พระใหม่ออกบิณฑ์ (กลับตาลปัตร ๖)


และแล้วก็มาถึงไคลแมกซ์ของพระบวชใหม่ คือ การออกบิณฑบาตร  ซึ่งในการออกบิณฑ์นั้นต้องห่มจีวรแบบห่มคลุม การห่มคลุมนั้นใช้เป็นการห่มเมื่อออกนอกวัด เมื่อเข้าวัดแล้วให้ห่มเฉียงเปิดไหล่

 

 แน่นอนว่าพระบวชใหม่ก็ต้องเดินเป็นองค์สุดท้ายของแถวบิณฑบาต (ตามลำดับอาวุโส)  มือหนึ่งอุ้ม(บาตร)มือหนึ่งโอบ(หนีบจีวร) บางครั้งก็ต้องมีหิ้วแถมด้วยถ้าไม่มีลูกศิษย์ไปด้วย และโยมมีถุงอาหารให้หิ้ว

 

เดินไปเดินมาผ้ามันก็สาละวันห้อยลงจนลากดิน พอลับบ้านก็ตะโกนเรียกหลวงพี่หัวแถวให้หยุดช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน พระทั้งขบวนก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่สงสารพระด๊อกเตอร์บวชใหม่ (บางองค์อาจนึกสมเพชก็ได้ว่า แม้..มันเป็นถึงด๊อกกะอีแค่ครองผ้าก็ทำไม่เป็น)

 

 

            ส่วนการห่มดองนั้น ใช้ห่มในการทำวัตรสวดมนต์ในอุโบสถ และใช้ในงานพิธีต่างๆที่ต้องการความทะมัดทะแมง ไม่มีการม้วนลูกบวบ แต่ใช้การพับจีบแทน ห่มเปิดไหล่ขวา เหน็บชายจีวรเข้าไปทางไหล่ซ้าย เอาผ้าสังฆาฏิพาดบ่า พร้อมกับเอาผ้ารัดอกให้แน่นกระชับ  จึงไม่ต้องใช้แขนซ้ายหนีบลูกบวบ จึงทำให้แขนทั้งสองข้างมีอิสระในการปฏิบัติการต่างๆได้อย่างคล่องแคล่ว นอกจากนี้การห่มอย่างนี้มักใช้ในการเดินธุดงค์ด้วยเหตุผลที่ไม่ต้องการคำอธิบาย

 

 

            พูดถึงผ้าสังฆาฏิ ซึ่งเป็นหนึ่งในผ้าไตร โดยแท้แล้วพระพุทธเจ้าบัญญัติให้เป็นผ้าห่มคลุมกันหนาว สำหรับหน้าหนาว มีขนาดใหญ่เท่ากับผ้าจีวรทุกประการ แต่จะเอามาใช้แทนจีวรไม่ได้ เพราะมีพระวินัยกำกับไว้ว่าพระจะต้องทำเครื่องหมาย (เรียกว่าการ “พินทุ” ผ้า) และอธิษฐานการใช้งานว่าเราจะใช้ผ้าผืนนี้เป็นจีวร ผืนนี้เป็นสังฆาฎิเป็นต้น

 

 

ทางตอนเหนือของประเทศอินเดียมีสภาพอากาศที่หนาวเย็น การมีผ้าสังฆาฏิสำหรับห่มกันหนาวจึงเป็นเรื่องจำเป็น แต่ในประเทศไทยเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ความหนาวเย็นแทบจะไม่มีเพราะป่าไม้หมดป่าไปนานแล้ว ไม่มีความจำเป็นแต่ประการใด แต่พระไทยเราก็ถือเป็นวินัยอย่างเคร่งครัดที่จะต้องครองผ้าสังฆาฏิตามที่มีบัญญัติไว้ในพระวินัย

 

 

...และนี่แหละที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของพระเถรวาทแบบไทยๆเรา ที่ยังรักษาประเพณีดั้งเดิมเอาไว้อย่างไม่เสื่อมคลาย ทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ที่สุดดังที่ได้เคยว่าไว้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่เมื่อประโยชน์ใช้สอยจริงๆของผ้าผืนนี้มีน้อย ในทางปฏิบัติพระไทยเราจึงเอามาพับแปดตามยาวและพาดบ่าไว้เฉยๆให้บ่ามันร้อนขึ้นเล่นๆอย่างนั้นเอง การพาดก็ต้องพาดบ่าซ้าย โดยปล่อยให้บ่าขวาเปิดไว้ตามเดิม  ว่าไปแล้วก็ดูโก้ดีเหมือนกันที่บ่าไม่โล่งๆ

 

 

            พระก็มีแฟชั่น มีสมัยนิยมชั่วครั้งคราว (หรือที่พวกฝรั่งเรียกกันว่า Fad) เช่นเดียวกับฆราวาส สังเกตเห็นว่าพวกพระหนุ่มๆมักจะนิยมเอากิ๊บหนีบกระดาษสีดำๆขนาดเล็กๆมาหนีบผ้าสังฆาฏิไว้เป็นการถาวร ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม้ให้ผ้าคลี่ตัวออกในระหว่างที่พาดบ่า หรือในระหว่างที่ปลดผ้าออกพับเก็บ ทำให้ดูสวยงามและรวดเร็วในการครองผ้า แต่ผู้เขียนดูแล้วรู้สึกtoo late (ทุเรศ) ลูกนัยตามาก พระไม่น่าจะเห็นดีเห็นงามและมักง่ายกันอย่างนั้นเลย แม้แต่พระอาวุโสหลายรูปก็เห็นทำเช่นนั้น หากทางมหาเถรสมาคมจะออกเป็นกฎห้ามพระใช้กิ๊บหนีบสังฆาฏิก็น่าจะเป็นการดีขอรับ หรือไม่ก็น่าจะมีร้านสังฆภันฑ์หัวใสทำกิ๊บหนีบสังฆาฏิที่เป็นสีจีวรเสียให้รู้แล้วรู้รอดไป ไม่ต้องให้กิ๊บสีดำมาตัดกับผ้าสังฆาฏิสีกลักให้มันดูบาดตา

 

...คนถางทาง

 

คำสำคัญ (Tags): #บิณฑบาตร
หมายเลขบันทึก: 485409เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2012 03:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 12:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท