การประชุม Ottawa Conference ครั้งที่ ๑๕ (ตอนที่ ๒)


การประเมินผล จำเป็นต้องคำนึงถึงบริบท รวมถึงวัฒนธรรมของผู้เรียนและสังคมโดยรอบเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ

วันนี้ ขอนำบทสรุปในวันที่ ๒ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่มีโอกาสเข้าประชุมมาเล่าสู่กันฟัง  

หัวข้อ : Learning for Effective Performance in Practice

วิทยากร : Professor Sharifah Hapsah Shahabudin                                    

          วิทยากรเป็นรองอธิบการบดีของมหาวิทยาลัย Kebangsaan มาเลเซียโดยมีบทบาทสำคัญต่อการประกันคุณภาพการศึกษา และการจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิของประเทศ (National Qualification Framework) ดังเช่นสถาบันอุดมศึกษาของไทยที่ต้องปรับหลักสูตร ให้เข้าสู่ ระบบภายในปีการศึกษา ๒๕๕๕  โดยแนวคิดการจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิของประเทศในด้านแพทยศาสตร์ มาจากการเปลี่ยนแปลงของเวชปฏิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพ รวมทั้งความต้องการขององค์กรต่าง ๆ ในสังคม และประชาชน  การจะทำให้บัณฑิตมีมาตรฐานคุณวุฒิได้ดีและยั่งยืนควรเริ่มจากการสร้างแรงจูงใจ ให้เกิดความต้องการที่จะ “เปลี่ยนแปลง” ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนเกิดความชัดเจนว่า ทำไมต้องมีการเปลี่ยนแปลง  ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงจะเกิดผลดีอะไร  อะไรจะดีขึ้น  หลังจากนั้นจึงค้นหาความต้องการที่ประสงค์ให้เกิดขึ้น  รวมถึงการค้นหาช่องว่างหรือโอกาสพัฒนา

          การค้นหาโอกาสพัฒนาด้านการศึกษาอาจดำเนินการผ่านกระบวนการสะท้อนภายหลังการกระทำ  (Reflection on action) ในประจำวัน  กิจกรรมทบทวนทั้งในงานประจำ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง  การทบทวนเวชระเบียนและสะท้อนเพื่อเกิดการเรียนรู้  ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านเครือข่าย 

หัวข้อ : Medical Student Assessment and Health System Reform : Reflections of a dean

วิทยากร : Professor Nicholas Glasgow

          ผู้บริหารในโรงเรียนแพทย์มักอยู่ในภาวะจำยอมและกดดันโดยมีแรงบีบคั้นรอบด้านทั้งจาก อาจารย์ที่มีความต้องการต่าง ๆ  สังคมภายนอก  นโยบายของรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริโภค โดยต้องสามารถสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น  ความท้าทายของผู้บริหารคือการรวมความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เข้าด้วยกันเป็นข้อมูลในการพิจารณาเพื่อปรับปรุงหลักสูตร และการประเมินผล เพื่อให้มั่นใจว่า บัณฑิตที่จบมีคุณสมบัติและคุณลักษณะเป็นที่ต้องการของสังคมอย่างแท้จริง

 

หัวข้อ : Assessment of Professionalism

วิทยากร : Brian Hodges, Richard Cruess, Sylvia Cruess, Fred Hafferty, Ming-Jung ho, Tim Wilkinson

          ทีมวิจัยได้นำเสนอ Consensus statement หลังจากการประชุม Ottawa ครั้งที่ 14 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแบ่งการประเมินเป็น ๓ ระดับได้แก่ การประเมิน Professionalism ในระดับปัจเจกชน  ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และระดับสังคม  การประเมินในระดับปัจเจกชนเป็นที่สนใจของสังคมโดยทั่วไปอยู่เป็นทุนเดิม  ส่วนการประเมินระดับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลให้ความสำคัญกับการประเมินแบบ ๓๖๐ องศาที่ชัดเจนมากขึ้นทั้งโดยเพื่อน  เพื่อนร่วมและต่างวิชาชีพ ตลอดจนผู้ป่วย  ส่วนการประเมินระดับสังคมมีประเด็นที่พึงพิจารณาคือ ความแตกต่างทางวัฒนธรรมของประชาชนและสังคมในประเทศต่าง ๆ ซึ่งควรนำไปประกอบการพิจารณาการประเมิน โดยเฉพาะถ้ามีการแลกเปลี่ยนผู้เรียนหรือการเคลื่อนย้ายของผู้ประกอบวิชาชีพจากสังคมที่ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน

 

ในตอนที่ ๓ ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย  จะเป็นการถอดบทเรียนเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ของตนเอง และประเด็นที่นำผลการประชุมไปประยุกต์และพัฒนาองค์กรในอนาคต

จิโรจน์  สูรพันธุ์

คำสำคัญ (Tags): #การประเมินผล
หมายเลขบันทึก: 481804เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2012 22:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 11:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท