ป้องกันโรค พบบ่อย


โรคฮิตคนเมืองป้องกันได้
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 1 ตุลาคม 2548 11:30 น.
        สถิติคนเมืองเป็นโรคมะเร็งโรคหัวใจนอกจากมีจำนวนมากขึ้นแล้ว ยังเริ่มเป็นตั้งแต่อายุยังน้อย (30 ปีต้นๆ) นับวันโรคธรรมดา(แต่ช่างบั่นทอนชีวิตประจำวันเหลือเกิน) อย่าง ปวดหัว เป็นหวัด ภูมิแพ้ มีแต่ขยาย ด้านภาวะจิตใจรึก็ซึมเศร้าเหงารัก ว่ากันว่าใน 100 คนต้องมีคนเป็นโรคซึมเศร้า 10 คน “รักษา” คงช้าไป มา “ป้องกัน” กันดีกว่า
       
        เพิ่งกลับจากงานศพแม่ของเพื่อนร่วมงาน ท่านเป็นมะเร็งเต้านม ตัวเพื่อนเองก็กลัวนักหนาเพราะว่ากันว่าเป็นโรคทางพันธุกรรมเสียด้วย
       
       ครั้นกลับมามองคนที่บ้านของตัวเอง พ่อก็เป็นโรคหัวใจ ทำบายพาสไปแล้ว แต่ต้องไปนอนฟอกไตทุกสัปดาห์
       
       ตัวเองรึ นอกจากปวดหัวปวดคอบ่อยๆ แล้ว อะไรนิดอะไรหน่อยก็ ‘ฮัดเช้ย’ คัดจมูกน้ำมูกไหล ราวกับเป็นหวัดทั้งปีทั้งชาติ
       
       นี่ยังไม่พูดถึงหลานสาววัยรุ่น ดูเป็นทุกข์ตลอดเวลา ไม่ยอมออกไปเที่ยวเหมือนเพื่อนวัยเดียวกัน เอาแต่เก็บตัวจนน่าเป็นห่วง
       
       ***********************
       
       คุณกำลังอยู่ในภาวะแบบนี้มั้ย ? สังคมคนรอบข้างของคุณเป็นอย่างนี้รึเปล่า ?
       “ปัจจุบันนี้คนเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคภูมิแพ้ โรคกระเพาะ โรคปวดศีรษะ โรคปวดหลัง ที่เรียกว่าโรค common คนเมืองเป็นจำนวนมากขึ้น”
       
       แพทย์อายุรกรรมจาก รพ.พญาไท1 ให้ข้อมูลอันน่าตกใจ
       “เมื่อก่อนเป็นกันตอนอายุมาก แต่เดี๋ยวนี้อายุน้อยประมาณ 30 ปีต้นๆ ก็เป็นกันแล้ว”
       
       รองศาสตราจารย์น.พ.ปิยมิตร ศรีธรา อายุรแพทย์โรคหัวใจ หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เปิดประเด็นว่า
       
       “คนเราไปสนใจกับการรักษามากกว่าป้องกัน”
       เรามาเสาะหาวิธีป้องกันโรคฮิตคนเมืองกันเหอะ
       
       ************
       
       สังคมเมืองขยาย ปัจจัยเสี่ยงทวี

       “15 ปีหลังมานี้ คนเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นมาก และเป็นอายุน้อยลง ประมาณ 35 ปีก็เริ่มเป็นแล้ว เพราะสังคมเมืองขยายตัว โรคนี้เป็นโรคที่ไปกับเมือง คนในเมืองไม่ค่อยออกกำลังกาย และมักมีความเครียดมาก”
       
        หมอปิยมิตรบอกว่า คนที่มีความดัน มีเบาหวาน มีไขมัน มีสิทธิ์หลอดเลือดตีบ เป็นโรคหัวใจทั้งสิ้น
       
        “เรียกว่าเป็นสหปัจจัย หลักๆ คือ สูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้หลอดเลือดแดงเกิดการอุดตัน เป็นเบาหวาน เป็นความดันโลหิตสูง และไขมันสูง อ้วนลงพุง คนเมืองจะอ้วนมากกว่าคนชนบท และคนเมืองก็เป็นความดันโลหิตสูงมากกว่าคนชนบท”
       
        ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ น.พ.ทองปลิว เปรมปรี ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งและพันธุกรรมบำบัด รพ.ปิยะเวท กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง
       
        “มะเร็งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม แต่สิ่งแวดล้อมเดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็นอากาศ อาหาร หรืออารมณ์ เป็นตัวช่วย ช่วยในทางไม่ดีนะ”
       
       อาจารย์หมอยกตัวอย่างคนชอบกินไก่ทอดแฮมเบอร์เกอร์
       “พวก junk food กินกันนัก มีแต่แป้ง คอเลสเตอรอล”
       
       และท่านก็บอกว่าผู้ชายเป็นมะเร็งตับเยอะที่สุด ส่วนผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมมากที่สุด
       “ภูมิแพ้มีหลายระบบ แต่เจอบ่อยสุด คือ ทางจมูก เป็นเรื่องมลพิษ การหายใจ ต่อมาก็เป็นภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นผื่น ภูมิแพ้ทางตา ฝุ่นละอองมาก ส่วนใหญ่ก็ตาแดงๆ คันตา”
       
       รองศาสตราจารย์ น.พ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม หน่วยโรคภูมิแพ้และคุ้มกันทางคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงโรคภูมิแพ้ว่า
       
       “สิ่งแรกที่ผมแนะนำคนไข้ คือ ให้หลีกเลี่ยง แต่เป็นไปได้ยาก เพราะส่วนใหญ่แพ้ไรฝุ่น”
        ว่าแล้ว หมออายุรกรรมที่ไม่ประสงค์ออกนามของรพ.พญาไท1 ให้ข้อมูลยาวเฟื้อย
       
       “โรคคนเมืองแป็นเรื่องของสังคม โยงกันไปหมด ไม่ตัวใดตัวหนึ่ง เอ้า งานยุ่งกินข้าวไม่ตรงเวลา นานเข้าเป็นโรคกระเพาะ บางครั้งความเครียดก็ทำให้เป็นโรคกระเพาะได้ ที่เรียกกันว่าเครียดลงกระเพาะ
       
       โรคปวดศีรษะก็มาหาหมอเยอะมาก พวกจ้องจอคอมพิวเตอร์นาน ทำงานที่ต้อง concentrate ดูบัญชี ดูตัวเลข ภาษาอังกฤษใช้ว่า tension headache ปวดหัวจากความเครียด ความเครียดของหมอไม่ได้หมายถึงอารมณ์ แต่เกิดจากความอ่อนล้า มักเป็นกันตอนบ่ายๆ เย็นๆ ปวดหัวกลุ่มนี้มักเกิดตอนเย็น
       
       บางคนเป็นไซนัสอักเสบ ก็มาด้วยอาการปวดหัว เสียงอู้อี้เหมือนคนเป็นหวัดตลอดปี แต่เขาไม่รู้หรอกว่าเขาเป็นไซนัสอักเสบ พอเอกซเรย์ หมอถึงแน่ใจว่าเขาปวดหัวเพราะภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
       โรคปวดหลังเจอบ่อยเช่นกัน ถ้าเป็นกลุ่มคนทำงานแล้วปวดหลัง มักเกิดจากอิริยาบถนั่ง ยืน เดินไม่ถูกต้อง ใส่ส้นสูงยืนนานๆ ทำให้กระดูกส่วนเอวแอ่นมากกว่าปกติ กล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่อยู่ด้านข้างกระดูกสันหลังต้องออกไปมาก เกิดอาการปวดหลังปวดขาตามมา จัดเป็นโรคได้ ทางการแพทย์เรียกกลุ่มนี้ว่า low back pain บางกรณีหมอตรวจแล้วไม่ใช่ปวดหลังธรรมดา ก็ต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น ปวดหลังจากหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม อายุน้อยๆ ก็เป็นกันได้
       
       ผู้ชายที่ปวดหลังส่วนมากมีพุง เข้ากลางคนหน้าท้องเยอะ เพราะฉะนั้นการที่จะยืนตัวตรงได้ มันต้องใช้แรงเพื่อรองรับน้ำหนักที่มากขึ้น หมอจะแนะนำให้ลดน้ำหนัก ลดเอว อาการปวดหลังก็จะดีขึ้น”
       
       รักษา(เฉพาะหน้า)
        หากเป็นกลุ่มโรค common คนเมืองส่วนใหญ่มักคว้ายาแก้ปวดมากินบรรเทา ไม่ว่าจะปวดหัว ปวดคอ หรือปวดประจำเดือน
       
       “เคยกินยาแก้ปวดแล้วนอนพัก ตื่นขึ้นมาก็หายปวดหัว แต่หลังๆ เอ๊ะ ยาแก้ปวดก็เอาไม่อยู่ เขาถึงมาหาหมอ”
       หมออายุรกรรมคนเดิมเล่าพฤติกรรมคนไข้ว่า ต้องรุนแรงก่อนถึงมาหาหมอ
       
       “อย่างปวดกระเพาะ ส่วนใหญ่ซื้อยาธาตุน้ำขาว หรือยาเม็ดเคี้ยวลดกรดในกระเพาะมากินเองก่อน จะไปหาหมอก็ต่อเมื่อรู้สึกเป็นถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น บางคนถึงขั้นอาเจียน น้ำหนักลด อุจจาระสีเข้ม จนเขาไม่แน่ใจว่าเป็นโรคอะไรร้ายแรงรึเปล่า”
       
       กรณีโรคร้ายแรง อย่างโรคมะเร็ง ระยะแรกมักไม่ปรากฏอาการเจ็บปวด โรคหัวใจสำแดงฤทธิ์ทีก็ ‘แตก’ ‘ตีบ’ ‘ตัน’ ‘ช็อก’ เลย
       
       “ย.โย่งเสียชีวิตก็เพราะเกิดการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลัน”
       หมอปิยมิตรย้อนเล่า พร้อมกำชับ
       
       “ปัญหาของคนเป็นความดันกับเบาหวานจำนวนครึ่งหนึ่งไม่รู้ว่าตัวเองเป็น ซึ่งไม่ต้องคุยกันเลย เพราะต้องรอให้เกิดอาการเท่านั้น
       
       และครึ่งหนึ่งที่รู้ตัวว่าเป็น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะดูแลดีเท่าไร เพราะไม่ ‘ตระหนัก’
       รู้ว่าตัวเองเป็น แต่ไม่ตระหนักที่จะดูแลป้องกัน ตัวอย่างง่ายๆ เรื่องออกกำลังกาย ชอบพูดว่า ‘มีเวลาว่างจะทำ’ ถ้าพูดแบบนี้ ชาตินี้ก็ไม่ได้ทำ..”

       ป้องกัน..ดีกว่ารักษา
        หมอทุกท่านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า(ว่าที่)คนไข้ต้องพัฒนาตัวเองให้เท่าทันโรค และปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์
       
       “ไม่ใช่กินยาหาหมอ แต่ต้องรู้ธรรมชาติของโรคด้วยว่าเกิดจากอะไร”
       หมอปิยมิตรให้สังเกตตัวเอง สมมุติเป็นความดันโลหิตขึ้นสูง ต้องดูว่าเครียดอยู่มั้ย ออกกำลังกายรึเปล่า งดกินเค็มรึยัง นอนน้อยใช่มั้ย ฯลฯ
       
       “ถ้าปรับการดำเนินชีวิตของตัวเองแล้วความดันยังไม่ดีขึ้นถึงค่อยไปขั้นกินยา และยามีตั้ง 100 ชนิด หมอจะดูว่ายาไหนแมทช์กับคนไข้ นัดตรวจ follow up ไม่ใช่กินไปแล้วเห็นไม่เป็นไรก็เลิกกินยา ไม่ไปหาหมอ”
       
       ขอบอก โรคความดันกับโรคเบาหวานเป็นภัยเงียบ ใครเป็นแล้วต้องหาหมอตลอดชีวิต โดยไม่ลืมออกกำลังกาย ควบคุมเรื่องอาหารการกิน ไม่เค็ม ไม่หวาน และไม่รสจัดเกินไป
       
       “การออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องจะช่วยเรื่องหัวใจและความดันได้ การวิ่งก็ได้แต่คนที่ไม่เคยวิ่งเราจะไม่แนะนำ ให้ไปเดินเร็วแทนดีกว่า อย่าไปออกกำลังกายที่มีการเบ่งหรือเกร็ง อย่าง ยกน้ำหนัก ก็แล้วกัน”
       
       หมอปิยมิตรแนะนำ ขณะที่หมอเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้บอกคล้ายๆ กัน
       “ภูมิต้านทานที่ดีที่สุดสำหรับคนเป็นโรคภูมิแพ้ คือ ร่างกายต้องแข็งแรง พยายามเลือกกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง เต้นแอโรบิก วิ่ง ว่ายน้ำ ได้หมด”
       
       แล้วปฏิบัติตามสุขบัญญัติประจำวันง่ายๆ (แต่ทำยาก) ได้แก่ กินให้ครบ 5 หมู่ นอนให้พอ 6-7 ชั่วโมง และดื่มน้ำให้ถึง 8 แก้ว
       
       “กินอาหารไทย ข้าวกับน้ำพริกนี่แหละให้คุณค่าสารอาหารครบ และทำกินเองในบ้านดีกว่า เพราะเราสามารถกำหนดปริมาณน้ำมัน เกลือ น้ำตาล ในการประกอบอาหาร
       คนวัยทำงานควรนอนให้ได้อย่างต่ำ 6-7 ชั่วโมงต่อวัน และช่วงเวลาที่ดีของการนอน คือ 4 ทุ่ม ถึง ตี 5, 6 โมงเช้า”
       หมอพญาไท1 เน้นว่าเรื่องนอนสำคัญมาก
       “แค่นอนดึกหรือนอนไม่พอ มันจะเสียไปทั้งระบบ ภูมิต้านทานจะลดลง สังเกตสิคนนอนดึกนอนน้อยจะเป็นหวัดง่าย โอกาสติดเชื้อง่ายขึ้น
       
       คนดื่มน้ำน้อย ปัสสาวะออกมาจะเป็นสีอำพัน เข้าห้องน้ำปัสสาวะเสร็จอย่าเพิ่งรีบกด ก้มลงไปดูสีด้วย ถ้าสีอ่อน โอเค แต่หากเป็นสีเข้ม เป็นสัญญาณบอกแล้วว่าต้องดื่มน้ำเยอะหน่อย”
       
       ท้ายสุด หมอทุกท่านฝากให้ชาวเมโทรไลฟ์หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เนื่องจากเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้รู้ว่ามีความผิดปกติอะไรในร่างกายรึเปล่า
       
       ***********
       
       ตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยตนเอง

       ทำง่ายๆ เพียงเดือนละครั้ง ช่วงเวลาเหมาะสมคือ 3 วันนับจากวันที่ประจำเดือนหมด สำหรับหญิงวัยหมดประจำเดือนแล้ว ให้ตรวจในวันที่จดจำง่าย และตรวจในวันเดียวกันของทุกเดือน
       
       ************
       
       ขั้นตอนการตรวจ

       หน้ากระจก นั่งหรือยืนหน้ากระจกเงา ปล่อยให้แขนทั้งสองข้างห้อยลงข้างตัว มองตรวจดูเต้านมอย่างละเอียด สังเกตว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับขนาดหรือรูปลักษณะของเต้านมหรือไม่ รวมทั้งตรวจหารอยบุ๋มหรือรอยย่นของผิวหนังเต้านม
       
        จากนั้นชูแขนสองข้างขึ้นเหนือศีรษะ สังเกตว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากที่ปล่อยแขนไว้ข้างลำตัวรึเปล่า ไม่ว่าจะเป็นขนาด รูปลักษณะของเต้านม และรอยบุ๋มรอยย่นของผิวหนังเต้านม
       
        ต่อไป ยืนตัวตรงโดยมือทั้งสองข้างวางที่สะโพก โน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย พร้อมกับเกร็งหัวไหล่ซึ่งจะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อหน้าอกตึงขึ้น และสังเกตความผิดปกติของขนาดและรูปทรงของเต้านม แล้วบีบหัวนมเบาๆเพื่อตรวจดูว่ามีน้ำเลือดหรือน้ำเหลืองออกมาด้วยหรือไม่ ถ้ามีควรไปปรึกษาแพทย์ทันที

       ท่านอน เริ่มตรวจเต้านมขวาก่อน
       ยกมือขวาไว้ข้างหลังศีรษะเพื่อให้เต้านมด้านนั้นแผ่ราบทำให้คลำก้อนเนื้อได้ง่ายขึ้น สาวไหนหน้าอกใหญ่ต้องใช้หมอนหรือม้วนผ้าหนุนไหล่ขวาเพื่อให้หน้าอกตึงขึ้น มือซ้ายตรวจเต้านมขวา โดยแบมือออกใช้นิ้วชี้นิ้วกลาง และนิ้วนางกดลงบนเต้านม การกดควรกด 3 ระดับ หนึ่ง-กดเบาๆให้รู้สึกถึงบริเวณใต้ผิวหนัง สอง-กดปานกลาง ให้รู้สึกถึงบริเวณกึ่งกลางของเต้านม สาม-กดหนักขึ้น ให้รู้สึกได้ถึงส่วนลึกเข้าผนังปอด

       มีวิธีการคลำ 2 แบบ สามารถเลือกแบบใดแบบหนึ่ง
       แบบแรก เป็นวิธีการคลำในแนวก้นหอย โดยการค่อยๆขยับมือวนเป็นก้นหอยไปในทิศทางเดียวกัน ค่อยๆขยายวงจนคลำทั่วเต้านม
       
        แบบที่สอง เป็นวิธีการคลำในแนวขึ้นลงจากใต้เต้านมถึงกระดูกไหปลาร้า โดยเริ่มคลำจากใต้เต้านมขึ้นไปเรื่อยๆถึงกระดูกไหปลาร้า แล้วขยับนิ้วทั้งสามคลำในแนวขึ้นและลงสลับกันไปเรื่อยๆจนกระทั่งทั่วทั้งเต้านม
       
        จากนั้นนั่งหรือยืนปล่อยแขนขวาลงแนบลำตัว แล้วใช้นิ้วมือซ้ายสามนิ้วกดตรวจบริเวณรักแร้เพื่อค้นหาก้อนที่ผิดปกติ
       
        เปลี่ยนมาตรวจเต้านมด้านซ้าย โดยปฏิบัติตามขั้นตอนเดิม แต่เปลี่ยนจากมือซ้ายเป็นมือขวา
       
       ***********
       
       ต้องห้าม ของโรคภูมิแพ้

       ตัวไรฝุ่น สาเหตุสำคัญของโรคภูมิแพ้ ถูกพบมากในที่นอน
       ป้องกันโดย จัดที่นอนให้ปลอดไรฝุ่น
       - เฟอร์นิเจอร์ น้อยชิ้นเท่าที่จำเป็น ควรใช้วัสดุที่ทำความสะอาดง่าย เช่น ไม้ บุหนังแท้หรือเทียม ไม่ควรบุผ้า
       - พื้นห้อง ไม่ควรปูพรม
       - ม่าน ไม่ควรใช้ผ้าม่านเพราะกักฝุ่น หันมาใช้มูลี่แทน ทำความสะอาดง่ายดีออก
       - หมอน ควรใช้ใยสังเคราะห์ และหุ้มด้วยผ้าไวนิลหรือผ้าใยสังเคราะห์พิเศษ ไม่ใช่นุ่นหรือขนนก และตากแดดทุก 1-2 สัปดาห์
       - ที่นอน ควรหุ้มด้วยผ้าใยสังเคราะห์ที่ป้องกันไรฝุ่นได้ และตากแดดทุก 1-2 สัปดาห์
       - ผ้าห่ม ควรทำจากใยสังเคราะห์หรือผ้าแพร
       อย่าลืม ซักเครื่องนอนด้วยน้ำอุ่น ทุก 1-2 สัปดาห์
       
       สัตว์เลี้ยง ขนยาวน่ารักขนาดไหน ไม่เหมาะกับคนที่เป็นโรคหืด-ภูมิแพ้หรอกนะ
       ป้องกันโดย
       - ตัดใจไม่เลี้ยงสัตว์มีขน เช่น สุนัข แมว นก กระต่าย
       - กรณีเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรให้อยู่นอกบ้าน และอาบน้ำให้ทุกสัปดาห์
       - ลองไปเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีขนแทน เช่น ปลา ไงล่ะ
       - ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์จ่ากขนสัตว์
       -
       เชื้อรา บ้านเราอากาศร้อนชื้น อับนิดอบหน่อยก็เกิดเชื้อราแล้ว
       ป้องกันโดย
       - กำจัดใบไม้ร่วงที่ทับถม (บ่อเกิดเชื้อรา)
       - ไม่ปลูกต้นไม้ในบ้าน
       - หมั่นทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องครัว โดยเฉพาะผนัง กระเบื้องปูพื้น
       - เปิดห้องให้อากาศถ่ายเท และแสงแดดส่องถึง
       
       **************
       
       คนออฟฟิศ(ชอบ)ปวดคอ

       อาการปวดคอ ‘เป็น’ เมื่อไร ‘เซ็ง’ ทำงานต่อแทบไม่ได้เลย สมองตื้อไปหมด เพราะนอกจากปวดที่ต้นคอแล้ว บางครั้งปวดลามไปถึงหัวไหล่และแขนด้วย หนักๆ มีก้อนแข็งตรงกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอด้วย แค่คลำโดนก็เจ็บ จนบางครั้งรู้สึกคลื่นไส้เป็นของแถมอีก ขอบ่น ทรมานและน่าเบื่อจริงๆ
       
       สาเหตุ
       ส่วนหนึ่งมาจากโรคบางชนิด เช่น หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน การอักเสบของข้อต่อจากสภาวะเสื่อมสภาพ อุบัติเหตุจากรถยนต์หรือการเล่นกีฬา
       
       อีกส่วนหนึ่งซึ่งใกล้ตัวและเกิดขึ้นบ่อยมากที่สุด คือ การนั่งผิดท่านานเป็นประจำ ไม่ว่าจะนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือนั่งขับรถหลังพวงมาลัย และแม้กระทั่งยืนผิดท่าตลอดเวลา นอนผิดท่าทุกคืน
       จัดท่ากิจวัตรให้ถูกต้อง = ป้องกัน
       ท่านั่ง
       ขณะนั่งหน้าจอคอมพ์ก็ดี นั่งขับรถก็ดี อย่านั่งในท่าโน้มตัวไปข้างหน้าเข้าใกล้เกินไป และก็อย่านั่งเอนหลังหย่อนพุงห่างเกินไป ควรปรับที่นั่งให้อยู่ในระยะไม่ใกล้ไม่ไกล ห่างกำลังดีมือถึงคีย์บอร์ดแป้นพิมพ์ ถึงพวงมาลัย ไม่ต้องยื่นแต่ก็ไม่ต้องงอพับข้อศอก สังเกตลำตัวต้องแนบพอดีกับที่พิงหลัง
       
       สำคัญ ปรับระยะตัวหนังสือที่ต้องอ่านประจำให้อยู่ในระดับสายตา เพื่อป้องกันการยอกของคอ เท้าควรอยู่เหนือพื้น 3-4 นิ้ว ช่วยลดอาการยอกของหลังและช่วยจัดแนวกระดูกสันหลังให้ตรง
       
       อย่าโน้มศีรษะลงขณะอ่านหนังสือ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อคอทำงานมากกว่าปกติ ควรยกหนังสือให้ตั้งขึ้นได้ระดับสายตา
       ท่ายืน
        เวลายืนและเดิน ศีรษะควรตั้งตรงบนลำตัว ไม่ก้มโค้งศีรษะลง ตอนอาบน้ำใต้ฝักบัวก็เช่นกัน หัวตั้งตรงไว้ ถ้าคุณเป็นคนรูปร่างสูง ใช้วิธีงอเข่าเล็กน้อยเพื่อให้ศีรษะอยู่ในระดับใต้ฝักบัว
       ท่านอน
        การใช้หมอนสูงเกินไปทำให้ศีรษะโน้มไปข้างหน้ามากเกินควร เป็นสาเหตุการยอกของกล้ามเนื้อคอได้ แนะนำให้นอนหงายบนหมอนใบเล็กโดยหนุนใต้คอ แต่ถ้าชอบนอนตะแคง ให้ใช้หมอนหนุนที่ระดับศีรษะและคอ
       ลดอาการ
        แทนที่จะกินยาแก้ปวด ลองมาใช้วิธีธรรมชาติ นำถุงพลาสติกหนาๆใส่น้ำแข็งประคบ และบริหารฟื้นสภาพกล้ามเนื้อของบริเวณต้นคอ เพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อต่อกระดูกคอ
       
       1.เคลื่อนศีรษะไปทางด้านหน้า-หลัง
       เริ่มจากตั้งศีรษะให้ตรงบนหัวไหล่ เคลื่อนไหวศีรษะช้าๆไปด้านหน้า แล้วเคลื่อนกลับมาด้านหลัง
       
       2.หมุนศีรษะ
       นั่งตัวตรง หมุนศีรษะไปทางซ้ายช้าๆ ให้มากที่สุด เสร็จแล้วหมุนกลับมาช้าๆ ก่อนหมุนไปทางขวาช้าๆ ให้มากที่สุดเช่นกัน
       
       3.ขยับหัวไหล่ตามเข็มนาฬิกา
       ยืนตรง ยกหัวไหล่ทั้งสองข้างขึ้นตรงที่บริเวณ 12 นาฬิกา หมุนหัวไหล่มาที่ 3, 6, 9 นาฬิกา และกลับไปที่ 12 นาฬิกา
       
       4.เคลื่อนไหวคอไปด้านข้าง
       ยืนตรง เคลื่อนคอไปทางด้านข้างช้าๆ พยายามให้ใบหูสัมผัสกับหัวไหล่ และเคลื่อนกลับไปที่หัวไหล่อีกด้านหนึ่ง
       
       5.ต้านกำลังเคลื่อนไหวทางด้านข้าง
       ใช้มือต้านแรงการเคลื่อนไหวของศีรษะทางด้านข้าง ทำแนวเดียวกันกับด้านตรงข้าม
       
       6.ท่ายกศีรษะ
       นอนหงายชันเข่าเล็กน้อย ใช้หมอนหนุนศีรษะ ยกศีรษะขึ้นและลงโดยให้หัวไหล่สัมผัสพื้นตลอดเวลา เปลี่ยนท่าเป็นนอนตะแคงแล้วยกศีรษะขึ้น-ลง ทีนี้เปลี่ยนเป็นท่านอนคว่ำ ยกศีรษะขึ้น-ลงเช่นกัน
       
       **************
       
       เกร็ดจากหมอ
       1. ใครชอบกินถั่วต้องระวัง เพราะสารอัลฟาท็อกซินซึ่งมักอยู่ในถั่วดิบชื้น เป็นสาเหตุสำคัญก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
       2. อ้วนแบบพุงห้อยมีความเสี่ยงสำหรับหลอดเลือดตีบ หัวใจถามหานะ เอาเป็นว่า ถ้าคุณผู้หญิงวัดรอบเอวจากสะดือมาชนสะดือเกิน 80 ซม. ส่วนคุณผู้ชายเกิน 90 ซม.ไขมันของพวกคุณเกินพิกัดแล้วล่ะ รีบไปหาหมอซะไป๊
       3. คนเป็นโรคเบาหวาน อย่าซี้ซั้วอินเทรนด์เข้าสปานวด ยิ่งนวดกดจุดขยำเส้นขยี้เนื้อ ความรุนแรงบวกความไม่สะอาด(ดีนัก)ของนิ้วมือเทอราปิสต์ อาจทำให้ผิวหนังอันบอบบางของคนเป็นโรคเบาหวานติดเชื้อ ยิ่งถ้าเป็นแผลลอกอยู่แล้วยิ่งหายยากเข้าไปใหญ่
       4. ฮิตกันนักอาหารเสริม วัยทองไปแล้วอัดแคลเซียมเม็ดเข้าไปเหอะ แต่วัยรุ่นวัยทำงานไม่จำเป็นเลยเจ้าค่ะ ฝรั่งกินเพราะอาหารของเขาเน้นเนื้อนมไข่ ผิดกับอาหารไทยของเรา น้ำพริกกะปิแคลเซียมเยอะมาก เคียงผักจิ้มเข้าไปอีก โอ๊ย ครบห้าหมู่แน่นอนจ้า เกรงว่าแคลเซียมไม่พอ ก็พกปลาเล็กปลาน้อยไว้กินเล่นสิ
       5. ยาแก้ปวดที่หมอกำชับว่าอย่าเอาตัวอย่างยาไปซื้อเอง เช่น ปวดข้อ รวมทั้งยาแก้ปวดหลังปวดหัวที่ชอบซื้อกันเอง ยากลุ่มนี้อาจมีปัญหากับไตในอนาคตได้
       6. หากญาติมีอาการแปลกๆ ไม่ว่าซึมเศร้า เวอร์ไฮเปอร์ หรือกระทั่งบอกว่าได้ยินเสียง มีคนมาสั่งให้เขาทำโน่นทำนี่ อย่าพาไปหาหมอผีคนทรงเจ้า ทึกทักว่าถูกของ เพราะอาการเหล่านี้เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ พาไปหาจิตแพทย์เพื่อค้นหาโรคทางจิตเวชเหมาะสมกว่า
       
       **************
       
       2 โรคจิตเวชใกล้ตัวคุณ (มาก)

       ถ้าคุณรู้สึกหดหู่ ท้อแท้ เบื่อหน่าย เซ็ง ขี้เกียจ ไม่อยากไปไหน ไม่อยากพูดกับใคร เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ไม่มีความสุข หงุดหงิดใจ คุณอาจเป็นโรคซึมเศร้า
       แต่วันดีคืนดี คุณลุกขึ้นมาไฮเปอร์ ไม่หลับไม่นอน ตื่นขึ้นมาดูทีวี ทำกับข้าว แล้วก็เที่ยวซื้อของยกโหล แจกจ่ายชาวบ้าน ยึดตัวเองเป็นใหญ่ คนอื่นผิดหมด ทุกคนต้องฟังชั้น พอสักพักกลับมาหยวนยอมคนอื่นหมด เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร อาการเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายแบบนี้ คุณอาจเป็นโรคไบโพลาร์
       
       “ปัจจุบันมีตัวเลขคนเป็นโรคซึมเศร้า 5-10% ส่วนไบโพลาร์ 1% และพบได้ตั้งแต่เด็ก 5-6 ขวบ ถึงชรา 80 ปี”
       
       น.พ. สันติชัย ฉ่ำจิตรชื่น จิตแพทย์ รพ.ศรีธัญญา ให้ข้อมูล
       “สองโรคนี้มีความชุกทางธรรมชาติมาก อัตราฆ่าตัวตายสูงทั้งคู่”
       
       ชักเริ่มน่ากลัวแล้วสิ ทำไมรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย
       “โรคทางจิตเวชมีหลายโรค เช่น โรคจิต ถึงขั้นหวาดระแวง หูแว่ว ประสาทหลอน, โรคจิตเภท เป็นโรคจิตที่มีความเสื่อมของการทำงานด้วย อย่างสมอง ความจำ, โรคอาละวาดจากการเมาสุรา และโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ เป็นต้น
       
       ใครที่เป็นโรคจิต ก็มาอยู่ที่นี่แล้ว แต่คนที่เป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคไบโพลาร์ล้วนใช้ชีวิตในสังคมปกติ ทำให้เฝ้าระวังดูแลยาก”
       
       สมควรรู้จักสองโรคนี้มากขึ้นแล้วล่ะ
       
       โรคซึมเศร้า
        มาจากศัพท์วิชาการภาษาอังกฤษว่า Major Depressive Disorder
       
       สังเกตได้ไง
        หมอสันติชัยอธิบายว่า อาการซึมเศร้าไม่ได้เปลี่ยนทันที เหมือนหวัด วันนี้ไม่มีน้ำมูก พรุ่งนี้มีน้ำมูก แต่มันจะค่อยๆ เปลี่ยน
       
       “คนไข้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะเปลี่ยนไป จากที่เคยสดใสร่าเริงกลายเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว เคยชอบไปเที่ยว ดูหนัง ชอปปิ้ง กลายเป็นไม่อยากทำอะไร อยากอยู่บ้านมากขึ้น พูดจากับคนอื่นน้อยลง
       
        อาจเห็นคนไข้ขี้เกียจ นอนเฉื่อยแฉะทั้งวัน สีหน้าอมทุกข์อมโศก ขมวดคิ้ว หน้าเครียด บางคนออกมาในแนวหงุดหงิดง่าย เจ้าอารมณ์ ขี้โมโห ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานบุคลิกนิสัยของแต่ละคน”
       
       ส่วนใหญ่คนเป็นโรคซึมเศร้ามักมีโรควิตกกังวลแฝงด้วย
       “คนที่เป็นโรควิตกกังวลจะไม่ซึมเศร้า ไม่ท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่เซ็ง ไม่เก็บตัว มีแต่วิตกอยู่นั่นแหละ คิดไม่หยุด คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ถามว่าคิดเรื่องอะไร ตอบไม่ได้เพราะมันเยอะแยะสะเปะสะปะไปหมด หรือบางคนวิตกกังวลเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งซ้ำซาก
       
       แต่คนไข้โรคซึมเศร้าจำนวนไม่น้อยที่มีอาการโรควิตกกังวลร่วมด้วย”
       ปัญหา-ไม่รู้ตัว
       “จำนวนเยอะมากไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า รู้แต่ว่าตัวเองท้อแท้ เบื่อหน่าย เซ็ง”
       นั่นเป็นปัญหาหนึ่ง ขณะที่อีกปัญหาหนึ่ง คือ
       
       “ทีนี้ใน 5-10% ของคนที่มีอาการก็ไม่ได้มารักษาทุกคน”
       หมอสันติชัยให้หลักการดูว่าเป็นโรคหรือไม่จาก
       
       “ความรุนแรง และระยะเวลา”
        ทั้งตัวคนซึมเศร้าเอง และคนใกล้ชิดควรจับสังเกต เพราะสองหลักการดังกล่าวใช้ได้กับโรคไบโพลาร์
  &
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4855เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2005 06:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท