ทฤษฎีบุคลิกภาพเอ็นเนียแกรม


"เราจะเริ่มมองเห็นความคิดของเราเป็น สิ่งที่ฉันคิด มากกว่าจะเป็น ตัวตนที่แท้จริงของฉัน เพราะเริ่มมีบางส่วนของการรู้ตัวของเราที่ถอยห่างออกมาและทำหน้าที่เฝ้าดูกระแสความคิดของเรา"

          คำ Ennea เป็นภาษากรีก แปลว่า ๙ ส่วนคำ gram หมายถึง จุด เอ็นเนียแกรม (Enneagram) จึงแปลว่า ๙ จุด หมายถึง บุคลิกภาพ ๙ แบบ มีผู้แปลคำนี้เป็นภาษาไทยว่า นพลักษณ์ อันหมายถึงลักษณะของคนเก้าแบบ

          ชาร์ล ที. ทาร์ต (Charles T. Tart) ศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เขียนในคำนำหนังสือ เอ็นเนียแกรม ศาสตร์เพื่อความเข้าใจตนเองและผู้อื่น (The Enneagram: Understanding Yourself and the Others in Your Life) ที่แต่งโดย Palmer (1988) ว่า คำ เอ็นเนียแกรม คิดค้นโดย เกอร์ดจีฟฟ์ (George Ivanovich Gurdjieff, 1866 - 1949) นักจิตวิทยาชาวรัสเซียผู้สนใจในความรู้โบราณและการพัฒนาตนเอง เกอร์จีฟฟ์เป็นนักจิตวิทยาตะวันตกผู้บุกเบิกการประยุกต์ใช้แนวคิดการแบ่งบุคลิกภาพแบบเอ็นเนียแกรมที่มีรากฐานมาจากตะวันออกกลาง “เขาสอนว่าเราทุกคนมีลักษณะหลัก (chief feature) ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของลักษณะต่างๆ ที่บิดเบี้ยวในบุคลิกภาพของเรา ถ้าเรารู้ลักษณะหลักของเรา ก็จะสามารถเข้าใจและก้าวพ้นลักษณะที่บิดเบี้ยวของบุคลิกภาพเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เกอร์จีฟฟ์เรียกบุคลิกภาพที่บิดเบี้ยวนี้ว่า บุคลิกเทียม (false personality) เพราะมันเป็นสิ่งที่เราถูกบังคับมาตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ได้เกิดจากการเลือกอย่างอิสระของเรา” (พาล์มเมอร์, ๒๕๔๘ : ๒๒) ทาร์ตยังเห็นว่า เอ็นเนียแกรม “ช่วยดึงพลังชีวิตของเรากลับมาจากกลไกป้องกันตนเองที่เป็นอุปสรรคทำให้เราเข้าไม่ถึงธรรมชาติเดิมแท้ (essential nature) ของเราเอง” (พาล์มเมอร์, ๒๕๔๘ : ๒๓)

          เอ็นเนียแกรมจำแนกบุคลิกภาพของคนออกเป็น ๙ ลักษณ์ ได้แก่

          ลักษณ์ ๑ คนสมบูรณ์แบบ (The perfectionist) วิพากษ์วิจารณ์ตนเองและผู้อื่น เชื่อว่าวิธีที่ถูกต้องมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น รู้สึกว่าตนมีจริยธรรมเหนือคนอื่น ชอบผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ยอมลงมือทำเสียที เพราะกลัวว่าจะทำผิดพลาด ชอบพูดคำว่า “ควร” และ “ต้อง” อยู่เสมอ คนสมบูรณ์แบบที่พัฒนาตนแล้วมักจะมีความเฉียบแหลมในการวิจารณ์และเป็นผู้นำในทางจริยธรรม

          ลักษณ์ ๒ ผู้ให้ (The giver) ต้องการความรักและการยอมรับ พยายามให้คนอื่นรักและชื่นชมด้วยการพยายามทำตัวให้เป็นคนสำคัญที่คนอื่นขาดไม่ได้ อุทิศตนเพื่อสนองความต้องการของคนอื่น ใช้วิธีการต่างๆ เพื่อเข้าควบคุมจัดการคนอื่น มีหลายตัวตน นั่นคือ ปรับเปลี่ยนตนเองไปตามเพื่อนสนิทหรือบุคคลสำคัญแต่ละคน ใช้การยั่วยวนเชิงรุก คนประเภทผู้ให้ที่พัฒนาตนแล้วจะเป็นคนที่เอาใจใส่และช่วยเหลือคนอื่นอย่างบริสุทธิ์ใจ

          ลักษณ์ ๓ นักแสดง (The performer) สร้างผลงานและความสำเร็จเพื่อให้เป็นที่รัก ชอบแข่งขัน ยึดติดกับภาพลักษณ์ของผู้ชนะ และการเปรียบเทียบสถานะกับคนอื่น มีบุคลิกภายนอกที่เป็นเลิศ บ้างาน ชอบทำงานแข่งกับเวลา สับสนระหว่างตัวตนที่แท้จริงกับบทบาทหน้าที่การงาน อาจดูมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นจริง คนประเภทนักแสดงที่พัฒนาตนแล้วสามารถเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ เจรจายื่นข้อเสนอได้ดี เป็นผู้สนับสนุนหรือผลักดันสิ่งต่างๆ ได้ดี เป็นผู้นำทีมที่ประสบความสำเร็จ

          ลักษณ์ ๔ คนโศกซึ้ง (The tragic romantic) อยากได้ในสิ่งที่ตนไม่มี อยากเป็นในสิ่งที่ตนเองไม่ได้เป็น ไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่หรือสิ่งที่ได้มาโดยง่าย มักมีอารมณ์โศกเศร้า อารมณ์ศิลปิน อ่อนไหวง่าย มุ่งมั่นในเรื่องความงามและอารมณ์ลึกซึ้งภายใน หมกมุ่นกับเรื่องคนรักหรือเพื่อนที่จากไป คนโศกซึ้งที่พัฒนาตนแล้วเป็นคนที่มีวิถีชีวิตสร้างสรรค์ สามารถช่วยเหลือคนอื่นฟันฝ่าความทุกข์ ความเจ็บปวด

          ลักษณ์ ๕ นักสังเกตการณ์ (The observer) รักษาระยะห่างทางอารมณ์กับคนอื่น ปกป้องความเป็นส่วนตัว ไม่ชอบเข้าไปพัวพันกับอะไร มีความเป็นอยู่โดยไม่ต้องการอะไรมากเพื่อไม่ให้ต้องข้องเกี่ยวกับคนอื่น รู้สึกสูญสิ้นพลังไปกับการถูกผูกมัดและกับความต้องการของผู้อื่น แบ่งชีวิตออกเป็นส่วนๆ แยกตัวจากคนอื่น จากความรู้สึก และจากสิ่งต่างๆ นักสังเกตการณ์ที่พัฒนาตนแล้วสามารถเป็นนักตัดสินใจชั้นเลิศ เป็นนักคิด เป็นนักบวชผู้สันโดษ

          ลักษณ์ ๖ นักปุจฉา (The devil's advocate) ขี้กลัว มีความรับผิดชอบสูง ถูกเกาะกุมด้วยความสงสัย มักจะผัดผ่อนเพราะชอบคิดมากกว่าทำ กลัวที่จะลงมือทำเพราะอาจตกเป็นเป้าของการถูกโจมตี เห็นใจฝ่ายที่เสียเปรียบ ต่อต้านอำนาจ เสียสละและภักดีกับเป้าหมายที่ชอบธรรม นักปุจฉามีสองประเภท ประเภทหนึ่งหวาดกลัว มักลังเลไม่แน่ใจ รู้สึกถูกข่มเหง และจะยอมจำนนเมื่อจนมุม อีกประเภทโต้ตอบความรู้สึกกลัวจากการถูกรุกไล่ให้จนมุมด้วยการออกไปเผชิญหน้ากับความกลัวอย่างกล้าได้กล้าเสีย นักปุจฉาที่พัฒนาตนแล้วสามารถเป็นสมาชิกในทีมที่ดีเยี่ยม เป็นองครักษ์ผู้จงรักภักดี และเป็นเพื่อนที่ดี ทำงานเพื่ออุดมการณ์โดยไม่คิดถึงประโยชน์ส่วนตัว

          ลักษณ์ ๗ นักลิ้มชิมรส (The epicure) เป็นผู้เยาว์วัยตลอดกาล อย่างตัวละครปีเตอร์แพน เป็นผู้รู้สิ่งต่างๆ มากมาย แต่รู้แบบผิวเผิน เป็นผู้รักง่ายหน่ายเร็ว ขี้เบื่อ หยิบโหย่ง ชอบผจญภัย ต้องการสิ่งดีๆ ในชีวิต มักหลีกเลี่ยงการผูกมัดตนเองกับเรื่องใดหรือบุคคลใด ต้องการทางเลือกมากๆ ต้องการอยู่ในอารมณ์ดีเสมอ ร่าเริงมีความสุข และกระตุ้นให้คนอยู่ใกล้มีชีวิตชีวา มีนิสัยชอบริเริ่มสิ่งต่างๆ แต่ไม่ชอบทำให้จบ นักลิ้มชิมรสที่พัฒนาตนเองแล้ว เป็นนักสังเคราะห์ที่ดี สามารถผสมผสานศาสตร์และความรู้ต่างๆ เป็นนักทฤษฎี เป็นผู้รอบรู้วิทยาการต่างๆ

          ลักษณ์ ๘ เจ้านาย (The boss) ผู้ปกป้องคุ้มครอง ยืนหยัดเพื่อตนเองและเพื่อน ชอบต่อสู้ ชอบเจ้ากี้เจ้าการ ต้องการควบคุมสถานการณ์หรือสิ่งต่างๆ แสดงอำนาจและความโกรธอย่างเปิดเผย ชื่นชมคู่ต่อสู้ที่กล้าลุกขึ้นมาสู้ สร้างความสัมพันธ์ผ่านเซ็กซ์และการเผชิญหน้าแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ใช้ชีวิตแบบไม่บันยะบันยัง เกินความพอดี เช่น ทำอะไรมากไปแบบสุดๆ อยู่จนดึกดื่น เอะอะโวยวาย คนประเภทเจ้านายที่พัฒนาตนแล้วจะเป็นผู้นำที่เยี่ยมยอด โดยเฉพาะในบทบาทของนักต่อต้าน เป็นผู้สนับสนุนที่ทรงพลังอำนาจ คอยปกป้องภัยอันตรายให้เพื่อน

          ลักษณ์ ๙ นักไกล่เกลี่ย (The mediator) รู้สึกสองจิตสองใจอยู่ตลอดเวลา มองเห็นมุมมองต่างๆ อย่างรอบด้าน ให้ความสำคัญกับความต้องการของคนอื่น จนละเลยความปรารถนาของตนเอง วุ่นอยู่กับเรื่องที่ไม่สำคัญจนลืมเป้าหมายแท้จริงของตน มีความโน้มเอียงที่จะมอมเมาตนเองด้วยอาหาร รายการโทรทัศน์ เหล้า เข้าใจความต้องการของคนอื่นได้ดีกว่าของตนเอง ชอบใจลอย ไม่แน่ใจว่าต้องการอยู่ตรงนั้นหรือไม่ และอยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม เข้ากับคนอื่นได้ง่าย ไม่ค่อยขัดแย้งกับใคร มักแสดงความโกรธแบบอ้อมๆ นักไกล่เกลี่ยที่พัฒนาตนแล้วจะเป็นนักไกล่เกลี่ยหรือผู้ประสานไมตรีที่เยี่ยมยอด เป็นที่ปรึกษา นักเจรจาต่อรอง ประสบความสำเร็จเมื่อมีทิศทางที่ถูกต้อง

          อย่างไรก็ตาม คนแต่ละบุคลิกหรือแต่ละลักษณ์อาจได้รับอิทธิพลจากลักษณ์ที่อยู่ใกล้กันตามเลขที่อยู่ในลำดับก่อนหรือหลังตามแผนที่นพลักษณ์ (Enneagram map) เรียกว่าอิทธิพลของ ปีก ในบางครั้งคนที่มีบุคลิกแบบหนึ่งอาจแสดงออกคล้ายคนอีกแบบหนึ่งเมื่ออยู่ในอารมณ์มั่นคงหรืออารมณ์ผ่อนคลาย โดยจะแสดงด้วยเส้นลูกศรชี้โยงระหว่างจุด เช่น คนประเภทนักลิ้มชิมรส (๗) เมื่ออยู่ในอารมณ์ที่ไม่มั่นคงหรือเครียดมักแสดงออกคล้ายคนสมบูรณ์แบบ (๑) แต่เวลาอยู่ในอารมณ์ผ่อนคลายจะถอยไปคล้ายนักสังเกตการณ์ (๕)

 

 

รูปที่ ๑ บุคลิกภาพของคน ๙ บุคลิกหรือ ๙ ลักษณ์ ตามทฤษฎีเอนเนียแกรม

 

แผนภาพเอนเนียแกรมดังกล่าวแสดงบุคลิกภาพของคน ๙ บุคลิกหรือ ๙ ลักษณ์พร้อมลูกศรชี้โยงระหว่างแต่ละลักษณ์ แสดงพฤติกรรมที่อาจเปลี่ยนแปลงไป ขณะอยู่ในภาวะอารมณ์มั่นคงหรือผ่อนคลายและขณะอยู่ในอารมณ์ไม่มั่นคงหรือเครียด

               พาล์มเมอร์เห็นว่าคนเราสามารถระบุประเภทของบุคลิกภาพตนหรือ ลักษณ์ ของตนเองได้ จากการเห็นและฟังเรื่องราวของคนที่เป็นตัวอย่างของลักษณ์ตนเอง พาล์มเมอร์ใช้วิธีการที่เรียกว่า ขนบการบอกเล่าเรื่องราวจากชีวิตจริง (narrative tradition) อันเป็นวิธีดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยมีทั้งการสัมภาษณ์รายบุคคลเพื่อช่วยให้แต่ละคนรู้ลักษณ์ของตนด้วยตนเอง ที่เรียกว่า การสัมภาษณ์เพื่อรู้ลักษณ์ (typing interview) และการสัมภาษณ์กลุ่ม (panel interview) เพื่อร่วมกันทำความเข้าใจลักษณะต่างๆ ของแต่ละลักษณ์อย่างลึกซึ้ง เช่น ความใส่ใจ (attention) ที่แต่ละลักษณ์มี กลไกป้องกันตนเองทางจิตวิทยาที่แต่ละลักษณ์มักใช้ (psychological defense mechanism)   กิเลส (passion) ของแต่ละลักษณ์   คุณธรรม (virtue) ของแต่ละลักษณ์   รวมทั้งวิธีการพัฒนาตนของแต่ละลักษณ์

               วิธีการพัฒนาตนที่คนทุกลักษณ์ใช้ร่วมกันได้คือการสังเกตตนเองจากภายใน ที่พาล์มเมอร์เรียกว่า ผู้สังเกตการณ์ภายใน (The Inner Observer) โดยการเรียนรู้ที่จะเฝ้าดูความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในตนเอง เริ่มจากการรับรู้ถึงกลไกความเคยชินหรือแบบแผน ตลอดจนความคิดยึดติดกับเรื่องที่ตนมักหมกมุ่นอยู่ในใจ พาล์มเมอร์ (๒๕๔๘ : ๑๖ - ๑๗) เห็นว่า

          ...การที่เราสามารถสังเกตและพูดถึงความรู้สึกนึกคิดที่ติดเป็นนิสัย
          ของเรา จากมุมมองของคนที่ไม่ลำเอียงได้นั้น จะช่วยให้เราเป็นอิสระ
          จากสิ่งที่ทำจนเป็นนิสัยมากขึ้น ความคิดจะเริ่มกลายเป็น สิ่งที่แยก
          ออกจากตัวฉัน แทนที่จะเป็น สิ่งที่เป็นตัวฉัน … เราจะเริ่มมองเห็น
          ความคิดของเราเป็น สิ่งที่ฉันคิด มากกว่าจะเป็น ตัวตนที่แท้จริงของ
          ฉัน  เพราะเริ่มมีบางส่วนของการรู้ตัวของเราที่ถอยห่างออกมาและ
          ทำหน้าที่เฝ้าดูกระแสความคิดของเราได้ เมื่อการใส่ใจของเราอยู่กับ
          ตัว ผู้สังเกตการณ์  เราก็จะอยู่ในฐานะที่สามารถมองเห็นชัดเจนขึ้น
          ว่าตัวเราจริงๆ เป็นอย่างไร... เมื่อไรที่การใส่ใจเปลี่ยนกลับไปอยู่กับ
          ความคิดอีกครั้ง การรู้ตัวที่เป็นอิสระจากอคติก็จะหายไป และเราก็มัก
          จะสูญเสียความสามารถในการรับรู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง
          แล้วกลับไปดำเนินชีวิตแบบ อัตโนมัติ อีกครั้งหนึ่ง...

 

บรรณานุกรม

พาล์มเมอร์, เฮเลน.  เอ็นเนียแกรม-ศาสตร์เพื่อความเข้าใจตนเองและผู้อื่น.
       แปลโดย วาจาสิทธิ์ ลอเสรีวานิช.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง,
       ๒๕๔๘.

สันติกโรภิกขุ.  นพลักษณ์: คู่มือสังเกตตนเอง.  พิมพ์ครั้งที่ ๓.  กรุงเทพฯ:
       มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๔๕.

Palmer, Helen.  The Enneagram: Understanding Yourself and Others
       in Your Life.  San Francisco: Harper and Row, 1988.

หมายเลขบันทึก: 485308เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2012 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์คะ การเรียนเรื่องนพลักษณ์ มีขั้นตอนอย่างไรบ้างคะ เรียนที่ไหนคะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท