ปฏิบัติให้อยู่เหนือความเบื่อ ความไม่เบื่อ...


 

การประพฤติปฏิบัติต้องอาศัยศีลอาศัยข้อวัตรปฏิบัติเป็นปฏิปทา เป็นนิสัย ให้เราทำตามพระวินัย ให้ทำตามข้อวัตร กิจวัตร


พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราขาดตกบกพร่อง ถ้าขาดตกบกพร่องแล้ว เป็นอันว่าเราทำงานทำหน้าที่ ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

การรักษาศีลการปฏิบัติธรรม เป็นการกระทำสิ่งเก่า ๆ ให้ชำนาญ


ส่วนใหญ่นักปฏิบัติไม่เข้าใจ คิดว่าการทำอะไรเป็นประจำทุกวันมันเป็นเรื่องจำเจ น่าเบื่อ วันไหน ๆ ก็รักษาศีล วันไหน ๆ ก็ประพฤติปฏิบัติ ก็เลยเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องซ้ำ ๆ ซาก ๆ จำเจ ทำไปไม่นาน ก็เลยพากันเบื่อ

การประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านให้เราปฏิบัติให้อยู่เหนือความเบื่อ ความไม่เบื่อ อยู่เหนือความชอบไม่ชอบ ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ศีลของเรามันจะไม่เกิด สมาธิมันจะไม่เกิด ปัญญามันจะไม่เกิด

เราจะมาเอาสายกลางของเราไม่ได้ เราต้องมาเอาสายกลางของพระพุทธเจ้า

ถ้าเราเอาตามใจของเรา อยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ทำ อันนี้เราจะเป็นคนเจ้าอารมณ์ เราจะเป็นคนไม่ตั้งมั่น เป็นคนสมาธิสั้นในอนาคตนะ

เวลานั่งสมาธิ พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ ท่านให้นั่งนาน ๆ ให้นั่งให้ทน ๆ มันจะสงบหรือไม่สงบ ก็นั่งนาน ๆ ไว้ก่อน ใจมันไม่สงบก็ให้กายมันสงบไว้ก่อน อย่าได้ลุกออกไปเดิน อดทนไว้ เพราะช่วงนี้ เป็นช่วงที่สมาธิกำลังจะเกิด

ความอดทนเป็นโอวาทของพระพุทธเจ้า...

ถ้าเราไม่มีความอดทนเรารักษาศีลก็ไม่ได้ ทำสมาธิก็ไม่ได้ เจริญปัญญาก็ไม่ได้ เพราะความอดทนเป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้มแข็งมั่นคง เหมือนต้นไม้ต้นหนึ่งมันอดทนผ่านฤดูแล้ง ฤดูฝน ฤดูหนาว

ถ้าอารมณ์เรามันเกิดมันคิดอย่างไร เราจะไปทำตามอารมณ์นั้น ๆ ไม่ได้
เพราะอารมณ์ก็เป็นเหมือนเด็กน้อย ๆ มันก็วิ่งไปวิ่งมา มันคิดอะไรมันก็วิ่งไปวิ่งมาเหมือนกับความคิดของเด็กนะ

คนเราถ้าเราไม่พัฒนาตัวเองอย่างนี้ไม่ได้นะ...

ทุก ๆ ท่าน ทุก ๆ คน ต้องรักตนเอง ต้องเมตตาตนเองเพื่อฝึกตนเอง เมื่อเรามีสถานที่ เรามีเพื่อนฝูง ครูบาอาจารย์ท่านพาประพฤติปฏิบัติแล้ว เราก็ต้องเอาใจใส่นะ

ให้ทำไปเรื่อย ๆ มันเป็นการสั่งสมความดีของเรา สั่งสมบารมีของเรา ถ้าเราอยากได้ อยากมี อยากเป็น ถ้าเราไม่ฝึกไม่ปฏิบัติมันก็ไม่มี ไม่เป็น

พระพุทธเจ้าท่านให้สนใจในตัวเองว่าขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่...? เรามาทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ให้ถูกต้องสมบูรณ์แล้วหรือยัง...?

เราอยากร่ำอยากรวยมันก็ไม่รวย อยากมีคุณธรรมมันก็ไม่มี ถ้าเราไม่สร้างเหตุสร้างปัจจัย ไม่ประพฤติปฏิบัติ ถึงมันจะเบื่อ ถึงมันจะไม่ชอบก็ต้องอดทน เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดี เพราะคนเรามันกิเลสมาก มันตัวตนมาก จึงต้องมาอดทน มาฝืน

“ส่วนใหญ่มันชอบอยู่ในอารมณ์ของสวรรค์...”

อารมณ์สวรรค์ก็คือ กินสบาย นอนสบาย ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยวสบาย

อารมณ์ของสวรรค์เป็นอารมณ์ที่ทำให้เราตกต่ำ คนติดสบาย ทำตามความสบาย ในอนาคต ก็เห็นว่ามีความทุกข์ทุกคน ถ้าเราติดอย่างนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ยังไม่ปลอดภัยอยู่นะ...!

เราฝึกงาน เราพัฒนางานของเรา ก็ให้เรามีความสุขกับการทำงาน...


อย่างเราฝึกหายใจเข้าสบายออกสบายก็เป็นการทำงานแล้ว อย่างเราเดินไปเดินมา เราก็มีสติอยู่กับการเดิน ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว มันก็เป็นงานเดินนะ

เราจะทำอะไรทุกอย่าง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามันเป็นอริยมรรคทั้งนั้น คือมรรคมีองค์ ๘ ที่เราจะได้ฝึกจิตใจ ให้จิตใจของเราได้มีความสุข มีความสงบ ถ้าไม่อย่างนั้นจิตใจของเราร้อนแย่เลยนะ..!

สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราเกิดสติ เกิดสมาธิ...

สมาธิตัวพื้นฐานในอิริยาบถทั้ง ๔ มันจะอบรมให้เราเกิดปัญญา เกิดความสงบสุขเย็นอกเย็นใจ ถ้าไม่อย่างนั้นจิตใจของเราก็ไม่มีที่อยู่ มันวิ่งเตลิดเปิดเปิงไปที่ไหนก็ไม่รู้ เป็นจิตใจอนาถา ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ แทนที่วัน ๆ หนึ่งจะได้มีความสุขสงบร่มเย็นก็ไม่ได้มีเลย

โน้นแหละ... จะไปเอาพระนิพพานที่มันอยู่ไกล ๆ นอกกายนอกใจของเราโน่น นึกว่าตัวเอง ทำแต่งาน ยุ่งแต่งาน ไม่มีเวลาปฏิบัติ อย่างนี้มันก็คิดไป

คนเรามันมีหน้าที่มีการงาน มีสิ่งที่จะต้องรับผิดชอบ

พระพุทธเจ้าท่านให้เราปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ การทำการงานชอบ ถ้าเราทำอย่างนี้ชีวิตของเราก็จะมีความสุขมีความสงบขึ้นอีก

เราอยู่ในบ้านในที่ทำงาน ให้เรารู้จักรู้แจ้ง บางคนก็เป็นคนมีศีล บางคนก็เป็นคนไม่มีศีล เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของเขา เรื่องส่วนตัวของเขา เขาจะดีจะชั่ว เขาจะนิสัยดีไม่ดีก็ช่างหัวเขา บางคนเป็นโรคประสาท เราจะไปเป็นโรคประสาทกับเขามันก็ไม่ดีนะ

เราจะไปเต้นตามคนอื่นมันก็ไม่ไหวนะ...

บางคนมันใจร้อน ลุกลี้ลุกลน อาการกิริยาต่าง ๆ นะ ถ้าเราส่งใจตามไปเรานี้แย่แน่แหละ สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ ความเยือกเย็น เราก็มีความสุขกับการทำงานของเรา มีความสุข กับการเจริญอานาปานสติ มีความสุขกับการหายใจเข้าออกให้สบาย

การเจริญอานาปานสติของเรานั้นไม่ใช่ทุกลมหายใจหรอก เช่น ๔-๕ นาที เราหายใจเข้าออกสบาย เพื่อควบคุมตัวเอง เพื่อตั้งมั่นให้มันสงบ

ถ้าเราเอาทุกลมหายใจมันจะเครียดได้...

เราทำการทำงานสักพักหนึ่ง เราก็มาหายใจเข้าออกสบายสัก ๔-๕ นาที ความสบายใจ มันก็เป็นสมาธิที่หล่อเลี้ยงจิตใจของเรา เรานอนก็เพื่อให้กายสบายให้ใจสบาย เราบริโภคอาหาร ก็เพื่อให้กายสบาย ให้จิตใจสบาย เราทำการทำงานก็เพื่อให้กายสบาย เพื่อให้ใจสบาย

เราต้องหางานให้ตัวเองเป็นเครื่องอยู่นะ...

ส่วนใหญ่คนเราจะอยู่กับความเพลิดเพลิน เช่น การดูโทรทัศน์ ฟังเพลง อย่างนี้เป็นต้น เครื่องอยู่อย่างนี้มันสู้เราเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือปัดกวาดเช็ดถูไม่ได้

เราสังเกตดูพระพุทธเจ้าก็ดี ดูครูบาอาจารย์ที่ท่านหมดกิเลสก็ดี ท่านเป็นคนขยัน ท่านไม่อยู่นิ่ง ๆ ท่านเป็นคนเสียสละ ไม่ติดสุขติดสบาย เราคนส่วนใหญ่มันก็จะเอาแต่ความสุขจากการพักผ่อน ดูหนังฟังเพลง แต่ครูอาจารย์ท่านเอาความสุขจากการเสียสละ ท่านเอาความสุขจากการละตัวละตน...

พระเณรหรือญาติโยมที่มาอยู่วัด ครูบาอาจารย์ท่านมีเมตตาให้เรานั่งสมาธิให้มันมาก ๆ เดินจงกรมให้มันมาก ๆ เพื่อจะให้ใจอยู่กับการเดินจงกรม การเดินจงกรมนี้ดีมาก พระพุทธเจ้าท่านก็เดินจงกรม พระอรหันต์ท่านก็เดินจงกรม ครูบาอาจารย์ที่กำลังจะหมดกิเลสท่านก็เดินจงกรม 

จำเดิมตั้งแต่ต้นจนตลอดชีวิต พระอรหันต์ท่านก็เดินจงกรม เพราะการเดินจงกรมได้ทั้งความแข็งแรงทางร่างกาย แล้วก็ได้ทั้งความแข็งแรงทางจิตใจ เดินกลับไปกลับมาอยู่นั่นแหละ ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก คิดมากเดี๋ยวมันฟุ้งซ่าน มันคุมตัวเองไม่อยู่

เราอย่าไปคิดว่าถ้าไม่คิดเดี๋ยวปัญญามันไม่เกิด เราอย่าไปคิดอย่างนั้น ให้จิตใจมันสงบก่อน ให้จิตใจมันนิ่งก่อน ถึงค่อยเอาความสงบ ความเยือกเย็นไปใช้งาน

เราทำงานได้วันละ ๑,๐๐๐ แต่เราเอาไปใช้วันละ ๒,๐๐๐ มันก็ไม่ได้...

ความสงบของเรามีนิดเดียว แต่เราก็ไปใช้สมองมาก เดี๋ยวความฟุ้งซ่านมันก็จะเกิดแก่เรา

เราเดินให้นาน ๆ หน่อย เดินจงกรมแล้วก็นั่งสมาธิ คือนั่งหายใจให้มันสบาย หายใจเข้าสบาย ออกสบาย เราไม่ต้องไปคิดอะไร ให้เรานั่งหายใจเข้าออกสบาย ถ้าเราคิด เราอยาก เราต้องการใจของเรามันก็ไม่สงบ เพราะคนเราใจมันไม่มีสมาธิ มันเลยต้องมาฝึก มาฝึกหายใจเข้าออกสบาย อยู่กับการหายใจเข้าก็รู้ลมเข้าสบาย หายใจออกก็รู้ลมออกสบาย เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ มันจะปวดแข้งปวดขาก็ช่างมัน ให้เรามารู้ลมหายใจเข้าออกสบาย

ยิ่งเราไม่อยากให้มันเจ็บปวดมันก็ยิ่งปวด เพราะจิตใจเราไปบังคับมัน หรือถ้าเราไม่ดูลมหายใจ ก็ให้กำกับพุทโธก็ได้ เพราะจุดมุ่งหมายก็คือความสงบเหมือนกัน

เราอย่าไปสงสัยในองค์ภาวนา...

เพราะหลายวัดองค์ภาวนามันไม่เหมือนกัน ไม่ว่าเราทานข้าว ทานขนมปัง จุดมุ่งหมายก็คือ หายเหนื่อย ดับทุกข์เหมือนกันอย่างนี้นะ
พระพุทธเจ้าท่านให้เราฝึกสมาธินะ พยายามฝึกอยู่กับตนเอง ฝึกสร้างบ้านให้จิตใจของตัวเอง

ส่วนใหญ่นะคนเรามันเก่ง งานภายนอกมันเก่ง แต่งานทำใจทำสมาธิให้มันสงบมันไม่เก่ง เรามีโอกาสมีเวลามาบวชหรือญาติโยม มีโอกาสมีเวลามาวัดเราก็ต้องมาฝึกสมาธิกัน เราจะได้อยู่กับตัวเองเป็น ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็จะระบายอารมณ์ด้วยการไปหาพูดหาคุย

 

ให้เรายกเอากรรมฐานมาฝึกสมาธิ...

ทำไปเรื่อย ๆ มันสงบได้ ๑ นาที ๒ นาที ก็ยังดี ๕ นาที ๑๐ นาทีก็ยังดี การทำสมาธิถือว่า เป็นบุญใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่นะ

เรามีโอกาสมีเวลาอย่างนี้ เราต้องขวนขวายทำขวนขวายประพฤติปฏิบัตินะ
ถ้าเราประพฤติปฏิบัติแล้วมันดี มันมีประโยชน์ ถ้าไม่อย่างนั้นเรามาบวชมาสำนักปฏิบัติ ก็ไม่ได้ปฏิบัติ ก็ได้แต่ปล่อยเวลาให้เสียไป

ทีนี้เราจะไปโทษคนอื่นไม่ได้นะ เราไม่ปฏิบัติ เราอย่าไปคิดว่าบุญวาสนาน้อย ก็เราเองมันไม่ปฏิบัติ...

 


 

พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย
เช้าวันพุธที่ ๒๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๕

http://portal.in.th/i-dhamma/pages/8022/

หมายเลขบันทึก: 486095เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2012 21:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท