเรียกเส้นทางไปในดง)
คือดงน้อย ปากดง คลองกำลัง คลองลาน เขาเล็บงา  เขามะเกลือ ร่องดู่
หนองประดู่ เหมืองแร่ ทรัพย์ย้อย คลองสมอ หนองไผ่ ฯลฯ 

ทราบมาว่ารถเมล์สายหนองบัว-ท่าตะโก
งดวิ่งแล้ว มีรถสองแถววิ่งแทน
ผู้โดยสารน้อย(ขาดทุน) 

อาจารย์ครับ มาให้กำลังใจ หนุ่มพเนจร 555

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์วิรัตน์,

บันทึกของอาจารย์ชวนให้จินตนาการภาพตามได้ดีจริงๆ ค่ะ รู้สึกถึงความมั่งคั่ง (abundance) ในจิตใจ แม้สถานการณ์จะไม่เป็นไปดังหวัง แต่อาจารย์ก็มีความสุขบนเส้นทางสายการเรียนรู้ การมีเวลาทำให้การมองโลกต่างไปจากคนที่ไม่มีเวลานะคะ

น่าชื่นชมค่ะ

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ

รถไปขอนแก่น  ออกจากนครสวรรค์และผ่านหนองบัวนั้นยังมีอยู่ครับ แต่ได้ทราบว่าหากขึ้นจากสถานีขนส่งนครสวรรค์และนอกเส้นทางชุมแสง-หนองบัว เขาจึงจะให้ขึ้น เพราะเป็นมารยาทในการไม่แย่งผู้โดยสารกัน แต่สามารถขึ้นจากนครสวรรค์และบนรายทางก่อนถึงชุมแสง แล้วอาศัยไปลงหนองบัวได้ เขาว่างั้นนะครับ

รถเมล์แบบเดิมไม่ค่อยมี กระทั่งหยุดวิ่งไปเลยนั้น เชื่อว่าก็ไม่ทำให้วิธีเดินทางของคนในท้องถิ่นลำบากหรือขาดหายไปแต่อย่างใด เพราะในความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่ทำให้ขาด แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีเดินทางและการใช้พาหนะ ที่ชาวบ้านใช้งานได้อย่างเอนกประสงค์และสะดวกยืดหยุ่นมากกว่าเดิม เช่น ชาวบ้านเกษตรกรมีรถอีแต๋นของตนเองเพื่อใช้เดินทางและขนส่งผลผลิตได้อย่างแพร่หลาย ส่วนคนทำงานและคนทำมาค้าขาย ก็มีรถส่วนตัว เมื่อรวมๆกันแล้ว รถเมล์และรถสาธารณะเลยลดบทบาทเปลี่ยนรูปไป

สวัสดีครับอาจารย์ดร.ขจิตครับ
ประสบการณ์อย่างนี้ หากเจออีกครั้งและมี Ukulele กับ Ocarina ติดตัวไปแล้วละก็ สนุกผมแน่เลย จะหาพวกและแนวร่วมพากันเล่นมโหรสพบนลานดินที่ท่ารถเมล์ให้ม่วนเลยเชียว

สวัสดีครับดร.ปริมครับ
เป็นโอกาสได้อยู่กับธรรมชาติของชีวิตในสภาพแวดล้อมอีกแบบหนึ่ง
นานๆครั้ง ที่ได้มีโอกาสอย่างนี้มาคั่นจังหวะชีวิตการงานต่างๆบ้าง ก็ให้รู้สึกดีมากเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท