พราหมณ์ : ตำนานการโล้ชิงช้าในเอกสารไทย


จิตรกรรมฝาผนังการโล้ชิงช้าที่วัด มหาเจดีย์ บ้านกรูดจ.ประจวบคีรีขันธ์ 

 

เอกสารไทยนับแต่โบราณหลายฉบับเราพบว่ามีความคล้ายคลึงกัน เช่นเอกสารตำนานต่าง ๆ ของล้านนาที่มีความคล้ายคลึงกันหลายฉบับวรรณกรรมชาวบ้าน เช่นนิทานเรื่องมโนราห์ของล้านนาคล้ายคลึงกับนิทานเรื่องมโนราห์ของภาคใต้นิทานเรื่องศรีธนญชัยของไทยคล้ายคลึงกับนิทานเรื่องเชียงเมี่ยงของลาวฯลฯ ทั้งนี้เพราะไม่ว่าจะเป็นนิทาน ตำนานหรือแม้แต่เอกสารทางประวัติศาสตร์หมายถึงผลผลิตทางภูมิปัญญาของนักปราชญ์ ผู้รู้พื้นบ้านสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม บันเทิง สาระความรู้คติสอนใจ บทเรียน อาจเริ่มต้นจาก วรรณกรรมมุขปาฐะถ่ายทอดผ่านรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งจนแพร่หลายในสังคมจนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจนเมื่อมีการบันทึกเป็น วรรณกรรมลายลักษณ์วรรณกรรมทั้งสองประเภทถูกส่งต่อกันไปเรื่อย ๆไม่ว่าจะเป็นการคัดลอกแล้วมีการนำติดตัวเดินทางการเกิดทางของนักเล่านิทาน พ่อค้า พระสงฆ์เมื่อสังคมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ผ่านการเวลานานขึ้น ส่งต่อกันมากขึ้น ในที่สุดก็แทบจะหาต้นฉบับไม่ได้หาผู้แต่งไม่ได้ และแทบจะสืบไม่ได้เลยว่าเกิดขึ้นครั้งแรกที่ใดทั้งนี้อาจมีหลายที่ที่แต่งเรื่องราวนั้นออกมาเหมือน ๆ กันสอดคล้องกัน เพราะมีสาเหตุปัจจัย ประสบการณ์ ความเป็นอยู่ที่คล้ายกันทั้งหมดทั้งมวลจึงเรียกว่า การแพร่กระจายทางวัฒนะธรรมมีทฤษฎีตั้งไว้เพื่ออธิบายสิงประเภทคือทฤษฎีเอกกำเนิดและ ทฤษฎีพหุกำเนิด

 

ที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้ตำนานหลายตำนานจึงมีความคล้ายคลึงกันใกล้เคียงกัน อาจจะเปลี่ยนเพียงชื่อบุคคล สถานที่ไปตามภูมิภาคที่ตำนานนั้น ๆ  อยู่ด้วย

 

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงตำนานการโล้ชิงช้าหรือพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวายพิธีกรรมเพื่อทดสอบความมั่นคงของแผ่นดินและให้กำลังใจกับประชาชนที่ประกอบขึ้นในเดือนยี่ที่มีความเป็นมายาวนานอย่างน้อยก็สมัยอยุธยาปรากฏอยู่ในเอกสารอย่างน้อยสองฉบับตามที่ผู้เขียนค้นพบคือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวัน วลิต และตำนานพราหมณ์นครศรีธรรมราช

 

พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวัน วลิต เขียนโดยเยเรเมียส  ฟาน  ฟลีต ชาวฮอลันดาหรือที่คนไทยรู้จัก ในชื่อ  วันวลิต ได้กล่าวถึงการโล้ชิงช้าของกรุงศรีอยุธยาว่าเริ่มขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ กล่าวโดยสรุปคือครั้นสมัยสมเด็จพระรามาธบดีครองราชในพระนครศรีอยุธยานั้น ในรามรัฐชายฝั่งโจฬะมณทล (เมืองหนึ่งในพาราณาสี ส่วนหนึ่งของอินเดีย)มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งนามเดียวกับพระรามาธิบดีพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ทรงคิดเสมอว่าพระองค์แต่เพียงผู้เดียวสง่างามมีเกียรติยศและปกครองแผ่นดินดีที่สุดพระองค์ได้ข่าวว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามมีพระนามและตำแหน่งเหมือนกับพระองค์ก็ทรงพระพิโรธจึงใช้อาคมมากมายหลายรูปแบบส่งมาทำร้ายพระเจ้าแผ่นดินสยามหลายต่อหลายครั้งแต่ไม่เคยสำเร็จสักครั้ง  ในครั้งท้ายสุดพระองค์ทรงส่งช่างโกนหนวดสี่คนมาถวายพระเจ้าแผ่นดินสยามพร้อมกับกำชับว่าหากสบโอกาสครั้งใดให้ปลงพระชนม์กษัตริย์สยามให้ได้แต่ช่างโกนหนวดก็ทำการไม่สำเร็จจึงกลับไปแจ้งข่าวแก่พระองศ์ถึงพระราชอำนาจอันวิเศษของกษัตริย์สยามพระองศ์จึงยอมรับในพระราชอำนาจแห่งกษัตริย์สยามยอมเป็นพระราชไมตรีที่ดีต่อกัน

 

           “...เพื่อจะแสดงว่าพระองค์ทรงปรารถนาซึ่งไมตรีพระองค์ทรงพระประสงค์จะส่งสินค้าที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จักในสยามไปถวายพระองค์ทรงตรัสถามช่างโกนทั้งสี่ว่าการละเล่นหรือดนตรีชนิดใดบ้างในอาณาจักรของพระองค์ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในอาณาจักรสยามช่างโกนหนวดทั้งสี่กราบทูลว่า ไม่ว่าการละเล่นหรือดนตรีใด ๆในอาณาจักรนี้ ปรากฏมีทั่วไปในสยาม ยกเว้นแต่กระดานโล้ชิงช้าพวกเขาทั้งสี่ยังไม่เคยพบพราหมณ์ในสยามซึ่งสามารถขจัดปัดเป่าเคราะห์ร้ายหรือคำสาปที่ครอบคลุมพระราชสำนักของพระเจ้าแผ่นดินตัวเมืองหรือชนบทเลย ดังนั้นพระเจ้าแผ่นดินแห่งรามรัฐจึงทรงส่งพราหมณ์สองคนซึ่งมีความรู้สูงพร้อมทั้งพระราชสาส์นจึงมีใจความขอเป็นพระสหายไปยังพระเจ้าแผ่นดินสยาม...พระองค์ยังมีกระแสรับสั่งให้พราหมณ์แสดงวิธีโล้ชิงช้าให้เป็นที่รู้จักและคงอยู่ในสยามตลอดไป พระเจ้าแผ่นดินทรงยอมรับพราหมณ์ทั้งสอง พระราชสาส์นและสันถวไมตรีและมีพระราชสาส์นตอบสถาปนามิตรภาพของทั้งสองพระองค์ซึ่งคงอยู่จนทุกวันนี้มีการยืนยันทุก ๆ สองหรือสามปีด้วยพระราชสาส์นจารลงบนแผ่นทองตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาก็มีพราหมณ์จากที่ต่าง ๆ เดินทางมาสู่สยามโดยเฉพาะมาจากรามรัฐและพราหมณ์เหล่านี้ได้รับความยกย่องนับถือในหมู่พระเจ้าแผ่นดินเจ้าชาย พระบรมวงศานุวงศ์แลประชาชน”  (วันวลิต, ๒๕๔๘ :๓๔)

 

          นอกจากตำนานการเข้ามาของเสาชิงช้าในนครศรีอยุธยาสมัยพระรามาธิบดีแล้วตามพงศาวดารฉบับวันวลิต แล้ว ในนครศรีธรรมราชเองก็มีตำนานการเข้ามาของเสาชิงช้าเช่นกันซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตำนานดังกล่าวชื่อว่าตำนานพราหมณ์นครศรีธรรมราช

 

           “ครั้งหนึ่งมีพ่อค้าชาวรามนครคนหนึ่งนำสิ่งของเข้ามาขายในกรุงศรีอยุธยาเมื่อขายเสร็จแล้วก็จัดซื้อสิ่งของบรรดามีในกรุงศรีอยุธยาบรรทุกเรือกลับไปยังรามนคร ครั้นแล้วก็ได้นำสิ่งของต่าง ๆเข้าเฝ้าถวายต่อเจ้าเมืองรามนคร อันมีพระนามว่าพระนารายรามาธิบดีและได้กราบบังคมทูลเรื่องราวที่ได้เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาว่าเจ้าเมืองแห่งนครนั้น ก็ทรงพระนามว่า พระนารายณ์รามาธิบดีเหมือนกันเจ้าเมืองรามนครทรงทราบดังนั้นจึงสั่งให้จตุรทหารเอาเครื่องจตุรภัณฑ์เข้ามายังพระนครศรีอยุธยาและรับสั่งว่าถ้าเป็นพระนารายณ์จริงจะเห็นเป็นสี่กรให้เอาเครื่องบรรณาการนั้นถวายแต่ถ้าเป็นธรรมดาแล้วให้ตัดศีรษะเสีย  ทหารทั้งสี่เหาะมาทางอากาศเข้าสู่พระราชมณเฑียรของพระนารายณ์รามาธิบดีแห่งกรุงศรีอยุธยาเมื่อได้เข้าไปในห้องบรรทม ก็ได้เห็นพระนารายณ์รามาธิบดีบรรทมอยู่และมีสี่พระกรด้วยอานุภาพอันอัศจรรย์...ครั้นพระนารายณ์ตื่นบรรทมเห็นเข้าจึงทรงถามดูเมื่อได้ทราบความจริงจึงทรงโสมนัสยินดี...ทรงมีรับสั่งให้จัดเครื่องราชบรรณาการให้ทหารทั้งสี่กลับไปถวายตอบแทน...พระนารายณ์แห่งรามนครทราบความจริงพระองค์จึงรับสั่งให้ราชทูตนำเทวรูปพระนารายณ์พระลักษมี พระมเหศวรี บรมหงส์ และชิงช้าทองแดง ลงเรือมาถวายยังกรุงศรีอยุธยาในระหว่างทางเรือได้ถูกพัดพาเข้ามายังปากแม่น้ำเมืองตรังข่าวทราบถึงเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชพร้อมด้วยบริวารพากันไปรับเทวรูปทั้งหมดไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราชแล้วแจ้งข่าวไปยังพระนารายณ์แห่งพระนครศรีอยุธยาสมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดให้มารับเทวรูปโดยทางเรือขณะนั้นบังเกิดอัศจรรย์มีลมพายุมาเป็นเมฆหมอกมืดอยู่ 7 วัน 7คืน  เทวรูปพระนารายณ์ก็นิมิตให้เจ้าพระยาโกษาธิบดีทราบว่าพระองค์ต้องการอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช....บรรดาข้าราชบริพารทั้งหลายจึงต้องนำเทวรูปกลับมาไว้ตามเดิม...สมเด็จพระนารายณ์จึงมีพระบรมราชโองการให้หาเจ้านครที่เหมาะสมให้ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ไว้ณ เมืองนครนั้น เจ้านครพร้อมด้วยออกทหารกรมการเมืองจึงพร้อมใจกันตกแต่งสถานที่ตามพระบรมราชโองการแล้วอันเชิญเทวรูปพระนารายณ์พระลักษมี พระมเหศวรี บรมหงส์ และชิงช้าทองแดงประดิษฐาน ณ ที่นั้นจัดให้มีการสมโภชแบบพราหมณ์เป็นประจำเสมอมา” (อ้างใน บำรุงคำเอก ,๒๕๕๐ ๒๑)

 

ผมจึงไม่ขอสรุปว่าตำนานฉบับไหนเก่ากว่าฉบับไหนฉบับไหนเป็นจริงกว่ากัน เพราะในกรุงเทพฯและนครศรีธรรมราชก็มีพราหมณ์พระราชพิธีด้วยกันทั้งสองที่มีเทวสถานโบสถ์พราหมณ์เหมือนกัน มีเสาชิงช้าเหมือนกันและยังประกอบพิธีโล้ชิงช้าอยู่เหมือนกันจึงขอยกให้เป็นปัญหาของนักวิชาการต่อไป

 

วาทิน ศานติ์ สันติ

๒๒ เมษายน ๒๕๕๕

 

เอกสารประกอบการเขียน

บำรุง คำเอก.รายงานการวิจัยเรื่องอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในรัชสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น.ภาควิชาภาษาตะวันออกคณะโบราณคดีได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัยและการพัฒนามหาวิทยาลัยศิลปากร,มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๐.

 

ท.กล้วยไม้ ณ อยุธยา, ศาสตราจารย์พิเศษ. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ.เทวสถานโบสถ์พราหมณ์เสาชิงช้า. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์อัมรินทร์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.

 

วัน วลิต. พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวัน วลิต พ.ศ. ๒๑๘๒.พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : มติชน.๒๕๔๘.

หมายเลขบันทึก: 485888เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2012 23:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2018 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท