พา iPad ไปทุ่ง


ผมว่าจะไม่เขียนเรื่อง tablet แล้วเชียวนะครับ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องการเมือง แล้วก็ไม่อยากยุ่งเรื่องการเมืองเพราะเรียนรู้ว่าการเมืองไทยนั้น "นั่งมองอยู่บนยอดดอย" ดีที่สุด เพราะเราไม่ได้ถกเถียงกันด้วยเหตุผล แต่คนไทยเราใช้อารมณ์เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ในการถกเถียงต่อสู้กัน

แหม แค่เขียนแค่นี้ก็น่าจะมีคนแย้งแล้วว่า

"มาว่าฉันได้อย่างไร ฉันไม่ได้ใช้อารมณ์ ฉันใช้เหตุผล ฉันเกลียดทุกสิ่งทุกอย่างที่ X ทำและชอบทุกสิ่งทุกอย่างที่ Y ทำ ฉันมีเหตุผลนะ"

ครับ ผมเชื่อ แต่เป็นไปได้เหรอครับ ที่จะมี "ความดีบริสุทธิ์" และ "ความเลวบริสุทธิ์" สำหรับนักการเมือง?

เอาละครับ ไม่เถียงดีกว่า ตกลงว่าผมเชื่อตามที่บอกให้เชื่อก็แล้วกันว่าฝ่าย X เลวบริสุทธิ์ และฝ่าย Y ดีสมบูรณ์

ดังนั้นโปรดอ่านอีกครั้งหนึ่ง บันทึกนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง แต่ผมต้องการเขียนเผื่อจะมีประโยชน์ส่งเสียงไปยังนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งหลาย

ที่มีคนพูดถึง tablet กันมากตอนนี้นั้น tablet จะมีประโยชน์หรือไม่มีนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลหรือขึ้นอยู่กับใครเป็นหลัก แต่อยู่กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งหลายที่จะช่วยกันพัฒนาซอฟต์แวร์มาใช้กับ tablet นี้ให้เกิดประโยชน์ครับ

เรามีคนไทยเรียนจบหลักสูตรที่เกี่ยวกับ "คอมพิวเตอร์" นานาสาขากันเยอะมากในแต่ละปี ชนิดว่าเอาก้อนหินขว้างขึ้นไปบนอากาศโอกาสที่ก้อนหินนั้นจะตกใส่หัวคนจบด้านคอมพิวเตอร์สูงกว่าสาขาอื่นๆ

ส่วน tablet นั้น ไม่ว่าจะทะเลาะกันแค่ไหนก็ตาม ความจริงก็คงต้องเป็นความจริง คือตอนนี้โลกกำลังก้าวพ้นยุคของ "กระดาษ" ไปเป็นยุค "กระดาษอิเลคทรอนิคส์" แล้ว

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างนี้ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า "paradigm shift" ซึ่งในช่วงชีวิตของคนเราก็จะได้เห็นอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน บ้างก็เป็นเรื่องใหญ่ บ้างก็เป็นเรื่องเล็กๆ

paradigm shift จากกล้องใช้ฟิลม์มาเป็นกล้องดิจิตอล (ตอนนี้ยังมีใครถ่ายรูปด้วยกล้องฟิลม์ไหมครับ?)

paradigm shift จากการสื่อสารด้วยจดหมายเป็นหลักมาเป็นการสื่อสารด้วยโทรศัพท์เป็นหลัก (ใครยังเขียนจดหมายส่วนตัวหากันอยู่บ้าง?)

paradigm shift จากเสาทีวีมาเป็นเคเบิลทีวีหรือทีวีผ่านดาวเทียม (ตอนนี้เสาทีวีหาดูยากแล้ว)

paradigm shift จากกินข้าวด้วยมือ มาเป็นกินข้าวด้วยช้อน (ใครยังกินข้าวด้วยมือสามนิ้วแบบไทยเป็นบ้าง?)

paradigm shift จากปากกาหมึกซึมเป็นปากกาลูกลื่น (จริงๆ แล้วจากพู่กันเขียนกระดาษ หรือเหล็กแหลมเขียนใบลานไปโน่น ยกตัวอย่างกันได้ยาวทีเดียวในเรื่องนี้)

หรือ paradigm shift จาก "ไปทุ่ง" (สำนวนเก่าว่าไปถ่ายอุจจาระในท้องทุ่งท้องนา) เป็นห้องน้ำ (จริงๆ แล้วตรงนี้ยังมี paradigm shift จากโถส้วมยองๆ เป็นโถส้วมนั่งซ่อนอยู่อีก)

และยังมี paradigm shift อย่างนี้ให้นึกกันอีกล้านแปดอย่างครับ

แต่การเปลี่ยนแปลงแต่ละอย่างนี้ก็มีข้อถกเถียงให้ได้ไม่สิ้นสุดละครับ โดยเฉพาะในหลายๆ อย่างที่ของเก่าไม่ได้ตกตายไปหมด แต่กลายสภาพเป็น "เครื่องมือทำงานศิลปะ" ไป

ยกตัวอย่างกล้องใช้ฟิลม์นั้น มีความเป็นศิลป์อยู่สูงมาก เรื่องเขียนจดหมายก็อีก ถ้าผม (ยังหนุ่มแล้วไป) จีบสุภาพสตรีตอนนี้ ผมจะบรรจงเขียนจดหมายกระดาษด้วยปากกาหมึกซึมแล้วเดินไปส่งหน้าบ้านด้วยตัวผมเอง (เหตุผลแรกเพื่อความโรแมนติก แต่เหตุผลหลักคือการถือโอกาสตีสนิทกับพ่อแม่ กว่าเธอจะรู้ตัวผมก็เข้าไปนั่งกินข้าวสามมื้อในบ้านแล้ว จีบผ่าน Facebook ทำอย่างนี้ไม่ได้แน่นอน เด็กหนุ่มๆ มาคารวะเรียนวิชาเสียดีๆ)

กินข้าวด้วยมือก็อร่อยกว่ากินข้าวด้วยช้อน แต่ให้ไปกินข้าวราดแกงด้วยมือทุกวันก็คงยากอยู่ ยิ่งกว่านั้นการ "ไปทุ่ง" นั้นมีความสุขมาก ถ้าจะถามใน paradigm shift ทั้งหมดที่จะให้ผมกลับไปใช้ "เทคโนโลยีเก่า" เพื่อเป็นงาน "ศิลป์" นี่ผมจะเลือก "ไปทุ่ง" ก่อนอย่างอื่น พับผ่าสิ ใครเคยจะรู้ว่ามันดีแค่ไหน

ช่วยยกมือสนับสนุนผมหน่อยว่ามันดีแค่ไหน

เอาละสิ บันทึกนี้ผมจะเขียนเกี่ยวกับความสำคัญของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ต่อการศึกษาไทยในยุคสมัยที่ paradigm shift จาก "กระดาษ" มาเป็น "กระดาษอิเลคทรอนิคส์" แต่ผมเขียนเกี่ยวกับ pardigm shift ในภาพรวมจนออกนอกเรื่องกู่ไม่กลับ แล้วผมกำลังอยากจะ "ไปทุ่ง" (ในบ้านผม บนโถแบบนั่ง โดยอ่าน iPad ไปก็....ไป แต่ยังไม่มีที่อุ่นก้นและอุปกรณ์ทำความสะอาดอัตโนมัติ) ดังนั้นไว้ผมค่อยมาเขียนให้เข้าเรื่องวันหลังก็แล้วกันนะครับ

เอาเป็นสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงก็คือการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามสิ่งใหม่ก็คือสิ่งใหม่ที่เราจะใช้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เมื่อไรก็ตามที่เกิด paradigm shift ในเรื่องใดก็ตามขึ้นมา แทนที่เราจะต่อต้านไว้ก่อนเพื่อรักษาซึ่งความคุ้นเคยของเรา เราควรจะมองในมุมใหม่ แล้วเราจะเห็นโอกาสในการเรียนรู้และยอมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่สิ่งใหม่ที่มาแทนที่ครับ

คำสำคัญ (Tags): #ipad#paradigm shift#tablet
หมายเลขบันทึก: 483492เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2012 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 22:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง แต่การแสดง(ออก)ต้องพัฒนาครับ

เป็นบันทึกที่มีสีสันมากครับ

เห็นด้วยกับคุณ ทิมดาบ Ico48 (นอกเรื่องหน่อยว่า รูปน้องทิมดาบรูปนี้คงหลายปีมากแล้วนะคะนี่ คุณพ่อไม่เปลี่ยนรูปบ้าง) ว่าบันทึกนี้มีสีสันดีมากค่ะ อ่านแล้วคิดถึง คุณสุทธิชัย หยุ่น, อ.นิธี เอียวศรีวงศ์, คุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ ที่เวลาวิพากษ์วิจารณ์อะไรแล้ว เราคนอ่านรู้สึก"มัน" ไปด้วย อ.เหน่เขียนบ่อยๆนะคะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท