คำพังเพยที่มีผลมากต่อสังคมไทย


คำพังเพยที่มีผลมากต่อสังคมไทย

 

คำพังเพยสั้นๆ เพียงสองสามคำ อาจมีผลต่อพฤติกรรมสังคมอย่างมหาศาล (ไม่ว่าไทยหรือเทศ)    เช่น คำว่า  “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง”  หรือ “ปากเป็นเอก เลขเป็นโท” เป็นต้น

 

พูดไปสองไพเบี้ยฯ นี้ เป็นคำพังเพยที่เป็นที่นิยมมาก   ผมเชื่อว่ามั ทำให้คนไทยเรากลายเป็นคนไม่กล้าพูด  กล้าแสดงออก ซึ่งนอกจากจะทำให้ตนเป็นคนขี้ขลาดแล้ว ยังทำให้ฝ่ายตรงข้าม กล้าที่จะทำอะไรผิดๆ เพี้ยนๆ ต่อสังคมได้ตามใจชอบ เลยไม่เกิด”การเมืองภาคประชาชน”  ในระดับไมโคร   ถ้าจะเกิดการเมืองระดับนี้ได้ก็ต้องรอให้มีผู้นำที่กล้าหาญ มีวาทะคม คารมเชือดเสียก่อน แต่พอมีผู้นำเหล่านี้ก็ไม่กล้าพูดค้านเขาอีก ปล่อยให้เขานำไปทำอะไรที่ตำบอนได้มาก เช่น เผาบ้านเผาเมืองเป็นต้น

 

ปากเป็นเอกฯ   นี่ดูเหมือนจะตรงข้ามกับ พูดไปสองไพเบี้ยฯ เลยนะ แต่เปล่าหรอก มันเสริมกันเสียมากกว่า เพราะ”เป็นเอก”นี้หมายถึงพูดจาโน้มน้าวหรือป้อยอเอาใจเจ้านายเสียเป็นหลัก ก็เลยยิ่งไปกันใหญ่    คำพังเพยนี้หรือเปล่าที่ส่งผลให้คนไทยเรา “เล่นกลอน” กันเก่งมาก ผมว่าเก่งที่สุดในโลก   

 

ส่วนเลขเป็นโท นั้น เลยทำให้คนไทยโบราณไม่ค่อยสนใจศึกษาคิดค้นด้านวิทยาศาสตร์ แต่การเล่นกลอน (ปากเป็นเอก) นั้น เราเอกกว่าใครเขาหมด แม้จนวันนี้คนไทยเราแต่งกลอนกันเก่งมาก ส่วนพวกฝรั่งนั้นยากที่คนธรรมดาจะมาเล่นกลอน

 

ภาษิตฝรั่งนั้นตรงข้ามกับเราเลย คือ แทนที่จะ "พูดไปสองไพเบี้ย"  เขาบอกว่าต้องส่งเสียงให้ดังที่สุด เพราะ "The squeakiest wheel gets the grease"  (ล้อที่ส่งเสียงดังที่สุดได้รับการหล่อลื่น)  ...ซึ่งผมพยายามบอกมานานว่า ฝรั่งมีนิสัยอิงตน ส่วนไทยมีนิสัยอิงนาย   จะไปลอกปชต. เขา หรือ ระบบอื่นๆ เขามาใช้ทั้งดุ้นโดยไม่ปรับเสียก่อนย่อมไม่ได้  ถ้าได้ ก็จะได้รับผลพวงอย่างระบอบทักษิณนี่แหละ

 

...คนถางทาง (๑๘ เมษ. ๒๕๕๕)

 

 

หมายเลขบันทึก: 485411เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2012 03:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ที่ผมอยากให้คนไทยเป็นคือ "ปากก็เอก เลขเกินโท" คือเก่งทั้งศาสตร์และศิลป ถ้าทำได้แบบนี้ เราจะเก่งที่สุดในโลก เหมือนเยอรมัน ที่เก่งทั้งวิทย์และศิลป อย่างหาใครจับได้ยาก

  • เวลาผู้ใหญ่พูด (อาจจะผิดก็ได้) เขาเรียกว่าสั่งสอน เวลาเด็กขอพูดบ้าง(อาจถูก) เขาเรียกกร้าวร้าว ไม่มีมารยาท ชลัญล่ะเซ็งผู้ใหญ่แบบนี้
  • เวลาผู้ใหญ่ นอนกลางวัน บอกพักผ่อนเอาแรง  พอเด็กนอนกลางวัน บอกอีนี่ขี้เกียจ (เรื่องเดียวกันมั๊ยนี่)
  • คุณคนถางทางนี่ ยายวินิยมชมชอบในความเป็นคนรอบด้าน (wellrounded person) ของท่านจริงๆ คนอะไร! เขียนได้ตั้งแต่เรื่องสากกะเบือยันเรือรบ เขียนแล้วก็ไม่สนใจว่าคนจะอ่านมากน้อยแค่ไหน อยากเขียนก็เขียนไป เขียนได้เร็ว เพิ่มบันทึกได้ทุกวัน บางครั้งเพิ่มบันทึกพร้อมกันแทบจะทุกหมวด อย่างยายวิเหรอจะตามอ่านทัน ก็เลือกอ่านเฉพาะชื่อที่ตนสนใจเท่านั้นแหละ อ่านแล้วแสดงความเห็นแล้วก็ไม่สนใจให้ท่านมาตอบเป็นการแก้เผ็ดที่ท่านไม่ค่อยสนใจจะตอบ (ตอนนี้ยายวิเป็นผู้สูงวัยแล้ว ปล่อยแกพูดไปเถอนะคะ อย่าถือสาหาความแกเลย)
  • ก่อนอื่นขอลปรร. ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง”  และ “ปากเป็นเอก เลขเป็นโท” น่าจะเป็น "สุภาษิต" ซึ่งเป็นคำสอนมุ่งให้นำไปปฏิบัติ ส่วน "คำพังเพย" เป็นการกล่าวเปรียบเทียบ ไม่ได้มุ่งให้นำไปปฏิบัติ ถ้าเป็นคำพังเพยเกี่ยวกับปากที่ได้ยินบ่อย ก็จะมี "ปากบอน" (ชอบเอาความลับของของคนอื่นไปพูด บอนเป็นพืชที่กินแล้วคัน พอคันปากเลยต้องพูดไม่หยุดเหมือนรายการคันปากที่เอาเรื่องราวของนักแสดงคนนั้นคนนี้มาเม้าท์ไงคะ ไม่ได้ตามดูหรอกดูครั้งเดียวเพื่อให้รู้ Concept รายการเท่านั้น) "ปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม" (เป็นคำสบประมาทว่า ยังเป็นทารกอยู่ ยังด้อยประสบการณ์) และ "ปากเหยี่ยวปากกา" (ภัยคุกคามของลูกเจี๊ยบจากการโฉบเฉี่ยวคาบไปกินของเหยี่ยวและอีกา)
  • เห็นตรงกับท่านว่า สุภาษิต “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” นั้นคนไทยนำไปปฏิบัติผิดสถานการณ์ เช่นในที่ประชุมที่เขาต้องการให้พูดเสนอความคิดแต่กลับไม่พูด แต่ออกไปพูดนอกห้องประชุม จริงๆ แล้วโบราณท่านให้นำไปใช้กรณีที่ถูกด่าว่า การตอบโต้อาจจะก่อให้เกิดการทะเละวิวาท เพราะฉะนั้นการนิ่งจะเป็นผลดีกว่า (เช่นใช้ในกรณีที่สามีถูกภรรยาต่อว่าสาดเสียเทเสียในกรณีที่สามีกลัวภรรยาจนไม่กล้าเข้าบ้านค่ะ ไม่ใช่คู่ของยายวินะคะ ที่บ้านยายวินั้น ยายวิต้องเป็นฝ่ายใช้สุภาษิตนี้เองค่ะ) 
  • สุภาษิต "ปากเป็นเอกเลขเป็นโท" นั้น ท่านต้องการให้เห็นความสำคัญของการพูดว่าอาจสร้างหรือทำลายมิตรได้ดังที่ท่านสุนทรภู่ประพันธ์ไว้ว่า "ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราพูดจา ไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนอะไรหรอก วันหนึ่งยายวินั่งรถไปกับพ่อใหญ่สอเพื่อไปเยี่ยมลูกที่เรียนอยู่แถวลาดกระบัง เห็นท้ายรถข้างหน้าเขียนว่า "ดีใจจัง คันหลังก็ลาว" ยายวิยังสงสัยอยู่เลยว่า คนในรถคันนั้นรู้ได้อย่างไร
  • ท่านอยากให้คนไทยเก่งทั้งศาสตร์และศิลป์เหมือนเยอรมัน ยายวิก็เห็นด้วยเพราะการทำงานและการดำเนินชีวิตมันต้องใช้ทั้งสองอย่างประกอบกัน ดังที่ท่านเขียนไว้ใน "ศาสตร์แห่งการผัดผักให้วิไล" ไงคะ     

แหม ท่านวิไล มาเม้ท์ ก็เป็นเกียรติครับ ศาสตร์แห่งการผัดผักให้วิไล ..อ๋อย..ไม่ได้ตั้งใจให้พ้องเลยนะเนี่ย (แต่อ่านแล้วขำครับ)

ใช่ครับ พังเพย ภาษิต ผมใช้พร่าไปหน่อย ยอมรับผิดครับ

  • พอพูดถึงบันทึก "ศาสตร์แห่งการผัดผักให้วิไล" ก็เลยย้อนไปดู เพิ่งทราบว่าท่านตอบด้วย (ขอบคุณนะคะที่ตอบ ช่วงที่ติดตามคำตอบท่านยังไม่ได้ตอบ จนลืมตามแล้ว) พอท่านบอกว่าผัก Basil ก็เลยได้ความรู้จากการเปิด Dict. พบว่า คือ สระแหน่ เห็นท่านบอกว่านึกชื่อผัก Basil ที่เป็นภาษาไทยไม่ออก ทำให้คิดถึงนิทานก้อมที่เล่าว่า วันหนึ่งลูกสาวชาวเมืองโคราชที่ไปอยูไทย (กทม.) ดน (a very long time) กลับบ้าน เห็นควายเลยถามแม่ว่า "แม่ๆ นั่นตัวอะไร" แม่ตอบว่า "ตัวกระแดะ น่ะเอ็ง"
  • ไม่เคืองกันนะคะ ชื่อ Blog ก็บอกอยู่แล้ว ว่า ชวนแหกค่าย สู่แดนใหม่ ไตเสรี" เลยแสดงความเห็นแบบไตเสรี ค่ะ  

ฮ่วย..ท่านวิไล ผมนึกออกแล้ว มันน่าเป็น โหระพามากกว่า สระแหน่ เด๊อครับ (สระแหน่นั้น mint ไม่ใช่หรือครับ) ใบไม้สดฝรั่งที่ผมชอบเอามาใส่ซุปคือ oregano รสมันฉุนจัดจ้านดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท