ตอนที่ 3 : คุณค่าแห่งการตรัสรู้ต่อมนุษยชาติ (1)


คอลัมน์พิเศษ : มรน. ร่วม ฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ โดย อาจารย์ญาณภัทร ยอดแก้ว

“เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ผู้ละบาปเสียแล้ว เมื่อนั้นเพราะเหตุที่ได้รู้แจ้งชัดธรรมพร้อมด้วยเหตุ ความสงสัยทั้งปวงของผู้นั้นย่อมสิ้นไป...”

 

หากจะถามว่า หลังการตรัสรู้ของพระมหาบุรุษจนเป็นเหตุให้บังเกิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้น ในโลกนั้น พระองค์ได้เอ่ยพระโอษฐ์ตรัสสิ่งใดเป็นครั้งแรก ชาวพุทธจำนวนมากอาจจะหวนนึกถึง “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” เพราะเป็นปฐมเทศนาที่ตรัสสอนปัญจวัคคีย์เมื่อครั้งตรัสรู้ได้ 2 เดือน

แต่ที่จริงแล้ว ก่อนหน้านั้นพระองค์ได้ตรัสพระคาถาที่เรียกว่า “พุทธอุทาน” ได้แก่ พระพุทธพจน์ที่ยกมาข้างต้นนี้เอง เป็นพระพุทธอุทานครั้งแรกสุดที่ตรัสด้วยพระปีติสุขหลังเสวยวิมุติสุขจากการ ตรัสรู้อยู่ 7 วัน ณ ใต้ต้นโพธิพฤกษ์ (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ “พุทธคยา” เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย)

 

สาระสำคัญแห่งพระพุทธอุทานนี้ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นแก่นธรรมที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ คือ มรรคและผล “มรรค” ได้แก่ การละบาป การเพียรเผ่ากิเลส การเพ่งพินิจจนเกิดปัญญาเห็นแจ้งธรรม ส่วน “ผล” คือ ภาวะที่รู้แจ้งธรรมพร้อมทั้งเหตุ หมายถึง รู้แจ้งธรรมทั้งฝ่ายทุกข์และความดับทุกข์ (รู้ทุกข์ พร้อมทั้งเหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์พร้อมทั้งเหตุหรือหนทางสู่ความดับทุกข์) จนหมดสิ้นความสงสัยทั้งปวง

 

หากจะทำความเข้าใจการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ในมุมของปุถุชนเช่นเราๆท่านๆ ก็กล่าวได้ว่า พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้อริยสัจธรรมที่สอนให้เราทั้งหลายได้แนวคิดหลักในการ ดำเนินชีวิตว่า...

 

ชีวิตเราเกิดมาย่อมมีทุกข์หรืออุปสัคปัญหาต่างๆ เป็นธรรมดา ข้อนี้เป็นสิ่งที่เรา “ต้องเข้าใจและยอมรับให้ได้”

 

ทุกข์หรืออุปสัคปัญหาต่างๆนั้น ย่อมมีเหตุหรือที่มาของมัน ข้อนี้เป็นสิ่งที่เรา “ต้องค้นหาและละเหตุเสียให้ได้”

ทุกข์หรืออุปสัคปัญหาต่างๆ ย่อมหมดสิ้นไปได้ ข้อนี้เป็นสิ่งที่เรา “ต้องตั้งเป้าไว้และก้าวไปให้ถึงให้ได้”

 

ทางที่ทำให้ทุกข์หรืออุปสัคปัญหาต่างๆหมดสิ้นไปมีอยู่แน่ ข้อนี้เป็นสิ่งที่เรา “ต้องดำเนินไปให้ถูกทางให้ได้”

 

คนจำนวนมาก เมื่อเจอทุกข์ มักจะยิ่งทุกข์มากขึ้นยกกำลังทวีคูณ บ้างก็ตีโพยตีพาย โศกเศร้าอาดูร บ้างก็ทำร้ายตนเองและผู้อื่น บ้างก็เกิดโรคในตนสาระพัด ส่วนสำคัญก็เพราะยอมรับความเป็นจริงที่ว่า “ความทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา” ไม่ได้ เมื่อเสียหลักตั้งแต่ด่านแรกก็ไม่จำต้องถามหาสาเหตุแห่งทุกข์ เพราะจิตใจกำลังถูกท่วมทับด้วยอาการแห่งทุกข์จนมืดแปดด้าน เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ยากจะมีความหวังว่า ความดับสิ้นแห่งทุกข์มีอยู่ หนทางแห่งความดับทุกข์มีอยู่

 

ตรงนี้เองเป็นปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติที่เป็นเหตุให้โลกของเรายังคงเต็มไปด้วย บรรยากาศแห่งความรุ่มร้อนภายในจิตใจคนส่งผลสู่ความร้อนภายนอก ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมและสภาพแวดล้อมมากมายหลายรูปแบบ สันติภาพที่ยั่งยืนจึงยังคงเป็นเพียง “อุดมคติ” เท่านั้น สรุปคือ เสียหลักตั้งแต่ต้น ทำให้เสียศูนย์ จนต้อง “สูญเสีย” วนเวียนอยู่ร่ำไป

 

อย่างไรก็ตาม ชาวพุทธผู้ดำเนินตามรอยพุทธธรรมถือว่า “โชคดี” ที่สุด เพราะอย่างน้อยที่สุดไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ยังมีหลักคิดไว้ “ทำใจ” ยอมรับกับความจริงที่เกิดขึ้นให้ได้ว่าเป็น “ธรรมดา” และมีหลักคิดว่าต้อง “ทำดี” เชื่อมั่นว่าทุกปัญหามันมีทางออกของมันและหนทางที่จะไปสู่ความสิ้นปัญหานั้น ได้ต้องอาศัยพลัง “ความดี” เท่านั้น

 

แก่นธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสรู้จึงก่อให้เกิดหลักคิดหลักธรรมเพื่อเป็นหลัก ให้ “ทำ” 2 ประการสำคัญที่จะนำสู่สันติสุขแก่ชีวิตและสันติภาพอย่างยั่งยืนได้ นั่นคือ “ทำใจ” (เข้าใจสัจธรรม) และ “ทำดี” (มีคุณธรรมจริยธรรม) นั่นเอง

 

นี่คือคุณค่าอันสำคัญประการแรกของการตรัสรู้ที่ส่งผลให้มนุษยชาติมีหนทางสู่สันติสุขได้ด้วยตนเอง

 

(โปรดอ่านต่อฉบับหน้าและร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่นี่ครับ

หมายเลขบันทึก: 483479เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2012 07:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 21:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท