รู้จัก ต เต่าตัวเดียว ก็รู้ภาษาสันสกฤตตั้งหลายคำ


โดยทฤษฎีแล้ว กริยาทุกคนในภาษาสันสกฤตสามารถนำมาเติม ต ได้

คราวนี้ขอเล่าเรื่อง ต เต่า หลังตุงบ้าง (อักษร ต นี้มีใช้ทั่วไปในภาษาเขียนของอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย ลาว พม่า มอญ เขมร) และนับว่าสำคัญมากในภาษาบาลีสันสกฤต อันที่จริงภาษาอื่นๆในตระกูล อย่างภาษาละติน กรีก (t) ก็สำคัญเช่นกัน 

 

อักษร ต ตัวเดียวนี้สำคัญอย่างไร?


ในภาษาสันสกฤตนั้น รากศัพท์กริยา (ศัพท์เทคนิคเรียกว่า ธาตุ, ภาษาอังกฤษว่า root ต่อไปนี้จะป้ายสีแดงเพื่อให้เห็นชัด) นั้น เป็นต้นกำเนิดของกริยา หมายความว่า ตัวธาตุเองนี้ นำไปใช้อะไรไม่ได้ (ผมว่า น่าจะเป็น seed มากกว่าจะเป็น root) เหมือนมีพลังงานศักย์ในตัว แต่เมื่อมีการเติมข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ก็เริ่มมีพลังงานจลน์ สามารถนำไปใช้ทำอะไรได้เยอะเชียว...

 

ใช้สร้างกริยาพิเศษ

ลองนึกถึงคำที่มีกลิ่นอายแขก และมี ต อยู่ท้ายคำดูสิครับ ส่วนมากจะมาจากการสร้างกริยาแบบนี้ การเติม ต นั้น แปลว่า ทำแล้ว

              

ภูต        ภู (บังเกิด) + ต   = เกิดขึ้นแล้ว, สิ่งมีชีวิตทั้งปวง พืช ผัก เทวดา ผี

ตถาคต   ตถา (เช่นนั้น) + คมฺ (ไป) + ต  = (มาและ)ไปเช่นนั้น, หมายถึง พระพุทธเจ้า

มฤต     มฺฤ (ตาย) + ต = ตายแล้ว, อมฤต = ไม่ตาย

วาต       วา (พัด, ไป) +ต   = พัดแล้ว, ลม

สุคต      สุ + คมฺ (ไป) +ต = ผู้ไปดีแล้ว, หมายถึง พระพุทธเจ้า

กริยา คมฺ (อ่านว่า คัม) เมื่อนำมาประกอบเป็นคำใหม่ จะเหลือแค่ ค ตัวเดียว ง่ายไหมเอ่ย

สูต        สู (คลอด) + ต = คลอดแล้ว       

 

โดยทฤษฎีแล้ว กริยาทุกคนในภาษาสันสกฤตสามารถนำมาเติม ต ได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วอาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กๆ น้อยๆ เช่น แทรกเสียง อิ ก่อนเติม ต   เช่น

คณิต     คณฺ (คิด) แทรก อิ + ต            = คิดแล้ว

จริต       จร (ไป, ปฏิบัติ) แทรก อิ) + ต = ไปแล้ว, ความประพฤติ, การเดินทาง

ชีวิต       ชีว (มีชีวิต) (แทรก อิ) + ต  = มีชีวิต(ขึ้นมา)แล้ว, ผู้มีชีวิต

บูชิต      ปูช (บูชา) (แทรก อิ) + ต  = บูชาแล้ว, ผู้เป็นที่เคารพ บูชา

พิชิต      วิช (เอาชนะ) (แทรก อิ) + ต = เอาชนะแล้ว, ว ในสันสกฤต กลายเป็น พ ในภาษาไทย ได้

มานิต      มานฺ (เคารพ) (แทรก อิ) + ต   = เป็นที่น่าเคารพ

สถิต        สฺถา (ยืน) แปลง อา เป็น อะ , แทรก อิ + ต = ยืนแล้ว

 

ยังมีตัวอย่างอีกมากทีเดียว ลองดูคำไทยที่ลงท้ายด้วย ต หรือ ด ดูนะครับ อาจจะมาจากธาตุในภาษาสันสกฤตก็ได้...

คำสำคัญ (Tags): #ต เต่า
หมายเลขบันทึก: 481807เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2012 23:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท