พนักงานกับความผูกพันต่อองค์กร (Employee Engagement)


เรื่องของความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรเป็นอีกเรื่องที่ในปัจจุบันหลายๆ องค์กรพยายามที่จะสร้างให้เกิดขึ้น ก็เลยมีการจัดทำการสำรวจทัศนคติ และสำรวจความผูกพันของพนักงานในองค์กรว่า เขารู้สึกอย่างไรกับองค์กรบ้าง และมีซักเท่าไหร่ที่รู้สึกผูกพัน ไม่ผูกพัน เพื่อที่จะได้วางแนวทางในการทำให้พนักงานส่วนใหญ่รู้สึกผูกพันกับองค์กรให้มากขึ้น

มีงานวิจัยเรื่องของความผูกพันของพนักงานกับผลงานขององค์กรอยู่มากมาย โดยเฉพาะทาง Gallup Consulting ซึ่งมีชื่อทางด้าน Engagement ได้ทำวิจัยยืนยันมาแล้วว่า ความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กรนั้น จะเป็นตัวเพิ่มผลผลิตให้กับองค์กรด้วย ดังนั้นการที่องค์กรอยากได้ผลผลิต และผลงานจากพนักงานเพิ่มขึ้น แสดงว่าองค์กรก็ต้องเพิ่มวิธีการและแนวทางในการสร้างความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กรให้สูงขึ้น

ล่าสุดผมได้อ่านงานวิจัยของทาง Gallup Consulting อีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งทำในลักษณะทั่วโลก ในเรื่องของความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร ซึ่งผลปรากฎออกมาดังนี้ครับ

ที่มา: The state of the global workplace, A worldwide study of employee engagement and wellbeing.
Gallup Consulting
  • จากผลการสำรวจที่ออกมา พบว่ามีเพียง 11% ของพนักงานที่รู้สึกผูกพันต่อองค์กร (Engaged) ซึ่งหมายความว่าพนักงานกลุ่มนี้จะรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และอยากสร้างผลงานที่ดีให้กับองค์กรอยู่เสมอ มองว่าตนเองเป็นเสมือนเจ้าขององค์กรและพร้อมที่จะลงแรงในการพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นอยู่เสมอ
  • มี 62% ของพนักงานที่ไม่รู้สึกผูกพัน (Not Engaged) กลุ่มนี้ไม่ได้คิดว่าองค์กรเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา และเขาเข้ามาทำงานก็เพราะจำเป็นต้องเข้ามา ดังนั้นจึงทำงานเท่าที่ทำได้เท่านั้น ไม่ต้องคิดอะไรมากไปกว่างานที่ได้รับมอบหมายในแต่ละวัน พนักงานกลุ่มนี้ ไม่ยอมทำอะไรมากขึ้นเพื่อองค์กร แต่ทำแค่ที่ได้รับมอบหมาย และไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร
  • มี 27% ที่ไม่มีความรู้สึกผูกพันต่อองค์กรเลย (Actively disengaged) พนักงานกลุ่มนี้ไม่ได้มีความรู้สึกผูกพัน และไม่ได้รู้สึกดีต่อองค์กรเลย มององค์กรในแง่ลบตลอดเวลา และยิ่งไปกว่านั้น ยังพยายามทำให้องค์กรเกิดความเสียหายด้วยการสร้างทัศนคติที่ไม่ดีต่องาน และต่อองค์กรให้กับพนักงานคนอื่นๆ ด้วย

ปัญหาที่เกิดจากผลการวิจัยนี้ก็คือ ถ้าองค์กรของเรามีพนักงาน 27% ที่ไม่ได้รู้สึกผูกพัน และพร้อมที่จะแพร่กระจายความรู้สึกที่ไม่ดีนี้ให้กับพนักงานคนอื่นๆ ด้วย จะเกิดอะไรขึ้นกับองค์กรบ้าง

ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญมากๆ เพราะการที่มีพนักงานกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รู้สึกอะไรต่อองค์กรเลย ถ้าเขาอยู่เฉยๆ ก็ไม่ว่าอะไร แต่นี่กะจะถ่ายทอดทัศนคติที่ไม่ดีของตนเองให้คนอื่นอีก พนักงานกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่ผู้บริหารจะต้องมีแผนการรับมือ เพราะมิฉะนั้น กลุ่มพนักงาน 62% อาจจะหันมาเข้าพวกกับกลุ่มนี้ แทนที่จะหันไปเข้าพวกกับกลุ่ม 11% ที่รู้สึกผูกพัน องค์กรก็จะมีผลงานที่แย่ลงไปเรื่อยๆ

มีคำถามว่า ถ้ารู้สึกไม่ผูกพันทำไมไม่ลาออกไปซะล่ะ คำตอบก็คือ ที่เขาไม่ออกก็เนื่องจาก องค์กรอาจจะมีผลประโยชน์บางอย่างให้กับเขา ซึ่งองค์กรอื่นไม่สามารถให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ผลตอบแทน สวัสดิการ การทำงานแบบเรื่อยๆ สบายๆ แต่ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ เขาก็เลยไม่อยากไปไหนสิครับ แถมยังพยายามทำให้คนอื่นหันมาทำพฤติกรรมแบบตนเองอีกด้วย

วิธีการแก้ไขก็คงต้องไปดูว่าสาเหตุที่พนักงานรู้สึกไม่ผูกพันนั้นมาจากปัจจัยอะไรเป็นหลัก และแก้ไขไปตามปัจจัยนั้น เพื่อพยายามสร้างให้คน 27% นี้เข้าสู่ระดับ Not Engaged ก่อน แล้วจึงค่อยๆ ขยับเข้าสู่ระดับ Engaged ในลำดับถัดไปครับ

เรื่องการสร้าง Engagement กับพนักงานนั้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ง่ายนะครับ แต่ถ้าผู้บริหารให้ความใส่ใจ และตั้งใจจริงที่จะแก้ไขอย่างจริงจังแล้ว ผลมันเกิดขึ้นได้จริงๆ ครับ จำนวนพนักงานที่ engaged ขององค์กรเราอาจจะมีมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกก็เป็นได้ครับ

คำสำคัญ (Tags): #ความผูกพัน
หมายเลขบันทึก: 486119เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2012 06:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท